1398
October 25, 2023

Market Pet

รวมหลักคิดของธุรกิจสัตว์เลี้ยงที่เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาให้เหล่าทาส และสร้างคุณภาพความเป็นอยู่ที่ดีให้สัตว์เลี้ยง

ถ้าถามว่าธุรกิจไหนเฟื่องฟูที่สุดในยุคนี้ หากตอบ ‘ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง’ คงไม่เกินไปนัก เพราะท่ามกลางการซบเซาของหลายธุรกิจในช่วงยุคโควิดระบาด มาจนถึงตอนนี้ที่เศรษฐกิจทั่วโลกถอดถอย ธุรกิจสัตว์เลี้ยงกลับค่อยๆ โตขึ้นและโตต่อเนื่อง 

มีการคาดการณ์ว่าในปี 2012-2026 มูลค่าของตลาดสัตว์เลี้ยงทั่วโลกจะมีการเติบโตเฉลี่ยแบบทบต้นเฉลี่ยปีละ 7.2% จนมีมูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 217,651 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนไทยบ้านเราก็คาดว่าตลาดสัตว์เลี้ยงจะโตเฉลี่ยปีละ 8.4% และทำให้ภายในอีก 3 ปีข้างหน้าตลาดสัตว์เลี้ยงในไทยจะมีมูลค่าอยู่ที่ 66,748 ล้านบาท 

ในวันที่ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงผุดขึ้นกันเป็นดอกเห็ด Capital ซึ่งเคยมีโอกาสพูดคุยกับเจ้าของแบรนด์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง จึงอยากรวบรวมเรื่องราวของธุรกิจเหล่านี้ ทั้งที่มีอายุมาหลายสิบปี และธุรกิจใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงธุรกิจสัตว์เฟื่องฟู ไล่ตั้งแต่ Kafbo แบรนด์ที่ลับเล็บแมวกระดาษเจ้าแรกของไทย, Petige ร้าน selected petshop รวมสินค้าคุณภาพเยี่ยมสำหรับสัตว์เลี้ยง, Ready to Woof แบรนด์หมวกคู่ที่อยากให้มะนุดและสัตว์เลี้ยงแต่งตัวคู่กันได้ทุกวัน, Royal Canin แบรนด์อาหารหมาแมวที่อยู่คู่เหล่า pawrent มากว่า 15 ปี และโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ โรงพยาบาลสัตว์ขวัญใจชาวทาสที่ยืนหยัดมาในตลาดสัตว์เลี้ยงจนปีที่ 30

ท่ามกลางการแข่งขันของตลาดสัตว์เลี้ยง ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงเกิดขึ้นใหม่ไม่หยุดหย่อน แบรนด์หรือธุรกิจต่างๆ เหล่านี้มีวิธีคิดและแนวทางการบริการธุรกิจยังไงให้แตกต่าง กระทั่งบางธุรกิจทำยังไงให้แบรนด์ยืนระยะมาได้ยาวนาน ตามไปหาคำตอบเกี่ยวกับหลักคิดของธุรกิจสัตว์เลี้ยงเหล่านี้ได้ที่ Capital List ตอนนี้

