Woof & Wear

Ready to Woof แบรนด์หมวกคู่ที่อยากให้มะนุด น้องหมา และบรรดาสัตว์เลี้ยงแต่งตัวคู่กันได้ทุกวัน

หมวกบัคเก็ตสีสดใส หมวกแก๊ปผ้าลูกฟูกดูนุ่มฟู หมวกลายดอกไม้พร้อมใส่ไปทะเล

มองผ่านๆ Ready to Woof ดูจะเป็นแบรนด์หมวกดีไซน์ดีน่าใส่ แต่ถ้ามองอย่างตั้งใจเราถึงจะเห็นว่า เอ๊ะ ทำไมหมวกบางใบถึงมีขนาดเล็กจัง

นั่นก็เพราะมันถูกทำมาเพื่อให้ ‘มะนุด’ ใส่คู่กับ ‘น้องหมา’ และบรรดาสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ

ในยุคที่คนมีลูกน้อยลงเรื่อยๆ หลายครอบครัวกลับเลี้ยงหมาแมวเป็นลูกมากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือสารพัดโปรดักต์ที่ทำให้ทุกคน (และทุกตัว) ใช้ชีวิตร่วมกันได้ดียิ่งขึ้น และสำหรับประเทศที่คนชอบถ่ายรูปแล้วแชร์อย่างเมืองไทยจะมีโปรดักต์อะไรเหมาะไปกว่าชุดคู่เจ้าของ-สัตว์เลี้ยงอีก

Ready to Woof จึงเกิดขึ้นด้วยอินไซต์นี้ แต่เพราะเห็นว่าแบรนด์ ‘ชุดคู่’ มีค่อนข้างเยอะแล้ว สองสาวเจ้าของแบรนด์อย่าง แวว–แวววรรณ ตั้งตรงศักดิ์ และ แจน–นภสสร ยุกตะนันท์ จึงเลือกทำโปรดักต์หลักเป็นแอ็กเซสซอรีตั้งแต่หมวกคู่ที่เป็นตัวชูโรง ผ้าพันคอคู่ ไปจนถึงผ้าปิดตาคู่! โดยทุกชิ้นเป็นแบบ ready-to-wear ที่ใส่ได้ทุกวัน

แต่รู้ไหมว่ากว่าจะออกมาเป็นโปรดักต์น่ารักแบบทุกวันนี้แววและแจนต้องพัฒนากันอยู่นาน เพราะนอกจากจะต้องเรียนรู้วิธีทำเสื้อผ้าหมาแมวที่ถูกต้องแล้ว สิ่งที่ยากคือลูกค้าหลักของพวกเขายังบอกความต้องการของตัวเองไม่ได้อีกต่างหาก (โฮ่ง!)

เสื้อผ้าสัตว์เลี้ยงแบบ ready-to-wear เป็นยังไง? แล้วถ้าสัตว์บอกความต้องการของตัวเองไม่ได้เหมือนคน แจนและแววแก้ปัญหายังไง?

ถ้า ready แล้วก็ไปหาคำตอบด้านล่างได้เลย

Are you Ready?

ก่อนจะมาออกแบบเสื้อผ้าสัตว์เลี้ยง แจนเรียนจบด้านแฟชั่นจากญี่ปุ่นและเคยทำงานเป็นดีไซเนอร์เสื้อผ้าคนอยู่ที่นั่น ส่วนแววเรียนมาทางด้านกราฟิกดีไซน์และแฟชั่น ตามด้วยปริญญาอีกใบด้านการบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยวาเซดะในโตเกียว

นอกจากแฟชั่นจะเป็นจุดร่วม อีกสิ่งที่พวกเธอมีเหมือนกันคือสัตว์เลี้ยง

“แจนเลี้ยงบีเกิลค่ะ ส่วนพี่แววเขามีหลายพันธุ์ที่บ้าน” แจนบอก

“เรามีคอร์กี้ ดัชชุน คาวาเลียร์ แล้วก็มีชิวาว่า 2 ตัว” แววเสริม

หลังจากเรียนจบด้านบริหารธุรกิจแววกลับมาทำงานในบริษัทที่บ้านอยู่สักพักแต่งานออฟฟิศก็ยังไม่ค่อยตอบโจทย์ เมื่อคิดว่าแล้วจะทำอะไรดี อีกสิ่งที่อยู่ที่บ้านจึงเป็นคำตอบ

