อาหารแมวเก้าชีวิต

9 เรื่องไม่ลับฉบับ Royal Canin และก้าวต่อไปในยุคที่ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงเติบโตแบบก้าวกระโดด

มองไปทางซ้าย เห็นรถเข็นแมว มองไปทางขวา เห็นคนจูงน้องหมา ไม่ว่าจะอยู่สถานที่ on ground หรือ on cloud เราแทบจะอยู่ในสังคมที่ทุกคนผันตัวมาเป็นพ่อหมาแม่แมวกันหมดแล้ว ถึงบางคนจะไม่มีโอกาสได้เลี้ยง แต่ก็ปวารณาตนเป็นทาสอินฟูลเอนเซอร์สี่ขากันไปหมด!

ความนิยมเลี้ยงสัตว์ของผู้คนที่มากขึ้นเรื่อยๆ และพฤติกรรมการเลี้ยงที่เริ่มเปลี่ยนจากเลี้ยงไว้เฝ้าบ้าน มาเลี้ยงเพื่อเป็นลูกจริงๆ นี้เองที่ทำให้ตลาดอาหารสัตว์ค่อยๆ โตขึ้นเรื่อยๆ ผู้เล่นรายใหญ่รายน้อยต่างก็สาวเท้าเข้ามาในวงการที่คนเคยมองข้าม 

ถ้าเป็นแต่ก่อน เชื่อว่า ‘Royal Canin’ แบรนด์อาหารน้องแมวน้องหมาสัญชาติฝรั่งเศสน่าจะเป็นหนึ่งในแบรนด์อาหารสัตว์เลี้ยงที่คนนึกถึง เชื่อถือ และมั่นใจด้านคุณภาพ เพราะถือเป็นแบรนด์อาหารสัตว์เลี้ยงเกรดซูเปอร์พรีเมียมเกรดแรกๆ ในไทย ในวันที่ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงยังไม่เติบโตขนาดนี้

ย้อนกลับมาที่ปัจจุบัน ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงไม่ได้มีแค่อาหารเกรดอีโคโนมี เกรดแมส และเกรดซูเปอร์พรีเมียมอีกต่อไป เราเริ่มได้ยินคำเรียกอาหารประเภทต่างๆ สอดคล้องกับความคิดความเชื่อในการเลี้ยงสัตว์ของแต่ละคนมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะคำว่า ‘โฮลิสติก’ คำว่า ‘เกรนฟรี’ และคำว่า ‘บาร์ฟ’ 

ในห้วงเวลาที่ผู้เล่นรายใหม่ๆ กระโดดเข้ามาในตลาดนี้มากขึ้น บวกกับพ่อหมาแม่แมวก็รักที่จะลองและสรรหาของที่เชื่อว่าดีที่สุดมาให้ลูกๆ สี่ขา คำถามที่เราสงสัยจึงคือ Royal Canin ประเทศไทย จะรักษาตำแหน่งอาหารในดวงใจทาสหมาทาสแมวยังไงบ้าง และกลยุทธ์ทางการตลาดแบบใดที่จะทำให้ Royal Canin อยู่ได้อย่างยั่งยืน ไม่ล้มหายตายจากไปตามเทรนด์การเลี้ยงสัตว์ที่อาจชะลอตัว

น.สพ.จดล สุวรรณฤทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรยัล คานิน (ประเทศไทย) จำกัด คนไทยคนแรกที่เป็น Managing Director ของ Royal Canin ประเทศไทย และอยู่กับ Royal Canin มานานกว่า 15 ปี จึงจะพาเราไปเรียนรู้ 9 เรื่องไม่ลับ ที่ทำให้ Royal Canin อยู่ได้อย่างยั่งยืนเหมือนแมว 9 ชีวิต

1. อาหารสูตรแรกของ Royal Canin คิดค้นโดยสัตวแพทย์ชาวฝรั่งเศส 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1968 นายสัตวแพทย์ชาวฝรั่งเศส ฌอง คาทารี (Jean Cathary) เริ่มต้นคิดค้นอาหารสัตว์ด้วยตนเองจากเคสน้องหมาพันธุ์เยอรมันเชพเพิร์ดตัวหนึ่งที่ไม่ว่าจะรักษาด้วยวิธีไหนก็ไม่หายจากโรคผิวหนัง 

