Influencer System

Tellscore แพลตฟอร์มอินฟลูฯ สัญชาติไทย ที่มุ่งมั่นสร้าง ecosystem ในวงการรีวิวให้สมบูรณ์แบบ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา influencer marketing เป็นเครื่องมือการตลาดที่ทรงพลังอย่างมาก ไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมใดก็สามารถใช้อินฟลูเอนเซอร์รีวิวสินค้าหรือกระตุ้นยอดขายได้ โดยเฉพาะในยุคที่ผู้บริโภคไม่เชื่อในสิ่งที่แบรนด์พูด แต่เลือกที่จะเชื่อในสิ่งที่คนใกล้ตัวหรือคนมีชื่อเสียงพูดถึงสินค้าและบริการต่างๆ มากกว่า

ด้วยเหตุนี้เราจึงได้เห็นแพลตฟอร์มที่เป็นสื่อกลางระหว่างนักการตลาด ผู้ประกอบการ และอินฟลูเอนเซอร์มาเจอกัน นั่นคือ Tellscore (เทลสกอร์) แพลตฟอร์มที่รวบรวมและเฟ้นหาอินฟลูเอนเซอร์ในโซเชียลมีเดียไว้ในที่เดียวกัน พร้อมจำแนกตามความถนัดของแต่ละคน เพื่อให้แบรนด์ได้ร่วมงานกับอินฟลูเอนเซอร์ที่ใช่ และตอบโจทย์ธุรกิจที่สุด ปัจจุบันเทลสกอร์มีอินฟลูเอนเซอร์ในระบบกว่า 80,000 คนที่ครอบคลุมทุกกลุ่มอุตสาหกรรม

จากที่ทุกวันนี้อินฟลูเอนเซอร์กลายเป็นสื่อโฆษณาและเครื่องมือการตลาดที่ตอบโจทย์ธุรกิจทั่วประเทศ ทำให้ ปู–สุวิตา จรัญวงศ์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารเทลสกอร์ ตั้งคำถามว่าจะสร้าง ecosystem ในแวดวงอินฟลูเอนเซอร์ให้สมบูรณ์แบบได้ยังไง นั่นเป็นที่มาของการก่อตั้งบริษัท ทำงานร่วมกับเอเจนซี ภาครัฐและเอกชน รวมถึงดูแลอินฟลูเอนเซอร์จำนวนมากในระบบ

เรื่องราวการเติบโตของเทลสกอร์ สู่การดำเนินธุรกิจเพื่อสร้าง ecosystem ที่สมบูรณ์แบบจะเป็นยังไง ติดตามได้ในบทสัมภาษณ์นี้

เปลี่ยนตัวเองก่อนจะถูกบังคับให้เปลี่ยน

หลายคนอาจไม่รู้ว่าก่อนจะเป็นเทลสกอร์อย่างทุกวันนี้ สุวิตาเคยทำเอเจนซีด้านการตลาดในชื่อ RedLab มาก่อน ซึ่งในช่วงเวลานั้นก็ทำผลงานได้ดี เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่เธอกลับตัดสินใจยุติการทำงาน ทิ้งบริษัทที่มีมูลค่าเกือบ 60 ล้านบาท เพื่อเริ่มต้นความท้าทายใหม่ภายใต้บริษัทเทลสกอร์

“ตอนนั้นเราเห็นการปิดตัวของบริษัทประเภทนี้ (เอเจนซีการตลาด) ค่อนข้างเยอะ และเรารู้ตัวว่าในอีกไม่ช้าจะถูกดิสรัปต์อย่างแน่นอน ด้วยความที่เราเองก็เป็นสายเทคมาก่อน จึงทำให้เรามีต้นทุนที่นำมาต่อยอดในธุรกิจใหม่ได้ ซึ่งในตอนนั้นบ้านเรามี tool สำหรับการทำตลาดมากมาย แต่เป็น tool ที่มีราคาแพง และบางตัวยังไม่รองรับภาษาไทย

“ในฐานะเอเจนซีเราพยายามหาเครื่องมือการตลาดเพื่อรองรับการทำงานของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝั่งแบรนด์ ฝั่งเอเจนซี และอินฟลูเอนเซอร์ แม้กระทั่งการซื้อ licence จากต่างประเทศก็ทำมาแล้ว แต่ยังไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร เราจึงเริ่มพัฒนาซอฟต์แวร์ไว้ใช้ในการทำแคมเปญการตลาด และ influencer marketing หลังจากนั้นก็เริ่มนำไปใช้งานจริง ผ่านการลองผิดลองถูกสักพักก็ได้ซอฟต์แวร์ที่สมบูรณ์แบบและผู้ใช้งานก็แฮปปี้”  

