นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

1255
December 27, 2023

Happy 100 Years

วัฒนธรรมการฉลองปีใหม่ผ่านเรื่องเล่าธุรกิจสุดคราฟต์หลัก 100 ปีจากหลายประเทศ 

ช่วงเวลาสิ้นปีแห่งการสังสรรค์และเฉลิมฉลองแบบนี้ สิ่งที่จะขาดไปไม่ได้เลยคือ ‘ของขวัญ’ 

เบื้องหลังการส่งต่อความปรารถนาดีและอวยพรกันและกัน มีเหล่าธุรกิจที่อยู่คู่กับโมเมนต์ที่น่าจดจำในการให้ของขวัญของผู้คนมาหลายต่อหลายรุ่นเป็นเวลาเนิ่นนานหลักร้อยปี 

คอลัมน์ ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความเด็ดเดี่ยว’ ชวนเปิดประวัติศาสตร์อันน่าจดจำที่สร้างไมล์สโตนใหม่ให้ธุรกิจในวงการนั้นๆ ตั้งแต่การก่อตั้งของร้านค้าหวายชื่อดังอย่าง ‘ร้านนายเหมือน’ ที่อยู่คู่ยุคแห่งการให้กระเช้าปีใหม่และตอนนี้มีอายุ 127 ปี, การสืบทอดเทคนิคงานฝีมือในการทำตุ๊กตาดารุมะ ตุ๊กตามงคลของญี่ปุ่นมาเป็นระยะเวลา 300 ปีของร้าน ‘Shirakawa Daruma Sohonpo’, ความคราฟต์ที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศในการทำแชมเปญมาเป็นเวลา 294 ปีของ ‘Maison Ruinart’ จากฝรั่งเศส และการขยายเติบโตไม่สิ้นสุดของธุรกิจการ์ดอวยพรและของขวัญตลอดระยะเวลา 113 ปีของ ‘Hallmark’ 

นอกจากความสำเร็จที่ผู้ก่อตั้งของแต่ละธุรกิจสร้างตำนานทิ้งไว้แล้ว เรื่องราวของธุรกิจเหล่านี้ยังทำให้เห็นว่า A Lot Can Happen in a Century ทั้งธรรมเนียมการให้ของขวัญที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลาและความท้าทายใหม่ที่เกิดขึ้นตลอดเส้นทางการสานต่อธุรกิจที่ต้องใช้ความเด็ดเดี่ยวอย่างมากในการสานต่อธุรกิจให้อยู่ถึงหลักร้อยปี

127 ปีที่สานต่อเครื่องจักสานไทย
Nai Muen Store 

วัฒนธรรมการให้กระเช้าเป็นของขวัญอยู่คู่คนไทยมาเนิ่นนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโอกาสสวัสดีปีใหม่ที่ผู้คนนิยมมอบคำอวยพรแก่ญาติผู้ใหญ่และบุคคลที่เคารพรักด้วยของขวัญที่บรรจงคัดสรรอย่างพิถีพิถันในตะกร้าใบสวยแสนประณีต ในยุคที่กระเช้าเฟื่องฟูอย่างมากนั้น ภาพคนกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเดินทางมาเลือกซื้อกระเช้าและเครื่องจักสานอื่นๆ ด้วยตัวเองที่ร้านค้าหวายอย่างเนืองแน่นในช่วงเทศกาลเป็นวัฒนธรรมการซื้อของขวัญที่เห็นได้จนชินตา และหนึ่งในร้านหวายที่มีชื่อเสียงและเก่าแก่ที่สุดหลักศตวรรษร้านหนึ่งคือร้านนายเหมือนที่สำราญราษฎร์ เขตพระนคร หรือที่เรียกกันว่า ‘ย่านคุกเก่า’ 

