A City Built on Mindfulness : Lessons from Bhutan
คุยกับนายกฯ ภูฏานถึงเบื้องหลังสมญานามประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกและแผนพัฒนาเมืองแห่งสติ
ณ ประเทศที่ไม่มีสัญญาณไฟจราจร ไม่มีบิลบอร์ดริมถนน มีเพียงทิวทัศน์ของชนบทที่เรียบง่าย ภูมิประเทศเต็มไปด้วยทุ่งนา วัดโบราณ และขุนเขาศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านต่างเคารพบูชา ที่นี่คือภูฏาน ดินแดนที่ดูเหมือนหยุดเวลาไว้เพื่อรักษาความงดงามของวิถีชีวิตดั้งเดิม แต่กลับมีความลึกลับอันมีเสน่ห์อย่างประหลาดจากโรงแรมที่ซ่อนตัวอยู่ในหุบเขาและร้านขายของที่ระลึกกับงานฝีมือแสนประณีต
ที่นี่คือแผ่นดินของผู้เลี้ยงจามรี ปกครองโดยระบอบกษัตริย์ที่ยังคงมีบทบาทอย่างมั่นคงควบคู่กับนักปราชญ์ พระอาจารย์ รินโปเช ลามะ และพระชั้นผู้ใหญ่ วิถีชีวิตประจำวันเต็มไปด้วยเสียงเพลงสวด คำกล่าวมนต์ เครื่องสักการะ พิธีกรรมและการบูชาเทพเจ้า
เมืองหลวงอย่างทิมพูในวันอาทิตย์ไม่มีคนพลุกพล่านมากนัก เมื่อเอ่ยถามคนภูฏานว่าทำไมถึงไม่มีคนออกมาเดินเล่นช้อปปิ้งที่เมืองในวันหยุด ก็ได้รับคำตอบว่าคนที่นี่มักใช้เวลายามว่างปิกนิกท่ามกลางธรรมชาติ



ภูฏานเป็นประเทศเล็กๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ในเทือกเขาหิมาลัยตะวันออก ระหว่างสองมหาอำนาจอย่างอินเดียและจีน แม้ตำแหน่งที่ตั้งอาจดูเปราะบางในทางภูมิรัฐศาสตร์ แต่ค่านิยมของประเทศกลับแข็งแกร่งอย่างน่าทึ่ง และยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเทือกเขาสูงบริสุทธิ์ (Purity Mountain) ซึ่งไม่เคยมีผู้พิชิตมากที่สุดในโลก
ไม่ใช่แค่เพราะความเชื่อทางจิตวิญญาณที่ทำให้ภูเขาที่นี่ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ แต่เพราะกลยุทธ์หลักในการต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของประเทศนี้ยึดหลัก ‘high value, low volume’ ที่ส่งเสริมความยั่งยืน นั่นคือการเน้นนักท่องเที่ยวคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณ โดยเก็บค่า Sustainable Development Fee (SDF) จากนักท่องเที่ยววันละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ นอกจากค่าวีซ่าเข้าประเทศเพื่อนำมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้ภูฏานสามารถปกป้องทรัพยากรทางธรรมชาติไว้ได้อย่างเงียบสงบ ในขณะที่ประเทศอื่นอาจยกภูเขาขึ้นขายเป็นสินค้าทางการท่องเที่ยว
สื่อทั่วโลกยังลงข่าวความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness: GNH) ของภูฏาน
ที่เรียกได้ว่าเป็นปรัชญาการพัฒนาประเทศซึ่งสวนทางกับการวัดผลการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP (Gross Domestic Product) ของประเทศอื่นทั่วโลก
ในวันที่ภูฏานเตรียมแผนพัฒนาเมืองและต้อนรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น เราถือโอกาสนี้ชวนทุกคนร่วม
ทริป ขึ้นเครื่องบินสายการบิน Drukair ของภูฏาน เดินทางไปชมจิตวิญญาณของดินแดนมังกรสายฟ้าแห่งนี้ผ่านบทสนทนาเปี่ยมวิสัยทัศน์กับผู้นำประเทศด้วยกัน


