นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

The 99-to-1 Rule

การปั้นเพจให้ทะยานแบบ ‘ทอย DataRockie’ ที่ยึดหลักสอนฟรี 99% ขาย 1% เพื่อขับเคลื่อนการศึกษา

จะมีสักกี่คนที่บอกว่าการ ‘แจกของฟรี 99% + ขาย 1%’ คือหลักการทำธุรกิจที่เมคเซนส์ที่สุด ทอย–กษิดิศ สตางค์มงคล หรือที่หลายคนรู้จักกันในนาม ‘แอดทอย’ คือเจ้าของเพจ DataRockie ที่ทำคอนเทนต์สอนด้านสถิติ, data science, การเขียนโปรแกรมเบื้องต้น ฯลฯ ไปจนถึงแชร์เคล็ดลับการเป็นสุดยอด ‘มนุษย์เป็ดโปร’ (generalist), ปรัชญาการสร้างธุรกิจด้วยตัวคนเดียว (one- person business) และความชื่นชอบส่วนตัวด้านปรัชญาสโตอิก (stoic)

เบื้องหลังจักรวาลความสนใจอันมากมายและลงลึกของแอดทอยคือความคิดลึกซึ้งที่หมั่นแจกคอนเทนต์และคอร์สฟรีจนนักเรียนเขิน ขายคอร์สคุณภาพด้วยราคาถูกมากจนเกินคำว่าคุ้ม ไปจนถึงแจกทุนฟรีไม่อั้นให้คนที่อยากเรียนแต่ไม่มีเงินทุน ด้วยความเชื่อที่ว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่ควรทำให้เข้าถึงทุกคนให้ได้มากที่สุด และอยากให้ใครก็ตามที่รักเรียนได้มีโอกาสเรียนตามสโลแกนของเพจคือ ‘เรียนจนต้องร้องขอชีวิต’ 

หลังจากก้าวเข้าสู่วงการคอนเทนต์ครีเอเตอร์ด้วยการเปิดเพจ DataRockie ตั้งแต่ 9-10 ปีที่แล้ว ทุกวันนี้มักเห็นโพสต์ของ ‘แอดทอย’ เป็นไวรัลและมีคนแชร์ล้นหลามผ่านตาอยู่บ่อยครั้ง จนเจ้าตัวบอกว่า สิ่งที่ชอบที่สุดในการทำเพจ DataRockie คือการโตแบบออร์แกนิก โดยตั้งแต่เริ่มทำโมเดลธุรกิจการศึกษาเป็นต้นมา ก็ไม่เคยยิงโฆษณาอีกเลย และยังได้รับโอกาสใหม่ให้ไปสอนในหลายบริษัทจากการมีคอมมิวนิตี้ผ่านแฟนเพจและมีนักเรียนที่ช่วยกันบอกต่อเพราะประทับใจในเนื้อหาคุณภาพ  

“DataRockie ในตอนนี้ stand for ใครก็ตามที่อยากจะเก่งขึ้นทุกวัน เราไม่ได้มองว่าเป็นเพจแล้ว แต่เป็นคอมมิวนิตี้” แอดทอยบอกว่าการทำเพจมาใกล้ครบ 10 ปีแล้วทำให้ต้องพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นทุกวัน เพราะไม่สามารถเล่าเรื่องเดิมซ้ำได้ตลอด และแม้จะเป็นคนมีวินัยและรักการพัฒนาตัวเองมาก แต่ทุกวันนี้กลับไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าอยากให้เพจเติบโตแค่ไหน และยังเป็นคนที่ชอบ play safe ที่สุด

นับเป็นครั้งแรกของคอลัมน์ ‘Play Risk’ ที่เจอผู้ประกอบการผู้สามารถสร้างธุรกิจให้เติบโตและบอกว่าไม่ชอบความเสี่ยงใดๆ เลย ซึ่งเป็นเหตุผลที่เราอยากชวนแอดทอยมาพูดคุยกันในวันนี้  

ย้อนกลับไป Day 1 คุณเริ่มต้นเส้นทางทำธุรกิจด้วยตัวคนเดียวได้ยังไง

หลังเรียนจบปริญญาโท เรามีทักษะหนึ่งที่คนไทยหลายคนยังทำไม่เป็นคือการใช้ SPSS (Statistical Package for the Social Science) ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ สมัยก่อนเด็กปริญญาตรี ปริญญาโทที่เรียนจบสายสังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ มาร์เก็ตติ้งจะต้องทำงานวิจัยเป็นเล่มจบ แล้วมันก็มี pain point ว่าคนเรียนวิชานี้มาน้อยมาก ในมหาวิทยาลัยไม่ได้สอนเท่าไหร่ คนส่วนใหญ่ต้องไปจ้างคนทำให้ ก็เลยมีดีมานด์ค่อนข้างเยอะแต่ซัพพลายมีน้อย 

