625
June 30, 2023

ตู้ประกอบการ

เบื้องหลังธุรกิจ ‘ตู้’ ของเหล่าผู้ประกอบการดาวรุ่งที่สร้างเทรนด์ใหม่ 

หนึ่งในธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดดในยุคนี้คือธุรกิจตู้อัตโนมัติที่จุดกระแสและสร้างเทรนด์ใหม่ในหลายวงการ ทั้งวงการเครื่องดื่ม เครื่องซักผ้า ตู้สัมภาระ หรือแม้กระทั่งวงการไลฟ์สไตล์อย่างตู้ถ่ายรูปและตู้กาชาปอง

เบื้องหลังธุรกิจตู้ดาวรุ่งเกิดจากวิธีคิดที่ไม่เหมือนใครในการมองเห็นโอกาสของเหล่าผู้ประกอบการและการใช้ต้นทุนที่มีอยู่สร้างความแตกต่างและข้อได้เปรียบทางธุรกิจ โดยที่ผ่านมา Capital ได้มีโอกาสคุยกับเจ้าของแบรนด์ที่ทำธุรกิจตู้อัตโนมัติเหล่านี้ซึ่งเป็นที่นิยมทั่วบ้านทั่วเมือง

เราจึงอยากรวบรวมเรื่องราว ‘ตู้ประกอบการ’ จากการคุยกับผู้บริหารและผู้ประกอบการหลายๆ คน ไม่ว่าจะเป็น วทันยา อมตานนท์ ผู้บริหารและเจ้าของแบรนด์เต่าบิน, กวิน นิทัศนจารุกุล ผู้ก่อตั้ง Otteri, ปวิตรา ทัศวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท บิ๊กวัน กรุ๊ป ร้าน Gashapon Bandai Official Shop, ปิ่น–ลักษิกา จิระดารากุล และพี–สาริษฐ์ ตรัยเลิศวิเชียร แห่ง Sculpturebangkok, โอม–พิธิวัฒน์ ศิริอำพันธ์กุล, เดียร์–ธนพล พิมพ์ผิว, แป๊ก–ภควัต ปัทมะ Co-founder ทั้งสามจาก hello.flashback รวมถึง วิน–อิทธิชัย พูลวรลักษณ์ ผู้ก่อตั้ง Lock Box

ท่ามกลางความแตกต่างของแต่ละธุรกิจที่มีจุดแข็งและกลยุทธ์ไม่เหมือนกันเลย สิ่งที่ทุกแบรนด์มีเหมือนกันคือ วิสัยทัศน์ และการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำโดยใช้เทคโนโลยีอย่างตู้เข้ามาช่วย ส่วนเรื่องราวของแต่ละแบรนด์จะเป็นยังไงเชิญกดอ่านได้เลยไม่ต้องแลกเหรียญ

ตู้ประกอบการขายเครื่องดื่ม
เต่าบิน’

ตู้ชงเครื่องดื่มอัตโนมัติที่ตั้งเป้ามีหมื่นตู้ภายใน 2023

เปิดตัวในปี 2564 โดยวทันยา อมตานนท์ ผู้บริหารและเจ้าของแบรนด์เต่าบิน

1. พัฒนาจาก ‘บุญเติม’ ตู้เติมเงินออนไลน์อัตโนมัติและลงทุนใน R&D เพื่อพัฒนาตู้ที่สามารถชงเครื่องดื่มได้

2. เจ้าของแบรนด์เรียนจบวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเคยทำงานด้าน UX Designer จึงใส่ใจภาพลักษณ์และ UX/UI ของตู้ทำให้เกิดประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้

3. ตู้อัตโนมัติช่วยตัดความเสี่ยงทางธุรกิจหลายด้านและก้าวข้ามขีดจำกัดที่คาเฟ่มักเผชิญ ทั้งการผูกติดกับสถานที่ การเทรนนิ่งคนให้มีฝีมือเป๊ะในการชงเครื่องดื่มและตรงต่อเวลา รวมถึงเพิ่มเมนูได้มากถึง 170 เมนู

