PETSUMER 

กลยุทธ์ PETSUMER และอินไซต์ของทาสสัตว์เลี้ยงโอกาสในธุรกิจนี้อยู่ตรงไหนบ้าง

ท่ามกลางการถดถอยของหลายธุรกิจทั่วโลกจากสถานการณ์โควิด ทว่ากลับมีอยู่หนึ่งธุรกิจที่สามารถเติบโตสวนกระแสของโรคระบาด นั่นคือธุรกิจ ‘สัตว์เลี้ยง’

โดยมีการคาดกันว่าภายในปี 2021-2026 มูลค่าของตลาดสัตว์เลี้ยงทั่วโลกจะมีการเติบโตเฉลี่ยแบบทบต้นเฉลี่ยปีละ 7.2% จนมีมูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 217,651 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนของไทยเราเองก็คาดว่าตั้งแต่ปี 2021-2026 ตลาดสัตว์เลี้ยงจะมีการเติบโตเฉลี่ยแบบทบต้นเฉลี่ยปีละ 8.4% และทำให้ภายในอีก 3 ปีข้างหน้าตลาดสัตว์เลี้ยงในไทยจะมีมูลค่าอยู่ที่ 66,748 ล้านบาท 

ตัวเลขนี้สะท้อนถึง ‘โอกาส’ ในการทำธุรกิจกับเหล่าทาสสัตว์เลี้ยง 

จากงานวิจัยของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ CMMU ที่ได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,146 คนพบว่ากลุ่มคนที่เป็นทาสสัตว์เลี้ยงมากที่สุดคือเพศหญิงอยู่ที่ 66.8% รองลงมาคือเพศชายอยู่ที่ 22.3% ส่วนที่เหลืออีก 10.9% เป็นเพศทางเลือก 

โดยเหตุผลที่คนกลุ่มนี้เลี้ยงสัตว์เลี้ยงนั้นมีอยู่ 3 ข้อหลักๆ ด้วยกัน คือ 1. เลี้ยงเพื่อเป็นลูก 49% 2. เลี้ยงเพื่อสถานะทางสังคม 33% และ 3. เลี้ยงเอาไว้เพื่อช่วยเหลือช่วยบำบัดรักษาอีก 18% 

  1. Pet Parant : เลี้ยงไว้เพื่อเป็นลูก

คนกลุ่มนี้ไม่ได้มองว่าสัตว์เลี้ยงเป็นแค่สัตว์เลี้ยง แต่เป็นเสมือนสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัว โดยกว่า 80% ของคนเลี้ยงสัตว์คือคนโสด และความโสดก็ส่งผลต่อความเหงาจนทำให้ต้องมีน้องๆ เข้ามาเติมเต็มชีวิตมากยิ่งขึ้น 

  1. Pet Prestige : เลี้ยงเพื่อสถานะทางสังคม

อาจเป็นเหตุผลที่ฟังแล้วรู้สึกเซอร์ไพรส์ แต่คนกลุ่มนี้มีมากถึง 33% เลยทีเดียว โดยการเลี้ยงแบบ Pet Prestige ที่เอาไว้เสริมภาพลักษณ์ทางสังคมนั้นไม่ได้หมายความว่าเจ้าของไม่รักสัตว์เลี้ยง แต่ในมุมหนึ่งก็เป็นการเลี้ยงเพื่อสะท้อนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของตัวผู้เลี้ยงอีกด้วย อย่างเช่นคนเลี้ยงสิงโตก็สะท้อนไปถึงภาพลักษณ์ความหรูหราที่ได้เลี้ยงสัตว์หายากราคาแพง  หรือการที่เหล่าเซเลบเลี้ยงสัตว์ก็กลายเป็นการสร้างกระแสให้คนอื่นๆ อยากเลี้ยงตามด้วยเช่นกัน 

หนึ่งในกลุ่มตัวอย่างของผลสำรวจบอกว่า “เลี้ยงครับ เลี้ยงนกหงษ์หยก สีเขียวมินต์ เพราะเห็นใน TikTok มีคนเลี้ยงเยอะแล้วน่ารักดี เลยเลี้ยงตาม และพอดีซื้อบ้านใหม่อยู่สองคนกับแฟนเลยซื้อมาเลี้ยง”

  1. Pet Healing : เลี้ยงเอาไว้เพื่อช่วยเหลือช่วยบำบัดรักษา

คนกลุ่มนี้จะเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเอาไว้เพื่อคอยช่วยดูแลญาติผู้ใหญ่ หรือเลี้ยงเอาไว้คลายเหงาคลายความเครียด ซึ่งการศึกษาในต่างประเทศก็บอกว่าการที่เราใช้เวลาว่างในการเล่นหรือดูแลสัตว์เลี้ยง ร่างกายของเราก็จะเกิดกลไกบำบัดทางด้านอารมณ์ ทำให้ร่างกายหลั่งสารความสุขออกมา และนั่นก็ทำให้ช่วยคลายเครียดและคลายเหงาได้

