Happy Home, Happy Cat

10 ปีของ Kafbo ที่ลับเล็บแมวกระดาษเจ้าแรกของไทยที่เชื่อว่าดีไซน์เท่านั้นที่น็อกเอฟวรี่ติง

ในยุคที่คนเลี้ยงสัตว์เป็นลูกมากขึ้นแถมเจ้าเหมียวยังครองเมือง เราในฐานะทาสแมวคนนึงสังเกตได้ว่าธุรกิจในไทยที่ตอบความต้องการของทาสแมวเริ่มผุดขึ้นไม่หยุด เรียกว่าจาก niche market เมื่อหลายสิบปีก่อน ก็เริ่มกลายเป็นเรดโอเชี่ยนที่น่าจับตามอง 

แบรนด์เสื้อผ้าแมวมีให้เลือกสารพัดเพราะไทยเราชอบประชันความน่ารักของลูกสี่ขากันอยู่แล้ว อาหารแมวก็ไม่ได้มีแค่แบรนด์เดิมๆ แต่เต็มไปด้วยแบรนด์ที่เน้นวัตถุดิบสุดพรีเมียม อาบน้ำตามร้านทั่วไปก็ไม่ได้ เพราะพ่อแม่บางคนก็อยากเห็นทุกขั้นตอน มองกลับมาที่รังแมวที่บ้าน เฟอร์นิเจอร์ใดๆ ก็ตามต้องตอบโจทย์ทั้งเรื่องความสวยงามและเจ้าเหมียวก็ต้องใช้ได้จริง

แต่ท่ามกลางแบรนด์น้องใหม่ที่เพิ่งกระโดดเข้ามาเล่นในตลาดนี้ Kafbo แบรนด์ที่ลับเล็บแมวจากกระดาษลังลูกฟูกเจ้าแรกของไทยก็ยังคงครองใจทั้งคนไทยและต่างประเทศ แม้จะเจอสารพัดปัญหารุมเร้า ทั้งการผลิตสินค้าเลียนแบบและการขายตัดราคาจากโรงงานจีน แต่คุณภาพและดีไซน์ก็ยังทำให้ Kafbo ยืนหนึ่ง

ในวันที่ Kafbo เดินทางมาถึงปีที่ 10 ‘โน้ต–ขวัญชนก อมรธนานุบาล’ ผู้ต่อยอด Kafbo จากธุรกิจครอบครัวจึงชวนพี่ปลาวาฬ พี่ปลาทอง และพี่ปลาเงิน เจ้าเหมียวคู่บุญของแบรนด์มาพูดถึงเบื้องหลังและการปรับตัวของ Kafbo เมื่อต้องอยู่รอดในเรดโอเชี่ยน

ต่อยอดธุรกิจครอบครัวด้วยแพสชั่น

หมวกใบแรกในชีวิตของโน้ตคือการเป็นลูกสาวของครอบครัวที่รับทำพาเลตกระดาษส่งให้ห้างร้านทั้งในและต่างประเทศ ส่วนหมวกอีกใบ เธอคือหญิงสาวที่หลงใหลศิลปะการทำภาพยนตร์และการถ่ายภาพ ตั้งแต่จำความได้ เธอไม่เคยสนใจธุรกิจของครอบครัว ความฝันเดียวที่มีคือการได้เป็นช่างภาพตามที่เรียนมา

“ปรากฏว่าชีวิตเปลี่ยน ป๊าเราเป็นมะเร็ง พี่ชายและเราเลยต้องเข้ามารับช่วงต่อ แต่เราไม่ได้ชอบกระดาษในแบบที่ป๊าทำอยู่ เราเลยไปนั่งหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตว่ามากกว่าการเป็นพาเลตกระดาษและแพ็กเกจจิ้งที่ทำกำไรได้ไม่มาก กระดาษมันทำอะไรได้อีกบ้าง 