หนึ่งศตววรรษที่แล้ว กิจการค้าหวายของร้านนายเหมือนถือกำเนิดพร้อมกับการมีเรือนจำอยู่เคียงข้าง นายเหมือนผู้มีสายตาแห่งความเป็นพ่อค้าที่เฉียบคมเล็งเห็นมูลค่าที่ซ่อนอยู่ในข้าวของเครื่องใช้ธรรมดาที่ใช้ฝีมือการสานไม่ธรรมดาของกรมราชทัณฑ์ จึงริเริ่มนำงานจักสานจากรั้วเรือนจำออกมาขายเป็นคนแรก เมื่อผู้คนประทับใจในงานหวายที่เก็บรายละเอียดได้อย่างประณีตและสินค้าขายดิบขายดี นายเหมือนจึงรวบรวมช่างฝีมือและผลิตภัณฑ์จักสานของชาวบ้านหลายท้องถิ่นจากแถบชานเมืองและจังหวัดใกล้เคียงมาขายเพิ่มเติมเพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่มีสูงขึ้น

ร้านนายเหมือนจึงกลายเป็นร้านค้าหวายที่จำหน่ายงานจักสานหลากหลายประเภทมาช้านานโดยมีกระเช้าเป็นหนึ่งในสินค้าฮิต เมื่อพูดถึงกระเช้า หลายคนอาจนึกภาพตะกร้าลักษณะเรียบง่ายที่เสิร์ชหารูปได้ทั่วไปตามกูเกิล แต่ความจริงแล้วงานจักสานนั้นมีตัวเลือกพิเศษมากมายจากความหลากหลายของวัสดุ แพตเทิร์นการสาน และเอกลักษณ์ของช่างฝีมือแต่ละท้องถิ่นชนิดที่ไม่สามารถเสิร์ชหาซื้อได้ง่ายๆ จากอีคอมเมิร์ซของจีน

ภูมิปัญญาของช่างฝีมือท้องถิ่นไทยรังสรรค์ให้เกิดเอกลักษณ์ที่พิเศษ เช่น เทคนิคการมัดที่เลียนแบบการเลื้อยอย่างอ่อนช้อยของตะกร้าเถาวัลย์ การสานให้เกิดลวดลายดั่งดอกไม้บานสะพรั่งของตะกร้าลายดอกพิกุล การนำวัสดุหวาย ไม้ไผ่ ผักตบชวา ฯลฯ มาสร้างสรรค์เป็นตะกร้ารูปกลม เหลี่ยม รูปไข่ในรูปแบบการสานที่มีเสน่ห์ไม่ซ้ำกัน ธรรมเนียมการซื้อกระเช้าเป็นของขวัญให้กันในช่วงปีใหม่จึงแสดงถึงความพิถีพิถันและใส่ใจรายละเอียดในการเลือกกระเช้าของผู้ให้

นอกจากกระเช้าแล้ว สินค้าจักสานของร้านนายเหมือนยังนับเป็นสินค้าทางวัฒนธรรม เพราะมีหมวดข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันหลายชิ้นที่แบรนด์ของตกแต่งบ้านจากต่างประเทศไม่มีชื่อคำศัพท์ระบุด้วยซ้ำ อย่างเช่น หัวหุ่น กระจาด กระบุง กระด้ง กระติ๊บ ตะแกรง งอบ ฝาชี ตะข้อง ขันโตก ไปจนถึงเก้าอี้โยกที่มีเสน่ห์ไม่เหมือนเก้าอี้โยกจากวัสดุอื่น และการเป็นร้านรวบรวมสินค้าที่มีเอกลักษณ์ทั้งหมดนี้เองจึงทำให้เป็นแหล่งที่ผู้คนเดินทางมาซื้อสินค้าหวายเป็นเวลานาน 

