นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

Textile Legacy of 錦 源 興

การรีแบรนด์ ‘กิมกวนเฮง’ ร้านขายผ้า 102 ปียุคสงครามโลกโดยทายาทรุ่น 4 และนักออกแบบชาวไต้หวัน

ลายแพตเทิร์นแปลกตาอย่างไข่ปลากระบอก (mullet roe), ก๋วยเตี๋ยว (noodle), รองเท้าแตะยางสีฟ้าขาว (slipper), ชานมไข่มุก (bubble tea) และลวดลายดีไซน์โมเดิร์นสีสดใสอีกหลายลายซึ่งจัดแสดงที่นิทรรศการ ‘CITY PATTERN: Textile Designs of Yang Tzu Hsing & The Story of Gimgoanheng Yang Tzu Hsing’ ณ แกลลอรี Matdot Art Center ที่กรุงเทพฯ เมื่อปลายปีที่แล้วนำพาให้เรารู้จักกับนักออกแบบชาวไต้หวันเจ้าของนิทรรศการนี้คือหยางจื่อชิง (Yang Tzu Hsing)

เขาไม่เพียงแค่เป็นนักออกแบบที่จัดแสดงนิทรรศการศิลปะทั่วไป แต่ยังเป็นทายาทรุ่นที่ 4 ของ ‘กิมกวนเฮง’ (錦源興 Gímgoânheng) ร้านขายผ้าที่ปีนี้จะมีอายุ 102 ปีนับตั้งแต่สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อได้รู้ว่าเบื้องหลังนิทรรศการครั้งนี้มีความตั้งใจอยากเล่าเรื่องราวทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ของเมืองไถหนานผ่านลวดลาย คอลัมน์ ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความเด็ดเดี่ยว’ เลยไม่ลังเลที่จะชวนทายาทร้านผ้าพูดคุยถึงแรงบันดาลใจในการรีแบรนด์ธุรกิจหลักศตวรรษแห่งไต้หวัน

หยางจื่อชิงเรียนจบปริญญาตรีด้านออกแบบตกแต่งภายใน และจบปริญญาโทสาขาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เขาทดลองเรียนวิชาออกแบบเสื้อผ้าสมัยมหาวิทยาลัยตั้งแต่วันที่ยังไม่มีไอเดียว่าจะนำความรู้นี้กลับไปใช้ในธุรกิจของครอบครัวยังำง แต่เรียนเพราะสนใจเกี่ยวกับการออกแบบ

หลังเรียนจบเขาก่อตั้งบริษัทออกแบบร่วมกับเพื่อน รับตั้งแต่งานชิ้นเล็กอย่างนามบัตร โลโก้ คาแร็กเตอร์ดีไซน์ ออกแบบแบรนดิ้ง ไปจนถึงออกแบบตกแต่งภายในโดยมีโปรเจกต์งานสำคัญเป็นโครงการของรัฐบาลไต้หวันที่อยากเปลี่ยนโฉมโรงงานในประเทศให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว

หลังทำบริษัทออกแบบของตัวเองมาเป็นระยะเวลาราว 7 ปี ในปี 2018 หยางจื่อชิงเริ่มรู้สึกว่างานที่ทำมักต้องปรับเปลี่ยนแก้งานตามความต้องการของลูกค้าเสมอแม้ตัวเขาเองจะพอใจในงานแล้ว เขาเริ่มมองเห็นโอกาสว่าธุรกิจครอบครัวหลักศตวรรษสามารถเป็นเวทีพัฒนาผลงานสร้างสรรค์ที่ตัวเองอยากทำอย่างเต็มที่ได้ การมีความเข้าใจในศาสตร์การออกแบบหลายแขนงจากประสบการณ์ส่วนตัวหล่อหลอมให้เขาออกแบบคอนเซปต์ดีไซน์จากแรงบันดาลใจได้อย่างน่าสนใจ 

“สำหรับผมการออกแบบเป็นเรื่องของแนวคิด ส่วนเครื่องมือเป็นแค่สิ่งที่เราใช้ ถ้าคุณใช้ Illustrator หรือ Photoshop ได้ คุณก็เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ได้ ถ้าคุณใช้จักรเย็บผ้าและรู้วิธีทำแพตเทิร์น คุณก็เป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ได้ ถ้าคุณรู้เรื่องวัสดุต่าง ๆ เช่น ไม้ เหล็ก หรือกระจก คุณก็เป็นนักออกแบบตกแต่งภายในได้” และถ้าคุณภูมิใจใน legacy ของธุรกิจครอบครัว ถึงแม้ธุรกิจจะเคยปิดตัวไปแล้วในช่วงระยะเวลาหนึ่ง คุณก็สามารถพลิกฟื้นธุรกิจกลับขึ้นมาใหม่ได้อีกครั้งจากความถนัดของตัวเอง  