“เราพบว่ากระดาษมันทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ได้นะ ต่างประเทศเขาเอากระดาษมาทำเป็นเก้าอี้ โต๊ะ หรืองานโปรดักต์ดีไซน์กันเยอะเลย” โน้ตย้อนเล่า

แต่คำถามสำคัญคือโปรดักต์จากกระดาษของโน้ตจะเป็นอะไร ทำโต๊ะเก้าอี้แบบคนอื่นเขาก็ดูไม่ใช่ทาง

“เรากลับมามองว่านอกจากบ้าถ่ายรูป บ้าดูหนัง เราบ้าอะไรอีก อ๋อ เราบ้าสัตว์เลี้ยง เลยมานั่งคิดว่ากระดาษกับสัตว์เลี้ยงมันจะไปด้วยกันได้ยังไงบ้าง” 

แม้เมื่อ 10 ปีก่อนตลาดสัตว์เลี้ยงจะยังไม่บูมอย่างในปัจจุบัน แต่ความที่เด็กจบใหม่อย่างเธอใช้แพสชั่นนำทาง โน้ตจึงค่อยๆ คราฟต์ Kafbo ขึ้นทีละนิด

สินค้าที่อุดช่องว่างในตลาด

“สมัยก่อนคนไม่ได้เลี้ยงหมาแมวแบบลูกเหมือนสมัยนี้ เขามักจะเลี้ยงไว้หลังบ้านมากกว่า หลักๆ คือเพราะของใช้สัตว์สมัยนั้นมันไม่สวย” โน้ตเกริ่น

“ตอนนั้นเราเลี้ยงหมานะ ไม่ได้เลี้ยงแมว แต่ความที่เราลองทำบ้านหมาขึ้นมาแล้วมันไม่เวิร์ก เพราะเดี๋ยวหมาก็ฉี่บ้าง เล่นแรงบ้าง กัดบ้าง เราเลยหันมาลองทำโปรดักต์เกี่ยวกับแมว แล้วก็รีเสิร์ชจริงจังเลย

“เราพบว่าแต่ก่อนที่แมวอยู่ตามธรรมชาติ เค้าจะต้องลับเล็บกับเปลือกต้นไม้ พอคนเอามาเลี้ยงในบ้าน เค้าเลยต้องลับเล็บกับเฟอร์นิเจอร์เพื่อช่วยคลายความเครียดซึ่งมันเป็นอีกหนึ่ง pain point ของคนเลี้ยงแมวว่าเฟอร์นิเจอร์จะต้องเสียหาย อีกอย่างคือแมวชอบอยู่ในกล่องมาก เพราะกล่องเหมือนเป็นที่ซ่อนตัวและให้ความอบอุ่นกับเค้า เราก็เห็นแล้วว่าแมวนี่แหละเหมาะกับของที่เรามีอยู่ที่สุด”

เมื่อศึกษาพฤติกรรมแมวอย่างลงลึกชนิดที่นั่งอ่านงานวิจัยเป็นปึก โน้ตจึงตกลงกับที่บ้านว่าขอโอกาสทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ

“ป๊ายังด่าเลยว่าจะบ้าเหรอ จะขายได้เหรอ คือทุกคนที่บ้านสบประมาทเรามาก แต่เราเชื่อว่ามันยังไม่มีสินค้าไหนในตลาดที่ตอบโจทย์ทั้งแมวและคนเลยใช้แพสชั่นตรงนั้นมาลองทำดู”

เมื่อดึงดันจะทำ โน้ตจึงร่วมมือกับเพื่อนที่จบด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์มาช่วยคิดคอนเซปต์และตีโจทย์จากความเชื่อที่ว่าแมวมี 9 ชีวิต จนได้ออกมาเป็นคอลเลกชั่นแรกอย่าง 9lifers ที่มีที่ลับเล็บแมวรูปสัตว์ ทั้งหนู ฮิปโป กบ วาฬ วอลรัส จิ้งจอก นก หอยทาก และไก่