Kafbo ที่ลับเล็บแมวกระดาษเจ้าแรกของไทย ที่อยากแก้ pain point ให้คนรักแมว

5 หลักคิดในการทำธุรกิจของ Kafbo

  1. ส่งเสริมและต่อยอดสิ่งที่มีให้ดียิ่งขึ้น Kafbo จึงใช้ความชอบผสานกับต้นทุนที่มีอย่างธุรกิจรับทำพาเลตกระดาษของครอบครัวมาต่อยอด
  2. Kafbo เกิดขึ้นในยุคที่ตลาดสัตว์เลี้ยงยังไม่โตเท่าปัจจุบัน แต่ความที่เป็นเด็กจบใหม่ของเจ้าของแบรนด์ เธอจึงใช้แพสชั่นนำทาง และค่อยๆ คราฟต์ Kafbo ขึ้นทีละนิด
  3. ศึกษาพฤติกรรมแมวอย่างลึกซึ้งเพื่อให้เข้าใจอินไซต์และพัฒนาโปรดักต์ได้ตรงจุด ซึ่ง Kafbo พบว่าแมวเป็นสัตว์ป่าที่เคยอยู่ตามธรรมชาติมาก่อน พฤติกรรมหนึ่งของมันคือมักลับเล็บกับเปลือกต้นไม้ แต่เมื่อคนเอาแมวมาเลี้ยง แมวจึงต้องลับเล็บกับเฟอร์นิเจอร์ในบ้านซึ่งสร้าง pain point ให้กับคนเลี้ยง 
  4. เชื่อในโปรดักต์ที่ทำเพราะมองเห็นโอกาสว่ายังไม่มีสินค้าไหนในตลาดที่ตอบโจทย์ทั้งแมวและคน
  5. ยึดถือสโลแกน Happy Home, Happy Cat (ความสุขของแมว ความสวยของบ้าน) สินค้าทุกชิ้นของแบรนด์จึงให้ความสำคัญกับความสุขของทั้งเจ้าของและแมว 
  6. ให้ความสำคัญกับดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์และคุณภาพของสินค้า แม้ในวันที่โรงงานจีนเริ่มเข้ามาตีตลาดที่ลับเล็บแมว ก็ยังทำให้ Kafbo เอาชนะใจลูกค้าได้
  7. ปรับตัวอยู่เสมอ โดย Kafbo จะดูว่าสินค้าเดิมเป็นแบบไหน และลองหาที่ทาง เช่น เพิ่มสีใหม่ๆ ที่เข้ากับเทรนด์สมัยใหม่ กระทั่งลองทำไซส์ใหญ่ที่ตอบโจทย์ลูกค้าที่มีแมวตัวใหญ่ เป็นต้น

อ่านบทสัมภาษณ์เต็มได้ที่  capitalread.co/kafbo

Petige แหล่งรวมสินค้าคุณภาพเยี่ยมสำหรับสัตว์เลี้ยง ที่เป็นที่รักของเหล่า pawrent

6 หลักคิดในการทำธุรกิจของ Petige

  1. brand positioning ที่ใช่คือหัวใจที่ไม่ควรมองข้าม แม้ตลาดสัตว์เลี้ยงจะเป็นเทรนด์ และธุรกิจสัตว์เลี้ยงมีโอกาสเติบโตในอนาคต แต่ไม่ใช่ว่าต้องกระโดดลงไปทำมันเดี๋ยวนั้น Petige จึงรีเสิร์ชตัวตนและตลาด เพื่อหาที่ทางว่าจะเข้าไปในตลาดนี้ยังไงก่อนเริ่มลงมือทำ
  2. โลเคชั่นที่ถูกต้องคือแต้มต่อทางธุรกิจ พวกเขาจึงเลือกย่านที่อยู่อาศัยเพราะเชื่อว่าแถบที่พักอาศัยผู้คนมักจะเลี้ยงหมาเลี้ยงแมวกันเยอะ และเลือกเป็นปั๊มน้ำมันเนื่องจากหมาแมวไม่สามารถเข้าคอมมิวนิตี้หรือห้างได้ 
  3. ใครชอบเดินร้าน pet shop เป็นประจำ อาจเห็นแพตเทิร์นบางอย่างจากหลายร้านที่ส่วนใหญ่มักอัดแน่นด้วยสารพัดสิ่งของ ไม่ได้รับการจัดโซนนิ่ง และทำให้หลายครั้งไม่มีทางเดิน แต่สำหรับ Petige ไม่ใช่แบบนั้น เพราะที่นี่จัดระเบียบโซนต่างๆ อย่างดี และออกแบบพื้นที่ให้แตกต่าง ด้วยตั้งใจอยากสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า
  4. อีกหลักคิดที่พวกเขายึดถือและสะท้อนให้เห็นชัดผ่านโปรดักต์ที่วางขายก็คือ คัดสรรจากหัวใจ โดยวิธีการเลือกสินค้าจะเลือกจากส่วนผสมเป็นอย่างแรกและจะดูเรื่องมาตรฐานและคุณภาพ ที่สำคัญยังดูว่าสินค้าแต่ละประเภทที่เลือกมานั้นปลอดภัยกับน้องหมาน้องแมวหรือไม่ 
  5. เก็บข้อมูลและปรับตัวอยู่เสมอ โดยทีมจะประชุมกันทุกเดือนเพื่อลงลึกในลูกค้า เช่นดูว่าลูกค้าใหม่กลับมาซื้อซ้ำไหม ลูกค้าเก่ามีพอหรือยัง ถ้าอยากขยายฐานลูกค้าต้องทำอะไรบ้าง 
  6. ข้อสุดท้ายก็คือต้องรักแมวและรักสัตว์ เพราะความรักที่มีต่อสัตว์เลี้ยงคือย่อมเป็นหัวใจสำคัญที่ขับเคลื่อนให้ Petige เติบโต

