People Creative Talk Conference Forecast 2024

เป็นมนุษย์เงินเดือนยุคนี้ยังไงไม่ให้เครียด สรุปเทรนด์บริหารคนจากงาน CTC Forecast 2024

“บริษัทเราอยู่กันแบบครอบครัว” 

เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินประโยคนี้ โดยเฉพาะตอนสัมภาษณ์งาน ที่มีการการันตีถึงวัฒนธรรมการทำงานแบบครอบครัว มีความเป็นพี่น้องที่สนิทสนมกัน แต่สำหรับบางคนเมื่อได้ยินประโยคนี้ก็อาจแซวว่า ครอบครัวที่ว่าเป็นครอบครัวจิระอนันต์จากซีรีส์เลือดข้นคนจางหรือเปล่า ที่ต้องคอยระแวงระวังหลังตลอดเวลาหรือเปล่า หรือสมมติเป็นการทำงานแบบครอบครัวจริงๆ คำถามสำคัญคือนั่นเป็นสิ่งที่ส่งผลดีในการทำงานหรือเปล่า แล้วนั่นใช่สิ่งที่คนในยุคปัจจุบันคาดหวังหรือไม่

ในงาน AP Thailand Presents CTC FORECAST 2024 ที่ผ่านมา มีหลายเซสชั่นที่น่าสนใจ หนึ่งในนั้นคือ เซสชั่น People Forecast โดย ดร.วิโรจน์ จิรพัฒนกุล Managing Director, Skooldio, อภิชาติ ขันธวิธิ CEO of QGEN Consultant และ พญ.พิยะดา หาชัยภูมิ จิตแพทย์ ที่ปรึกษาด้าน People & Mindful Leadership ที่มาแชร์มุมมองและแนวคิดเกี่ยวกับการบริหารคน ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงทักษะที่คนทำงานควรมีติดตัว

ก่อนจะเล่าถึงเทรนด์การทำงานในปี 2024 เราอาจต้องมองย้อนไปก่อนว่าอะไรคือปัญหาจริงๆ ของคนทำงาน ทั้งในระดับผู้บริหาร หัวหน้า และลูกน้อง โดยจากผลสำรวจของ QGEN Consultant พบว่า การเมืองในองค์กรคือเหตุผลอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยลูกน้องผลงานไม่ดี ความสามารถไม่เพียงพอ, ผู้บริหารสร้างปัญหาให้ทีม, จำนวนงานมากเกินไปจนเกิด workload และการทำงานแบบไร้ทิศทาง

ในขณะเดียวกันต้องบอกว่า เมื่อเราอยู่ในโลกของการทำงาน สถานที่ที่รวบรวมความหลากหลายไว้ด้วยกัน ทั้งเรื่องเพศ อายุ นิสัยใจคอ ความคิด ทัศนคติ หรือวิธีการทำงาน ประเด็นคือ ผู้บริหารจะทำยังไงให้ความหลากหลายเหล่านี้เกิดประโยชน์ ทุกคนพร้อมเปิดรับความคิดเห็นของกันและกัน เพื่อสร้างบรรยากาศในการทำงาน หรือสภาพจิตใจพนักงานให้ดีขึ้น

‘Mega Trend for People 2024’

ไม่ว่าจะทำสินค้าหรือบริการใดก็ตาม ‘คน’ ถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด ณ เวลานี้มีเมกะเทรนด์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานมากมาย โดยอภิชาติได้สรุปออกมาเป็น 4 เทรนด์ ดังนี้

  1. Aging Population, Rising Youth Unemployment, and Global Talent Mobility คือสังคมผู้สูงอายุ คนทำงานจะอายุมากขึ้น ในขณะที่คนรุ่นใหม่ว่างงานเยอะขึ้น หรือเมื่อหากต้องการทำงาน จะมองหาการย้ายประเทศ
  2. Advanced technology and Generative Al คือคนทำงานต้องมีทักษะด้านเทคโนโลยี และ AI
  3. Talent and Skill Shortage คือความสามารถและทักษะที่แรงงานขาดแคลน
  4. Dynamic of People and Work Relationship คือ ความสัมพันธ์ระหว่างคนและองค์กร ในสมัยก่อนคนมักมองว่าจะนำชีวิตตัวเองไปฝากไว้กับองค์กร ต้องการเกษียณการทำงานที่นี่ แต่ตอนนี้คนรุ่นใหม่มองว่าต้องการทำงานเพื่อให้ได้เงิน และไม่ได้มองภาพการทำงานว่าต้องทำงานแบบครอบครัว หรือมีความผูกพันใดๆ เป็นความสัมพันธ์แบบวิน-วิน คือองค์กรได้งาน และพนักงานได้เงิน เมื่อองค์กรบอกว่าตัวเองทำงานแบบครอบครัว คนรุ่นใหม่ก็จะถามต่อว่า ครอบครัวแบบไหน?

