KEY BUSINESS CONCEPTS OF KASIKORN INVESTURE
8 แนวคิดการบริหารฉบับ KIV ที่ช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้น
ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่กดดันให้เจ้าของร้านค้าขนาดเล็ก พ่อค้าแม่ค้าขายของออนไลน์ ฟรีแลนซ์ รวมถึงมนุษย์เงินเดือน ต้องเผชิญกับอุปสรรคในการเข้าถึงบริการทางการเงินที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิต การค้าขาย โดยเฉพาะแหล่งเงินทุน ซึ่งเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกในไทยมายาวนาน
จากปัญหาดังกล่าว เป็นโอกาสครั้งสำคัญในโลกการเงินที่มีข้อมูลมหาศาลที่จะใช้เทคโนโลยีนำข้อมูลการจับจ่ายใช้สอยของกลุ่มลูกค้าเหล่านี้มาเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้พวกเขาได้รับบริการการเงินที่ต้องการ และสามารถต่อยอดไปใช้บริการการเงินที่อยู่ในระบบได้
หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือ การเปิดตัวบริษัท กสิกร อินเวสเจอร์ จำกัด หรือ KIV บริษัทโฮลดิ้งภายใต้กลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารกสิกรไทย มาพร้อมกับพาร์ตเนอร์ 14 บริษัท ที่เป็นผู้นำในแต่ละธุรกิจ และมีฐานข้อมูลทั้งการจับจ่ายใช้สอย ไลฟ์สไตล์ มาช่วยกันต่อจิ๊กซอว์เพื่อทำให้บริการการเงินครอบคลุมทุกที่ที่ลูกค้าอยู่ โดยมีโจทย์ว่า ต้องการทำให้ลูกค้าเข้าถึงบริการการเงินได้ง่ายและเร็วขึ้น จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้กสิกร อินเวสเจอร์ แยกตัวออกจากธนาคารกสิกรไทย มาบริหารธุรกิจเองโดยอิสระ เพื่อทำให้กระบวนการให้บริการต่างๆ กับลูกค้าคล่องตัวมากขึ้น
ภารกิจสำคัญเพื่อขับเคลื่อน KIV ให้ก้าวไปข้างหน้ามั่นคง ประกอบด้วยการผนึกกำลังของพาร์ตเนอร์ต่างๆ เพื่อขยายฐานลูกค้า และเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนลูกค้าในทุกมิติ พร้อมรองรับลูกค้าทั้งบนแพลตฟอร์มของ KIV และแพลตฟอร์มของพาร์ตเนอร์ ไม่ว่าจะเป็นในโลกโซเชียล ในแชต ร้านชำ ฯลฯ โดย KIV จะผสานความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์สร้างประสบการณ์บริการที่ไร้รอยต่อ ช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงบริการทางการเงินได้ทุกจังหวะชีวิต และทำความเข้าใจลูกค้าอย่างลึกซึ้ง
เพื่อให้มองเห็นภาพของกสิกร อินเวสเจอร์ชัดขึ้น ศุภนีวรรณ จูตระกูล และชลารัตน์ พินิจเบญจพล 2 ผู้บริหารในตำแหน่ง Executive Chairman ของ KIV ที่ร่วมกันวางโครงสร้างของ KIV และทำงานกับพาร์ตเนอร์ต่างๆ จะเป็นผู้เล่าเรื่องราวทั้งหมด
ต่อไปนี้คือ 8 แนวคิดการบริหารฉบับ KIV ที่พลิกรูปแบบการทำธุรกิจในการให้บริการทางการเงินกับลูกค้ารายย่อยได้ทั่วถึง และใช้ศักยภาพของพาร์ตเนอร์เสริมความแข็งแกร่งซึ่งกันและกันได้อย่างลงตัว
1. Built to Change เข้าใจตลาด เข้าใจลูกค้า
สิ่งสำคัญอันเป็นหัวใจเบื้องหลังความสำเร็จขององค์กรที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงคือ ‘ความเข้าใจ’ ทั้งเข้าใจตลาด เข้าใจลูกค้า และนั่นคือสิ่งที่ทำให้กสิกร อินเวสเจอร์ มองเห็น pain point ของลูกค้าและโอกาสในธุรกิจ