“ตอนที่กลับมาไทยเราพาน้องดัชชุนกลับมาจากญี่ปุ่นด้วยกันด้วยตัวนึง เป็นน้องหมาตัวแรกที่เราเลี้ยงด้วยตัวเองจริงๆ ก็เลยได้ไอเดียทำ Ready to Woof ขึ้นมา

“ไอเดียอีกส่วนมาจากช่วงโควิดที่นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป คาเฟ่หรือโรงแรมหลายๆ แห่งเลยเปลี่ยนทาร์เก็ตมุ่งไปที่ลูกค้าในประเทศมากขึ้น กลุ่มลูกค้าที่มีสัตว์เลี้ยงก็เป็นกลุ่มที่เขาเริ่มโฟกัส มีโปรโมชั่นพิเศษเวลาเข้าพัก เช่น ถ้ามีสัตว์เลี้ยงมาด้วยจะได้ลดราคา สถานที่ต่างๆ ก็เริ่ม pet-friendly มากขึ้น เราเห็นโอกาสตรงนี้ว่าถ้าคนพาน้องหมาออกไปเที่ยวบางทีเขาอาจจะอยากเช็กอินถ่ายรูปด้วยกันเป็นโมเมนต์น่ารักๆ เก็บไว้ หรือเดี๋ยวนี้น้องหมาที่เป็นเน็ตไอดอล เป็นอินฟลูเอนเซอร์ก็มีเยอะมากๆ เลย ทุกคนอยากให้ลูกๆ สี่ขาเป็นคนดัง มีคนติดตาม”

โลกนี้มีสินค้าหลายอย่างที่เวิร์กกับคนในประเทศหนึ่งแต่ไม่เวิร์กกับคนในอีกประเทศ ชุดคู่คนกับสัตว์เลี้ยงก็เป็นหนึ่งในนั้น แววเล่าว่าถ้าไปอยู่ในประเทศแถบยุโรปที่คนเน้นพาหมาออกไปเดินเล่น ออกกำลังกาย ชุดคู่อาจจะขายไม่ดีเท่าสายจูงหรือถุงเก็บอึน้องๆ แต่สำหรับประเทศไทยที่คนชอบไปถ่ายรูปที่คาเฟ่ ไอเทมคู่เจ้าของ-สัตว์เลี้ยงนี่แหละที่เหมาะสุดๆ

“คนไทยชอบถ่ายรูปลงไอจี แล้วก็เอนจอยกับการพรีเซนต์ความน่ารักของลูกๆ ตัวเอง พรีเซนต์สไตล์การแต่งตัว การที่เราทำไอเทมเป็นคู่ก็เพื่อตอบโจทย์สิ่งนี้”

เห็นโอกาสด้านไลฟ์สไตล์แล้ว แววก็เริ่มมองหาช่องว่างในตลาดสินค้าชุดคู่สัตว์เลี้ยงและได้พบสินค้าที่คนยังทำไม่ค่อยเยอะแต่ด้วยเซนส์ของคนแฟชั่น เธอคิดว่านี่แหละสินค้าที่ใช่และชวนแจนมาทำแบรนด์ด้วยกันจนถึงวันนี้

สิ่งนั้นก็คือหมวกคู่ สินค้าที่กลายมาเป็นสินค้าหลักและภาพจำของ Ready to Woof ในที่สุด

Hats and Dogs

ทำไมต้องเป็นหมวก?

“เราเริ่มจากการทำ market research เริ่มจากการดูก่อนว่าสินค้าหมาแมวในเมืองไทยมีอะไร ยังไม่มีอะไร แล้วก็เห็นว่าของที่มีเยอะจะเป็นพวกเสื้อผ้า อย่างเสื้อยืดจะฮิตมาก ส่วนแอ็กเซสซอรีแบรนด์อื่นๆ เขาจะทำพวกผ้าพันคอ ปลอกคอเยอะแล้ว แต่เรายังไม่เห็นว่ามีหมวกที่ใส่คู่กับเจ้าของได้นะก็เลยทำออกมาเป็นสินค้าแรก เคยมีลูกค้าสิงคโปร์มาซื้อเขาบอกว่าในประเทศเขาก็ไม่มีสินค้าหมวก คือเสื้อผ้าหมายังหาได้แต่หมวกยังไม่ค่อยมี” แววเล่า