กิมกวนเฮง

Sunrise Business Before World War II 

หลังจากเดินชมการจัดแสดงผลงาน City Pattern ในบ่ายวันหนึ่ง บทสนทนาที่แกลเลอรี่ในวันนั้น ทำให้หยางจื่อชิงยินดีเล่าเรื่องธุรกิจหลักร้อยปีของครอบครัวให้ฟังอย่างเป็นกันเอง

“คุณตาทวดของผมชื่อ Zhang Xiang เป็นผู้ก่อตั้งธุรกิจนี้ เขาเป็นคุณพ่อของคุณยายผมและเริ่มต้นธุรกิจในปี 1923 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ในตอนนั้นไต้หวันอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น เป็นช่วงที่มีการอพยพของชาวจีนจำนวนมากมายังไต้หวันเพื่อเอาชีวิตรอดและมาทำธุรกิจที่นี่ คุณตาทวดของผมก็เช่นกัน เขาย้ายมาไต้หวันตั้งแต่ยังเด็กและได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งทอ จนก่อตั้งกิมกวนเฮงขึ้นมา”  

กิมกวนเฮง

“ยุคแรกโรงงานเริ่มจากรับย้อมผ้า โมเดลธุรกิจแรกเริ่มคือคุณตาทวดจะซื้อผ้าจากญี่ปุ่น นำเข้ามาไต้หวันแล้วนำผ้ามาย้อมเอง โรงงานของเราตั้งอยู่ที่ถนน Shennong ซึ่งเป็นย่านธุรกิจเก่าแก่ในไถหนาน ธุรกิจนี้ดำเนินต่อมาจนถึงรุ่นที่ 3 คือคุณลุงของผม”

โรงงานกิมกวนเฮงในยุคนั้นเน้นการตัดเย็บผ้าแบบเรียบง่ายเพื่อขายผ้าให้ผู้ที่อยากตัดเสื้อผ้าหรือทำสิ่งทอต่างๆ ในยุคที่ยังไม่มีแบรนด์เสื้อผ้าสำเร็จรูปขายอย่างแพร่หลาย หยางจื่อชิงบอกกับเราอย่างถ่อมตัวว่าการประสบความสำเร็จของธุรกิจครอบครัวมาจากปัจจัยของยุคสมัยในวันที่การเป็น entrepreneur ไม่ใช่เรื่องท้าทายเท่าทุกวันนี้

“ผมคิดว่าถ้าคุณอยากทำธุรกิจในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 มันมีข้อได้เปรียบที่ทำให้สำเร็จในช่วงเวลานั้นเพราะการเข้าถึงข้อมูลทางธุรกิจยังไม่เยอะเหมือนปัจจุบัน สมัยนี้ถ้าคุณอยากซื้ออะไร คุณอาจค้นหาในกูเกิล เข้าเว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์เพื่อเปรียบเทียบราคาได้ง่ายๆ แต่มันยากมากที่จะทำแบบนั้นในยุคก่อน

“ในอดีตผ้าของเราไม่ได้มีอะไรพิเศษมาก มันคือการย้อมผ้าธรรมดาในสีต่างๆ และตัดเย็บแบบง่ายๆ ครอบครัวเราเพียงค่อยๆ ขยายธุรกิจให้ใหญ่ขึ้น ผมมองว่าเหตุผลที่คุณตาทวดของผมประสบความสำเร็จคือการเป็นนักธุรกิจที่ดี ใจดีต่อผู้คน และรู้วิธีทำธุรกิจ ในยุคนั้นถ้าคุณรู้แหล่งซื้อและแหล่งขาย ถ้าคุณมีเงิน มีความกล้า มีความตั้งใจ และทำงานหนัก คุณก็มีโอกาสประสบความสำเร็จ”

