นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

Hot Pot Issue

เราไม่กินชาบูกับคนที่ไม่ชอบ ความอบอุ่นและวัฒนธรรมพันปีของหม้อไฟ

ในวงชาบูหนึ่ง มีคำกล่าวน่าสนใจลอยขึ้นมาว่า ‘เราไม่กินชาบูกับคนที่เราไม่ชอบหน้า’ 

ฟังได้ดังนั้นก็รู้สึกเห็นด้วยขึ้นมาทันที ในวันที่เราชวนกินชาบูกันแทบทุกวัน คนที่เราจะชวนมากินชาบูด้วยกันนั้น โดยทั่วไปแล้วเรามักจะชวนคนที่เราชอบพอกัน อันที่จริงชาบูนับเป็นอาหารที่ชวนกันง่าย คือถ้าเป็นเพื่อนฝูง ครอบครัว หรือคนที่เราชอบพอกันแล้ว การกินชาบูด้วยกันเป็นเรื่องธรรมดาและเป็นความสนุกของชีวิตอย่างหนึ่ง ซึ่งการชวนกินหรือลงมือนั่งกินชาบูด้วยกันนั้นนับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่มีความซับซ้อนน่าสนใจ อะไรคือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความรักในชาบูของเรา

ถ้าเรามองว่าการกินชาบู หรือคืออาหารประเภทหม้อร้อน (hot pot) เป็นวัฒนธรรมอาหารรูปแบบหนึ่ง ชาบูหรือหม้อไฟ อันเป็นกิจกรรมของการกินอาหารแบบปรุงไปกินไป เป็นวัฒนธรรมการรับประทานอาหารแบบพร้อมหน้าที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีนัยสำคัญทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะความเป็นเอเชียแบบเราๆ ที่การกินอาหารไม่ใช่แค่การกินให้อิ่ม แต่เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมทางสังคม เป็นพื้นที่และกิจกรรมที่ช่วยเชื่อมโยงผู้คนเข้าหากัน

และนี่คือเรื่องราวหลักพันปีของหม้อไฟ จากการสืบหาร่องรอยจากตำนานการต้มเนื้อสัตว์ในค่ายทหารจากดินแดนอันหนาวเหน็บและการสู้รบของชาวมองโกล สู่ร่องรอยของต้มหมาล่าเผ็ดชาที่ค่อยๆ กลายเป็นอาหารของคนทุกชั้น สู่บริบททางวัฒนธรรมและความน่าสนใจในอาหารประเภทหม้อไฟ ที่หลังจากอ่านทรัพย์คัลเจอร์แล้ว การชวนกันไปกินหมาล่าชาบูจะไม่ใช่แค่เรื่องของคนหิว แต่เป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรมและร่วมฉลองให้กับประวัติศาสตร์อันยาวนานของวัฒนธรรมการกินหม้อไฟ

ตำนานหม้อไฟ จากหม้อหมวกเหล็กสู่อาหารราชสำนัก

หม้อไฟเป็นอาหารที่จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่าซับซ้อนในตัวเองก็มีความซับซ้อน หม้อไฟคือการกินอาหารโดยมีซุปที่ตั้งอยู่บนถ่านไฟ เป็นการปรุงอาหารไปรับประทานไป ตำนานสำคัญของหม้อไฟจึงมักอ้างอิงกลับไปที่อาณาจักรมองโกลเมื่อพันกว่าปีก่อน (ศตวรรษที่ 13) ตำนานหม้อไฟอ้างอิงว่าการกินอาหารหม้อไฟมาจากวัฒนธรรมการปรุงอาหารของมองโกล กลุ่มนักรบชนเผ่าที่ร่อนเร่และใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ยากลำบากและหนาวเย็น ตำนานหม้อไฟของมองโกลเป็นการปรุงอาหารที่เรียบง่ายของทหารมองโกลที่ใช้หมวกเหล็กเป็นหม้อแล้วนำไปตั้งไป เป็นการปรุงเนื้อสัตว์ง่ายๆ ซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตชนเผ่าและนักรบของมองโกล

