นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

Fall in Bloom

คูน โรงพยาบาลเฉพาะทางที่ดูแลคนไข้แบบประคับประคองเพื่อให้ช่วงเวลาสุดท้ายงดงามที่สุด

เอ่ยถึงโรงพยาบาล ภาพของอาคารสี่เหลี่ยมสีขาวดูหดหู่ใจน่าจะเป็นภาพจำของใครหลายคน และขึ้นชื่อว่าโรงพยาบาล ถ้าไม่ใช่การไปเยี่ยมคุณแม่มือใหม่ที่เพิ่งให้กำเนิดลูกน้อย น้อยคนนักที่อยากไปเยี่ยมดินแดนแห่งนี้ 

แต่ไม่ใช่กับโรงพยาบาลคูน โรงพยาบาลเฉพาะทางแห่งแรกในไทยที่ดูแลรักษาคนไข้แบบประคับประคอง เพราะทันทีที่เราก้าวเท้าเข้ามาในเขตรั้วของโรงพยาบาล เรากลับรู้สึกแตกต่าง

เบื้องหน้าของเราไม่ใช่อาคารเก่าน่าหดหู่ แต่เป็นอาคารสีเอิร์ทโทนดูอบอุ่น ตัดกับโครงสร้างไม้ที่ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่รีสอร์ต ตลอดทางเดินข้างอาคารคือสวนหย่อมสีเขียวสบายตา ประดับประดาด้วยม้านั่ง ลานกิจกรรม และน้ำพุขนาดกลาง ชวนให้พักผ่อนหย่อนใจ 

“เราอยากให้ที่นี่เป็นเหมือนบ้าน เหมือนรีสอร์ต ไม่อยากให้มันเหมือนโรงพยาบาล” พญ.นิษฐา เอื้ออารีมิตร หรือหมอแนต ผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลคูนบอกกับเราแบบนั้น

ความตั้งใจของหมอแนตคืออยากให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงการรักษาแบบประคับประคองมากขึ้นเพื่อออกแบบช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตให้งดงามตามต้องการ เพราะเมื่อเทียบกับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนทั่วไป การดูแลคนไข้ระยะนี้ที่โรงพยาบาลคูนนั้นราคาย่อมเยากว่า ทั้งยังทำให้คนไข้และญาติมีความสุขมากกว่าด้วย

แต่เพราะการดูแลคนไข้แบบประคับประคองนั้นไม่ได้หมายความว่าญาติจะนำคนไข้มาฝากโรงพยาบาลเพื่อให้คนไข้จากไปอย่างสงบที่นี่ กลับกัน อัตราคนไข้ที่อาการดีขึ้นทั้งร่างกายและจิตใจนั้นมีมากถึง 70% ทั้งที่ก่อนหน้านั้นมีอาการหนัก

เราจึงชวนมาไขข้อข้องใจว่าโรงพยาบาลคูนเพิ่มคุณภาพชีวิตทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณของคนไข้ได้ยังไง การดูแลคนไข้แบบประคับประคองเป็นแบบไหน และธุรกิจโรงพยาบาลเฉพาะทางแบบนี้ต้องดำเนินกิจการยังไง

คุณหมอแนตรอให้คำตอบกับเราที่ใต้ต้นคูนต้นใหญ่ของโรงพยาบาลแล้ว

Pain ของคนไข้ Pain ของคนเป็นหมอ

เช่นเดียวกับหมอคนอื่นๆ หมอแนตเรียนจบมาด้วยหลักสูตรที่เน้นรักษาผู้คนให้หายจากโรค หมอแต่ละคนจะได้รักษาโรคที่แตกต่างกันตามความสนใจและหลักสูตรเฉพาะทางที่เรียนต่อ สำหรับคุณหมอที่นั่งตรงหน้าเรานี้ เธอเรียนจบด้านโรคปอดและเวชบำบัดวิกฤตหรือการรักษาคนไข้ไอซียู

“ถ้าเราเป็นหมอโรคไต เราจะเชี่ยวชาญเรื่องไตมากแต่อาจลืมระบบทางเดินหายใจ หรือลืมระบบหัวใจ แต่ถ้าเราเป็นหมอไอซียูเราจะลืมระบบใดระบบหนึ่งไม่ได้เลย เพราะเวลาคนไข้วิกฤตเราต้องมีความรู้รอบด้าน เราเองที่ชอบรักษาคนไข้แบบองค์รวม เลยเลือกที่จะเรียนและทำงานเกี่ยวกับเวชบำบัดวิกฤต 