อ่านบทสัมภาษณ์เต็มได้ที่ capitalread.co/petige

Ready to Woof แบรนด์หมวกคู่ที่อยากให้มะนุดและสัตว์เลี้ยงแต่งตัวคู่กันได้ทุกวัน

6 หลักคิดในการทำธุรกิจของ Ready to Woof 

  1. มองหาโอกาสใหม่ๆ สำหรับธุรกิจที่จะทำ แม้ตลาดสัตว์เลี้ยงจะโตและดูมีโอกาส แต่ก็ใช่ว่าทุกสินค้าจะเหมาะกับทุกโลเคชั่น สินค้าบางชิ้นอาจเวิร์กกับคนในประเทศหนึ่งแต่ไม่เวิร์กกับคนในอีกประเทศ ถ้ามองไปยังแถบยุโรปที่คนชอบพาหมาไปเดินเล่นออกกำลังกาย ชุดคู่อาจจะขายไม่ดีเท่าสายจูงหรือถุงเก็บอึ แต่สำหรับประเทศไทยที่คนชอบไปถ่ายรูปที่คาเฟ่ ไอเทมคู่เจ้าของและสัตว์เลี้ยงอาจเป็นสินค้ายอดนิยม
  2. ทำ market research เพื่อดูว่าสินค้าหมาแมวในเมืองไทยมีอะไรและยังไม่มีอะไร ซึ่งจากการศึกษาตลาดของ Ready to Woof ได้คำตอบว่าของใช้ประเภทเสื้อผ้ามีเยอะ แต่หมวกคู่ของเหล่าทาสกับหมาแมวยังคงมีน้อย 
  3. ใส่ใจทุกรายละเอียดและขั้นตอนการผลิตเพราะการทำเสื้อผ้าสัตว์เลี้ยงมีจุดที่ต้องคำนึงถึง ตั้งแต่ลองทำแพตเทิร์น ทดลองให้น้องหมาน้องแมวใช้สินค้าก่อนขายจริง และละเอียดในวัสดุที่ใช้เพื่อให้ทั้งเจ้าของและน้องหมาน้องแมวสบายตัวมากที่สุดเวลาสวมใส่
  4. ด้วยคอนเซปต์หลักของแบรนด์คือการเป็นแบรนด์เสื้อผ้าสัตว์เลี้ยงที่น้องหมาแมวใส่ได้ทุกวัน สินค้าทุกชิ้นจึงเริ่มคิดจาก ‘มะนุด’ เป็นหลัก โดยเน้นออกแบบสิ่งที่คนอยากใส่ โฟกัสเทรนด์ที่คนกำลังสนใจ แล้วค่อยทำไอเทมนั้นในไซส์สัตว์เลี้ยง
  5. ตามหาอินไซต์ของลูกค้าให้เจอ เช่นอินไซต์คนเลี้ยงหมาจะชอบแต่งตัวให้สัตว์เลี้ยงในช่วงเทศกาล สิ่งที่แบรนด์ทำจึงเป็นการออกสินค้า seasonal อย่างชุดผู้ช่วยซานต้าสำหรับวันคริสต์มาส หมวกผีน้อยสำหรับวันฮาโลวีน
  6. ข้อสุดท้ายก็คล้ายๆ ธุรกิจสัตว์เลี้ยง ที่ต้องมีแพสชั่นและความรักต่อหมาแมวและลูกๆ ของตัวเอง

