stay, wish, me
คุยกับ วริวรรณ์ แห่ง neera retreat hotel ผู้หวังสร้าง positive impact ผ่านการทำโรงแรม
“เราทําโรงแรมก็จริง แต่เราไม่ได้ทําโรงแรมนะ”
ระหว่างสนทนากันที่โซนคาเฟ่ของ neera retreat hotel ซอย–วริวรรณ์ วิทยฐานกรณ์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งก็พูดถึงประโยคที่เธอเน้นย้ำกับพนักงานใหม่ทุกคน
โรงแรมที่ตั้งอยู่ที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม แห่งนี้ร่วมก่อตั้งโดยพี่น้อง 3 ชีวิตที่ต่างถนัดกันไปคนละด้าน ประกอบด้วย ซอย–วริวรรณ์, ซาน–วิชฌ์ และซาว–ศิษฎ์ศิริ วิทยฐานกรณ์
เมื่อมองทะลุกระจกใสของคาเฟ่ออกไป สังเกตบรรยากาศโดยรอบ ยอมรับว่ามันยากที่จะทำความเข้าใจประโยคข้างต้นได้อย่างแจ่มชัด ไม่ว่าจะด้วยสิ่งปลูกสร้าง สิ่งอำนวยความสะดวก พื้นที่ส่วนกลาง พนักงานที่ต้อนรับอย่างเป็นมิตรตามจุดต่างๆ หากมองเผินๆ มันก็คือโรงแรมในแบบที่เราเข้าใจ
แต่เมื่อบทสนทนาลงลึกไปจนถึงแก่นของวิธีคิดการทำโรงแรม ผมก็เข้าใจประโยคที่ว่าอย่างลึกซึ้ง
“Be the start of the ripple.” หรือการเป็นจุดเริ่มต้นของระลอกคลื่น คือประโยคที่ติดอยู่บริเวณทางเข้าซึ่งสะท้อนความเชื่อของโรงแรมนี้ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มก่อตั้ง

“เราเชื่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงจากบุคคล แล้วมันก็จะกระเพื่อมไปสู่คนรอบตัว สู่สังคม แล้วก็ขยายเป็นวงกว้าง สังคมจะเปลี่ยนจริงๆ มันอาจจะไม่ใช่แค่ด้วยวิธีการรณรงค์ เราพูดกันเรื่องเปลี่ยนจิตสํานึก แต่มันก็ไม่ได้เปลี่ยนง่าย มันต้อง inspire มากพอ ไม่ใช่มาจากการ educate หรือบอก เราก็เลยหวังว่าเราอยากจะเป็นพื้นที่ที่ inspire สิ่งเหล่านี้”
โดยเรื่องที่ neera retreat hotel หวังสร้างการเปลี่ยนแปลงล้วนสะท้อนอยู่ใน brand pillar อันเป็นเหมือนเสาหลักหรือจิตวิญญาณของโรงแรม ซึ่งมีทั้งหมด 3 ด้าน
เสาแรก ‘eco-concious’ การใส่ใจและตระหนักรู้ต่อเรื่องสิ่งแวดล้อม เสาที่สอง ‘mindfulness’ การตระหนักรู้ต่อปัจจุบันขณะและอยู่กับตัวเอง และเสาสุดท้าย ‘concious sharing’ การแบ่งปันและส่งต่ออย่างตระหนักรู้
“ที่ผ่านมาเวลาเราพูดถึงโรงแรม เราจะนึกถึงแค่เซอร์วิส ห้องพัก แต่เราตั้งใจจะเป็นโรงแรมที่สร้าง positive impact ทำให้เราไม่ได้ไปโฟกัสในมุมนั้น คือไม่ใช่ว่าเราละเลยนะ แต่ว่ามันไม่ใช่จุดโฟกัสของเรา จุดโฟกัสของเราเป็นการสร้างอิมแพกต์ออกไป
“เราเปลี่ยน priority วิธีมองธุรกิจ”
โดยปกติเมื่อคุยกับคนทำธุรกิจโรงแรม หัวข้อมักจะหนีไม่พ้นเรื่องการบริหารธุรกิจที่พักอย่างลงลึก แต่กับครั้งนี้หัวข้อที่เราพูดคุยน้ำหนักกลับเทไปที่ประเด็นแนวคิดเรื่องความยั่งยืน การกลับมาอยู่กับตัวเอง และความหวังในฐานะคนทำธุรกิจ คล้ายตอกย้ำประโยคของวริวรรณ์ในบรรทัดแรก

