นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

Culture Shot

Sculpture Bangkok ธุรกิจที่สร้างเทรนด์ตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติและวิธีมัดใจคนในระยะยาว

เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะไปจิบกาแฟที่คาเฟ่ไหน หรือเดิน window shopping ในห้างอะไร สิ่งที่ไม่เห็นไม่ได้คือตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติที่เปิดไฟชักชวนให้เราเข้าไปถ่ายเสียดีๆ sculpturebangkok

มากกว่านั้น ในบางสถานที่เราอาจพบว่าตู้เหล่านี้เรียกคนได้ดีระดับที่มีคนนัดกับเพื่อนมาต่อคิวเป็นชั่วโมงเพื่อที่จะได้ถ่ายรูปไม่กี่แชะ! (หรือไม่กี่สิบแชะ ถ้าถ่ายเยอะหน่อย)

ในบรรดาตู้ถ่ายรูปคิวยาวเหยียดเหล่านี้ แน่นอนว่าต้องมีตู้ของ Sculpture Bangkok รวมอยู่ด้วย หรือจะพูดว่าพวกเขาจุดเทรนด์นี้ขึ้นมาก็ได้ เพราะตั้งแต่ตู้แรกของ Sculpture Bangkok ไปตั้งอยู่ที่ร้าน h____dining ในปี 2019 ดีมานด์ตู้ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากวันนี้ที่พวกเขาตั้งทำการอยู่เป็นสิบที่ ต้องเจอในงานอีเวนต์อยู่เสมอ และแตกไลน์ธุรกิจออกไปได้อีกมาก

sculpturebangkok

ใช้เวลาเพียง 2 ปี นอกจาก Sculpture Bangkok ที่เติบโตยังมีแบรนด์ตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติเกิดขึ้นอีกหลายราย จนตู้ถ่ายรูปกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของคัลเจอร์วัยรุ่นโดยอัตโนมัติ

คำถามคือ Sculpture Bangkok ทำยังไงให้ตู้ถ่ายรูปที่หายจากเมืองไทยไปนานกลับมาเป็นเทรนด์ฮิตขนาดนี้

และขึ้นชื่อว่าเทรนด์ คำถามสำคัญกว่านั้นคือมันจะอยู่นานแค่ไหน และพวกเขาเตรียมตัว (และตู้) รับมือกับความเปลี่ยนแปลงยังไง

สปอยล์ไว้ตรงนี้เลยว่าภาพที่ ปิ่น–ลักษิกา จิระดารากุล และ พี–สาริษฐ์ ตรัยเลิศวิเชียร Founder และ Co-founder ของ Sculpture Bangkok มองไว้มีสีสันมากกว่าตอนนี้อีกด้วยซ้ำไป

The Rise of New (S)Cul(p)ture

ถ้าถามว่าอะไรทำให้ตู้ถ่ายรูปของ Sculpture Bangkok ได้รับความนิยม เราคิดว่าอาจเป็นภาพที่คมชัดเหมือนตากล้องมืออาชีพถ่ายให้ สไตล์อาร์ตๆ หรืออาจเป็นคอนเซปต์ของตู้ที่สนุกและหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นตู้คลาสสิก ภาพสีขาว-ดำเหมือนเมืองนอก ตู้ที่จับภาพเบลอตอนเราเคลื่อนไหว หรือตู้ล่าสุดที่ทำกับ IWANNABANGKOK ซึ่งให้เรานอน มุดท่อ หรือถ่ายภาพมุมเสยจากใต้เท้า!

แต่ถ้าถามปิ่นและพี พวกเขามองย้อนกลับไปแล้วเห็นที่มาความฮิตหลายข้อ เริ่มจากข้อแรกคือความไม่มี

ช่วงปลายปี 2019 ปิ่นที่เพิ่งกลับจากนิวยอร์กเกิดโหยหาตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติที่เธอหลงใหล แต่ในกรุงเทพฯ กลับไม่มีให้ถ่ายสักตู้ ควักเงินหลักพัน ลงแรงอีกหน่อยด้วยการถือกล้องเข้าไปนั่งถ่ายอยู่หลังตู้ ปิ่นซึ่งมีอาชีพหลักเป็นช่างภาพก็สร้างตู้ถ่ายรูปตู้แรกของตัวเองขึ้นมา