The Development Philosophy of a Soulful Nation
Tshering Tobgay นายกรัฐมนตรีภูฏาน เล่าจุดเริ่มต้นของการที่ประเทศได้รับการขนานนามเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกว่า ผู้ริเริ่มกรอบแนวคิดเชิงนโยบายนี้คือสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก (Jigme Khesar Namgyel Wangchuck)
“หลักปรัชญาความสุขมวลรวมประชาชาติ (GNH) เป็นแนวทางที่สร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางสังคม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การรักษาวัฒนธรรม และการบริหารที่ดี ในช่วงห้าทศวรรษที่ผ่านมา ภูฏานประสบความสำเร็จอย่างมากในทุกด้านเหล่านี้ แม้ว่าเศรษฐกิจของเรายังมีขนาดเล็ก แต่ก็เติบโตอย่างมั่นคง เศรษฐกิจของเราเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยั่งยืน และเป็นธรรม ด้านสังคม เราพัฒนาประเทศอย่างมากให้ประชาชนของเราทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาและบริการสุขภาพได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เรามีระบบสวัสดิการที่ดีมาก ทำให้สังคมของเรามีความก้าวหน้าอย่างมาก ประเทศเรามีวัฒนธรรมที่ยังคงมีชีวิตชีวา เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเราและยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้านสิ่งแวดล้อม ภูฏานเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยิ่ง และยังเป็นประเทศที่มีคาร์บอนสุทธิเป็นลบ (carbon negative)”


อย่างไรก็ตาม Tshering Tobgay กล่าวว่าความสำเร็จในการนำหลักความสุขมวลรวมประชาชาติมาใช้ ก่อให้เกิดความท้าทายใหญ่เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นของประชาชน การบริหารจัดการทรัพยากรอย่างจำกัด และการปรับตัวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งล้วนเป็นโจทย์สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ
“พอเยาวชนของเราทุกคนได้โอกาสเรียนหนังสือ ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพดี รวมถึงการที่เราใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการเรียนการสอนซึ่งทำให้สื่อสารภาษาอังกฤษได้ทุกคน คนภูฏานรุ่นใหม่จึงมีศักยภาพในการทำงานในประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้ว ซึ่งให้ค่าตอบแทนสูงกว่าภูฏานอย่างมาก
“แนวทางแก้ปัญหาคือ แม้เศรษฐกิจของเราจะเติบโตมาโดยตลอด แต่วันนี้เราจำเป็นต้องเร่งการเติบโตให้เร็วยิ่งขึ้น เพื่อให้เยาวชนของเราสามารถหางานที่ดีในประเทศได้ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปทำงานต่างประเทศ และคนที่ทำงานต่างประเทศจะได้อยากกลับมาทำงานในภูฏาน”
อุตสาหกรรมหลักแห่งอนาคตของประเทศภูฏานไม่ได้มีแค่ภาคการท่องเที่ยว ภาคบริการ ภาคเกษตรกรรมอินทรีย์และผลิตภัณฑ์เกษตรเท่านั้น แต่ยังเน้นพัฒนาธุรกิจพลังงาน ไปจนถึงเทคโนโลยีแห่งอนาคตอย่าง computing power, บล็อกเชน และเทคโนโลยีสารสนเทศ ควบคู่กับการพัฒนาธุรกิจในอุตสาหกรรมสุขภาพ จิตวิญญาณ และการอนุรักษ์ธรรมชาติ จึงไม่น่าแปลกใจว่าประเทศที่มีเมืองวิวชนบทอย่างภูฏานจะมีข่าวเรื่องการพัฒนา green bitcoin ออกสื่อทั่วโลก




ด้วยความเป็นประเทศเล็กที่ตั้งอยู่ท่ามกลางประเทศมหาอำนาจ ภูฏานจึงมีความสัมพันธ์ทางการทูตอันดีกับเพื่อนบ้าน ซึ่งแน่นอนว่าหนึ่งในนั้นคือประเทศไทย
“ความสัมพันธ์ของเรากับทุกประเทศอยู่ในเกณฑ์ดีมาก เราไม่มีปัญหากับประเทศใดเลย กับจีน ความสัมพันธ์ของเราเป็นไปด้วยมิตรภาพอันดี ส่วนกับอินเดียนั้นก็ดีมาก และถือเป็นแบบอย่างของมิตรภาพระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน ตั้งแต่ปี 1947 ที่อินเดียได้รับเอกราชมาจนถึงปัจจุบัน ความสัมพันธ์ของเรากับอินเดียก็พัฒนาอย่างต่อเนื่องทุกปี ในปัจจุบัน มิตรภาพระหว่างรัฐบาลและประชาชนของสองประเทศยังคงแข็งแกร่ง และจะดำเนินต่อไปอย่างมั่นคงแน่นอน ส่วนกับประเทศไทย ความสัมพันธ์ก็ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และตอนนี้ยอดเยี่ยมมาก โดยมีรากฐานอยู่ในมิตรภาพระหว่างสองราชวงศ์
“เรามีข้อตกลงการค้าเสรีกับอินเดีย ซึ่งคิดเป็นกว่า 80% ของการค้าทั้งหมดของภูฏาน ดังนั้นนักลงทุนที่มาลงทุนในภูฏานจะสามารถเข้าถึงตลาดขนาดใหญ่ของอินเดียได้ทันที นอกจากอินเดีย เรายังมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเนปาลและบังกลาเทศ และที่สำคัญ ล่าสุดเราเพิ่งลงนามข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศไทย”
หลักฐานของมิตรภาพอันดีนั้นพบเห็นได้จากตัวอย่าง เช่น นโยบายสินค้า OGOP (One Gewog One Product) ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก ‘หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์’ (OTOP) ของประเทศไทย โดยสินค้าชุมชนโดดเด่นในภูฏานมีหลากหลายตั้งแต่พริก น้ำผึ้ง น้ำผลไม้ ไวน์ แยม ยาและสมุนไพร เครื่องหอม ไปจนถึงชา ฯลฯ