“แต่จากงานวิจัย การทำงานไอซียูอย่างเดียวจะเบิร์นเอาต์ง่ายมาก อาจารย์ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าซึ่งเราทำงานอยู่ตอนนั้น จึงแนะนำว่าเราควรจะเรียนด้านปอดด้วย เพื่อที่เราจะได้สลับไปทำงานนั้นงานนี้ได้” 

หมอแนตย้อนเล่าเส้นทางการทำงานให้ฟัง ซึ่งเพียงแค่นี้ เราก็พอเข้าใจว่าเหตุใดเธอจึงเบนความสนใจมาที่การรักษาคนไข้แบบประคับประคอง

“ตอนที่ทำงานไอซียู คนไข้ที่เข้ามาหาเราจะมี 2 แบบ แบบแรกคือน่าสู้ คือเราสามารถรักษาเขาเพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงเดิมได้ เช่นคนไข้อายุ 50-60 ปีติดเชื้อในกระแสเลือดรุนแรง หรือเกิดหอบหืดกำเริบจนต้องปั๊มหัวใจ 

“แต่ก็จะมีคนไข้แบบสองคือกลุ่มที่เรามองว่าไม่น่าสู้ เพราะสภาพร่างกายเขาเสื่อมมากจนแม้เราจะรักษาเขาให้ยังมีชีวิตอยู่ได้ แต่เขาอาจไม่มีความสุข เช่น คนไข้อายุ 90 ปีที่อาจสื่อสารไม่ค่อยได้แล้ว คำถามที่เราถามตัวเองตลอดคือไอซียูมันเป็นที่ที่เหมาะสมกับเขาแล้วหรือเปล่า หรือมันพอจะมีวิธีรักษาอื่นๆ ไหมที่ทำให้เราสามารถดูแลคนไข้กลุ่มนี้ให้ดีขึ้นได้”

จากคำถามเล็กๆ นั้นเองที่ทำให้หมอแนตเริ่มกลับมามอง ‘การรักษาแบบประคับประคอง’ ที่เป็นเพียงวิชาเล็กๆ วิชาหนึ่งที่แพทย์ทุกคนต้องเคยเรียนแต่ไม่เคยได้ลงลึกอย่างจริงจัง

ประคับประคองคนไข้ ประคับประคองคนรอบตัว

เอ่ยถึงการรักษาแบบประคับประคองหรือ palliative care เชื่อว่าคนไทยเกือบทุกคนที่ได้ยินคำนี้น่าจะงงไม่น้อย แต่ที่จริงแล้วหมอแนตเล่าว่าการรักษาแบบประคับประคองนั้นมีมานานแล้วและนิยมในต่างประเทศมานานเกือบร้อยปี โดยเฉพาะประเทศแถบสแกนดิเนเวียนที่ขึ้นชื่อเรื่องรัฐสวัสดิการ 

“ในประเทศไทย การรักษาแบบประคับประคองจะได้รับการผลักดันในโรงพยาบาลรัฐเสียส่วนใหญ่ เพราะมันช่วยเซฟค่ารักษาพยาบาลได้มาก”​ มาถึงตรงนี้ เราเริ่มสงสัยว่าที่จริงแล้วการรักษาแบบประคับประคองนั้นเป็นยังไงกันแน่

หมอแนตยกตัวอย่างให้ฟังว่าช่วงที่เธอยังเป็นหมอเวชบำบัดวิกฤตและหมอโรคปอดทั่วไป หน้าที่ของหมอคือการวินิจฉัยอาการคนไข้และแจ้งแผนการรักษาที่จะทำต่อ แต่เมื่อหมอแนตได้เข้าใจการรักษาแบบประคับประคองอย่างถ่องแท้ บทบาทของหมอนั้นเปลี่ยนจากการเป็นผู้พูดมาเป็นผู้ฟัง 

“เราต้องฟังว่าแต่เดิมคนไข้เป็นคนแบบไหน ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เคยพูดอะไรเกี่ยวกับอาการตัวเองไหมว่าเขาอยากรักษาหรือไม่รักษาแบบไหน นอกจากนั้น เราต้องฟังว่าญาติคิดเห็นหรือรู้สึกยังไงบ้างกับการรักษาที่ผ่านมา