ซึ่งนอกจากน้องหมาและน้องแมว สัตว์เลี้ยงอีกประเภทที่คนนิยมเลี้ยงกันคือสัตว์ exotic ไม่ว่าจะเป็นนก กิ้งก่า ชูการ์ไกลเดอร์ แมงมุม กระต่าย ไก่สวยงาม เต่า หรือหนูก็ตาม โดยนอกจากความสวยงามของมันแล้วอีกเหตุผลหนึ่งที่คนนิยมเลี้ยงสัตว์ exotic เพราะสัตว์เหล่านี้ใช้พื้นที่ในการเลี้ยงน้อยและยังไม่ส่งเสียงดังรบกวน

รู้จักกลุ่มผู้เลี้ยงกันไปแล้วว่าเป็นใครบ้าง ทีนี้เรามาดูกันต่อว่าแล้วเหล่าทาสมีพฤติกรรมการเปย์ยังไง จ่ายกันหนักแค่ไหน แล้วเหล่าธุรกิจควรจะเข้าไปจับตลาดนี้ยังไงบ้าง 

โดยคนเลี้ยงสัตว์จะรับข้อมูลเกี่ยวกับอาหารสัตว์เลี้ยงผ่าน 4 ช่องทางหลักๆ ด้วยกันคือโซเชียลมีเดีย 39.8% เพื่อนและครอบครัว 28% ค้นหาจากทางอินเทอร์เน็ต 22.3% และดูจากโฆษณาทีวีอีก 9.9%  

ส่วนช่องทางการซื้ออาหารสัตว์อันดับแรกคือซื้อจากร้านขายสินค้าสัตว์เลี้ยง 34.8% ซื้อทาง e-Commerce 22.2% ซื้อจากซูเปอร์มาร์เก็ต 12.4% ซื้อจากไฮเปอร์มาร์เก็ต 11.8% และอีก 8.2% ที่เหลือซื้อจากคลินิกรักษาสัตว์ 

น่าสนใจว่าในยุคที่ออนไลน์เติบโต ทว่าเหล่าทาสทั้งหลายก็ยังคงซื้ออาหารผ่านช่องทางที่เป็นหน้าร้านมากที่สุด ซึ่งมากกว่า 50% มีการซื้อมากกว่า 1 ครั้งต่อเดือนอีกด้วย โดยส่วนใหญ่เหล่าทาสจะคำนึงเรื่องสุขภาพของสัตว์เลี้ยงเป็นหลัก มักไม่ซื้ออาหารตุนเอาไว้เนื่องจากกังวลถึงคุณภาพอาหารที่ลดลงหากเก็บไว้นานเกินไป และกว่า 62.6% มักจะไม่เปลี่ยนแบรนด์อาหารเพราะกลัวสัตว์เลี้ยงจะท้องเสีย ไม่คุ้นกลิ่นอาหาร และไม่คุ้นกับเม็ดอาหาร โดยในเดือนนึงจะจ่ายค่าอาหารสัตว์เลี้ยงอยู่ที่ประมาณ 1,000-2,000 บาท 

นอกจากค่าอาหาร คนเลี้ยงสัตว์ยังใช้จ่ายไปกับค่าดูแลสัตว์เลี้ยงด้านอื่นไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำตัดขน รับฝากเลี้ยง ทำสปา ทำเล็บ โดยในเดือนๆ นึงมักจะจ่ายค่าดูแลสัตว์เลี้ยงเฉลี่ยอยู่ที่ 1,000-3,000 บาท แม้จะใช้บริการประมาณ 1 ครั้งต่อเดือน แต่ส่วนใหญ่มักกลับมาใช้บริการอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นแล้วเรื่องคุณภาพ การบริการที่ประทับใจ จึงเป็นเรื่องที่เจ้าของธุรกิจดูแลสัตว์เลี้ยงควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก 

เห็นข้อมูลที่น่าสนใจและโอกาสการเติบโตของตลาดนี้แล้ว สำหรับคนที่กำลังทำธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงอยู่ หรือใครที่อยากจะกระโดดลงมาทำธุรกิจนี้บ้าง ทาง CMMU ก็ได้แนะนำกลยุทธ์ที่เรียกว่า Petsumer ซึ่งเป็นกลยุทธ์เอาไว้มัดใจทาสสายเปย์ทั้งในแง่ของสินค้า บริการ รวมไปถึงการสื่อสารให้ตรงใจเหล่าทาสสัตว์เลี้ยง ซึ่งเรามองว่ากลยุทธ์นี้เป็นเหมือนเช็กลิสต์ในการทำธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงที่น่าสนใจไม่น้อยเลย 

Personalization : มีสินค้าที่ customize ตามชนิดหรือสายพันธุ์ เช่นอาหารสำหรับสัตว์ที่ป่วยในบางโรค 

Easy Access : การเข้าถึงง่ายคือหัวใจสำคัญของธุรกิจบริหารสัตว์เลี้ยง มีทำเลที่สะดวกต่อทั้งคนและสัตว์ มีบริการเดลิเวอรีให้ถึงที่ 