Futuristic Vision of
Mindfulness City
โดยปกติแล้วนักท่องเที่ยวที่มาเยือนภูฏานมักแวะเมืองสำคัญอย่าง พาโร (Paro) เมืองที่รุ่มรวยวัฒนธรรม, ทิมพู (Thimphu) เมืองหลวงปัจจุบัน กับพูนาคา (Punakha) เมืองหลวงเก่าที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน 300 ปี และขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองโรแมนติก
แต่ด้วยวิสัยทัศน์การพัฒนาเมืองแห่งอนาคตอันยิ่งใหญ่ของประเทศนี้ วันนี้จึงอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับเกเลพู (Gelephu) เมืองแห่งสติที่กำลังอยู่ในแผนพัฒนาเมือง โดยมุ่งหวังให้เป็นแหล่งบ่มเพาะธุรกิจและนวัตกรรมใหม่ที่ยังคงหยั่งรากอยู่บนธรรมชาติและวัฒนธรรมดั้งเดิม เมืองที่ธรรมชาติได้รับการส่งเสริม และประเพณีได้รับการอนุรักษ์ โดยพัฒนาความทันสมัยทางสถาปัตยกรรมและเทคโนโลยีควบคู่กันไป
ณ วันที่เหยียบเมืองเกเลพู พื้นที่แห่งนี้ยังเป็นเมืองชนบทเต็มไปด้วยทุ่งหญ้า ก้อนกรวด และแม่น้ำที่ดูเหมือนยังไม่เคยมีนักท่องเที่ยวย่างกรายมาก่อน Tshering Tobgay กล่าวว่า การตั้งวิสัยทัศน์การพัฒนาเมืองนี้มาจากพระมหากษัตริย์ของพวกเขาอีกเช่นกัน
“ในขณะนี้ Gelephu Mindfulness City มีสถานะเป็นเขตการปกครองพิเศษซึ่งมีความเป็นอิสระทั้งในด้านโครงสร้างกฎหมาย ระบบราชการ และตุลาการ ซึ่งเปรียบได้กับระบบ ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ (One Country, Two Systems) ทำให้เมืองนี้สามารถมีระบบบริหารของตนเองอย่างเป็นอิสระ เมื่อมองไปยังอนาคตข้างหน้า ในฐานะเขตการปกครองพิเศษ เกเลพูจะมีกฎหมายของตนเอง ซึ่งช่วยดึงดูดธุรกิจและการลงทุนสู่เมืองนี้ โดยเราหวังว่า เกเลพูจะเป็นประตูเชื่อมต่อกับอินเดียและเอเชียใต้ รวมถึงทวีปเอเชียที่เหลืออย่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
หากใครไม่เข้าใจว่าการบริหารแบบ ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ เป็นยังไง ให้ลองนึกถึงฮ่องกงที่เป็นเขตบริหารพิเศษโดยรัฐบาลจีนเพื่อการปกครองตนเองอย่างเป็นอิสระ และสำหรับเมืองอย่างเกเลพูที่มีโร้ดแมปการเติบโตที่พิเศษ จึงต้องการรูปแบบการบริหารอิสระที่เหมาะสมกับพื้นที่ “ตอนนี้การพัฒนาเมืองเริ่มต้นขึ้นแล้ว เรามีกฎหมายของตนเอง มีระบบการบริหาร การเงิน และธนาคารของตัวเอง ธุรกิจสามารถจดทะเบียนและเริ่มดำเนินงานใน Gelephu Mindfulness City ได้แล้ว พร้อมกับได้รับประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานที่เตรียมไว้