“สมมติถ้าคนไข้ไตวาย ตอนเราเป็นหมอไอซียูเราอาจจะเลือกล้างไตต่อไปก็ได้ เพราะในมุมมองของญาติ ถ้าหมอแนะนำอะไร เขาก็มักจะไม่ค่อยขัดการรักษา เพราะถ้าเขาเลือกไม่รักษาเท่ากับว่าเขาเลือกที่จะจบชีวิตคนในครอบครัวตัวเองซึ่งมันเฮิร์ตนะ

“กลับกัน พอเราเป็นหมอประคับประคอง เราจะคุยกับญาติว่าเป้าหมายเขาคืออะไร คือให้คนไข้สุขสบายที่สุดหรือคือให้คนไข้อยู่นานที่สุด ถ้าญาติต้องการอย่างแรก เราจะไม่ล้างไตนะเพราะมันไม่ตอบโจทย์แล้ว แต่เราจะมามององค์ประกอบอื่นๆ ว่าเราจะสามารถดูแลคนไข้คนนี้ได้ด้วยวิธีไหนบ้าง”

ในมุมมองการรักษาแบบประคับประคองนี้เอง หมอแนตสรุปให้เห็นภาพง่ายๆ ว่ามันเหมือนเป็นการรักษาที่ทำให้ทั้งหมอ คนไข้ และครอบครัวมีทางออกในการรักษาที่เหมาะสมและตรงใจมากขึ้น ทั้งในเชิงจิตใจและเม็ดเงิน

“โรงพยาบาลรามาธิบดีเคยทำการศึกษาว่าระหว่างคนไข้ที่ไม่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง และคนไข้ที่ได้รับการดูและแบบประคับประคอง ทั้งสองกลุ่มนี้มีระยะเวลาการมีชีวิตอยู่ใกล้เคียงกัน แต่คนไข้กลุ่มหลังมีค่ารักษาในช่วง 6 เดือนท้ายที่ค่อนข้างนิ่งและไม่สูงมาก ขณะที่ค่ารักษาของคนไข้กลุ่มแรกเพิ่มสูงขึ้น 2-3 เท่าในช่วงท้ายเลย”

โรงพยาบาลที่อยากอุดช่องว่างของสาธารณสุขกรุงเทพฯ

บทเรียนของการรักษาคนไข้แบบประคับประคองไม่ได้ทำให้หมอแนตหยุดอยู่แค่การเป็นหมอประคับประคองตามโรงพยาบาลทั่วไป แต่ความสุขของคนไข้และญาติที่หมอได้รับนั้นทำให้หมอคิดใหญ่กว่านั้น

“หมอได้เห็นว่าอาจารย์ศรีเวียง (รศ. พญ.ศรีเวียง ไพโรจน์กุล) ทำระบบการดูแลคนไข้แบบประคับประคองที่ขอนแก่นไว้ดีมาก ทั้งระบบการศึกษา ระบบการส่งต่อ หันกลับมาดูที่กรุงเทพฯ หมอเห็นว่ามันมีช่องว่างที่ใหญ่มาก 

“ระบบสาธารณสุขในกรุงเทพฯ แบ่งเป็นหลายส่วน ทั้ง กทม. สาธารณสุข โรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลเอกชน แต่ละที่ไม่ได้จับมือกัน ต่างคนต่างทำกันเอง จนหมอรู้สึกว่าโอกาสที่คนไข้คนหนึ่งจะได้รับการดูแลรักษาอย่างทั่วถึงมันยากมาก จนทำให้ในแต่ละปีๆ คนกรุงเทพฯ เสียชีวิตในโรงพยาบาลเป็นแสนคน แล้วการรักษาก่อนเขาจะเสียมันก็ไม่เกิดประโยชน์”

ช่องว่างตรงนี้เองที่ทำให้หมอแนตมองเห็นโอกาสที่จะสร้างบริการทางการแพทย์เฉพาะทางที่คนไข้เห็นได้ง่ายๆ สามารถเข้ามารักษาและปรึกษาได้โดยตรง 

“ปกติแล้วตามโรงพยาบาลเอกชนเขาก็มีการรักษาแบบนี้นะ แต่มันเป็นเพียงแผนกเล็กๆ ที่คนอาจจะไม่เห็น เราคิดว่าการเปิดเป็นโรงพยาบาลสแตนด์อโลนขึ้นมาเลยน่าจะทำให้คนไข้เห็นเราได้ง่ายกว่า” โรงพยาบาลคูนซึ่งอยู่ภายใต้โรงพยาบาลเอกชัย โรงพยาบาลที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งนี้จึงเกิดขึ้น