ที่ผ่านมานอกจากขายให้ลูกค้าปลีกทั่วไปแล้ว ร้านนายเหมือนยังเคยส่งกระเช้าให้ห้างสรรพสินค้าเก่าแก่ในตำนานหลายแห่งทั้งพาต้า, ตั้งฮั่วเส็ง, อิเซตัน, โซโก้, โตคิว, Foodland, The Mall ฯลฯ โดยผ่านอุปสรรคและความท้าทายของโลกยุคใหม่ที่สวนทางกับงานหัตถกรรมมาตลอดร้อยปี ตั้งแต่การประกาศปิดป่าไม่ให้ตัดหวายใน พ.ศ. 2535 ทำให้ช่างฝีมือน้อยลงและต้นทุนการผลิตสูงขึ้น การเข้ามาของกระเช้าจากจีนที่เน้นราคาถูกและลดคุณภาพความละเอียดของงานสานลง ในขณะที่งานจักสานฝีมือคนไทยที่สานด้วยความพิถีพิถันแต่โบราณนั้นต้องอาศัยทั้งเวลาและความชำนาญ

‘หนึ่งร้อยปีแห่งความเด็ดเดี่ยว’ ของร้านนายเหมือนจึงเป็นความตั้งใจในการสืบสานงานจักสานของคนไทยโดยไม่ลดคุณภาพลง ไม่นำงานฝีมือที่มีความคราฟต์น้อยลงและราคาถูกลงจากจีนมาขาย แม้จะขายได้ในจำนวนจำกัดมากขึ้นและเป็นลิมิเต็ดเอดิชั่นมากขึ้น แต่ก็ทำให้มีลูกค้ามาอุดหนุนแบบปากต่อปากสืบต่อจากรุ่นสู่รุ่นโดยแทบไม่ได้ทำการตลาดเลยมาได้นับร้อยปี

300 ปีแห่งความหวังของตุ๊กตาดารุมะญี่ปุ่น  
Shirakawa Daruma Sohonpo 

“ล้มเจ็ดครั้ง ลุกแปดครั้ง” เป็นสุภาษิตญี่ปุ่นที่หมายความว่าไม่ว่าจะล้มกี่ครั้ง ก็ขอให้ไม่ละทิ้งความพยายาม และของขวัญที่คนญี่ปุ่นนิยมมอบเป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดีและกำลังใจในเทศกาลปีใหม่คือตุ๊กตาล้มลุกหรือตุ๊กตาดารุมะนั่นเอง 

ภาพ : PrefFukushima

กิจการทำตุ๊กตาดารุมะที่เก่าแก่ถึง 300 ปีในญี่ปุ่นคือ Shirakawa Daruma Sohonpo ณ เมืองชิราคาวะ จังหวัดฟุกุชิมะ ผู้สืบทอดงานฝีมือตุ๊กตาไม้ทรงกลม ไม่มีแขนและขา และผลักกี่ครั้งก็กลับมาตั้งใหม่ได้เสมอ ว่ากันว่าตุ๊กตาดารุมะคิดค้นขึ้นครั้งแรกในยุคเอโดะ สำหรับหน้าตุ๊กตาดารุมะรุ่นดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่สามารถพบได้จากที่ร้านนั้นจะมีหน้าตาเคร่งขรึมและจริงจัง มีคิ้วเข้มและหนวดเคราแต่ไม่มีลูกตาดำเพราะเชื่อว่าเจ้าของตุ๊กตาควรเป็นผู้วาดดวงตาลงไปเพื่ออธิษฐานขอพร วาดดวงตาด้านซ้ายเมื่อมีความฝันและเป้าหมาย วาดดวงตาขวาเมื่อความฝันที่ตั้งไว้บรรลุผลสำเร็จ โดยตุ๊กตาดารุมะส่วนใหญ่นิยมทาสีแดงและมีหลากหลายสีตามความหมายมงคลที่อยากอวยพรแก่ผู้รับ