เราก็เลยเปิดเว็บไซต์ง่ายๆ ขึ้นมาเป็นหน้า landing page หน้าหนึ่ง ใช้ google site ทำ สมัยนั้นทำเว็บไซต์ไม่เป็นเลย ก็เดินไปร้านหนังสือ อ่านวิธีการเองเแล้วกลับมาทำที่ห้อง ลูกค้าเราก็จะมาจากกูเกิลเลยเพราะเราซื้อโฆษณากูเกิล ตอนนั้นมีความเชื่อแบบเด็กๆ ว่าถ้าใช้โปรดักต์ของกูเกิล กูเกิลน่าจะชอบเว็บไซต์นี้แล้วก็จะช่วยดันคอนเทนต์เราขึ้นมาโดยที่ตอนนั้นยังไม่รู้จัก SEO เท่าไหร่เลย

ก็เลยเริ่มรับงานฟรีแลนซ์ทางออนไลน์ตั้งแต่ช่วง 2013-2015 สมัยนั้นเอาจริงๆ ไม่รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ แต่เราแค่รู้สึกว่าอยากลองหารายได้เสริมดู แล้วพอมองย้อนกลับไปก็พบว่าตัดสินใจถูกที่เริ่มทำอะไรของตัวเอง จำได้ว่าตอนนั้นรายได้จากฟรีแลนซ์เริ่มมากกว่างานประจำและมีบางเดือนได้เงินเป็นแสน นั่นเป็นจุดเริ่มต้นเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว

อะไรคือปัจจัยแห่งความสำเร็จในการเริ่มรับงานฟรีแลนซ์ในวันนั้น

เราเสิร์ชกูเกิลดูว่าคนอื่นรับทำงานนี้ในราคากี่บาท ก็เห็นว่าคิดราคาแพง รับวิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมหนึ่งครั้งคิดราคา 1,000 บาท ถ้าต้องรันข้อมูล 8 ครั้งในการทำรายงานวิจัยทั้งเล่มทั้งหมด ก็ต้องจ่าย 8,000-9,000 บาท ซึ่งความจริงแต่ละครั้งมันรันโปรแกรมง่ายมากถ้ารู้ว่าต้องทำยังไง เราเลยปฏิวัติวงการด้วยการรับทำที่ราคาเหมารับจบ 1,500-3,000 บาท ก็เลยมีลูกค้าเข้ามาเยอะมาก เป็นคนไม่ชอบคิดราคาแพงและก็อยากช่วยคนด้วย ซึ่งตอนนั้นก็ชวนเพื่อนมหาวิทยาลัยมาช่วยทำด้วย เพราะคอนเซปต์ของ one-person business ไม่ได้แปลว่าเราต้องทำคนเดียวเท่านั้น

ปรัชญาการทำ one-person business ที่คุณเชื่อเป็นยังไง

เราชอบใช้คำว่า one-person business มากกว่า Company of One ปรัชญาในการทำธุรกิจของมันคือการตั้งคำถามว่าเราจำเป็นต้องโตไปตลอดหรือเปล่า เพราะถ้าธุรกิจเราสเกลใหญ่ขึ้น มันก็จะมีปัญหาใหม่ๆ ตามเข้ามาเยอะเหมือนกัน คือเราไม่จำเป็นต้องหาเงินให้เยอะขึ้นเรื่อยๆ ก็ได้ แค่ต้องรู้ว่ารายได้ที่เราต้องการของแต่ละเดือนอยู่ที่เท่าไหร่ ทำงานให้ครอบคลุมรายจ่ายและเงินออม แล้วออกไปใช้ชีวิต ซึ่งเราเชื่อแบบนี้มากกว่า ไม่จำเป็นต้องตั้งเป้าเหมือนที่บริษัทชอบตั้งกันว่า ปีหน้าต้องหาเงินได้เพิ่มอีก 20%

มันก็เลยเป็นเหมือนแก่นในการทำงานของเรา แล้วก็เชื่อว่ายิ่งช่วยคนเยอะเท่าไหร่ยิ่งดี เมทริกซ์ในการวัดผลของเราอยู่ที่จำนวนคนที่ได้ช่วยมากกว่าจำนวนเงินที่หาได้ เราเชื่อเรื่อง ‘give to grow’ มาก คือให้ก่อนแล้วมันจะเริ่มมีอะไรบางอย่างกลับมาหาเรา อาจจะไม่ใช่วันนี้ ไม่ใช่พรุ่งนี้ อาจจะปีหน้าหรือ 2 ปีหน้า ไม่มีใครรู้หรอก แต่ยิ่งให้เยอะก็ยิ่งมีบางอย่างกลับมาหาเรา 