ความตั้งใจของหมอแนตคือการทำให้คนไทยเข้าถึงการรักษาแบบประคับประคองได้มากที่สุด รูปแบบการรักษาจึงแบ่งออกเป็นหลายแบบ หลายราคาเพื่อให้คนหลากหลายฐานะสามารถเข้าถึงช่วงเวลาสุดท้ายที่งดงามได้มากที่สุด 

ไม่ใช่สถานที่สุดท้าย แต่อาจต่อเวลาให้คนไข้และครอบครัว

ถึงตรงนี้ เชื่อว่าภาพรวมที่ได้ยินได้ฟังจากหมอแนตอาจทำให้หลายคนเข้าใจไปแล้วว่านี่คือสถานที่ที่ญาติๆ จะพาสมาชิกในครอบครัวของตัวเองไปจบชีวิต ไม่ต่างจากการปล่อยคนไข้ไว้ที่โรงพยาบาลอื่นๆ หรือบ้านนักหรอก

แต่ขอบอกว่าเราเองและคนส่วนใหญ่นั้นคิดผิด เพราะจากสถิติที่โรงพยาบาลคูนเก็บมาตลอด 1 ปี โรงพยาบาลคูนสามารถต่อชีวิตคนไข้ได้กว่า 70%

“มีเคสหนึ่ง คนไข้เป็นมะเร็งและใส่เครื่องช่วยหายใจมาเลย เขาย้ายมาจากโรงพยาบาลรัฐบาล ปกติในไอซียูโรงพยาบาลรัฐบาล ถ้าญาติบอกว่าไม่ปั๊มหัวใจก็จะได้ไปอยู่วอร์ดสามัญซึ่งหมอที่มาดูแลก็จะไม่ใช่หมอเฉพาะทาง พอเขาย้ายมาที่เรา ตอนแรกเราก็คุยว่าไม่น่าจะไหว ต้องเสียชีวิตแน่ๆ ความรู้สึกของครอบครัวก็คือมาเพื่อเสียชีวิตแล้ว 

“หมอก็รักษาโดยไม่ทำให้เขารู้สึกทรมานเพิ่มเติม ลองดูว่ามียาตัวไหนที่ปรับได้บ้างไหม เราใช้ศาสตร์หลายๆ อย่างเข้าช่วย และให้ญาติได้มาอยู่กับเขา ไม่ต้องแยกกันอยู่แบบเวลาอยู่ห้องไอซียู ซึ่งมันสำคัญมาก เพราะมันถือเป็นกำลังใจที่ดี สุดท้าย คนไข้ก็หย่าเครื่องช่วยหายใจ บำรุงสารอาหาร จนกลับไปเดินและเล่นกับหลานได้ โดยที่ค่ารักษาไม่ได้สูงเท่าโรงพยาบาลเอกชน”

ทั้งหมดนี้ หมอแนตสะท้อนให้ฟังว่าเป็นผลจากการรักษาแบบประคับประคองที่โรงพยาบาลคูนซึ่งเอาตัวตนของคนไข้เป็นที่ตั้ง เอาโรคเป็นตัวรอง และอาศัยมิติด้านอื่นๆ ของคนไข้มาช่วยเสริมทัพ

“ชีวิตคนเรามันไม่ได้ประกอบไปด้วยร่างกายอย่างเดียว มันมีสังคม เพื่อนฝูง ครอบครัว มีจิตวิญญาณ มีความเชื่ออยู่ และถึงแม้เขาจะป่วย แต่ตัวตนของเขาอาจจะไม่ได้ป่วยตามโรคก็ได้ 

“เวลารับเคสแต่ละครั้ง เราจึงประเมินคนไข้ในทุกมิติ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ ความเชื่อ สังคม เพื่อดูว่าในมิติต่างๆ เหล่านี้ เราสามารถเสริมอะไรได้บ้างเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตโดยรวมของคนไข้ดีขึ้นมาได้”

คำถามที่คนไข้และญาติได้รับจึงอาจไม่ใช่คำถามทั่วไป แต่เป็นคำถามถึงเป้าหมายระยะสั้น เช่น วันนี้พรุ่งนี้อยากทำอะไร มีปัญหาตรงไหนที่อยากให้หมอช่วยเหลือ มีอาการตรงไหนบ้างที่รู้สึกไม่สบาย และอะไรคือข้อจำกัดที่ทำให้คนไข้ไร้ความสุข เพื่อหาทางรักษาที่จะขจัดความเศร้าและความทรมานนั้นออกไป 