stay
“ถ้าสิ่งนั้นจะอยู่กับเราได้นาน มันจะต้องมีแพสชั่น มีความสนใจ มีความหวังของเราอยู่ในนั้น”
พอจะจดจําได้ไหมว่าตอนเริ่มต้นทำธุรกิจโรงแรมตอนนั้นคุณหวังอะไร
จริงๆ จุดเริ่มต้นที่มาที่ไปมันไม่ได้เริ่มต้นจากเรานะ แต่ว่ามันเป็นเรื่องภายในครอบครัว คุณพ่อมีที่ตรงนี้มานานมากแล้ว แล้วคุณพ่ออยากจะทําอะไรสักอย่าง คุณพ่อเป็น pioneer มากๆ คือบ้านเราเป็นคนโซนนครชัยศรี แล้วตอนนั้นพอพ่อรู้ว่าพื้นที่บริเวณนี้เดี๋ยวจะมีการเปลี่ยนสีผังเมือง ทำให้ไม่สามารถสร้างอาคารได้ คุณพ่อก็เลยรีบขออนุญาตก่อน แล้วท่านก็ขึ้นฐานราก ขึ้นโครงสร้างแบบนี้ไว้เลย สร้างไปประมาณ 2 ชั้น แล้วพอน้องชายจบคณะสถาปัตย์ คุณพ่อก็ให้มาช่วยดูโครงการ
พอน้องชายซอยเข้ามาดู ปรากฏว่าเขาทํางานต่อไม่ได้ เพราะตอนนั้นพ่อไม่รู้เหมือนกันว่าจะสร้างสิ่งนี้ไปทําอะไร เขารู้สึก suffer ก็เลยมาถามซอย เขาก็รู้สึกว่า direction มันไม่ชัด ซอยก็บอกว่า ถ้าให้ซอยอ่านเกม ซอยคิดว่าป๊าไม่ได้จะทําสิ่งนี้เพื่อตัวเขา คือตอนนั้นซานจบมาแล้ว ส่วนซาวก็กำลังจะจบ เราก็เลยบอกว่าพี่ซอยคิดว่าโจทย์มันไม่ใช่ว่าซานกําลังทํางานให้ป๊า แต่ให้คิดว่าป๊าต้องทําอะไรบางอย่าง แล้วสุดท้ายมันจะเป็นของลูกๆ

พอโจทย์ตั้งต้นเป็นแบบนั้นมันส่งผลต่อวิธีคิดต่อๆ มายังไงบ้าง
พอเราพูดกันว่าจุดเริ่มต้นของการสร้างครั้งนี้มันจะเป็นของลูกๆ โจทย์เลยกลายเป็นว่าถ้าเราจะทําอะไรสักอย่างขึ้นมามันต้องเป็นสิ่งที่อยู่กับเราได้นาน ซึ่งถ้าสิ่งนั้นจะอยู่กับเราได้นาน มันจะต้องมีแพสชั่น มีความสนใจ มีความหวังของเราอยู่ในนั้น มันไม่ใช่ว่าเราได้โจทย์มาแล้วเราก็ปั้นอะไรสักอย่างที่เป็นโจทย์ของใครก็ไม่รู้
แล้วน้องชายเขาก็บอกว่า เขาดูโครงการนี้คนเดียวไม่ไหว พี่ซอยมาช่วยได้ไหม เพราะเรามีประสบการณ์มากกว่า แต่เราก็จะเห็นว่าในหลายๆ ครอบครัวมันมีปัญหาเยอะนะ ที่พอมีบางคนเป็นหลัก แล้วคนอื่นมาช่วย แล้วเมื่อทําไปนานๆ คนที่ช่วยก็จะเริ่มรู้สึกไม่โอเค ซอยก็เลยบอกว่างั้นเราต้องตกลงกันว่า มันจะไม่ใช่มองว่าพี่ซอยมาช่วยแล้ว แต่ต้องมองว่าเราจะทําอะไรร่วมกัน ทำไปด้วยกัน แล้วมันจะต้องมีสิ่งที่เป็นตัวตนของทุกคนอยู่ในนี้ ถ้ามันไม่มีวันหนึ่งเราก็อาจจะหมดแรง หมดหวังกับธุรกิจที่เราทํา มันจะกลายเป็นแค่แบบฉันทําเพื่อสนับสนุนใครสักคน ที่มันไม่มีเรื่องอะไรที่เป็นกลิ่นอายของฉันเลย เขาก็บอกว่า โอเค ได้


แล้วสุดท้ายทำไมคำตอบถึงกลายเป็นธุรกิจโรงแรม
เราก็ดูในมุมความเป็นไปได้ พื้นฐานซอยเรียนจิตตปัญญาศึกษามา ซอยเห็น pain point ซอยรู้ว่าเทรนด์ของการพัฒนาด้านในมันมาเยอะขึ้น คนสนใจเรื่องพวกนี้เยอะขึ้นมาก แล้วเราทํางานอยู่กับเพื่อนๆ ที่เป็นกระบวนกร เขาจะมี pain point ในการหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการจัดกระบวนการเรียนรู้ คือมันไม่ใช่แค่ห้องสี่เหลี่ยมหนึ่งห้องแล้วจัดกระบวนการเรียนรู้ ถ้ามีพื้นที่ที่มันเหมาะสมน่าจะดี เราก็เลยบอกน้องไปว่าพี่ซอยสนใจอันนี้
เราสนใจในเรื่องการเติบโตของผู้คน แต่ถ้าเราจะไปเปิดบริษัทเทรนนิ่งเฉยๆ แล้วเป็นกระบวนกร ทํางานอาชีพอิสระของเรา เราก็รู้สึกว่าไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด แต่ตรงนี้ถ้ามันมี facility มันมีตึกขึ้นมา เราทำอะไรกับพื้นที่ตรงนี้ได้ไหม เป็นพื้นที่ที่ทำให้คนกลับมาให้เวลากับตัวเอง แล้วเผอิญพื้นฐานฝั่งบ้านคุณแม่เขาทําธุรกิจโรงแรมมา เราก็เลยเสนอว่าถ้าเราจะทําอะไรสักอย่าง โรงแรมก็ยังเป็น advantage เพราะว่าเราสามารถจะเข้าถึง know-how ความรู้ เราถามคนรอบตัวเราได้ เพราะว่าญาติๆ ฝั่งคุณแม่ทำโรงแรมกันหมด คิดว่าถ้าพวกเราทําโรงแรมก็น่าจะมีโอกาสที่ดีกว่า อันนี้คือจุดเริ่มต้น