Trustworthiness : มีคุณภาพ น่าเชื่อถือ น่าไว้วางใจ เพราะเมื่อเรารักสัตว์เลี้ยงเหมือนคนในครอบครัว เราก็อยากให้พวกเขาได้สิ่งที่ดีที่สุดเสมอ

Social Influence : คนเลี้ยงสัตว์ประเภทเดียวกัน สายพันธุ์เดียวกันมักมีคอมมิวนิตี้เอาไว้แชร์เรื่องราวแลกเปลี่ยนข้อมูลสัตว์เลี้ยง และข้อมูลจากผู้คนในคอมมิวนิตี้มักมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อ ดังนั้นการที่แบรนด์ผลิตสินค้าที่สร้างความประทับใจและทำให้คนไปบอกต่อ ก็จะเป็นประโยชน์กับแบรนด์อย่างมาก 

Uniqueness : สร้างเอกลักษณ์ให้เป็นที่จดจำ ซึ่งการเอาสัตว์เลี้ยงมาใช้ในการโฆษณาก็จะช่วยสร้างการน่าจดจำที่มากขึ้นได้

Mental Support : สื่อสารไปยังเหล่าทาสผ่านคอนเทนต์ที่ดูผ่อนคลาย มีความสุข และต้องสื่อสารได้ถึงอารมณ์ ความรู้สึก ความรัก ระหว่างผู้คนกับสัตว์เลี้ยง 

Engagement : การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะตลาดนี้มีลักษณะเป็น One Chance, One Shot คือมีเพียงโอกาสเดียวที่จะได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า เพราะลูกค้ามักจะซื้อแบรนด์เดิมอยู่เป็นประจำ แบรนด์ที่ดีต่อสัตว์เลี้ยงของพวกเขาอยู่แล้ว และมักจะเปลี่ยนใจได้ยาก 

Right : แบรนด์ต้องทำคอนเทนต์อย่างเหมาะสมและคำนึงสิทธิของสัตว์เลี้ยงด้วย เพราะถ้าพลาด ละเมิดสิทธิของสัตว์เลี้ยงไปนั่นอาจตามมาด้วยดราม่าและวิกฤตของแบรนด์ได้

และไม่ใช่เพียงธุรกิจที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงเท่านั้น แต่แบรนด์อื่นๆ ก็สามารถใช้ความน่ารักของเหล่าสัตว์เลี้ยงมาช่วยในการทำโฆษณา ทำคอนเทนต์ เพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้คนได้เช่นกัน โดยจากผลสำรวจว่าภาพโฆษณาแบบไหนที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้ามากที่สุด ก็พบว่าภาพโฆษณาที่มีคนสัตว์เลี้ยงและสินค้าทำให้คนตัดสินใจซื้อได้ 19.10% ส่วนภาพโฆษณาที่มีตัวสินค้าอย่างเดียวนั้นทำให้คนตัดสินใจซื้อได้ 37.08% แต่หากเป็นภาพโฆษณาที่มีแค่สัตว์เลี้ยงและสินค้านั่นทำให้คนตัดสินใจซื้อได้มากถึง 43.82% เลยทีเดียว

จากการเติบโตของตลาดสัตว์เลี้ยงจึงทำให้เราได้เห็นผู้เล่นหน้าใหม่ทั้งรายเล็กรายใหญ่กระโดดลงมาในตลาดนี้กันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเฮียฮ้อจาก RS ที่ได้ส่งแบรนด์อาหารสัตว์อย่าง Lifemate ลงมาตีตลาด หรือทางฝั่งเซ็นทรัลเองก็ได้เปิด Specialty Store อย่าง PET ‘N ME ซึ่งเป็นร้านขายสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะที่ตั้งเป้าจะขยายร้านไปอีกกว่า 50 สาขาทั่วประเทศไทยใน 3-5 ปีนี้ด้วย ส่วน Grab เองก็ได้ทำ GrabPet สำหรับรับส่งสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ หรือแม้แต่ธุรกิจประกันเองก็ยังออกประกันสำหรับสัตว์เลี้ยงออกมาด้วยเช่นกัน 

จึงเป็นที่น่าจับตามองกันต่อไป ว่าธุรกิจสัตว์เลี้ยงจะคึกคักอีกมากแค่ไหน หรือจะมีอะไรใหม่ๆ มามัดใจและคว้าเงินจากกระเป๋าของเหล่าทาสสายเปย์ไปได้อีกบ้าง

อ้างอิง

  • Petsumer Marketing เจาะลึกอินไซต์โดนใจทาสสายเปย์ โดยวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล(CMMU)

Writer

บรรณาธิการธุรกิจ มีความสนใจเรื่องกลยุทธ์ธุรกิจ-การตลาด และชื่นชอบการเข้าโรงงานเพื่อดูเบื้องหลังการผลิตเป็นอย่างยิ่ง

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม Email: [email protected]

You Might Also Like