จุดเปลี่ยนที่เริ่มหันมาหารายได้ในนาม DataRockie คืออะไร 

ปี 2015 เราเริ่มเปิดเพจ DataRockie เวอร์ชั่นแรกขึ้นมาเพื่อรับงานทำ SPSS ซึ่งไม่ใช่เวอร์ชั่นที่เป็นเหมือนทุกวันนี้ ช่วงแรกที่เปิดเพจขึ้นมา เรายิงโฆษณายับเลยในเฟซบุ๊ก สมัยก่อนมันทำง่ายมากเพราะยิงโฆษณายังใช้เงินไม่เยอะ ช่วงแรกมีคนติดตาม 1,000-2,000 คน ตอนนั้นมีลูกค้าเข้ามาตลอด ได้งานและเงินเข้ามาเรื่อยๆ

แต่จุดเปลี่ยนคือปี 2016 ตอนนั้นไปเรียนแลกเปลี่ยนที่เยอรมัน วันนั้นไม่มีอะไรทำเลยโพสต์คอนเทนต์เล่นๆ สอนคนวิเคราะห์สถิติง่ายๆ ในโปรแกรม Excel ด้วยปลั๊กอินชื่อว่า Analysis ToolPak ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สามารถทำสถิติโดยไม่ต้องเขียนโค้ดและรันดาต้าให้เสร็จเลย ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังใช้กันอยู่เลย อยู่ดีๆ โพสต์นั้นมีคนแชร์เยอะมากถึง 6,000-7,000 แชร์ ซึ่งเราไม่เคยทำคอนเทนต์แบบออร์แกนิกได้มาก่อนเลย ปกติเสียเงินซื้อโฆษณาอย่างเดียว 

วันนั้นก็เป็นจุดเปลี่ยนว่าไม่รับงาน SPSS แล้วดีกว่า ทำมา 3 ปีแล้วเบื่อมาก งั้นมาสอนหนังสือดีไหม เราไม่ทำให้เขาแล้วแต่เปลี่ยนมาสอนให้คนที่จ้างเราทำเป็นด้วยตัวเองดีกว่า ตอนนั้นก็ยังไม่รู้ว่าโมเดลธุรกิจจะเป็นยังไงนะ ช่วงเด็กๆ เราก็แค่โพสต์คอนเทนต์แล้วก็หมือนเสพติดยอดไลก์ยอดแชร์นิดหนึ่ง ในฐานะครีเอเตอร์ พอมีคนสนใจคอนเทนต์เราเยอะๆ ก็รู้สึกว่ามันมีประโยชน์บางอย่าง ทำให้อยากตื่นเช้ามาทำโพสต์ทุกวันเลย จนมีคนแชร์คอนเทนต์ไปเรื่อยๆ แล้วเพจก็โตขึ้นเรื่อยๆ จากผู้ติดตามหลักพันเป็นหลักหมื่นคนจากการที่เราเริ่มทำคอนเทนต์ที่มีประโยชน์ ตั้งแต่วันนั้นก็ไม่ได้รับงานทำให้คนอื่นแล้ว แต่เน้นสอนคนอื่นทำมากกว่า 

ประสบการณ์ช่วงแรกที่เพิ่งเริ่มเปิดคอร์สสอนเป็นยังไงบ้าง  

พอกลับมาไทย ปลายปี 2016 ได้งานประจำที่ DTAC แล้วมีเวลาช่วงเสาร์-อาทิตย์ก็เลยไปเช่า co-working space เปิดคอร์สอนเรื่องดาต้า จำได้เลยว่าวันที่เปิดสอนวันแรกมีเพื่อนมาเรียน 10-15 คน คิดราคาแค่ 300-400 บาท คิดราคาถูกมากเพราะลองสอนด้วยและไม่ได้ตั้งใจจะคิดเงินเยอะ แต่ปีถัดไปก็ขึ้นราคาเป็น 900 บาทให้ดูเหมาะสม เรียนทั้งวัน มีข้าวกินกลางวันด้วย 