“คุณหมอจึงเริ่มคิดว่า you are what you eat และซักประวัติการกินของหมาตัวนั้น ปรากฏว่าน้องหมาได้รับโภชนาการไม่เหมาะสม อาหารสูตรแรกที่คิดค้นขึ้นมาคืออาหารที่ช่วยให้ผิวหนังกับขนแข็งแรง” หมอจดลย้อนเล่าถึงต้นกำเนิด 

เมื่อแบรนด์เริ่มเติบโต เมื่อทีมวิจัยเริ่มใหญ่ขึ้น Royal Canin ก็เริ่มคิดย้อนกลับไปว่าโภชนาการแบบไหนที่จะลดโอกาสการเกิดโรคได้บ้าง ขณะเดียวกันก็เริ่มคิดค้นอาหารสูตรอื่นๆ สำหรับประกอบการรักษาโรคอย่างอาหารสูตรโรคนิ่ว โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ โรคอ้วน 

“อาหารกลุ่มประกอบการรักษาถือเป็นจุดแข็งของแบรนด์ เพราะมันสะท้อนให้เห็นถึงจุดเริ่มต้นของ Royal Canin ที่อยากให้น้องแมวน้องหมาหายป่วยและกลับมามีชีวิตที่ดี” 

หมอจดลเล่าเมื่อเราเผยประสบการณ์ส่วนตัวในฐานะของคนเลี้ยงสัตว์ ที่ไม่ว่าจะมีอาหารรูปแบบใหม่ๆ มาล่อตาล่อใจมากแค่ไหน แต่เมื่อลูกน้อยสี่ขาป่วยเมื่อไหร่ เราเองและพ่อหมาแม่แมวหลายบ้านก็ต้องกลับไปหา Royal Canin

2. Royal Canin มีสูตรอาหารน้องหมาน้องเหมียวรวมกันมากกว่า 750 สูตร!

อ่านไม่ผิด! คุณหมอยืนยันว่ามีสูตรอาหารมากกว่า 750 สูตรจริงๆ 

เพราะเมื่อจุดเริ่มต้นของ Royal Canin นั้นเกิดจากความรักและวิทยาศาสตร์ หลักการแตกไลน์ผลิตภัณฑ์จึงมีตั้งแต่ A Better World for Pets, Cats and Dogs First, Science Behind Nutrition จนถึงในปัจจุบันอย่าง Health Through Nutrition  หรือการสร้างสุขภาพที่ดีผ่านโภชนาการที่ถูกต้องเหมาะสม  

นั่นทำให้อาหารของ Royal Canin แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มอาหารสายพันธุ์ที่วิจัยมาแล้วว่าโภชนาการเหมาะสมและมีทั้งอาหารเม็ดที่สอดรับกับกายภาพช่องปาก และอาหารเปียกที่เหมาะสมกับสุขภาพและการดูแลพิเศษ

“เรามีทีมวิจัยแต่ละสายพันธุ์ที่สำนักงานใหญ่ประเทศฝรั่งเศสเลย อย่างเปอร์เซียนั้น การศึกษาวิจัยพบว่าเปอร์เซียเป็นแมวสายพันธุ์หน้าสั้น กายภาพปากจะจับอาหารเม็ดกลมได้ยาก ถ้าเขาทานอาหารเม็ดกลม อาหารก็อาจจะหลุดออกมาข้างปากจนทำให้เขารู้สึกหงุดหงิดและไม่อยากกิน อาหารเม็ดเปอร์เซียของเราเลยเป็นเม็ดกลมเรียวทรงรักบี้เพื่อให้กายภาพเขาจับเม็ดอาหารได้ดีขึ้น