“ถ้าคนไข้ได้เวลาพิเศษเพิ่มก็ดี แต่ถ้าเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงภาวะนั้นได้ เราก็ต้องไม่ทำให้เขาทุกข์ทรมานเพิ่ม แล้วยอมรับการจากไปตามธรรมชาติ” หมอแนตอธิบาย

เวลาที่ใช่

“หมอจะคัดคนระดับหนึ่งว่าญาติต้องเข้าใจก่อนว่าเราคือใคร เราทำอะไรได้ดี แล้วที่อื่นทำอะไรได้ดีกว่าเรา พอเราอธิบายชัดเจน เราจึงได้กลุ่มลูกค้าที่เข้าใจการดูแลแบบประคับประคองพอสมควร แต่สิ่งที่เราอยากให้มันเกิดขึ้นก็คืออยากให้คนส่วนมากเข้าใจการรักษาแบบนี้มากขึ้น” หมอแนตเล่า

หนึ่งในข้อมูลสำคัญที่หมอแนตคิดว่าจำเป็นต้องกระจายออกไปให้กว้างกว่านี้คือช่วงเวลาที่ใช่สำหรับการดูแลประคับประคองนั้นเป็นแบบไหน  

“การดูแลแบบประคับประคองมันดีสำหรับทุกคนเมื่อเวลามันใช่ บางเคสญาติมาขอยุติการรักษาจากที่อื่น แต่เราดูแล้วมันยังต้องรักษาอยู่ หมอก็สื่อสารกับเขาตรงๆ บางเคสคนไข้เป็นมะเร็งแล้วจะไม่รับยาอะไรแล้ว ทั้งที่เขายังแข็งแรง เราก็บอกให้เขากลับไปรักษาด้วยซ้ำ”

 คำว่า ‘ใช่’ ที่หมอแนตว่าจึงหมายถึง ช่วงเวลาที่คนไข้ป่วยเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาดแล้วเริ่มมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี จนตัวคนไข้ชัดเจนว่าไม่ต้องการยื้อคุณภาพชีวิตที่ไม่ดีออกไป คนไข้ของคูนจึงเป็นได้ตั้งแต่ผู้สูงอายุ คนไข้อัลไซเมอร์ คนไข้โรคมะเร็ง โรคหัวใจบางประเภท โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตวายระยะสุดท้าย โรคพาร์กินสัน โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเรื้อรัง ฯลฯ

“หลายเคสให้เคมีบำบัดกับที่อื่นอยู่ แต่ระหว่างนั้นเกิดการติดเชื้อจนรู้สึกไม่สบายตัวก็มานอนที่คูนเพื่อให้ยาฆ่าเชื้อจนกลับไปบ้านได้ บางเคสทานอาหารไม่ได้เพราะลำไส้อุดตัน ก็มาให้สารอาหารที่เรา พอดีขึ้นก็กลับไปรักษาต่อที่เดิมได้

“หรือกับคนไข้อัลไซเมอร์ วันแรกๆ เราจะอธิบายให้เขาได้รู้ว่าวันหนึ่งเขาจะเป็นยังไง แล้วถ้าถึงวันนั้น เขาไม่อยากได้รับการรักษาอะไรบ้าง หมออยากให้คนไข้มีโอกาสพูดเพราะหมอเชื่อว่าทุกวันนี้คนไข้อัลไซเมอร์ที่นอนติดเตียงเกือบทุกคนเขาไม่มีโอกาสได้สื่อสารความต้องการของตัวเองตั้งแต่ตอนที่เขายังสุขสบายอยู่

“แต่ถ้าเขาไม่มีโอกาสนั้นแล้วเราก็ต้องคุยกับญาติเพื่อดูว่าแต่ก่อนเขาเป็นคนแบบไหน และพอเขาลืมถึงขั้นหนึ่งจนเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะสำลัก เราก็มีกิจกรรมฝึกกลืน หรือถ้าติดเชื้อ เราก็ให้ยาฆ่าเชื้อกันไป โดยไม่ต้องทำอย่างอื่นอย่างการเจาะเลือด หรือการใช้อุปกรณ์ที่มันทำให้เขาทรมาน”