“ตอนนั้นเราขายที่ลับเล็บคอลเลกชั่นแรกในราคา 1,650 บาท ที่บ้านก็บอกว่าขายไม่ได้หรอกที่ลับเล็บอะไรแพงขนาดนี้ แต่เราเชื่อว่ามันเป็นงานดีไซน์ที่มีคุณค่า เลยกล้าตั้งราคานี้

“เราขนของไปแค่สิบกว่าตัวไปขายที่อีเวนต์เพจทูนหัวของบ่าว กะว่าเอาไปลองตลาดเล่นๆ แต่เชื่อมั้ยว่าขายหมดในเวลาไม่นาน แถมยังมีคนขับรถหรูๆ มาขนของเรากลับบ้านเต็มไปหมด ป๊ากับม้าเลยเห็นว่าเฮ่ย กระดาษมันเป็นได้มากกว่าแค่แพ็กเกจจิ้งจริงๆ”

นอกจากจะขายดีเป็นเทน้ำเทท่า โน้ตยังได้ออกรายการโทรทัศน์และนิตยสารมากมาย แถมยังได้รับรางวัลรดน้ำให้ใจฟูว่าสิ่งที่เธอเชื่อมั่นนั้นมาถูกทางแล้ว

ดีไซน์ที่น็อกเอฟวรี่ติง

“สโลแกนที่เรายึดถือมาจนถึงทุกวันนี้คือ Happy Home, Happy Cat หรือความสุขของแมว ความสวยของบ้าน สินค้าทุกชิ้นที่เราผลิตมาเน้นให้เจ้าของกับแมวได้มีความสุขร่วมกัน โดยที่แมวก็ได้ใช้ของเราจริงๆ ส่วนเจ้าของก็ไม่ต้องเอาของใช้แมวไปแอบหลังบ้านเพราะมันสวยและออกแบบมาดี”

ยิ่งในยุคสมัยที่คนหลงใหลการแต่งบ้านให้มินิมอลดูดี สินค้าที่ดีสำหรับโน้ตจึงคือสินค้าที่ใช้ดีไซน์นำ ซึ่งดีไซน์ที่คนเห็นก็รู้เลยว่านี่คือ Kafbo คือรูปทรงเรขาคณิตที่เข้าได้กับทุกมุมของบ้าน การันตีจากในบรรดาสัตว์ทั้ง 9 ตัว วาฬคือชิ้นที่ขายดีที่สุด ซึ่งโน้ตก็คาดเดาว่าน่าจะเพราะความเป็นเหลี่ยมมุมที่อยู่ตรงไหนของบ้านก็ได้ 

“คอลเลกชั่น Home ก็เป็นอีกคอลเลกชั่นที่ออกมา 8 ปีแล้วก็ยังขายดีเสมอ เราได้ไอเดียจาก Lego ที่ให้อิสระเจ้าของจินตนาการว่าเขาอยากต่อเฟอร์นิเจอร์ชิ้นนี้ในรูปแบบไหน แล้วแต่ละชิ้นก็ไม่ได้ตอบโจทย์แค่แมว แต่ยังใช้วางของและนั่งได้ด้วย 

“น่าแปลกใจที่ตัวที่ขายดีที่สุดของคอลเลกชั่น Home ก็ยังเป็นรูปตัว M ที่มีความเป็นเหลี่ยมมุมมากที่สุด ลูกค้าบอกว่าเท่าที่ลองใช้มาหลายชิ้น แมวชอบตัวนี้สุดๆ ส่วนอีกคอลเลกชั่นที่น่าสนใจคือ Prism ที่ทาง Carnival ก็ติดต่อมาร่วมทำเป็น Prism Black” โน้ตอธิบาย

