นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

Walk in Other People’s Shoes

หลัก 4P+1 ของ Youngfolks กับรองเท้าอักษรเบรลล์ที่คำนึงถึงคนเป็นหัวใจในการออกแบบ

Youngfolks เป็นแบรนด์รองเท้า made-to-order ที่ต้องสั่งทำแบบ ‘คู่ต่อคู่ คนต่อคน’ โดดเด่นด้วย ดีไซน์เก๋สีสันสะดุดตาและเรื่องราวความสัมพันธ์ของผู้คนที่ใส่รองเท้าเดินไปด้วยกันผ่านโซเชียลมีเดียของแบรนด์

เก๋–บุณยนุช วิทยสัมฤทธิ์ สานต่อกิจการรองเท้าของครอบครัวร่วมกับพี่น้อง ซ้ง–ประสงค์ วิทยสัมฤทธิ์ และ เม้ง–ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ วันนี้เธอเป็นตัวแทนทายาทรุ่น 3 ของครอบครัวที่จะมาเล่าเรื่องราวการสร้างแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับลูกค้าและอาจารย์ช่างทำรองเท้าผู้อยู่เบื้องหลังรองเท้าทุกคู่

“เรารู้สึกว่าคนคือสิ่งสำคัญเพราะคนทำให้เกิดความสัมพันธ์ คนเราทุกคนไม่ได้เดินคนเดียว แต่เดินไปด้วยกัน เลยเป็นคีย์เวิร์ดของแบรนด์ที่เรามักพูดเสมอว่าอยากให้คนเดินไปด้วยกัน พอแบรนด์เราเติบโตมาสักพักหนึ่งแล้ว ปกติเราจะเล่าเรื่องรองเท้าผ่านความสัมพันธ์แบบพี่น้อง แฟน เพื่อน แต่เรายังไม่ได้ไปถึงความสัมพันธ์ในรูปแบบ universal design ในกลุ่มคนที่กว้างขึ้น เลยอยากพาคนหลากหลายกลุ่มไปถึงคำว่าเดินไปด้วยกันจริงๆ”

ด้วยเหตุผลนี้ Youngfolks จึงเริ่มต้นออกแบบรองเท้าอักษรเบรลล์จากการสังเกตเห็นว่าผู้บกพร่องทางสายตาก็ต้องการใส่รองเท้าแฟชั่นอย่างเท่าเทียมเหมือนคนอื่นเช่นกัน

ลูกค้าคู่แรกที่ Youngfolks ทำรองเท้าอักษรเบรลล์ให้คือคุณลุงจุ่น–บวรชัย สุวัฒนพันธุ์กุล และ ป้าอิ๋ม–อัจริยา สุวัฒนพันธุ์กุล คู่รักที่ไม่เคยบอกรักกัน ไม่ค่อยได้กอดกัน มองกันและกันไม่เห็นแต่อยู่ด้วยกันมานานกว่า 35 ปีแล้ว

เก๋บอกว่าอยากให้เรื่องราวของ Youngfolks ทำให้คนเชื่อว่าความสัมพันธ์มีคุณค่าและอยากเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจที่ทำให้แบรนด์แฟชั่นอื่นๆ หันมาสนใจคำว่า universal design มากขึ้น

Product
Shoes Designed for The Blind  

รองเท้าสำหรับคนตาบอดของ Youngfolks เกิดจากแรงบันดาลใจเมื่อเก๋ได้พูดคุยกับ จุ้ย-จิระ ชนะบริบูรณ์ชัย เจ้าของแบรนด์ ONCE เสื้อสำหรับคนตาบอดที่มีป้ายอักษรเบรลล์ให้ลูกค้าสามารถคลำแล้วระบุได้ว่าเสื้อเป็นสีอะไร ไซส์ไหน 

การคุยกับจุ้ยทำให้เก๋ได้ฟังเรื่องราวของคุณลุงจุ่นและป้าอิ๋มจนหาโอกาสไปนั่งคุยกับคุณลุงคุณป้าถึงที่บ้าน จนทำให้เก๋พบอินไซต์ที่สำคัญ

“เวลาไปวัด ถ้าเป็นคนตาดีคงถอดรองเท้าวางระเกะระกะไว้แล้วเดินเข้าไป ขากลับเดินออกมาแล้วใส่รองเท้าตัวเอง แต่สำหรับผู้บกพร่องทางสายตา พอถอดรองเท้าแล้วต้องเอารองเท้าใส่ถุงพลาสติกและถือรองเท้าไว้ เรารู้สึกว่าเขามี process ที่ต้องดูแลตัวเองมากกว่าคนทั่วไป  