“ตรงข้ามกับพันธุ์วิเชียรมาศที่มีโครงหน้าสามเหลี่ยม และกินอาหารด้วยวิธีงับอาหารเข้าปาก เม็ดอาหารทรง tube เลยจะช่วยให้เขากินได้ง่ายกว่าและช่วยชะลอให้เขากินไม่เร็วจนเกินไป”

กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มอาหารที่เหมาะกับช่วงวัยและกิจกรรม เช่น อาหารสำหรับลูกหมาลูกแมวที่มีโภชนาการสูงเหมาะแก่การเจริญเติบโต อาหารสำหรับหมาแมวเลี้ยงในบ้านที่ทำกิจกรรมน้อย จึงมีปริมาณไขมันต่ำเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำหนักเกิน และมีสารอาหารที่ช่วยลดกลิ่นอึ 

และกลุ่มที่ 3 คือกลุ่มประกอบการรักษาโรคซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ Royal Canin 

3. Royal Canin มีอาหารสูตรสายพันธุ์ ‘ทิเบตัน มาสทิฟฟ์’ ที่ทั้งโลกมีจำนวนประชากรเพียงหลักพัน

จากอาหารกว่า 750 สูตรในข้อที่แล้ว ลูกค้าบางกลุ่มอาจมองในเชิงบวกว่าแบรนด์ใส่ใจกับสัตว์เลี้ยงจริงๆ แต่อีกทางหนึ่งก็อาจส่งผลทางลบว่าสูตรอาหารที่เยอะขนาดนี้ผลิตขึ้นมาเพื่อการตลาดหรือเปล่า 

“เอาจริงๆ มันเป็น commercial ไม่ได้เพราะจำนวนของน้องหมาน้องแมวบางสายพันธุ์ไม่ได้เยอะมากในระดับที่จะสร้างกำไรขนาดนั้น อย่างทิเบตัน มาสทิฟฟ์ เขาเป็นสายพันธุ์ที่ต้องการโภชนาการเฉพาะเจาะจง เพราะน้ำหนักตัวเต็มที่ประมาณ 70 กิโลกรัม วันหนึ่งๆ เขาต้องกินอาหารเกือบ 1 กิโลกรัม โอกาสที่จะเกิดปัญหาโครงสร้าง ปัญหาน้ำหนักตัวเกินจึงเกิดขึ้นได้มากกว่าพันธุ์อื่นๆ

“แม้ทั้งโลกจะมีคนเลี้ยงพันธุ์นี้แค่หลักพันกว่าตัว แต่ Royal Canin ก็ยังผลิตสูตรนี้ขึ้นมาเพราะเรามองว่ามันจำเป็น” หมอจดลอธิบาย

4. คอลเซนเตอร์ของ Royal Canin มีลูกค้าคนเดิมโทรมาปรึกษาเรื่องอาหารน้องหมาทุกวัน 

นอกจากอาหารจะต้องเหมาะสมแล้ว Royal Canin เน้นส่งมอบความรู้ให้ทั้งผู้เพาะพันธุ์ ร้านขายอาหารสัตว์ และคุณหมออย่างจริงจังผ่านการเทรนและการทำงานวิจัยร่วมกัน เพราะ Royal Canin เน้นมอบความรู้ให้ทุกคนใน ecosystem นี้ เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจเรื่องอาหารสัตว์ ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์การตลาดข้อสำคัญที่ทำให้ภาพลักษณ์ของ Royal Canin แข็งแรง

“ผมมีเพื่อนคนนึงเลี้ยงบูลมาสทิฟฟ์ซึ่งน้ำหนักตัวเต็มที่จะ 70-80 กิโลกรัม เขาให้กินเนื้อออสเตรเลียทุกวัน ปรากฏว่าพอโตขึ้นมาแล้วขาแอ่นซึ่งแก้อะไรไม่ได้แล้ว ผมถามว่าทำไมถึงให้เนื้อออสเตรเลียแทนอาหารสัตว์ เขาบอกว่าเขาคิดว่ามันดีที่สุด แต่จริงๆ แล้วเนื้อมีปริมาณฟอสฟอรัสสูงถึง 3 เท่าซึ่งมีผลทำให้กระดูกไม่บาลานซ์ 