แจนหยิบหมวกรุ่นแรกที่ยังขายดีอยู่ทุกวันนี้มาให้เราดู “มันเป็นรุ่นชื่อว่า Who Are You Bucket Hat” เป็นหมวกทรงบัคเก็ต 6 สี ปักคำแสดงนิสัยน้องหมาต่างบุคลิก อย่าง wanderer, player, foodie ฯลฯ “พอทำออกมาแล้ว เริ่มมีลูกค้าที่อยากจะ customize หมวกบ้าง อยากปักชื่อของน้องหมาน้องแมว เราเลยเพิ่มให้สามารถ customize คำบนหมวกได้ด้วย”

ในตอนแรกทั้งคู่ทำหมวกออกมา 3 ไซส์เท่านั้นคือ S M L แต่หลังจากเชี่ยวชาญการตัดหมวกให้สัตว์เลี้ยงบวกกับมีแฟนๆ เรียกร้องเข้ามาไม่หยุด ปัจจุบัน Ready to Woof จึงมีถึง 7 ไซส์เริ่มจากไซส์เล็กสุดคือ XS ขนาดประมาณหมาชิวาว่า และไปจบที่ไซส์ใหญ่สุดคือ 3XL ที่แม้แต่หมาใหญ่อย่างอลาสกันมาลามิวต์ก็ใส่ได้สบายๆ

Credit : instagram.com/eunwo.o_rowo.onmeow
Credit : instagram.com/eunwo.o_rowo.onmeow

ถามว่าความซับซ้อนของการทำหมวกสัตว์เลี้ยงคืออะไร ทั้งคู่ประสานเสียงตอบพร้อมกันว่า “ทุกอย่าง”

“เรารู้สึกว่าการทำเสื้อผ้าสัตว์เลี้ยงมันจุกจิกกว่า เพราะว่ารูปร่างของเขาทำให้การทำแพตเทิร์นตัดเย็บที่ไม่เหมือนคน เราเองก็ลองด้วยตัวเองไม่ได้ มันยากมากเลยค่ะ” สอง founder เล่าว่าเพราะอย่างนี้กว่าจะออกคอลเลกชั่นใหม่ได้ทีจึงใช้เวลานานมาก ตั้งแต่การลองทำแพตเทิร์นที่พอดีหัวและหูน้องหมาหลากหลายพันธุ์ การเทสต์แล้วเทสต์อีกว่าปลอดภัย ไปจนถึงการประสานงานกับโรงงานที่แน่นอนว่าส่วนใหญ่เชี่ยวชาญแค่การทำเสื้อผ้าคน

“อย่างหมวกแก๊ป กว่าจะลงตัวรู้สึกว่าใช้เวลา 5 เดือน เพราะเราต้องประสานงานกับโรงงานซึ่งเขาทำแค่หมวกของคนมาก่อน พอทำหมวกของหมาครั้งแรกเขาก็อึ้งเหมือนกัน (หัวเราะ)”

นอกจากเรื่องแพตเทิร์น แววเล่าว่าการทำเสื้อผ้าสัตว์เลี้ยงยังมีจุดที่ต้องคำนึงถึงอีกมาก “อย่างแรกคือเนื้อผ้าค่ะ ด้านในเราจะบุเป็นผ้าไมโครไฟเบอร์ซึ่งมีคุณสมบัติคือระบายอากาศได้ดีและแห้งง่าย เวลาพาหมาไปข้างนอกแล้วเหงื่อออกก็จะแห้งเร็ว นอกจากนั้นเพราะเสื้อมันแนบตัวเราต้องออกแบบให้ใส่สบาย ไม่คัน การตัดเย็บจึงต้องคำนึงถึงการเก็บตะเข็บทั้งหมดไม่ให้น้องหมาระคายเคือง”

อีกอย่างคือการเคลื่อนไหวของสัตว์เลี้ยงไม่เหมือนคน “หมวกของเราจะตอบโจทย์ตรงที่ว่าถ้าน้องหมามีหูตั้ง พอเขาสอดหูเข้าไปในรูหมวกทั้งสองข้างมันก็จะล็อกค่อนข้างพอดีแล้วเราก็มีสายล็อกตรงคางอีกทีเพื่อให้ไม่หลุด นี่ก็สะบัดอยู่แต่ก็ไม่หลุด” เธอหมายถึงเจ้า Canopy หมาของตัวเองที่ติดสอยห้อยตามมาในวันนี้ซึ่งนั่งสะบัดหัวมาทั้งชั่วโมงแต่หมวกก็ยังติดแน่นหนึบอยู่บนหัว