ทีมเวิร์ก

บุคลากรทางการแพทย์ด้านประคับประคองกำลังมีมากขึ้นเรื่อยๆ ตามความรับรู้ในสังคม และรูปแบบสังคมไทยที่กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ แต่นอกจากองค์ความรู้ในการดูแลคนไข้ที่แตกต่างจากการรักษาทั่วไปแล้ว หมอแนตคิดว่าบุคลากรคนนั้นต้องมีลักษณะสำคัญที่หมอมองหา

“empathy หรือความเห็นอกเห็นใจเป็นลักษณะที่สำคัญมาก เพราะเรามองว่าถ้าบุคลากรไม่มีความเห็นอกเห็นใจคนอื่น เขาก็จะเข้าใจความทุกข์ของคนไข้ได้ยาก

“อย่างที่สองที่หมอว่าต้องมีคือซอฟต์สกิลในด้านต่างๆ อย่างหมอมาจากโรงพยาบาลเอกชัย หมอก็เริ่มรีครูตคนจากตรงนั้นโดยดูว่าพยาบาลคนนี้เป็นคนคุยเก่ง คนนี้สื่อสารเก่ง คนนี้ฟังเก่ง เพื่อมาทำงานร่วมกันกับครอบครัวและคนไข้” หมอแนตอธิบายหลักสำคัญของการฟอร์มทีมต้นคูนของเธอ

แต่จากคำว่า ‘ทีม’ ที่เราว่า นอกจากพยาบาล คูนยังมีบุคลากรอีกหลายตำแหน่งที่ช่วยให้เกิดการรักษาแบบองค์รวมซึ่งเป็นใจความสำคัญของการรักษาแบบประคับประคองนี้

“เรายังมีนักศิลปะบำบัดที่เคยทำงานด้านนี้ที่ฮอสพิซ (hospice) เมืองนอกมาก่อน มีอาจารย์ที่เป็นนักดนตรีบำบัดซึ่งทำอยู่ที่ศูนย์บริรักษ์ของศิริราช มีผู้ช่วยพยาบาล มีคุณหมอประคับประคองท่านอื่น และมีตำแหน่งอื่นๆ ที่ช่วยให้คนไข้มีความสุขที่สุดในขั้นตอนการรักษากับเรา”

ทีมงานต้นคูนของหมอแนตทำงานสอดประสานกันเป็นอย่างดี นอกจากคุณหมอและพยาบาลจะเข้ามาดูแลอาการในแต่ละวัน กลุ่มนักกิจกรรมบำบัดก็จะประเมินว่าคนไข้เคสนี้เคยชอบทำอะไร แล้ววันนี้นักกิจกรรมจะชวนคนไข้ทำอะไรในแต่ละวันได้บ้างเพื่อให้คนไข้มีความสุขขึ้นได้ 

พร้อมๆ กัน นักดนตรีบำบัดก็จะใช้ดนตรีเข้ามาประกอบว่าในแต่ละวัน คนไข้สามารถเอนจอยกับดนตรีได้ในรูปแบบไหน จะฟังเพลงคนเดียว ฟังร่วมกับคนไข้คนอื่นๆ หรืออาจให้สมาชิกในครอบครัวร่วมเล่นดนตรีพร้อมกันกับคนไข้ก็ยิ่งดี 

“คนไข้ยังเอาสัตว์ที่เลี้ยงที่บ้านมาอยู่ด้วยได้ หรือถึงไม่มีสัตว์เลี้ยงแต่อยากทำความฝันให้เป็นจริงก็สามารถติดต่อเรื่องสัตว์บำบัดได้เหมือนกัน ที่ผ่านมาก็เคยมีติดต่อเอาหมูแคระมาใช้บำบัดคนไข้ด้วย”

นอกจากกิจกรรมเฉพาะบุคคลแล้ว ในแต่ละสัปดาห์ยังมีกิจกรรมรวมให้คนไข้และญาติแต่ละเคสมาทำร่วมกัน เพื่อแชร์สารทุกข์สุกดิบระหว่างกัน

“หมอเชื่อว่าเราต้องมีทีมที่สามารถซัพพอร์ตได้ครบทุกด้านจริงๆ และมันไม่สามารถเกิดได้ในโรงพยาบาลที่ให้หมอเป็นหลัก เพราะหมอก็จะมองเพียงมิติเรื่องโรค แล้วส่งให้ตำแหน่งอื่นๆ ช่วยดูแลตามที่กำหนดไว้ แต่ที่นี่ หมอให้ทีมดูแลร่วมกันเพราะนี่คือเป้าหมายที่ทุกคนต้องช่วยกัน” หมอแนตบอก