ดังเช่นทุกธุรกิจที่มีทั้งช่วง sunrise และ sunset ยุคทองของการขายผ้าก็ไม่ได้คงอยู่ตลอดไปเช่นกัน การเผชิญกับความท้าทายครั้งสำคัญของกิมกวนเฮงคือการเปลี่ยนแปลงในยุคอุตสาหกรรมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีการผลิตเสื้อผ้าแบบ mass production เมื่อผู้คนสามารถซื้อเสื้อผ้าจากห้างสรรพสินค้าและอินเทอร์เน็ตได้เองโดยไม่ต้องมานั่งตัดเย็บเองอีกต่อไป ทำให้ธุรกิจขายผ้าลดบทบาทความสำคัญลง

เมื่อเห็นว่าไม่สามารถห้ามช่วงเวลาอาทิตย์อัสดงได้ตามธรรมชาติของธุรกิจ ลุงของหยางจื่อชิงจึงตัดสินใจปิดกิจการในปี 2012 เพราะคิดว่าการรักษาธุรกิจครอบครัวนี้ต่อไปเป็นเรื่องยากเกินไป

Begin Again 

เมื่อธุรกิจปิดตัวลงคนส่วนใหญ่มักคิดว่าคือจุดสิ้นสุด แต่หยางจื่อชิงไม่คิดแบบนั้น 

แม้จะเคยปิดตัวไปแล้วในช่วงเวลาหนึ่งก็สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้ โจทย์แรกคือจะทำยังไงเมื่อไม่มีสินทรัพย์สำคัญทางธุรกิจคือโรงงานอีกต่อไปแล้ว

“เพราะธุรกิจของเราเริ่มจากร้านขายผ้า สินค้าก็ต้องเกี่ยวข้องกับผ้า แต่ผมไม่อยากนำเข้าผ้าจากประเทศอื่นแล้วตัดเย็บในไต้หวัน มันจะกลายเป็นแค่ธุรกิจทั่วไปที่ไม่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมแบบเดิม และผมก็ไม่ใช่นักธุรกิจที่มีเงินทุนมากพอจะซื้อเครื่องจักรหรือสร้างโรงงานใหม่ซึ่งมีราคาหลักหลายล้านบาท ความจริงผมก็ไม่ค่อยสนใจการผลิตจำนวนมากเท่าไหร่ด้วย

“ผมจึงคิดว่าในเมื่อยังมีโรงงานผ้าดีๆ ในไต้หวันอยู่มากมาย เราอาจร่วมมือกับพวกเขาได้ แล้วผมที่เป็นนักออกแบบจะโฟกัสแค่งานออกแบบและการตลาดรวมถึงบริหารจัดการ supply chain ของผ้า ทุกวันนี้เราจึงร่วมงานกับโรงงานหลายแห่งในไต้หวัน ตั้งแต่กระบวนการทอผ้า ย้อมสีผ้า และตัดเย็บกระเป๋าหรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ โดยผลิตในไถหนานมากกว่าครึ่งหนึ่งของการผลิต”

โรงงานผ้า

“ผมจะอธิบายให้ลูกค้าฟังเสมอว่าเราไม่มีโรงงานของตัวเองแล้ว แต่ไม่ต้องกังวล เพราะสิ่งที่เราทำคือการจัดการ supply chain ผมอยากทำเงินด้วยโมเดลธุรกิจใหม่จากงานออกแบบและการขายผลิตภัณฑ์ ไม่ใช่แค่ขายผ้าแบบเดิมเท่านั้น โดยอยากให้แต่ละโรงงานที่เราร่วมงานกันได้กำไรจากความเชี่ยวชาญในสิ่งที่พวกเขาทำด้วย”  

วิธีที่ชาญฉลาดนี้ทำให้สินค้าทั้งหมดของกิมกวนเฮงยังคงผลิตในไต้หวันดังเดิม สิ่งที่น่าสนใจคือปัจจุบันไถหนานซึ่งเป็นบ้านเกิดของโรงงานกิมกวนเฮงยังคงเป็นแหล่งผลิตผ้าด้วยนวัตกรรมสิ่งทอที่ล้ำสมัย และยังเป็นแหล่งซัพพลายเออร์ให้แบรนด์ระดับโลก เช่น Levi’s, Louis Vuitton และแบรนด์ระดับโลกอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์หรูหรือแบรนด์กีฬา การที่กิมกวนเฮงยังคงพยายามรักษาแหล่งผลิตดั้งเดิมในไถหนานจึงเป็นการรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมโดยไม่ยึดติดว่าต้องผลิตจากโรงงานของตัวเอง 

