Pet+Prestige

วิธีทำ selected-pet shop ฉบับ Petige ที่สร้างประสบการณ์และความแตกต่างให้เหล่า pawrent

คำว่า ‘pawrent’ เป็นศัพท์บัญญัติใหม่ประจำยุคเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ที่ผู้คนทั่วโลกหันมาเลี้ยงสัตว์เป็นลูกมากกว่ามีลูกจริงๆ เสียเอง แน่นอนว่าเมื่อสัตว์เลี้ยงกลายเป็น ‘ลูก’ การเลี้ยงดูก็ย่อมไม่ต่างไปจากลูกในไส้เท่าไหร่นัก

แต่เดิมเคยให้ทานข้าวคลุกปลาบ้างล่ะ เศษอาหารเหลือทิ้งบ้างล่ะ ผู้คนก็มองหาอาหารที่เหมาะกับโภชนาการของน้องหมาน้องแมว (และอีกหลายๆ น้อง) ยังไม่นับรวมข้าวของเครื่องใช้มากมายที่ไม่ว่าจะราคาปาดเหงื่อแค่ไหน pawrent ก็ย่อมจ่าย และถ้าต้องเพิ่มเงินอีกนิดเพื่อให้ลูกน้อยไปเที่ยวด้วยกันได้ พ่อหมาแม่แมวก็ยอมทั้งนั้น

สารพัดธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงจึงเพิ่มจำนวนขึ้นรวดเร็วคล้ายกับเห็ดปล่อยสปอร์ แต่ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ธุรกิจที่แก้ pain point ให้เหล่า pawrent ได้จริงๆ กลับมีไม่มากนัก เมื่อได้เห็น Petige ร้านขายของสัตว์เลี้ยงที่นิยามตนเองว่า ‘Heartfelt Selection For Your Loved Ones’ ที่นอกจากหน้าตาหน้าร้านจะน่าเดินแล้ว สินค้าที่คัดสรรยังคุณภาพเยี่ยมและหาซื้อได้ยากจาก pet shop อื่นๆ 

ไม่ว่าจะอาหารเม็ดแบรนด์ดังที่ผลิตจากวัตถุดิบชั้นดี อาหารโฮมคุกแบรนด์ไทยหรืออาหารปรุงสุกที่คล้ายกับคุณแม่ปรุงให้ทานจริงๆ ไปจนถึงอาหารเสริมสารพัดขนานจากวัตถุดิบออร์แกนิก รวมถึงของใช้แสนน่ารักที่ไม่ว่า pawrent คนไหนได้เห็นก็อยากได้มาเป็นเจ้าของ ไม่แปลกใจถ้า Petige จะกลายเป็นหนึ่งใน pet shop ที่น่าจับตามองในคอมมิวนิตี้สัตว์เลี้ยง

ความแตกต่างทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากแพสชั่นและประสบการณ์ที่แตกต่างกันของเพื่อน 3 คนอย่าง กิ่ง–พาฝัน บรรพศิริ ที่มองหาอาหารคุณภาพให้น้องหมาของเธอ จากแต่เดิมที่ถูกสปอยล์ให้ทานอาหารคนจนมีปัญหาสุขภาพ โอ–ธเนศ บุญขันตินาถ ผู้ที่เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์การตลาดและมองเห็นศักยภาพของตลาดนี้ และ วิน–ศุวิล อดุลยานุโกศล ดีไซเนอร์ผู้มีใจรักสัตว์เป็นทุนเดิม

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความรักที่มีต่อสัตว์เลี้ยงนั้นย่อมเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อน pet shop แห่งนี้ แต่เบื้องหลังการก่อร่างสร้างร้านนี้ขึ้นมาได้นั้นเต็มไปด้วยกลยุทธ์มากมาย 