หลายคนอาจมีคำถามว่าการโฟกัสธุรกิจใหม่ และทิ้งธุรกิจเดิมถือเป็นการทุบหม้อข้าวตัวเองทิ้งไหม

“สิ่งที่เราทำอาจฟังดูเปรี้ยงปร้าง แต่เราก็ไม่แนะนำให้ใครทำ เพราะก็มีความเสี่ยงพอสมควร ซึ่งในเวลานั้นเราต้องพูดคุยกับพนักงานทุกคนว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ใครบ้างที่พร้อมจะไปกับเรา ในขณะเดียวกันเราก็พกลูกค้าเก่าไปด้วย ซึ่งในเวลานั้นเรามีอินฟลูเอนเซอร์ในระบบประมาณ 1,000 คน ก็เป็นโจทย์ว่าเราจะต่อยอดจากสิ่งที่มียังไงให้ธุรกิจไปรอด นับจากวันที่เริ่มพัฒนาซอฟต์แวร์พื้นฐาน เราใช้เวลากว่า 2 ปี ตั้งแต่ปี 2016-2018 ในการสร้างซอฟต์แวร์ให้พร้อมใช้งานจริง”

จากอินฟลูฯ 1,000 คน สู่ 85,000 คน

เมื่อสุวิตาตัดสินใจเริ่มนับหนึ่งใหม่ในนามของเทลสกอร์ ความยากด่านแรกที่ต้องเจอคือ การหาอินฟลูเอนเซอร์เข้าระบบ

“ตอนนั้นมีหลายคนที่สนใจอยากเป็นอินฟลูฯ กับเรา แต่เขายังไม่เข้าใจว่าเราเป็นใคร มาจากที่ไหน ทำให้จุดประสงค์การทำงานไม่ตรงกัน เราก็ปฏิเสธคนไปไม่น้อย กว่าจะได้อินฟลูฯ จำนวนมากขนาดนี้เลือดตาแทบกระเด็น เราจึงต้องเร่งสร้าง ecosystem ในวงการอินฟลูฯ เพราะในช่วงแรกตลาดยังไม่มีโปรดักต์แบบนี้ เราต้องทำให้ตลาดรู้จักแพลตฟอร์มให้เร็วที่สุด จึงเป็นที่มาของการจัดงาน Thailand Influencer Awards เพื่อสร้างพื้นที่ให้เหล่าอินฟลูฯ ได้เจอหน้ากัน และทำให้แบรนด์เห็นภาพและเข้าใจได้ง่ายขึ้นว่าสิ่งที่เรากำลังทำคืออะไร”

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ‘อินฟลูเอนเซอร์’ ยังเป็นคำที่ยังไม่คุ้นเคยเท่าไหร่นัก และถ้าจะให้ยึดเป็นอาชีพหลายคนอาจต้องขอเว้นไปก่อน เพราะยังมองไม่เห็นโอกาสหรือช่องทางทำเงินอย่างทุกวันนี้ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าปัจจุบันอินฟลูเอนเซอร์จะกลายเป็นอาชีพในฝันของคนรุ่นใหม่

สุวิตาเล่าว่า “ในยุคแรกที่เริ่มทำธุรกิจอินฟลูเอนเซอร์แพลตฟอร์ม ตอนนั้นยังไม่มีคำว่า KOL (key opinion leader) หรืออินฟลูเอนเซอร์ แต่เป็นยุคของ hi5 และการอัพบล็อกมากกว่า ในแง่ของการทำตลาดแบรนด์และเอเจนซีจะใช้ดาราและเซเลบในการเปิดตัวสินค้าเป็นหลัก”

สะท้อนว่าจุดประสงค์ของการทำ influencer marketing ในยุคนั้นเป็นเพียงการสร้างสีสันให้แบรนด์ ไม่ได้มองเรื่อง performance เหมือนทุกวันนี้ ว่าอินฟลูเอนเซอร์จะต้องสร้างเอนเกจเมนต์หรือยอดขายได้เท่าไหร่

