นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

หลักธรรมเสื่อ

หลักธรรมเสื่อของ Tha’Wai แบรนด์ที่เปลี่ยนวัฒนธรรมการถวายเสื่อวัดเป็นซอฟต์พาวเวอร์ไทย

Tha’Wai (ถวาย) คือแบรนด์เสื่อที่เกิดจากความตั้งใจอยากเปลี่ยนวัฒนธรรมการถวายเสื่อวัดเป็นโอกาสทางธุรกิจ เอกลักษณ์ของแบรนด์คือการสร้างเสน่ห์ให้วัดวาอารามมีความสง่าและสวยงามผ่านลายไทยประยุกต์จากแรงบันดาลใจในพุทธศิลป์ เพื่อนำเสื่อไปใช้ในศาสนกิจอย่างการปูเสื่อรองรับรับญาติโยมที่ศาลาวัดและพระอุโบสถ ปูรองอาสนสงฆ์ ปูรองรับแขกเหรื่อสำหรับงานทำบุญบ้าน 

หากคนทั่วไปอยากตกแต่งบ้าน ศาสนสถานอย่างวัดซึ่งมีผู้คนเข้า-ออกเป็นประจำก็ต้องการประดับประดาพื้นที่ให้มีชีวิตชีวาเช่นกัน และการออกแบบลายเสื่อด้วยศิลปะไทยร่วมสมัยก็ช่วยสานต่อวัฒนธรรมการถวายเสื่อวัดให้รุ่งเรืองต่อไปได้ นี่คือที่มาของความเชื่อที่ทำให้ตั้งชื่อแบรนด์อย่างประณีตว่า ‘ถวาย’  

เต้น–สิทธา ศักดาสุคนธ์ ทายาทรุ่นที่ 3 โรงงานผลิตเสื่อย่งเซ้งจั่น เล่าให้ฟังว่าความจริงแล้วธุรกิจครอบครัวผลิตเสื่อวัดมาเนิ่นนานแล้วตั้งแต่รุ่นที่ 2 ของคุณพ่อ แถมยังเป็นโรงงานที่เริ่มทำเสื่อรีไซเคิลราว 40 ปีที่แล้วตั้งแต่วันที่เทรนด์ความยั่งยืนยังไม่เป็นที่รู้จัก แต่กว่าธุรกิจที่คุ้นชินกับการขายเสื่อผ่านยี่ปั๊วจะเริ่มสร้างแบรนด์เสื่อวัดของตัวเองก็เข้าสู่ยุคของทายาทรุ่นที่ 3 ที่มีสองพี่น้องอย่างเต้นและต้น–เจษฎาศักดาสุคนธ์ ช่วยกันบริหารธุรกิจ

ทุกวันนี้แบรนด์ถวายมีอายุ 3 ปีกว่าแล้วและนับเป็นแบรนด์เสื่อพลาสติกเจ้าแรกๆ ที่นำดีไซน์มาเพิ่มมูลค่าให้เสื่อ จากตลาดเสื่อพลาสติกยุคก่อนที่ดีไซน์แต่ละเจ้าในไทยไม่ค่อยแตกต่างกันมากนักและนิยมผลิตด้วยดีไซน์สำเร็จรูปจากแหล่งเดียวกันทำให้เกิดสงครามราคาที่เน้นผลิตราคาถูก แบรนด์ถวายได้สร้าง 3 จุดแตกต่างคือดีไซน์ โทนสี และคุณภาพที่ไม่เหมือนใคร

แถมยังแทบไม่มีแบรนด์ไหนในไทยที่ลุกขึ้นมาสร้างแบรนด์เสื่อเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าที่อยากถวายวัดอย่างจริงจังมาก่อน สินค้าของแบรนด์ Tha’Wai จึงไม่ใช่แค่เสื่อ แต่เป็นสินค้าวัฒนธรรมที่ขายซอฟต์พาวเวอร์เพื่อดึงดูดให้ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติอยากแวะเวียนมาที่วัด 

Life Wisdom
Art of the First Mover

ต้นทุนแห่งความสำเร็จของโรงงานย่งเซ้งจั่นในยุคบุกเบิกคือการกล้าเสี่ยงก้าวมาเป็นผู้ผลิตเสื่อพลาสติกเจ้าแรกๆ ของตลาด ทำให้กลายเป็นโรงงานเจ้าใหญ่ที่ผลิตเสื่อพลาสติกสำหรับกระจายขายให้ยี่ปั๊วทั่วไทย