“แต่ยังไงเราก็แนะนำว่าให้ใส่หมวกตอนที่อยู่ในสายตาของคุณพ่อคุณแม่นะคะจะได้ปลอดภัยที่สุด” แจนย้ำในฐานะคนเลี้ยงหมาเหมือนกัน

Credit : Ready to Woof

Ready-to-Wear

Ready to Woof มาจากคำว่า ready-to-wear หรือเสื้อผ้าประเภทที่พร้อมใส่ได้ทุกวันผสมกับคำว่า Woof ที่เป็นเสียงร้องของน้องหมา

และเสื้อผ้าแนวนี้นี่แหละคืออีกช่องว่างที่สองสาวมองเห็นในตลาดเสื้อผ้าสัตว์เลี้ยง

“คอนเซปต์ที่เราวางไว้ตั้งแต่แรกคือเราอยากเป็นแบรนด์เสื้อผ้าสัตว์เลี้ยงที่เป็นเหมือนแบรนด์แฟชั่น ready-to-wear ใส่ได้ทุกวัน มันก็เลยเกิดไอเดียว่าเราอยากทำเสื้อผ้าที่ทั้งคนและน้องหมาใส่ได้ทุกวัน ใส่ออกจากบ้านด้วยกันได้จริงๆ ไม่ใช่เป็นชุดสไตล์คอสเพลย์เพราะหมาใส่ชุดคอสเพลย์มันก็น่ารัก แต่คนอาจจะไม่ได้อยากใส่แบบนั้น หรือใส่ไม่ได้ในชีวิตประจำวันจริงๆ”  แววย้อนเล่าถึงจุดเริ่มต้น

เพื่อให้ใส่ได้ในชีวิตประจำวัน Ready to Woof จึงเริ่มต้นคิดสินค้าทุกชิ้นจาก ‘มะนุด’ ก่อนโดยเน้นออกแบบของที่คนอยากใส่ โฟกัสเทรนด์ที่คนกำลังสนใจ แล้วค่อยทำไอเทมนั้นในไซส์สัตว์เลี้ยง เช่น หมวกบัคเก็ตลายดอกไม้นั้นทำขึ้นเพราะเป็นสไตล์ที่ฮิตมากๆ ในช่วงหน้าร้อนของเกาหลี เสื้อโปโลคู่เวอร์ชั่นมะนุดที่มาในทรงครอปท็อป ซึ่งมีความแฟชั่น แมตช์ง่าย

ที่สำคัญคือต้องฟังเสียงลูกค้า อย่างหมวกแก๊ปที่เกิดขึ้นเพราะคำเรียกร้องล้วนๆ

Credit : Ready to Woof

“ลูกค้าบางคนเขาไม่เคยใส่หมวกบัคเก็ตก็จะรู้สึกว่าใส่แล้วหน้าพี่ตลกแน่เลย อยากได้หมวกแก๊ปน่าจะใส่ง่ายกว่า หรือบางคนก็จะบอกว่าหมวกแก๊ปมันมีความยูนิเซ็กซ์กว่า สามารถใส่ได้ทั้งคุณพ่อคุณแม่ ไม่ใช่แค่คุณแม่คนเดียว เพราะคนที่เลี้ยงหมาก็ไม่ได้มีแค่ผู้หญิงเนอะ เราก็เลยทำหมวกแก๊ปเป็นสินค้าอย่างที่สอง

“หรือตอนนี้คนกำลังสนใจเทรนด์ sustainability (ความยั่งยืน) หมวกรุ่นใหม่ของเราเลยตั้งใจทำเป็น eco-friendly hat เอากางเกงยีนส์วินเทจมาทำความสะอาดแล้วเลาะมาประกอบใหม่เป็นหมวก จะได้ตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนี้” แจนเล่า

นอกจากสินค้าใส่ทั่วๆ ไป Ready to Woof ยังมีไอเทมสำหรับใส่ไปฉลองเทศกาลต่างๆ อย่างชุดผู้ช่วยซานต้าสำหรับวันคริสต์มาส หมวกผีน้อยสำหรับวันฮัลโลวีน หรือแม้กระทั่งชุดสำหรับใส่วันตรุษจีน