“ความแตกต่างสำคัญจากเมืองอื่นๆ อย่างแรกคือขนาดของเมือง เกเลพูมีพื้นที่ 2,500 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมากกว่าสิงคโปร์ถึงสามเท่า ประการต่อมาคือการเป็นเมืองที่มีจุดเด่นด้านความยั่งยืน สร้างขึ้นบนหลักการของความยั่งยืนและความกลมกลืนกับธรรมชาติ มากกว่า 70% ของเมืองเป็นป่าไม้และเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง อีกทั้งยังเป็นเมืองที่มีคาร์บอนสุทธิเป็นลบ เรียกได้ว่าเป็นเมืองใหญ่เพียงแห่งเดียวในโลกที่มีคุณสมบัติเป็น carbon negative city แบบนี้
“บริษัท Bjarke Ingels Group: BIG จากเดนมาร์กได้ออกแบบผังเมืองและภาพรวมเชิงสถาปัตยกรรมของเมืองแล้ว ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางไปทั่วโลก ขณะนี้เรากำลังเริ่มดำเนินการในพื้นที่เฉพาะ โดยสนามบินนานาชาติเป็นโครงการสำคัญลำดับแรก คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปีนี้ และแล้วเสร็จภายใน 4 ปี เรากำลังพัฒนาเส้นทางหลวงและสะพานสำคัญหลายแห่ง รวมถึงเร่งพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำ (hydropower) ที่มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 5,000 เมกะวัตต์”

Dasho Dr. Lotay Tshering ผู้เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีแห่งภูฏานและดำรงตำแหน่ง Governor of Gelephu Mindfulness City ชี้ให้เราดูทัศนียภาพจากมุมที่วิวสวยที่สุดของเมือง ณ วันนี้พื้นที่แห่งนี้เต็มไปด้วยธรรมชาติ และวันข้างหน้าเมืองแห่งอนาคตที่ทันสมัยขึ้นก็จะยังคงยึดหลักออกแบบเมืองที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติต่อไปเช่นเดิม




เมืองแห่งอนาคตนี้ออกแบบโดยอิงจากรูปทรงสายน้ำ เป็นแผ่นดินแห่งสะพานที่เชื่อมต่อไปยังสถานที่สำคัญอย่างสนามบินแห่งใหม่ มีศูนย์จิตวิญญาณแบบวัชรยาน (Vajrayana) ศูนย์สุขภาพที่ประยุกต์ระหว่างศาสตร์แพทย์ตะวันออกและตะวันตก มหาวิทยาลัย ศูนย์วัฒนธรรม ตลาด โรงเรือนปลูกพืช และเขื่อนพลังน้ำที่ออกแบบท่ามกลางภูมิทัศน์ที่ลดหลั่นเป็นชั้นๆ ราวกับถ้ำเสือแห่งศตวรรษที่ 21
ย่านที่อยู่อาศัย 11 เขตถูกออกแบบให้มีผังสมมาตรตามหลักมันดาลา (Mandala) โดยมีการสร้างนาข้าวตลอดแนวแม่น้ำและลำธารที่ไหลผ่านพื้นที่ คำนึงถึงปัญหาน้ำท่วมในฤดูมรสุมและความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างเส้นทางคมนาคมในคอนเซปต์ inhabitable bridges ที่สอดคล้องกับหลักความสุขมวลรวมประชาชาติ (GNH) เช่น ถนนสายเล็กๆ ที่ปูด้วยวัสดุซึมน้ำได้และยืดหยุ่นต่อสภาพแวดล้อม และยังมีแผนดึงดูดนักท่องเที่ยวในอนาคตด้วยแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น น้ำพุร้อนและอุทยานแห่งชาติ กิจกรรมแอดเวนเจอร์ทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแก่นแท้ในการพัฒนาเมืองคือแนวคิดที่ว่าธรรมชาติคือสิ่งมีชีวิตที่มีลมหายใจ คำว่า ‘compassion’ หรือการแผ่เมตตากรุณาสำหรับชาวภูฏานจึงเป็นการคำนึงถึงสรรพชีวิตและธรรมชาติทั้งหมดบนโลกใบนี้ ไม่ใช่แค่เพื่อนมนุษย์เท่านั้น ซึ่งช่วยส่งเสริมให้เกิดการปกป้องอนุรักษ์แหล่งธรรมชาติและการเคารพบูชาเทพที่คอยปกปักรักษาธรรมชาติไว้ด้วย
เมืองเกเลพูแห่งนี้จึงต้องการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติที่มีมายด์เซต ‘invest with purpose’ คือมุ่งหวังจะทำธุรกิจด้วยค่านิยมของความยั่งยืน ความกลมกลืน ใส่ใจมิติทางจิตวิญญาณ และมองเห็นความสำคัญของความสุขมวลรวมประชาชาติที่สอดคล้องกับหลักการของประเทศ