wish
“มันเป็นความหวังเล็กๆ ว่า พื้นที่เราต้องเป็นได้มากกว่าโรงแรม”
จากคนไม่มีพื้นฐานด้านโรงแรมทั้ง 3 คน พวกคุณเริ่มต้นกันยังไง
สิ่งที่สำคัญคือการหา brand pillar ที่ตรงกัน เราก็เลยเริ่มคุยกันเรื่องมิติของแบรนดิ้งก่อน แต่ว่าแบรนดิ้งในที่นี้มันไม่ใช่เรื่องแบรนดิ้งเพื่อธุรกิจ แต่แบรนดิ้งในความหมายนี้มันคือการหา core pillar หรือ core value บางอย่างที่เราเห็นร่วมกัน เพราะมันจะต้องไม่ใช่แบบพี่ซอยชอบอย่างหนึ่ง ซานชอบอย่างหนึ่ง ซาวชอบอย่างหนึ่ง แล้วเอามาประกบกัน เสร็จแล้วก็แยกๆ กันทำ มันไม่ได้
เราก็จัดเวิร์กช็อปกัน 3 คนพี่น้อง เพื่อที่จะมาดูว่ามีอะไรที่เราเห็นร่วมกัน เป็นคุณค่าร่วมของพวกเรา แล้วมันก็เลยกลายเป็นเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เรามี core value บางอย่างที่ตรงกัน แม้จะไม่ได้ตรงกันเป๊ะ อย่างซอยอาจจะมีความสนใจสายสิ่งแวดล้อม สายกรีน ค่อนข้างเยอะในระดับหนึ่ง แต่น้องชายเขาจะไปสายชอบเดินป่า เข้าป่าลึก ส่วนน้องสาวตั้งแต่เด็กๆ เขาชอบปลูกต้นไม้พืชพันธุ์ต่างๆ ซึ่งมันอาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่พอเรามองตรงนี้เราเห็นว่ามันเป็นจุดร่วม มันไม่ใช่เราอยากทำเรื่องสิ่งแวดล้อมเพราะตอนนี้เทรนด์เรื่อง sustainable จะมา เทรนด์ eco มา เดี๋ยวเรามาทำกัน มันไม่ใช่แบบนั้น
แล้วอย่างที่บอกว่าซอยเรียนจิตตปัญญามา ซอยมักจะเอาเรื่องราวที่เราเรียนรู้เข้าไปใช้ในครอบครัว แล้วมันทําให้ครอบครัวเปลี่ยน ทำให้เรารู้ว่าจุดสําคัญของการเปลี่ยนแปลงของสังคม มันมาจากหน่วยเล็กๆ ก็คือคนหนึ่งคน ถ้าคนหนึ่งคนเปลี่ยนมันอาจจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้คนรอบๆ ได้ มันก็เลยกลายเป็นแนวคิดของ neera retreat hotel ที่ว่า ‘Be the start of the ripple.’

Be the start of the ripple. สำคัญยังไง ถึงขั้นคุณติดประโยคนี้ไว้บริเวณทางเดินเข้าโรงแรม
มันคือหยดน้ำหยดแรก ซึ่งก็คือหนึ่งบุคคล เราเชื่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงจากบุคคล แล้วมันก็จะกระเพื่อมไปสู่คนรอบตัว สู่สังคม แล้วก็ขยายเป็นวงกว้าง สังคมจะเปลี่ยนจริงๆ มันอาจจะไม่ใช่แค่ด้วยวิธีการรณรงค์ เราพูดกันเรื่องเปลี่ยนจิตสํานึก แต่มันก็ไม่ได้เปลี่ยนง่าย มันต้อง inspire มากพอ ไม่ใช่มาจากการ educate หรือบอก เราก็เลยหวังว่าเราอยากจะเป็นพื้นที่ที่ inspire สิ่งเหล่านี้
เราอยากเป็นหยดน้ำเล็กๆ หนึ่งหยดให้กับคนที่มา ให้เขากลับไปแล้วเขาอยากจะเปลี่ยนหนึ่งอย่าง ยกตัวอย่างซอยเองที่พกกระบอกน้ำไปทุกที่ ซึ่งซอยก็ไม่อยากจะเชื่อว่า ไอ้เรื่องที่เราทําเล็กๆ แบบนี้ คนที่อยู่ใกล้ซอยซึ่งเมื่อก่อนเขาจะทักว่าหนักไหมเนี่ย เพราะซอยหิ้วขวดขนาด 2 ลิตร แต่ทุกวันนี้เขาก็หันมาพกเหมือนกัน สุดท้ายเราเห็นผลจริงๆ ว่าคนหนึ่งคนมีแรงเหนี่ยวนําคนรอบข้าง แล้วมันก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง
เราก็เอาคอนเซปต์นี้เข้ามาใช้กับโรงแรม โดย brand pillar มีทั้งหมด 3 เสา เสาแรกคือ eco-concious เสาที่ 2 คือ mindfulness และเสาที่ 3 คือ concious sharing

จากคอนเซปต์ที่ว่ามันทำให้การทำโรงแรมของคุณแตกต่างจากการทำโรงแรมในภาพจำยังไงบ้าง
ที่ผ่านมาเวลาเราพูดถึงโรงแรม เราจะนึกถึงแค่เซอร์วิส ห้องพัก แต่พอเราตั้งใจจะเป็นโรงแรมที่สร้าง positive impact ทำให้เราไม่ได้ไปโฟกัสในมุมนั้น คือไม่ใช่ว่าเราละเลยนะ แต่ว่ามันไม่ใช่จุดโฟกัสของเรา จุดโฟกัสของเราเป็นการสร้างอิมแพกต์ออกไป
เราเปลี่ยน priority วิธีมองธุรกิจ จากที่เวลาเราคิดถึงการทำโรงแรมสมองเราจะคิดแค่เรื่องโรงแรม แต่ตอนนี้เราบอกว่า ไม่ เราจะเอาเรื่องคุณค่ามาก่อน เอา value นํา business แล้ว value ที่เราจะส่งต่อไปเดี๋ยวมันน่าจะดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่มี value เดียวกันเข้ามา แล้วเราก็เชื่อว่าพอเขามี value พวกนี้ เดี๋ยวเขาก็จะ ripple ออกไปเหมือนกัน มันจะมีแรงกระเพื่อม อันนี้คือภาพที่เราเห็น มันเป็นความหวังเล็กๆ ว่าพื้นที่เราต้องเป็นได้มากกว่าโรงแรม พื้นที่เราไม่ใช่แค่โรงแรม