“อินไซต์คนเลี้ยงหมาคือเขาจะชอบแต่งตัวให้สัตว์เลี้ยงในช่วงเทศกาลอยู่แล้ว แววเองก็จับน้องหมาแต่งตัววันคริสมาสต์เพื่อโพสต์ลงอินสตาแกรมเหมือนกัน คือคุณพ่อคุณแม่แต่ละคนจะจับลูกมาประชันกัน แต่งตัวพร็อพมาเต็ม ขนมพร้อม ของเล่นตามเทศกาลพร้อมหมดเลย แล้วก็ถ่ายรูป ทำคอนเทนต์ เราก็เลยทำสินค้า seasonal บ้างแต่ไม่เน้นให้ดูการ์ตูนหรือคอสเพลย์จนเกินไป เขาใส่ไปเที่ยวข้างนอกได้ เป็น ready-to-wear จริงๆ”

แม้ว่าจะเป็นของสำหรับช่วงเทศกาลพิเศษ แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคือ Ready to Woof จะเน้นไอเทมหลักเป็นหมวกอยู่เสมอ

“ตอนตรุษจีนเราเคยอยากลองทำของที่ไม่ใช่หมวกบ้างก็เลยทำต่างหู ทำปกคอเสื้อ เป็นการลองตลาดอย่างหนึ่ง แต่เราก็รู้สึกแหละว่าจุดแข็งของเรายังไงก็คือหมวก ลูกค้าเขาก็สนใจหมวกมากกว่าไอเทมอื่น และด้วยความที่ไอเทมของคนเป็นต่างหูก็ทำให้เราเหลือแต่ลูกค้ากลุ่มผู้หญิง ไม่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าหลายๆ กลุ่มได้มากเท่าหมวกแก๊ปหรือบัคเก็ต

“มันทำให้ต่อๆ มา สินค้า seasonal ของเราเน้นหมวกมากขึ้นแต่อาจจะเป็นหมวกในทรงหรือสไตล์ที่แตกต่างกันออกไป เพราะอยากคงเอกลักษณ์ว่าแบรนด์ของเราเป็นแบรนด์ที่เชี่ยวชาญในเรื่องหมวกจริงๆ”

Credit : Ready to Woof

Trend of Tails

เพราะ pets are the new kids. หรือเทรนด์การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเป็นลูกกำลัง ‘มา’ สินค้าและสถานที่สำหรับไลฟ์สไตล์นี้จึงเกิดขึ้นมากมาย เช่น คอมมิวนิตี้มอลล์สำหรับคนรักหมา ช่วยย้ำให้แววและแจนมั่นใจว่าแบรนด์กำลังมาถูกทาง

แววเล่าว่าสำหรับคนที่มีสัตว์เลี้ยงเป็นลูกนั้น ความรักที่พวกเขามีให้กับลูกๆ สี่ขาก็เหมือนกับความรักที่พ่อแม่มีให้กับลูกมะนุดจริงๆ จึงพร้อมจะจ่ายเงินเพื่อให้ลูกๆ มีชีวิตที่ดีที่สุด คนกลุ่มนี้นี่แหละคือทาร์เก็ตหลักของพวกเธอ

“ทาร์เก็ตลูกค้าของเรามีทุกเพศทุกวัย คู่รัก LGBTQ+ ก็เยอะ จุดร่วมคือทุกคนจะเลี้ยงน้องหมาเป็นเบบี้เลย เป็นกลุ่มพรีเมียมที่เลี้ยงสัตว์เหมือนลูก พาไปด้วยทุกที่ เป็นคนเจนฯ ใหม่จริงๆ 

“คนซื้อเป็นของขวัญให้เพื่อนก็เยอะมาก” ทั้งคู่ประสานเสียง

“ที่แปลกใจคือชุดนอนคู่จะเป็นของขวัญยอดนิยมค่ะ อาจจะเพราะดูเป็นของขวัญเซตใหญ่ด้วยมั้งคะ ได้ทั้งผ้าปิดตา ผ้าพันคอ ชุดนอน เหมือนว่าถ้าซื้อชุดสัตว์เลี้ยงให้เป็นของขวัญอย่างเดียวก็อาจจะไม่รู้สึกว่าเป็นวันเกิดเจ้าของ แต่พอซื้อให้ทั้งเจ้าของและสัตว์เลี้ยงมันก็ตอบโจทย์พอดี”

ที่สำคัญ เพราะใช้ชีวิตในเมืองนอกกันมานาน ทั้งในอังกฤษและญี่ปุ่น สองสาวเลยมองทาร์เก็ตกว้างกว่าแค่เมืองไทยแต่อยากไปวางขายในเมืองอื่นๆ โดยเฉพาะในแถบเอเชียด้วย