ย้อนกลับไปราว 60 ปีที่แล้ว นายฉัตร แซ่เตียว อากงของเต้นเป็นผู้ก่อตั้งโรงงานย่งเซ้งจั่นแถวกระทุ่มแบนซึ่งเป็นชุมชนที่มีพื้นที่เต็มไปด้วยต้นกก ทำให้อากงเกิดปิ๊งไอเดียนำวัสดุอย่างกกมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนคือเสื่อกก  

ธุรกิจเริ่มต้นจากการจ้างคนงานหลักร้อยคน ขายดิบขายดีและได้สนับสนุนการสร้างอาชีพให้ผู้คนที่มีทักษะทางงานฝีมือในยุคนั้น หากใครไม่มีงานทำก็จะเดินทางมาที่บ้านอากงเพื่อขอทอเสื่อ แต่ด้วยข้อจำกัดในการทำงานฝีมือที่ต้องใช้เวลาทำให้ในยุคนั้นผลิตเสื่อได้ไม่กี่ผืนต่อวัน  

ในยุคของทายาทรุ่นที่ 2 หรือรุ่นคุณพ่อของเต้นคือจุดเปลี่ยนที่ธุรกิจก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซนครั้ง

ใหญ่ คือการเป็น first mover ที่กล้าลงทุนสร้างโรงงานเสื่อพลาสติกทั้งที่ตอนนั้นยังไม่แน่ใจว่าธุรกิจนี้จะไปรอดไหมและมีความเสี่ยงเจ๊งสูงหากคาดการณ์ผิด 

“ช่วงนั้นมีเพื่อนชวนคุณพ่อไปดูงานแฟร์ที่ไต้หวัน ไปดูเครื่องจักรที่เป็นนวัตกรรมผลิตเสื่อทอที่ใช้วัสดุจากพลาสติก ซึ่งในเมืองไทยตอนนั้นยังไม่มีใครทำเลย อย่างเก่งก็ไม่เกินหนึ่งเจ้า ประเทศเพื่อนบ้านเราก็ไม่มีใครทำด้วย วันนั้นหลังจากพ่อไปดูงานที่ต่างประเทศมาแล้วก็ลงทุนซื้อเครื่องจักรกลับมาลองเทสต์ที่ไทยประมาณ 10 เครื่อง แต่ขายไม่ได้เลย” เขาย้อนเล่าพลางหัวเราะ

เหตุผลที่ขายไม่ออกเพราะในวันนั้นคนไทยยังไม่รู้จักเสื่อพลาสติกและเคยชินกับการใช้เสื่อกกมานานนับสิบปี Plastic Mat ถือเป็นนวัตกรรมใหม่มากที่ยังไม่มีใครแนะนำสินค้าประเภทนี้สู่ตลาด

เต้นบอกว่าช่วงเวลาเหล่านั้นเป็นวิกฤตที่ทำให้สมาชิกครอบครัวเครียดเพราะลงทุนไปแล้วโดยไม่ได้มีเงินทุนสำรองเยอะมากนักในตอนนั้น แต่ก็สามารถแก้เกมพาธุรกิจรอดได้ในเวลาต่อมาด้วยการตามหาคอนเนกชั่นที่ต่อลมหายใจให้เสื่อขายดีแบบเทน้ำเทท่า

“คุนพ่อตะลอนขายเสื่อไปทั่วประเทศ จนไปจบที่นครสวรรค์ เจอคนช่วยซื้อ เป็นเถ้าแก่ยี่ปั๊วที่ซื้อไปทำตลาดในจังหวัดนครสวรรค์ก่อนจนขายดี ด้วยความที่การตลาดยุคนั้นแทบไม่มีเสื่อพลาสติกเลยทำให้เกิดข้อแตกต่าง พอมีคนช่วยขายก็ทำให้ขายดีจากการเป็นผลิตภัณฑ์ราคาถูก มีสีสันและลายหลากหลาย ทั้งลายตัด ลายดอกไม้ ลายกราฟิก ซึ่งก็เป็นความแปลกใหม่ในสมัยนั้น” 