ทั้ง 4 เทรนด์นี้คือสิ่งที่น่าจับตามอง และสุดท้ายแล้วไม่ว่าองค์กรจะมีเป้าหมายธุรกิจแบบไหน เป้าหมายหลักคือ การส่งเสริมให้พนักงานเฉิดฉายให้มากที่สุด

นอกจากนี้อภิชาติยังได้กล่าวถึงปัญหาเรื่อง productivity paradox (ความขัดแย้งในยุคของการทำงานแบบไฮบริด) ในมุมขององค์กร 

จากการทำงานแบบไฮบริด องค์กรมองว่า productivity ยังไม่ถึงเป้า แต่พนักงานมองว่าช่วงเวิร์กฟรอมโฮมนี่แหละที่มี productivity ที่สุด เมื่อถึงเวลาบริษัทก็ออกนโยบายให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศร้อยเปอร์เซ็นต์นำมาซึ่งความขัดแย้ง และอาจเกิดกระแสการลาออกครั้งใหญ่ ต่อยอดเป็น The Great Compromise ที่ทั้งสองฝ่ายต้องประยุกต์ความต้องการเพื่อให้เกิดผลดีต่อธุรกิจ เช่น เข้าออฟฟิศ 3 วัน เวิร์กฟรอมโฮม 2 วัน หรือทำงาน 4 วัน วันละ 10 ชั่วโมง และหยุด 3 วัน เป็นเทรนด์ที่จะเห็นได้มากขึ้นในปีนี้

‘โมเดล SEA บริหารคนอย่างสมดุล’

ดร.วิโรจน์กล่าวว่า ‘คน’ ถือเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งในการทำธุรกิจ หน้าที่ของผู้บริหารจึงต้องหาจุดสมดุลในการบริหาร โดยแนะนำโมเดล SEA ที่เป็นการหาจุดกึ่งกลางระหว่างคนทำงานและองค์กร

  • ‘Speed (ความเร็ว) – Sustainbility (ความยั่งยืน)’ หลายครั้งที่คนทำงานต้องเผชิญกับปัญหาที่เกิดจากความไม่เข้าใจ เช่น สั่งงานวันนี้แต่จริงๆ อยากได้ตั้งแต่เมื่อวาน หรือสั่งงานเยอะและต่อเนื่อง แน่นอนว่าคุณจะได้งานที่ต้องการในเวลาอันรวดเร็ว แต่ไม่ยั่งยืน ซึ่งความยั่งยืนในที่นี้หมายถึง การเปิดโอกาสให้พนักงานได้เรียนรู้และเสริมทักษะในด้านต่างๆ เพื่อที่ในอนาคตพวกเขาจะทำงานได้รวดเร็วและมีมาตรฐานยิ่งขึ้น ดังนั้น แทนที่จะสั่งงานอย่างเดียว องค์กรควรมีเวลาให้พนักงานได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ด้วย 
  • ‘Efficiency (มุ่งเน้นประสิทธิภาพ) – Empathy (เข้าใจพนักงาน)’ ใครที่อยู่ในตำแหน่งหัวหน้าทีมอาจเข้าใจสิ่งนี้อย่างชัดเจน ที่ได้รับคำสั่งจากเบื้องบนว่าต้องการด่วน แต่ข้างล่างหรือคนทำงาน ก็รู้สึก burnout หรือทำงานจนแทบไม่มีเวลากินข้าวเพื่อให้งานออกมาดีที่สุด จุดสมดุลในที่นี้จึงเป็นเรื่องของความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจกัน เปิดใจรับฟังความคิดเห็นของพนักงาน เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วง
  • ‘Alignment (กำหนดทิศทางชัดเจน) – Autonomy (ให้อิสระ)’ ในการทำงานยุคก่อน องค์กรอาจมีหน้าที่ชี้นิ้วสั่ง พนักงานมีหน้าที่ลงมือทำ แต่ยุคนี้ไม่ใช่อย่างนั้น คนรุ่นใหม่ต้องการอิสระในการทำงาน มีวิธีคิดในแบบของตัวเอง จุดสมดุลในที่นี้จึงเป็นเรื่องของการกำหนดทิศทางองค์กรให้ชัดเจน มีเป้าหมายที่จับต้องได้ เน้นมองที่ผลลัพธ์เป็นหลัก แล้วปล่อยให้พนักงานมีอิสระอย่างเต็มที่

ทั้ง 6 คีย์เวิร์ดนี้อาจฟังดูขัดแย้งกัน แต่ถ้าองค์กรยอมช้าเพื่อให้ยั่งยืนและเร็วขึ้นในอนาคต หรือวางกรอบการทำงานให้ชัดเจน เพื่อให้พนักงานได้คิดและวางแผนอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม การบริหารคนไม่สามารถใช้แนวคิด one-size-fits-all ได้ ผู้บริหารหรือ HR ต้องเข้าใจพนักงานอย่างแท้จริง เพื่อดีไซน์แนวทางการบริหารและการทำงานที่เหมาะกับคนแต่ละกลุ่ม

‘3 ทักษะที่คนทำงานยุคนี้ต้องมี’

