Flashback to the Future
ฟัง hello.flashback เล่าเบื้องหลังตู้ถ่ายรูปสุดฮิตกับแนวคิดการอยู่รอดเพราะไม่หยุดตามเทรนด์
น่ารัก น่าสนุก น่าจดจำ คือ 3 คำที่เราใช้นิยามประสบการณ์ในตู้ถ่ายรูปของ hello.flashback ได้ตรงความรู้สึกที่สุด
น่ารัก หมายถึงเฟรมถ่ายรูปที่มีให้เลือกอย่างหลากหลาย ซึ่งแต่ละเฟรมก็แข่งกันสดใสจนแทบจะจิ้มเลือกไม่ถูก
น่าสนุก คือฟังก์ชั่นของโปรแกรมถ่ายรูปที่นอกจากให้อิสระเราได้กดถ่ายได้เองตามประสาตู้ถ่ายรูปออโต้แมตทั่วไป ตู้ของ hello.flashback ยังมีฟีเจอร์เจ๋งๆ ให้ลองเล่นอีกเพียบ
น่าจดจำ เป็นความรู้สึกที่มีต่อโมเมนต์ในตู้ถ่ายรูปนั้น เวลาที่เราย้อนกลับมาดูรูปอีกหน
ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่อย่างใด แต่ทั้งหมดนี้คือความตั้งใจของทีมงานเบื้องหลังอย่าง โอม–พิธิวัฒน์ ศิริอำพันธ์กุล, เดียร์–ธนพล พิมพ์ผิว, แป๊ก–ภควัต ปัทมะ Co-Founder ทั้ง 3 คน และดรีม–ธนัชชา เขียวเกิด Product Manager อยากให้ลูกค้ารู้สึก นับตั้งแต่แบรนด์ของพวกเขาก่อตั้งในปี 2020
ไม่นับเรื่องความสำเร็จจากการเป็นแบรนด์แรกๆ ที่ทำให้กระแสการถ่ายรูปกับตู้ออโต้แมตบูมในไทย hello.flashback ก็ยังเป็นโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจอยู่ดีสำหรับเรา เพราะเพียงแค่ 3 ปีจากวันแรก ตู้ถ่ายรูปของพวกเขาถูกติดตั้งกระจายอยู่ทั่วทุกมุมเมืองกว่า 20 ตู้ ไล่ตั้งแต่คอมมิวนิตี้สายชิลล์อย่าง theCOMMONS บาร์สุดเท่ OFTR Bar ไปจนถึงเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยา
พวกเขายังขยันเอาใจลูกค้าด้วยการผลักดันตู้ถ่ายรูปไปสู่เขตแดนใหม่ๆ ที่เราไม่เคยเห็น เช่นการจับมือคอลแล็บฯ กับศิลปินรุ่นใหม่อย่าง give.me.museum และค่ายเพลงหลายค่าย
เรื่องราวเบื้องหลังตู้ถ่ายรูปที่น่ารัก น่าสนุก น่าจดจำแบบนี้เป็นยังไง บ่ายวันเมฆมากวันหนึ่ง เรานัดทีมงานเบื้องหลังมาเล่าให้ฟัง
แชะแรก
ตู้ที่เป็นผลผลิตจากช่วงโควิด
hello.flashback เซย์ฮัลโหลกับคนไทยในปี 2020 ตอนที่เทรนด์ถ่ายรูปในตู้ออโต้แมตยังไม่บูมในไทยด้วยซ้ำ
ย้อนกลับไปหนึ่งปีก่อนหน้านั้น แป๊ก เดียร์ ดรีม และโอม เปิดบริษัทเอเจนซีด้วยกันในนาม โฟตอน คอร์เปอเรชั่น ทำธุรกิจแบบ B2B รับงาน installation และ interactive art ที่ใช้ในอีเวนต์ของแบรนด์มากมาย และตู้ถ่ายรูปเป็นหนึ่งในสิ่งที่ลูกค้าเคยรีเควสต์ให้ทำ
โมเมนต์ที่จุดประกายพวกเขาคืออีเวนต์ด้านศิลปะของแกลเลอรีริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งหนึ่ง พวกเขาสร้างตู้ถ่ายรูปออโต้แมตไปตั้งไว้ให้คนในงานได้ลองถ่ายฟรีๆ ปรากฏว่าคิวถ่ายยาวกว่าที่คิด
