ขนมที่ระลึก

‘Well โภชนา’ ชุดสินค้าของฝากกิมมิกเก๋ย่านทรงวาดจากคาเฟ่ F.V x สตูดิโอออกแบบ LUKYANG 

แค่เปิดประตูร้าน F.V ก็ได้กลิ่นหอมอบอวลของขนมไทยจากเคาน์เตอร์ครัวเล็กๆ ที่มีบรรยากาศชวนให้นึกถึงความอบอุ่นในครัวของคุณยาย บ่ายวันธรรมดาที่คาเฟ่ ณ ย่านทรงวาดแห่งนี้คึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนมาไม่ขาดสาย แม้ทุกโต๊ะจะถูกจับจองไว้แล้วแต่ไม่ใช่ปัญหาเพราะวันนี้เราตั้งใจแวะมาซื้อของที่ระลึกกลับไป 

กิ่ง–พัชรกันย์ โรจน์วัชราภิบาล หลงใหลในรสชาติของขนมไทยโบราณและทำให้ร้านเอฟวีเป็นที่รู้จักจากการนำวัตถุดิบท้องถิ่นมาดัดแปลงเป็นเมนูร่วมสมัย นำเสนอบรรยากาศคาเฟ่สไตล์ไทยที่ทำให้สถาปัตยกรรมพื้นบ้านมีความเท่

ส่วน ลูกยาง–วีรพล วงศ์เทวัญ เป็นนักออกแบบและเจ้าของสตูดิโอ LUKYANG ที่มีแพสชั่นในการสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อมและหลงรักการออกแบบสินค้า eco-design ผลงานของลูกยางมีความสร้างสรรค์ไร้ขีดจำกัดจากการนำวัสดุธรรมชาติและขยะมาเปลี่ยนเป็นของใช้ในบ้าน เครื่องเขียน และงานศิลปะ

ทั้งคู่ต่างเป็นนักออกแบบคอนเซปต์มือฉมัง ถนัดการถ่ายทอดสิ่งที่ดูเชย น่าเบื่อ จริงจังให้กลายเป็นเรื่องน่าสนใจและโคจรมาพบกันด้วยไอเดียการออกแบบแบบบรรจุภัณฑ์ขนมไทยชื่อ ‘Well โภชนา’ ที่ตั้งใจให้เป็นชุดสินค้าของฝากอันน่าจดจำสำหรับผู้มาเยือนทรงวาด

Sweet Blessings

“ชื่อร้าน F.V ย่อมาจาก fruit and vegetable เราใช้วัตถุดิบพื้นถิ่นของไทยในการทำโปรดักต์ของเรานำผักผลไม้มาทำเครื่องดื่มและแปรรูปเป็นขนม เช่น มะเขือเทศเชื่อม มะกรูดเชื่อม มะม่วงปรุงรส ตะลิงปลิงแช่อิ่ม ส้มฉุน”  

กิ่งเรียนทำขนมไทยสูตรโบราณจากอาจารย์ศรีสมร คงพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารไทยและขนมไทยระดับปรมาจารย์ ด้วยความที่ไม่อยากให้รสชาติละมุนแบบดั้งเดิมหายไปจึงสานต่อสูตรดั้งเดิมของอาจารย์มาตลอด

แต่เดิมวัฒนธรรมการให้ขนมไทยมักนิยมให้เป็นของขวัญแก่กันเพื่อความเป็นสิริมงคล ขนมโบราณแต่ละชนิดจึงไม่ใช่แค่รูปงาม นามไพเราะ แต่ยังมีความหมายลึกซึ้ง ดังจะเห็นได้จาก ‘Well โภชนา’ ที่จัดขนมโบราณ 4 ประเภทมารวมกันเป็นเซตเดียวโดยตั้งใจอวยพรให้ผู้รับอยู่ดีมีสุขหรือ live well 

แม้แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนเอฟวีและไม่เคยรู้จักขนมไทยมาก่อนก็สามารถเข้าใจความหมายของขนมและส่วนผสมความประณีตได้แบบง่ายๆ ด้วยการอ่านคำอธิบายที่เล่าไว้หลังกล่อง 