4. แม้จะเป็นตู้อัตโนมัติ แต่ก็มีหลายหน้าที่ที่ช่วยดูแลตู้ด้วยมนุษย์ ทั้งคนดูแลชุดผง ชุดไซรัป คนทำปั๊ม คนดูแลหัวชง โซดา คนดูแลแขนชั่ง แก้ว เมล็ดกาแฟ ปั๊มล้าง ถ้วยล้าง น้ำทิ้ง ไล่มด ฯลฯ

5. ขยายจำนวนตู้ด้วยระบบตัวแทน โดยมองหาคนที่ชื่นชอบในตู้เต่าบินและสามารถดูแลได้อย่างน้อย 50 ตู้


ตู้ประกอบการซักผ้า
Otteri’

ร้านสะดวกซักเจ้าแรกในไทยอายุ 7 ปี ขยายกว่า 900 สาขาทั่วประเทศ

ก่อตั้งในปี 2559 โดย กวิน นิทัศนจารุกุล ผู้ก่อตั้ง

1. เคยทำธุรกิจโรงงานรับจ้างซักผ้าให้ลูกค้า B2B และขายเครื่องซักผ้าอุตสาหกรรมจากจีนมาก่อน
เมื่อมี Alibaba เข้ามาดิสรัปต์จึงเปลี่ยนแนวคิดมาทำตู้ซักผ้าให้ลูกค้า B2C

2. เริ่มเห็นโอกาสจากร้านสะดวกซักที่มาเลเซียและสิงคโปร์ จึงคาดการณ์ว่าเทรนด์ธุรกิจตู้ซักผ้าจะเกิดขึ้นเป็นทอดๆ ในประเทศแถบเซาท์อีสต์เอเชีย

3. แก้ปัญหาให้ลูกค้า ‘กลุ่มคนขี้เกียจ’ ด้วยการให้บริการ ‘ซัก ตาก พับ รีด’ เสื้อผ้าจำนวนมากๆ

4. สังเกตเห็นว่าส่วนใหญ่ผู้หญิงจะเป็นคนตัดสินใจเรื่องการซักผ้ามากกว่าผู้ชาย จึงเลือกมาสคอตเป็นนากญี่ปุ่นและตั้งชื่อว่า Otteri (อ๊อตเทริ) เพื่อความน่ารัก

5. ขยายธุรกิจด้วยโมเดลแฟรนไชส์ที่มองหาพาร์ตเนอร์ที่มีความเป็นผู้ประกอบการมากกว่าเป็นแค่นักลงทุน

ตู้ประกอบการกาชาปอง
Gashapon Bandai Official Shop’

ร้านกาชาปองสาขาแรกในไทยซึ่งขายดีที่สุดในโลกใน 20 วันแรก

เปิดร้านแฟล็กชิปในปี 2566 โดย ปวิตรา ทัศวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท บิ๊กวัน กรุ๊ป

1. ใช้ต้นทุนที่เชี่ยวชาญด้านการทำสินค้าลิขสิทธิ์หมวดขนมมาก่อนในการชนะใจ Bandai เพื่อเป็นพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ

2. เริ่มบุกเบิกตลาดกาชาปองตั้งแต่ 20 ปีที่แล้วโดยเริ่มตั้งตู้กาชาปองตามร้านการ์ตูน ร้านซีดี และกระจายตู้ตามโลเคชั่นต่างๆ ที่คนผ่านเยอะอย่างห้างสรรพสินค้า

3. สร้างเสน่ห์ของสินค้าแบบสุ่มด้วยการผลิตฟิกเกอร์ที่ใส่ใจในรายละเอียดและมีธีมที่มีเอกลักษณ์น่าสะสม

4. เปิดร้านแฟล็กชิปที่รวมกาชาปองราว 300 รุ่นเพื่อสร้างประสบการณ์ ‘ยกญี่ปุ่นมาไว้ที่ไทย’ ให้แฟนคลับได้ประสบการณ์ที่ดีในการหมุนตู้


ตู้ประกอบการถ่ายรูป
‘Sculpturebangkok’

ธุรกิจที่สร้างคัลเจอร์ให้ตู้ถ่ายรูปออโต้แมตกลับมาบูมอีกครั้งในวัยรุ่น

เริ่มให้บริการในปี 2562 โดย ปิ่น–ลักษิกา จิระดารากุล และพี–สาริษฐ์ ตรัยเลิศวิเชียร Co-founder