สำหรับเราถ้ามีคนมาเรียน 10 คน จ่ายค่าเรียนราวคนละ 900 บาท รวม 10 คนก็ได้เงินประมาณ 9,000 บาท คิดยังไงก็เยอะกว่ารายได้ต่อวันของเงินเดือนประจำตอนนั้นอยู่ดี ในใจก็เลยรู้สึกว่ามันก็วิน-วินนะ แค่ 10 คนเราก็สอนแล้ว ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังเป็นแบบนั้นนะ ความรู้สึกยังเหมือนเดิม แค่มี 10 คนที่อยากมาฟังก็แฮปปี้แล้ว แต่เดี๋ยวนี้ห้องไม่พอแล้ว ปลายปีที่แล้วจัดอีเวนต์ฟรีชื่อ what the duck (ทอล์ค How to survive the future แบบฉบับมนุษย์เป็ด) คนก็มาเต็มห้อง 350 คน

แล้วอะไรที่ทำให้คุณอยากลาออกจากงานประจำมาทำเพจเต็มตัวมากขึ้นในวันนั้น 

ตอนนั้นเหตุผลที่ตัดสินใจลาออกเพราะเวลาสอนวันเสาร์-อาทิตย์ก็มีคนมาเรียนกับเรานะ ถึงแม้จะไม่ได้เยอะมาก คลาสหนึ่งมีคนเรียน 30-40 คนก็โอเคแล้ว เราเรียกโมเดลของธุรกิจการศึกษาว่าเป็น skill-based คือเราเรียนทักษะและขายทักษะ คนทั่วไปขายทักษะให้กับบริษัท แต่เราขายทักษะให้คนอื่นสามารถนำไปต่อยอดได้อีกทีหนึ่ง มันเหมือนกันเลยแต่แค่เปลี่ยนมุมมองว่า ทักษะของเราจะเวิร์กกับบริษัทหรือจะเวิร์กกับคนส่วนใหญ่

ซึ่งถ้าเราออกมาทำเองเป็นธุรกิจส่วนตัว เราจะขายทักษะที่มีให้กับใครก็ได้ที่อยากจะได้ทักษะของเรา มันต่างกันตรงที่รายได้ทุกเดือนจากบริษัทจะคงที่และคาดการณ์ได้ แต่พอทำของตัวเอง ยิ่งเราทำเยอะเราก็ได้เยอะ ยิ่งใส่เวลาเข้าไปเยอะหรือช่วยลูกค้าได้เยอะขึ้นก็ยิ่งได้เงินกลับมาเยอะ รู้สึกว่าการออกมาทำด้วยตัวเองทำให้รายได้มีไม่จำกัดตามเวลาที่สามารถทำงานได้มากขึ้น

แปลว่าคุณให้ความสำคัญกับไลฟ์สไตล์การทำงานอิสระด้วยใช่ไหม 

Work Less, Earn more, Enjoy Life (ทำงานน้อยลง หาเงินได้มากขึ้น มีความสุขกับชีวิตมากขึ้น) เป็นคำพูดที่ได้ยินมาจาก Dan Koe เมื่อ 2-3 ปีที่แล้วชอบมากเลยและคิดว่าเป็นไปได้ วันที่ตัดสินใจลาออกจากงานประจำเมื่อปี 2020 ก็ตั้งคำถามนี้กับตัวเองว่า เป็นไปได้ไหมที่มนุษย์คนหนึ่งจะทำงานน้อยลงครึ่งหนึ่งแต่หาเงินได้เท่าเดิม แล้วมีความสุขกับชีวิตมากขึ้น

ในหัวคิดตั้งแต่เด็กๆ ว่าถ้าเราสามารถลดเวลาทำงานจาก 12 เดือนเหลือ 6 เดือน ได้เงินเดือนเท่าเดิม แล้วใช้เวลา 6 เดือนที่ว่างไปพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น กลับมาปีถัดไปเราอาจจะได้ทำงานน้อยลงอีกจาก 6 เดือนเหลือ 5 เดือนแล้วยังได้เงินเท่าเดิม และเอาเวลาที่ได้มาเพิ่มไปใช้ชีวิต ไปทำตัวเองให้เก่งขึ้น คิดและใช้ชีวิตแบบนี้มาตั้งแต่เด็กๆ เลย แล้วก็ทำได้จริงๆ นะ 

จากวันนั้น ผ่านมา 5 ปี เราอยู่ในจุดที่ทำได้อย่างที่เราตั้งใจไว้ ทำงานลดลงครึ่งหนึ่งแล้วก็ได้รายได้เท่าเดิมเหมือนสมัยทำงานบริษัทสมัยก่อน ซึ่งโคตรแฮปปี้เลย แล้วมีคนทำแบบนี้ได้เยอะมากเลยที่เมืองนอก