“หรือแม้แต่ในบ้าน คนก็วางรองเท้าปนกัน เวลาที่ต้องคลำ ให้ลูกมาช่วยหารองเท้าก็ลำบาก ในบ้านก็เป็นจุดเริ่มต้นในการใช้ชีวิต เราเลยอยากให้เขาสบายใจและมั่นใจ รู้สึกเท่าเทียมกับคนอื่น เริ่มดูแลตัวเองได้ง่ายๆ ที่บ้านโดยหารองเท้าที่วางปนกันเจอหรือออกไปข้างนอกแล้วช่วยเหลือตัวเองได้”   

จากอินไซต์ที่สังเกตเห็นว่าคนตาบอดไม่สะดวกในการหารองเท้าทั้งในบ้านและที่สาธารณะ เลยจุดประกายให้เก๋อยากออกแบบรองเท้า Youngfolks รุ่นพิเศษ

เธอพัฒนารองเท้าอักษรเบรลล์ 2 คู่แรกที่มีชื่อคุณลุงจุ่นและคุณป้าอิ๋มอยู่ที่รองเท้า เพียงสัมผัสโดยไม่ต้องมองเห็นก็สามารถรู้ได้ว่ารองเท้านี้เป็นของใคร

ถึงแม้จะได้องค์ความรู้เกี่ยวกับอักษรเบรลล์จากแบรนด์ ONCE แต่เก๋บอกว่าเมื่อทำรองเท้าก็ต้องใช้เวลาพัฒนาเทคนิคเฉพาะในการปั๊มอักษรเบรลล์กับวัสดุหนังพอสมควรเพราะไม่เคยทำมาก่อน

“ปกติเวลาปั๊มโลโก้บนเครื่องหนัง จะเป็นการช็อตร้อนแล้วจมลงไป แต่ความยากคืออักษรเบรลล์ต้องนูนขึ้นมา ก็ต้องเวิร์กกับโรงงานที่ทำบล็อกว่าจะทำยังไงให้นูน จากปกติทำบล็อกตัวเดียวก็พัฒนาให้มีบล็อกสองตัวประกบกัน ซึ่งจะยากกว่าเพราะพอช็อตไปโดนหนังแล้วรองเท้าจะยืดออก”

นอกจากการปั๊มอักษรบนรองเท้าเพื่อแก้ปัญหาหารองเท้าไม่เจอแล้ว รองเท้ารุ่นพิเศษนี้ยังคงเอกลักษณ์ของทรงรองเท้าที่มีดีไซน์เท่ผสมความวินเทจในสไตล์ของ Youngfolks ซึ่งเก๋บอกว่าอยากแก้ปัญหาที่ตู้เสื้อผ้าของคนตาบอดมักถูกจำกัดด้วยแฟชั่นไม่กี่แบบ 

“รองเท้าสำหรับผู้บกพร่องทางสายตามักไม่มีดีไซน์เก๋ๆ เพราะพอเขามองไม่เห็น ก็ใส่อะไรก็ได้ง่ายๆ ที่ลูกหลานซื้อให้ เลยทำให้คุณลุงคุณป้าบอกว่าเป็น pain point ที่การแต่งตัวแฟชั่นของเขาค่อนข้างจำกัด ไม่มีความเป็นแฟชั่น ทำให้เวลาเดินออกไปไหนก็จะถูกคนมองว่าไม่เหมือนคนอื่น” 

สำหรับสีรองเท้าเก๋ตั้งใจให้เป็นสีดำเพราะเป็นสีเบสิกที่ใส่ไปไหนก็สุภาพ หากเป็นรองเท้าสีแดงหรือเขียว ผู้ที่มองไม่เห็นอาจหยิบผิดทำให้เวลาใส่ไปงานทางการหรืองานศพอาจเกิดความไม่เหมาะสมได้   

รายละเอียดเล็กๆ ทั้งอักษรเบรลล์ สี และดีไซน์เหล่านี้ล้วนออกแบบโดยคำนึงถึงความต้องการของคุณลุงและคุณป้าโดยเฉพาะ   

“ทุกครั้งที่ทำเสร็จจะเอารองเท้าไปให้คุณลุงคุณป้าลองสัมผัส แล้วเขาก็ช่วยพัฒนารองเท้าไปพร้อมกับเรา กว่าจะทำออกมาได้มันยาก จำความรู้สึกวันที่เขาค่อยๆ คลำหนังและอ่านชื่อของเขาได้ เขาจับแล้วก็น้ำตาคลอ บอกว่าจับรองเท้าแล้วรู้สึกว่าหนังดีจังเลย รู้สึกเท่ ดีใจที่มีรองเท้าหนังดีๆ ใส่ 