หลังจากมองโกลพิชิตจีนได้ กุบไลข่านตั้งราชวงศ์หยวน ตามตำนานเชื่อว่ากุบไลข่านเป็นผู้สืบทอดวัฒนธรรมอาหารของมองโกล เป็นผู้ทำให้อาหารหม้อไฟกลายเป็นวัฒนธรรมอาหารสำคัญของจีน ในราชสำนักเมื่อกุบไลข่านตั้งราชวงศ์หยวนแล้วมีหลักฐานการใช้หม้อทองแดงเป็นหม้อกลาง มีการปรุงน้ำซุปที่ค่อนข้างเรียบง่ายด้วยขิงและกุยช่าย วัตถุดิบหลักของหม้อไฟแบบมองโกลคือเนื้อแกะที่ถูกหั่นบางๆ เหมือนกับกระดาษ

ทว่าประวัติศาสตร์อาหารหม้อไฟอาจสืบย้อนขึ้นไปได้ก่อนสมัยราชวงศ์หยวน ลักษณะการปรุงซุปหม้อไฟรวมถึงการใช้เนื้อแกะอาจสัมพันธ์กับกิจกรรมที่มาก่อนหน้านั้นคือการเซ่นไหว้บรรพชน การปรุงอาหารด้วยหม้อไฟชนิดที่นำมาปรุงร่วมกันอาจมีที่มาสัมพันธ์กับวัฒนธรรมที่เก่าแก่กว่านั้น เช่นการขุดค้นพบหม้อโลหะสามขาในสมัยราชวงศ์ฮั่น (200 ปีก่อนคริสตกาล) และมีบันทึกในสมัยที่เก่าแก่กว่านั้นคือตั้งแต่ยุคสงครามคือ 400 ปีก่อนคริสตกาล พูดถึงการเซ่นสรวงบรรพชนด้วยการตั้งหม้อสามขาแล้วนำอาหารมาปรุงในหม้อแล้วจึงแยกแบ่งส่วนออกไปบูชาบรรพชนในสัดส่วนต่างๆ กัน ตรงนี้เองอาจเป็นร่องรอยหนึ่งของการปรุงอาหารแบบหม้อเดียวกันซึ่งมาจากการประกอบพิธีกรรม

ประเด็นเรื่องเนื้อสัตว์ในที่นี้คือเนื้อแกะ อาจเป็นอีกหนึ่งร่องรอยหม้อไฟหรือวัฒนธรรมการปรุงเนื้อแกะที่กลายมาเป็นเมนูหม้อไฟที่ได้รับความนิยมในสมัยราชวงศ์หยวน คือในตำรับอาหารจีนเท่าที่มีบันทึกการต้มแกะและใช้ดอกกุยช่าย (Chinese chive flower) ทั้งในการต้มในพิธีกรรมสังเวยแก่บรรพบุรษ และใช้เพื่อดับกลิ่นคาว นอกจากนี้ยังมีบางบันทึกที่พูดถึงร้านอาหารที่เปิดขายหม้อไฟที่ใช้แกะเป็นวัตถุดิบโดยมีบันทึกเก่าแก่ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง ซึ่งเป็นราชวงศ์ก่อนที่มองโกลจะเรืองอำนาจ ในสมัยนั้นก็เริ่มมีตำรับอาหารที่พูดถึงหม้อไฟที่ใช้เนื้อกระต่าย และร้านอาหารในเมืองหลวงที่มีเมนูหม้อไฟเนื้อแกะ แต่ด้วยความนิยมของเนื้อสัตว์ และการที่เนื้อแกะเป็นอาหารสำหรับชนชั้นสูง จึงคาดว่าหม้อไฟน่าจะยังไม่ได้แพร่หลายนักจนมาถึงการรับอิทธิพลของมองโกล

กลับมาที่สมัยราชวงศ์หยวน ยุคสมัยที่มีหลักฐานแน่ชัดเรื่องวัฒนธรรมอาหารหม้อไฟที่เริ่มเป็นที่รู้จักและกระจายตัวเข้าสู่วัฒนธรรมอาหารจีนและเริ่มเกิดร้านอาหารหม้อไฟอย่างเป็นทางการ อันที่จริงถ้าเรามองว่ามองโกลเองขึ้นสู่อำนาจ แต่มองโกลก็ยังนับว่าไม่ได้รับการยอมรับในทางวัฒนธรรม หม้อไฟนับเป็นหนึ่งในไม่กี่วัฒนธรรมอาหารที่สืบสานต่อเนื่องมาจากวัฒนธรรมการกินบนทุ่งหญ้าน้ำแข็งที่กลายเป็นวัฒนธรรมกระแสหลัก