บ้านหลังที่สอง 

“pain point หนึ่งของคนทำงานในโรงพยาบาลคือคนไข้จะขอกลับบ้านตลอดทั้งที่ร่างกายเขายังไม่พร้อม” หมอแนตเกริ่น เมื่อเราเอ่ยถึงความแตกต่างทางสถาปัตยกรรมที่สัมผัสได้

“หลักของเราจึงคือการออกแบบให้โรงพยาบาลคูนดูสบายกว่าเดิม มีความเครียดความหดหู่ของโรงพยาบาลให้น้อยที่สุด”

อย่างที่หมอแนตว่า เพราะตั้งแต่ก้าวเท้าเข้ามาในเขตของคูน เรากลับรู้สึกเหมือนได้มาพักผ่อนในรีสอร์ตที่เงียบสงบ ไม่รู้สึกว่ากำลังยืนอยู่บนถนนพระราม 2 แม้แต่น้อย

“เราออกแบบพื้นที่ของโรงพยาบาลตามหลัก biophilic design หรือการออกแบบอาคารให้ผสานกับธรรมชาติ เพื่อให้คนไข้และครอบครัวอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติมากที่สุด เพราะธรรมชาติจะทำให้ความเครียด ความวิตกกังวลลดลง และอาจทำให้เขาเข้าใจว่าการจากไปมันก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่เขาต้องเจอ”

ส่วนห้องพักของโรงพยาบาลนั้นมีด้วยกัน 30 ห้อง แต่ละห้องออกแบบตกแต่งให้คล้ายบ้านพักอาศัยมากที่สุด นอกจากนั้น โรงพยาบาลคูนยังมีห้องส่วนกลาง อย่างห้องดูหนัง ห้องต้นไม้ ห้องสมาธิ ห้องอโรม่า ที่ช่วยให้คนไข้และครอบครัวได้เปลี่ยนบรรยากาศ

“ถ้าเขาอยู่โรงพยาบาลอื่นๆ เขาแทบจะได้อยู่แต่ในห้อง แต่เราอยากให้เขาออกมาใช้เวลานอกห้องบ้าง จะมาปลูกต้นไม้ก็ได้ มาดูหนังกับครอบครัวที่เราตั้งใจจัดให้เหมือนบ้านก็ได้ ถ้าในห้องของเราไม่มีหนังเรื่องที่อยากดู บอกได้ตลอด เดี๋ยวเราจะหามาให้

“หรืออย่างห้องอโรม่า จะมาทำเวิร์กช็อปเพื่อเลือกกลิ่นหอมๆ ไปไว้ที่ห้องตัวเอง หรือเลือกเบลนด์กลิ่นให้แขกที่มาเยี่ยมก็ได้ เพราะคนไข้จะรู้สึกว่าเขาเป็นผู้รับอยู่ตลอดจนทำให้ศักดิ์ศรีหรือตัวตนของเขาถูกลดทอนลงไป การที่เขาได้กลับมาเป็นผู้ให้ได้อีกครั้งก็อาจทำให้จิตใจของเขากลับมาเข้มแข็งขึ้น”

ห้องที่เราชอบเป็นพิเศษคือห้องสมาธิที่ติดตั้ง sound dome ไว้ เพื่อให้เสียงไม่รบกวนภายนอก ขณะเดียวกัน โดมใสเหนือศีรษะก็ช่วยให้คลื่นอัลฟ่าส่งตรงถึงคนไข้และครอบครัวได้โดยตรง

“อีกสิ่งที่เราอยากให้มีและตั้งใจสร้างขึ้นมาคือมุมระเบียงที่เราว่านอกจากจะให้ความรู้สึกเหมือนบ้าน พื้นที่ตรงนี้ยังทำให้คนไข้และครอบครัวได้มาพูดคุยกับคนห้องข้างๆ ได้ เหมือนเป็นพื้นที่ให้แต่ละบ้านได้แลกเปลี่ยนความคิดและซัพพอร์ตจิตใจซึ่งกันและกัน” หมอแนตอธิบาย

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากการเบรนสตอร์มระหว่างหมอแนตเอง, นักออกแบบประสบการณ์ที่เคยออกแบบประสบการณ์ให้กับฮอสพิซที่สตอกโฮล์ม​, สตูดิโอสถาปนิกชื่อดังอย่าง Integrated Field และกระทั่งผู้จัดการโรงแรม 