เมื่อมองภาพของปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของผู้ประกอบการไทย พบว่า การเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาต่อยอดธุรกิจเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ศุภนีวรรณ จูตระกูล ได้ฉายภาพสถานการณ์ที่ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะเจ้าของร้านค้าขนาดเล็กที่เริ่มมีมากขึ้นในยุคนี้ สิ่งที่ลูกค้ากลุ่มนี้เจออยู่ตอนนี้คือ “เมื่อผู้ประกอบการรายย่อยเข้าไม่ถึงแหล่งทุน สิ่งที่ตามมาคือ ผู้คนจะไม่มีเงินทุนทำธุรกิจเพื่อชำระหนี้ หรือใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน จนทำให้ต้องไปกู้หนี้นอกระบบ และตกอยู่ในวังวนของการจ่ายดอกเบี้ยอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น เราจึงต้องการเป็นส่วนสนับสนุน ปล่อยสินเชื่อให้พวกเขาสามารถไปต่อยอดธุรกิจเพื่อสร้างรายได้และชำระหนี้”
ชลารัตน์เล่าให้เราฟังเพิ่มเติมว่า ถ้าดูตัวเลขของหนี้ครัวเรือนเห็นว่า หนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้จากธนาคารพาณิชย์ เป็นหนี้บ้าน หนี้รถ หรือหนี้เฉพาะกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นหนี้เพื่อการทำเกษตร ทำสวน ทำนา ภารกิจของ KIV จึงโฟกัสกลุ่มลูกค้ารายย่อย คนที่อยากเริ่มต้นธุรกิจ หรือฟรีแลนซ์ที่รายได้ไม่สม่ำเสมอ ซึ่งเป็นช่องว่างทางการตลาดที่เราค้นพบ เนื่องจาก non-bank (ผู้ให้บริการทางการเงินแต่ไม่ใช่สถาบันการเงินหรือธนาคาร) ส่วนใหญ่จะปล่อยสินเชื่อได้ในวงจำกัด และไม่ปล่อยให้ผู้ประกอบการรายย่อย นี่จึงเป็นเหตุผลให้ KIV เลือกที่จะลงเล่นในตลาดสินเชื่อที่ขึ้นชื่อว่าเป็น Red Ocean
2. เรียนรู้จากความผิดพลาดและแก้ปัญหาล่วงหน้า
กว่าจะมาถึงวันที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการ จุดเริ่มต้นแท้จริงของ KIV ต้องย้อนไปในปี 2018 KIV ได้เริ่มทำงานกับพาร์ตเนอร์ในชื่อโปรเจกต์ Biz X โปรเจกต์ที่สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้ธนาคารกสิกรไทยมาแล้วมากมาย ซึ่งภาพที่ชัดเจนและเป็นที่จดจำได้ดี คือการทำ Social Banking รายแรกในประเทศไทย โดยร่วมกับ LINE ให้บริการ LINE BK บริการการเงินบน LINE ซึ่งเป็นแอพฯ ที่คนไทยใช้งานมากกว่า 50 ล้านคน และความร่วมมือกับร้านสะดวกซื้อชุมชนอย่างร้านถูกดี มีมาตรฐานเพื่อให้บริการระบบชำระเงิน เป็นต้น โปรเจกต์ Biz X ที่ระดมทีมทำงานกันมาตลอด 5 ปี ทำให้ทีมได้เก็บข้อมูลลงมือทำจริง เรียนรู้ความผิดพลาดและได้รับความสำเร็จจากประสบการณ์จริง
อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันจะมีคนใช้บริการการเงินของธนาคารกสิกรไทย 20 กว่าล้านคน แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้ใช้บริการการเงินในระบบ
“โจทย์สำคัญคือทำอย่างไรจึงจะเข้าถึงกลุ่มคนที่เหลืออยู่ เมื่อตั้งจากโจทย์นี้ ทำให้ธนาคารกสิกรไทยเห็นภาพการทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ที่ช่วยให้เข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น” ศุภนีวรรณเล่าถึงเบื้องหลังโปรเจกต์ Biz X
หนทางความสำเร็จมักไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ชลารัตน์เล่าประสบการณ์อันเป็นบทเรียนสำคัญว่า “ก่อนหน้านี้เราพิจารณาการปล่อยสินเชื่อผ่านข้อมูลลูกค้าที่ยื่นออนไลน์เข้ามา ซึ่งมีคนสนใจเยอะ แต่กลับเป็นเอกสารปลอม ยืนยันที่อยู่และเบอร์ติดต่อไม่ได้ ทำให้เกิดหนี้เสียไปไม่น้อย สิ่งที่เราปรับคือ การใช้ความเชี่ยวชาญจากพาร์ตเนอร์เข้ามาช่วย และให้เวลากับการพิจารณาสินเชื่อมากขึ้น มีการทำ cross-check เคสไหนไม่มั่นใจเราก็จะส่งพนักงานไปเจอลูกค้า ร่วมกับการวิเคราะห์ดาต้าที่มี ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดีย ไลฟ์สไตล์ และการซื้อสินค้าออนไลน์”