หลักฐานสำคัญว่าหม้อไฟกลายเป็นอาหารในราชสำนักจีน คือบันทึกการเลี้ยงฉลองที่ได้ฉายาว่าเป็น ‘งานเลี้ยงของผู้อาวุโสทั้งหนึ่งพันคน’ในสมัยจักรพรรดิเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง งานเลี้ยงดังกล่าวจัดขึ้นในปี 1796 หลายร้อยปีหลังรัชสมัยของกุบไลข่าน งานเลี้ยงพระราชทานนั้นเป็นการเชิฐผู้สูงอายุที่อายุเกิน 70 ปี เข้ามารับประทานอาหารภายในวังต้องห้าม ในงานนั้นเองที่มีบันทึกว่าจักรพรรดิทรงเลี้ยงคน 5,000 คน ด้วยหม้อจำนวน 1,650 หม้อ ตรงนี้เองเราจะเห็นถึงความนิยมของหม้อไฟ และศักยภาพของรูปแบบการปรุงอาหารด้วยหม้อไฟที่ใช้ในงานเลี้ยงขนาดใหญ่ได้ ทั้งผู้อาวุโสทั้งห้าพันรายก็อาจนำความประทับใจในหม้อไฟพระราชทานนี้กลับไปยังพื้นที่ชุมชนของตนเองต่อไป

นับจากหลักฐานความนิยมและการใช้หม้อไฟในงานเลี้ยงของราชสำนัก ในปี 1854 มีหลักฐานอย่างเป็นทางการในการเปิดร้านอาหารหม้อไฟที่เป็นร้านหม้อไฟเฉพาะทางขึ้น ความพิเศษของวัฒนธรรมหม้อไฟนั้นจึงค่อนข้างสัมพันธ์กับวัฒนธรรมการกินอาหารนอกบ้าน ซึ่งก็ไปสัมพันธ์กับการก่อตัวขึ้นของชนชั้นที่มีรายได้ดีขึ้น หม้อไฟแบบมองโกลคือหม้อไฟที่มีน้ำซุปสีขาว ใช้วัตถุดิบหลักเป็นเนื้อแกะ มีน้ำจิ้มเป็นงาบด ในด้านหนึ่งนับเป็นวัฒนธรรมอาหารจากชนชั้นสูงคือราชสำนักแล้วค่อยๆ ขยายตัวมาสู่ชนชั้นกลางในช่วงทศวรรษ 1980

ซุปสีแดงและหม้อเก้าช่อง หม้อไฟรสเผ็ดจากชนชั้นล่าง

วัฒนธรรมหม้อไฟเต็มไปด้วยความหลากหลาย และสัมพันธ์เปลี่ยนแปลงไปตามบริบท หม้อไฟจีนเองก็มีรายละเอียดแตกต่างกัน โดยเฉพาะลักษณะซุปที่มีลักษณะเด่นตามแต่ละเมือง แต่ทว่าหม้อไฟที่ชาวจีนนิยมสั่งมากที่สุดคือน้ำซุปสองสีคือน้ำซุปสีขาวแดง ซุปสีขาวแดงนี้อาจสัมพันธ์กับหม้อที่มีปัจจุบันก็ยังคงเรียกว่าว่าหม้อหยวนหยาง (yuanyangguo) คำว่าหยวนหยางนี้ตั้งตามชื่อเป็ดแมนดารินที่มักมีสีสันสดใส บางตัวมีสีขาวสลับแดง สีขาวและแดงนี้ก็อาจจะมาจากซุปยอดนิยมของหม้อสองซุปที่มาตั้งแต่โบราณ ซุปสีขาวคือซุปแบบมองโกล ในขณะที่ซุปสีแดงคือซุปหมาล่าแบบฉงชิ่งเสฉวน 