“ปัญหาวันนี้จึงไม่ใช่ว่า Royal Canin ราคาสูง หรืออาหารเม็ดทั่วไปราคาสูง และไม่ใช่ว่าคนเลี้ยงไม่มีความรู้ แต่ความรู้ที่ได้รับมาอาจจะไม่ถูกต้อง ผมเลยมองว่าเราไม่ใช่แค่แบรนด์ที่ขายแต่อาหารน้องแมวน้องหมาแต่เรามีหน้าที่ในการให้ความรู้ที่ถูกต้องด้วย”

นอกจากการให้ความรู้กับพาร์ตเนอร์แล้ว แบรนด์ยังเน้นให้ความรู้โดยตรงกับลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ เรื่องที่น่าสนใจคือทีมวิชาการของ Royal Canin นั้นได้รับคำปรึกษาจากลูกค้าจำนวนมาก ตั้งแต่ภาพไม้บรรทัดวัดขนาดเม็ดอาหารเพื่อสอบถามว่าทำไมขนาดอาหารเม็ดไม่เท่ากัน ไปจนกระทั่งลูกค้าที่โทรถามว่าทำไมวันนี้น้องหมากินน้อยกว่าปกติ

“มีลูกค้าคนนึงโทรมาหาฝ่ายวิชาการของเราเวลาเดิม ทุกวัน แล้วแกก็นั่งนับจำนวนเม็ดอาหารที่หมากินในแต่ละวันด้วย” หมอจดลเล่าเคสสุดน่ารักเคสนี้ให้ฟังพลางหัวเราะ 

5. ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงเปลี่ยนไป ความท้าทายของ Royal Canin ก็เปลี่ยนแปลง

แม้คุณหมอจะเข้ามาทำงานที่ Royal Canin ประเทศไทยได้ 15 ปี แต่ก่อนหน้านั้นคุณหมอคลุกคลีกับแวดวงอาหารสัตว์มานานกว่า 13 ปีแล้ว ถ้าจะถามความเป็นไปของตลาดอาหารสัตว์ในประเทศไทยในแต่ละยุคที่เปลี่ยนผ่าน หมอจดลก็ถือเป็นแหล่งข่าวชั้นเยี่ยม

“ยุคแรกๆ ของตลาดอาหารสัตว์คือยุคที่คนไทยยังไม่มีความรู้ในการเลี้ยงมากนัก ส่วนใหญ่เขาไม่ได้เลี้ยงสัตว์เป็นลูก แต่เลี้ยงหมาเพื่อเฝ้าบ้าน เลี้ยงแมวแบบปล่อยๆ 95% ของอาหารที่หมาแมวได้กินก็คือข้าวคลุกเศษอาหารเหลือ อาหารสำเร็จถือว่าราคาสูง เรียกว่าเป็นยุคที่ความรู้เรื่องการเลี้ยงสัตว์ยังน้อย สิ่งที่แบรนด์อาหารสัตว์ต้องทำในยุคนั้นจึงคือการให้ความรู้ว่าอาหารสำเร็จมันดีต่อสุขภาพยังไง”

แต่เมื่อคนเริ่มมีความรู้ แน่นอนว่าอาหารสัตว์แบรนด์อื่นๆ ต่างก็ตบเท้าเข้ามาในตลาดไทย แต่เพราะอาหารสำเร็จนั้นมีหลายเกรด แต่ละเกรดมีราคาที่แตกต่างกัน หมอจดลจึงเรียกว่ายุคนี้คือยุค Distribution Expansion และทำการตลาดโดยเน้นให้ความรู้แก่พาร์ตเนอร์

“Royal Canin ไม่วางขายในโมเดิร์นเทรด เพราะเรามีสูตรอาหารมากกว่า 750 สูตร ถ้าไปวางเฉยๆ โดยไม่มีคนคอยแนะนำ ลูกค้าไม่ซื้อหรอก ตอนนั้นผมเลยเน้นกระจายสินค้า เข้าไปเทรนร้านขายอาหารสัตว์ที่ไม่ค่อยมีระบบ ตั้งแต่สอนการจัดวางสินค้าให้เหมาะกับการถนัดขวาของคนไทย การจัดสินค้าแบบแยกประเภท 

