Made in Happie Land
ขบถด้วยกิมมิก วิธีคิดการออกแบบร้าน Happie Land แบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่อยากเป็น tourist destination
แค่ได้ยินว่ามีร้านไลฟ์สไตล์แห่งใหม่เปิดที่ Charoenkrung 82 District โดยกลุ่มนักออกแบบและครีเอทีฟ ก็ดึงดูดให้เรารู้สึกสนใจได้ไม่ยาก ด้วยชื่อของสมาชิกผู้ก่อตั้งแต่ละคนก็ล้วนวนเวียนอยู่ในแวดวงธุรกิจสร้างสรรค์
ไม่ว่าจะเป็น นิ–ชินภานุ อธิชาธนบดี แห่ง Trimode Studio ที่โดดเด่นด้านงานออกแบบ อินทีเรียร์พื้นที่สร้างสรรค์ ไลฟ์สไตล์ เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ, เทพ–พงศ์เทพ อนุรัตน์ แห่ง Lunla Studio Bangkok และผู้ร่วมก่อตั้งร้านเผ็ดมาร์ค ที่ชื่นชอบการทำแบรนด์ดิ้งและมีทักษะในการออกแบบกราฟิก, หลุยส์–ชัชวาล มั่นสัตย์รักสกุล ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการปลูกกัญชาและและผู้ก่อตั้งร้าน TROPICAL GALAXY ที่ถนนข้าวสาร, ตังกวย–ธนกฤต บุษบก เจ้าของอีเวนต์สายเขียวอย่าง Hightable.bangkok และหุ้นส่วนอีก 2 คนที่ทำแบรนด์เครื่องประดับได้แก่ เดล–ธนะรัฐ วงศ์มาศา เจ้าของแบรนด์ Parcthai (พากย์ไทย) และ จัน–จันทรา จันทร์พิทักษ์ชัย Creative Director แบรนด์ไลลา กำไลมูเตลู
แม้หลายคนจะมีธุรกิจส่วนตัวที่น่าสนใจ แต่การเดินทางมาพบเจอกันครั้งนี้เราอยากชวนพวกเขาเล่าเกี่ยวกับรีเทลสร้างสรรค์แห่งใหม่ที่ทำร่วมกันในชื่อ Happie Land แบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่อยากเป็น tourist destination ของสยามเมืองยิ้ม
นอกจากความน่าสนใจของสเปซที่พวกเขาเล่าว่าจำลองมากจากสภาวะ high ดั่งล่องลอยในชั้นบรรยากาศแล้ว สินค้าไลฟ์สไตล์ แฟชั่นและเครื่องประดับหลากคอลเลกชั่นของแบรนด์ยังแฝงอารมณ์ขันและหยิบจับสตอรีความเป็นไทยแสนคอนทราสต์มาไว้ในสเปซสุดโมเดิร์นได้อย่างกลมกลืน
Hip District of Happie Land
Charoenkrung 82 District คือย่านสุดคูลแห่งใหม่ของเหล่านักออกแบบและนักสร้างสรรค์ที่มีจุดเริ่มต้นจากการทำออฟฟิศของ Trimode Studio ซึ่งตั้งอยู่ที่ซอยเจริญกรุง 82 ตั้งแต่ปี 2018
นิบอกว่าไม่ได้ตั้งต้นจากการอยากปั้นให้เป็นย่านที่มีนักท่องเที่ยวเยอะ ความตั้งใจแรกคือแค่อยากทำออฟฟิศ แต่ความคิดเปลี่ยนไปเมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติและวัยรุ่นเริ่มแวะเวียนมาแถวนี้อย่างต่อเนื่อง