ประจวบเหมาะกับโควิด-19 เริ่มระบาดในไม่กี่เดือนให้หลัง งานอีเวนต์ทุกอย่างถูกงด
“ทีมของเราเลยมาคุยกันว่าเราน่าจะผลิตโปรดักต์ที่เป็น Business-to-Consumer หรือ B2C บ้างเพื่อให้บริษัทยั่งยืนมากขึ้น” โอมเผย และตู้ถ่ายรูปคือสิ่งแรกที่พวกเขานึกถึง “เรามองว่า behavior ของคนไทยชอบถ่ายรูป ตลาดตรงนี้จึงน่าจะใหญ่มากพอ บวกกับในช่วงปีนั้น ตู้ถ่ายรูปแบบออโต้แมตที่เราพอจะเห็นเป็นตู้ที่ใช้โปรแกรมสำเร็จรูป แต่ทีมของเรามีความรู้ฝั่งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เรื่องตู้ถ่ายรูปอยู่แล้ว นี่น่าจะเป็น unique selling point อีกอย่างที่ทำให้เราคิดว่าการทำธุรกิจนี้เป็นไปได้”
แชะที่สอง
ตู้ที่อยากเป็นความทรงจำดีๆ ของผู้คน
ตู้ถ่ายรูปตู้แรกของ hello.flashback ติดตั้งอยู่ที่งาน Goodhood Market เป็นตู้สีแดงสดใสที่เข้ากันดีกับธีมงาน
“พี่ๆ Goodhood เขาเห็นเทรนด์โฟโต้บูทเกาหลี ก็เลยเสนอเราให้ลองทำตู้แบบนี้ดู” เดียร์เล่า แต่ถึงกระนั้น พวกเขาก็ไม่ได้กำหนดทิศทางของตู้ไปทางเกาหลีทันที
สิ่งที่เกิดขึ้นคือทีมงานรีเสิร์ชข้อมูลของตู้ถ่ายรูปออโต้แมตทั้งในเยอรมนี อังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลี รวมถึงฝั่งยุโรปที่ล้วนมีคาแร็กเตอร์ของตู้แตกต่างกัน อย่างในยุโรปจะเน้นฟีลภาพวินเทจคลาสสิก ญี่ปุ่นจะชัดเจนเรื่องความน่ารัก ส่วนเกาหลีจะถ่ายแล้วหน้าใสเหมือนไอดอล
“เราพยายามเก็บข้อดีของตู้ถ่ายรูปแต่ละประเทศมาใช้ในการทำตู้ของตัวเอง พยายามคิดว่าเราอยากทำออกมาในรูปแบบไหนเพื่อให้คนไทยอินมากขึ้น” โอมบอก
หลังจากติดตั้งเสร็จได้ไม่กี่ชั่วโมง คนต่อคิวเข้าตู้ก็ยาวไปถึงทางเข้า เป็นสัญญาณที่บอกว่าสันนิษฐานของพวกเขาไม่ผิดคาด
“น่าจะเพราะมันใหม่ สิ่งที่ใหม่มักจับความสนใจของคนได้ เพราะเขาไม่ได้คาดหวังว่าไปงานนี้แล้วจะเจอตู้ถ่ายรูป เขาไปโอกาสพิเศษแบบนี้กับเพื่อนหรือแฟนอยู่แล้วก็อยากจะเก็บความทรงจำดีๆ กลับไปด้วย”
นอกจากถ่ายแล้วน่ารักหน้าใส ‘ความทรงจำดีๆ’ นี่แหละที่เป็นคีย์เวิร์ดหลักของตู้จนพวกเขาหยิบมาตั้งชื่อแบรนด์
“เพราะอยากให้คนที่มาถ่ายรูปกลับมาย้อนดูภาพตอนเวลาผ่านไป 10-20 ปี แล้วเขาเห็นว่ามาถ่ายกับตู้นี้ กับคนคนนี้ แล้วเขาก็ได้ย้อนแฟลชแบ็กกลับไปคิดถึงโมเมนต์นั้น” โอมเล่า
แชะที่สาม
ตู้ที่เป็นส่วนหนึ่งของสถานที่อย่างแท้จริง