โจทย์ที่สองคือจะทำยังไงให้ธุรกิจมีจุดแข็งที่แตกต่างในวันที่ตลาดผ้าไม่เหมือนศตวรรษก่อนอีกต่อไป การสร้าง legacy ใหม่โดยทายาทรุ่นที่ 4 ของกิมกวนเฮงคือใช้ทักษะออกแบบที่ตัวเองมีเป็นต้นทุนในการสร้างธุรกิจขึ้นใหม่ ผสานไอเดียการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์เข้าไปในผลิตภัณฑ์ 

ลวดลายผ้า

Taiwanese Pattern from City Wander 

การเริ่มต้นธุรกิจใหม่เกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2020 ด้วยการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผ้าในลวดลายใหม่ที่หยางจื่อชิงออกแบบเองและขายตามร้านค้าปลีก “เมื่อคนรู้ว่าคุณเป็นร้านผ้าเก่า ผู้คนจะคิดว่าถ้าอยากซื้ออะไรสักอย่างจากเราก็ต้องเป็นผ้า”

กิมกวนเฮงในเวอร์ชั่นใหม่จึงขายสินค้าหลายประเภท เช่น กระเป๋า หมวก เครื่องเขียน ของใช้จากผ้า และยังคงขายผืนผ้าด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม โชคร้ายว่าเป็นปีที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักไม่ค่อยช้อปปิ้งสินค้าแฟชั่น

“ตอนช่วงโควิด-19 ในฐานะร้านค้าปลีก ผมรู้สึกเบื่อมากเพราะไม่มีลูกค้าเลย ผมจึงคิดว่าจะนั่งรอให้คนเดินเข้าร้านเฉยๆ ไม่ได้ ต้องสื่อสารออกไปให้คนรู้จักจึงตัดสินใจเล่าเรื่องราวของแบรนด์สู่ภายนอก ตอนแรกคิดว่าจะใช้วิธีเปิดร้านป๊อปอัพเพื่อวางขายสินค้า แต่มาคิดอีกทีว่าถ้าลายผ้ามีเรื่องราวและแนวคิดในการออกแบบ ผมน่าจะใช้วิธีการจัดนิทรรศการให้ผลงานสร้างสรรค์ของผมเป็นตัวนำแล้วค่อยขายสินค้า” 

นิทรรศการแรกของหยางจื่อชิงชื่อ City Pattern จัดแสดงการออกแบบแพตเทิร์นที่ได้แรงบันดาลใจจากเมืองไถหนานควบคู่กับคอลเลกชั่นสินค้าในลวดลายเดียวกันทั้งหมด 10 ลาย เช่น ลายไข่ปลากระบอกหรือมัลเล็ตโรล (mullet roe) ที่มีคอนเซปต์คือ The Flavor of Love and Reunion เล่าถึงร้านขายไข่ปลากระบอกในความทรงจำของหยางจื่อชิงที่คุณยายมักซื้อมาให้ทานเป็นเมนูพิเศษในช่วงเทศกาลปีใหม่, ลายรองเท้าแตะยาง ซึ่งสื่อถึงยุคสมัยประวัติศาสตร์ในปี 1950 ที่คนไต้หวันยากจนทำให้รัฐบาลไต้หวันในยุคนั้นผลิตรองเท้ารุ่นสีน้ำเงินและขาวจากตราสัญลักษณ์ประจำชาติออกมา, ลายเก้าอี้ Stool สีแดงที่มักพบเห็นได้ตามถนน ร้านข้างทาง งานวัดหากมาเที่ยวไต้หวัน 

“ถ้าคุณพูดถึงเมืองไถหนานกับคนไต้หวัน ส่วนใหญ่จะนึกถึงภาพเมืองเก่าของไต้หวันที่มีเสน่ห์ เต็มไปด้วยอาหารและบรรยากาศเก่าแก่ ผมจึงคิดว่ามันมีเหตุผลที่ธุรกิจผ้าดั้งเดิมของครอบครัวผมซึ่งตั้งอยู่ในไถหนานจะเป็นแรงบันดาลใจให้สร้างคอลเลกชั่นแรกนี้ขึ้นมา อยากให้เมื่อคนไต้หวันเห็นลวดลายของกิมกวนเฮงครั้งแรกแล้วเชื่อมโยงถึงไถหนานได้” 