จุดเปลี่ยนคือการขยายออฟฟิศเพื่อรองรับสมาชิกทีมที่มากขึ้นจึงย้ายสำนักงานมาเป็นตึก 5 ชั้นหน้าปากซอยใกล้บริเวณเดิม แล้วจัดนิทรรศการ installation art ร่วมกับ Bangkok Design Week ที่ชั้น 1-2
“หลังจากนั้นแถวนี้เลยเริ่มมีความคึกคักขึ้นมา พอ Design week จบลงแต่คนยังมาชมงานอยู่ บวกกับออฟฟิศมีส่วนที่ทำกาแฟอยู่แล้ว เลยทำเป็นคาเฟ่ Tangible เพื่อให้งานดีไซน์และไลฟ์สไตล์ใกล้ชิดกับคนทั่วไปมากขึ้น”
เนื่องจากเช่าพื้นที่ในแถบนี้อยู่แล้วและมีต้นทุนค่าเช่า จึงเกิดไอเดียอยากเปลี่ยนพื้นที่เก็บของตรงข้ามออฟฟิศเป็นร้านรีเทลในช่วงโควิด-19 สร้างให้เป็นย่านคอมมิวนิตี้ทางเลือกของผู้คนในเชิงสร้างสรรค์
ตั้งแต่นั้นร้านรวงและคาเฟ่มีดีไซน์ของเหล่านักออกแบบจึงผุดขึ้นตามมา ทั้งร้านเครื่องหอมแบรนด์ Copenn. ของรุ่นน้อง และ House of Creative Event ของ Void Bkk จนบริเวณนี้กลายเป็นย่านสุดฮิปที่เดินถึงกันได้ มีสวนสามเหลี่ยมขนาดเล็กคั่นระหว่างถนน ให้ความรู้สึกถึงความเป็นเพื่อนบ้านกัน
และร้านน้องใหม่ที่เปิดล่าสุดปลายปีที่ผ่านมาก็คือ ‘Happie Land’ ที่เกิดจากการรวมตัวของพลพรรคเพื่อนพ้องคนสายอาร์ตและไลฟ์สไตล์ที่แฮงเอาต์ด้วยกันตั้งแต่วัยรุ่นและตัดสินใจมาทำธุรกิจด้วยกัน
‘Happie Land’ ชื่อแบรนด์เวอร์ชั่นกวนที่มาจากสยามเมืองยิ้ม
แรงบันดาลใจร่วมของทุกคนที่ก่อตั้งแบรนด์ขึ้นมาคือความตั้งใจทำแบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่ถ่ายทอดมุมมองสร้างสรรค์สู่ความเป็นไทยร่วมสมัยด้วยรอยยิ้ม
เทพเล่าถึงการตั้งคำถามที่เป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ว่า “ทำไมญี่ปุ่นมีแบรนด์กอม (COMME des GARÇONS) มี A BATHING APE นิวยอร์กก็มี Supreme ส่วนสตรีทแบรนด์ ไลฟ์สไตล์แบรนด์ของไทยที่ต่างชาติรู้จักคือแบรนด์อะไร ก็เลยอยากลองทำดูว่ามันจะไปได้ไกลแค่ไหน หุ้นส่วนทุกคนมองเป็นอินเตอร์แบรนด์ อยากให้คนต่างชาติ ฝรั่ง จีน ฯลฯ เดินเข้ามาแล้วรู้สึกว่าเป็นแบรนด์ไทยที่เป็นสากล”
ความแปลกใหม่ที่ยังไม่มีใครทำคือ ‘ถ่ายทอดมุมมองสร้างสรรค์ สู่ความเป็นไทยด้วยรอยยิ้ม’ ที่นิเองนิยามว่า “คือการจับวิถีการใช้ชีวิตในบริบทต่างๆ ในไทยที่รู้สึกว่าสนุกสนาน ดูแล้วเอนจอย เอามาผลักดันให้ผู้คนได้สัมผัสมุมมองใหม่ ตั้งใจเป็นแบรนด์ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และศิลปะนำ”