ถ้าพร้อมแล้ว ขอชวนทุกคนก้าวเท้าเข้าสู่ดินแดน Petige ที่จะทำให้เจ้าสี่ขาและเหล่า pawrent มีความสุขด้วยกันได้เลย 

brand positioning ที่ใช่คือหัวใจที่ไม่ควรมองข้าม

กิ่งและวินมีประสบการณ์เลี้ยงน้องหมาอยู่แล้ว การเริ่มต้นทำร้าน pet shop ของทั้งคู่จึงไม่ใช่เรื่องที่ซับซ้อนอะไร แต่สำหรับโอ ผู้ซึ่งไม่เคยเลี้ยงสัตว์มาก่อน แค่เพราะเป็นเพื่อนสนิทกับทั้งคู่คงไม่ใช่เหตุผลที่เขาตัดสินใจร่วมด้วยช่วยกันสร้างแบรนด์นี้ขึ้นมา

“อย่างแรกเลยเรามองว่า ตลาดสัตว์เลี้ยงมันเป็นเทรนด์แห่งอนาคตที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ สำหรับเรามันเลยเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะกระโดดลงไปทำเดี๋ยวนั้น เราพยายามมองว่าแล้วเราจะเข้าไปตลาดที่การแข่งขันสูงขึ้นได้ยังไงบ้าง

“เรารีเสิร์ชกันหนักมากเพื่อไม่ให้เราเป็นแค่อีกร้าน pet shop ร้านหนึ่งที่เปิดมาแข่งกับคนอื่น เราพบว่าอย่างแรก ในบรรดาร้าน pet shop ที่มีในท้องตลาด ส่วนใหญ่แล้วเป็นร้านไซส์ใหญ่ที่ขายของคล้ายๆ กัน อย่างที่สอง คนเลี้ยงสัตว์เขามี pet shop ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ที่ซื้อของเป็นประจำอยู่แล้ว 

“กลับมามองที่เรา 3 คน เราคงทำร้านไซส์ใหญ่แบบร้านเชนกันไม่ไหว แล้วเราก็คงจะไปแข่งกับร้านประจำของลูกค้าไม่ได้ เราจึงมองว่าในตลาดนี้มันยังขาด pet shop ที่เป็น premium concept store อยู่นะ ซึ่งมันก็ตอบโจทย์กิ่งที่ต้องการเปิด pet shop ที่คัดสรรแต่ของที่ดีต่อสุขภาพของน้องหมาน้องแมวจริงๆ”

จากการวิเคราะห์อย่างลงลึกของโอ Petige pet shop ที่เกิดจากการผสมรวมกันของคำว่า ‘pet’ และ ‘prestige’ จึงเกิดขึ้นด้วยคอนเซปต์ ‘Heartfelt Selection For Your Loved Ones’ ซึ่งเน้นคัดเลือกสารพัดของใช้ด้วยหัวใจและคัดสรรอาหารเบบี๋สี่ขาอย่างเข้าใจโภชนาการที่น้องหมาน้องแมวต้องการจริงๆ 

คอนเซปต์ที่ว่าไม่ได้มีผลต่อการคัดสรรสินค้าเท่านั้น แต่ยังมีผลไปถึงการตามหาโลเคชั่นที่ใช่ ภาพลักษณ์ของแบรนด์และร้าน รวมไปถึงการสื่อสารทั้งหมดด้วย

โลเคชั่นที่ถูกต้องคือแต้มต่อทางธุรกิจ

“เราคุยเรื่องนี้กันนานมากๆ ตั้งแต่ปี 2020” กิ่งเอ่ย ก่อนจะบ่นอุบถึงสาเหตุที่โปรเจกต์ Petige นี้ใช้เวลาหลายปีกว่าจะได้เปิดจริงๆ จังๆ ว่า “เราหาสถานที่ไม่ได้สักที เลยเงียบๆ กันไป” 

กระทั่งเมื่อรวบรวมแรงกายแรงใจกันว่าโปรเจกต์ Petige จะต้องเป็นรูปเป็นร่างให้ได้ ทั้ง 3 คนจึงได้สถานที่ตั้งร้านอยู่ในปั๊มน้ำมันเชลล์ แถบย่านราชพฤกษ์ ซึ่งค่อนข้างเป็นโลเคชั่นที่ผิดจากที่เราคิดไว้