ทุกครั้งที่จัดนิทรรศการ นอกจากแสดงผลงานภาพแล้ว ผู้เข้าชมจะซื้อสินค้าสกรีนลายแพตเทิร์นเหล่านี้อย่างกระเป๋า Kaki สไตล์ดั้งเดิมของไต้หวัน โปสต์การ์ด แก้ว เสื้อผ้าต่างๆ กลับไปได้ ภายในระยะเวลาราว 4 ปีหลังจากเปิดตัวครั้งแรก นิทรรศการ City Pattern ซึ่งเป็นคอลเลกชั่นเด่นของแบรนด์ได้จัดไปแล้วทั้งหมด 21 ครั้ง นอกจากจัดแสดงทั่วไต้หวันก็เคยจัดที่มาเลเซียและกรุงเทพฯ เป็นครั้งที่ 21 เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

หลังจากนั้นหยางจื่อชิงก็ทยอยออกคอลเลกชั่นใหม่ทุกครึ่งปีหรือทุกปี ซึ่งแม้แต่ละคอลเลกชั่นจะมีแรงบันดาลใจของลายแพตเทิร์นที่แตกต่างกันออกไปแต่ก็มักจะมีเรื่องราวของลวดลายที่เชื่อมโยงจากแรงบันดาลใจจากในเมืองหรือการเดินทาง เช่น คอลเลกชั่น City Garden หรือคอลเลกชั่นล่าสุดของปีที่แล้วชื่อ Let’s Play Again ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากของเล่นในวัยเด็ก

หยางจื่อชิงบอกว่าสินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือกระเป๋าโท้ตคลาสสิกและใช้งานง่าย รองลงมาคือถุงเท้าที่ทำร่วมกับแบรนด์ถุงเท้าของไต้หวันชื่อ Good Name Cozy ในลายของกิมกวนเฮง อันดับสามคือแฟ้มผ้าและกระเป๋าผ้าทรงอื่นๆ 

“สิ่งที่น่าสนใจคือเราวางขายสินค้าของเราที่ร้านค้าปลีกประมาณ 20-22 แห่งในไต้หวันรวมถึงต่างประเทศ บางร้านตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า บางร้านเป็นร้านขายของที่ระลึกตามสถานที่ประวัติศาสตร์ ในแต่ละร้านสินค้าขายดีอันดับหนึ่งมักจะแตกต่างกันไปเล็กน้อย เช่น คุณอาจจะอยากซื้อของที่ราคาไม่เกิน 100 ดอลลาร์ไต้หวันเป็นของที่ระลึกเมื่อไปเที่ยวสถานที่ประวัติศาสตร์ แต่ถ้าไปห้างคุณอาจจะยอมจ่ายเงิน 2,000 ดอลลาร์ไต้หวันเพื่อซื้อกระเป๋า”

“ลายผ้าทุกลายของกิมกวนเฮงเป็นสิ่งที่ผมออกแบบและอยากทำเองจริงๆ หลังจากออกแบบแล้ว เราจะพูดคุยกับทีมว่าผลิตภัณฑ์ใดที่เหมาะกับลายนั้นๆ เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ผมรู้สึกพอใจกับสิ่งที่ทำทุกวันนี้มากเพราะมันเป็นการผสมผสานระหว่างความสร้างสรรค์ของตัวเองและความต้องการของตลาด” 

No Hard Sale, Just Travel Blogging   

แม้จะฝากวางขายตามร้านค้าปลีกหลายแห่งแต่ร้านที่หยางจื่อชิงเป็นเจ้าของเองมีแห่งเดียวคือร้าน Jinyuanxing ที่ไถหนาน ส่วนช่องทางออนไลน์ก็มีรูปแบบการขายที่คล้ายกันคือมีการฝากขายตามเว็บไซต์ที่รวมแบรนด์สร้างสรรค์ระดับนานาชาติเช่น Pinkoi และมีร้านค้าออนไลน์ของตัวเองทางเว็บไซต์ของกิมกวนเฮง ในยุคที่ทุกแบรนด์ต่างกระหน่ำทำการตลาดทางช่องทางออนไลน์ หยางจื่อชิงกลับบอกว่าช่องทางออนไลน์เป็นส่วนที่ทำรายได้น้อยที่สุดสำหรับกิมกวนเฮง 