อารมณ์สนุกของแบรนด์นี้มีที่มาจากคำว่า Land of Smile หรือ สยามเมืองยิ้มที่เป็นภาพจำประเทศไทยของคนทั่วไป ส่วนชื่อแบรนด์ Happie Land มาจากคำว่า happy land ที่สื่อถึงความหมายเดียวกันคือประเทศที่คนยิ้มง่าย เห็นอะไรก็อมยิ้ม
หนึ่งในกิมมิกความสนุกและอารมณ์ดีของแบรนด์คือคำว่า ‘pie’ ในชื่อแบรนด์ Happie มาจากคำว่า hippie ซึ่งเชื่อมโยงกับพืชอย่างกัญชาที่ประเทศไทยเพิ่งเปิดเสรีไปเมื่อปีที่ผ่านมา เพราะอย่างที่รู้กันว่า กัญชาคือหนึ่งในภาพจำของชาวฮิปปี้
นอกจากนั้นชื่อ Happie ยังสามารถอ่านได้ว่า Have – Pie แปลว่าดินแดนที่มีกัญชา ส่วนคำภาษาไทยก็ยังอ่านแบบผสมอารมณ์ขันได้ว่า ‘แฮพพี้’ ซึ่งเป็นอีกความหมายแฝงที่ตั้งใจให้คนอมยิ้ม
สเปซที่จำลองสภาวะ high
นิซึ่งเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญงานออกแบบพื้นที่สร้างสรรค์บอกว่าเนื่องจากกัญชาเป็นกิมมิกหนึ่งที่ตั้งใจเลือกใช้เพื่อทำให้แบรนด์ดูมีความสนุกหรือความสุขเกินร้อย ทีมจึงอยากจำลองสภาวะ high ที่มีความสุขล้นเหลือออกมาไว้ในสเปซ
“ก่อนหน้านี้เราใช้กัญชาบรรเทาอาการนอนไม่หลับและหลับไม่สนิท เวลาเราใช้ก็พยายามเรียนรู้ว่ามีเอฟเฟกต์อะไรเกิดขึ้นในร่างกายและสมองเราบ้างแล้วเปลี่ยนปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในร่างกายตอนเสพและเอฟเฟกต์ที่เกิดขึ้นจริงในสมองเรามาทำให้เกิดเป็นสเปซที่จับต้องได้ แปลงประสบการณ์เป็นงานศิลปะที่เป็นรูปธรรม เหมือนหลักในการทำ installation art ทุกอย่าง มีที่มาจากการแปรความหมดเลยในนั้น”
จากห้องทรงกลมก็หลอกตาให้สเปซดูขยายกว้างขึ้นด้วยแผงกระจกล้อมเป็นวงกลมที่ทำให้เกิดภาพสะท้อนของคนและวัตถุอย่างไม่สิ้นสุดท่ามกลางบรรยากาศห้องโทนขาวสว่างตา
“คีย์คอนเซปต์คือ เราจะทำให้ห้องมีความ endless รู้สึกถึงมิติ เป็นกระจกที่สะท้อนต่อเนื่องเชื่อม
ต่อกันเรื่อยๆ พอเราวางกระจกแบบเอน พื้นจริงจะดูสูงกว่าพื้นข้างในกระจกที่ดูเหมือนหักลงและลาดต่ำลงไป เราใช้กฎการสะท้อนนี้มาสร้างเอฟเฟกต์ เวลาคนเดินเข้ามาจะรู้สึกว่าพื้นที่ในร้านอยู่สูงกว่าพื้นที่รอบๆในกระจกข้างล่างซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่มีอยู่จริง เป็นพื้นในจินตนาการ”
วัสดุสีขาวและโปร่งแสงยังจำลองความรู้สึกดั่งลอยในชั้นบรรยากาศเหมือนอยู่ในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงที่แปลกแยกออกมาจากความวุ่นวายของกรุงเทพฯ