สัมปันนี ร่ำรวยรัก (Sampannee is abundant love)

โสมนัส ร่ำรวยสุข (Somanas means happiness)

ดอกลำดวน อายุยืนยาว (Doklamduan represents longevity)

ขนมผิง รักอบอุ่น (Kanom Ping is Warm Love) 

sweet recipe ของภูมิปัญญาไทยจึงไม่ได้มีเคล็ดลับความอร่อยแค่จากส่วนผสมที่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้นแต่ยังมีเสน่ห์ปลายจวักที่มีแม่ครัวเป็นผู้ถ่ายทอดความละเมียดละไม

“สัมปันนีมีความหมายคือเป็นที่รัก ด้วยเนื้อขนมจะมีผิวสัมผัสที่เนียนละเอียดมาก เวลาทานจะละลายในปากช้าๆ สมัยก่อนนิยมให้คนรักพกไป เวลาทานก็จะนึกถึงความละมุนของคนที่ทำขนมให้ เป็นขนมมงคลที่นิยมใช้ในงานแต่งงาน” สูตรที่ทานในวันนี้เป็นสัมปันนีสีเขียวที่มีส่วนผสมจากน้ำใบเตย ทานแล้วไม่หวานจนเกินไป เหมาะจิบคู่กับชาหรือน้ำผลไม้เป็นที่สุด

“โสมนัสเป็นเมอแรงก์ในแบบขนมไทย ก็เลยมีการใส่มะพร้าวคั่วเพิ่มเข้าไปซึ่งช่วยเพิ่มเนื้อสัมผัส กลิ่นหอม และรสชาติให้พิเศษขึ้นมา มีความหมายที่ดีคือเบิกบานใจ มีความสุข เวลาให้ผู้รับก็เหมือนเป็นการอวยพรให้เขามีความสุข” การใส่มะพร้าวที่คั่วสดใหม่ทุกวันทำให้เมอแรงก์ของไทยมีรสที่แตกต่างจากสูตรฝรั่งเศสสมกับชื่อว่า Thai Coconut Meringue

“ดอกลำดวนเป็นขนมที่หน้าตาเหมือนดอกไม้เลย หลายที่เรียกว่ากลีบลำดวนแต่คุณยายให้ทริคมาว่าจริงๆ เราต้องเรียกว่าดอกลำดวนนะเพราะหน้าตาเหมือนดอกลำดวนทั้งดอกเลย เป็นดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงวัย แทนการอวยพรให้อายุยืนยาว” นอกจากชื่อจะไม่เหมือนใครแล้ว ดอกลำดวนของที่นี่ยังมีกลิ่นหอมจากการอบควันเทียน มีรสกลมกล่อมในดอกเดียว 

“ขนมผิงเป็นขนมที่ทานแล้วละลายในปาก เป็นขนมอบที่ใส่ไข่เข้าไปด้วยและมีความกรอบ จะให้รสชาติคนละแบบกับสัมปันนี เป็นขนมที่แทนความอบอุ่น” หยิบทานแป๊บเดียวก็หมดโดยไม่รู้ตัว

ขนมไทย 4 ชนิดรวมเซตกันแทนคำอวยพรว่า ‘ร่ำรวยรัก ร่ำรวยสุข อายุยืนยาว รักอบอุ่น’

Food as a Medium

คอนเซปต์ชื่อ ‘Well โภชนา’ ไม่ได้สื่อสารถึงแค่การอวยพร ความจริงแล้วชื่อนี้เป็นไอเดียของลูกยาง ผู้เคยจัดนิทรรการชื่อ ‘Waste โภชนา’ มาก่อนและนึกสนุกอยากเล่นคำและต่อยอดไอเดียให้กลายเป็นสินค้า