“นอกจากนั้น ยังเทรนคุณหมอตามคลินิกว่าถ้าหมาแมวป่วยควรจะใช้อาหารสูตรไหนประกอบการรักษา จนปัจจุบันเรามีพาร์ตเนอร์คลินิกมากกว่า 1,500 แห่ง และร้านขายอาหารสัตว์อีก 1,200 ร้านทั่วประเทศ”

มาถึงยุคที่ 3 ซึ่งเป็นยุคปัจจุบัน คุณหมอบอกว่านี่คือยุคดิจิทัลที่ Royal Canin ต้องปรับตัวหลายแบบ ทั้งเริ่มพัฒนาแอพพลิเคชั่น Royal Canin Club (RC Club) เพื่อเก็บข้อมูลลูกค้า มีการเทรนให้หมอ คลินิก ผู้เพาะพันธุ์ผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงทำการตลาดผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียเพื่อสื่อสารกับลูกค้าโดยตรง เพราะธุรกิจนั้นเริ่มเปลี่ยนแปลงจาก B2B เป็น B2C มากขึ้น

 “ยุคนี้คือยุคที่ต้องใช้การตลาดออนไลน์เพื่อให้ลูกค้าเกิด awareness หรือความตระหนักรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงดูที่ถูกต้อง เช่น ถ้าป่วยหรือตั้งท้องต้องเปลี่ยนอาหารนะ ปริมาณโปรตีนที่สูงดีต่อหมาและแมวจริงหรือเปล่า กระทั่งแคมเปญ Take Your Pet to The Vet เพื่อกระตุ้นให้เจ้าของพาน้องหมาน้องแมวไปตรวจสุขภาพประจำปี 

“พอสร้าง awareness เสร็จ เราก็ต้องพัฒนาให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้าของเราได้ง่ายขึ้น ตอนนี้ Royal Canin จึงมี online official store ใน Lazada, Shopee และมี distribution outlet มากขึ้น รวมถึงพัฒนาระบบแอพพลิเคชั่น ให้คุณหมอสั่งอาหารสัตว์ป่วยให้ลูกค้าได้โดยตรง แทนที่เจ้าของแมวที่ป่วยเป็นโรคไตต้องมารับอาหารที่คลินิกทุกเดือน คุณหมอก็สามารถสั่งอาหารผ่านแอพพลิเคชั่นไปส่งถึงบ้านลูกค้าได้เลย” หมอจดลอธิบายถึงยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่าน และวิธีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย

6. สายพันธุ์น้องหมายอดนิยมในไทยคือปอมเมอเรเนี่ยน ส่วนสายพันธุ์น้องแมวยอดนิยมคือเปอร์เซีย!

คุณภาพอาหารคือสิ่งที่ Royal Canin ให้ความสำคัญที่สุดก็จริง แต่การพัฒนาธุรกิจให้เติบโตและตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างตรงจุดต้องมาจากการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก การเก็บสถิติและข้อมูลต่างๆ จึงเป็นหน้าที่ที่ Royal Canin ทุกประเทศต้องทำอยู่เสมอ เพราะปลายทางของข้อมูลคือการสร้าง ecosystem ให้กับธุรกิจ 

การเก็บข้อมูลของ Royal Canin นั้นมีหลากหลายรูปแบบ หนึ่งในวิธีการเก็บข้อมูลอันชาญฉลาดคือการพัฒนาแอพพลิเคชั่น RC Club ที่ปัจจุบันมีเหล่าทาสหมาทาสแมวดาวน์โหลดไปแล้วกว่า 600,000 คน และมีโปรไฟล์สัตว์เลี้ยง 300,000 โปรไฟล์ ภายใน 3 ปี คุณหมอยังตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2025 จะต้องมีคนดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นรวม 1 ล้านคน และมีโปรไฟล์สัตว์เลี้ยง 500,000 โปรไฟล์