“นี่แหละคือการสร้างความรู้สึก high ล่องลอย เหมือนอยู่บนยอดเขา เปลี่ยนให้วัสดุทั้งหมดเป็น
สีเงิน สีขาว สี Mirror ให้รู้สึกว่าข้างล่างเป็นเหมือนเมฆ ข้างบนเป็นชั้นบรรยากาศ แล้วเราก็คุยกันว่า ถ้าเราไปเปิดร้านป๊อปอัพไม่ว่าที่ไหนก็ตาม ก็จะใช้เอฟเฟกต์นี้ที่เป็นกฎของการสะท้อนไปกำหนดสเปซ”
ดิสเพลย์สินค้าสร้างสรรค์มีสตอรี
นอกจากประสบการณ์ high ที่อยากให้คนสัมผัสได้เวลาเดินเข้าไปในสเปซแล้ว สินค้าแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ และเครื่องประดับของแบรนด์ยังนำเสนอ happy experience ที่ไม่ว่าใช้หรือเห็นสตอรีแล้วต้องอมยิ้ม
ในส่วนสินค้าแน่นอนว่าต้องมีกัญชาตามคอนเซปต์ร้าน โดยกัญชาของ Happie Land ตอนนี้มี 3 แบบ คือ Happy Day, Happy Night และ Happy Party ที่เทพบอกว่าอยากอธิบายสรรพคุณให้เข้าใจง่าย
“Happy Day เหมาะสำหรับใช้ระหว่างวัน สามารถทำงานได้อย่างโฟกัสและครีเอทีฟ ไม่ง่วง ไม่ซึม ถ้าอยากหลับก็ใช้ Happy Night สำหรับตอนกลางคืน ส่วน Happy Party จะเป็นมู้ดสวิงแบบไฮบริด มีความสนุกสนาน
“เราเอาดาต้าของกัญชามาพัฒนาเป็นสินค้ารุ่นใหม่ จัดหมวดหมู่ว่าสรรพคุณของแต่ละตัวเป็นยังไง เหมือนจัดกัญชาเป็นอินโฟกราฟิกเพื่ออธิบายให้คนเข้าใจง่ายขึ้น ไม่ได้เล่าลงลึกว่าสายพันธุ์อะไรเพราะไม่อยากสื่อสารในเชิงวิทยาศาสตร์และสายพันธ์ุเยอะเกินไป ท้ายที่สุดแล้วคนจะชอบอะไรที่มันง่ายๆ โฟกัสที่ความครีเอทีฟ”
ทั้งนี้ศาสตร์สายเขียวมีความเป็นวิทยาศาสตร์ที่ต้องศึกษามากทั้งเรื่องเคมีในสมองกับสายพันธุ์ต่างๆ กว่าจะออกมาเป็นสิ่งที่เรียบง่ายต้องศึกษาข้อมูลไม่น้อย โดยหลุยส์คือผู้เชี่ยวชาญด้านกัญชาในทีม ทั้งศึกษาการปลูกเอง รู้ลึกด้านการบำรุงดอกให้ได้ผลผลิตท็อปฟอร์มที่สุด
โดยในระยะยาววางแผนจะพัฒนาสายพันธุ์ของตัวเองด้วย ส่วนอินไซต์และคอนเนกชั่นของคนผู้ใช้กัญชานั้นมาจากตังกวย ผู้ทำ Hightable.bangkok คอมมิวนิตี้สร้างสรรค์ของสายเขียวที่คอนเนกต์กับผู้คนด้วยอาหาร ดนตรี และศิลปะ
เมื่อรู้ลึกในความต้องการและพฤติกรรมของลูกค้า ที่ร้านจึงมีสินค้าเกี่ยวกับกัญชาและสินค้าไลฟ์สไตล์อื่นๆ ที่ออกแบบมาอย่างดีคุมโทนไปกับสเปซ คอลเลกชั่นโดดเด่นคือเครื่องเงินที่ collaboration กับแบรนด์ชื่อ ‘พากย์ไทย’ ของเดล หุ้นส่วนที่ทำจิวเวลรีลายไทยร่วมสมัย