ความยากของการทำโรงแรมที่ไม่ใช่แค่โรงแรมคืออะไร
ความท้าทายคือช่วงแรกๆ ที่เรา recruit พนักงาน เราก็รู้ว่าเราต้องเอาพนักงานโรงแรมเข้ามานะ แต่ว่าพนักงานโรงแรมก็จะมีวิธีคิดแบบโรงแร้ม โรงแรม ทุกครั้งที่เราสัมภาษณ์ เราก็จะบอกว่า “เราทําโรงแรมก็จริง แต่เราไม่ได้ทําโรงแรมนะ” เขาก็ยังไม่เข้าใจ ไม่ทําโรงแรมคืออะไร เพราะว่าเราเป็นโรงแรมนะ เราต้องจดจัดตั้งโรงแรม ทําทุกอย่างเหมือนโรงแรม แต่ priority เราไม่ใช่โรงแรม
แล้วทำยังไงให้พนักงานเข้าใจ เห็นภาพเดียวกัน
เราก็จะแชร์วิชชั่นของเราให้เขาฟังว่าเราเห็นภาพแบบนี้ เราจะสร้างอิมแพกต์ได้ยังไง เพราะฉะนั้นคนที่จะเข้ามา เขาก็จะต้องรู้สึก inspire จากเราเหมือนกันว่าถ้าเขาเข้ามา นอกจากเขาได้ทํางานโรงแรม เขายังได้สร้างการเปลี่ยนแปลงบางอย่างด้วยนะ คือเราไม่ได้ทํา green wash แบบว่า โอเค ตอนนี้โรงแรมกรีนแล้ว ใส่เสื้อเขียว ปั่นจักรยานกัน แต่เราคิดว่ามันต้องมาจากดีเอ็นเอของทีมงาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเปลี่ยนพนักงาน เราเชื่อว่ามันต้องมาจากข้างใน ถ้าข้างในเปลี่ยน มันถึงจะเขยิบออกไปสู่คนข้างนอกได้ มันก็เลยต้องทําตั้งแต่ core principle
ตอนที่พนักงานทุกคนเข้ามา แม้ว่าคุณไม่รู้เรื่องสิ่งแวดล้อมเลย แต่เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในหน้าที่ที่คุณจะต้องให้ความร่วมมือและต้องทํา แล้ววันปฐมนิเทศของเรา วิดีโอแรกที่พนักงานจะได้ดูคือวิดีโอเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เรื่องโรงแรมเป็นยังไง แล้วทุกคนจะต้องเข้าเวิร์กช็อปแยกขยะ ที่นี่คุณต้องทิ้งขยะให้เป็น เราให้เขาตระหนักถึงเรื่องนี้เป็นอย่างแรกก่อนจะให้ความรู้เรื่องโรงแรม เราไม่ได้หวังว่ามันจะเพอร์เฟกต์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ว่ามันคือการสร้างความตระหนักรู้ วันหนึ่งเดี๋ยวเขาอยู่ไปเรื่อยๆ เขาก็เข้าใจ เขาก็จะทําได้ จะใช้คําว่าเหมือนซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมที่เราปลูกฝังให้ เพื่อให้มันเกิดอิมแพกต์ที่เป็นความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ก่อน
อย่างน้อยก็เป็นน้ำหนึ่งหยดที่เป็นจุดเริ่มต้น เราไม่รู้ว่าคนคนหนึ่งจะเปลี่ยนแปลงหรือเขาจะไปงอกงามวันไหน มันเหมือนเราหยอดเมล็ดพันธุ์หนึ่งเมล็ด บางคนก็อาจจะงอกที่นี่ก็ได้ แต่บางคนไม่ได้งอกที่นี่ก็ไม่เป็นไร แต่ว่าเราสร้างอิมแพกต์ด้วยการใส่บางอย่างลงไป