และนี่คือจุดเริ่มต้นการแจ้งเกิดของเสื่อพลาสติกจากโรงงานย่งเซ้งจั่นที่มีโมเดลธุรกิจหลักคือรับผลิตแบบ OEM ภายใต้ตราสินค้าให้ยี่ปั๊วตามชายแดนและหัวเมืองจังหวัดต่างๆ ดังที่หลายคนน่าจะเคยเห็นในชื่อแบรนด์ง่ายๆ ตามประสาชื่อแบรนด์สไตล์คนโบราณ เช่น เสื่อตราทานตะวัน ตราสิงโต ตราม้า ฯลฯ

นอกจากการขายเสื่อในยุคนั้นจะขายผ่านยี่ปั๊วไปทั่วทุกภาค ยังส่งออกเสื่อไปประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่มีโรงงานทอเสื่ออย่างกัมพูชา เมียนมา มาเลเซีย ลาว ด้วย โดยลายของเสื่อจะแตกต่างออกไปตามภูมิภาคที่อิงจากวัฒนธรรมและความชอบของคนในท้องถิ่นนั้น เช่น คนภาคเหนือจะชอบเสื่อลายดอกไม้ ส่วนภาคอีสานจะมีลายกราฟิกที่ดูทันสมัย

“ยุคนั้นเราจะทำลายที่สั่งจากต่างประเทศ จะไม่ได้มีการคิดดีไซน์เอง เขาผลิตแบบไหนเราก็ขายแบบนั้นเลย ดังนั้น key success ของธุรกิจในตอนนั้นจะไม่ใช่การทำแบรนดิ้งหรือเน้นที่คุณภาพมากเท่าไหร่ แต่เป็นการสร้างสัมพันธ์กับลูกค้าผ่านยี่ปั๊วต่างๆ ที่จะช่วยผลักดันสินค้าของเราไปในตลาด” 

หลักธรรมแห่งศรัทธา  

‘ธรมมะคือธรรมชาติ’ คือหลักธรรมที่ยอมรับความเป็นจริงของโลกตามเหตุและปัจจัย ซึ่งตามวงจรธุรกิจแล้ว เมื่อมีขาขึ้นก็ต้องมีขาลง ธุรกิจเก่าแก่ไม่สามารถกินบุญเก่าจากรุ่นอากงได้ตลอดและโจทย์หลักที่ทายาทรุ่นที่ 3 อย่างเต้นต้องเผชิญคือการพาธุรกิจให้เติบโตไปตลอดรอดฝั่งในยุคสมัยที่วัฒนธรรมการใช้เสื่อเปลี่ยนไป 

“ความท้าทายหลักคือการล้างอาถรรพ์ของทายาทเจนฯ 3 ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นเจนฯ ที่ทำลาย ผมมารับช่วงต่อในช่วงที่ธุรกิจแย่ที่สุดแล้วตั้งแต่คุณพ่อคุณแม่เปิดธุรกิจมา สมัยก่อนมีคนงานเกือบ 200 คน ทุกวันนี้เหลืออยู่ประมาณ 50 คนเอง อยู่ในช่วงที่ยอดขายตกมากๆ

“ทั้งนี้เพราะมีคู่แข่งเยอะ ตลาดเสื่อเป็น red ocean สุดๆ และสินค้าทดแทนที่ราคาถูกมีเยอะขึ้น จากสมัยก่อนคนไทยต่างจังหวัดนิยมนอนเสื่อ แต่สมัยนี้นอนฟูกสบายกว่า โจทย์คือแล้วเราจะปรับตัวยังไงให้สินค้าของเรามีความแตกต่างและกลับมาอยู่ในใจคนไทย เสื่อจะอยู่ในส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยต่อไปได้ยังไง” หลักธรรมในธุรกิจข้อแรกที่ครอบครัวสอนเต้นในการบริหารธุรกิจและรับมือกับความเสี่ยงคืออย่าทำตามกระแส แต่ให้โฟกัสในสิ่งที่ตัวเราทำได้ดีที่สุด