นอกจากจะใช้ดีไซน์มาออกแบบให้สินค้าสวยและมีเอกลักษณ์ การใช้แนวคิดเรื่องโปรดักต์ดีไซน์ยังสำคัญกับการเติบโตของแบรนด์ โน้ตเล่าว่าหลังจดทะเบียนบริษัทได้ 2 ปี เธอก็มีโอกาสได้ส่ง Kafbo ไปโลดแล่นในดินแดนเหมียวนอกประเทศ

“อุปสรรคของเราคือสินค้ามันทั้งใหญ่และหนัก เพราะตอนแรกไม่ได้คิดเรื่องการส่งออกเลย คิดแค่ว่าฉันอยากทำแบบนี้ พอต้องส่งออกจริงค่าขนส่งมันสูงมากๆ จนดีลกับหลายประเทศไม่ได้สักที ทั้งที่เขาชอบของเรา เช่น คอลเลกชั่น Home ที่ฮิตมากในไทย ญี่ปุ่นเขาก็ชอบนะ แต่พอส่งไปขายที่นั่นราคามันคูณสามไปเลย”

จากบทเรียนตรงนั้น โน้ตเริ่มคิดออกแบบสินค้าที่ยังสวย คงเอกลักษณ์ความเป็นเหลี่ยมมุมของ Kafbo แต่เบากว่าและขนส่งได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นคอลเลกชั่นซาฟารี คอลเลกชั่น Cube และ Cat Train ฯลฯ ที่พับง่าย ประกอบง่าย แถมยังทำให้เหล่าทาสรู้สึกเหมือนได้ DIY ของให้เจ้านายสี่ขา เหล่านี้เองเป็นประสบการณ์ที่เธอค่อยๆ เก็บสะสมมา ช่วยให้การขยาย Kafbo ไปต่างประเทศนั้นง่ายขึ้น

แม้ปัจจุบันโรงงานจีนจะเริ่มเข้ามาตีตลาดที่ลับเล็บแมวบ้างแล้ว แถมยังขายตัดราคา แต่โน้ตยังเชื่อว่าดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ และคุณภาพของสินค้ายังคงทำให้ Kafbo เอาชนะใจกลุ่มลูกค้าได้

“บ้านเราเป็นโรงงานผลิตกระดาษอยู่แล้ว แน่นอนว่าเรามีกรรมวิธีการผลิตที่แม้จะเป็นกระดาษแต่มันแข็งแรงและทนทานมากๆ แบบที่ลูกค้าบางคนบอกว่าใช้มา 5 ปีแล้วก็ยังไม่พัง ขณะที่สินค้าจีนพังในไม่กี่เดือน นอกจากนั้น เรายังใช้กาวออร์แกนิกเพื่อความปลอดภัยของแมว ทั้งหมดนี้เราจดสิทธิบัตรมานานกว่า 10 ปี

“อีกสิ่งสำคัญคือการที่เรามีดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ เราว่ามันคือตัวตน มันคืออัตลักษณ์ ที่ทำให้เราแตกต่าง และทำให้ลูกค้าจำเราได้ ขนาดเราไปออกบูทต่างประเทศ คนยังรู้เลยว่านี่คือ Kafbo” โน้ตเล่า

จาก niche market เป็นเรดโอเชี่ยน

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เทรนด์สัตว์เลี้ยงในไทยยังไม่บูมขนาดนี้ Kafbo ถือเป็นหนึ่งในไม่กี่แบรนด์ที่อยู่ในตลาด 

“ตอนนั้นเราได้เปรียบเพราะคู่แข่งน้อย ถึงจะไม่มีโซเชียลมีเดียแบบปัจจุบันแต่มันก็ทำให้คนจำเราได้ แล้วพอเราเริ่มก่อน เราก็มีโอกาสได้ส่งออกไปต่างประเทศก่อน รวมถึงเห็นเทรนด์ที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป”