ที่ว่า brand pillar มีทั้งหมด 3 เสา คือ eco-concious, mindfulness และ concious sharing คุณสะท้อนมันออกมาผ่านรายละเอียดต่างๆ ของโรงแรมยังไงบ้าง
เรื่องแรกคือ eco-concious ถ้าจับต้องได้ง่ายๆ ก็คือบรรดา amenity ในห้องพักทั้งหลาย pain point ของโรงแรมในประเด็นสิ่งแวดล้อมคือ waste เยอะ ทุกวันแม่บ้านจะต้องเก็บพวกสบู่ ยาสีฟัน หวี หรืออะไรที่เป็นพลาสติก ถ้าคนแกะปุ๊บต้องเอาไปทิ้ง ในวันที่เราเริ่มคิดก็คุยกันว่าถ้าเราไปในทาง eco-conscious โจทย์ของเราคือเป็นไปได้ไหมที่ห้องพักจะไม่มี single-use plastic เลย ซึ่งโจทย์ยากสุดคือหมวกอาบน้ำ ที่สุดท้ายเราใช้เป็นผ้าคลุมซึ่งลูกค้าก็อาจจะบ่นเพราะพออาบเสร็จแล้วผมอาจจะเปียกบ้าง แต่เรารู้สึกว่านี่คือจุดยืนของเรา เรากําลังนําเสนอไลฟ์สไตล์ที่ต่างไปจากเดิม ถ้าคุณทําอย่างนั้นได้ คุณก็ช่วยโลกแล้วนะ ถ้าคุณยังไม่ได้นำสิ่งนี้ไปปรับใช้ในวิถีชีวิตก็มาทดลองก่อน เพราะฉะนั้นการมาที่นี่เหมือนการได้ทดลองไลฟ์สไตล์บางอย่าง
บ้านที่คุณอยู่คุณอาจจะมีถังขยะแบบเดียว แต่ในห้องพักของเรามี 3 แบบ คือเราไม่สามารถจะทําถังขยะ 7 ถัง อยู่ในห้องพัก มันเยอะไป (หัวเราะ) เราก็เลยออกแบบ journey การแยกขยะของ neera เอง จะเห็นว่า neera จะมีแค่ 2+1 ถัง คือถ้าคุณทิ้งถังนี้ ให้คุณรู้ไปเลยนะว่าของที่คุณทิ้งมันจบชีวิตลงที่บ่อฝังกลบ แต่ถ้าคุณทิ้งอีก 2 ถังที่เราเรียกว่า rewaste แสดงว่าคุณกําลังให้โอกาสขยะชิ้นนี้ไปมีชีวิตต่อสักแบบหนึ่ง ซึ่งอันนี้คือหน้าที่ของพนักงาน neera ทุกคนที่ในแต่ละเดือนเราจะมีวัน Green Day อยู่ 2 วัน ให้พนักงานสลับเวรกันมาช่วยกันแยกขยะ ซึ่งในนครปฐมระบบการจัดการขยะยังไม่ดีเท่ากรุงเทพฯ หลังแยกเราก็เลยใช้วิธีขาย พอขายเสร็จเขาจะมีระบบที่จะนำไปส่งต่อให้มันถูกที่ แล้วเงินที่ได้จากตรงนี้ก็จะไปเพิ่มเป็น funding สําหรับ well-being ของพนักงาน
นอกจากนั้นเรายังพยายามเลือกใช้ผลิตภัณฑ์หรือวัสดุต่างๆ พวกนี้มันคือดีเทลที่เยอะมาก อย่างจานรองแก้ว เราก็เอาพลาสติกเหลือใช้มาทำ หรือจะเห็นว่าเราไม่ใช้ดอกไม้สด ซึ่งโรงแรมส่วนใหญ่จะใช้ดอกไม้ ที่นี่เราใช้ใบไม้ที่อยู่ในโรงแรมนี่แหละ มันคือเรื่องเล็กๆ ที่เราจะคอยคิดว่ามีอะไรที่ upcycling เอามาใช้ได้ไหม ซึ่งบางอย่างก็ใช้ไม่ได้ เพราะว่าเราต้องการอายุการใช้งานที่ยาวมากเราก็ต้องซื้อ

เห็นข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ในโรงแรมที่คุณไปคอลแล็บกับแบรนด์ต่างๆ ทำไมถึงเลือกวิธีนี้แทนที่จะผลิตเป็นของตัวเอง
มันวนกลับไปที่ core principle ที่เป็น brand pillar อีกข้อ คือเรื่อง conscious sharing ในมุมของธุรกิจ
ถ้า conscious sharing ในเชิงคอนเซปต์ มันคือการที่เราแบ่งปัน ส่งต่ออะไรให้ใครต่อใครได้บ้าง แต่ว่า conscious sharing ในมุมธุรกิจเราจะมองเรื่อง partnership เพราะฉะนั้นถ้าเราเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของใครที่เราคิดว่ามันดี แล้วตรงกับคอนเซปต์ของเรา ให้ value ในเรื่องเดียวกัน เราไม่ได้อยากจะทําเป็น house brand ของตัวเอง
คือถ้าเป็นโรงแรมส่วนใหญ่เขาก็อาจจะจ้างคนอื่นผลิต ทำเป็นน้ำดื่ม สบู่ แชมพู แล้วก็ติดป้ายว่าเป็นของตัวเอง เป็นแบรนด์เรา แต่ neera จะรู้สึกว่าเราควรจะส่งเสริมให้คนมีโอกาสได้รู้จักผู้ประกอบการที่ทําสิ่งดีๆ เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราจะใช้เป็นการคอลแล็บกันหมด ต่อให้สบู่ที่เรามีให้ในห้องจะมีหลายบริษัทรับจ้างผลิตและยอมให้ติดแบรนด์เรา แต่เราก็ยังอยากจะคอลแล็บกับเขา ให้คนรู้จักว่าแบรนด์นี้เขาทําเรื่องเหล่านี้ เขาทําออร์แกนิกนะ เขามีวิถีและวิธีคิดเหมือนเรา เราถึงเลือกเขา นี่คือ conscious sharing
ยกตัวอย่างเช่นการคอลแล็บกับแบรนด์ moreloop แบรนด์ที่ใช้ผ้าเหลือใช้มาผลิตเป็นของใช้ภายในห้องพัก หรืออย่างเรื่องกาแฟ คือเราก็ทําคาเฟ่ไม่เป็น เราก็ต้องการที่ปรึกษา ช่วงแรกเราก็พยายามหา ซึ่งแต่ละรายราคาสูงมาก สุดท้ายเราได้ไปรู้จักจากร้านกาแฟเล็กๆ ตรงสามย่าน วันนั้นเราไปคุยกับเจ้าของ พอคุยเสร็จก็รู้ว่าที่เขาทําร้านกาแฟทั้งหมดก็เพื่อซัพพอร์ตชาวเขาที่ปลูกกาแฟอยู่ที่น่าน แล้วเขาขึ้นไปทํางานที่น่านกับกลุ่มเดอม้ง แล้วตอนนี้ Coffee De Hmong ดังมาก พอเราคุยกัน value เราตรงกัน เขาก็มาช่วยเราในราคามิตรภาพมาก ซึ่งอันนี้คือ conscious sharing ที่เรามอง