“ตอนไปนิวยอร์กเราชอบตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติมากแต่พอกลับมาไทยเราหาไม่ได้จริงๆ บางคนอาจจะบอกว่าตู้แบบนี้มีอยู่แล้ว ก็ใช่ มันมีอยู่ตามงานแต่งแต่เราไม่ได้ไปงานแต่งทุกวัน และเราก็ไม่ได้อยากเข้าไปซื้อของในร้านอะไรเพื่อที่จะได้ถ่ายโฟโต้บูท เราแค่อยากเข้าไปถ่ายรูป จ่ายตังค์ก็ได้แต่ว่าอยากถ่าย อยากได้รูปตัวเอง” ปิ่นเล่า

sculpturebangkok

ข้อถัดมา คือถ้าปิ่นชอบและอยากเห็นตู้ถ่ายรูปเกิดขึ้นในเมืองไทย ทำไมจะไม่มีคนอื่นที่คิดเหมือนกัน

และข้อที่สาม ทั้งปิ่นและพีมองว่าคือคัลเจอร์ของคนไทยที่ชอบถ่ายรูปเป็นพื้นฐาน โดยเฉพาะวัยรุ่นทุกวันนี้ที่ตั้งใจไปคาเฟ่หรือสถานที่สวยๆ เพื่อถ่ายรูป

“เราว่าคนไทยชอบถ่ายรูปอยู่แล้ว ชอบไปตามที่ต่างๆ ไปคาเฟ่เพื่อถ่ายรูป อย่างที่ WWA Cafe x Chooseless ที่เราตั้งตู้ถ่ายรูปก็เป็นคาเฟ่ คนบางส่วนมาเพื่อถ่ายรูปอยู่แล้ว การมีตู้ถ่ายรูปมาตั้งมันก็ถูกจุดประสงค์” พีบอก

เหตุผลข้อนี้แหละคือคำอธิบายว่าทำไมคุณถึงจะเจอตู้ของ Sculpture Bangkok ที่คาเฟ่ เช่น h____dining, FICS หรือร้าน SELF ที่เชียงใหม่ ถึงอย่างนั้น นิสัยชอบถ่ายรูปของคนไทยก็ยังอธิบายปรากฏการณ์คนเข้าแถวรอถ่ายรูปได้ไม่ทุกมิติ

เหตุผลข้อที่สี่ของความฮิตจึงเป็นการชักชวนเพื่อนมาถ่ายรูปในช่วงเปิดตัวตู้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แบบที่ใครก็ตามไถฟีดอินสตาแกรมแล้วต้องเจอภาพจากตู้ของ Sculpture อย่างน้อยๆ หนึ่งโพสต์

“ส่วนใหญ่ก่อนเปิดตัวทุกสาขาเราจะมีวัน influencer day ชวนเพื่อนๆ ชวนดาราที่รู้จักกันมา ตอนเปิดตัวที่ลิโด้ครั้งแรกก็ทำแบบนี้ ชวนแบบกวาด พีเปิด following ของตัวเองแล้วก็กวาดชวนมาหมดเลย ปิ่นเองก็ทุ่มสุดตัว โชคดีว่าหลายๆ คนมา มันคาดไม่ถึงมากๆ อย่างพี่ชมพู่ อารยา ก็มาโดยที่เราไม่ได้ชวน เราชวนเพื่อนเขาแล้วเขาก็มาเอง วันที่เปิดวันแรกก็เลยกระแสดีมาก คนต่อแถวกันประมาณ 2 ชั่วโมงยาวไปจนสุดห้าง” พีเล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น แม้วันนั้นจะผ่านมานับปีแล้วก็ตาม

ถึงจะมีเหตุผลหลายข้อ แต่ท้ายที่สุด สองผู้ก่อตั้งก็ยังคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในความสำเร็จคือ ‘โปรดักต์’ ที่ตอบโจทย์อยู่ดี

“เราคิดว่าสิ่งที่ทำให้คนมาไม่ใช่แค่เรื่องคอนเนกชั่นแต่ว่าเป็นเรื่องโปรดักต์ เราเคยคุยกันว่าสมมติโปรดักต์ของเราไม่ใช่ตู้ถ่ายรูปแต่เป็นสิ่งอื่น เช่น เป็นเสื้อผ้าหรือเป็นสิ่งที่มีคนทำอยู่แล้วคนคงไม่มาขนาดนี้” ปิ่นเล่าก่อนพีจะสรุปด้วยคำว่า ‘ถูกที่ถูกเวลา’

sculpturebangkok

Sculptures of Everything

แบรนด์ตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติ ก่อตั้งโดยคนวัยยี่สิบกลางๆ คาแร็กเตอร์แบบนี้มีสิทธิ์ทำให้คนคิดว่าพวกเขาทำธุรกิจตามใจ แต่ไม่ใช่กับพีที่คลุกคลีกับธุรกิจที่บ้านมาตั้งแต่จำความได้ และใช้แบ็กกราวนด์นั้นมาพัฒนาโปรเจกต์เชิงศิลปะของปิ่นให้กลายเป็นธุรกิจที่มีแผนจริงจัง