Takaaki Watanabe ทายาทรุ่น 14 ยังคงสานต่อศาสตร์การทำตุ๊กตาแบบดั้งเดิมที่ใช้เทคนิคเปเปอร์มาร์เช่ด้วยกระดาษวาชิ พร้อมเปิดเวิร์กช็อปให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำกิจกรรมศิลปะเพนต์ตุ๊กตาที่ร้านได้ ในช่วงโควิด-19 ทางร้านจัดทำชุด DIY ที่ร่วมกับ Oyasai Crayons แบรนด์สีเทียนจากพืชผักผลไม้เหลือทิ้งสำหรับให้เพนต์ตุ๊กตาแบบง่ายๆ ได้เองที่บ้าน และยังประยุกต์การดีไซน์ตุ๊กตาแบบใหม่ให้เข้ากับการมอบของขวัญในยุคสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนคำอวยพร เช่น  ‘ขอบคุณสำหรับปีนี้’, ‘เจอกันใหม่ปีหน้า’, ‘ดูแลตัวเองด้วยนะ’ เป็นตัวอักษรญี่ปุ่นที่ด้านหลังของตุ๊กตา ไปจนถึงเพนต์ตุ๊กตาดารุมะในชุดทักซิโด้ ชุดแต่งงาน แมวกวัก สัตว์ป่าต่างๆ และออกแบบดีไซน์พิเศษช่วงคริสต์มาสและฮาโลวีน

ไอเดียของ Shirakawa Daruma Sohonpo ทำให้เห็นว่าความคิดสร้างสรรค์ในการสืบสานศาสตร์งานฝีมือดั้งเดิมสามารถเปิดกว้างได้อย่างไม่สิ้นสุดด้วยการคอลแล็บกับแบรนด์ดังไม่จำกัดวงการ อย่าง STRICT-G JAPAN ในรุ่น Mobile Suit Z Gundam Daruma ที่วาดหน้ากันดั้มลงบนตุ๊กตา, ตุ๊กตาดารุมะรุ่นสีส้มที่ทำร่วมกับแบรนด์​แฟชั่น BEAMS JAPAN, RoboCo ดารุมะ จากแรงบันดาลใจในอนิเมะเรื่อง Me and Roboco, คอลเลกชั่น Brown & Cony ในชุดงานแต่งงานที่คอลแล็บกับ LINE และอีกมากมาย รุ่นล่าสุดที่พิเศษสุดคือคอลเลกชั่นสำหรับปีใหม่ 2024 ที่ทำร่วมกับดิสนีย์ออกมาเป็นตุ๊กตา Mickey Mouse & Friends ในชุดกิโมโนถือคาโดมัตสึ (กิ่งไม้มงคลของญี่ปุ่นที่ประดับบ้านในช่วงปีใหม่)

ภาพ : tdrexplorer

ไม่เพียงแค่ช่วงเทศกาลรื่นเริงเท่านั้นที่ผู้คนนิยมมอบตุ๊กตาดารุมะให้กัน เมื่อครั้งเกิดภัยพิบัติที่ฟุกุชิมะ ตุ๊กตาดารุมะกลายเป็นสัญลักษณ์ของขวัญแห่งกำลังใจยามลำบากให้ผู้คนในเมือง แม้ชาวเมืองจำนวนไม่น้อยจะอพยพออกจากเมืองหลังเกิดภัยพิบัติทำให้การขายดารุมะลดน้อยลงและมีความท้าทายในการสานต่องานฝีมือแต่ร้าน Shirakawa Daruma Sohonpo ก็ยังคงสนุกกับการสร้างสรรค์ไอเดียแปลกใหม่ให้ยังมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่เตะตาคนรุ่นใหม่เสมอมา

294 ปีที่เป็นเลิศของแชมเปญฝรั่งเศส
Maison Ruinart 

ข้ามทวีปไปยังฝรั่งเศส ประเทศที่สวัสดีปีใหม่ด้วยคำว่า Bonne Année! พร้อมกับธรรมเนียมชนแก้วแชมเปญในวันเคานต์ดาวน์และนิยมจัดโต๊ะอาหารมื้อพิเศษในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองโดยยกให้เครื่องดื่มรสเลิศนี้เป็นพระเอกบนโต๊ะ Frédéric Panaïotis ผู้เชี่ยวชาญ (cellar master) ของ Maison Ruinart กล่าวว่าเขาคงไม่อาจบอกได้ว่าทำไมแชมเปญถึงเป็นสัญลักษณ์ของปาร์ตี้และความสุขแต่ที่แน่ๆ เขารู้มาว่าคำว่า ‘แชมเปญ’ เป็นคำภาษาฝรั่งเศสที่คนทั่วโลกมักจดจำได้มากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากคำว่า ‘ปารีส’ และประวัติศาสตร์ของธุรกิจแชมเปญนั้นมีจุดเริ่มต้นจากครอบครัวตระกูล Ruinart