การอยู่ร่วมกันของน้ำซุปสองสี น้ำซุปมองโกลดูจะเป็นวัฒนธรรมที่เริ่มจากราชสำนัก แต่ทว่าความนิยมของน้ำซุปหรือหม้อไฟแบบฉงชิ่งนั้นกลับมีจุดเริ่มต้นและความนิยมที่แตกต่างกัน คือเริ่มมาจากการเป็นอาหารของคนชั้นแรงงาน เป็นหม้อไฟที่ใช้เพื่อจัดการกับวัตถุดิบราคาถูก เป็นอาหารการครัวของคนชั้นที่อยู่ด้านล่างสุดของสังคม

การย้อนดูประวัติศาสตร์หมาล่าหม้อไฟ หม้อไฟสีแดงที่ลอยด้วยน้ำมัน พริกและเครื่องเทศสำคัญเช่นใบกระวาน รวมถึงวัฒนธรรมหม้อไฟที่เต็มไปด้วยวัตถุดิบแปลกประหลาดที่ถูกปรุงในน้ำซุปมันย่องรสจัดนั้นก็ย้อนกลับไปได้ถึงวัฒนธรรมอาหารบริบทเมืองฉงชิ่งที่เชื่อมโยงกันได้อย่างน่าสนใจ หม้อไฟแบบฉงชิ่งเป็นอาหารที่ตัวที่มายังถกเถียงกันอยู่ว่ามาจากพื้นที่ไหน หนึ่งในข้อสันนิษฐานที่ได้รับการยอมรับคือการที่ฉงชิ่งกลายเป็นศูนย์กลางการค้าทางน้ำและเป็นพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ หม้อไฟสีแดงที่เราคุ้นเคยเป็นอาหารที่เกิดจากชนชั้นแรงงานที่ทำงานยากลำบากที่สุดของเมือง

ความเป็นศูนย์กลางหรือเป็นเมืองการค้าของฉงชิ่งเริ่มต้นอย่างน้อยที่สุดคือในปี 1981 เมื่ออังกฤษตั้งศุลกากรที่เมืองฉงชิ่ง ในระบบเศรษฐกิจของฉงชิ่งที่เชื่อมต่อและสัญจรในพื้นที่ด้วยแม่น้ำ และเป็นที่ที่สินค้าต่างๆ จะหลั่งไหลเข้ามาเพื่อส่งออกไปยังโลกตะวันตก ในช่วงนี้เอง ฉงชิ่งจึงเต็มไปด้วยกรรมกร อย่างแรกคือคนพายเรือที่จะทำหน้าที่ทั้งพายทั้งขนสินค้า และอีกกลุ่มเป็นอาชีพที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นลูกหาบ คือฉงชิ่งเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยเนินและภูเขา กรรมกรเหล่านี้จะทำหน้าที่หาบสินค้าที่คล้องไปกับไม้ไผ่ยาวๆ บนไหล่ ไต่ไปตามภูเขาที่สูงชันเพื่อขนของ

ในขณะเดียวกัน เมืองฉงชิ่งเองก็เป็นเมืองที่ขึ้นชื่อและมีพื้นที่อุตสาหกรรมสำคัญคือโรงเชือดที่เฟื่องฟูมาตั้งแต่ราชวงศ์หมิง แน่นอนว่าเนื้อสัตว์จากโรงเชือดเป็นวัตถุดิบที่แพงเกินไป ชิ้นส่วนที่เหลือจากอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ของเมือง เช่น มันเนื้อ ไส้เป็ด เลือดเป็ด สมองหมู เครื่องในจึงเป็นเนื้อสัตว์ที่มีราคาถูก ด้วยชิ้นส่วนเนื้อสัตว์ที่มีราคาถูกนี้ น้ำซุปที่ถูกปรุงขึ้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องมีรสจัด มีการดับกลิ่นคาวด้วยเครื่องเทศ 

นอกจากการดับกลิ่นคาวแล้ว ซุปหม้อไฟแบบเสฉวน รสชาติที่จัดจ้านและน้ำซุปที่มันเข้มข้นนับเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง เหมาะกับผู้ใช้แรงงานที่ต้องการพลังงานมาก ด้วยการผสมผสานกันของความต้องการในฐานะอาหารของชนชั้นล่างนี้กลับทำให้หม้อไฟเสฉวนกลายเป็นอีกหนึ่งอาหารพิเศษที่เป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบัน เป็นหม้อไฟที่ทำให้วัตถุดิบต่างๆ นุ่มและมีรสชาติอร่อยขึ้นได้