การเรียนรู้จากความผิดพลาดทำให้เห็นหนทางใหม่ๆ และทำให้รู้ว่าต้องแก้ปัญหาอย่างไรให้เป็นไปตามเป้าหมายองค์กร
3. สร้าง Synergy ระหว่างพาร์ตเนอร์
การดำเนินงานของ KIV เป็นการผสานความเชี่ยวชาญของพาร์ตเนอร์ในแต่ละด้าน ร่วมกับการใช้ทรัพยากรที่ธนาคารกสิกรมีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นฐานผู้ใช้งาน K PLUS ที่มีกว่า 20 ล้านราย, เงินทุน, ข้อมูลไอที และสาขา เป็นต้น รวมถึงพาร์ตเนอร์ที่ร่วมงานกับ KIV ก็ล้วนมีความแข็งแกร่งที่แตกต่างกัน เมื่อนำจุดแข็งของแต่ละส่วนมารวมกันย่อมส่งผลดีต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะเรื่องการแชร์บริการหรือองค์ความรู้ร่วมกัน ทำให้เกิดรายได้บนความเสี่ยงที่คุ้มค่า ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม
ชลารัตน์เล่าถึงการทำงานกับพาร์ตเนอร์ให้เราฟังว่า “แต่ก่อนถ้าเป็นลูกค้าในต่างจังหวัดหรือชุมชนเล็กๆ เราไม่มีทางรู้เลยว่าพวกเขาเป็นใคร อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นนานเท่าไหร่ หรือมีพฤติกรรมการซื้อสินค้าอย่างไร การมีพาร์ตเนอร์จะช่วยให้เราได้ข้อมูลเหล่านี้ นี่จึงเป็นที่มาของการร่วมมือกับ ทีดี ตะวันแดง เจ้าของร้านถูกดี มีมาตรฐาน ช่วยให้เราเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายรายย่อยได้มากขึ้น เนื่องจากร้านนี้เป็นเหมือนเอาต์เล็ต กระจายอยู่ทั่วประเทศในพื้นที่ชุมชนต่างๆ มีลูกค้าประจำ และดำเนินการโดยเจ้าของร้านที่เป็นคนพื้นที่ที่รู้จักชุมชนเป็นอย่างดี สามารถดูได้ว่าลูกค้าแต่ละคนมีความสามารถในการชำระหนี้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ต้องพิจารณาปล่อยสินเชื่ออย่างละเอียด เพื่อลดการเกิดหนี้เสีย”
หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมธนาคารกสิกรไทยที่เป็นเบอร์ต้นๆ ของประเทศต้องลงทุนกับพาร์ตเนอร์หลายรายแทนที่จะทำเองทั้งหมด ดั่งคำกล่าวที่ว่า ไปคนเดียวอาจไปได้เร็ว แต่ถ้าไปด้วยกันจะไปได้ไกลกว่า KIV ก็คิดอย่างนี้เช่นกัน เพราะการร่วมกับพาร์ตเนอร์ที่เป็น expertise ในสาขาต่างๆ จะเติมเต็ม ecosystem ทั้งหมดขององค์กร บวกกับทรัพยากรที่แข็งแกร่งของธนาคาร จึงช่วยให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้ง 14 บริษัทที่เป็นพาร์ตเนอร์ ล้วนมีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน อาทิ ทีดี ตะวันแดง ธุรกิจร้านค้าปลีกภายใต้ชื่อร้านถูกดี มีมาตรฐาน ที่ตั้งอยู่ในชุมชนทั่วประเทศ, บริษัท เงินให้ใจ และคาร์ ฮีโร่ ให้บริการธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ หรือบริษัท ทีทูพี โฮลดิ้ง จำกัด ให้บริการ e-Wallet เพื่อเป็นโซลูชั่นธุรกรรมการเงิน และบริการสินเชื่อผู้ประกอบการรายย่อย เป็นต้น รวมมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 30,000 ล้านบาท
4. รับฟังและหาจุดกึ่งกลาง
การมีพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจถือเป็นกุญแจสำคัญต่อการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความสำเร็จอย่างไม่ต้องสงสัย ในขณะเดียวกัน การทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ที่มีความต้องการและโจทย์ที่แตกต่างกัน เป็นความท้าทายที่ KIV ต้องสร้างข้อตกลงร่วมกันให้ได้
หน้าที่ของ KIV คือการลงทุนและสนับสนุนการทำงานของพาร์ตเนอร์ทุกราย เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันและได้ประโยชน์สูงสุด
ศุภนีวรรณเล่าถึงความยากในการทำงานกับพาร์ตเนอร์จำนวนมากว่า ความกลมเกลียว คือสิ่งที่ยากที่สุด เพราะทุกกลุ่มมีกลุ่มเป้าหมายของตัวเอง ดังนั้นเราจึงต้องทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ เช่น การแชร์การเข้าถึงระบบหรือข้อมูลระหว่างกัน ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้ เราต้องทำให้พาร์ตเนอร์เห็นว่าเมื่อร่วมมือกันแล้วดีอย่างไร เพราะทุกธุรกิจก็ต้องการให้ตนเองโต
“วันแรกเราอาจยังไม่รู้จัก ไม่เชื่อใจกัน พอลงมือทำจริงต้องสื่อสารกันให้มาก แต่ละพาร์ตเนอร์ก็มีโจทย์และความต้องการที่แตกต่างกัน จึงต้องมีข้อตกลงร่วมกัน ด้านพนักงานของเราก็ต้องรับฟังและพูดคุย รวมถึงต้องมีเป้าหมายร่วมกัน”
5. ใช้ดาต้าสร้างโอกาสในการเข้าถึงลูกค้า
ด้วยความที่ทุกวันนี้สถาบันการเงินเปรียบได้กับ data company ที่มีข้อมูลอยู่ในมือมากมาย และเป็นข้อมูลทางการเงินที่มีคุณค่าต่อธุรกิจ แต่ในขณะเดียวกันการร่วมงานกับพาร์ตเนอร์ก็ช่วยให้ KIV มีดาต้าด้านอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเรื่องประเภทสินค้าที่มีการซื้อมากที่สุดจากร้านถูกดี มีมาตรฐาน หรือข้อมูลไลฟ์สไตล์จากการใช้จ่ายผ่านช่องทาง LINE ซึ่งแต่ละบริษัทก็มีข้อมูลของตัวเอง
ชลารัตน์กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนองค์กรด้วยดาต้า ช่วยให้เราเห็นภาพธุรกิจที่ชัดเจนขึ้น รู้ว่าจริงๆ แล้วผู้บริโภคมีความต้องการและพฤติกรรมอย่างไร ช่วยกลั่นกรองลูกค้าทำให้เราออกแบบโมเดลธุรกิจได้ตรงกลุ่ม และสร้างแคมเปญที่เหมาะกับลูกค้า
เราสามารถนำดาต้ามาใช้ได้หลายมิติ เพราะการมีดาต้าที่ดีจะทำให้เราเข้าถึงปัญหาได้เร็วกว่าเดิม เข้าใจลูกค้าอย่างลึกซึ้ง นำไปสู่ความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อ
6. ปรับตัวไวในโลกที่เปลี่ยนเร็ว
ทุกคนทราบดีกว่าการจะอยู่รอดในโลกธุรกิจ จำเป็นต้องปรับตัวให้ไว
การทำธุรกิจแบบเดิมๆ อาจไม่ทำให้ธุรกิจเติบโตในระยะยาว แม้วันนี้ร้านจะขายดี แต่อีก 2 เดือนมีเทรนด์ใหม่เข้ามา ก็พลิกเป็นขาดทุนได้ง่ายๆ ผู้ประกอบการจึงต้องจับกระแสให้ทัน เป็นทั้งความยากและง่ายในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงลูกค้าที่ง่ายขึ้น แต่ก็เสียลูกค้าได้ง่ายไม่ต่างกัน ดังนั้นสินค้าต้องตอบโจทย์ตลาด
“ในมุมของเราที่ต้องทำงานกับลูกค้าและผู้ประกอบการรายย่อย ต้องปรับตัวให้ไวกว่าพวกเขา เพราะคนรุ่นใหม่เกิดมาพร้อมกับอินเทอร์เน็ตที่เต็มไปด้วยความเร็ว นั่นหมายความว่าเขาพร้อมจะเปลี่ยนตามความคาดหวังตลอดเวลา เราเองก็ต้องเปลี่ยนให้เร็ว มองให้กว้าง เรียนรู้จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมถึงวิธีที่จะ respond ก็เปลี่ยนตามเทคโนโลยี” ศุภนีวรรณอธิบาย
7. ให้ความสำคัญกับการบริการ หมั่นสื่อสารกับลูกค้าเสมอ
ความประทับใจถือเป็นสิ่งที่สร้างได้ยากที่สุดในงานบริการ เพราะเกี่ยวข้องกับอารมณ์และความรู้สึก