Follow Cultural Paths
ในมิติทางศาสนา ชาวภูฏานนับถือพุทธศาสนานิกายวัชรยานซึ่งมีความแตกต่างจากพุทธนิกายเถรวาทที่คนไทยนับถือกัน หลักการของเถรวาทคือฝึกจิตให้ว่างด้วยการละทุกอย่าง แก่นของวัชรยานกลับเป็นวิถีปฏิบัติตรงกันข้ามด้วยการเชื้อเชิญให้เราฝึกสติเพื่อตื่นรู้อยู่กับปัจจุบันแบบไม่ยึด ไม่ปฏิเสธ ไม่ปรุงแต่ง ไม่พยายามทำให้ว่างเปล่าแบบตัดทุกสิ่ง แต่ใช้ทุกปรากฏการณ์เป็นกระจกสะท้อนธรรมชาติแท้ของจิต
ในความเงียบสงบของเมืองเล็กๆ ที่ล้อมรอบด้วยทุ่งนาและขุนเขา ทุกซอกมุมของเมืองสะท้อนความเชื่อผ่านสัญลักษณ์แห่งศรัทธาของดินแดนทิเบตที่ขลังและน่าเกรงขาม ตั้งแต่ภาพเพนต์ศิวลึงค์ (Phallus) ตามวัดและบ้านเรือน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์และโชคดี ไปจนถึงศิวลึงค์ไม้แกะสลักที่ขายในร้านของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยว

คำว่า ‘วัฒนธรรม’ ในภาษา ภูฏาน เรียกว่า lamsol แปลว่า following a path ซึ่งสื่อความหมายว่า วัฒนธรรมไม่ใช่เพียงสิ่งที่ถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ แต่เป็นจิตวิญญาณในชีวิตประจำวันที่สะท้อนผ่านความเชื่อทางศาสนา และวัฒนธรรมความเป็นอยู่ เป็นเส้นทางที่ไม่ได้สร้างไว้ให้เดินตาม แต่ชวนให้เราร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทาง
ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติภูฏาน (National Museum of Bhutan) ณ เมืองพาโร การมีโอกาสได้เดินขึ้นบันไดไปยังชั้นสูงสุดของป้อมปราการและชมวัตถุโบราณจากวันวานในห้องชั้นใต้ดิน ทำให้รู้สึกเหมือนได้เดินวนย้อนเข้าไปในบทเกริ่นประวัติศาสตร์ของภูฏาน ตั้งแต่จุดเริ่มต้นแห่งอาณาจักร จวบจนยุคปัจจุบันที่ยังหายใจร่วมกับภูเขา สายลม และเสียงสวดมนต์


เมื่อก้าวออกมาสูดลมหายใจของขุนเขานอกพิพิธภัณฑ์ การเดินเท้าผ่านป่าเขาและลำห้วยตามเส้นทางไปยัง วัดทักซัง (Taktsang Monastery) หรือ The Tiger’s Nest วัดศักดิ์สิทธิ์หลังคาสีทองสว่างโดดเด่นที่ตั้งอยู่ริมหน้าผาสูงกว่าระดับน้ำทะเลมากถึง 3,120 เมตร ให้ความรู้สึกดั่งได้เดินย้อนเวลาไปสัมผัสตำนานเก่าแก่เมื่อครั้ง ‘คุรุรินโปเช’ หรือพระคุรุปัทมสัมภวะเลือกทำสมาธิที่ถ้ำบนหน้าผาสูง ก่อนจะจำแลงเป็นเทพขี่หลังเสือเพื่อปราบวิญญาณชั่วร้ายให้หมดสิ้น โดยตลอดทางก่อนถึงวัดทักซังจะพบกองหิน (stone balancing) และเจดีย์จิ๋วเรียงราย รวมถึงกงล้อมนตรา (prayer wheel) สำหรับสวดมนต์และทำสมาธิ จากความเชื่อของคนภูฏานที่ว่า การหมุนกงล้อมนตราหนึ่งรอบจะเท่ากับการสวดมนต์หลายพันบทหลายพันครั้ง