“อย่างแรก บ้านของเรา 3 คนอยู่แถวๆ นี้ มันลงล็อกกับเป้าของเราที่เราเล็ง residential area ไว้ เพราะเราเชื่อว่าในแถบที่พักอาศัยคนย่อมเลี้ยงหมาเลี้ยงแมวกันเยอะ ที่สำคัญย่านนี้ยังเป็นย่านที่คนมีกำลังซื้อ ตรงกับคอนเซปต์ความพรีเมียมที่เราวางเอาไว้ด้วย

“ที่ต้องเป็นปั๊มน้ำมัน เพราะถ้าเราไปเปิดในคอมมิวนิตี้มอลล์หรือไปเปิดในห้าง น้องหมาน้องแมวก็จะเข้าไม่ค่อยได้ แต่เราเองอยากเห็นภาพของ pawrent ที่น้องหมาน้องแมวก็มีส่วนร่วมกับเจ้าของได้ด้วย อีกอย่างเราคิดว่าคนน่าจะขี้เกียจแบกของนะ พื้นที่ในปั๊มจึงเหมาะกับการให้คนแวะซื้อแล้วขนของขึ้นรถได้เลย”

ถึงอย่างนั้น ทั้ง 3 คนก็ยังมองว่าแม้โลเคชั่นนี้จะเหมาะสมที่สุด ก็ยังคงมีปัญหาให้พวกเขาต้องแก้ไขกันบ้าง เช่นว่าเส้นที่ร้านตั้งอยู่นั้นไม่ใช่เส้นขาเข้าเมือง คนที่จะเดินทางมาต้องตั้งใจมาร้านจริงๆ เท่านั้น ในอนาคต เมื่อเป้าหมายของร้านบรรลุอย่างใจหวัง พวกเขาก็มีแผนขยายร้านไปยังโซนเมืองและโซนต่างๆ ด้วยโมเดลธุรกิจแบบแฟรนไชส์

ประสบการณ์ที่ทำให้เป็นมากกว่าร้านขายของ

หากใครชอบเดินร้าน pet shop เป็นประจำ อาจเห็นแพตเทิร์นบางอย่างจากหลายร้านเช่นเราและผู้ก่อตั้ง Petige ทั้ง 3 คน นั่นก็คือ pet shop ส่วนใหญ่มักอัดแน่นด้วยสารพัดของใช้และอาหารจนไม่มีทางเดิน หรือถ้าเดินได้ก็เดินอย่างไม่สนุกนัก แต่ถ้าใครได้แวะมาที่ Petige เราเชื่อว่าทุกคนต้องสัมผัสได้ถึงความแตกต่าง

“เราอยากให้การเดิน pet shop มันสนุกเหมือนเวลาเราเดิน Food Villa หรือเดิน Loft เราอยากให้มีมุมคาเฟ่เล็กๆ ที่ชวนให้พ่อแม่และน้องๆ มาถ่ายรูปกันได้” โอว่าอย่างนั้น เมื่อคอนเซปต์ชัดเจน โลเคชั่นก็พร้อม โอและกิ่งจึงโยนคีย์หลักของร้าน ส่งต่อให้วิน ผู้เป็นดีไซเนอร์ออกแบบภาพรวมของ Petige ให้แตกต่าง

“ภาพที่เราเห็นคือเราอยากให้ร้านและแบรนด์มีความ luxury แต่ก็เฟรนด์ลี่ด้วย เพราะไม่อยากให้มันหรูหราจนเข้าถึงยาก อยากให้คนเดินเข้ามาในร้านแล้วรู้สึกว่าอบอุ่น เราเลยเลือกให้สีสันและวัสดุต่างๆ ในร้านมีความขาวๆ ไม้ๆ 

“ส่วนสีเขียวก็เป็นสีที่ดูออร์แกนิก มองแล้วผ่อนคลายสบายตา มันยังเข้ากับความเป็นขาวๆ ไม้ๆ ที่เราวางไว้ แต่เราก็ต้องมาเลือกกันอีกว่าต้องเลือกโทนสีเขียวให้มันดัดจริตนิดนึง มีความเขียวตุ่นๆ เทานิดๆ ดูน่ารักอ่อนโยน”