“ตอนแรกปิ่นทำตู้ถ่ายรูปคนเดียวเป็นโปรเจกต์ส่วนตัว พอทรีตว่าเป็นโปรเจกต์ส่วนตัวทุกรายรับปิ่นก็จะพอใจหมด ชิลล์ๆ แบบกระแสดีฉันชอบแต่ไม่ได้ดูยอดขายในบัญชี (หัวเราะ) แต่เราเป็นคนที่มุ่งยอดขายมาก เลยมาช่วยเวิร์กเรื่องเงิน ส่วนปิ่นจะเวิร์กเรื่องทิศทางของโปรเจกต์”

จากตู้ถ่ายรูปที่ถ่ายเองกับมือ หนึ่งปีผ่านไปเมื่อดีมานด์เยอะเกินสองมือ ปิ่นก็ต่อยอดเป็นตู้อัตโนมัติ มีโปรแกรมที่เขียนขึ้นมาเพื่อ Sculpture Bangkok เท่านั้น และเมื่อได้พีเข้ามาร่วมทีม Sculpture จึงขยายแบรนด์ย่อยให้ตอบโจทย์ทาร์เก็ตที่หลากหลายมากขึ้นจนเกิดเป็น 4 บริการหลักได้แก่

1. Sculpture
แบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่ตู้ถ่ายรูปเป็นแค่ส่วนหนึ่ง

คำว่าดีมานด์เยอะขึ้นไม่ได้หมายถึงลูกค้าที่มาต่อแถวถ่ายรูปเท่านั้นแต่ยังหมายถึงแบรนด์ที่ติดต่อมาร่วมงาน แต่เพราะปิ่นอยากให้ Sculpture เป็นมากกว่าตู้ถ่ายรูป การรักษาเอกลักษณ์และแบรนด์ดิ้งของตู้เอาไว้จึงจำเป็น การทำธุรกิจ Sculpture จึงมีลักษณะ partnership ไม่ใช่การให้สถานที่เช่าตู้ โดยทีม Sculpture จะแบ่งกำไรกับเจ้าของสถานที่ ตู้จึงอยู่ถูกที่ถูกทางโดยที่ทั้งแบรนด์และเจ้าของสถานที่วิน-วิน

นอกจากตู้ถ่ายรูป Sculpture เลยมีโปรดักต์อื่นๆ อีกภายใต้แบรนด์ Random Sculpture Club ไม่ว่าจะเป็นหมวกแก๊ป 2 ชั้นที่เป็นซิกเนเจอร์ กางเกงขาสั้น ถุงเท้า ไปจนถึงกล้องฟิล์มใช้แล้วทิ้ง

2. SNAP
เพื่อนสาวผู้เป็นมิตร เข้ากับคนได้ตั้งแต่ทิศเหนือจรดใต้

“เรามองว่าในอนาคต Sculpture จะเป็นมากกว่าตู้ถ่ายรูปแต่เป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์เลยอยากรักษาแบรนด์ดิ้งของมันเอาไว้ไม่ให้คนติดภาพว่านี่คือตู้ถ่ายรูปที่เช่าได้” ปิ่นเล่าถึงที่มาของแบรนด์น้องอย่าง SNAP ก่อนที่พีจะเล่าต่อ

“เราก็เลยตัดสินใจว่าควรเปิดอีกแบรนด์สำหรับแมสไปเลยให้คนรู้ว่านี่แหละแบรนด์ตู้ถ่ายรูป สุดท้ายก็เลยเกิด SNAP เป็นแบรนด์แบบไม่เลือกงานไม่ยากจน ใครจะชวนฉันร่วมงานได้หมด อิสระ ปรับตัวได้ Sculpture จะมีความเล่นตัวหน่อยๆ เป็นคนสวยหรู หนุ่มหล่อเท่ แต่ SNAP จะเป็นสาวตลก”

“เฟรนด์ลี่อะ ตลก โก๊ะ เข้ากับคนง่าย อยู่วงเหล้าได้ทุกวง กลับหลังเพื่อน” ปิ่นเสริมพร้อมย้ำว่า persona นี้ไม่ได้คิดขึ้นมาเอาฮาแต่ผ่านการทบทวนมาแล้วหลายรอบ