“รองเท้าทำให้เขาออกไปข้างนอกอย่างภูมิใจและมั่นใจมากขึ้น สร้างความมั่นใจและทำให้เขารู้สึกว่าเกิดความเท่าเทียม ผู้บกพร่องทางสายตาไม่ได้อยากรู้สึกน่าสงสาร สิ่งที่เขาต้องการคือความเท่าเทียมว่าฉันก็เป็นคนเหมือนเธอ สามารถลุกขึ้นมาแต่งตัวแฟชั่น มีความเปรี้ยวและไม่เชยได้”

แม้เรื่องราวรองเท้าอักษรเบรลล์ของ Yongfolks มีคนแชร์มากมายกว่าพันไลก์ในเฟซบุ๊ก แต่เก๋บอกว่าเธอยังต้องอธิบายให้คนเข้าใจอยู่ว่าทำไมการออกแบบโดยคำนึงถึงคนหลากหลายกลุ่มถึงสำคัญ 

“ส่วนใหญ่คนก็แฮปปี้และเห็นด้วย แต่ก็มีคนคอมเมนต์ว่าที่จริงเอารองเท้าใส่ถุงพลาสติกก็ดีอยู่แล้ว ทำไมต้องทำให้ยุ่งยาก แต่เราอยากเป็นคนตัวเล็กๆ หนึ่งแบรนด์ที่เห็นปัญหาแล้วเราลุกขึ้นมาทำอะไรได้บ้าง ดีกว่าเห็นปัญหาแล้วไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรเลย อย่างน้อยเวลาวางรองเท้าปนกันที่บ้าน เขาก็หยิบขึ้นมาใส่ได้”  

Price & Place 
Made-to-Order Business Model 

ก่อนจะออกแบบรองเท้าอักษรเบรลล์ เก๋เล่าว่าในรุ่นของทายาทรุ่น 3 ที่มีเธอและพี่น้องรวม 3 คน ได้เปลี่ยนโมเดลธุรกิจของ Youngfolks จากการรับผลิตรองเท้า OEM ในรุ่นของอากงและอาป๊าเป็นการทำรองเท้าแบบ made-to-order ภายใต้ชื่อแบรนด์ตัวเอง ส่งผลให้การตั้งราคารองเท้าและช่องทางการขายของธุรกิจเปลี่ยนไป 

“สมัยก่อนตอนทำ OEM เราผลิตและขายให้ลูกค้าในราคาไม่แพง แต่ด้วยความที่พอแบรนด์ต่างๆ นำไปขายต่อในตลาดต่างแล้วมักบวก margin เพิ่ม 3-4 เท่า ทำให้รองเท้ามีราคาแพง เรารู้สึกว่ามีลูกค้าหลายคนที่อยากได้รองเท้าสวยและคุณภาพดีในราคาที่สมเหตุสมผล ทำไมเราไม่ลุกขึ้นมาทำรองเท้าแบรนด์ตัวเองให้ลูกค้าเข้าถึงรองเท้าดีไซน์สวยได้ง่ายขึ้น”  

จุดเริ่มต้นของแบรนด์ที่ไม่ได้อยากขายแพงทำให้เปลี่ยนจากการผลิตระบบ mass production มาเป็นระบบการสั่งทำพิเศษ รองเท้าแต่ละคู่จะมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนกันเพื่อตอบโจทย์ตามความต้องการเฉพาะของลูกค้าแต่ละคน

ไม่ว่าจะคนที่มีปัญหาเท้าซ้ายและขวามีขนาดไม่เท่ากัน คนที่ต้องการเบอร์รองเท้าไซส์กึ่งกลางที่หาที่ไหนไม่ได้อย่างเบอร์ 37.5 คนที่มีเท้าอ้วนและต้องการระเบิดหน้ารองเท้าให้ใหญ่กว่าปกติ หรือคนที่อยากสั่งทำรองเท้าสีพิเศษ อยากจับคู่สีที่ไม่เหมือนใคร หรือเลือกหลายสีในคู่เดียวก็สามารถสั่งทำได้ รวมถึงรองเท้าอักษรเบรลล์ก็รับทำแบบ made-to -order ด้วยเช่นกันเพราะต้องสลักชื่อของเจ้าของแต่ละคนลงไป 