me
“พอเราเห็นตัวเองชัด เราจะรู้ว่าการตัดสินใจของเรามันกลับมาที่แก่นอะไร”
แล้ว brand pillar อีกข้ออย่าง mindfulness คุณทำยังไงให้ผู้มาพักได้อยู่กับตัวเอง
เรื่อง mindfulness เป็นโจทย์ที่ท้าทายมาก เพราะว่ามันจับต้องยาก อย่างเรื่อง eco นี่ปีแรกเราใส่เต็มที่ เพราะว่าเรื่อง eco ทุกคนเก็ตง่ายและสื่อสารง่าย แล้วพอเริ่มปลายปีแรก เริ่มเข้าปีที่ 2 เราก็คิดว่าเดี๋ยวเราต้องเริ่มใส่กลิ่นอาย mindfulness เพิ่มมากขึ้น
mindfulness แรกที่ทุกคนสัมผัสได้ก็คือเป็นคอนเซปต์ของคนออกแบบที่ทําให้พื้นที่นี้ให้ความรู้สึกแบบนั้นตั้งแต่เข้ามา เมื่อเข้ามาคุณจะต้องรู้สึก คุณอาจจะต้องเดินไกลหน่อย ไม่ใช่เปิดประตูมาแล้วเจอ front โรงแรมเลย คุณเข้ามาคุณจะมีเวลาอยู่กับสเปซ อยู่กับตัวเอง แล้วสีที่เราเลือกใช้ การให้คอนเนกต์กับธรรมชาติได้ อันนี้ก็เป็น mindfulness อีกแบบหนึ่งง่ายๆ

แล้วเราก็ทําห้องที่เป็น signature ชื่อว่า ‘mindful’ ซึ่งห้องนี้จะให้คนใช้เวลาอยู่กับตัวเองจริงๆ ไม่ให้มีสิ่งเร้าเยอะ เป็นห้องที่ไม่มีทีวีให้ แต่ว่าให้ลําโพงแทน แล้วเราก็ทํา mindful corner ในห้องนั้น มีหนังสือให้อ่านเยอะหน่อย มี gadget mindfulness ใส่เข้าไปในห้อง คุณจะเล่นโยคะ นั่งสมาธิ ก็ทำได้ มีสิ่งที่ทำให้คนที่เข้าพักสามารถ activate sense ของเขา อย่างน้ำมันหอมระเหยที่ให้คุณหยดเอง มี mindful card ที่เป็นเควสต์สำหรับกลางวันกับกลางคืน เพียงคุณเลือกการ์ดมันก็จะมีเควสต์ให้คุณทําแต่ละวันเพื่อให้คุณ mindful กับตัวเอง คุณก็จะเอนจอยอยู่กับตัวเอง ซึ่งเราจะมีห้องแบบนี้อยู่แค่ 5 ห้องเท่านั้น
เห็นว่าโรงแรมคุณมีเวิร์กช็อป mindfulness ด้วยการสอนทำแยมด้วย การทำแยมเกี่ยวกับการอยู่กับตัวเองยังไง
คือเรามีโปรแกรมต่างๆ ที่เป็นกิจกรรมที่จัดให้กับลูกค้า แล้วเราก็มีคลาสทําแยม แต่ว่าเวลาเราสอน มันไม่ใช่สอนการทําแยมแบบชวนคนมาสนุกกับการทําแยม แต่ระหว่างการสอนกระบวนกรจะให้คุณฝึก mindfulness ระหว่างการทําแยม เช่นคุณสังเกตอันนี้ไหม ตอนนี้กลิ่นแตะจมูกแล้ว มันเป็นยังไง ความร้อนมันเป็นยังไง อันนี้ก็คือการเริ่มให้เขากลับมามีโอกาสอยู่กับตัวเอง
เพราะฉะนั้นเรื่อง mindfulness มันจะอยู่ในกิจกรรมต่างๆ ด้วย มีกิจกรรมวาดรูป การวาดเส้นตามศาสตร์ Zentangle เพื่อฝึกสมาธิ คนที่มาพักก็สามารถที่จะเข้าร่วมในราคาแค่หลักร้อย แล้วก็ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง ซึ่งมันไม่ใช่แค่ไปวาดรูปสวยๆ แต่วาดเสร็จแล้วเราได้ดูใจตัวเอง กระบวนกรก็จะตั้งคําถามหลายๆ อย่างให้กับคนเข้าร่วมกิจกรรมในคลาสเล็กๆ เช่นคุณเห็นอะไร รู้สึกยังไง เป็นยังไง คนก็จะเริ่มรู้จักตัวเองมากขึ้น