“ปัจจุบันกลยุทธ์การทำ influencer marketing เปลี่ยนไป แต่ก่อนแบรนด์จะใช้แค่ดาราเบอร์ใหญ่ ตอนนี้เราเห็นแบรนด์ใช้ micro influencer มากขึ้น ซึ่งเรามองว่าแบรนด์เองก็ต้องการกระจายความเสี่ยง และต้องการรีเสิร์ชตลาดไปพร้อมๆ กัน เช่น แบรนด์เครื่องดื่มวิตามินที่ร่วมงานกับเราเลือกใช้ micro influencer จำนวนมากทั่วประเทศ ผลลัพธ์ที่ได้คือพบว่า สินค้าของตนขายดีในจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่มีเซลล์ออฟฟิศ เมื่อส่งทีมลงพื้นที่จึงพบว่ามีผู้ค้ารายหนึ่งที่ชอบสินค้ามากๆ จึงสั่งซื้อสินค้าไปขายในจังหวัดของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าการใช้เซเลบไม่เวิร์ก คุณต้องเข้าใจก่อนว่าฟังก์ชั่นของอินฟลูเอนเซอร์แต่ละกลุ่มต่างกันอย่างสิ้นเชิง”

แล้วฟังก์ชั่นของอินฟลูเอนเซอร์แต่ละกลุ่มแตกต่างกันยังไง

“พูดให้เข้าใจง่ายคือ อินฟลูเอนเซอร์เบอร์ใหญ่ ในระดับ mega influencer ที่มีผู้ติดตาม 1 ล้านคนขึ้นไปจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ และ awareness ให้แบรนด์ได้ดี แม้จะราคาสูงแต่ก็คุ้มค่ากับการลงทุน ส่วนกลุ่ม micro-nano influencer ที่มีผู้ติดตามตั้งแต่ 1,000-50,000 คนจะสร้างเอนเกจเมนต์ให้แบรนด์ได้สูง กระตุ้นการตัดสินใจซื้อและเพิ่มยอดขายได้ดี ที่สำคัญราคาไม่แพง และสามารถร่วมงานได้ครั้งละหลายๆ คน”

ประเทศไทยไม่เหมือนใคร
ดังนั้นจะมาใช้อินฟลูเอนเซอร์เหมือนกันไม่ได้

อย่างที่สุวิตาเล่ามาตั้งแต่ต้น ว่าต้องการสร้าง ecosystem ในวงการอินฟลูฯ ให้สมบูรณ์แบบที่สุด ซึ่งไม่ใช่แค่ในไทย แต่ยังรวมถึงการสร้างพันธมิตรกับประเทศอื่นๆ ด้วย

“แม้ตอนนี้เราจะโฟกัสที่ไทยเป็นหลัก แต่ในต่างประเทศเราก็ไม่ทิ้ง ปัจจุบันเราเป็นพันธมิตรกับหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นการร่วมงานกันในโปรเจกต์ต่างๆ มีการส่งแคมเปญไปมาระหว่างกัน อินฟลูฯ สามารถรีวิวข้ามประเทศได้ เช่น อินฟลูฯ ไทยก็รับงานรีวิวในฮ่องกงได้ หรือในงาน Thailand Influencer Awards ก็มีการมอบรางวัลให้อินฟลูฯ ในแต่ละประเทศด้วย” 

ถึงตรงนี้สิ่งที่หลายคนอาจสงสัยคือ อินฟลูเอนเซอร์ในแต่ละประเทศมีความเหมือนหรือต่างจากบ้านเราแค่ไหน

​”ต้องบอกว่าไม่เหมือนกันเลยสักประเทศ เมืองไทยเป็นกรณีศึกษาระดับโลกเลยนะ ถึงเราจะไม่มีประชากรเยอะเหมือนประเทศอื่นๆ แต่ว่าคนไทยเป็นกลุ่มที่ใช้อินเทอร์เน็ตมากเป็นอันดับต้นๆ ดังนั้นใครที่อยากเข้ามาบุกตลาดไทยจึงไม่ต้องกังวลเลยว่าคนไทยจะไม่เข้าใจอินเทอร์เน็ต หรือการใช้ AI บวกกับการที่บ้านเรามีครีเอเตอร์เก่งๆ เยอะมาก ทำให้มูลค่าตลาดอินฟลูเอนเซอร์ของไทยสูงกว่า 40,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจมหาศาล”