นอกจากนี้ ดร.วิโรจน์ยังกล่าวเสริมการทำงานในยุคที่คนต้องต่อสู้กับ AI ว่า ปัจจุบันคนยังมีหน้าที่สร้างคำสั่งให้ AI ทำตาม นั่นหมายความว่า มนุษย์เรายังต้อง creative thinking ในการตั้งคำถามหรือคำสั่ง และเมื่อได้รับคำตอบแล้ว เรายังต้องใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจว่าอะไรคือคำตอบที่ใช่ที่สุด ดังนั้น หากเรานำความสามารถของ AI มาผสานรวมกับความครีเอทีฟของเราก็จะยิ่งส่งผลดีต่องาน และในปี 2024 มี 3 ทักษะสำคัญที่คนทำงานต้องมีคือ

  1. Enduring Human Skills ทักษะความเป็นคน เพราะเป็นสิ่งที่คอมพิวเตอร์ไม่สามารถแทนที่ได้ ทั้งทักษะด้านความคิด การรับรู้ความสามารถของตัวเอง และการทำงานร่วมกับผู้อื่น
  2. The New Literacy เป็นทักษะเกิดใหม่ ที่เมื่อได้เรียนรู้แล้วจะเปลี่ยนวิธีการทำงานไปเลย ไม่ว่าจะเป็นทักษะด้าน AI & data, creative thinking หรือด้านการสื่อสาร เช่น ทักษะด้านภาษาอังกฤษที่แต่ก่อนไม่ต้องมีก็ได้ แต่เดี๋ยวนี้ทุกคนต้องสื่อสารภาษาอังกฤษได้ เป็นต้น
  3. Advanced Technical Skills เป็นทักษะที่มีความล้ำสมัย และยังไม่มีคนรู้มากนัก เช่น ทักษะด้านนวัตกรรม หรือทักษะด้านเทคนิคเชิงลึกต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นทักษะที่สร้างช่วยให้องค์กรแข่งขันได้อย่างมั่นคงในอนาคต 

‘ดูแลใจคนทำงาน’

เมื่อคนทำงานต้องเผชิญกับความท้าทาย ย่อมส่งผลต่อสภาพจิตใจและร่างกายและร่างกายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายคนอาจไม่รู้ว่า ปัจจุบันคนไทยเป็นมะเร็งมากขึ้น และส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้บริหารหรือระดับซีเนียร์ รองลงมาก็คือ โรคเส้นเลือดในสมองแตก โรคเบาหวาน และโรคความดัน ซึ่งโรคร้ายเหล่านี้สัมพันธ์กับการทำงานและการใช้ชีวิตทั้งสิ้น

พญ.พิยะดากล่าวว่า จากเหตุผลข้างต้นทำให้องค์กรต้องเข้าใจคำว่า mental health หรือสุขภาวะทางใจ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับพนักงานทุกระดับ เพิ่มขีดความสามารถในการรับรู้ศักยภาพตัวเอง การรับมือกับความเครียด ซึ่งส่งผลต่อสภาพจิตใจ จนทำให้เกิดอาการซึมเศร้า กังวล จัดการความรู้สึกไม่ได้ ความอดทนน้อยลง และอาจมีการระเบิดอารมณ์ ซึ่งถ้าองค์กรมีความรู้มากพอก็จะช่วยลดความเสี่ยงเหล่านี้ได้

‘4 วิธีฟื้นฟูใจคนทำงาน’ 

จากประสบการณ์ที่ได้พบเจอผู้คนมากมายทำให้ พญ.พิยะดาได้รับรู้และเข้าถึงปัญหาที่คนทำงานยุคนี้ต้องเจอ เมื่อได้พูดคุยและให้คำปรึกษา ทำให้จำแนกทางออกของปัญหาเหล่านี้ได้ 4 วิธี คื

  1. Self-Awareness พยายามรู้จักและรักตัวเองให้เป็น
  2. Other เคารพผู้อื่น อย่าลืมว่าเราไม่ใช่คนเดียวในจักรวาล คนที่ไม่เหมือนเราก็ไม่ใช่คนแปลก
  3. Deep Listening รู้จักรับฟังอย่างลึกซึ้ง
  4. Transparent & Creative Communication สื่อสารอย่างสร้างสรรค์ ซื่อสัตย์ และจริงใจ

อย่างไรก็ตาม การจะสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้แข็งแกร่งควรเน้นเรื่องการอยู่ร่วมกัน มีการแบ่งปัน มีเป้าหมายเดียวกัน เอื้อให้พนักงานมีบทบาทการทำงานที่ชัดเจน เพื่อสร้างความผูกพันในองค์กร และมีการดูแล mental health ของพนักงานอย่างจริงจัง

พญ.พิยะดาได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ถ้าเรื่อง climate change เป็นเรื่องใหญ่ของโลก เรื่อง mental health คือเรื่องใหญ่ของโลกภายใน

Writer

นักเขียนที่สนใจเรื่องธุรกิจ การตลาด และความเป็นไปในสังคม

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม Email: [email protected]

You Might Also Like