เคยตั้งเป้าหมายความสำเร็จของ DataRockie ไหมว่าอยากได้แฟนเพจเยอะแค่ไหน 

เคย ยุคแรกๆ เลยเคยคิด สมัยเด็กๆ เราเคยมีเป้าหมายว่าอยากให้เพจโตไปถึงแสนถึงล้านคน แต่เพิ่งเข้าใจเมื่อไม่นานมานี้ประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมาว่า แล้วเราจะมีแฟนเพจเยอะๆ ไปเพื่ออะไร เราเห็นแพตเทิร์นของครีเอเตอร์ที่เริ่มพูดถึงกันเยอะมากในต่างประเทศว่า ความจริงแล้วโมเดลธุรกิจที่ครีเอเตอร์ส่วนใหญ่สอนกันว่าคุณต้องมีผู้ติดตามเยอะ ถึงจะหาเงินได้เยอะ มันผิดหมดเลย มีเคสที่ครีเอเตอร์มีคนติดตามอยู่ 6 แสนคนแล้วสามารถหาเงินได้พันล้านบาทหรือ 30 กว่าล้านดอลลาร์จากช่องของเขา ซึ่งหลายคนที่มีผู้ติดตามมากกว่านี้หลายเท่ายังหาเงินได้ไม่เยอะเท่าเขาเลย เราจึงไม่ได้สนใจจำนวนคนดู แต่สนใจว่าคนที่มาดูคอนเทนต์เราเป็นคนที่ซัพพอร์ตเราจริงหรือเปล่า 

สิ่งที่ครีเอเตอร์ส่วนใหญ่ทำคือโพสต์คอนเทนต์วันละเยอะๆ เพื่อให้มีผู้ติดตามเยอะ แล้วหวังว่าจะมีบางคอนเทนต์ที่ฟลุกแล้วปังขึ้นมา แต่เรามองตรงกันข้ามเลย คอนเทนต์ไม่ต้องโพสต์เยอะ แต่ควรเป็นคอนเทนต์ที่มีคุณค่า (value content) ต่อกลุ่มคนที่เราอยากช่วยเขาจริงๆ แล้วโพสต์ครั้งเดียวต่อวันหรือสัปดาห์ละครั้งยังได้เลย โดยที่ผู้ติดตามไม่ต้องเยอะเลย เราเชื่อคอนเซปต์เรื่อง true fan มากๆ ถ้ามีแฟนคลับที่ชอบเราจริง 1,000 คน เราอยู่รอดได้แล้วในฐานะครีเอเตอร์ สมมติมี subscriber 1,000 คน แล้วเขาจ่ายให้เราเดือนละ 100 บาท เท่ากับว่าเราได้เดือนละ 1 แสนบาท อยู่ในประเทศไทยได้สบายๆ 

พอเข้าใจแบบนี้ปุ๊บ DataRockie เลยหยุดวิ่งตามหาจำนวนผู้ติดตามแล้ว ถ้าวันนี้ใครอยากเก่งขึ้น เพจเราอยู่ตรงนี้ให้คุณมาตามแล้วเอาทักษะจากเราไปสร้างรายได้อื่นได้ เป็นคอมมิวนิตี้ของคนที่เป็น ‘เป็ดโปร’ (มนุษย์เป็ดแบบโปรเฟสชันนอล) ที่อยากเก่งขึ้นทุกวันแต่ไม่ต้องเก่งที่สุดก็ได้ แต่ถ้าวันนี้ใครยังไม่ได้อยากเก่งขึ้นเพจเราก็ไม่รู้จะไปช่วยอะไรเขาได้อยู่ดี รู้สึกว่าไม่ใช่ทุกคนที่ตื่นขึ้นมาตอนเช้าแล้วอยากเปลี่ยนชีวิตตัวเอง อาจจะเป็นความจริงที่ฟังดูขัดหูและเจ็บปวดนิดหนึ่งนะ แต่เป็นอย่างนั้นเลย

แล้วทุกวันนี้คุณตั้งเป้าหมายยังไงบ้าง  

ช่วงนี้ไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะต้องสร้างคอมมิวนิตี้ใหญ่เท่าไหร่ หรือต้องไปถึง 1 ล้านซับฯ ไหม ครีเอเตอร์ทุกคนก็คงอยากจะมีล้านซับฯ ใช่ไหม แต่คำถามคือจะมีล้านซับฯ ไปเพื่ออะไรถ้าอยากมีผู้ติดตามล้านคนในประเทศไทย เราก็อยากจะทำไปเพื่อช่วยเหลือให้เขาเก่งขึ้น มันไม่ควรจะทำทุกอย่างเพราะเรื่องเงินไปหมด ซึ่งขัดกับที่หลายคนเชื่อนะ รู้สึกว่าตอนนี้แค่ได้ตื่นมาแล้วได้ทำในสิ่งที่อยากจะทำก็แฮปปี้แล้ว จำนวนตัวเลขไม่ได้มีความหมายกับเราแล้ว