ก่อนหน้านี้ความอร่อยของขนมและของว่างสูตรไทยโบราณชักพาให้ลูกยางมาเจอร้านเอฟวี “เรามาทานขนมที่นี่แล้วชอบ ขนมไทยของเอฟวีดูเท่นะแต่เป็นสูตรต้นตำรับเลยซึ่งผมคิดว่าหายากในกรุงเทพฯ ดอกลำดวนของที่นี่จะหวาน มัน เค็ม ซึ่งแตกต่างจากที่อื่น แล้วพอได้คุยกับพี่กิ่งก็พบว่าเราอยู่วงการเดียวกัน”
วงการเดียวกันหมายถึงการเป็นนักออกแบบคอนเซปต์ที่สื่อสารเรื่องราวผ่านอาหารเหมือนกัน  

นอกจากสตูดิโอ LUKYANG จะรับออกแบบแบรนดิ้งและแพ็กเกจจากโจทย์ของผู้ประกอบการแล้ว ลูกยางยังสนุกกับการริเริ่มทำโปรเจกต์ของตัวเอง และนิทรรศการ ‘Waste โภชนา’ ที่จัดแสดงการทำศิลปะเลียนแบบอาหารจากวัสดุเหลือใช้ก็เป็นโครงการที่จัดต่อเนื่องมาแล้วถึงสี่ครั้งด้วยความอิ่มอกอิ่มใจที่ได้สื่อสารถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม

“เราเอาวัสดุรีไซเคิลทั้งกระดาษจากดอกไม้และเปลือกผลไม้ ขยะเหลือใช้จากบรรจุภัณฑ์และธรรมชาติมาพับเลียนแบบอาหารโดยอ้างอิงจากเมนูจริงของร้านอาหารท้องถิ่น” และหนึ่งในเมนูต้นแบบที่เคยทำก็คือบัวลอยธัญพืชของร้านเอฟวีที่ลูกยางทำเลียนแบบด้วยกระดาษดอกเบญจมาศ ถุงพลาสติก และกระดาษนิตยสาร 

ถึงตรงนี้การได้เจอกันของกิ่งและลูกยางเกิดเป็นความสนุกที่ได้เสพผลงานของกันและกัน เพราะนอกจากทั้งคู่จะเป็นนักออกแบบที่ใช้อาหารเป็นสื่อกลางในการสื่อสารเหมือนกันแล้ว ในฝั่งของเอฟวีเองก็มีการออกแบบของใช้ในร้านจากวัสดุเหลือใช้เช่นกัน เช่น ที่รองแก้วจากเศษสับปะรด และแก้วที่รียูสจากขวดแก้ว 2 ใบซึ่งผลิตพิเศษสำหรับใช้ที่ร้านเท่านั้น

เมื่อทั้งคู่คลิกกันแถมผู้ชมนิทรรศการ Waste โภชนายังให้ฟีดแบ็กว่าอยากเดินทางไปชิมเมนูจริงที่คาเฟ่ต้นแบบ ไปจนถึงอยากซื้อของที่ระลึกจากนิทรรศการ ไอเดียร่วมกันคอลแล็บเพื่อออกแบบของที่ระลึกสำหรับทั้งนิทรรศการและคาเฟ่เอฟวีจึงเกิดขึ้น

Package for Tourist 

นอกจากไอเดียของ Well โภชนาจะเป็นการเลือกขนมไทยโบราณความหมายมงคลมาจัดในเซตเดียวกันแล้ว โจทย์การออกแบบแพ็กเกจใหม่ในครั้งนี้ยังตั้งต้นจาก pain point จริงจากการขายขนมที่กิ่งเจอ  

“จากประสบการณ์ที่เราทำงานเปิดร้านมา 4-5 ปีพบว่ามีลูกค้าที่ชอบแพ็กเกจขนมไทยแบบกระปุกแก้วก็จริงแต่จะมีปัญหาเรื่องน้ำหนักและการแตกเสียหายเวลาลูกค้าถือไปต่างประเทศ นักท่องเที่ยวหรือแม้แต่ลูกค้าที่มาเดินเล่นถนนทรงวาดก็ไม่อยากจะถือไปตลอดทาง”

จากอินไซต์นี้ ลูกยางจึงตั้งโจทย์การออกแบบที่มาจากพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าด้วยความเชื่อว่างานดีไซน์ที่ดีไม่ได้เริ่มจากความสวยงามหรือตอบสนองแพสชั่นส่วนตัวด้านการรักษ์โลกเท่านั้นแต่ต้องตอบโจทย์การใช้งานจริงเป็นหลัก