“สมัยก่อนในยุคของคุณพ่อคุณแม่มีเสื่อชนิดหนึ่งที่คนฮิตและเริ่มเป็นเทรนด์คือเสื่อยางพารา ทุกโรงงานก็ซื้อเครื่องผลิตมาเต็มไปหมดเลย แต่สุดท้ายก็แข่งกันตัดราคาจนแทบไม่เหลืออะไรเลย โชคดีที่เราไม่ได้ตามกระแสในช่วงนั้น เรายังโฟกัสในการควบคุมคุณภาพของเสื่อเราให้มีมาตรฐานที่สูงกว่าเสื่อทั่วๆ ไป ถ้าเราตามคนอื่นเรื่อยๆ เราอาจจะรักษาจุดยืนของโรงงานเราไว้ไม่ได้” 

ความเชื่อมั่นว่าเสื่อพลาสติกยังขายได้ทำให้เต้นมองหาโอกาสใหม่ในตลาดเพื่อแก้วิกฤตและสังเกตเห็นวัฒนธรรมการถวายเสื่อวัดที่มีความสำคัญในเชิงบุญกุศลและวัฒนธรรม 

“ตามความเชื่อทางศาสนา อานิสงส์ของการถวายเครื่องปูลาดแก่วัดไม่ว่าจะเป็นอาสน์สงฆ์หรือเสื่อวัดเปรียบเสมือนการปูทางสู่ความสุขสบายและสู่ความมั่นคง ทุกวัดต้องใช้เสื่อรองพื้นเพื่อรองรับญาติธรรมที่มานั่งสมาธิ ฟังเทศน์ ฟังธรรม สวดมนต์ที่พื้นที่แห่งธรรม ซึ่งตามหลักอานิสงส์แล้วจะช่วยให้ผู้ที่ถวายเสื่อเป็นประจำ เข้าถึงสมาธิได้ง่ายขึ้นเวลาปฏิบัติธรรมด้วย

“จะสังเกตเห็นว่ากลุ่มผู้ที่ต้องการถวายของแก่วัดเหล่านี้มักจะพิถีพิถันในการเลือกสินค้าถวายวัด อยากถวายสิ่งที่เขารู้สึกภูมิใจ ของที่มีความประณีต คุณภาพสูงหรือของที่มีความหมายและมีคุณค่า ไม่ใช่เพียงแค่ถวายแล้วจบๆ ไป การถวายเสื่อเลยเปรียบเสมือนการปูพื้นที่แห่งศรัทธาของคน ไม่ว่าจะในทุกก้าวที่พระเดิน ทุกเสียงสวดมนต์ ทุกการกราบเสื่อบนพื้นที่แห่งธรรมหรือพื้นที่แห่งศรัทธา ส่วนกลุ่มผู้ใช้งานที่วัดคือพระก็จะให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพ อยากสั่งเสื่อมาแล้วใช้ได้นานๆ” 

วัฒนธรรมการถวายเสื่อวัดของคนไทยนิยมถวายเสื่อในวันพระใหญ่ อย่างวันมาฆบูชา ช่วงออกพรรษา เข้าพรรษา ทอดผ้าป่า งานบวช หรืองานถวายสังฆทาน ซึ่งเทศกาลเหล่านี้จะมีเยอะช่วงสิ้นปี

อินไซต์การถวายเสื่อวัดเหล่านี้ทำให้เต้นอยากเปลี่ยนวัฒนธรรมการถวายเสื่อทางศาสนาให้เป็นโอกาสทางธุรกิจ ไม่ใช่แค่เพื่อสร้างกำไรแต่เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมการถวายที่สร้างบุญกุศลอันดีไว้

ถึงตรงนี้นอกจากการถวายเสื่อวัดจะเป็นการทำนุบำรุงศาสนสถานตามความเชื่อดั้งเดิมแล้ว อานิสงส์จากการผลิตเสื่อรักษ์โลกจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิลตั้งแต่รุ่นอากงของโรงงานย่งเซ้งจั่นก็ยิ่งทวีคูณผลบุญให้วัดมีเสื่อรักษ์โลกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมใช้อีกด้วย 

“ผมคิดว่าการถวายเสื่อรักษ์โลกให้วัดก็เปรียบเหมือนการเคารพธรรมชาติ พลาสติกรีไซเคิลช่วยโลกลดขยะซึ่งเป็นการให้ความเคารพต่อธรรมชาติ และธรรมชาติกับธรรมะก็คือสิ่งเดียวกันซึ่งเป็นนัยหนึ่งของพุทธศาสนา เสื่อแบรนด์ถวายของเราจึงเปรียบเสมือนการเชิดชูธรรมะด้วย” 

