บทเรียนการเป็น ‘ผู้นำ’ ที่รุ่นพี่สอนกันมา จากงาน TechSauce Global Summit 2023
โลกของการทำงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ผู้นำจำเป็นต้องมีทักษะและกรอบความคิดที่พร้อมรับมือกับความท้าทายที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อประคับประคององค์กรให้อยู่รอด
หากมองภาพรวมของคนทำงานในยุคนี้ เห็นได้ว่าชาวเจนฯ Z และมิลเลนเนียล มีบทบาทสำคัญต่อองค์กรอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นความเท่าทันยุคสมัยหรือการมีทักษะที่เป็นลักษณะเฉพาะที่หาไม่ได้ในเจนฯ ก่อนหน้า โจทย์ใหญ่ขององค์กรคือ ทำยังไงให้พวกเขาทำงานอย่างมีความสุขและยั่งยืน ควบคู่ไปกับการใช้ชีวิตอย่างสมดุล
จากเซสชั่น หัวข้อ Preparing Leaders for the Future Workplace ในงาน TechSauce Global Summit 2023 โดย คุณศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์ ผู้บริหารกลุ่มด้านทรัพยากรบุคคล กลุ่มทรู และคุณปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานบริษัท Civil Engineering ได้มาพูดคุยและแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับการเป็นผู้นำในยุคนี้ และแนะแนวทางสำหรับผู้นำในอนาคต
ขับเคลื่อนการทำงานด้วยความสุข
คุณศรินทร์รากล่าวว่า future workplace ต้องเป็นสถานที่การทำงานที่มีความสุข โดยเฉพาะในองค์กรที่เต็มไปด้วยเจนฯ Z และมิลเลนเนียลที่ขับเคลื่อนการทำงานด้วยความสุข และช่วงหลังโควิด ที่ทุกคนทำงานที่ไหนก็ได้ สามารถติดต่อกันได้ไร้พรมแดน ผ่านแพลตฟอร์มอย่างมีประสิทธิภาพ จนมาถึงในวันที่ทุกคนต้องกลับเข้าออฟฟิศ การเข้ามาเพื่อทำงานให้เสร็จแล้วกลับบ้านเป็นเรื่องไม่จำเป็นอีกต่อไป ดังนั้น บริษัทต้องสร้าง workplace หรือพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ทั้งเจนฯ Z และมิลเลนเนียลสื่อสารกันได้สะดวก และส่งเสริมให้พนักงานแสดงศักยภาพได้เต็มที่
ผู้นำแห่งอนาคตต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
เมื่อคนรุ่นใหม่มีความสามารถและทักษะสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตอันใกล้พวกเขาจะกลายเป็นผู้นำในองค์กรต่างๆ ตรงนี้บริษัทสามารถเตรียมความพร้อมได้ด้วยกระบวนการ Reverse Mentor เพื่อให้คำปรึกษา และแชร์ประสบการณ์ร่วมกัน คุณศรินทร์รา กล่าวต่อว่า ในฐานะ HR เราต้องให้คำปรึกษาได้ทุกเรื่อง จึงทำให้เกิดช่วงเวลาสำหรับการพูดคุยโดยเฉพาะ ประมาณ 2 ครั้งต่อเดือน ซึ่งในการพูดคุยแต่ละครั้งจะมีการตั้งคำถามและให้การบ้านกลับไปคิด เช่น มีวิธีการตั้งเป้าหมายยังไง และทำยังไงให้สำเร็จ
ในขณะเดียวกัน เราก็เรียนรู้จากการรับฟัง พนักงานมีสิทธิ์สอนหรือแนะนำเราได้ เช่น ตอนนี้เทรนด์ไหนมาแรง คำพูดวัยรุ่น ละครที่ฮิตอยู่ตอนนี้ ซึ่งการทำแบบนี้ก็เป็นการเรียนรู้บางอย่างจากลูกน้องเช่นกัน
Head-Heart-Hand
Head-Heart-Hand คือคีย์เวิร์ดสำคัญที่คุณปิยะดิษฐ์มองว่าเป็น 3 สิ่งที่ผู้นำยุคนี้ควรมี คือ Head ที่หมายถึง แนวคิดการเป็นผู้นำ การมีมายด์เซตและทัศนคติที่ดี, Heart หมายถึง การหาแพสชั่นให้เจอ รู้ว่าตนเองทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร และ Hand หมายถึง การลงมือทำ การเรียนรู้ และมีเครือข่ายที่ดี
ผู้นำที่ดีเป็นยังไง
จากทัศนะของทั้ง 2 ท่าน มีความเห็นตรงกันว่า ผู้นำต้องมีทักษะการบริหารจัดการที่ดี สามารถสื่อสารกับทีมได้ มีทักษะการเล่าเรื่อง หรือ storytelling พร้อมจะแชร์ไอเดียต่างๆ รวมถึงสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดีด้วย
นอกจากนี้ยังต้องรู้อินไซต์ของพนักงานและคนในทีม เพื่อสร้าง Co-creation หรือสร้างคุณค่าร่วมกัน ซึ่งจะต่อยอดไปสู่การสร้างคอมมิวนิตี้ใหม่ภายในองค์กร ผู้นำไม่จำเป็นต้องนั่งบริหารในออฟฟิศอย่างเดียว สามารถเข้าสังคมกับคนอื่นๆ ได้ ทั้งการทานอาหารร่วมกัน เข้าชมรมเดียวกัน หรือจัดทริปไปเที่ยว ก็ถือเป็นการเรียนรู้ใหม่ๆ
จะรู้ได้ยังไงว่าพนักงานคนนี้พร้อมเป็นผู้นำองค์กรแล้ว
จากประสบการณ์ทำงานของทั้ง 2 ท่าน สรุปได้ว่า นอกจากดูความสำเร็จของผลงานที่ผ่านมาแล้ว การค้นหา hidden talent หรือค้นหาคนเก่งที่ซ่อนอยู่ภายในองค์กรก็สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งคนที่จะเป็นผู้นำต้องมีความรอบรู้ พร้อมพัฒนาตัวเองตลอดเวลา และเสริมทักษะต่างๆ เช่น การบริหารคน การแก้ปัญหา การสื่อสาร critical thinking รวมถึงการ reskill และ upskill
อย่างไรก็ตาม การเป็นผู้นำไม่มีสูตรตายตัว อยู่ที่ว่าองค์กรจะสนับสนุน และให้คำแนะนำไปในทิศทางไหน สำคัญที่ว่ามายด์เซตในการเป็นผู้นำ เพราะเมื่อคุณก้าวสู่การเป็นผู้นำแล้ว หน้าที่จะไม่ใช่การบริหารงานตัวเอง แต่จะต้องบริหารทั้งทีม