ราคาตั้งต้นของรองเท้า Youngfolks สตาร์ทที่ 2,800 บาท ตั้งราคาขายอย่างสมเหตุสมผลในราคาที่ลูกค้ารับได้และอาจารย์ช่างผู้ทำรองเท้าอยู่ได้ โดยเน้นขายสินค้า made-to-order เป็นหลักที่ 3 ช่องทางคือ ออนไลน์ งานป๊อปอัพตามอีเวนต์และงานแฟร์ต่างๆ และหน้าร้านที่ห้างสรรพสินค้าพารากอนซึ่งมีสต็อกในจำนวนจำกัดเท่านั้น

“การสั่งตัดรองเท้าออนไลน์อาจฟังดูยาก แต่คนก็สั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์กันเยอะ เราใช้ประสบการณ์ในการดูแลลูกค้า ต้องคุยและเช็กไซส์รองเท้าอย่างละเอียด ถ่ายรูป วัดความยาวเท้าและแนะนำลูกค้า คุยจนทำให้ลูกค้าไว้ใจเรา เกิดเป็นคอมมิวนิตี้ของเรา มันคือความใส่ใจที่อยากให้เขาใส่รองเท้าแล้วเดินไปด้วยกันกับเรานานๆ”  

การเลือกใช้โมเดล made-to-order ทำให้ Youngfolks ไม่เก็บสต็อกรองเท้าไว้เยอะเพราะเน้นออร์เดอร์ที่สั่งทำใหม่มากกว่า 

“สมัยก่อนตอนทำ OEM ที่ผลิตเยอะและขายออกไปเยอะ ลูกค้าก็มีสิทธิ์ในการเลือกสต็อก ถ้าไม่สวยก็เปลี่ยนเอาอีกคู่ มันเลยส่งผลให้เกิดเป็นวัฏจักร sale ของหลายแบรนด์ ที่พอมีสต็อกเยอะก็เกิดการโละสต็อก แต่พอเป็น made-to -order ก็แทบไม่ต้อง sale รองเท้าใหม่เลย จะลดราคาเฉพาะรองเท้าที่เป็น sample ซึ่งลองเทสต์ใส่ตอนถ่ายแบบแล้วเท่านั้น เราก็จะบอกลูกค้าเสมอว่าคู่ไหนเป็นรองเท้าที่ถูกเอาไปใช้งานแล้ว ซึ่งทุกคู่เราทำความสะอาดและเข้าหุ่นให้เรียบร้อย มั่นใจว่าไม่มีรองเท้าสภาพเยินที่เอามาขาย” 

ข้อดีของรองเท้า made-to-order คือหากผลิตมาแล้วใส่ไม่พอดี ก็จะปรับแก้ใหม่และนำคู่ที่ใส่ไม่ได้ไปเป็นคู่โชว์ให้ลูกค้าคนอื่นลองได้และมีบริการซ่อมหลังการขายตลอดชีวิต รับซ่อมในสิ่งที่ไม่เหลือบ่ากว่าแรงอย่างส้นตึกที่สึกเมื่อใส่ไปนาน ทำให้ลดการเกิดรองเท้าคู่ที่ไม่มีเจ้าของแล้วกลายเป็นขยะ 

รวมถึงทำให้รองเท้าที่ผลิตมาทุกคู่เป็นรองเท้าที่คนต้องการจริงๆ ผู้คนตั้งตารอเวลาออกงานแฟร์เพราะจำนวนรองเท้าที่มีจำกัด สินค้ามีมูลค่าโดยไม่ต้องใช้กลยุทธ์การลดราคา 

Promotion
Stories of Walking Together

สิ่งที่คนจดจำ Youngfolks ได้คือเรื่องเล่าเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคนใส่รองเท้า ซึ่งเก๋บอกว่าไอเดียมาจากการระดมไอเดียของสามพี่น้องในครอบครัว และได้ความถนัดของเม้งที่ทำงานเอเจนซีโฆษณามาช่วยให้การเล่าเรื่องของ Youngfolks ไม่เหมือนแบรนด์อื่น