ทีนี้ อีกคำถามที่อาจสงสัย หม้อไฟที่ว่าหน้าตาเป็นยังไง ตรงนี้ก็อาจจะตอบกับภาพจำหม้อไฟแบบแบ่งช่องอย่างที่เราเคยเห็นกัน ร้านหม้อไฟโบราณของจีนคือการมีหม้อรวม แบบหม้อรวมจริงๆ คนแปลกหน้าจะมาจุ่มต้มร่วมกัน ตรงนี้เองยิ่งตอบโจทย์การกินอาหารของคนชั้นแรงงาน คือเป็นการรับประทานร่วมกัน เรียบง่าย รวดเร็ว และมีราคาถูก 

อย่างไรก็ตามมรดกอย่างหนึ่งมาจากการที่หม้อไฟเสฉวนเริ่มไม่ใช่แค่อาหารของคนชั้นล่างหรือแรงงานเพียงอย่างเดียว นวัตกรรมสำคัญคือหม้อไฟที่มีหน้าตาเป็นช่องสี่เหลี่ยมเก้าช่องนั้น ไม่ได้ใช้แบ่งน้ำซุป เพราะตัวช่องจะแบ่งแค่ด้านบนเท่านั้น แท้จริงแล้วถูกออกแบบเพื่อแบ่งพื้นที่ทางชนชั้น คือเมื่อชนชั้นแรงงานและกุลีลงนั่งกินก็จะใช้น้ำซุปในช่องสี่เหลี่ยมหนึ่ง และเมื่อชนชั้นอื่นๆ เข้าร่วมโต๊ะก็จะใช้พื้นที่ช่องอื่นๆ 

หม้อไฟฉงชิ่งเลื่อนลำดับชั้นจากหม้อไฟของคนยากจนสัมพันธ์กับสงคราม คือเฟื่องฟูและเป็นที่นิยมขึ้นในหมู่คนทุกชั้นในช่วงสมัยสงครามกลางเมือง (1927-1949) ในช่วงสงครามกลางเมืองนี้เองที่ฉงชิ่งกลายเป็นเมืองศูนย์กลางทางการทหาร ทำให้หม้อไฟของฉงชิ่งกลายเป็นอาหารสำคัญประจำเมือง กล่าวคือในช่วงสงครามนั้นเอง จีนได้ย้ายผู้คนจากชายฝั่งทะเลไปอยู่ที่ฉงชิ่ง นึกภาพคนนับหมื่นย้ายเข้าไปอยู่ในเมืองเดียวกัน หม้อไฟกลายเป็นอาหารสำคัญที่ถูกเปิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการอาหารที่พุ่งสูงขึ้น ทั้งหม้อไฟเองยังเป็นอาหารที่เป็นค่ากลาง คือคนทุกชั้นและคนจากพื้นที่ต่างๆ ที่แม้มีความชอบต่างกัน ก็สามารถเลือกรับประทานและจัดการรสชาติของตัวเองเช่นการปรุงน้ำจิ้มของตัวเองได้

ในช่วงนั้นหม้อไฟสีแดงรสจัดแบบฉงชิ่งได้รับความนิยมทั้งในพื้นที่ทางการทหาร มีการจัดเลี้ยงที่ใช้หม้อไฟมากถึง 500 หม้อในการเลี้ยงกำลังพล ในช่วงนั้นหม้อไฟฉงชิ่งเลยกลายเป็นความนิยมที่สัมพันธ์กับชาตินิยม ความรักชาติ

จากเสฉวน ถึงไหตี่เลา วัฒนธรรมหม้อไฟและการกินอาหารร่วมกัน

ในแง่วัฒนธรรม ความแพร่หลายของหม้อไฟที่ขยายตัวและปรับเปลี่ยนไปตามบริบทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสุกี้ยากี้ เฝอ หรือสุกี้ชาบูแบบไทยๆ ก็อาจจะสัมพันธ์กับการอพยพของวัฒนธรรมจีนไปยังพื้นที่ต่างๆ ถ้าเรามองภาพรวมของวัฒนธรรมอาหาร บริบทของการกินอาหารในเอเชียนั้นก็ดูจะสอดคล้องกับการกินอาหารหม้อไฟ ตัวหม้อไฟเองนอกจากจะเป็นอาหารที่เรียบง่าย ปรับเปลี่ยนง่าย เช่น ปรับเปลี่ยนซุป เปลี่ยนวัตถุดิบ และเปลี่ยนน้ำจิ้ม 