หากมุ่งหน้าไปยังเมืองพูนาคาและข้ามสะพาน Punakha Suspension Bridge ซึ่งเป็นสะพานแขวนที่ยาวที่สุดในภูฏานก็จะพบกับวิวแม่น้ำที่ไหลเรียงเคียงภูเขาท่ามกลางธงมนตรา (prayer flags) ห้าสีที่พลิ้วไสวตามแรงลม โดยธงแต่ละสีจารึกบทสวดมนต์และสื่อถึงธาตุทั้งห้า ได้แก่ ท้องฟ้า ลม ไฟ น้ำ และดิน สะท้อนความเชื่อเรื่องการเชื่อมโยงของธรรมชาติและพลังจักรวาล
และเมื่อก้าวเข้าไปยังป้อมปราการวัด Paro Rinpung Dzong แห่งเมืองพาโรที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1644 จะพบจิตรกรรมฝาผนังสีสดที่มีความหมายลึกซึ้ง เช่น หกสัญลักษณ์แห่งความยั่งยืน (Six Symbols of Longevity) ภาพวาดจิตรกรรมในวัดภูฏานเหล่านี้มักถ่ายทอดเรื่องราวจากชาดกและคัมภีร์พุทธสำคัญต่างๆ เช่น สังสารวัฏ ธรรมชาติของจักรวาล ผ่านสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนา เช่น มังกร สิงโต และช้าง รวมถึงเทพเจ้าและบุคคลในพุทธศาสนาหลายพระองค์ ทั้งพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ และผู้นำทางจิตวิญญาณอื่นๆ
เอกลักษณ์ในสถาปัตยกรรมของซอง (Dzong) หรือป้อมปราการเหล่านี้คือการใช้เทคนิคการเข้าลิ้นไม้และการวางหินแบบโบราณโดยไม่ใช้ตะปูหรือเหล็กเลยสักตัว โดดเด่นด้วยกำแพงสูงและผนังฉาบสีขาว ตกแต่งด้วยหน้าต่าง ประตู และระเบียงงานแกะสลักไม้อย่างละเอียด พร้อมลานกลางสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เทศกาลชุมชน และการรวมตัวของผู้คน โดยมีหอคอยอูเซ (Utse) ตรงกลางเพื่อเก็บพระธาตุหรือของศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญที่สุด





ซอง (dzongs) จึงไม่ได้เป็นเพียงศาสนสถาน หากแต่เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ที่เชื่อมโยงชีวิตผู้คนกับรัฐ Tashichho Dzong คือตัวอย่างที่ชัดเจน ทั้งในฐานะที่ทำการรัฐบาลและสถานที่ทรงงานของพระมหากษัตริย์นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 ในขณะเดียวกัน Punakha Dzong ที่ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำโพและแม่น้ำโมที่ไหลมาบรรจบกันท่ามกลางดอกศรีตรังสีม่วง (jacaranda) ที่บานสะพรั่งในเดือนพฤษภาคม ก็ถูกใช้เป็นพระราชวังฤดูหนาวของพระสังฆราชและสถานที่จัดพระราชพิธีอภิเษกสมรสของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก

นอกจากนี้สถานที่ทางศาสนาหลายแห่งยังถูกสร้างให้มีความกลมกลืนกับธรรมชาติ ทั้ง Dochula Pass ซึ่งมีสถูปเล็กๆ จำนวน 108 องค์ล้อมรอบเจดีย์ใหญ่บนภูเขา และ Buddha Dordenma Statue พระพุทธรูปขนาดยักษ์ที่ตั้งตระหง่านท่ามกลางวิวทิวเขาหิมาลัย เป็นภาพที่แสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์ ความสงบ และความลึกซึ้งทางจิตวิญญาณที่เชื่อมโยงมนุษย์กับธรรมชาติอย่างกลมกลืนไม่แยกจากกัน
ทุกก้าวของการเยี่ยมเยือนภูฏานจึงไม่ต่างจากการเดินทางตามเส้นทางแห่ง lamsol ไม่ว่าจะเป็นป้อม (dzongs), วัด (lhakhangs) หรือภูเขา ที่ล้วนสะท้อนคุณค่าทางจิตวิญญาณที่ฝังรากลึกอยู่ในชีวิตผู้คน