อ่านบทสัมภาษณ์เต็มได้ที่  capitalread.co/ready-to-woof

Royal Canin แบรนด์อาหารหมาแมวที่อยู่มาตั้งแต่ยุคตลาดสัตว์เลี้ยงยังไม่โต เพราะไม่หยุดพัฒนา

9 หลักคิดในการทำธุรกิจของ Royal Canin

  1. จุดเริ่มต้นของ Royal Canin นั้นเกิดจากความรักและวิทยาศาสตร์ หลักการแตกไลน์ผลิตภัณฑ์จึงมีตั้งแต่ A Better World for Pets, Cats and Dogs First, Science Behind Nutrition จนถึงในปัจจุบันอย่าง Health Through Nutrition  หรือการสร้างสุขภาพที่ดีผ่านโภชนาการที่ถูกต้องเหมาะสม 
  2. ให้ความสำคัญกับหมาแมวทุกๆ สายพันธุ์ แม้ทั้งโลกจะมีคนเลี้ยงสายพันธุ์ ‘ทิเบตัน มาสทิฟฟ์’ แค่หลักพันกว่าตัว แต่ Royal Canin ก็ยังผลิตอาหารสูตรเฉพาะสำหรับสายพันธุ์นี้ขึ้นมาเพราะแบรนด์มองว่าจำเป็น ด้วยทิเบตัน มาสทิฟฟ์ต้องการโภชนาการที่เฉพาะเจาะจง
  3. ส่งมอบความรู้ให้ทั้งผู้เพาะพันธุ์ ร้านขายอาหารสัตว์ และคุณหมออย่างจริงจังผ่านการเทรนและการทำงานวิจัยร่วมกัน เพราะ Royal Canin เน้นมอบความรู้ให้ทุกคนใน ecosystem นี้ เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจเรื่องอาหารสัตว์ นอกจากการให้ความรู้กับพาร์ตเนอร์แล้ว แบรนด์ยังเน้นให้ความรู้โดยตรงกับลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ
  4. ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงเปลี่ยนไป ความท้าทายเองก็เปลี่ยนแปลง สิ่งที่ Royal Canin ทำคือไม่วางขายสินค้าในโมเดิร์นเทรด และเปลี่ยนไปเน้นกระจายสินค้า ส่งตัวแทนแบรนด์เข้าไปเทรนร้านขายอาหารสัตว์ ตลอดจนเทรนคุณหมอตามคลินิกว่าถ้าหมาแมวป่วยควรจะใช้อาหารสูตรไหนประกอบการรักษา จนปัจจุบันทำให้แบรนด์มีพาร์ตเนอร์คลินิกมากกว่า 1,500 แห่ง และร้านขายอาหารสัตว์อีก 1,200 ร้านทั่วประเทศ
  5. ใช้การตลาดออนไลน์เพื่อให้ลูกค้าเกิด awareness หรือความตระหนักรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงดูที่ถูกต้อง
  6. พัฒนาระบบการขายเพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้าได้ง่ายขึ้น เช่นมี online official store ทั้งใน Lazada, Shopee และมี distribution outlet รวมถึงพัฒนาระบบแอพพลิเคชั่น ให้คุณหมอสั่งอาหารสัตว์ป่วยให้ลูกค้าได้โดยตรง
  7. คุณภาพอาหารคือสิ่งที่ Royal Canin ให้ความสำคัญที่สุดก็จริง แต่การพัฒนาธุรกิจให้เติบโตและตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างตรงจุดต้องมาจากการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก Royal Canin ทุกๆ ประเทศจึงต้องเก็บสถิติและข้อมูลต่างๆ อยู่เสมอ เพื่อนำข้อมูลมาสร้าง ecosystem ให้กับธุรกิจ
  8. ความรักที่มีต่อน้องหมาน้องแมวคือแรงจูงใจสำคัญในการทำงานของทีม Royal Canin แน่นอนว่าการทำให้ธุรกิจกำไรเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำ แต่มากกว่ากำไรขาดทุน ความรักและแพสชั่นของทีมที่มีต่อน้องหมาน้องแมวก็สำคัญในการขับเคลื่อนการทำงาน
  9. ทำการตลาดในแบบที่เชื่อ แม้ว่าตลาดสัตว์เลี้ยงจะโตมากและมีโอกาสโตขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ต้องไม่รอให้ตลาดโตของมันเองเท่านั้น แต่ต้องสร้างตลาดขึ้นมาเองผ่านการทำการตลาดในแบบที่เชื่อ นั่นก็คือการทำให้คนตระหนักถึงความสำคัญของการให้อาหารที่มีโภชนาการเหมาะสมผ่านการให้ความรู้ คอนเทนต์​ แคมเปญ และการเทรนพาร์ตเนอร์ 