คุณคิดว่าทําไมโลกทุกวันนี้คนเราจึงโหยหากระบวนการหรือพื้นที่ในการกลับมาอยู่กับตัวเอง
อันนี้ตอบจากความรู้สึกตัวเองนะ ซอยว่าทุกวันนี้คุณมีโอกาสคอนเนกต์กับธรรมชาติน้อยลง ซึ่งคําว่าธรรมชาติในความหมายของเราไม่ใช่แค่ต้นไม้ ใบหญ้า แม่น้ำ แต่ว่าเราคอนเนกต์กันเองก็น้อยลง แล้วเวลาที่มันเร่งรีบขึ้นเราก็คอนเนกต์กับตัวเองน้อยลงอีก พอเราคอนเนกต์กันน้อย ผลลัพธ์ที่ออกมาก็คือฉันรู้สึกเคว้งคว้าง มันหาอะไรไม่เจอ โหยหาอะไรสักอย่าง มันแสดงว่าบางอย่างมันขาดไป มัน missing แล้วเขาจะหาได้จากที่ไหน ซึ่งคลาสพวกนี้มันดันมีขึ้นมาเพื่อให้คนกลับมาคอนเนกต์กับตัวเอง มันก็เลยมีพื้นที่แบบนี้
แต่จริงๆ มันไม่ต้องไปคลาสไหนก็ได้ แค่เรามีคนที่เราไว้วางใจด้วยอยู่ แล้วเขารับฟังเรา เขายอมรับเรา แล้วเขาสะท้อนสิ่งที่เราเป็นได้ ซอยว่าอีกคนก็ growth แล้วนะ มันถึงมีเซสชั่นแบบ one-on-one ไง แต่ทุกวันนี้คุณต้องจ่ายตังค์ให้กับคนที่มีทักษะเหล่านี้ เพราะคนเราไม่มีทักษะในการรับฟังเท่าไหร่แล้ว เราไร้ความอดทนแล้ว แค่ฟังกันนานๆ แล้วอีกฝ่ายพูดไม่เข้าหูนิดหนึ่งก็ไม่ไหวแล้ว มันต่างไปจากบริบทเมื่อก่อน เราก็เลยว่างเปล่า แล้วมันไม่ใช่ว่างเปล่าแบบบรรลุนะ แต่มัน lost เขาก็เลยรู้สึกว่าเขาต้องหาสิ่งเหล่านี้ แล้วถ้าใครหาสิ่งนั้นเจอเขาจะรู้สึกเต็มทันทีเลย พอเต็มเสร็จเขาจะกลายเป็น change agent หนึ่งคนในสังคมได้ ซึ่งคนที่เต็มเท่านั้นถึงจะไปเติมให้คนอื่น

จากการที่เรียนจิตตปัญญาศึกษามา คุณได้เรียนรู้อะไรที่สำคัญที่นำมาใช้ในธุรกิจที่ทำบ้าง
มันคือการชัดเจนและมี authentic บางอย่างกับตัวเอง ซึ่งถ้าเราไม่ได้ชัดในเรื่องพวกนี้ ถ้าหลักหรือ principle ในชีวิตเราไม่ชัด การตัดสินใจของเราจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่พอตรงนี้เราชัด เราจะรู้ว่าการตัดสินใจของเรามันกลับมาที่แก่นอะไร
ซอยรู้สึกว่ามันสําคัญมาก แต่มันไม่เกี่ยวกับการบริหารนะ การบริหารมันก็เป็น technical อีกแบบหนึ่ง แต่เรารู้สึกว่าอันนี้มันสําคัญ มันทําให้เราไม่รู้สึก suffer ตลอดกระบวนการที่เราจะสร้างหรือทำธุรกิจ บางคนนี่แบกธุรกิจจน suffer ซอยเห็นหลายคนที่พยายามปั้นธุรกิจ สร้างธุรกิจ แล้วถึงจุดหนึ่งสิ่งที่เคยเป็นแพสชั่นมันไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว แล้วเขาก็หาตัวเองไม่เจอ ซอยคิดว่าแก่นตรงนั้นของเขามันอาจจะไม่ชัด แล้วมันสั่นคลอน

แล้วคนทั่วไปจะหาแก่นนั้นเจอได้ยังไงถ้าไม่ได้เรียนแบบคุณ
ถ้าถามเรา เราว่าจุดเริ่มต้นคือความสามารถที่จะยอมรับสิ่งที่เราเป็นจริงๆ แม้ว่ามันจะแตกต่างจากคนอื่นหลายๆ คน แน่นอนว่าสิ่งแวดล้อมมันมีผลกับเรา ทั้งต่อความรู้สึก ต่อการตัดสินใจ แต่ว่าจะทํายังไงให้แก่นของเราแข็งแรงขึ้น ซึ่งการยอมรับสิ่งที่ตัวเองเป็นน่าจะเป็นสภาวะแรกที่จะทําให้เราแข็งแรงขึ้นจากข้างใน พอเราแข็งแรงขึ้นจากข้างใน สิ่งกระทบข้างนอก สิ่งเร้ามันก็อาจจะลดลง แต่มันไม่ได้แข็งแบบตายตัวนะ แต่มันจะชัด
ทุกวันนี้เครื่องมือมันเยอะ เพราะฉะนั้นคุณอาจจะไม่ได้จําเป็นต้องไปเรียน แต่ถ้ามันสําคัญกับคุณ ซอยคิดว่าต้องให้เวลา แล้วเดี๋ยวมันจะค่อยๆ ชัดขึ้น ชัดขึ้น ซอยเชื่อว่าทุกคนมี signature ของตัวเอง เหมือนเรามีลายนิ้วมือ มีม่านตา ที่ไม่เหมือนกัน แล้วทุกคนก็มีลายนิ้วมือทางจิตที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งสิ่งเหล่านั้นที่มันสะท้อนออกไป มันสร้างสรรค์ มันคือ purpose ของการมีอยู่ของชีวิตคุณ มันอาจจะไม่เหมือนใครเลยนะ ดูไม่มี value กับใครเลย แต่มันคือเวอร์ชั่นที่เป็นตัวตนของคุณ มันคือสิ่งนี้ แล้วถ้าข้างในเราไม่ได้ถูกสั่นคลอนจากปัจจัยภายนอก ตรงนี้มันน่าจะเป็นหลักหรือเป็น principal ให้กับชีวิตเราได้