“พอมานั่งวิเคราะห์กันมันก็กลายเป็นไอเดียที่ back to basic คือการออกแบบกล่องกระดาษ เพราะบางคนก็ไม่ได้อยากเก็บกระปุกขนมไว้ ไม่รู้จะเก็บไว้ที่ไหน เขาต้องการแค่กล่องกระดาษทั่วไป และพอทำรีเสิร์ช ลองเทสต์กับคนก็ปรากฏว่าคนส่วนใหญ่ทั้ง 100% เลย ไม่มีใครอยากกินขนมที่เป็นซองใหญ่ แค่อยากฉีกซองเล็ก กินครั้งเดียวให้หมดเลย เพราะมองว่ามันคือสแน็ก ไม่ได้กินเยอะ และขนมก็จะลดความอร่อยทุกครั้งที่เปิดด้วย”  

กล่องกระดาษเซตพิเศษนี้จึงเป็นตัวเลือกที่เพิ่มขึ้นมาให้ลูกค้าสามารถเลือกซื้อได้นอกจากแบบกระปุกแก้ว และเพื่อทำเป็นของที่ระลึกสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งต่างชาติและคนไทย ลูกยางจึงออกแบบให้เป็นกล่องขนมที่พาเที่ยวได้โดยระบุแหล่งประวัติศาสตร์สำคัญของถนนทรงวาดเอาไว้

“คนมาเที่ยวทรงวาดเพราะอยากมารู้ว่าที่ย่านนี้มีอะไร ผมก็เลยทำเป็นแผนที่ทรงวาดแล้วก็เล่าว่าที่นี่มีแลนด์มาร์กอะไรบ้าง” หากทานของว่างและแวะซื้อ Well โภชนาที่เอฟวีเสร็จแล้ว ก็สามารถเดินเล่นต่อได้ที่แหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง ได้แก่ ท่าเรือราชวงศ์ ตึกแขก ศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง โรงเรียนเผยอิง มัสยิดหลวงโกชาอิศหาก วัดปทุมคงคา ตามที่แนะนำไว้บนกล่องได้เลย

กิมมิกสุดครีเอทีฟคือรอยปรุที่ฝากล่องสำหรับฉีกออกมาเป็นโปสต์การ์ดเพื่อเก็บเป็นที่ระลึกได้ “คุณทิ้งกล่องส่วนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ไปได้แต่ยังสามารถเก็บส่วนหนึ่งของกล่องนี้เพื่อเป็นที่ระลึกได้ว่าที่นี่คือทรงวาดและนี่คือกิมมิกที่เราทำไว้”  

ด้วยความที่ลูกยางศึกษาเรื่องการจัดการขยะในโปรเจกต์ส่วนตัวมาก่อนทำให้ใส่ใจการให้คำแนะนำในการทิ้งกล่องเป็นพิเศษ ข้างกล่องจึงมีการระบุว่าสามารถส่งกล่องนี้ไปบริจาคทำเชื้อเพลิงได้ที่ไหนด้วย  

“เราอยากแนะนำการจัดการอย่างถูกต้องเพราะคนจะเข้าใจผิดกันเยอะ โรงงานรีไซเคิลขยะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม หนึ่งคือโรงงานระบบแมส กับสองคือโรงงานที่มีนวัตกรรมเฉพาะซึ่งสามารถรีไซเคิลในสิ่งที่โรงงานแมสทั่วไปทำไม่ได้ เช่น ถุงขนมฟอยล์ ถุงขนมวิบวับ เลยอยากแนะนำให้ส่งขยะไปจัดการในที่ที่ทำเชื้อเพลิงได้ดีกว่า”