อ่านบทสัมภาษณ์เต็มได้ที่ capitalread.co/royal-canin

โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ โรงพยาบาลสัตว์ที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพและมาตรฐาน จนยืนระยะมาได้ 30 ปี

5 หลักคิดในการทำธุรกิจของโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ 

  1. ทุ่มเทและตั้งใจทำงาน เพราะอยากทำให้คุณภาพชีวิตของหมาแมวดีขึ้น และอยากทำให้การรักษาสัตว์ดีขึ้นได้กว่าเดิม
  2. มองหาโมเดลธุรกิจตัวอย่าง ด้วยตลาดโรงพยาบาลสัตว์เมื่อ 30 ปีที่แล้วยังไม่ได้มีมากเช่นปัจจุบัน แน่นอนว่าโรงพยาบาลสัตว์ตัวอย่างเองก็ไม่ค่อยมีให้ศึกษา โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อจึงใช้โรงพยาบาลคนเป็นตัวอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการมีใบสั่งงานเพื่อให้ทุกอย่างมันควบคุมได้ เปลี่ยนจากระบบกระดาษเป็นดิจิทัลเพื่อลดความผิดพลาดวุ่นวาย กระทั่งนำระบบ iMed® ระบบ HIS หรือ Hospital Information System ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในโรงพยาบาลคนมาใช้กับโรงพยาบาลสัตว์
  3. ถือหลักคิดว่าวันนี้ต้องดีกว่าเมื่อวาน ทำให้วิชชั่นของโรงพยาบาลสัตว์แห่งนี้คือการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง เมื่อเจอกับปัญหาก็จะแก้ไขทันที หรือระบบอะไรที่ไม่ดี ยังไม่มีประสิทธิภาพก็จะปรับให้ดีขึ้น ดังเช่นนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างข้อที่กล่าวไปข้างต้น มากไปกว่านั้นคือพัฒนาบุคลากรเสมอ โดยจะมีทุนให้เรียนและอบรม
  4. รับฟังความคิดเห็นของลูกค้าเพื่อให้เข้าใจความต้องการของลูกค้าได้ และพัฒนาโรงพยาบาลให้ตรงกับความต้องการได้มากขึ้น เช่น Pet Taxi บริการรับ-ส่งพ่อแม่และหมาแมวถึงหน้าบ้าน ร้านกาแฟนั่งรอเจ้าสัตว์เลี้ยงตรวจร่างกาย หรือจะมี pet shop ที่เจ้าของหมาแมวก็มาซื้อได้เลย 
  5. แม้จะเป็นโรงพยาบาลก็ไม่ได้แค่รักษาสัตว์อย่างเดียว ทั้งยังเอาความรู้ในแง่การเป็นสัตวแพทย์ไปเติมเต็มเพื่อพัฒนาอาหารและขนมน้องหมาน้องแมว ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของแบรนด์มากมาย เช่น แบรนด์ Remy ที่มีขนมหมาและแมวที่ดีต่อสุขภาพ เป็นต้น

อ่านบทสัมภาษณ์เต็มได้ที่ capitalread.co/thonglorpet

You Might Also Like