การเข้าหาลูกค้าของ KIV จะปรับวิถีให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนยุคดิจิทัล และยืดหยุ่นหลายรูปแบบ เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้บริการที่ดี เช่น จากเดิมที่ลูกค้าต้องมาสาขาเพื่อยื่นกู้ ก็ปรับเป็นยื่นเอกสารออนไลน์ การลดเวลารอผลยื่นกู้ และเมื่อกู้ผ่านแล้วทีมงานจะสื่อสารกับลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการแจ้งข่าวสาร หรือผลประโยชน์ที่เหมาะสมผ่านช่องทางต่างๆ
8. สร้างวัฒนธรรมการทำงานที่เน้นการสื่อสารระหว่างกัน
ด้วยความที่พนักงานของ KIV ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ ที่เต็มไปด้วยความคล่องแคล่ว ว่องไว และพร้อมก้าวไปข้างหน้า เมื่อพนักงาน 60-70 คนรวมตัวกันเป็น KIV จึงกลายเป็นทีมที่มั่นใจในการทำงานกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม มีการ collaboration ทำงานร่วมกันเป็นอย่างดี ทำให้สามารถเข้าถึงอินไซต์ได้มาก และดึงออกมาใช้ได้เกิดประโยชน์สูงสุด
ศุภนีวรรณเล่าถึงประสบการณ์ทำงานให้ฟังว่า “ทุกคนในทีมมีแพสชั่นและเป้าหมายเดียวกัน คืออยากให้บริษัทโต แม้จะมีปัญหาขัดแย้งกันบ้าง แต่ก็มีการพูดคุยกันจนเข้าใจ มีการแชร์ความคิดระหว่างกัน ในทุกการทำงานเราอาจต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง บางครั้งทางเลือก A อาจประสบความสำเร็จ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า B จะไม่สำเร็จ ดังนั้น ไม่ว่าจะดีหรือร้าย ทุกขั้นตอนก็มีสิ่งให้เราได้เรียนรู้”
เมื่อถามถึงภาพอนาคตของ KIV ศุภนีวรรณบอกกับเราว่า “เราคาดหวังว่าจะทำให้ต้นทุนการทำงานต่างๆ ลดลง คาดหวังให้บริษัทเติบโตได้จากการใช้ดาต้าที่มีให้เกิดประโยชน์ และคาดหวังว่าจะปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้ตามเป้าหมาย”
“เราต้องการสร้างคุณค่าร่วมในระยะยาว ด้วยการเตรียมพร้อมและไม่หยุดพัฒนาตัวเอง เนื่องจากเราต้องทำงานกับหลายอุตสาหกรรม การพบเจอคนหลากหลาย ทำให้เราเปิดรับความแตกต่าง เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน” ชลารัตน์เสริมถึงความเชื่อในการทำงาน
แพสชั่น คือสิ่งที่ผู้ประกอบการทุกคนควรมี ทว่า การทำธุรกิจยุคนี้ แพสชั่นอย่างเดียวอาจไม่พอ ทุกคนจำเป็นต้องมีทักษะการบริหารจัดการต้นทุน และการวางแผนในระยะยาว ก่อนจากกัน เราได้ขอเคล็ดลับการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ
ชลารัตน์ให้คำแนะนำสั้นๆ ว่า “ทุกวันนี้ผู้ประกอบการอายุน้อยลง ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ฝันอยากมีธุรกิจของตัวเอง ใช้แพสชั่นนำทางในการทำธุรกิจ โดยไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการบริหาร ลูกค้าส่วนใหญ่ของเราจะโฟกัสเรื่องการหารายได้ จนอาจละเลยเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน ดังนั้น สิ่งที่ลงมือทำได้เลยคือ การหาความรู้จากแหล่งต่างๆ เติมในสิ่งที่ไม่รู้ เพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ”
ทั้งหมดนี้ คือการบริหารงานของ KIV ที่เป็นแนวทางใหม่ของธุรกิจให้บริการการเงิน ที่มีโจทย์สำคัญคือ การผสานความต้องการของลูกค้า และพาร์ตเนอร์ได้ตรงเป้าหมาย รวมถึงสร้างรายได้เพื่อให้ธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคงต่อไป