“เราคิดว่าเทรนด์การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเป็นลูกเป็นเทรนด์ที่ค่อนข้างโกลบอล เราจะเห็นว่าหลายๆ คนเริ่มแต่งงานช้าลง อยู่เป็นโสดมากขึ้น มีลูกน้อยลง ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยแต่เป็นเหมือนกันทั่วโลก” แววเกริ่น

“แต่ว่าเรื่องถ่ายรูปลงโซเชียลจะเน้นไปทางเอเชียมากกว่า” แจนเสริม “ถ้าเป็นทางยุโรปเขาจะเน้นเลี้ยงแบบมีคุณภาพเป็นหลัก ให้กินอาหารที่ดี พาไปเดินเล่นเพราะสิ่งแวดล้อมเขาเอื้อให้เกิดขึ้นได้ ทาร์เก็ตเราเลยเน้นประเทศในแถบเอเชียที่ชอบถ่ายรูปอย่าง ไทย ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์”

แม้จะขายผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลักแต่แจนและแววก็พยายามเข้าถึงคนให้เยอะและสะดวกที่สุด นอกจากแอ็กเคานต์อินสตาแกรมที่เน้นขายลูกค้าคนไทย พวกเธอยังมีหน้าร้านใน pinkoi แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่เน้นขายงานดีไซน์ให้ลูกค้าทั่วทั้งเอเชีย แต่ที่ตั้งใจจะขยายตลาดไปอย่างจริงจังที่สุดน่าจะเป็นประเทศญี่ปุ่นที่พวกเธอถึงขั้นเปิดแอ็กเคานต์ readytowoof.jp เป็นช่องทางโปรโมตโดยเฉพาะ

“เราก็เป็นนักเรียนญี่ปุ่นกันทั้งคู่ เคยใช้ชีวิตในญี่ปุ่นมาประมาณ 5-6 ปีก็เห็นคัลเจอร์ของที่นั่นว่าคนพาหมาออกมาเดินเล่นทุกวันเลย เขาก็จะมีพร็อพ มีอะไรใส่ให้น้อง แล้วก็ลงทุนกับสัตว์เลี้ยงมากๆ การตัดขน สินค้าที่เลือกใช้ทุกอย่างคุณภาพหมดเลย อินสตาแกรมแอ็กเคาต์ที่มีฟอลโลเวอร์เยอะๆ ในญี่ปุ่นก็เป็นสัตว์เลี้ยง แล้วมีแอ็กเคานต์แบบนี้เยอะด้วยเราก็เลยคิดว่าลองโฟกัสตลาดนี้ดูดีกว่า”

หลังจากเปิดมาได้เกือบๆ 2 ปี นอกจากช่องทางออนไลน์ แววและแจนยังเริ่มนำแบรนด์ไปฝากขายตามร้านค้าสินค้าสัตว์เลี้ยงต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างประเทศ และวางแผนว่าหากเป็นไปได้ ในอนาคตพวกเธอก็อยากมีหน้าร้านของตัวเองเป็นหลักแหล่งเช่นกัน

“สิ่งที่เราอยากพัฒนาคือเราอยากเจาะตลาดเอเชีย มี physical store ในที่ต่างๆ เพราะต่อให้เป็นหมาพันธุ์เดียวกันก็อาจจะใส่คนละไซส์ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น บางตัวขนฟู บางตัวขนไม่ฟู ดังนั้นเป็นไปได้เราก็อยากให้ได้ลองก่อน ตอนนี้เราเลยใช้วิธีแนะนำให้ไปลองที่ร้านใกล้บ้านถ้าสะดวก หรือเวลาออกบูทเราก็แนะนำตลอดว่าให้มาลองไซส์จริง มาดูของจริงก่อนซื้อดีกว่า”

ส่วนในเชิงโปรดักต์ แน่นอนว่าหมวกยังจะเป็นหัวใจหลักต่อไป แต่ทั้งคู่ยืนยันว่าจะมีสี ทรง และวัสดุใหม่ๆ ที่ยังน่ารักน่าใส่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แน่นอน

ตลาดก็พร้อมแล้ว ลูกค้าก็มีแล้ว Ready to Woof ก็พร้อมแล้วที่จะไปต่อเช่นกัน

Woof!

Writer

Lifestyle Editor ชอบคุย ชอบรู้จัก และชอบอุดหนุนแบรนด์สร้างสรรค์ที่รัก

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like