ภาพ : Maison Ruinart

เรื่องราวเริ่มจาก Dom Thierry Ruinart ผู้เป็นนักบวชในยุคพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ย้ายถิ่นฐานจากบ้านเกิดในเแคว้นแชมเปญไปยังย่าน Saint-Germain-des-Prés ละแวกเก่าแก่ที่ทรงอิทธิพลของปารีส ณ ย่านแห่งนี้เขารู้จัก ‘ไวน์ที่มีฟอง’ เป็นครั้งแรก ซึ่งในตอนนั้นยังไม่มีใครเรียกเครื่องดื่มชนิดนี้ว่าแชมเปญ แต่เป็นเครื่องดื่มที่ป๊อปปูลาร์ในหมู่ขุนนางรุ่นใหม่ทั่วยุโรป ในเวลาต่อมาหลานของ Dom Thierry ชื่อ Nicolas Ruinart ต่อยอดความประทับใจในแชมเปญของลุงด้วยการก่อตั้ง Champagne House ใน ค.ศ. 1729 ที่เมืองแร็งส์ แคว้นแชมเปญ บ้านเกิดที่มีข้อได้เปรียบทางความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การปลูกองุ่น และกลายเป็นบริษัทผู้ผลิตแชมเปญเจ้าแรกของโลกในทุกวันนี้

เอกลักษณ์ของ Maison Ruinart คือแชมเปญที่มีความโดดเด่นทาง aromatic, freshness และ texture ซึ่งใช้กระบวนการทั้งหมดเป็นระยะเวลาหลายปีตั้งแต่ปลูกองุ่น เก็บเกี่ยว เบลนด์รสชาติ บ่มแชมเปญ ฯลฯ Crayères หรือถ้ำห้องเก็บแชมเปญของ Maison Ruinart ที่ก่อสร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 นั้นได้รับการยกย่องว่าเป็น UNESCO World Heritage Site โดยอยู่ลึกลงไปใต้ดินราว 40 กิโลเมตรและมีระยะทางยาวถึง 8 กิโลเมตร มีอุณภูมิ 10-12 องศา ความชื้น และความสว่างที่เหมาะแก่การบ่มไวน์ให้ออกมารสชาติเป็นเลิศที่สุด

ความท้าทายสำคัญของแบรนด์อันเก่าแก่เกือบ 300 ปีแห่งนี้คือภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการปลูกองุ่นและรสชาติของแชมเปญ สำหรับ Maison Ruinart แล้วดิสรัปชั่นเกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อมทั้งในดินและสภาพอากาศ เหล่าผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานกับธรรมชาติทุกวันพบว่าดินไม่อุดมสมบูรณ์เท่าเดิม จากเคยมี 4 ฤดูก็เหลือเพียง 2 ฤดู ไม่มีเกล็ดน้ำแข็งในฤดูหนาวอีกต่อไป หนึ่งวันยาวนานขึ้นและร้อนขึ้น อุณหภูมิที่เปลี่ยนไปทั้งหมดนี้ส่งผลต่อรสชาติองุ่นที่ไม่รุ่มรวยเท่าเดิมและทำให้กระบวนการทำแชมเปญยากขึ้นในทุกขั้นตอน