“ตอนแรกปิ่นไม่ยอมใช้ชื่อ SNAP ด้วย” พีแอบบอก “ปิ่นบอกว่ามึง มันแมสมาก แมสไป เราเลยบอกว่า มึง เรากำลังทำแบรนด์แมสไง มันต้องแมสแบบนี้”

คำว่าแมสหมายถึงเข้ากับคนได้ทุกเพศ ทุกวัย และทุกแบรนด์ ขณะที่ Sculpture เน้นความเรียบเท่ SNAP ก็พร้อมจะปรับอัตลักษณ์ตามแบรนด์ที่เข้ามาชวน โปรแกรมใช้งานง่าย แบรนด์ที่นำไปตั้งสามารถบำรุงรักษาและตั้งค่าเองได้ ส่วนคนที่มาใช้สามารถแต่งรูปได้ด้วยสติ๊กเกอร์ แถมยังมีเพลงน่ารักๆ ให้ฟังระหว่างถ่ายด้วย

ราคาก็เป็นอีกสิ่งที่กำหนดทาร์เก็ตและจุดยืนของแบรนด์ Sculpture นั้นเกิดขึ้นในวันที่ไร้คู่แข่งจึงกำหนดราคาได้ตามต้นทุนและทาร์เก็ตคือรอบละ 160.5 บาทรวม VAT แต่ SNAP เริ่มต้นในวันที่มีแบรนด์ตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติเต็มเมือง ราคาจึงถูกกว่าแบรนด์พี่คือ 107 บาทรวม VAT เป็นตัวเลขที่จับต้องได้ทุกคน และสามารถขยายสาขาสู่จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็ว

3. Powered by Sculpture
พื้นที่ตรงกลางระหว่าง Sculpture และ SNAP

แม้จะมี SNAP ที่ทุกคนเข้าถึงได้ แต่บางครั้งแบรนด์ที่อยากร่วมงานกับปิ่นและพีก็มีแบรนดิ้งที่เป็นผู้ใหญ่กว่า SNAP ปิ่นจึงคิดทางออกขึ้นมาเป็นไลน์ตู้ถ่ายรูปที่เรียกว่า Powered by Sculpture คือเป็นตู้ที่ Sculpture ผลิต ได้คุณภาพเดียวกับ Sculpture โดยที่แบรนด์สามารถแปะโลโก้ของตัวเองได้เหมือนตู้ SNAP นั่นเอง

4. Sculpture Love
ตู้ถ่ายรูปชนิดคลาสสิกสำหรับงานแต่งงาน

เพราะตู้ถ่ายรูปมีความโรแมนติกอยู่ในตัว Sculpture จึงเพิ่มบริการ Sculpture Love เป็นตู้คลาสสิกที่สามารถเปลี่ยนเทมเพลตได้ตามธีมงาน และพิเศษที่บ่าวสาวสามารถเข้ามาดูภาพได้ว่ามีแขกคนไหนมาถ่ายภาพบ้าง ต่างจากตู้อื่นๆ ของ Sculpture ซึ่งมีกฎเหล็กห้ามดูหน้าลูกค้าที่มาถ่ายเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัว

Best Time is Today

จากกรุงเทพฯ ที่ตู้ถ่ายรูปกำลังเป็นเทรนด์ ตัดภาพไปที่นิวยอร์กหรือเบอร์ลินตู้ถ่ายรูปที่นั่นตั้งอยู่เงียบๆ ตามมุมเมือง เป็นธุรกิจที่ทำแบบเล็กๆ พอดีตัว ชวนให้คิดถึงอนาคตของ Sculpture ว่าจะไปตั้งอยู่ ณ จุดไหน

แต่ระหว่างทางจากปัจจุบันถึงอนาคตที่ตู้ถ่ายรูปยังเป็นที่ต้องการ ปิ่นและพีบอกว่าสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการทำงานกับเทรนด์คือความเร็ว

ทั้งความเร็วของการปรับเปลี่ยนแบรนด์อย่างที่พวกเขาแตกแบรนด์ย่อยในเวลาอันสั้น หรือการทำ Sculpture Drive-Thru ให้ขับรถเข้าไปถ่ายรูปในช่วงโควิด

และที่หลายคนอาจไม่ได้นึกถึงแต่มีผลมากคือความเร็วในการซ่อมตู้!