วินยังเล่าอีกว่าเขาออกแบบโลโก้ร้านมามากกว่า 10 แบบ มีทั้งแบบที่หรูหรามากจนถึงขี้เล่นขั้นสุด จนได้เป็นโลโก้ปัจจุบันที่เป็นฟอนต์แบบสเตนซิล แล้วค่อยใส่รูปทรงของกระดิ่งน้องหมาน้องแมวไปที่ตัว I สร้างกิมมิกน่ารักๆ ให้กับแบรนด์ ไม่เน้นการใส่ภาพสัตว์แบบตรงๆ แต่เป็นการเลือกใช้สัญลักษณ์เพื่อเพิ่มความมินิมอล

นอกจากโทนสีของร้าน สิ่งที่ทั้งวิน โอ และกิ่งให้ความสำคัญมากๆ คือการจัดวางเชลฟ์สินค้า ถามว่าจริงจังขนาดไหน ก็ขนาดที่ลงทุนจ้างทีม visual merchandising โดยเฉพาะ แม้ไซส์ของธุรกิจของ Petige ในตอนนี้จะเล็กเกินกว่าที่จะลงทุน

“เราเชื่อว่าเราต้องลงทุนกับสิ่งนี้เพราะเราไม่ได้ตั้งใจจะเป็น pet shop ที่เน้นขายของอย่างเดียว แต่เราอยากสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ทุกคน เราจึงให้ทีมออกแบบให้ว่าถ้าลูกค้าเดินเข้ามา ด้านหน้าเราจะวางอะไร เดินเข้ามาฝั่งนี้ต้องเจออะไรก่อน ของแต่ละชนิดควรวางในระดับไหนที่จะหยิบจับได้ง่ายๆ ไปจนกระทั่งวิธีการแขวนสินค้าต่างๆ

“ยิ่งพอเราเพิ่มสินค้าเข้ามาเรื่อยๆ ด้วยความต้องการของกิ่งเองที่อยากสรรหาของดีๆ เข้ามาขาย บวกกับความต้องการของเราที่เรามองว่าถ้าของมันมีไม่เยอะ มันก็เดินไม่สนุก การมีทีมที่ช่วยวางแผนและออกแบบวิธีการจัดวางและการจัดโซนให้มันก็สำคัญ” โอมบอกความตั้งใจ

ไม่แปลกใจ ถ้าพ่อหมาแม่แมวที่เดินเข้ามาใน Petige จะรู้สึกว่าช่างเป็นร้านที่เดินสนุกอะไรอย่างนี้!

คัดสรรจากหัวใจ ราคาสูงแค่ไหนก็ยอมจ่าย

หากเดินชมโซนต่างๆ ของร้าน เชื่อว่าหลายคนน่าจะเห็นด้วยกับเราว่าสินค้าหลายชิ้นในร้านนั้นเป็นสินค้าที่เราแทบไม่เคยเห็นที่ไหน บางชิ้นเป็นแบรนด์นอกที่ทั้งได้มาตรฐาน แถมยังหน้าตาน่าใช้ และบางชิ้นก็เป็นแบรนด์ไทย ชวนให้อดสงสัยไม่ได้ ว่าธุรกิจสัตว์เลี้ยงในไทยพัฒนาถึงเบอร์นี้แล้วหรือ!

“คำว่า ‘พรีเมียม’ ไม่ได้หมายถึงความหรูหราหรือความแพงนะ แต่ในมุมของอาหารสัตว์เลี้ยง คำว่า ‘พรีเมียม’ มันพ่วงมากับคำว่า ‘เฮลตี้’ ที่วัตถุดิบต้องดี ไม่ผ่านการปรุงแต่ง ไม่ใส่สารเสริมที่อันตรายได้ในระยะยาว เวลาเราเลือกของเข้ามาขายในร้านเราจึงเลือกดูที่ส่วนผสมเป็นอย่างแรก ส่วนของอื่นๆ ที่เป็นของใช้ก็ดูเรื่องภาพลักษณ์แบรนด์ มาตรฐาน คุณภาพของเขา” กิ่งอธิบายจากประสบการณ์ตรง 