อย่างคอมมิวนิตี้ตอนนี้มีผู้ติดตามในเฟซบุ๊กเพจที่ 1.5 แสนคน และมีเฟซบุ๊กกรุ๊ปคอมมิวนิตี้อีก 4 หมื่นคน ถ้ามันเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ อีก 10 ปีต่อจากนี้ก็แฮปปี้แล้ว ขอให้คนที่เขายังอยู่กับเราเอ็นจอยที่ได้อยู่ในกลุ่มนี้แล้วแฮปปี้ ได้เติบโต แข็งแกร่งไปด้วยกันก็แฮปปี้ละ ไม่อยากจะโตไปกว่านี้แล้ว อยากอยู่กับเพื่อนๆ ที่เขาเชื่อในตัวเรา แล้วเราก็เชื่อในตัวพวกเขาเหมือนกันว่าเขาจะสามารถเป็นคนที่เก่งกว่านี้ได้ แล้วเรามาอยู่ด้วยกัน ทุกอย่างมันจบแล้วสำหรับเรา แค่ทำคอมมิวนิตี้ ณ วันนี้ให้ดี

คอนเทนต์สำคัญกับการทำ one-person business ยังไงบ้าง  

คิดว่า one-person business มันเกิดขึ้นมา ‘around content’ เลย คือใช้คอนเทนต์เป็นเครื่องมือหลักในการสร้างธุรกิจ อย่างเวลาลูกค้าจะมาซื้อของเราครั้งแรกก็ต้องรู้จักที่นี่ก่อน ต้องเข้าใจว่าเราคือใคร ขายอะไร โปรดักต์เราจะช่วยเขาได้ยังไงบ้างถึงจะมีคนมาซื้อถูกไหม ซึ่งจังหวะที่เราจะให้ความรู้กับคนที่จะมาซื้อของ เราก็ต้องทำคอนเทนต์เป็นแก่นหลัก 

ปัญหาคือสิ่งที่คนส่วนใหญ่ที่เพิ่งเริ่มทำเจอเหมือนกันหมดเป็นเรื่อง awareness คือจะทำยังไงให้คนเสิร์ชเจอเรา ซึ่งก็ต้องเริ่มจากการทำคอนเทนต์ จุดเด่นจุดหนึ่งที่เจอในชีวิตก็คือการมีเว็บไซต์เป็นของตัวเองช่วยให้ชีวิตเราดีขึ้นเยอะมากเลย  ปี 2017 พอเริ่มเปิดเว็บไซต์ datarockie.com ก็ทำให้คนรู้จักเรามากขึ้น ซึ่งเป้าหมายของ datarockie.com คือเปิดเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อแจกคอนเทนต์ดีๆ ที่ได้เปลี่ยนชีวิตเขา โดยหวังว่าในอนาคตถ้าเกิดวันหนึ่งเราขายโปรดักต์ของตัวเองสักอย่างหนึ่งขึ้นมา คนในคอมมิวนิตี้ที่แฮปปี้กับคอนเทนต์เราก็จะกลับมาช่วยซื้อของเราในอนาคต

เคล็ดลับการทำการตลาดให้โตแบบออร์แกนิกของคุณคืออะไร   

หลักการตลาดของเราคือ Education 99% Sale 1% ไม่อยากเจอหน้ากันครั้งแรกแล้วขายตั้งแต่วันแรกทั้งที่ยังไม่ได้รู้จักมักจี่กันเลย รู้สึกว่าการตลาดคือการสร้างความสัมพันธ์ ทำให้เขารู้สึกว่าเรารู้จักเขามากขึ้น แล้วเราก็สามารถที่จะขายได้มากขึ้นในวันข้างหน้า อย่างที่ Peter Drucker บอกไว้ว่า ‘marketing makes sales unnecessary’ ซึ่งเราว่าโคตรเมคเซนส์เลย

ส่วนใหญ่เราทำคอร์สฟรีเยอะนะ เพราะคิดว่าธุรกิจคือการสร้างความสัมพันธ์ เรามองภาพว่าถ้าเกิดคนนี้เรียนฟรีมาแล้ว 3 ปี แล้ววันหนึ่งข้างหน้าเปิดคลาสราคาหลักพันขึ้นมา มันจะไม่ได้แพงเลย เขาก็อยากจะมาช่วยซัพพอร์ตเรากลับ จนคนมาคอมเมนต์เต็มเลยว่าพี่ทอยคิดเงินบ้างก็ดีนะ เรียนฟรีจนเขินแล้ว แต่เราก็จะเล่นมุกว่า ‘สอนฟรีจนแม่ว่า’ ซึ่งแม่ก็ว่าจริงๆ ว่าทำไมสอนฟรีเยอะจัง ตอนเริ่มขายของแรกๆ ก็ไม่ได้ขายแแพงมาก ปี 2020 ที่เขียนหนังสือ e-Book เล่มแรก เราคิดราคาเล่มละ 300 บาท ก็มีคนมาซื้อกัน แต่หลังจากขายไปได้แค่ 2 อาทิตย์ก็เลิกแล้ว ตอนนี้เน้นแจกฟรี 