Business Wisdom
ดีไซน์จากพุทธศิลป์และไทยโทน

จากอินไซต์ทางวัฒนธรรมในการถวายเสื่อวัด เต้นจึงเลือกปั้นแบรนด์เสื่อวัดพรีเมียมเพื่อเจาะตลาดใหม่และเพิ่มมูลค่าเสื่อด้วยดีไซน์ นำแรงบันดาลใจจากพุทธศิลป์ในสถาปัตยกรรมวัดและจิตรกรรมฝาผนังมาออกแบบลายเสื่อไทยประยุกต์ลุคโมเดิร์น

หนึ่งในลายยอดนิยมของเสื่อแบรนด์ถวายคือ ลายประจำยาม ซึ่งเป็นลายที่ใช้ตกแต่งเสาวัดโดยมีความเชื่อว่าลายนี้ช่วยขจัดปัดเป่าภัยร้ายและมีพลังปกปักรักษาผู้คนได้ ส่วนอีกลายที่ฮิตไม่แพ้กันคือลายขอนาคจากความเชื่อในพญานาค ตำนานราชาแห่งงูนับพันปีซึ่งเป็นความเชื่อร่วมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งทำให้เกิดการถักทอลายพื้นฐานของผ้าไทยชื่อลายขอนาค ส่วนลายผกาสยามมีที่มาจากการประยุกต์ลายดอกไม้ให้เป็น Floral Siam Monogram ที่มีความร่วมสมัยมากขึ้นจากทีมนักออกแบบของแบรนด์ถวายเอง 

เต้นยังเปลี่ยนกระบวนการผลิตเสื่อโดยเลือกสี Pantone พื้นฐานส่งไปที่โรงงานพลาสติกรีไซเคิลเพื่อผสมเฉดสีใหม่ให้เป็น ‘ไทยโทน’ โทนสีจากอัตลักษณ์ไทยอย่าง สี Indigo จากเบญจรงค์ และสีลิ้นจี่ ซึ่งทำให้เกิดความแปลกใหม่จากแต่เดิมที่สีเสื่อจะมีแค่แม่สีหลักอย่างเหลืองและแดงเท่านั้น  

สำหรับด้านคุณภาพ เต้นเล่าว่าแบรนด์ถวายอยากแก้ pain point ที่เสื่อทั่วไปในตลาดมักแตกและกรอบง่าย โดนแดดไม่นานก็พัง จึงตั้งใจออกแบบให้การถักทอเสื่อมีความแน่นและแข็งแรงกว่าเดิมเพื่อให้ใช้งานได้นาน โดยมีฟังก์ชั่นสำคัญคือความยาวพิเศษของเสื่อที่เหมาะกับการปูในวัด

“จากที่เคยไปปฏิบัติธรรม นอนเสื่อที่วัดแล้วเห็นเสื่อผุ เก่า กรอบ ขาดหมดแล้ว พอจับมาฉีกดูก็พบว่าเสื่อมันบาง ดึงปุ๊บเห็นเป็นเส้นเอ็นข้างในเลย สาเหตุที่คุณภาพเสื่อในตลาดเป็นแบบนี้เพราะแต่ละโรงงานก็พยายามแข่งกันลด cost ตัวเอง แต่เสื่อวัดใช้รับแขกเยอะและใช้ทุกวัน เราจึงอยากทำให้แข็งแรงกว่าเดิมและแข็งแรงกว่าเสื่อที่ใช้ในบ้านทั่วไปด้วย 

“เสื่อแบรนด์ถวายยังเป็นเสื่อวัดที่หน้ากว้างที่สุดในประเทศไทยคือกว้างถึง 180 ซม. เสื่อวัดในตลาดที่เคยเห็นยาวที่สุดก็ราว 120-150 ซม. ซึ่งก็มีน้อยแล้ว การทำผืนใหญ่จะช่วยแก้ pain point เรื่องความลื่น ป้องกันการสะดุดล้มได้ง่าย และยังเป็นเรื่องความสวยงาม ด้วยความที่พื้นที่ในวัดบางแห่งใหญ่มากๆ ถ้าจะมาปูผืนเล็กทีละผืนก็จะใช้เวลาค่อนข้างเยอะ แต่ถ้าปูผืนใหญ่ก็จะมีรอยต่อน้อยและสวยงามกว่าเดิมด้วย”