กลับมาที่ความต่างของการใช้อินฟลูเอนเซอร์ในแต่ละประเทศ สุวิตาเล่าว่า ในประเทศออสเตรเลียขาดแคลนครีเอเตอร์อย่างมาก และในช่วงปลายปีแบบนี้อินฟลูฯ ส่วนใหญ่ก็ถูกจองคิวหมดแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าใครอยากแจ้งเกิดในฐานะครีเอเตอร์ต้องบุกออสเตรเลียแล้ว ส่วนฟิลิปปินส์ที่ประชากรเยอะกว่าเรา แต่รู้ไหมว่าอินฟลูฯ ที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่เป็นสายวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นหมอ เภสัชกร นักวิทยาศาสตร์ หรือสายสารคดี เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นสถาบันการศึกษา

ส่วนของไทยอย่างที่เห็นๆ กันคือ เน้นความบันเทิง แต่ยังต้องมีสาระอยู่บ้าง เป็น edutainment (การศึกษา + ความบันเทิง = สาระบันเทิง) เช่น อินฟลูฯ สายการเงิน ฟินเทค กองทุน เป็นต้น ซึ่งต้องเป็นอินฟลูฯ ที่เล่าเรื่องยากๆ ให้เข้าใจง่าย ในขณะเดียวกันสายที่ยังขาดคือ seller หรือนักขายที่ต้องสามารถไลฟ์และปิดการขายได้ และถ้าเป็นอินฟลูฯ ในกลุ่มยอดฮิตด้วยยิ่งดี ทั้งสายบิวตี้ อาหาร สุขภาพ การเงิน อสังหาฯ และ FMCG

เมื่อเทียบกับต่างประเทศความเก่งกาจอินฟลูเอนเซอร์ไทยอยู่ในเลเวลไหน

“ถ้าเทียบเรื่องเม็ดเงินเราอาจไม่ได้อยู่ในระดับสหรัฐฯ หรือฮ่องกง แต่ศักยภาพของอินฟลูเอนเซอร์คนไทยอยู่ในระดับที่สูงมาก เพราะเรามีครีเอเตอร์ที่มีความคิดสร้างสรรค์จำนวนมาก และพร้อมจะผลิตคอนเทนต์ที่มีคุณภาพออกสู่ตลาด”

สร้างความต่างด้วยความโปร่งใส

สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการอินฟลูเอนเซอร์ อาจไม่รู้ว่าเรื่องค่าตัวหรือค่ารีวิวเป็นเรื่องที่ไม่ถูกเปิดเผยเท่าไหร่นัก เพราะแต่ละคนมีมูลค่าของตัวเองไม่เท่ากัน 

แต่ที่เทลสกอร์เลือกที่จะเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้

“หลายคนทักเรามาบอกว่า การเปิดเผยข้อมูลแบบนี้ไม่เวิร์กหรอก เพราะเหตุผลที่วงการดาราอยู่ได้คือการไม่บอกค่าตัว ซึ่งเรามองว่าการที่เข้ามาทำตรงนี้ เราต้องใส่ใจเรื่อง transparency ก่อนหน้านี้เราเป็นเอเจนซีเหมือนถูกฝึกว่าต้องเปิดเผย performance ต่างๆ ให้แบรนด์เห็นข้อมูลหรือตัวเลขทั้งหมด เมื่อแบรนด์หรือเอเจนซีเข้าใช้แพลตฟอร์มก็เช็กได้ทันทีว่าอินฟลูฯ แต่ละคนมีค่าตัวเท่าไหร่ และฝั่งอินฟลูฯ ก็จะรู้มูลค่าการทำงานของตัวเองเช่นกัน”

ในยุคที่ใครๆ ก็เป็นอินฟลูเอนเซอร์ได้ ทำคอนเทนต์ขายของเองได้ และรับงานตรงจากแบรนด์เองได้โดยไม่ผ่านแพลตฟอร์มของเทลสกอร์ ซึ่งอาจเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต สุวิตาบอกเราว่า เป็นเรื่องที่ดีด้วยซ้ำ เราไม่ได้พูดให้สวย แต่เป็นเรื่องดีจริงๆ เพราะแสดงให้เห็นว่าในตลาดมีอินฟลูเอนเซอร์เก่งๆ มากขนาดไหน ถ้าเขาอยากดีลตรงกับแบรนด์ก็เป็นเรื่องที่ดี ในขณะเดียวกันเราก็ต้องสำรวจตัวเองอีกครั้งว่า เรายังไม่ดีพอ หรือต้องพัฒนาตัวเองเพิ่มตรงไหน