นอกจากเฟรมน่ารักๆ และโปรแกรมอินเทอร์แอ็กทีฟสุดเจ๋งแล้ว ตู้ของ hello.flashback ยังมีความแตกต่างจากตู้แบรนด์อื่นๆ คือหน้าตาของตู้ที่พยายามเชื่อมโยงกับสถานที่และกลุ่มลูกค้า
“เราทำรีเสิร์ชว่าลูกค้าที่จะไปที่นั่นจะเป็นใคร แล้วดึงเอาจุดเด่นของสถานที่ แม้กระทั่งการตกแต่งของโลเคชั่นรอบๆ แล้วนำมาปรับใช้กับตู้ถ่ายรูปของเราเพื่อให้เบลนด์อิน เข้ากับสถานที่ให้ได้มากที่สุด” โอมเล่า
“เราอยากทำให้รูปถ่ายของเราเป็นหนึ่งในประสบการณ์ของคนที่มาสถานที่นั้นเหมือนกัน ให้เขารู้สึกว่ามาแล้วได้อะไรกลับไป”
ยกตัวอย่าง GUMP และ theCOMMONS ซึ่งมีกลุ่มลูกค้าแตกต่างกัน ตู้และรูปที่ GUMP จะออกมาน่ารักสดใสแปรผันไปตามความจี๊ดจ๊าดของสถานที่ ในขณะที่ theCOMMONS จะให้มู้ดเท่ๆ และดูผ่อนคลายมากกว่า
และไม่ใช่ว่าตู้ถ่ายรูปของ hello.flashback จะพึ่งพาสถานที่อย่างเดียวเท่านั้น ในบางช่วงเวลา ตู้ถ่ายรูปของพวกเขาก็ซัพพอร์ตสถานที่นั้นเช่นเดียวกัน
โอมยกตัวอย่างให้ฟังถึงตอนที่ theCOMMONS ไม่สามารถขายแอลกอฮออล์ได้ในช่วงโควิดแต่จุดประสงค์ของหลายคนที่ไปคือการไปปาร์ตี้ นั่นทำให้ลูกค้าของ theCOMMONS หดหายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
“ยอดขายช่วงนั้นลดลง แต่พอเราติดตั้งตู้ถ่ายรูปที่คอลแล็บกับ Bunny Shoot Film คนก็มาเล่นไม่ต่ำกว่า 100 รูปต่อวันแม้ว่าจะเป็นช่วงโควิด ร้านค้าที่อยู่ข้างในก็พลอยได้รายได้จากคนที่มาถ่ายรูปไปด้วย” ชายหนุ่มยิ้ม
แชะที่สี่
ตู้ที่ช่วยสร้างวัฒนธรรมการถ่ายรูปในไทย
สำหรับทีม hello.flashback ปัจจัยสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการเป็นตู้ถ่ายรูปที่ลูกค้าหลงรัก คือความใส่ใจ
ใส่ใจแค่ไหน ถึงขนาดที่ว่าพวกเขาไปยืนฟังฟีดแบ็กลูกค้าแล้วแก้ไขให้มาแล้ว
“ตอนไปติดตั้งที่ GUMP ใหม่ๆ พวกเราเคยไปยืนแอบฟังว่าเขาว่ากันไง ถ้าลูกค้าบอกรูปมืดเกินไป ก็กางคอมพ์ขึ้นมาทำ แก้ตรงนั้น ขอลูกค้า 10 นาทีเพื่ออัพเดตโปรแกรม” เดียร์ผู้เป็นโปรแกรมเมอร์กลั้วหัวเราะ
“สุดท้ายแล้ว เราอยากมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกค้าเรา อะไรที่ออกจากเราไป เราไม่อยากให้มันชุ่ย” โอมเสริม
“เพราะจริงๆ มิชชั่นของเรา เราไม่ได้อยากหารายได้จากมันอย่างเดียว แต่เราอยากทำให้การถ่ายรูปเป็นคัลเจอร์ของคนไทย ช่วงแรกที่เราทำหลายคนตั้งคำถามว่าจะเป็นเทรนด์หรือเปล่า แต่จากที่เราทำรีเสิร์ชมามันไม่ได้เป็นแบบนั้น
“เราสามารถทำรายได้จากธุรกิจนี้และสร้างคัลเจอร์ไปพร้อมกันได้ เกาหลี ญี่ปุ่น เขามีเทรนด์ถ่ายรูป ทำไมเราจะเซตคัลเจอร์นี้ในประเทศไทยไม่ได้ และสิ่งที่จะทำให้ไปถึงจุดนั้นได้ เราต้องเข้าไปคุย เก็บฟีดแบ็กลูกค้าแล้วเอามาพัฒนาต่อ”