พากย์ไทยเป็นเครื่องประดับเงินที่เอาลายไทยมาตัดทอนให้เป็นสากล เมื่อนำมาตีความในแบบของ Happie Land ก็กลายเป็นเครื่องเงินในเวอร์ชั่นที่มีความกวนและแปลกตามากขึ้น นอกจากสิ่งที่เกี่ยวข้องกับกัญชาอย่างไฟแช็คเงิน ยังมีสร้อยไข่ปลาที่ทำตัวล็อกพิเศษขึ้นมาโดยเฉพาะ แท่งสูบสปริงแบบ one-hitter ทำจากเงินทั้งแท่ง แหวน Happie Land ที่ต้องใส่สองนิ้วเท่านั้น เป็นแหวนที่สื่อถึงเอกลักษณ์ความกวนในสไตล์ของแบรนด์
ในฐานะที่ทำแบรนด์เครื่องประดับมาก่อนเหมือนกัน จันบอกว่า “Happie Land ไม่ต่างจากจิวเวลรีที่เราเคยทำมา เป็นของไทยเหมือนกัน แค่นำเสนอให้เป็นสากลมากขึ้น ชอบการหยิบ Thai joke ไม่ว่าจะเป็น bad joke หรือ good joke เอามาสร้างสรรค์ให้ดูมีมิติ”
โมเดิร์นสเปซที่ดูด graphic on street สุดคอนทราสต์มาไว้บนสินค้า
แม้สไตล์ของสเปซและสินค้าเครื่องเงินมีความเรียบง่ายแบบโมเดิร์น แต่เทพบอกว่าแรงบันดาลใจของหลายคอลเลกชั่นมาจากบรรยากาศความรกอีรุงตุงนังของประเทศไทยที่เพียงแค่เปิดประตูร้านออกไปก็มองเห็นทั้งสายไฟ ข้าวของอัดแน่นในร้านโชห่วย ห้องแถวและตึกโทนฉูดฉาดหลากสีสัน ฯลฯ
เขาบอกว่าไม่ได้มองทิวทัศน์และสิ่งของรอบตัวว่าเป็น object อะไร แต่จะมองกราฟิกต่างๆ ในเมืองให้ผสมกันเกิดเป็นความหมาย เกิดเป็นลาย graphic on street ที่มาอยู่บนสินค้า
เสื้อสกรีนลาย Weed Not Drive คู่กับภาพท้ายรถหน้ายิ้มเป็นหนึ่งในคอลเลกชั่นที่เกิดจากการสแนปรูปบนท้องถนนซึ่งเทพอธิบายคอนเซปต์ของเสื้อตัวนี้ว่า “เวลา weed อย่าไปขับรถ เพราะเวลาขับรถไปด้วยแล้วหลายๆ อย่างจะทำให้เราหลุดขำ”
นิเสริมว่า “เวลานั่งรถด้วยกัน อยู่ดีๆ พี่เทพก็จะหัวเราะขึ้นมาคนเดียว เป็นอารมณ์สนุกสนานที่มองความไม่เป็นระเบียบและยุ่งเหยิงของประเทศให้สนุกและสร้างสรรค์ เวลาเราเห็นฝาท่อมีรอยแตกอยู่ รอยแตกอาจจะเหมือนปาก ตรงอื่นอาจจะเป็นตา”
ไอคอนของแบรนด์ที่เป็นกระดุมหน้ายิ้มสีเงินบนเสื้อเชิ้ต Happie Land ก็มาจากการมองสิ่งรอบตัวเป็นหน้ายิ้มเช่นกัน แม้จะดูเป็นไอเดียที่เรียบง่ายและน้อย แต่การทำสิ่งที่ง่ายแล้วสื่อสารได้ เล่นกับคนได้นั้นต้องเกิดจากการสะสมประสบการณ์
เทพอธิบายว่า “ของพวกนี้มันอยู่รอบตัว เพียงแต่คนต้องสังเกตและเข้าใจมอง งานของเราจะเหมือนการนำเสนอให้คนในสังคมมองเห็นสิ่งเล็กๆ ที่มองข้ามไป ไม่ได้มองแต่แรกว่าใครจะใส่หรือไม่ในราคาเท่าไหร่ แต่ถ้าเราเห็นว่ามันงาม เราก็จะเลือกหยิบสิ่งที่เห็นว่างามมานำเสนอ”