“ผมคิดว่าในปัจจุบัน ถ้าคุณต้องการทำธุรกิจออนไลน์เป็นหลัก คุณต้องใช้เงินจำนวนมากในการทำการตลาด เช่น ซื้อโฆษณาบนเฟซบุ๊ กอินสตาแกรม หรือการร่วมมือกับ KOL (อินฟลูเอนเซอร์) ในไต้หวันเพื่อโปรโมตสินค้า แต่ผมไม่มีพื้นฐานการทำตลาดออนไลน์และอยากมีโอกาสพูดคุยกับลูกค้าในร้านค้าออฟไลน์มากกว่า สำหรับผมร้านค้าออนไลน์เป็นเพียงช่องทางที่ง่ายสำหรับลูกค้าที่ต้องการซื้อสินค้าเท่านั้น แต่เราไม่ได้ทำเป็นโมเดลธุรกิจหลัก

“ผมติดตามดูแบรนด์คู่แข่งทางช่องทางออนไลน์ทุกวัน สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นในไต้หวันคือ ถ้าคุณใช้โซเชียลมีเดียเป็นเพียงแพลตฟอร์มโฆษณา โพสต์ของคุณจะไม่ค่อยมีคนเห็น เพราะโซเชียลมีเดียเหล่านี้ต้องการให้คุณจ่ายเงินเพิ่มเพื่อซื้อโฆษณา แต่แบรนด์เราไม่ค่อยใช้เงินโฆษณา เรามุ่งเน้นไปที่การทำสิ่งที่เชื่อมโยงกับแบรนด์เรามากกว่า เช่น การเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับไต้หวันและวัฒนธรรมผ่านลวดลายของเรา”

สิ่งที่หยางจื่อชิงทำคือเปลี่ยนเฟซบุ๊กของตัวเองให้เป็นบล็อกท่องเที่ยว ทรีตช่องทางโซเชียลมีเดียของกิมกวนเฮงให้เล่าเรื่องเหมือนเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่สะท้อนตัวตนความสนใจของตัวเอง เล่าในสิ่งที่คิดว่ากลุ่มเป้าหมายที่เป็นลูกค้าน่าจะชอบ เช่น ศิลปะ สิ่งสร้างสรรค์ การเดินทาง

“ผมจะแชร์เรื่องราวการเดินทางของผมทุกวันว่าไปที่ไหนมาบ้าง เห็นอะไร ได้ประสบการณ์อะไรมา บางครั้งผมอาจถ่ายรูปเมืองของผมแล้วเล่าเรื่องราวในสิ่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสินค้าเลยก็ได้ นอกจากนี้ผมยังมีพ็อดแคสต์ของตัวเองที่เล่าถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นและสัมภาษณ์นักธุรกิจในไถหนาน รวมถึงมีพื้นที่มินิแกลเลอรีจัดแสดงนิทรรศการเล็กๆ โดยศิลปินและดีไซเนอร์หน้าใหม่ในไต้หวันที่จัดหมุนเวียนแตกต่างกันไปในทุกๆ เดือนบนชั้นสามของร้านเรา

“เรามอบพื้นที่ให้พวกเขาฟรีๆ ดังนั้นลูกค้าของเราจะได้รู้จักกับครีเอเตอร์หลากหลาย ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการขายสินค้าและไม่ได้เกี่ยวข้องกับกิมกวนเฮงเลย ซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ทำให้แบรนด์เราแตกต่างออกไป” 

Stay Small 

“สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าแตกต่างเมื่อเปรียบเทียบกับกิมกวนเฮงรุ่นเก่าที่ก่อตั้งโดยตาทวดของผม ก็คือโมเดลธุรกิจใหม่ที่ผมคิดว่ามันได้ผล แต่มันยังทำให้ดีขึ้นกว่านี้ได้และคิดว่าหนึ่งในวิธีนั้นคือการทำลิขสิทธิ์”

หยางจื่อชิงตั้งเป้าหมายว่าในอนาคตอยากเพิ่มสัดส่วนรายได้จากสินค้าลิขสิทธิ์ให้สูงขึ้นเพราะเป็นโมเดลธุรกิจที่ทำง่าย แค่ออกแบบลายให้แบรนด์นำไปผลิตต่อโดยไม่ต้องปรับแต่งหรือทำลวดลายใหม่เยอะก็ได้ค่าลิขลิทธิ์มาอย่างง่ายดายโดยไม่ต้องผลิตสินค้าเอง