แชะที่ห้า
ตู้ที่พัฒนาต่อได้ไม่รู้จบ
คำว่าพัฒนาต่อของพวกเขาคือการทำให้โปรดักต์มีคุณภาพสมราคาและน่าพอใจ แต่ในอีกแง่หนึ่ง คือการสร้างประสบการณ์การถ่ายรูปแบบใหม่ๆ ให้ลูกค้าไม่เบื่อ
“ตู้ของบางแบรนด์มีเฟรมแบบเดียวแล้วต้องใช้ไปตลอดเพราะซอฟต์แวร์สำเร็จรูปมีแค่เฟรมนั้น แต่พอเราไม่มีข้อจำกัดเรื่องซอฟต์แวร์ เราก็จะอัพเดตตัวเฟรมให้ลูกค้ารู้สึกแปลกใหม่ เช่น มีระบบดีเทกต์ใบหน้าแล้วเปลี่ยนแบ็กกราวนด์ด้านหลัง หรือการใส่ฟีเจอร์วาดรูปเพิ่มได้ แปะสติ๊กเกอร์ได้ สิ่งเหล่านี้ชวนให้พวกเขามาถ่ายซ้ำได้เรื่อยๆ และเป็นผลดีต่อธุรกิจ” เดียร์บอก
รวมไปถึงการผลักดันตู้ถ่ายรูปให้เข้าไปสู่เขตแดนใหม่ๆ ที่ใครหลายคนนึกไม่ถึง เช่น การคอลแล็บกับศิลปินขวัญใจคนรุ่นใหม่อย่าง give.me.museum สร้างตู้ธีมพิเศษ การจับมือกับฟาง ธนันต์ธรญ์ ศิลปินค่าย SPICYDISC ทำตู้ถ่ายรูปที่ปรินต์รูปออกมาแล้วสามารถสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อฟังเพลงของฟางได้ หรือแม้กระทั่งการไปติดตั้งตู้ถ่ายรูปบนเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยาก็ทำมาแล้ว
“สิ่งนี้มันเชื่อมโยงกับที่เราเคยคุยกันว่า เราอยากทำให้มันเกิดคอมมิวนิตี้ของ hello.flashback ขึ้นด้วย สำหรับกลุ่มลูกค้าเดิม เราอยากคีปไว้แล้วค่อยอัพเดตสิ่งใหม่ๆ ให้เขาตลอด ในขณะเดียวกัน เราก็อยากชวนศิลปินที่คนรู้จักและไม่รู้จักมาร่วมงานกันเพื่อแนะนำพวกเขาให้ลูกค้ารู้จักด้วย” ดรีมเล่า ก่อนโอมจะเสริมต่อ
“หลายๆ ธุรกิจที่ไม่ยั่งยืน เราว่าเขามองแต่เรื่องตัวเลขมากเกินไป แต่เราไม่ได้บอกว่าตัวเลขไม่สำคัญนะ ตัวเลขสำคัญสำหรับการอยู่รอดหรือการทำ R&D แต่ตัวเลขไม่ใช่สิ่งแรกที่ควรมองขนาดนั้น สำหรับเราสิ่งแรกที่ควรมองคือความสนุก ในขณะเดียวกันความสนุกก็ต้องบาลานซ์กับตัวเลขไปพร้อมกันด้วยทั้งสองด้าน”
เมื่อเราถามถึงตัวชี้วัดความสำเร็จของพวกเขาว่าเป็นแบบไหน ทีมงานนั่งนึกครู่ใหญ่ก่อนจะตอบตามจริงว่า
“เราไม่ได้มีเป้าหมายว่าจะไปอยู่จุดไหน เพราะเราไม่อยากกดดันกันเองในทำนองว่าปีนี้เราจะทำยอดได้เท่าไหร่” โอมบอก
“อาจเพราะเราทำออฟฟิศกับเพื่อน กับรุ่นพี่รุ่นน้องด้วย เป้าหมายของเราจึงเป็น short term ที่เน้นเรื่องความสุขของคนทำงานมากกว่า เช่น เราตั้งเป้าว่าปีนี้จะไปเที่ยวต่างประเทศกัน เราอยากให้คนในทีมมีความสุข โตไปด้วยกัน เพราะพอคนในทีมมีความสุข งานก็จะออกมาดี”