เมื่อมองกลับมาในยุคนี้ที่คนหันมาเลี้ยงสัตว์เป็นลูกกันมากขึ้น ทั้งยังนิยมเลี้ยงเจ้าเหมียวมากกว่าน้องหมา ด้วยเพราะไม่ต้องใช้พื้นที่มาก ไม่ต้องพาไปทำกิจกรรม เทรนด์สัตว์เลี้ยงจึงกลายเป็นเรดโอเชี่ยนที่ใครๆ ก็กระโดดเข้ามา

“ตอนนี้ร้านเพ็ทช็อปเปิดใหม่เยอะมาก มีของแมวมากขึ้นด้วย วัยรุ่นก็เข้ามาทำธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงกันเยอะ นั่นหมายความว่ามันเป็นเทรนด์ที่จะอยู่กับเราอีกนานและตลาดมันมีอยู่จริง ไม่เหมือนสมัยก่อนที่เราทำ แต่ความน่ากลัวคือพอผู้เล่นเยอะ มันก็แอบยากที่จะทำให้ธุรกิจอยู่ได้ แน่นอนว่า Kafbo ก็ต้องปรับตัวเหมือนกัน” โน้ตสรุปเทรนด์ที่เธอเห็น

การปรับตัวของ Kafbo นั้นเน้นหนักไปที่การเพิ่มช่องทางมาร์เก็ตเพลซในประเทศไทย จากที่แต่ก่อนเน้นขายในเว็บ Etsy และ Pinkoi ให้ตลาดต่างประเทศ นอกจากนั้น Kafbo ยังต้องหมั่นอัพเดตคอนเทนต์ในโซเชียลมีเดียให้ครบ เพื่อให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ซึ่งเธอและทีมก็พยายามปั้นกันอยู่

“เราก็แก่แล้วนะ” โน้ตหัวเราะ “แต่เราก็ต้องปรับตัวเพราะทุกอย่างมันมาไวไปไว มันมีบางช่วงที่เรากดดันตัวเองว่าเราต้องปรับทุกอย่าง แม้กระทั่งดีไซน์ก็ต้องคิดเร็ว ทำเร็วให้เหมือนกับวงการแฟชั่น แต่เราพบว่ามันเหนื่อยเกินไป และพอเรากลับมาถามตัวเองว่าจริงๆ แล้วเราอยากได้ดีไซน์แบบไหน เราว่าเราอยากได้ดีไซน์ที่มันไทม์เลสเหมือนกับคอลเลกชั่นก่อนหน้าที่แม้จะผ่านมาสิบปีก็ยังไม่เชย 

“เราเลยคิดว่าธุรกิจมันต้องปรับตัวอยู่แล้ว แต่เราต้องเลือกปรับในสิ่งที่เข้ากับเรา เช่น ดูว่าของเดิมของเราเป็นแบบไหน เราลองเพิ่มสีใหม่ๆ ที่เข้ากับเทรนด์สมัยนี้มั้ย ลองทำไซส์ใหญ่ ตอบโจทย์ลูกค้าที่มีแมวตัวใหญ่ หรือถ้าจะออกคอลเลกชั่นใหม่ก็ทำปีละครั้งพอ เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งสำคัญที่จะทำให้ Kafbo อยู่ได้คือการรักษาคุณภาพและการฟังเสียงลูกค้า” ทาสของแมวทั้ง 3 และหมาอีก 1 ยืนยันความเชื่อในการทำ Kafbo

หามุมมองใหม่ให้ธุรกิจกับแพสชั่นยังไปด้วยกันได้

อายุอานามกว่า 10 ปีของ Kafbo น่าจะเป็นเครื่องการีนตีว่าแบรนด์นี้ยืนหนึ่ง แต่โน้ตก็สารภาพกับเราตรงๆ ว่าความที่ทำมานานนี่แหละที่ทำให้เธอหมดไฟไปบ้าง