สารพัดสิ่งของที่กิ่งเลือกเข้ามานำเสนอให้เจ้าสี่ขาและพ่อๆ แม่ๆ มีทั้งแบรนด์นำเข้าที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในระดับสากลว่ามีคุณภาพและปลอดภัยกับน้องหมาน้องแมวจริงๆ 

ไม่ว่าจะแบรนด์ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด Hyponic จากประเทศเกาหลีที่ได้รับรางวัลจาก German Dermatological Research Institute หรือรางวัลการทดสอบความอ่อนโยนต่อผิวหนังที่เข้มงวดที่สุด หรือจะเป็น LickiMat® แผ่นซิลิโคนชะลอการทานอาหารของน้องหมาน้องแมวที่มีชื่อเสียงของออสเตรเลีย

นอกจากนั้น ยังมีแบรนด์ไทยจากผู้ประกอบการรายเล็กรายใหญ่ที่ไม่เพียงผลิตสินค้าด้วยความเข้าใจสัตว์เลี้ยง แต่ยังต้องแสดงให้กิ่งเห็นว่าเจ้าของแบรนด์รักน้องหมาน้องแมวจริงๆ เช่น Dr.Shu แบรนด์อาหารโฮมคุกของน้องหมาที่กิ่งเล่าว่าเป็นแบรนด์ที่ลูกค้ารีเควสต์ให้ติดต่อมาขาย และเมื่อวางขายแล้วก็ขายดีจนต้องมีการสั่งจองล่วงหน้า!

“มันทำให้เราเข้าใจเลยว่าสุดท้ายลูกค้าที่รักน้องมากๆ เขาแฮปปี้ที่จะซื้อของดีๆ โดยไม่ได้แคร์ราคา เรียกว่าถ้าเขาให้คุณค่ากับสิ่งนั้น เขาก็พร้อมจ่าย ซึ่งจริงๆ แล้วบางแบรนด์ที่เราวางขายก็ไม่ใช่ว่าไม่มีขายที่ร้านอื่นนะ เพียงแต่พอเขาเป็นร้านใหญ่ แล้วเขาเอาของไปวางรวมกับของประเภทอื่น มันทำให้ของที่ควรจะดูแตกต่างมันดร็อปลงไป หลายคนที่มาร้านเราก็เพราะร้านเราคัดเลือกแต่ของที่แตกต่างมารวมเข้าไว้ด้วยกัน” กิ่งสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการคัดสินค้าเข้าร้านและพูดคุยกับลูกค้ามากหน้าหลายตา

“มันมีจุดที่เราก็ตีกับตัวเองและตีกับกิ่งนะว่าเราควรจะเอาของแมสๆ มาวางขายบ้างไหม เพราะในความพรีเมียมของเรามันจะมีความนิชที่ลูกค้าบางกลุ่มอาจเข้าถึงยาก แต่กลายเป็นว่าสิ่งที่เราเลือกเข้ามาลูกค้าของเรากลับไม่สนใจเลย นั่นทำให้เราเข้าใจโพสิชั่นของแบรนด์นี้ชัดเจนขึ้น” โอ ผู้ที่รับผิดชอบการวางกลยุทธ์ต่างๆ เล่าถึงครั้งที่ตัวเขาเองขอเป็นคนคัดเลือกสินค้าแทนกิ่งบ้าง 

มากกว่าการซื้อ-ขาย คือคอมมิวนิตี้ที่กลายเป็นแบรนด์ลอยัลตี้

“เมื่อวานนี้มีลูกค้าคนหนึ่งพาน้องหมาคอร์กี้ 2 ตัวมาจากเมืองทอง เขาบอกว่าในคอมมิวนิตี้หมาของเขาแนะนำร้านเรากันเยอะมาก เขาบอกว่าร้านนี้มีของเยอะ ของแปลก บางคนก็มาจากบางนา เขายังถามว่าทำไมไม่เปิดฝั่งบางนาบ้าง” 