และหากมองในมุมธุรกิจ ถ้าแบรนด์ต้องการใช้อินฟลูเอนเซอร์เดือนละ 1-2 คน เรามองว่าสามารถติดต่อตรงกับคนคนนั้นได้เลย แต่ถ้าอยากทำงานร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์ 10-20 คนขึ้นไป ก็ติดต่อเราได้ เราพร้อมช่วยให้การทำงานสะดวกขึ้น ลดเวลาในการตามงาน การทำบรีฟ การจ่ายเงิน และมีการเก็บดาต้าคาดการณ์ผลลัพธ์ก่อนรันแคมเปญจริง เป็นระบบที่ขายความชัวร์ว่าเมื่อลงเงินแล้วจะมีการส่งงานแน่นอน”

แล้วถ้าแคมเปญไม่ถึงเป้าจะทำยังไง–เราสงสัย

“ในทุกๆ แคมเปญเราจะคาดการณ์ให้ว่าเมื่อลงเงินไปแล้วผลลัพธ์ที่ได้เป็นยังไง และถ้ารันแคมเปญแล้วยังไม่ถึงเป้า ทีมงานหลังบ้านก็จะเคลื่อนไหวและช่วยหาทางแก้ไขทันที”

ใช้ระบบต่อกรกับอินฟลูเอนเซอร์

การทำงานกับคนถือเป็นวิชาปราบเซียนของหลายๆ ธุรกิจ สำหรับเทลสกอร์ที่มีอินฟลูเอนเซอร์ในระบบเกือบ 1 แสนคน ก็พอเดาได้ว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากจะใช้ทีมงานหลังบ้านสื่อสารแล้ว ยังพัฒนาระบบเพื่อติดตามงานจากอินฟลูเอนเซอร์ทุกฝีก้าว เพราะฉะนั้น อย่าล้อเล่นกับระบบ

“เราต้องต่อกรกับความไม่เสถียรของคนซึ่งเป็นความท้าทายอย่างมาก เพราะเราก็เหมือนมนุษย์คนหนึ่ง มีทั้งทำงานดีบ้าง ไม่ดีบ้าง เรารู้ว่าแต่ละคนมีความถนัดไม่เหมือนกัน เราจึงสร้างแพลตฟอร์มเพื่ออำนวยความสะดวก เช่น อินฟลูฯ ที่ไม่ชอบทำใบเสนอราคา ไม่เข้าใจเรื่องใบทวิ เราก็มีระบบช่วยทำ ถ้าอินฟลูฯ ยังไม่ส่งงาน ไม่กดรับงาน เราก็มีระบบแจ้งเตือนทุกขั้นตอน หรือแม้แต่ฝั่งแบรนด์ ถ้าไม่ตรวจงานที่อินฟลูฯ ส่งภายในระยะเวลาที่กำหนด ก็จะมี notification แจ้งเตือนเช่นกัน” 

นอกจากเรื่องของอินฟลูเอนเซอร์แล้ว การบริหารคนในองค์กรเป็นยังไง

สุวิตาอธิบายว่ามี 2 ส่วนหลักๆ คือ ความโปร่งใสที่กล่าวไปข้างต้น อีกส่วนคือการเปลี่ยนแปลง

เพราะในโลกดิจิทัลทุกอย่างเปลี่ยนเร็วมาก เราจะทำยังไงให้ตามทัน และการเคลื่อนพลพนักงานกว่า 60 คนให้ก้าวไปพร้อมๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เทลสกอร์จึงถือเป็นองค์กรที่ต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งการสร้างแพ็กเกจใหม่ทุกๆ 3 เดือน และพัฒนาระบบให้รองรับแพลตฟอร์มมากขึ้น