“เราอาจจะเห็นว่าคนกลับมาเลี้ยงโกลเดนรีทรีฟเวอร์กันเยอะขึ้น แต่สายพันธุ์น้องหมายอดนิยมกลับเป็นสายพันธุ์เล็กและกลางอย่างปอมเมอร์เรเนี่ยน ชิวาว่า และเฟรนช์บูลด็อก ส่วนสายพันธุ์น้องแมวที่คนเลี้ยงมากที่สุดยังคงเป็นเปอร์เซีย แม้คนจะนิยมเลี้ยงสก็อตติช, บริติช, เมนคูนมากขึ้นก็ตาม

“แอพพลิเคชั่นยังบอกเราได้อีกว่าคนเลี้ยงส่วนใหญ่คือวัยทำงาน รองลงมาคือคนอายุ 40 ปีขึ้นไป ส่วนวัยที่มาแรงคือวัยเรียน นอกจากนั้น ยังบอกได้อีกว่าแมวในแอพฯ ส่วนใหญ่เป็นโรคไตและนิ่วกันมากที่สุด ส่วนน้องหมาก็มักจะเป็นโรคไตและโรคผิวหนัง”

ที่สามารถรวบรวมจำนวนสัตว์เลี้ยงในแอพฯ ได้เยอะขนาดนี้ เพราะ Royal Canin ดึงดูดลูกค้าด้วยการแจกตัวอย่างอาหารฟรีเมื่อดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น นอกจากได้ข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์ ยังได้กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ อีกด้วย

“ในแอพพลิเคชั่นเรามีกิจกรรมให้เจ้าของทำเยอะมาก เช่นพอครบวันเกิดก็จะมี Happy Birthday Voucher ส่งไป ทุกๆ การซื้อเขาก็จะเข้าไปเก็บพอยต์เอาไปแลกของรางวัลได้ นอกจากนั้นเรายังให้ความรู้เกี่ยวกับสายพันธุ์หรือช่วงอายุของเขาได้ด้วย”

การแจกตัวอย่างอาหาร การเก็บข้อมูลผ่านแอพพลิเคชั่น การสื่อสารโดยตรงกับลูกค้า รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้เรื่องสุขภาพของสัตว์เลี้ยงตรงนี้เองที่ทำให้คนที่มีศักยภาพจะเป็นลูกค้ารู้สึกเชื่อมั่น และกลายมาเป็นกลุ่มลูกค้ารอยัลตี้ของ Royal Canin ในที่สุด

7. Vet Service ถือเป็น AI ตัวแรกๆ ที่ Royal Canin พัฒนาเพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรค!

Royal Canin อยู่ภายใต้บริษัท Mars Petcare ที่นอกจากจะทำธุรกิจอาหารสัตว์ ยังมีธุรกิจโรงพยาบาลสัตว์ที่ในอนาคตมีแผนจะขยายเข้ามาในประเทศไทยด้วย การเก็บข้อมูลเพื่อสร้าง pet ecosystem ที่ทำให้แต่ละธุรกิจของ Mars เข้าไปอยู่ในทุกช่วงชีวิตของสัตว์เลี้ยงได้จึงสำคัญกับธุรกิจมาก 

นอกจากจะทำให้รู้อินไซต์ของลูกค้า รู้เทรนด์ตลาดอาหารสัตว์ ก็ยังสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ทำให้แบรนด์กลายเป็นผู้นำในตลาดนี้ได้อย่างแท้จริง ตัวอย่างที่ทำให้เข้าใจคำว่า pet ecosystem ได้ดีคือ Vet Service หรือ AI ช่วยวินิจฉัยโรคที่ Royal Canin พัฒนาขึ้นจากฐานข้อมูลที่มี