“ที่ผ่านมาเราก็มีเฟลบ้างนะ และรู้สึกดาวน์มากๆ โดยเฉพาะช่วงที่เรามีลูกจนเป็น Baby Blue ตอนนั้นไม่อยากทำอะไรเลย เคยคิดว่าจะไม่ทำต่อแล้วด้วย แต่ก็ยังไม่ได้ปิด แค่หยุดพักไปเป็นปีแบบที่ก็ยังขายบ้างแต่ไม่มีสินค้าออกใหม่ 

“จนสมองเราเริ่มโล่งขึ้น เราก็เริ่มรู้สึกว่า เฮ่ย ทำมานานขนาดนี้แล้วอะ เราจะทิ้งมันไปจริงๆ เหรอ เลยพยายามหามุมมองใหม่ๆ ให้ Kafbo ยังเดินต่อไปได้”

โน้ตกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองอีกครั้งว่าถ้าไม่มองกระดาษเป็นแค่แพ็กเกจจิ้งแต่มองเป็นโปรดักต์ เธอจะต่อยอดความเชี่ยวชาญเรื่องกระดาษของครอบครัวด้วยดีไซน์ยังไงบ้าง เราจึงได้เห็น Kafbokiddo ของเล่นเด็กจากกระดาษลังที่ตอบโจทย์พ่อแม่ที่รักงานคราฟต์และรักษ์โลก ได้เห็น Kafbobox ที่รับทำดิสเพลย์สินค้าและแพ็กเกจจิ้งให้สารพัดแบรนด์ ตั้งแต่ดิสเพลย์แบรนด์ของใช้แมว Pethroom กล่องและชั้นวางรองเท้าแบรนด์ Youngfolks ไปจนถึงบูทกระดาษของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

“พอเริ่มตันกับกระดาษอีกรอบ เราก็หันกลับมาดูว่า Kafbo จะเป็นอะไรได้อีกบ้างที่มันยังเป็นความชอบ เป็นแพสชั่น และยังรีเลตกับแบรนด์” หลังออกบูทที่เยอรมัน โน้ตจึงได้ไอเดียทำของเล่นแมวและหมา ทั้งเพนกวินเต้นได้ ไม้ตกแมว ตุ๊กตาแคตนิป ลูกบอลสำหรับกัดที่ใช้ได้ทั้งหมาและแมว ไปจนถึงสายจูง ฯลฯ

“ตั้งแต่วันแรกที่ทำ Kafbo จนถึงวันนี้ เราเลยเชื่อว่าถ้าเราหามุมมองใหม่ให้ธุรกิจ ลองบิดว่าเราจะทำอะไรที่ช่วยส่งเสริมของเดิม ยังไงเราก็จะไปต่อได้ ที่สำคัญ ทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้จากการที่เราได้ลองทำ ได้ลองพลาด ได้เรียนรู้ สุดท้ายสิ่งที่เราพยายามมันต้องออกดอกออกผลสักวัน 

“เพราะถ้าวันนั้นเราเชื่อคนอื่นว่ากระดาษมันเป็นได้แค่นี้ Kafbo ก็คงไม่ได้ยืนจนถึงจุดนี้” โน้ตทิ้งท้าย

What I’ve Learned
1. “เริ่มจากแพสชั่น แล้วลุยไปเลย ได้หรือไม่ได้ไม่เป็นไร ฟีดแบ็กจะดี ไม่ดีมันคือประสบการณ์ เหมือนอย่างตอนแรกที่เราไม่ได้คิดเรื่องเงิน แต่เราแค่ชอบและเชื่อในดีไซน์”
2. “เมื่อไหร่ที่ตัน ให้พยายามมองหาสิ่งใหม่ๆ ที่จะช่วยต่อยอดของเดิมได้ แล้วสุดท้ายมันก็จะไปต่อได้เอง”

Writer

กองบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ที่มีแมวเป็นแรงผลักดันในการทำงาน

Photographer

ช่างภาพและ baker ฝึกหัด

You Might Also Like