“ตลอด 7 ปีที่ผ่านมาถามว่าเหนื่อยไหม บอกเลยว่าเหนื่อยสิ แต่เหมือนเราตีตั๋วนี้มาแล้วเป็นบริษัทที่ 2 แปลว่าเรายังชอบสิ่งที่ทำ แต่พออายุขนาดนี้แล้ว ก็เห็นว่าไม่มีอะไรที่ทำแล้วไม่เหนื่อย ถ้าอยากพักจริงๆ คงมีแค่การรีไทร์ ซึ่งเราก็ยังไม่อยากทำอย่างนั้น เรายังสนุกกับการทำงาน และรู้ว่าความเหนื่อยของแต่ละคนไม่เท่ากัน แต่ก่อนเคยคิดว่าพร้อมเหนื่อย 12 เต็ม 10 แต่พออายุขึ้นเลข 5 ตอนนี้ให้คะแนนที่ 9 เต็ม 10 เรายังพร้อมลุย ไม่ท้อกับการเจอปัญหา”

ในอนาคตเราตั้งเป้าว่าอยากเป็นเบอร์ต้นๆ ในตลาด เป็นแบรนด์ที่อยู่ในหัวใจของลูกค้าทุกคน และอยากสร้าง ecosystem ในธุรกิจอินฟลูเอนเซอร์ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่น การทำอะคาเดมีสอนการเป็นอินฟลูเอนเซอร์ สอนการทำคอนเทนต์ เป็นต้น

เทรนด์อินฟลูเอนเซอร์ที่ห้ามพลาดในปี 2024

สำหรับปี 2024 ที่กำลังจะมาถึง หากหนึ่งในแผนการตลาดของคุณมี influencer marketing อยู่ในนั้น สุวิตาแนะนำ 2 เทรนด์อินฟลูเซอร์ที่น่าจับตามอง และเป็นแนวทางสำหรับธุรกิจในปีหน้า ดังนี้

  1. แบรนด์อยากร่วมงานกับอินฟลูเอนเซอร์ในระยะยาว

คนส่วนใหญ่มักมีภาพจำว่าอินฟลูเอนเซอร์คือบุคคลที่ช่วยขายของหรือทำคอนเทนต์ในแคมเปญสั้นๆ แต่สำหรับปี 2024 ที่กำลังจะมาถึงนี้ เริ่มมีสัญญาณที่แบรนด์ต้องการร่วมงานกับอินฟลูเอนเซอร์ในระยะยาว ซึ่งเป็นส่วนผสมระหว่างแบรนด์แอมบาสเดอร์และคอนเทนต์แอมบาสเดอร์ ที่ไม่ได้ร่วมงานกันแค่ครั้งเดียวแต่เป็นการร่วมงานกันยาวๆ ตลอดปี

  1. Affiliate เป็นเรื่องที่ต้องทำทันที

ในปี 2024 แบรนด์จะวางแผนทาง affiliate marketing อย่างจริงจัง มีการจัดสรรงบสำหรับการทำ affiliate โดยเฉพาะ นั่นหมายความว่า อินฟลูเอนเซอร์สาย seller หรือนักขายจะต้องพัฒนาตัวเองให้มากกว่าเดิม และจะดีขึ้นอีกถ้ามีจำนวนมากขึ้น โดยรูปแบบการขายจะไม่ได้มีแค่การกดกระดิ่งหรือตะโกนเสียงดัง แต่เป็นการขายแบบไฮเอนด์ พูดน้อย พูดเพราะก็ขายได้ เช่น คุณไก่ เจ้าของแบรนด์วีคลีน ที่ทำยอดขายใน TikTok ได้มหาศาล ด้วยการขายแบบเรียบง่าย ไม่พูดเยอะ

ก่อนแยกย้าย เราถามคำถามทิ้งท้ายสำหรับปีหน้าว่า มีสูตรสำเร็จในการทำแคมเปญ influencer marketing ให้ประสบความสำเร็จไหม

“สูตรการทำ influencer marketing เหมือนกับสูตรของค็อกเทล เป็นศาสตร์แห่งการผสมผสาน แต่ส่วนผสมไม่ได้เยอะขนาดนั้น แน่นอนว่าสูตรสำเร็จไม่มี ขอแค่มี objective ในแต่ละแคมเปญ คีย์เมสเซจต้องชัด คนดูต้องได้ประโยชน์ มี storytelling และเข้าใจการผสมผสานการใช้อินฟลูฯ ทั้งในเรื่องของไซส์และความถนัด แคมเปญถึงจะประสบความสำเร็จ”

Writer

นักเขียนที่สนใจเรื่องธุรกิจ การตลาด และความเป็นไปในสังคม

Illustrator

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like