อาร์ตสเปซที่นำเสนองานศิลปะอารมณ์ดีที่เสียดสีสังคม
นิยังบอกว่ารอยยิ้มไม่ได้มีความหมายแค่ happy เท่านั้น สเปกตรัมของอารมณ์สุขมีหลายระดับและมีความหมายหลายแบบ เนื่องจากสมาชิกหุ้นส่วนทุกคนล้วนทำงานเกี่ยวข้องกับศิลปะและการออกแบบ ทุกคนจึงมองว่าสินค้าของแบรนด์เป็นงานอาร์ตที่สื่อสารอารมณ์ออกมา
“มีการยิ้มหลายรูปแบบ ยิ้มด้วยอารมณ์ทะลึ่งทะเล้น ว้าว เซอร์ไพรส์ บางทีตกใจ ภาพกราฟิกที่เห็นตามท้องถนน บางอันก็หน้าบึ้ง บางอันเป็นหน้าสงสัย หน้าเท่ หน้ายิ้มหวาน เราอยากเก็บรอยยิ้มในหลายอารมณ์เหล่านั้นมาถ่ายทอด”
คอลเลกชั่นสามพรานของ Happie Land เป็นหนึ่งตัวอย่างที่นำเสนอความ happy ในแบบเสียดสีได้ดี คนทั่วไป เวลามองเสื้อ Lacoste อาจจะเห็นแค่โลโก้แบรนด์รูปจระเข้ แต่เทพมองเห็นไปไกลกว่านั้น คือนึกถึงโชว์จระเข้อ้าปากที่สามพราน นักแสดงผู้กล้าจะโชว์เอาหัวแหย่เข้าไปในปากจระเข้ เทพได้จำลองฉากนี้มาไว้บนเสื้อด้วยการเอาไอคอนหน้ายิ้มไปวางคู่กับโลโก้จระเข้ของ Lacoste
สำหรับใครที่สงสัยว่าแล้วงานอาร์ตเป็นยังไง แบบไหนถึงเรียกว่าอาร์ต นิอธิบายว่า “งาน Hotel Art Fair ครั้งล่าสุดจะมีศิลปิน painter ที่ทำงาน sculpture มาโชว์ในงาน งานของเราก็คล้ายกัน ถ้าเราเป็น painter เราก็คงจะวาดรูปจระเข้กับหน้ายิ้มลงไปในเฟรม แต่เราเลือกสื่อสารงานอาร์ตในรูปแบบของ object ที่จะเอาไปเข้ากรอบใส่เฟรมก็ได้ หรือจะเอามาสวมใส่ที่ร่างกายเป็นอาร์ตก็ได้ เรามองมันอย่างนั้น
“แล้วมันเป็นอาร์ตยังไง ลองนึกภาพคนดูทั้งหมดในโชว์จระเข้ เขาจะสนุกสนานมาก แต่ความสนุกนั้นมันเกิดมาจากความเสี่ยงที่เราก็ไม่รู้ว่าจระเข้จะงับหัวคนหรือไม่ มันคือการประชดประชันในวัฒนธรรมแล้วถ่ายทอดออกมาเป็นแบรนด์ คนที่แสดงโชว์เขาก็ยิ้มนะ ยิ้มแล้วค่อยๆ ปล่อยมือด้วย เอาหัวเข้าไปในปากจระเข้ ทุกคนในนั้นก็หัวเราะ ตื่นเต้น เฮฮา หวาดเสียว เราก็เลยเอาความหมายต่างๆ เหล่านี้มาตอกย้ำว่ามันก็ดึงใจเหมือนกันนะ นี่แหละมันคืออาร์ต”
ราคาคอลเลกชั่นสามพรานอยู่ที่ 9,000 บาท ส่วนเสื้อเชิ้ตที่มีกระดุม Happie Land หน้ายิ้มขายตัวละ 15,000 บาท เมื่อถามว่าทำไมถึงกล้าตั้งราคาสูงขนาดนี้ เทพตอบว่า “คุณค่าของสินค้าคือแบรนด์ดิ้ง ถ้าสตอรีพวกนี้ไปอยู่ในที่ทั่วไปที่คนไม่จำ มันก็จะอยู่ของมันแบบนี้”