“เมื่อเจ้าของพาน้องหมาน้องแมวไปพบคุณหมอ คุณหมอก็ซักประวัติ แล้วใส่ข้อมูลเข้าไปใน Vet Service จากนั้น AI จะวิเคราะห์เบื้องต้นว่าน้องหมาน้องแมวตัวนี้น้ำหนักเกินไหม โรคที่มีโอกาสจะเป็นคืออะไร ทำให้คุณหมอโฟกัสได้ง่ายขึ้น จากนั้น AI จะสามารถแนะนำสูตรอาหารที่เหมาะสมกับน้องหมาน้องแมวตัวนั้นรวมถึงปริมาณอาหารต่อวันที่ควรกิน ทำให้คุณหมอติดตามอาการได้ง่ายขึ้น”

ตอนนี้ Vet Service กระจายไปยังคลินิกกว่า 300 แห่งทั่วไทย และจากงาน Pet Expo ปี 2566 ครั้งล่าสุดนี้ก็มีน้องหมาน้องแมวทดลองใช้ AI ในงานไปแล้วกว่า 350 ตัวภายใน 4 วัน 

“เรายังเก็บข้อมูลมูลของน้องหมาน้องแมว เพื่อเตรียมพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยวินิจฉัยรูปร่างของมูลที่ดีและไม่ดีได้ด้วย”  

8. ความรักที่มีต่อน้องหมาน้องแมวคือแรงจูงใจสำคัญในการทำงานของทีม Royal Canin

  ได้ชื่อว่าเป็นหมอ เชื่อว่าอย่างน้อยๆ ก็ต้องรักสัตว์อยู่แล้ว แต่สำหรับหมอจดล มากกว่าอยากให้สัตว์หายป่วย เป้าหมายตั้งแต่เด็กของเขายังคือการได้ทำงานที่ช่วยพัฒนาให้สัตว์ทุกตัวมีสุขภาพดี 

“ผมรู้ตัวเองว่าอยากเป็นสัตวแพทย์มาโดยตลอด แต่พอเรียนจบจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ผมก็หันมาเป็นเซลส์ที่ทำเกี่ยวกับโภชนาการอาหารสัตว์ เพราะผมคิดว่าเป็นหมอได้ช่วยหมาแมวได้หลักหมื่น แต่ถ้าเราทำเรื่องโภชนาการ ผมน่าจะช่วยหมาแมวได้เป็นล้าน” 

ปัจจุบันคุณหมอทำงานที่ Royal Canin ประเทศไทยมานานกว่า 15 ปี และได้เข้าใจว่าคนที่จะอยู่กับ Royal Canin ได้นั้น จะต้องเป็นคนที่มีแพสชั่นกับวงการนี้จริงๆ เช่นเดียวกับที่คุณหมอใช้มันขับเคลื่อนชีวิตการทำงานในตลาดอาหารสัตว์มาโดยตลอด

“แต่ก่อนออฟฟิศเรามีกันแค่ 25 คนเอง”​ หมอจดลเล่า “แต่พอตอนนี้เราเป็นองค์กรที่ใหญ่ขึ้น มีพนักงานรวม 100 คน การบริหารคนก็เป็นเรื่องสำคัญ สิ่งที่ผมพูดกับทีมเสมอคือถ้าไม่คุยกันแล้วงานไม่เดิน หมาแมวไม่ได้กินอาหารนะ 

“สำหรับ Royal Canin การทำให้ธุรกิจมันกำไรเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว แต่มากกว่ากำไรขาดทุนความรักและแพสชั่นของทีมยังสำคัญในการขับเคลื่อนการทำงานด้วย ในปีหนึ่งๆ เราไม่ได้ดูแค่ว่าเราได้กำไรเท่าไหร่อย่างเดียว แต่สิ่งที่พนักงานภูมิใจคือปีนี้เรามีน้องหมาน้องแมวกิน Royal Canin เพิ่มขึ้นกี่แสนตัว ปีนี้เขามีส่วนช่วยให้น้องหมาน้องแมวมีสุขภาพที่ดีได้อยู่กับเจ้าของไปได้นานๆ เยอะแค่ไหน

“ถ้าไปเดิน Pet Expo จะเห็นว่าคนที่อยู่ในบูทของเราคือทีมงานเราเองทั้งหมด เพราะการได้ไปคุยกับลูกค้ามันได้ทั้งข้อมูลและกำลังใจในการทำงาน อย่างผมเองก็ไปตลอดแล้วก็ใช้เวลานานมากกว่าจะได้ขายได้สักถุงนึง เพราะเราไปคุยซะเยอะ ให้ข้อมูลซะเยอะ” 