Fine Art of Living
ณ ‘ZhiwaLing Heritage’ โรงแรมในเมืองพาโร ที่ออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมภูฏานดั้งเดิมจากช่างฝีมือชาวภูฏานโดยแท้ สร้างขึ้นจากไม้เก่าแก่อายุกว่า 450 ปีพร้อมระบบทำความร้อนใต้พื้นดินจากสวีเดน ที่แห่งนี้ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็น National Geographic Unique Lodge ได้ผสานภูมิปัญญาและความทันสมัยไว้ด้วยกันอย่างน่าประหลาด
โถงทางเดินตกแต่งอย่างวิจิตรตระการตาแต่ภายในห้องพักกลับมีบรรยากาศที่ให้ความรู้สึกโมเดิร์น พร้อมกิจกรรมผ่อนคลายในโรงแรม ทั้งสปา ซาวน่า ห้องอบไอน้ำ อ่างแช่น้ำร้อนกลางแจ้งแบบภูฏานดั้งเดิม กิจกรรมคลื่นเสียงบำบัดด้วยขันหิมาลายัน ไปจนถึงห้องนั่งสมาธิ



สำหรับทริปนี้ เราได้รับเกียรติจากพระอาจารย์ Khenpo Phuntsok Tashi มาสอนการนั่งสมาธิผ่านกิจกรรม Guided Meditation และสอนศิลปะการมีชีวิตอย่างงดงามผ่านหนังสือ The Fine Art of Living & Manifesting a Peaceful Death ของท่าน
เมื่อนึกถึงศิลปะชั้นสูง คนส่วนใหญ่มักนึกถึงความประณีต สง่างาม และความงดงามของวัตถุที่ไม่ถูกกลืนหายไปตามกาลเวลา แต่ Khenpo บอกว่า เราสามารถเปลี่ยนชีวิตตัวเองให้กลายเป็นศิลปะได้ด้วยการจัดการเจตนาในแง่บวกอย่างมีสติ และสะสมบุญกุศลทางจิตวิญญาณ ฝึกฝนศิลปะแห่งการดำเนินชีวิตผ่านการกิน การนอน การออกกำลังกาย (โยคะ) และการทำสมาธิหรือการเจริญสติเพื่อให้เติบโตอย่างดี
ความหรูหราในการใช้ชีวิตของชาวภูฏานจึงแฝงอยู่ในพิธีกรรมและวัฒนธรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสวดมนต์ การเต้นรำ การแสดงดนตรี ความบรรจงในงานฝีมือผ่านสถาปัตยกรรมและศิลปะ 13 แขนงของภูฏาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนผ่านประสบการณ์การเข้าพักในโรงแรมที่เปี่ยมด้วยรายละเอียดและความประณีตในทุกองค์ประกอบ
นอกจาก ZhiwaLing Heritage แล้ว ตลอด 6 วันที่ภูฏาน เรายังได้สัมผัสเสน่ห์ของการต้อนรับที่ละเมียดละไมและเปี่ยมด้วยอัตลักษณ์ผ่านโรงแรม ‘Pemako Thimpu’ ทั้งการบริการจากพนักงานโรงแรมในชุดโค (kho) สำหรับผู้ชาย และชุดคีรา (kira) สำหรับผู้หญิง ที่ออกมาแสดงดนตรีและคล้องผ้าพันคอต้อนรับตั้งแต่วันแรกที่ถึงโรงแรม การแสดงดนตรีขลุ่ยและขิมคลอระหว่างมื้ออาหาร การชิมอาหารพื้นถิ่นสไตล์ Bhutanese ที่หน้าตาแปลกตาและรสจัดจ้าน เช่น ใบเฟิร์นที่ม้วนเป็นวงกลม เมนูพริกในรูปแบบที่ไม่คุ้นชิน ทั้งพริกคู่กับชีส พริกกับข้าวต้มตอนเช้า แกง Ema datshi ที่เน้นรสเผ็ด ฯลฯ
อีกหนึ่งที่ตั้งของ Pemako ที่ไม่ควรพลาดคือ Pemako Punakha ซึ่งอยู่ในหุบเขาพูนาคาอันเงียบสงบ คำว่า ‘Pemako’ ตามความเชื่อในพระพุทธศาสนา คือหนึ่งใน 16 ดินแดนเร้นลับที่ผู้แสวงธรรมสามารถเข้าถึงการตรัสรู้ขั้นสูงสุดได้ แนวคิดนี้จึงถูกถ่ายทอดผ่านการออกแบบภายในที่สะท้อนกลิ่นอายของวิถีชีวิตดั้งเดิม ทั้งพื้นผิวไม้เคลือบเงาสีเข้มสื่อถึงควันไฟจากเตาฟืนในบ้านชนบท ตัดกับเฟอร์นิเจอร์และโคมไฟสีสดใส เสริมด้วยผนังโทนสีส้ม เหลือง ขาว และดำ อันเป็นสีของธงชาติภูฏาน
แม้จะออกแบบโดยนักออกแบบชาวอเมริกัน บิล เบนส์ลีย์ (Bill Bensley) แต่รายละเอียดต่างๆ กลับถ่ายทอดกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นได้อย่างลุ่มลึกและกลมกลืน ผู้เข้าพักจะต้องข้ามสะพานแขวนซึ่งทอดยาวเข้าสู่ผืนป่าสนก่อนจะเข้าสู่พื้นที่โรงแรมขนาด 60 เอเคอร์ ที่มีวิลล่าสไตล์เต็นท์แทรกตัวอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ จากห้องอาหารของโรงแรม มองออกไปจะเห็นวิวแม่น้ำและเทือกเขา พร้อมทั้งมีกิจกรรมกลางแจ้งที่มอบประสบการณ์เชื่อมโยงกับธรรมชาติให้เลือกทำ เช่น การพายเรือคายัคและล่องแก่ง