โอมเล่าถึงความประทับใจหลังจากเปิดร้านมาได้ไม่นาน ความประทับใจนั้นเองยิ่งย้ำให้ทั้ง 3 คนเข้าใจว่าพวกเขาเลือกทางเดินที่ค่อนข้างถูกต้อง นั่นคือการสร้างให้ Petige มีความเป็นคอมมิวนิตี้ที่พ่อหมาแม่แมวแชร์สิ่งต่างๆ หรือพาน้องๆ มาพบปะพูดคุยที่ร้านได้ มากกว่าการขายของอย่างเดียว

“มันก็ยิ่งทำให้เราเห็นด้วยว่าแม้สมัยนี้คนจะซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์กันเยอะแล้ว แต่ pet shop ก็ยังสำคัญในแง่ที่ว่าบางคนเขาอยากเห็นของจริงว่าขนมอันนี้มันแข็งไปไหม ชิ้นใหญ่แค่ไหน บางคนเขาก็อยากเดินดูของเองเพราะน้องแต่ละตัวมีข้อจำกัดในการกินต่างกัน

“น้องบางตัวแพ้ไก่ บางตัวแพ้เนื้อ บางคนอยากได้อาหารวีแกนนะ แต่เม็ดเล็กหน่อย เหมือนกับการเลี้ยงสัตว์เป็นลูกมันมีรายละเอียดเยอะจนทำให้การเลือกซื้อของทางออนไลน์ยังแทนที่ออฟไลน์ไม่ได้” กิ่งเล่าประสบการณ์ในฐานะที่เป็นทั้งฝ่ายคัดสรรสินค้าและโอเปอร์เรชั่น

“คนเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะน้องหมาเขาต้องการหาอะไรให้น้องๆ ทำ แต่การกดซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์อย่างเดียวมันไม่สนุก เหมือนกับว่าทำไมเราไม่ซื้อของออนไลน์ล่ะ ทำไมเรายังต้องไปเดินเล่นที่ Loft ก็เพราะมันมีเซนส์บางอย่างที่ออนไลน์มันให้ไม่ได้ แล้วหลังๆ เขาไม่ได้พาน้องหมาน้องแมวมาก็มี เพียงแต่อยากมาพูดคุย อัพเดตสินค้าและเรื่องราวการเลี้ยงกับกิ่ง เหมือนที่นี่กลายเป็นคอมมิวนิตี้ไปแล้วจริงๆ” โอมเสริม

กิ่งและโอมยังเล่าว่าลูกค้าบางกลุ่มบ้านอยู่กันคนละทิศ แต่นัดกันมาเจอที่ Petige เพื่อพูดคุยกัน บางคนมารู้จักกันที่ร้าน บางคนก็สนิทกันอยู่แล้ว บางคนก็มาซื้อของที่ร้านเพราะคอมมิวนิตี้พ่อหมาแม่แมวในอินสตาแกรมป้ายยามาอีกทอด

“การสร้างคอมมิวนิตี้และการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้กันมันเป็นสิ่งที่เราในฐานะคนไม่เลี้ยงสัตว์ว้าวมาก เพราะเราว่าเราตามโลกนี้คนเดียวไม่ทันหรอก การมีคนคอยแนะนำว่าอันนั้นเวิร์ก อันนี้ดีมันน่ารักมากๆ” โอมเล่าความรู้สึก

Petige pet shop ทางเลือกที่เสิร์ฟความสุขและความสบายใจ

ความรักที่มีต่อสัตว์เลี้ยงสี่ขาคงไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้ Petige และ pet shop อีกหลายๆ ร้านอยู่รอดในสมรภูมินี้ เพราะกว่าทั้ง 3 คนจะปั้น Petige ขึ้นมาได้นั้นก็ต้องลงลึกในทุกด้านจริงๆ สิ่งสำคัญที่สุดยังคือการรับฟังและพร้อมปรับตัว เพื่อให้แบรนด์น้องใหม่ที่ทั้งนิชและไกลจากตัวเมืองเอาชนะทั้ง 4 ห้องหัวใจของพ่อหมาแม่แมวได้

“เราประชุมกันทุกเดือน เราคุยกันตลอดว่าลูกค้าใหม่เรากลับมาซื้อซ้ำไหม ลูกค้าเก่ามีพอหรือยัง ถ้าเราอยากขยายฐานลูกค้า เราต้องทำอะไรอีกบ้าง แล้วเดือนต่อไปจะทำยังไง เพราะเราก็ยังอยู่ในช่วงเปิดร้านที่ต้องเรียนรู้หลายสิ่งกันอยู่