ทั้งนี้เต้นเล่าเบื้องหลังว่าความท้าทายของแบรนด์ไม่ใช่การดีไซน์ลายไทยประยุกต์โฉมใหม่ แต่เป็นการเจาะตลาดเสื่อพรีเมียมที่มีความท้าทายโดยเฉพาะช่วงแรกที่สร้างแบรนด์ 

“ความจริงเรายังไม่ได้มีลายเยอะ เราจะออกลายใหม่ประมาณปีละลายเดียว เพราะอยากผ่านการพัฒนาที่กลั่นกรองมาให้ดีที่สุด ความท้าทายหลักจะเป็นเรื่องการสื่อสารกับลูกค้ามากกว่าว่าจะทำยังไงให้คนยอมซื้อเสื่อวัดในราคาแพงกว่าเดิม 2-3 เท่า แลกกับเรื่องคุณภาพและเรื่องดีไซน์” 

Mat Matters  

ความเก๋ในโมเดลธุรกิจที่แบรนด์ถวายสามารถทำให้วัฒนธรรมการถวายเสื่อวัดเข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้นได้คือการเปิดโอกาสให้ลูกค้าสั่งซื้อเสื่อวัดทางออนไลน์แบบพร้อมส่งถึงวัด เลือกได้ตั้งแต่ไซส์เล็ก กลาง ใหญ่ และสามารถส่งได้ภายใน 3-4 วัน 

การหันมาขายออนไลน์แบบนี้ทำให้สามารถเพิ่มช่องทางการขายมากขึ้นทั้งทางเฟซบุ๊กและมาร์เก็ตเพลส รวมถึงแพลตฟอร์มต่างประเทศอย่าง eBay ที่ทำให้เข้าถึงตลาดโลกได้มากขึ้น 

ความภาคภูมิใจของเต้นคือที่ผ่านมามีคนไทยไม่น้อยที่สั่งเสื่อไปถวายวัดไทยในต่างประเทศราว 10 กว่าประเทศ และถึงแม้ที่ผ่านมาสัดส่วนลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่สุดจะเป็นกลุ่มเบบี้บูมเมอร์จากต่างจังหวัด แต่แบรนด์ก็พยายามเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ด้วยการสร้างแบรนด์ในช่องทางใหม่อย่าง TikTok เพิ่มขึ้นมาเพื่อให้วัฒนธรรมการถวายเสื่อวัดไม่เป็นเพียงประเพณีเก่าเก็บของคนรุ่นก่อน  

นอกจากแบรนด์ถวาย (Tha‘Wai) จะสร้างขึ้นมาสำหรับถวายวัดแล้ว ทายาทรุ่นที่ 3 อย่างเต้นและต้นยังบริหารความเสี่ยงของธุรกิจด้วยการแตกแบรนด์เสื่ออีกแบรนด์ในชื่อ Mat-er (แมท-เทอร์) ซึ่งที่มาของชื่อแบรนด์คือ Stand for Mat maker สำหรับขายสินค้าหมวดไลฟ์สไตล์จากเสื่อโดยเจาะกลุ่มลูกค้าที่อยากตกแต่งบ้าน

เพราะไม่ได้แค่อยากให้เสื่อสร้างความสง่างามให้วัด แต่อยากสร้างเสน่ห์ให้บ้าน ร้านค้ารีเทล โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ไปจนถึงการผลิตของชำร่วยจากเสื่อให้องค์กรใหญ่และองค์กรการกุศล ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นลูกค้าคนละกลุ่มกับแบรนด์ถวาย 

“เราอยากนำเสื่อไปอยู่ใน modern architecture ต่างๆ และคิดว่าถ้าจะเป็นผู้นำเทรนด์ในการนำเสื่อไปตกแต่งตามสถานที่ต่างๆ เราก็จะหยุดพัฒนาไม่ได้ พอเราอยากสร้างความแตกต่างใหม่ก็จะมีการทำรีเสิร์ชและ R&D ที่จะนำเสื่อเข้าไปใช้ในวัตถุประสงค์ใหม่ๆ ที่เมืองไทยยังไม่เคยมีใครทำ”