เมื่อมองสินค้าเป็นงานศิลปะ จึงตั้งราคาแบบงานศิลปะด้วยเช่นกัน ไม่ได้ตั้งราคาแบบ commercial ทั่วไป ซึ่งเทพบอกว่าคนที่มาซื้อคือคนที่มองเห็นคุณค่าของแบรนด์ นักท่องเที่ยวที่เข้าใจสตอรีเวลามาเห็นแล้วถูกใจก็ตัดสินใจซื้อ
ขบถด้วยกิมมิก
under construction
หากมองจากภายนอกนิบอกว่า Happie Land ใช้คอนเซปต์ขบถที่ทาสีเหมือนกำลังทำ hoarding wall หรือผนังชั่วคราวในงานก่อสร้าง “ด้านหน้าคือฉากกั้นที่ไม่เสร็จ เหมือนเวลาเดินห้างแล้วเจอพื้นที่กำลังก่อสร้างที่มีเทปสีมาแปะ เป็นการปิดกั้นเหมือนการทำพื้นที่ก่อนเปิดใช้จริง
“จริงๆ แล้วถ้าตามหลักการออกแบบรีเทลเราคงต้องทำให้เสร็จเรียบร้อย แต่เราเลือกที่จะให้มันแปลกแยกออกมา เพื่อพรางว่ามันยังเป็นไซต์งานที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เพราะตอนนี้เรามีกัญชาด้วย ไม่อยากให้เด็กนักเรียนเดินไปเดินมาแล้วมาเห็น เพราะฉะนั้นเลยทำให้เหมือนกับยังก่อสร้างไม่เสร็จ
“ตั้งใจให้เหมือนคุณเดินอยู่บนถนนแล้วคนได้เดินโฉบหลุดเข้ามาในพื้นที่ เหมือนหลุดไปอีกโลกหนึ่งเลย คนที่เดินอยู่หรือคนในละแวกนี้เขาก็จะรู้สึกว่าร้านนี้ยังก่อสร้างอยู่ ยังไม่เสร็จ”
อยากเป็น museum shop ไทยร่วมสมัยสุดไฮป์
นิและเทพกล่าวว่านิยามสเปซของแบรนด์คือ museum shop หรือ shop gallery ที่คาบเกี่ยวกับการเป็นร้าน souvenir ไลฟ์สไตล์ และกัญชา
“พูดให้ง่ายคือเป็นร้านของฝากที่มาเมืองไทยแล้วต้องแวะมา ที่เราหวังคือวันหนึ่งนักท่องเที่ยวมาไทยแล้วต้องมาซื้อของไทยร่วมสมัยที่นี่เพื่อเอากลับไปฝากเพื่อน เพื่อนๆ ก็ฝากซื้อ”
อนาคตตั้งใจออกคอลเลกชั่นใหม่ที่เป็นงานคราฟต์มากขึ้น ทำงานคราฟต์ให้ดูสมัยใหม่และขายได้ เข้ากับวิถีชีวิตการแต่งบ้านยุคใหม่ สินค้าที่ coming soon ได้แก่ เสื่อกก ผ้าพันคอ ผ้าไหม วัสดุรีไซเคิลต่างๆ ฯลฯ
ทั้งนี้ทุกอย่างต้องมีกิมมิก เช่น คอลเลกชั่นที่เล่นกับเวลาว่างของชาวบ้านในช่วงที่เว้นว่างจากการเก็บเกี่ยว เกิดเป็นสินค้าลิมิเต็ดเฉพาะบางฤดูกาล เน้นความเป็นไทยสากลของ Happie Land ที่ใช้ได้จริง ใช้แล้วไม่เคอะเขิน ไม่เป็นไทยที่โบราณจ๋า ถ้าเป็นผ้าขาวม้าก็ต้องสามารถใส่ได้ในชีวิตจริง
นิปิดท้ายว่า “เราตั้งนิยามไว้ว่าอยากพยายามทำแบบนี้ เป็นการทดลองทางศิลปะของเราด้วยว่ามันจะไปได้สุดที่ไหน มันจะไปถึงไหนต่อ เอาความสนุก ความเป็นไทยที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์มาทำและจะต่อยอดไปเรื่อยๆ เพื่อสร้างความสุข”