9. GDP ของตลาดอาหารสัตว์จะโตกว่า GDP ประเทศ 1-2% เสมอ

คนนอกวงการอาหารสัตว์อาจเพิ่งเห็นโอกาสของธุรกิจในแวดวงนี้จากช่วงโควิด-19 ที่คนนิยมเลี้ยงสัตว์แก้เหงา และเลี้ยงสัตว์เป็นลูกกันมากขึ้น แต่สำหรับหมอจดล ผู้ที่คร่ำหวอดในวงการนี้มานานกว่า 30 ปี ตลาดอาหารสัตว์นั้นมีโอกาสให้เติบโตมาตั้งแต่อดีต

“ไม่เคยมีปีไหนที่ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงจะโตต่ำกว่า GDP ของประเทศ ความหมายก็คือถ้า GDP ประเทศคือ 2% ตลาดอาหารสัตว์จะโต 3-4% และยิ่งเป็นอาหารกลุ่มซูเปอร์พรีเมียมแบบ Royal Canin ก็จะโต 5-6%

“ยิ่งช่วงโควิดตลาดมันโต 10-11% คนจึงเริ่มเห็นว่าตลาดนี้มันน่าเล่นบวกกับการทำแบรนด์ก็ไม่ยาก เลยกระโดดเข้ามากันเยอะ ใครเข้ามาก็โต ถ้าไม่โตต้องถามตัวเองแล้วว่าทำอะไรผิดไปไหม แต่หลังจากโควิด-19 ที่คนเริ่มรับเลี้ยงสัตว์กันน้อยลง ตลาดอาหารสัตว์ก็จะเริ่มชะลอตาม และปีหน้าจะเป็นตัวชี้วัดว่าใครจะอยู่ใครจะไป หรือกลยุทธ์การตลาดที่ใช้อยู่มันเวิร์กจริงไหม

“สำหรับ Royal Canin ที่เราเป็นตัวนำอัตราการเจริญเติบโตของ GDP และเราอยู่ท็อปของพีระมิด เราไม่สามารถที่จะรอให้ตลาดโตแบบแบรนด์อื่นๆ ถึงจะมาดึงคนให้ซื้อได้ แต่เรามองว่าเราต้องสร้างตลาดนี้ขึ้นมาเองผ่านการทำการตลาดที่เราเชื่อ

“นั่นก็คือการทำให้คนตระหนักถึงความสำคัญของการให้อาหารที่มีโภชนาการเหมาะสมผ่านการให้ความรู้ คอนเทนต์​ แคมเปญ และการเทรนพาร์ตเนอร์ เพื่อให้คนที่มีศักยภาพที่จะซื้อกลายมาเป็นลูกค้าของเราจริงๆ” หมอจดลทิ้งท้ายถึงเป้าหมายที่ตั้งใจ

What I’ve Learned
1. Royal Canin ไม่ใช่ธุรกิจ FMCG (Fast-Moving Consumers Goods) หรือกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นสำหรับชีวิตประจำวัน ชนิดที่ขายได้ง่าย เร็ว และขายได้อยู่เสมอ ดังนั้น แม้จะเป็นองค์กรนานาชาติ แต่แพสชั่นยังคงสำคัญในองค์กรนี้
2. เราไม่สามารถรอให้ตลาดโตด้วยตนเองได้ แต่เราต้องสร้างตลาดของเราขึ้นมาเอง 
3. ธุรกิจที่จะอยู่ได้อย่างยั่งยืนในกระแสตลาดที่ผันผวนคือธุรกิจที่มี core value แข็งแรง นั่นคือมีคุณภาพ มีจุดยืน และทำการตลาดอย่างไม่ฉาบฉวย

Writer

กองบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ที่มีแมวเป็นแรงผลักดันในการทำงาน

Photographer

ช่างภาพและ baker ฝึกหัด

You Might Also Like