ทุกวันนี้เสื่อจากแบรนด์ Mat-er จึงมีสินค้าไลฟ์สไตล์ที่ออกแบบให้เสื่อมีฟังก์ชั่นมากกว่าปูพื้น เช่น วอลเปเปอร์ เก้าอี้ โต๊ะ กระเป๋า ฯลฯ โดยมีลวดลายโมเดิร์นจากแรงบันดาลใจหลากหลายกว่าแบรนด์ถวาย เช่น ลายธรรมชาติและลายกราฟิก

เต้นทิ้งท้ายว่าในอนาคตแบรนด์ถวายก็จะแตกหมวดสินค้าใหม่ให้มีสินค้าไลฟ์สไตล์ของพระมากขึ้นนอกจากเสื่อวัดเช่นกัน เช่น เสื่อธุดงค์ที่พกพาง่ายและมีขนาดเล็ก เสื่อปิกนิกสำหรับผู้ที่อยากพกเสื่อไปปฏิบัติธรรมที่วัด ซึ่งยังจับกลุ่มลูกค้ากลุ่มเดิมที่อยากซื้อถวายให้พระและผู้ที่อยากใช้งานทางศาสนกิจ

แต่ไม่ว่าสินค้าจะจับกลุ่มตลาดไหนและแตกแบรนด์ใหม่ภายใต้แบรนด์ใด สิ่งที่ทายาทโรงงานเสื่ออย่างเต้นให้ความสำคัญในวันนี้คือการสร้างแบรนดิ้ง Made in Thailand ให้แบรนด์เสื่อไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก

“อยากให้ทั้ง Tha‘Wai และ Mat-er นำเสนอความเป็นไทย ดึงศิลปะไทยกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนไทยได้ แล้วเผยแพร่ศิลปะไทยนี้ไปในตลาดโลก อยากให้เวลาคนเห็นเสื่อของเราแล้วนึกถึงธงชาติไทยเลยโดยไม่ต้องบอกว่าผลิตที่ไหน”  

Editor’s Note : Wisdom from Conversation
‘ธรรมะคือธรรมชาติ’ แปลว่า ทุกสิ่งเป็นธรรมชาติและล้วนมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ดังเช่นวัฏจักรธรรมชาติของธุรกิจที่ไม่มีสินค้าฮีโร่ใดอยู่ค้างฟ้าได้ตลอดไปและต้องปรับโมเดลธุรกิจตามยุคสมัยตลอดเวลา การดำเนินชีวิตด้วยปัญญาคือการรู้เท่าทันธรรมชาติ ไม่ตื่นตระหนกกับชะตาฟ้าเมื่อธุรกิจถูกดิสรัปต์ และหาทางปรับตัวตามน่านน้ำธุรกิจในวันนี้โดยไม่ทิ้งรากวัฒนธรรมเดิม

ความโมเดิร์นของแบรนด์ Tha'Wai คือการนำลายไทยดั้งเดิมมาประยุกต์บนวัสดุใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องคิดค้นลายใหม่ที่มีความเป็นออริจินัล แค่เพียงถักทอเสื่อร่วมสมัยลายใหม่ที่อ้างอิงจากลายเดิมและสืบสานวัฒนธรรมทั้งในแง่ลวดลาย สีสัน ภูมิปัญญาการผลิต วัฒนธรรมทางศาสนา และวิถีชีวิต

หากไม่นิยามว่าธุรกิจกำลังขายแค่สินค้า แต่กำลังขายสินค้าซอฟต์พาวเวอร์ที่ทำให้คนรุ่นใหม่มีไลฟ์สไตล์ที่เข้าถึงวัฒนธรรมได้มากขึ้น ก็อาจเกิดไอเดียนำเสนอภูมิปัญญาและเพิ่มมูลค่าให้แบรนด์ในรูปแบบใหม่ได้ 



Writer

Craft Curator & Columnist, Chief Storyteller & Dream Weaver, Editor-in-Cheese, Design Researcher 'Instagram : @rata.montre'

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like