นายกฯ แห่งภูฏานพูดทิ้งท้ายกับเราว่า “วัฒนธรรมของเราไม่เพียงเป็นเอกลักษณ์ แต่ยังเปี่ยมด้วยชีวิตชีวา รากฐานของวัฒนธรรมเราคือศาสนาและจิตวิญญาณ ซึ่งยังคงมีชีวิตอยู่ และในความเป็นจริงก็ยังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าความทันสมัยอาจนำมาซึ่งความเสี่ยงในการลดทอนคุณค่าเหล่านี้ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสในการส่งเสริมคุณค่าเหล่านี้ด้วยเช่นกัน และผมภูมิใจที่จะบอกว่าเราทำสำเร็จในเรื่องหลัง”
แม้ภูฏานจะเผชิญกับความท้าทายมากมาย เพราะเป็นประเทศเล็ก ไม่มีทางออกสู่ทะเล ทรัพยากรจำกัด ประชากรน้อย เหล่าเยาวชนที่ได้รับการศึกษาอยากได้งานที่ดีในประเทศทันที แต่ในบรรดาความท้าทายเหล่านี้ นายกฯ กลับกล่าวว่าการตัดสินใจเชิงนโยบายที่ผ่านมาไม่ได้ยากเย็นเท่าที่หลายคนอาจคาดคิด รัฐบาลชุดต่างๆ สามารถดำเนินงานไปในทิศทางที่ชัดเจนและสม่ำเสมอ ด้วยการยึดมั่นในวิสัยทัศน์และคุณค่าของประเทศ
เมื่อถาม Tshering Tobgay ว่ามี wisdom of life ใดที่ภูฏานสามารถแบ่งปันให้โลกได้บ้างเกี่ยวกับการมีชีวิตที่ดี เขาตอบอย่างถ่อมตัวว่า “เราไม่ได้คิดจะสอนโลก เราเพียงแค่ปฏิบัติตามหลักแห่งความสุขมวลรวมประชาชาติ แม้การเติบโตทางเศรษฐกิจและวัตถุจะสำคัญในโลกยุคปัจจุบัน แต่สิ่งเหล่านี้ต้องได้รับการถ่วงดุลกับความก้าวหน้าทางสังคม การรักษาวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการอย่างดี รวมถึงการให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ความกลมกลืน และจิตวิญญาณ แม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งสำคัญที่เป็นบริบทเฉพาะเจาะจงของภูฏาน แต่ผมยังไม่คิดว่าประเทศเราสามารถ ‘สอน’ สิ่งเหล่านี้ให้กับที่อื่นในโลกได้”
นักเดินทางมากมายต่างเดินทางมายังภูฏานเพื่อแสวงหาคำตอบภายในหรือแม้แต่มุ่งหาแนวทางการพัฒนาเมืองที่สโลว์ไลฟ์ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ในโลกที่วุ่นวาย แต่นายกฯ ผู้มีวิสัยทัศน์กลับกล่าวว่า “We can’t teach the world.”
เพราะภูฏานไม่ได้ตั้งใจจะเป็นต้นแบบให้ใคร หากเพียงแค่ขอเดินบนเส้นทางที่สอดคล้องกับคุณค่าภายในของประเทศตนเอง

ขอบคุณรูป Gelephu Mindfulness City จาก GMC