ต้นคูนที่เติบโต ผลัดใบ และผลิดอก

“เราทำแค่ 30 ห้อง ก็เพราะเราไม่มั่นใจนี่แหละว่าตลาดนี้จะตอบรับมากน้อยแค่ไหน” หมอแนตตอบพลางหัวเราะ เมื่อเรายิงคำถามว่าไอเดียดีๆ แบบนี้ ทำไมจึงจำกัดที่ไม่กี่ห้อง

“จริงๆ ตอนแรกเราควรจะทำมาร์เก็ตรีเสิร์ชใช่ไหม แต่เราก็ไม่ได้ทำ เราใช้แต่ความเชื่อว่ามันจะน่าจะมีลูกค้ากลุ่มนี้อยู่ พอเปิดโรงพยาบาลมาได้ 1 ปี ลูกค้ากลุ่มนี้ก็เข้ามาหาเราเรื่อยๆ เราจึงเริ่มคิดทำที่ที่สองหรือสามเพิ่มขึ้น เราก็เริ่มรู้สึกว่ามาถูกทางแล้ว

“อีกสิ่งที่ทำให้หมอรู้สึกดีที่ได้ทำโรงพยาบาลแห่งนี้ขึ้นมา คือตั้งแต่คูนเปิดทำการ หมอเห็นเลยว่าคนไทยเริ่มสนใจและเข้าใจการดูแลแบบประคับประคองมากขึ้น และนั่นก็ยิ่งทำให้หมออยากสร้างความตระหนักรู้ให้กว้างกว่าเดิมเพราะหมออยากเห็นภาพที่ทุกคนได้รับสิทธิในการดูแลรักษาแบบประคับประคองเหมือนวัคซีนพื้นฐาน และเหมือนแคมเปญลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย” 

แม้หมอแนตจะมีแผนว่าโรงพยาบาลคูนจะเปิดสาขาต่อๆ ไปในอนาคต แต่ในทางหนึ่ง เธอยังคงบอกว่าโรงพยาบาลคูนยังไม่ได้ทำกำไรมากเท่าที่หวัง 

“ในเชิงจิตใจ หมอมองว่าประสบความสำเร็จตามที่เราคาดหวังไว้ แต่ในเชิงธุรกิจ หมออาจจะยังทำไม่ได้ตามเป้าที่เคยคิด เพราะปกติกำไรของโรงพยาบาลนั้นมาจากค่าแล็บ ค่ายา แต่กับคูนที่เน้นรักษาแบบประคับประคอง เราตัดตรงนั้นออกให้มากที่สุดเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนไข้และเซฟค่าใช้จ่ายของครอบครัว 

“โจทย์ของเราจึงคือการหากิจกรรมและบริการเสริมให้มากขึ้น เพราะหมอมองว่ามันก็สำคัญกับคนไข้ไม่แพ้ยาตัวหนึ่ง และมันก็เป็นเหตุผลที่หมอเองอยากเปิดโรงพยาบาลคูนขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์คนไข้ที่คิดว่าความหมายของการมีชีวิตอยู่คือคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ใช่การอยู่ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

“เหมือนกับชื่อของโรงพยาบาลที่มาจากต้นคูน เพราะเวลาเราพูดถึงต้นไม้ต้นนี้ แทบไม่เคยมีใครคิดถึงต้นคูนตอนมันมีแต่ใบเขียวๆ แต่ภาพที่เราเห็นคือภาพที่ดอกของเขาบานเต็มต้นซึ่งเป็นช่วงที่คนมองว่าต้นคูนกำลังสวยที่สุด แม้ว่าตอนนั้นจะเป็นตอนที่ใบของมันโรยไปหมดแล้ว

“หมอว่ามันเหมือนกับชีวิตคนเรา ถ้าเราเลือกที่จะเป็นเหมือนต้นคูน แม้ช่วงที่ชีวิตที่เรากำลังร่วงโรย เราก็ยังมีชีวิตที่สวยงามที่สุดได้เหมือนกัน” หมอแนตทิ้งท้าย

สอบถามข้อมูลการรักษาและวางแผนการรักษาเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณครอบคลุมทุกมิติเพิ่มเติมได้ที่ koonhospital.com

Writer

กองบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ที่มีแมวเป็นแรงผลักดันในการทำงาน

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like