1. เริ่มทำเพราะชอบตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติที่ต่างประเทศอย่างนิวยอร์กและหาตู้แบบนี้ที่ไทยไม่ได้

2. จุดกระแสให้ฮิตด้วยวัน influencer day ตอนเปิดตัวตู้ ชวนเพื่อนและดารามาถ่ายรูปเยอะๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

3. นิยามตัวเองไม่ใช่แค่ตู้ถ่ายรูปแต่เป็นธุรกิจไลฟ์สไตล์ที่เป็น image maker ทำโปรดักต์ให้คนมาอินเทอร์แอกต์และแสดงความเป็นตัวเอง เล่นกับคัลเจอร์ของเด็กรุ่นใหม่

4. แตกแบรนด์ตู้ถ่ายรูปชื่อ SNAP สำหรับกลุ่มแมสเพื่อแบรนดิ้งที่เข้ากันได้กับทุกแบรนด์

5.  มีสินค้าไลฟ์สไตล์ ภายใต้แบรนด์ Random Sculpture Club เช่น หมวกแก๊ป ขาสั้น ถุงเท้า

ตู้ประกอบการถ่ายรูป
‘hello.flashback’

ตู้ถ่ายรูปสุดฮิตที่อยู่รอดเพราะไม่หยุดตามเทรนด์

ก่อตั้งในปี 2563 โดย โอม–พิธิวัฒน์ ศิริอำพันธ์กุล, เดียร์–ธนพล พิมพ์ผิว, แป๊ก–ภควัต ปัทมะ Co-founder

1. เคยทำบริษัทเอเจนซีรับจัดงานอีเวนต์มาก่อน เมื่อโควิด-19 ระบาดและงานอีเวนต์ทุกอย่างถูกงด จึงพลิกวิกฤตเป็นโอกาสด้วยการทำตู้ถ่ายรูปซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งที่ลูกค้าเคยรีเควสต์ให้ทำ

2. รีเสิร์ชข้อมูลตู้ออโต้แมตในเยอรมนี อังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรป เพื่อสร้างสไตล์ของตู้ที่มีเอกลักษณ์ เชื่อมโยงกับสถานที่และกลุ่มลูกค้าแต่ละแบรนด์

3. Unique Selling Point คือมีทีมที่มีความรู้ฝั่งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เรื่องตู้ถ่ายรูปทำให้สามารถพัฒนาฟีเจอร์และฟังก์ชั่นใหม่ๆ ของตู้ถ่ายรูปที่ใครหลายคนนึกไม่ถึง

4. ตัวอย่างฟีเจอร์พิเศษ เช่น การคอลแล็บกับศิลปินเพื่อทำตู้ที่สแกนคิวอาร์โค้ดแล้วฟังเพลงได้ เฟรมน่ารักๆ และโปรแกรมอินเทอร์แอ็กทีฟสุดเจ๋ง

ตู้ประกอบการฝากของ  
‘Lockbox’

ตู้รับฝากสัมภาระเจ้าแรกของไทยที่เตรียมขยาย 1000 สาขาในปีนี้

เปิดตัวปี 2560 โดย วิน–อิทธิชัย พูลวรลักษณ์ ผู้ก่อตั้ง

1. เริ่มเห็นโอกาสจากการเที่ยวรอบโลกและเห็นว่าในไทยไม่มีตู้ล็อกเกอร์ฝากของอัตโนมัติ 24 ชั่วโมง

2. ทำล็อกเกอร์ฝากของให้เป็น everyday product เหมือนร้านสะดวกซื้อที่ทุกคนใช้ได้และรู้ว่าอยู่ที่ไหนบ้าง

3. ช่วงแรกของธุรกิจเน้นคอนเซปต์ safe and easy และมีช่วงที่ขยายอย่างรวดเร็วด้วยการจับมือกับพาร์ตเนอร์ใหม่ๆ หารายได้จากโฆษณา และ e-Commerce

4. ตั้งเป้าเป็นธุรกิจที่ให้บริการ smarter life สำหรับคนเมืองและไม่ได้ให้บริการแค่ในไทย แต่อยากเป็น regional player ที่ให้บริการหลายประเทศ

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม Email: [email protected]

You Might Also Like