ทางเลือกเดียวที่ Maison Ruinart มองว่าจะอนุรักษ์ให้ไร่องุ่นอยู่รอดต่อไปได้อีกศตวรรษคือการสนับสนุนความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ทั้งการยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช การสนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพและความสมดุลทางธรรมชาติในไร่องุ่น ไปจนถึงการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อคงรสชาติแชมเปญให้รุ่มรวยเหมือนเดิม จากแชมเปญรุ่นไอคอนิกอันโด่งดังค้างฟ้าของแบรนด์ชื่อ Blanc de Blancs ที่มีรสเลิศจากธรรมชาติขององุ่นชาร์ดอนเนย์ Maison Ruinart ได้คิดค้นวินเทจแชมเปญรุ่นใหม่ชื่อ Ruinart Blanc Singulier ที่ดึงรสขององุ่นชาร์ดอนเนย์ให้คงความโดดเด่นให้ได้มากที่สุดท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ส่ิงนี้คือ savoir faire หรือสปิริตในการปรับตัวของแบรนด์ที่คำนึงถึงธรรมชาติผู้มีส่วนสนับสนุนให้เกิดองุ่นรสชาติดีและแชมเปญที่ดีตามมา

113 ปีของอาณาจักรการ์ดแห่งอเมริกา
Hallmark 

การ์ดอวยพรและการ์ดปีใหม่ หรือ ส.ค.ส. นั้นเป็นวัฒนธรรมร่วมซึ่งมีที่มาจากหลายทวีปบนโลก ชาวอียิปต์โบราณคิดค้นการเขียนข้อความแสดงความยินดีบนปาปิรุส จีนริเริ่มการผลิตกระดาษทำให้เกิดการ์ดปีใหม่ใบแรก ส่วนอังกฤษเป็นชาติแรกที่จ้างศิลปินออกแบบการ์ดปีใหม่หลักพันใบแจกผู้คนในช่วงเทศกาล แต่ถ้าพูดถึงบริษัทผู้ผลิตการ์ดอวยพรที่เก่าแก่ที่สุดและใหญ่ที่สุดระดับโลกที่ทำให้อุตสาหกรรมการ์ดเฟื่องฟูคงหนีไม่พ้น Hallmark Cards, Inc. บริษัทสัญชาติอเมริกา 

ภาพ : Hallmark

ค.ศ. 1910 J.C. Hall (Joyce Clyde Hall) ในวัย 18 ปีออกเดินทางจากรัฐเนบราสก้าไปยังแคนซัสซิตี้ด้วยกล่องรองเท้า 2 ใบที่เต็มไปด้วยโปสต์การ์ด เงินติดตัวเพียงน้อยนิดกับความฝันอยากเป็นผู้ประกอบการ เขานั่งรถไฟไปขายโปสต์การ์ดนำเข้าให้ร้านขายยา ร้านหนังสือ ร้านกิฟต์ช็อปหลายเมืองในละแวกใกล้เคียงและสร้างชื่อจากการขายโปสต์การ์ดเหล่านั้นอย่างรวดเร็ว พี่ชายของเขาคือ Rollie Hall ได้เข้ามาช่วยทำธุรกิจและตั้งชื่อบริษัทร่วมกันว่า Hall Brothers 

ใน ค.ศ. 1915 เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่ไหม้คลังสินค้าทั้งหมดทำให้ทั้งสองเป็นหนี้และต้องสร้างตัวใหม่ ในช่วงนั้นยอดขายโปสต์การ์ดเริ่มลดลง สองพี่น้องสังเกตเห็นว่าผู้คนต้องการความเป็นส่วนตัวมากขึ้นในการส่งข้อความให้กัน จึงหันมาผลิตการ์ดวาเลนไทน์และคริสต์มาสใส่ซองจดหมาย กู้เงินมาลงทุนในเครื่องปรินต์กับกระบวนการผลิตและเริ่มเป็นผู้ผลิตการ์ดด้วยตัวเองนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทั้งคู่ยังเป็นผู้ริเริ่มขายกระดาษห่อของขวัญและซองจดหมายลวดลายสวยงามแบบโมเดิร์นแทนการใช้กระดาษห่อของทั่วไปในยุคนั้นไปจนถึงคิดค้นดิสเพลย์วางการ์ดที่หยิบมาเปิดอ่านข้อความข้างในได้เป็นเจ้าแรก