การปรับไปตามรสนิยมนี้ถูกปรับเปลี่ยนได้ตั้งแต่ในระดับพื้นที่ เช่นไทยเองก็มีวัตถุดิบ มีความชอบของประจำพื้นที่ ในขณะเดียวกันหม้อไฟก็เป็นอาหารที่ยืดหยุ่นมาก คือในกลุ่มคนเพื่อนพ้องที่ไปกินชาบูด้วยกัน แต่ละคนสามารถเลือกอาหารของตัวเองได้ ลวกและปรุงน้ำจิ้มที่ถูกปากของตัวเอง 

นอกจากนี้เงื่อนไขสำคัญของชาบูคือความเป็นอาหารที่เชื่อมต่อเราเข้าหากัน การกินชาบูต้องเริ่มจากการเลือกซุป หาเงื่อนไขตรงกลางที่ทุกคนพอใจ ในระดับความหมายของการรับประทาน ชาบูเป็นกิจกรรมร่วมกันเท่าๆ กับการกินให้อิ่มส่วนบุคคล การกินหม้อไฟเป็นการปรุงไป กินไป คุยไป เป็นกิจกรรมที่สลับสับเปลี่ยนตำแหน่งอยู่เสมอ ผู้กินเป็นผู้ปรุง การหยิบ ตัก ลวก ค้นหาสิ่งของในหม้อ ไปจนถึงการช่วยกันดูแลการปรุงด้วยกันจึงนับเป็นกิจกรรมที่ทั้งสนุก สานสัมพันธ์และอิ่มอร่อยไปพร้อมๆ กัน ในบางครั้งความสนุกหนึ่งของการกินชาบูคือการที่เราในฐานะผู้รับประทานจะได้เป็นผู้ปรุง ได้โชว์ฝีมือการปรุงน้ำจิ้ม ช่วยดูแลอาหารให้ทั้งตัวเองและผู้ร่วมโต๊ะด้วย

สำหรับการขยายตัวของร้านอาหารหม้อไฟ ถ้าเป็นบ้านเรา เราเองก็คุ้นเคยกับอาหารประเภทชาบูรวมถึงแจ่วฮ้อนมาอย่างยาวนาน สำหรับจีนเอง รายงานด้านธุรกิจอาหารในปี 2019 (Chinese Catering Industry White Paper) ชี้ให้เห็นว่าร้านอาหารหม้อไฟเป็นกิจการอาหารหลักของธุรกิจร้านอาหารของจีน คิดเป็น 60% ของสัดส่วนกิจการร้านอาหารทั้งหมด ตัวเลขร้านอาหารหม้อไฟมีมากถึง 400,000 ร้านทั่วประเทศ ซึ่งหนึ่งในแบรนด์สำคัญที่มาจากจีนคือไหตี่เลา

ไหตี่เลาเป็นอีกร้านยอดนิยมที่ทุกวันนี้ก็ยังต้องนั่งรอคิว ไหตี่เลาเองเป็นอีกหนึ่งเครือธุรกิจยักษ์ที่ใช้ประโยชน์จากจุดเด่นและช่องว่างทางธุรกิจร้านอาหารและบริการของจีนได้อย่างน่าสนใจ ไหตี่เลาเป็นร้านที่เริ่มต้นในปี 1994 จากเถ้าแก่ที่ชื่อจางหยง ซึ่งปัจจุบันนี้ร่ำรวยติดอันดับสามของสิงคโปร์