“ตอนแรกก็มีความคิดเหมือนคนอื่นว่าจะไปจ้างนายแบบหรือนางแบบถ่ายรูป แต่ก็คิดว่าถ้าเราทำอย่างนั้นจะเป็นแบรนด์รองเท้าที่ไม่ได้จริงใจกับลูกค้า เวลาที่เราซึ่งเป็นผู้บริโภคเห็นนายแบบนางแบบใส่รองเท้าก็จะรู้สึกว่าสวย แต่ที่จริงเวลาคนทั่วไปใส่อาจจะไม่ได้สวยเหมือนเขา เราสามคนพี่น้องและป๊าม๊าเลยชวนมาถ่ายแบบกันเอง ชีวิตจริงจะมีสักกี่คนที่น่องเรียว แต่ขาอ้วนเตี้ย สั้น ขาใหญ่ ใส่รองเท้ามาแล้วก็จะเป็นภาพจริงแบบนี้ มันคือชีวิตจริงของคนทั่วไป”

ภาพแฟชั่นที่ออกมาเป็นภาพการใส่รองเท้าที่อบอุ่นของคนในครอบครัว แสดงให้เห็นว่าพ่อใส่ก็เท่ พี่สะใภ้ใส่ก็เปรี้ยว และพัฒนาเป็นคอนเซปต์ของแบรนด์ที่เล่าเรื่องความสัมพันธ์อย่างจริงใจ พูดถึงความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ที่ใส่รองเท้า Youngfolks แล้วเดินไปด้วยกัน

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของคู่รักหญิงรักหญิงที่อยากใช้ชีวิตด้วยกัน โมเมนต์ที่น่าจดจำของคู่รักที่แต่งงานกับแฟนคนแรกสมัยเรียน ความทรงจำของครอบครัวที่ไม่เคยพูดคำว่ารักแต่ก็อยู่ด้วยกันมายาวนาน เรื่องเล่าเหล่านี้มีภาพประกอบแฟชั่นเป็นรองเท้าที่ลูกค้าทุกคนใส่เดินเคียงข้างกันในชีวิตจริง  

“รองเท้าเราไม่ได้แค่ส่งมอบรองเท้าให้ลูกค้าแต่ส่งมอบเรื่องเล่าในความสัมพันธ์ บางคนอาจจะลืมแง่มุมที่ดีของความรัก ความสัมพันธ์ที่ดีแบบนี้ไป youngfolks story เลยกลายเป็นธรรมเนียมของแบรนด์เราที่ลูกค้ารออ่านเสมอ”

เก๋บอกว่าเรื่องราวความสัมพันธ์ที่หลากหลายของแต่ละคนยังเป็นแรงบันดาลใจให้ใครอีกหลายคนรวมทั้งครอบครัวของเธอเองที่ได้หันกลับมาสร้างความสัมพันธ์กับคนในบ้าน

“แม้กระทั่งความสัมพันธ์ในครอบครัวเราเอง พอทำ Youngfolks แล้วก็ได้คุยกันมากขึ้น เจอกันบ่อยขึ้นและแก้ปัญหาด้วยกัน มันคือสีสันของการใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน” 

ด้วยการใช้ storytelling เหล่านี้ทำให้ Youngfolks กลายเป็นแบรนด์ที่เข้าถึงง่าย ลูกค้าติดตามเรื่องราวและติดตามกิจกรรมของแบรนด์เวลาไปออกงานอีเวนต์ต่างๆ

“เวลาเราไปเปิดร้านป๊อปอัพที่ไหนก็จะอบอุ่นเสมอ ลูกค้ามาหาเราเหมือนเป็นคนในครอบครัว ยิ่งเรามีช็อปหน้าร้านและขยันขายแบบป๊อปอัพก็สร้างส่วนร่วมกับคนโดยไม่รู้ตัว ทำให้แบรนด์รองเท้าของเราได้โตไปพร้อมกับลูกค้าและเดินไปด้วยกันอย่างแข็งแรงจริงๆ”  

People
Human-Centered Design

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า P สุดท้ายของ Youngfolks คือคำว่า People 

‘คน’ ที่เป็นศูนย์กลางในการออกแบบสินค้าและเรื่องเล่าความสัมพันธ์ที่น่าประทับใจ ไม่เฉพาะลูกค้าเท่านั้นที่สำคัญ แต่ช่างฝีมือผู้ทำรองเท้า หรือที่ Youngfolks เรียกว่า ‘อาจารย์ช่าง’ ก็เป็นคนสำคัญที่เก๋อยากพาเดินไปด้วยกัน  

เธอบอกว่าการกล้าเปลี่ยนโมเดลธุรกิจไม่เพียงทำให้สามารถออกแบบรองเท้าที่แตกต่างและตอบโจทย์ลูกค้าได้ แต่ยังเติมเต็มแพสชั่นในการทำรองเท้าของอาจารย์ช่างด้วย