สิ่งที่ทำให้ Hallmark เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางคือความสามารถทางการตลาดและการสร้างแบรนด์อันโดดเด่นของ J.C. Hall ตั้งแต่การนำคำว่า Hallmark และสัญลักษณ์มงกุฎใส่ในหลังการ์ดทุกใบแทนชื่อบริษัทเพื่อให้คนจดจำง่ายและมีสโลแกนติดหูคือ ‘when you care enough to send the very best’ อีกทั้งยังเป็นบริษัทแรกในอุตสาหกรรมการ์ดที่ประสบความสำเร็จในการทำการตลาดแบบแมสด้วยการลงโฆษณาในสื่อ รายการวิทยุไปจนถึงสปอนเซอร์รายการของ NBC ในช่วงเทศกาลคริสมาสต์ ซึ่งทำให้สามารถแตกธุรกิจเป็นรายการโทรทัศน์ Hallmark Hall of Fame จนทำให้ชื่อแบรนด์เข้าถึงคนดูหลักล้านในทุกวันนี้

ภาพ : Hallmark

ในรุ่นลูกของ J.C. คือ Donald J. Hall ได้สร้างอาณาจักรรีเทล Crown Center ของ Hallmark ที่มีทั้งร้านค้า ร้านอาหาร ออฟฟิศและเป็นเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพลกซ์แบบครบวงจร แม้ J.C. จะวางมือและจากไปแล้ว แต่สปิริตในการบุกเบิกสิ่งใหม่กลายเป็นจิตวิญญาณของ Hallmark ทั้งการขยายหมวดหมู่การ์ดอวยพรในหลากหลายวาระและเทศกาล เช่น การ์ดอวยพรหมวดขำขัน การ์ดสำหรับคนเฉพาะเชื้อชาติและศาสนา การขยายหมวดสินค้าอย่างต่อเนื่องทำให้ทุกวันนี้นอกจากการ์ดแล้ว Hallmark ยังจำหน่ายของประดับตกแต่งสำหรับช่วงเทศกาลและของขวัญแบบครบวงจรอีกด้ว

ทุกวันนี้อาณาจักร Hallmark ขยายเติบโตจนใหญ่มหาศาล มีการ์ด 30 ภาษาที่จำหน่ายมากกว่าร้อยประเทศทั่วโลก สินค้าของแบรนด์สามารถพบได้ในร้านรีเทลกว่าหมื่นสาขาทั่วโลกรวมทั้งที่สาขาของร้าน Hallmark ทั่วอเมริกาและแคนาดา ความสำเร็จทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพราะพี่น้องตระกูล Hall เป็นผู้คิดค้นการ์ดอวยพรเป็นคนแรก แต่เพราะสามารถทำให้การ์ดเหล่านี้กลายเป็นสินค้าที่น่าสนใจและเข้าถึงผู้คนจำนวนมากได้เป็นคนแรกนั่นเอง

Legacy ของธุรกิจเก่าแก่จากไทย ญี่ปุ่น ฝรั่งเศสและอเมริกาเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าไม่จำเป็นต้องเป็นคนแรกสุดที่ประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่เสมอไป แค่เป็นคนแรกที่นำมาขาย คนแรกที่ยืนระยะได้นานที่สุด คนแรกที่ทำให้ป๊อปปูลาร์ คนแรกที่ทำให้สินค้าเข้าถึงคนหมู่มากและต่อยอดไปได้ เพียงเท่านี้ก็สามารถทำธุรกิจได้ยืนยาวถึงร้อยปี


อ้างอิง
ข้อมูลจาก

Writer

Craft Curator & Columnist, Chief Storyteller & Dream Weaver, Editor-in-Cheese, Design Researcher 'Instagram : @rata.montre'

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม Email: y.pongtorn@gmail.com

You Might Also Like