ทำไมคุณถึงคิดว่าการแจกของฟรี 99% และขายของแค่ 1% ถึงเมคเซนส์ ทั้งที่คุณสามารถเพิ่มสัดส่วนรายได้มากกว่านี้ได้  

ความตั้งใจของ DataRockie คือไม่อยากให้คนไทยต้องจ่ายแพงเรื่องการศึกษา คือพอทำเรื่องการศึกษาเราจะรู้เลยว่า คนไทยส่วนใหญ่รายได้ไม่พอ ขนาดหนังสือ 300 บาทยังมีคนที่ยังไม่พร้อมจ่ายกันเลย แล้วก็รู้สึกว่าหนังสือมันดีและมีคุณค่าสำหรับแจก บางครั้งคลาสเสียเงินเราก็เปิดสอนให้ฟรี บางคนทักมาบอกว่าไม่มีตังค์ ขอผ่อนได้ไหม เราก็บอกว่าเรียนฟรีได้เลยครับ 

แล้วพบอุปสรรคอะไรไหมจากกลยุทธ์การแจกฟรีเยอะกว่าคิดตังค์

pain point ที่เจอคือหลายครั้งเวลาเราให้ของฟรีไป คนจะไม่ค่อยเห็นค่าเท่าไหร่และไม่ได้ตั้งใจเรียนขนาดนั้น ซึ่งนี่ก็เป็นจุดที่อยากจะแก้ แต่ยังหาทางแก้ไม่ได้ ทางเศรษฐศาสตร์เรียกปัญหาพวกนี้ว่า asymmetric information คือเราอยากจะแจกทุน แต่เราไม่รู้ว่าคนนี้รับไปแล้วจะตั้งใจจริงหรือเปล่า แต่ถ้าเราตั้งกฎให้สูงขึ้นในการแจกทุน คนที่เขาอยากจะเรียนจริงๆ เขาอาจจะไม่ได้ทุนนั้นก็ได้ รู้สึกดาวน์ทุกครั้งเลยเวลาเจอแบบนี้ แต่ช่วงหลังเริ่มดีขึ้นแล้ว พยายามมองว่าทุกอย่างที่เราให้ไปแล้ว คนอื่นจะทำอะไรกับทุนนั้นเลยก็ได้ ซึ่งเราน่าจะเป็นหนึ่งในคนที่แจกทุนเยอะที่สุดในประเทศไทย

การที่คุณทำคอนเทนต์เยอะมาก แถมยังฟรีเป็นส่วนใหญ่อีก ทำยังไงให้รายได้เติบโตอย่างยั่งยืน

ค้นพบว่าจริงๆ แล้วเราต้องรู้ว่า growth ของเราอยู่ที่จุดไหน เราไม่จำเป็นต้องโตไปมากกว่านี้แล้ว
ไม่จำเป็นต้องหาลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี แต่ทำให้ลูกค้าที่มีอยู่ตอนนี้แฮปปี้ที่สุด จนเขาอยากจะกลับมาซื้อซ้ำกับเราเรื่อยๆ เรียกว่า return business ที่สร้างธุรกิจที่ยั่งยืนไปได้เรื่อยๆ

เวลานักเรียนหลายคนเรียนจบ เราจะถามฟีดแบ็กว่าเป็นยังไงบ้าง ประมาณ 80% เลยเรียนจบแล้วอยากจะกลับมาเรียนกับพี่ทอยอีก และ 90% ขึ้นไปของนักเรียนเราจะแนะนำให้เพื่อนมาเรียนต่อแบบแฮปปี้มาก ตรงนี้คือคีย์สำคัญที่คนที่ชอบเราจะกลับมาซื้อกับเราเรื่อยๆ 