ไหตี่เลาเริ่มต้นด้วยร้านชาบูที่เถ้าแก่ ภรรยา และเพื่อนร่วมหุ้นกันเปิด คำว่าไหตี่เลาล้อมาจากการเล่นไพ่นกกระจอก เกมไพ่ยอดฮิตของเสฉวน คำว่าไหตี่เลามาจากการชนะเกมซึ่งหมายถึงความเป็นมงคลและโชคลาภ ในขณะเดียวกันความหมายของคำทั้งสามก็ยังมีความหมายว่า ‘การตกสมบัติขึ้นจากท้องทะเล’ อันหมายถึงการหยิบของอร่อยที่สดใหม่ขึ้นจากหม้อตรงหน้า เถ้าแก่ของไหตี่เลาแต่เดิมมาจากครอบครัวยากจนในชนบทของเสฉวน จึงเข้าใจความเจ็บปวดของความไม่คุ้มค่า และความรู้สึกเมื่อถูกปฏิบัติอย่างย่ำแย่จากร้านอาหารและบริการต่างๆ

ความน่าสนใจของไหตี่เลาคือผู้ก่อตั้งทั้งหมดไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องอาหารการครัวแต่อย่างใด เถ้าแก่หยงใช้วิธีอ่านตำราทำอาหารและเปิดเป็นร้านหม้อไฟขึ้นด้วยตัวเอง จากจุดเด่นของร้านอาหารที่มักเริ่มจากอาหารอร่อย ตรงนี้เถ้าแก่เลือกสร้างจุดเด่นคือการบริการที่ยอดเยี่ยม จุดเด่นของไหตี่เลาที่ยืนหยัดมาจนถึงทุกวันนี้ ตรงนี้เองที่เป็นจุดขายสำคัญมากที่ทำให้ไหตี่เลาตอบโจทย์เพราะร้านอาหารจีนมักไม่มีการบริการที่ดีหรือ hospitality เป็นจุดเด่นที่ทั้งตอบความเจ็บปวดของร้านอาหารจีนทั้งในประเทศจีนและนำไปสู่ความประทับใจระดับโลก

ถ้ามองย้อนไป ไหตี่เหลาถือเป็นนวัตกรรมของร้านอาหารจีน การบริการอย่างเต็มที่ไม่ใช่แค่การต้อนรับเป็นอย่างดี แต่รวมถึงบริการพิเศษที่แปลกประหลาดอื่นๆ เช่นนวด ทำเล็บ มีบริการขนมจุกจิกเช่นป๊อปคอร์น โดยบริการจิปาถะเหล่านี้แบรนด์อื่นอาจมองว่าเป็นรายจ่าย แต่ไหตี่เลามองว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่คุ้มค่า 

ความพิเศษของไหตี่เลาคือการที่ร้านหม้อไฟกลายเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยสีสัน เต็มไปด้วยเรื่องแปลกประหลาดเหมือนไปเที่ยวดิสนีย์แลนด์ มีของเล่น ขนม บริการ ไปจนถึงโชว์ต่างๆ ในฐานะส่วนหนึ่งของการต้อนรับขับสู้

ไหตี่เลาเป็นหนึ่งในไม่กี่แบรนด์ร้านอาหารหม้อไฟที่ขยายตัวและกลายเป็นกิจการระดับนานาชาติ ปัจจุบันมีมูลค่ากิจการสูงถึง 7 แสนล้านบาทไทย มีสาขากว่า 500 แห่งทั่วโลก 

จากไหตี่เลาและการมาถึงของกิจการร้านหมาล่าที่กำลังเป็นกระแส รวมถึงวัฒนธรรมหม้อไฟที่อยู่คู่กับบ้านเราและวัฒนธรรมเอเชียมาอย่างช้านาน ร้านอาหารและการกินหม้อไฟนั้นนับเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมการรับประทานที่มีทั้งความเรียบง่ายและซับซ้อน จากการปรุงที่เราปรุงไปกินไป ไปจนถึงการเป็นอาหารของเพื่อนฝูงและคนที่เราชอบพอซึ่งกันและกัน

อ้างอิง

Writer

ชื่อว่านครับ ทำงานรับจ้างทั่วไปด้านงานเขียน ส่วนใหญ่เขียนเรื่องการเขียน การอ่าน และวัฒนธรรม เชื่อว่าพื้นที่นามธรรมเป็นสินทรัพย์ที่จะพาเราเติบโตอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

Illustrator

นักเขียนที่สนใจเรื่องธุรกิจ การตลาด และความเป็นไปในสังคม

You Might Also Like