สุดท้ายการที่ neera มี core pillar ที่แข็งแรงมันส่งผลดีในแง่มุมธุรกิจยังไง
ซอยคิดว่าความชัดของสิ่งที่เป็นจุดยืนของเรามันช่วยทําให้แบรนด์เราแข็งแรง เมื่อเรามีคอนเซปต์บางอย่างมันก็ทำให้ภาพเราชัด การมา neera เขาจะไม่ได้รู้สึกแค่ว่านี่คือโรงแรมหนึ่งที่นครปฐมเท่านั้น สำหรับเรามันมีทั้งกลุ่มลูกค้าที่ aware แบรนดิ้งของเรา ทําการบ้านมาก่อนเลย แล้วมาเพื่อเสพเรื่องพวกนี้โดยเฉพาะ แล้วก็มีกลุ่มที่อาจจะไม่รู้อีโหน่อีเหน่เลยว่าโรงแรมนี้มีสิ่งเหล่านี้ด้วยเหรอ ตอนแรกรู้สึกแค่ว่าสวยจัง แล้วก็เริ่มรู้รายละเอียดจาก hotel tour บางคนพอฟัง hotel tour เสร็จก็บอกว่า โอ้โห ทำขนาดนี้เลยเหรอ เขาก็จะเริ่มเอนจอย บางคนมาเที่ยวเสร็จกลับไปแล้วพาทั้งบริษัทกลับมาเพื่อมาเรียน มันมีเรื่องแบบนี้ที่เป็นโอกาสที่เพิ่มเข้ามาอีกมากมาย แล้วมันทําให้เราเห็นว่าในสังคมมีคนที่อยากจะไปในทิศทางนี้แต่เขาไม่รู้ว่าจะเรียนที่ไหนเยอะมาก มีกรุ๊ปที่เราก็ไม่คิดว่าเขาจะเลือกเรา อย่างเช่นสถานทูตสวีเดนที่ติดต่อมา ท่านทูตเขียนจดหมายให้เลยว่าเขาเลือกที่นี่เพราะว่าเรื่องเหล่านี้

สิ่งที่พวกคุณเชื่อมีคนเห็น
ใช่ พอแบรนด์เราชัดเขาก็อยากมาสัมผัส เขาขอมาดูงาน แล้วเขาก็เซต year plan มาเพื่อมาฟังว่าเรา practice กันยังไง ซึ่งเราห่างไกลจากสวีเดนมากนะ เขากรีนสุดๆ นึกออกไหม แต่เขาก็เข้ามา เพื่อจะได้เข้าใจว่าทําไมประเทศไทยกรีนแบบที่เขาทําไม่ได้ เราก็แลกเปลี่ยนความรู้กัน
เราได้ ripple ความรู้หรือสิ่งที่เราทำส่งต่อออกไปยังองค์กรต่างๆ มีคนเชิญพวกเราไปเป็นวิทยากรที่บริษัทเขา เพื่อไปส่งต่อสิ่งเหล่านี้ ซอยรู้สึกว่ามันเป็นโอกาส แล้วเวลาเราได้ออกไปพูดให้คนฟังอีก 500 คน 1,000 คน เขาก็รู้จัก neera เพิ่มขึ้น ซึ่งมันไม่ใช่เพราะตัวโรงแรม แต่มันเป็นเพราะแก่นที่เรามี แล้วพอเขาเห็นว่ามันมีอย่างนี้จริงๆ เขาก็เลยชวนให้เราไปส่งต่อ โรงแรมก็ได้ผลพลอยได้ในเรื่องธุรกิจจากการเป็นที่รู้จักมากขึ้น ก็ทำให้คนเข้ามาเพิ่ม
เหมือนสิ่งที่ดึงดูดคนเข้ามามันไม่ใช่เรื่องสิ่งปลูกสร้าง แต่เป็นเพราะคุณค่าที่โรงแรมแห่งนี้ยึดถือ
ไม่ใช่เรื่องสิ่งปลูกสร้าง ความสวยงามพอมาเห็นเรื่อยๆ มันก็ชินแล้วไหม แล้วมันก็จะหมดไป น้องชายซอยเองก็บอกเหมือนกันว่าแขกมาครั้งแรกเขาอาจจะว้าวกับสถานที่ แต่แขกที่จะกลับมาอีกครั้งมันต้องเป็นแขกที่เขามี value ตรงกับเรา เพราะถ้าคนมาเพราะพื้นที่สวย โรงแรมใหม่ๆ เปิดตลอดนะ เขาก็อาจจะเปลี่ยนไปที่สวยๆ ที่อื่น แต่มันก็จะมีคนที่แบบฉันเป็นแฟนคลับที่นี่ ฉันตั้งใจจะกลับมาที่นี่อีก เราเคยคุยกับลูกค้าหลายคน แล้วก็มีลูกค้าที่ตั้งใจเขียนโปสต์การ์ดทิ้งไว้ให้เรา บางคนเป็นศิลปินก็วาดรูปให้ แล้วเขาก็ขอบคุณที่เราทําโรงแรมแบบนี้ ทำให้เรารู้สึกว่าการที่เราได้ส่งต่อสิ่งเหล่านี้มันมีอิมแพกต์