National Innovation Agency
NIA เปิดแผนเพิ่มดัชนีนวัตกรรมไทยสู่อันดับที่ 30 ของโลก ภายในปี 2030
งานวิจัยและนวัตกรรมของไทยส่วนมากมักจบอยู่แค่ในกระดาษ ไม่มีการนำไปใช้หรือต่อยอด ถึงขั้นมีหลายคนมองว่างานวิจัยนั้นเป็นงานวิจัยขึ้นหิ้ง ซึ่งในความเป็นจริงนวัตกรรมต่างๆ ที่ทุ่มเทเวลาคิดค้นควรต้องถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ไม่ว่าจะในทางธุรกิจหรือมิติอื่นๆ ในสังคม เพราะแท้จริงแล้วนวัตกรรมคือสิ่งที่ช่วยแก้ปัญหาให้มนุษย์ ทว่าการจะพัฒนานวัตกรรมต้องมีแรงสนับสนุนอย่างมาก ทั้งเรื่องบุคลากร องค์ความรู้ เงินลงทุน ฯลฯ
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เล่าถึง pain point ของนวัตกรรมไทยว่า ผู้ประกอบการไทยยังไม่กล้าใช้นวัตกรรมจากคนไทยด้วยกันเท่าไหร่ ต้องมีงานวิจัยรองรับหรือมีผู้ใช้งานมาก่อน ซึ่งต้องการเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนก่อนนำมาใช้ในไลน์ผลิต ดังนั้น หน้าที่สำคัญของ NIA คือ การพัฒนานวัตกรรมให้สร้างรายได้ และสร้างความเชื่อมั่นไปสู่ผู้ประกอบการ
เมื่อไม่นานมานี้ องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ได้ประกาศผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 43 และอยู่ในอันดับที่ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย
ปัจจุบันนวัตกรรมไทยมีระบบนิเวศที่เข้มแข็งขึ้น มีหลายหน่วยงานให้การสนับสนุนอย่างเชื่อมโยงกัน บวกกับมีจำนวนผู้ประกอบการนวัตกรรมเพิ่มขึ้น ทำให้ NIA ในฐานะของผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม (focal conductor) ได้วางกลยุทธ์หลัก 7 ข้อในการขับเคลื่อนดัชนีนวัตกรรมไทยสู่อันดับที่ 30 ภายในปี 2030 ประกอบด้วย
- สร้างและยกระดับความสามารถผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมายร่วมกับเครือข่าย ตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยเน้น 5 อุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ เกษตรและอาหาร ท่องเที่ยว สุขภาพ พลังงานและสิ่งแวดล้อม และซอฟต์พาวเวอร์ ใช้ culture innovation ชูจุดเด่นเรื่องความครีเอทีฟ เห็นได้ว่านวัตกรรมไม่ใช่แค่เรื่องวิทยาศาสตร์ แต่รวมถึงศิลปะและวัฒนธรรม
- ส่งเสริมนวัตกรรมแบบเปิดและทำให้ระบบนวัตกรรมไทยเปิดกว้าง เน้นเชื่อมโยงผู้ประกอบการกับแหล่งเงินทุนอื่นๆ เป็นการให้ทุนรายอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับภูมิภาค เพื่อกระจายโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุน
- ส่งเสริมการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ร่วมกับมหาวิทยาลัยและอุทยานวิทยาศาสตร์
- เป็นศูนย์การสร้างระบบนิเวศที่ส่งเสริมนวัตกรรม เชื่อมโยงการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ เช่น การจัดงานอีเวนต์ขนาดใหญ่ที่มีหลายหน่วยงานร่วมออกบูท เพื่อให้เห็นกระบวนการทำงานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
- ส่งเสริมตลาดนวัตกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ร่วมมือกับแพลตฟอร์ม e-Commerce เพื่อทำแค็ตตาล็อกสินค้านวัตกรรม หรือร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อขยายตลาด
- สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของนวัตกรรม ผ่านโครงการ Innovation Thailand ประกวดนวัตกรรม งาน SITE และงาน Ubon Art Fest โดยตั้งเป้าผู้ร่วมงานไว้ที่ 50,000 ราย ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
- พัฒนาองค์กร เน้นการทำงานแบบ cross functional ลดขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน มีการวัดผลความสำเร็จที่ชัดเจน
นอกจากนี้ NIA ยังมีแนวทางการยกระดับนวัตกรรมไทยด้วย ‘2 ลด 3 เพิ่ม’ ประกอบด้วย ลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะผู้ประกอบการในต่างจังหวัด ที่ต้องเข้าถึงแหล่งลงทุนและนวัตกรรมได้ง่าย ลดอุปสรรค การเข้าถึงนวัตกรรมทุกภาคส่วน การเชื่อมโยงตลาดและโครงสร้างพื้นฐาน แก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโต เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพิ่มจำนวนนวัตกรให้ได้ 10,000 ราย ภายใน 4 ปี และเพิ่มศักยภาพด้านธุรกิจ เพื่อให้แข่งขันกับนวัตกรรมจากต่างประเทศ
นวัตกรรมเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศให้แข่งขันได้ในสังคมโลก ในอดีตประเทศไทยอาศัยสินค้าเกษตรเป็นผู้เล่นหลัก แทนที่จะส่งออกวัตถุดิบอย่างเดียว หากมีนวัตกรรมที่ดี ก็นำมาต่อยอดและเพิ่มมูลค่าได้มากขึ้น
ผลการจัดอันดับและกลยุทธ์เหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่าทุกภาคส่วนของไทย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน การศึกษา ประชาชน พยายามยกระดับความสามารถนวัตกรรม เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง สู่ประเทศรายได้สูง ด้วยนวัตกรรมและงานวิจัยต่างๆ ก้าวสู่ประเทศนวัตกรรมในอันดับที่ 30 ภายในปี 2030 ตามที่วางเป้าหมายเอาไว้