Future Collaboration 

อนาคตอาจมีโอกาสได้เห็นเมนูใหม่หรือของที่ระลึกเซตใหม่จากเอฟวีอีกเรื่อยๆ ด้วยของว่างและขนมไทยของที่ร้านเป็นสูตรที่ทำตามผักผลไม้ในแต่ละฤดูกาลทำให้การแวะไปที่คาเฟ่ในแต่ละครั้งอาจได้เจอเมนูไม่เหมือนกัน ความสุขของกิ่งคือการได้ถ่ายทอดภูมิปัญญาไทยที่ใช้วัตถุดิบธรรมชาติเหล่านี้มาสร้างสรรค์เป็นของอร่อย

“ความจริงเรายังใช้วัตถุดิบไทยไม่ถึงครึ่งเลย ทั้งสมุนไพรเอย ผลไม้ในแต่ละท้องถิ่นเอย ธัญพืชที่มีประโยชน์อย่างเม็ดบัว ลูกเดือย วัตถุดิบพวกนี้เราก็เคยเอามาทำเมนูไปแล้วบ้างแต่ไม่ได้มีขายทุกวันและยังมีวัตถุดิบให้เอามาใช้พัฒนาเป็นสินค้าอีกเยอะมาก” 

การออกแบบขนมไทยร่วมกับเอฟวีเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของ Well โภชนาเท่านั้น เพราะตอนนี้ลูกยางกำลังเตรียมออกแบบแพ็กเกจใหม่ในซีรีส์นี้ให้แบรนด์อาหารและเครื่องดื่มอื่นๆ ต่อไปโดยยึดคอนเซปต์หลักที่มีกิมมิกเดียวกันในการออกแบบทุกบรรจุภัณฑ์ คือการระบุวิธีทิ้งขยะเพื่อให้สามารถจัดการขยะได้อย่างถูกต้องหลังทานเสร็จ

การร่วมมือกันออกแบบ Well โภชนา ครั้งนี้ถือว่าตอบโจทย์ได้ถึงสามอิ่ม

คาเฟ่เอฟวีอิ่มใจที่ได้นำเสนอสินค้าที่ตอบโจทย์ลูกค้า  

ลูกค้าอิ่มเอมที่ได้ชุดสินค้าของฝากที่น่าทานและน่าจดจำกลับไป 

LUKYANG อิ่มอกอิ่มใจกับการออกแบบงานสร้างสรรค์ที่ได้สื่อสารประเด็นสิ่งแวดล้อม

ออกมาเป็นคอนเซปต์ของ ‘ขนมไทยที่ระลึก’ ที่สื่อสารคำอวยพรมงคลความหมายอบอุ่นและอบอวลด้วยความคิดสร้างสรรค์ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจได้จริง


เบื้องหลังการ Design Well ในแบบของ ‘Well โภชนา’ ไม่ได้สำเร็จได้ด้วยความเชี่ยวชาญด้านขนมไทยของเอฟวีและความรู้ด้านการออกแบบของ LUKYANG เท่านั้น ทั้งคู่นำไอเดียการออกแบบของที่ระลึกมาพัฒนาเป็นสินค้าจริงภายใต้โครงการ ‘CHANGEx2: Greater Together ผนึกกําลังสุดครีเอต อัปเกรดธุรกิจโลคัล’ ของ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ที่ให้คำแนะนำผู้ประกอบการและครีเอเตอร์ในการพัฒนาสินค้าใหม่ร่วมกัน ทำให้ได้รับทักษะเพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญในส่วนธุรกิจและการตลาด การทำการตลาดดิจิทัล การวางแผนทำคอนเทนต์ลงโซเชียลมีเดีย การทำพีอาร์ การคำนวณต้นทุน อีกทั้งยังได้รับคำแนะนำด้านข้อมูลที่ควรใส่ในบรรจุภัณฑ์ ไปจนถึงความรู้หากอยากขยายไปขายต่างประเทศในอนาคต การมีทักษะที่ครบถ้วนตามหลักโภชนาการการทำธุรกิจทำให้การคอลแล็บร่วมกันครั้งนี้เกิดเป็น ‘Well โภชนา’ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมาได้ 

F.V และ LUKYANG

F.V และ LUKYANG 

Writer

Craft Curator, Chief Dream Weaver, Lifestyle Columnist, Editor-in-Cheese, Design Researcher 'Instagram : @rata.montre'

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like