ปีที่ผ่านมากิมกวนเฮงทำสินค้าลิขสิทธิ์ร่วมกับแบรนด์ระดับโลกอย่าง 7-11 ในโอกาสเปิดสาขาขนาดใหญ่ที่ไถหนานโดยออกแบบลวดลายใหม่ในคอลเลกชั่นลิมิเต็ดที่ผสานลายต้นฉบับของกิมกวนเฮงกับตัวการ์ตูนของ 7-11 ในไต้หวัน และยังมีโอกาสร่วมมือกับบัตร EasyCard (บัตรเดินทางในไต้หวัน) ในการออกบัตรรุ่นพิเศษออกมา

“ผลงานเหล่านี้จะย้อนกลับไปสู่เรื่องเล่าทั้งหมดก่อนหน้านี้ว่าทำไมผมถึงทำสิ่งที่หลากหลายและน่าสนใจมากมาย เพราะผมอยากให้คนชอบแบรนด์และเข้าใจว่าแบรนด์ของเรากำลังทำอะไร เพราะถ้าคุณอยากทำสินค้าลิขสิทธิ์ สิ่งที่คุณต้องทำคือต้องทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับจากทุกคนก่อน เมื่อถึงวันที่คุณออกแบบสินค้าลิขสิทธิ์ร่วมกับแบรนด์อื่นๆ ผู้คนจะได้อยากซื้อ ซึ่งสินค้าลิขสิทธิ์จะมีราคาถูกกว่าด้วยเพราะเป็นการผลิตจำนวนมากแบบแมสและส่งให้แบรนด์ที่ร่วมมือกับเราเป็นฝ่ายผลิต”  

“นอกจากนี้ในอนาคตผมยังอยากพัฒนาคอลเลกชั่นใหม่ๆ เราจะยังคงใช้ลวดลายเพื่อสะท้อนวัฒนธรรมของไต้หวันและผลิตสินค้าใหม่ที่ตอบโจทย์ลูกค้าเพราะยังต้องมีส่วนที่หารายได้จากตรงนั้น มองว่าน่าจะมีการท่องเที่ยวไปประเทศต่างๆ ในแต่ละปีเพื่อแบ่งปันผลงานออกแบบของผมและเล่าเรื่องราวของกิมกวนเฮงต่อไปด้วย”

สิ่งหนึ่งที่หยางจื่อชิงยึดเป็นหัวใจสำคัญคือการคงบริษัทขนาดเล็กไว้ ทุกวันนี้กิมกวนเฮงมีพนักงานแค่ 5 คน เพื่อให้สามารถทำสิ่งที่อยากทำตามใจรักได้โดยไม่ต้องกังวลกับการหารายได้จนเกินไป 

“ผมพบว่าสำหรับหลายแบรนด์สร้างสรรค์ในไต้หวัน ถ้ามีทีมที่ใหญ่เกินไป วันหนึ่งพวกเขามักจะต้องทำสิ่งที่แตกต่างออกไปจากจุดเริ่มต้นที่ตั้งใจไว้เพราะต้องหาเงิน ผมเข้าใจตรงนี้ดี ผมเลยพยายามรักษาบริษัทให้เล็กเข้าไว้ เพื่อที่จะสามารถทำสิ่งที่แตกต่างออกไปได้สำหรับลูกค้าของผมและเป้าหมายของผม

“ผู้คนมักจะประหลาดใจเสมอว่า ‘คุณทำแบบนั้นได้ยังไง’ หรือ ‘คุณหาเงินจากสิ่งนี้ได้ยังไง’ ความจริงแล้วเราไม่ได้เน้นหาเงินจากการจัดงานนิทรรศการนะ มันเหมือนเป็นการแบ่งปันและสร้างมิตรภาพมากกว่า สำหรับผมในฐานะนักออกแบบ นี่คือสิ่งที่ผมอยากทำในชีวิต ผมจึงพยายามและอยากทำสิ่งนี้ สุดท้ายพวกเขาก็จะพบว่า ‘โอ้ เขาไม่ได้ตั้งใจจะหาเงินอย่างจริงจังจากสิ่งนี้ เขาแค่รักและอยากทำมัน’ ”

และนี่คือความเด็ดเดี่ยวที่ยืดอายุธุรกิจหลักร้อยปีในไต้หวันให้เดินหน้าต่อไปในแบบของทายาทรุ่นสี่แห่งกิมกวนเฮง 

Writer

Craft Curator & Columnist, Chief Storyteller & Dream Weaver, Editor-in-Cheese, Design Researcher 'Instagram : @rata.montre'

You Might Also Like