“แต่สิ่งที่เรามั่นใจมากๆ ก็คือเราไม่เคยคิดจะไปแทนที่ pet shop ขนาดใหญ่ หรือกลุ่มเชนเพราะเราสู้ไม่ได้อยู่แล้ว เราเพียงอยากเป็นทางเลือกที่ธุรกิจอื่นไม่มี เขาอาจจะไปซื้อของใช้ประจำวันที่ร้านอื่นก็ได้ แต่ของบางอย่างลูกค้าสามารถมาหาเราได้ไหม และที่สำคัญ ถ้าเขามาหาเรา เขาจะไม่ได้ได้แค่ของ แต่จะได้การพูดคุยกับร้านด้วย” โอมอธิบายสิ่งที่ได้เรียนรู้

ทั้งหมดนี้กิ่งบอกว่าเป็นความตั้งใจของทั้ง 3 คนที่อยากให้ Petige เป็นที่ที่ทั้งพ่อ แม่ และเด็กๆ สี่ขารู้สึกแฮปปี้ หมดความกังวลในการเลือกซื้อของให้ลูกๆ เพราะทุกผลิตภัณฑ์นั้นผ่านการคัดสรรมาอย่างดี 

ในอนาคต ทั้ง 4 คนยังอยากขยับขยาย Petige ให้โตกว่าเดิม ทั้งในแง่สาขาของร้านที่จะต้องมากขึ้นกว่าเดิม ของภายในร้านก็ต้องหลากหลายขึ้น รวมถึงอยากเพิ่มบริการอื่นๆ เพื่อให้ทั้งพ่อแม่และเจ้าสี่ขามาร่วมสนุกกันที่ Petige ได้ทุกเมื่อ 

ว่าแต่ Petige จะทำให้พ่อหมาแม่แมวสัมผัสได้ถึงความ ‘heartfelt’ ได้มากแค่ไหน ต้องลองพาลูกน้อยสี่ขาไปเยี่ยมเยียนที่ร้านกันด้วยตัวเอง!

What I’ve learned

  1. กิ่ง : ลูกค้าสอนเราในหลายๆ เรื่องเลย การรับฟังความเห็นและข้อแนะนำของลูกค้าจึงสำคัญมาก
  2. โอ : การทำธุรกิจที่มีพาร์ตเนอร์หลายคน เราควรจะวางขอบเขตงานของแต่ละคนให้ชัดเจน มันอาจจะมีทำงานข้ามกันบ้าง แต่เราต้องเชื่อมั่นในการตัดสินใจของกันและกัน และเมื่อเกิดปัญหาจากการตัดสินใจนั้นๆ เราก็ไม่ควรโทษกัน เพราะสุดท้ายแล้ว เราต่างก็ใหม่กันหมด และมันไม่มีทางรู้เลยว่าสิ่งที่ถูกต้องที่สุดคืออะไร ทุกอย่างจึงต้องมีการลองผิดลองถูกกันได้
  3. วิน: ในฐานะที่เป็นดีไซเนอร์ เราต้องคอยดูแลให้ภาพรวมของร้านมันออกมาตามคอนเซปต์ให้ได้มากที่สุด ความยากคือเมื่อธุรกิจต้องขยาย จำนวนสินค้าที่จำเป็นต้องมากขึ้นสวนทางกับขนาดร้านที่มี เราจะทำยังไงให้ภาพของร้านมันยังคงคอนเซปต์การออกแบบที่เราตั้งไว้ตั้งแต่ต้น
ข้อมูลติดต่อ :
Facebook : Petige
Instagram : Petige
Line : line.me/R/ti/p/@949khavp
Location : maps.app.goo.gl/1WgWuV9QQqWvfART8?g_st=ic

Writer

กองบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ที่มีแมวเป็นแรงผลักดันในการทำงาน

Photographer

ทำงานให้งานมันท้อเรา ig : chinnakanc

You Might Also Like