“ถ้าเราลุกขึ้นมาสานต่อและยังทำแบบเดิม เก๋ไม่เชื่อว่าผลลัพธ์จะได้เหมือนเดิม ทำยังไงให้สิ่งที่มีอยู่ยังอยู่ได้และคนเห็นคุณค่าของมัน ทำยังไงให้แม้กระทั่งคนที่เป็นบุคลากรตั้งแต่ต้นน้ำของเราได้ภูมิใจที่เขาเป็นอาจารย์ช่างฝีมือและรู้สึกถึงคุณค่าของสิ่งที่เขาทำอยู่”  

“พอรองเท้าคู่หนึ่งมีความสำคัญสำหรับคนที่รออยู่เพื่อเอาไปใช้ในวันสำคัญ มันทำให้มายด์เซตของคนต้นน้ำเปลี่ยนไป แต่ก่อนเวลาทำรองเท้าแบบเดิมเยอะๆ ก็อาจเกิดความชินชา พอเราลุกขึ้นมาเปลี่ยนระบบว่าต้องสั่งทำเท่านั้น อาจารย์ทุกคนจะทำรองเท้าอย่างตั้งใจมาก เพราะเวลาเปิดใบสั่งมันจะระบุชื่อเลยว่าคู่นี้มีเจ้าของแล้วโดยคุณคนนี้ เป็นรองเท้าที่คุณ ก หรือ ข สั่งทำ ไม่ใช่พอทำแล้วมีสิทธิ์โละสต็อกเหมือนสมัยก่อน” 

นอกจากนี้คอมมิวนิตี้ของ Youngfolks ยังรวมถึงการร่วมมือกับโรงงานและแบรนด์อื่นๆ ในการผลิตสินค้ามีดีไซน์โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอีกด้วย “เก๋เชื่อว่าในการก้าวเดินไปของคนคนหนึ่งไม่สามารถเดินไปคนเดียวได้ มันต้องเดินไปโดยมีคนอยู่ข้างๆ ซึ่งการจะเดินไปด้วยกันได้ก็ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม”

เก๋ร่วมมือกับพาร์ตเนอร์อย่างโรงงานฟอกหนังที่มี deadstock และแบรนด์อย่าง SC GRAND ที่เอาขยะจากเศษผ้ามาปั่นกลายเป็นเส้นด้าย นำมาทำสินค้าหลากหลายทั้งรองเท้าหนังแก้วจาก deadstock และส่วนประกอบในรองเท้าอย่างซับในไปจนถึงสินค้าไลฟ์สไตล์อย่างหมวก 

เธอมองว่าการสั่งทำรองเท้า made-to-order ที่ลูกค้าส่วนใหญ่ต้องรอสินค้าเป็นโมเดลที่เป็นกบฏกับวงการรองเท้าหรือวงการแฟชั่น และอยากให้คนเข้าใจว่าทำไมการสั่งทำรองเท้า Youngfolks ถึงต้องรอ เพราะกว่าจะออกมาเป็นรองเท้าหนึ่งคู่นั้นมีบทสนทนาเบื้องหลังมากมายอย่างการที่เก๋ได้นั่งคุยกับคุณลุงจุ่นและคุณป้าอิ๋มจนออกมาเป็นรองเท้าอักษรเบรลล์

“พอลูกค้าสั่งทำรองเท้า personalize ได้ ลูกค้าก็เป็นคนกำหนดโมเดลของแบรนด์เราด้วยซ้ำ ดีไซน์ทุกคอลเลกชั่นเติบโตมาจากไอเดียลูกค้าหมดเลย อย่างรองเท้าที่มีหลายสีทั้งฟ้า เทา เหลือง ในคู่เดียวก็มาจากไอเดียของลูกค้าที่ชอบสีเยอะๆ รองเท้ารุ่นที่มีสีขาวครึ่งหนึ่งดำครึ่งหนึ่งก็มาจากลูกค้าที่เลือกสีไม่ถูก หรือรุ่นที่เป็นรองเท้า 3 in 1 ที่สามารถถอดสายเข็มขัดรองเท้าออกเองได้สำหรับใส่ได้หลายโอกาสก็มาจากความต้องการของลูกค้า”  

“ไอเดียลูกค้าทำให้สินค้าของเราเติบโตและตอบโจทย์กับความต้องการของเขาได้จริงๆ” 

Writer

Craft Curator, Chief Dream Weaver, Lifestyle Columnist, Editor-in-Cheese, Design Researcher 'Instagram : @rata.montre'

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like