“ความยากคือเราต้องเวิร์กกับโปรแกรมเมอร์ซึ่งมันใช้เวลา ถ้าคิดช้านิดนึงก็อาจจะมีคนทำแล้ว” ปิ่นเล่าให้ฟังก่อนพีจะช่วยเสริมว่า

“แม้แต่การให้บริการ ตู้ของเราคนต้องยืนต่อแถวรอ สมมติว่าตู้มีปัญหาคนก็ไม่อยู่แล้วนะ ฉะนั้นเราต้องทำเร็ว แก้ปัญหาเร็วด้วย พนักงานทุกคนจะรู้ว่าเวลาเกิดปัญหาพีกับปิ่นจะแอ็กทีฟมาก ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นห้ามปล่อย ต้องแก้ตอนนี้ วินาทีนี้เลย”

sculpturebangkok
sculpturebangkok

ส่วนเรื่องอนาคต มากกว่าความไว การอยู่รอดอาจต้องใช้ความยืดหยุ่นและความเข้าใจในคัลเจอร์ของที่ที่ตู้นั้นตั้งอยู่

“พอเรามองไกลๆ เรารู้อยู่แล้วว่าธุรกิจที่เล่นกับเทรนด์ต้องมีขาลง แปลว่า ณ ตอนที่ไม่มีคนต่อแถวใช้ตู้ของเราเราต้องไปจับอย่างอื่นแล้ว ซึ่งเราอยากให้มันเป็นอย่างนั้น คือมีตู้ของเราตั้งอยู่ไปเรื่อยๆ เหมือนที่นิวยอร์กซึ่งเราชอบ” ปิ่นว่า

“จริงๆ เป็นคำถามของเราทุกวันนี้เลยว่าที่อื่นเขาทำยังไง ไม่ใช่แค่ตู้ถ่ายรูปนะ ร้านกาแฟที่เคยฮิตหรือร้านแฟรนไชส์ที่เคยฮิตตอนคนไม่ต่อแถวแล้วเขาทำยังไงกันต่อ 

“เราพยายามรีเสิร์ชธุรกิจนี้ในหลายๆ ประเทศว่าเขาทำงานยังไง อย่างตอนนี้ที่รีเสิร์ชอยู่คือเกาหลีซึ่งคนต่อแถวอยู่ตลอดแม้จะมีตู้มานานเพราะเวลาดาราเกาหลีไปถ่ายตู้ไหนก็จะมีแฟนๆ ตามไป มันเป็นคัลเจอร์ของเขา ส่วนยุโรป อเมริกาจะชิลล์ๆ เพราะว่ามีตู้มานานแล้ว ทำกันเล็กๆ เราเลยคิดว่าเราก็ควรจะทำในที่ที่เราคุ้นชินกับคัลเจอร์และยังทดลองอยู่เรื่อยๆ ความสนุกคือเราแหวกว่ายได้เต็มที่เพราะว่าตอนเริ่มต้นมันยังไม่มีใครทำในประเทศนี้ ตอนนี้เราเองก็มีแพลนทำตู้แบบใหม่ๆ ตลอด ที่ยังบอกไม่ได้ว่าคืออะไร”

แม้จะขอเก็บตู้ใหม่ไว้เป็นความลับ แต่ปิ่นบอกว่าในอนาคตอันใกล้ คาดหวังสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่ใช่ตู้ถ่ายรูปจากพวกเขาไว้ได้เลย

“พอทำตู้มาสักพักเราก็เริ่มเก็ตคีย์เวิร์ดมากขึ้น คือพอทุกอย่างเข้าถึงได้โดยออนไลน์ทุกคนเลยชอบ express ความเป็นตัวเองในรูปแบบอะไรก็ได้ เช่น นี่รูปฉันถ่ายในตู้ถ่ายรูป หรือเพลงที่ฉันชอบ สิ่งที่ฉันชอบ ฉันอยากจะเป็นตัวเอง ดังนั้นคีย์เวิร์ดของเราคือเราจะเป็น Image Maker ทำโปรดักต์ให้คนมา interact และแสดงความเป็นตัวเอง อาจจะไม่ใช่แค่ตู้ถ่ายรูปแต่เป็นอย่างอื่นก็ได้ที่คนรู้สึกว่านี่แหละฉัน

“Sculpture เป็นเหมือนตัวเปิดทางให้เราทำอะไรกับคัลเจอร์ของเด็กรุ่นใหม่ได้อีก มันอาจจะเป็นพิพิธภัณฑ์ของ moving image (ภาพเคลื่อนไหว) เป็นโปรเจกต์ที่ให้เด็กรุ่นใหม่มามีส่วนร่วมหรือคนรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่มาเจอกัน อาจจะเป็นคอมมิวนิตี้อื่นๆ ที่เรียกว่า Sculpture”

Writer

Lifestyle Editor ชอบคุย ชอบรู้จัก และชอบอุดหนุนแบรนด์สร้างสรรค์ที่รัก

Photographer

ชีวิตต้องมีสีสัน

You Might Also Like