ทำยังไงให้นักเรียนส่วนใหญ่แทบทั้งหมดชื่นชอบคอร์สของคุณ

เราให้นักเรียนเยอะมาก อยากส่งมอบคุณค่าบางอย่างที่เยอะกว่าสิ่งที่นักเรียนคาดหวัง รุ่นหนึ่งเราเรียนกัน 4-5 เดือน หรืออย่างรุ่น 10 ที่เพิ่งจบไปก็อยู่กันมา 8 เดือน เราใช้เงินตัวเองเกือบล้านบาทเพื่อซื้อหลักสูตร Coding ของนอร์เวย์ชื่อว่า W3Schools ให้นักเรียนได้เรียน โดยยังคิดราคาคอร์ส bootcamp ของเราเท่าเดิมประมาณ 3,000-4,000 บาท และนักเรียนยังได้เรียนหลักสูตรนี้จากต่างประเทศที่ได้ใบ certificate เพิ่มไปด้วย ในขณะที่สถาบันการศึกษาอื่นๆ ในไทยจะคิดราคาคอร์ส bootcamp ที่ราคา 3 – 4 หมื่นบาท เราขายถูกกว่าเขาเกือบ 90% แต่เนื้อหาเราคือระดับเวิลด์คลาสเลย

ทุกวันนี้คุณมีทั้งแฟนเพจและคนที่ชื่นชอบแล้ว มองว่าจะทำยังไงให้ DataRockie เติบโตแบบยั่งยืนยิ่งขึ้นไปอีก

ตอนนี้ปัญหาที่เจอคือเราหยุดทำไม่ได้เลย มันยังไม่เป็นระบบที่เป็น Passive Income ขนาดนั้น มันใช้เวลาเราเยอะ ไม่มีใครทำโมเดลธุรกิจเหมือนเราเลย คือสอนแล้วอยู่กับนักเรียนเกือบปี และต้องหาทำคอนเทนต์ใหม่ๆ ตลอด ความถี่เท่าไหร่เดี๋ยวว่ากัน แต่ว่าหยุดทำไม่ได้นอกจากจะสร้างระบบที่ทำให้สามารถมี Passive Income เข้ามาได้มากขึ้น ด้วยการสร้างดิจิทัลโปรดักต์ มีของขายของตัวเอง นั่นคือโมเดลที่เราต้องมี เลยพยายามหาหนทางที่เราจะทำงานให้น้อยลง ไม่ใช่ว่าปีหน้าจะทำเยอะขึ้น 

เห็นช่วงหลังคุณปรับจากสอนดาต้าอย่างเดียวมาเป็นสอนทักษะของ ‘มนุษย์เป็ด’ (School of Generalist) คุณมองทิศทางคอนเทนต์ของคุณเป็นยังไงต่อไปในอนาคต   

เพิ่งตกผลึกเลยว่าวิธีการนี้ไม่เวิร์ก ตัวเราเป็น generalist (มนุษย์เป็ด) ได้ก็จริง แต่พอมาเป็นธุรกิจ เราเป็นทุกอย่างให้กับทุกคนเป็นไม่ได้ เพราะเวลาเราเปิดโรงเรียนขึ้นมา ถ้ามีโฟกัสในเชิงการตลาดมันน่าจะเวิร์กกว่าสอนกว้างๆ  ตอนนี้ทิศทางของ DataRockie ก็เลยจะย้อนกลับไปเป็น Data Science School เหมือนเดิม โดยที่ส่วนตัวเรายังคงเป็นคนแบบ generalist แต่ถ้าเราบอกว่าโรงเรียนเราเป็น School of Generalist คนก็จะไม่เข้าใจ มันต้องใช้เวลาในการสอนตลาดนานที่จะทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าคำว่า ‘เป็ดโปร’ แปลว่าอะไร

ทุกวันนี้คุณคิดว่าคนเข้าใจคำว่า ‘มนุษย์เป็ด’ หรือยัง 

ไม่เข้าใจ คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าเก่งแบบเป็ดมันดียังไง ‘มนุษย์เป็ด’ ที่คนไทยเข้าใจกับที่เราเข้าใจมันคนละความหมายกัน คำถามคือเป็นเป็ดแล้วแฮปปี้กับชีวิตตอนนี้หรือเปล่า เราว่ามนุษย์เป็ดส่วนใหญ่ทำได้หลายอย่าง แต่อาจไม่ได้แฮปปี้กับชีวิตตอนนี้เลย คำถามคือเพราะอะไร เพราะว่ายังไม่ได้เป็น ‘เป็ดโปร’ หรือยัง
เป็นเป็ดที่เก่งไม่พอ 

ปรัชญาสโตอิกบอกว่า ยิ่งเราเก่งขึ้นทุกวันเราก็จะทำได้มากขึ้น ช่วยคนได้มากขึ้น แล้วชีวิตก็จะมีความสุขมากขึ้น แปลว่าหนทางแห่งความสุขคือเราต้องเก่งขึ้นก่อน มีคำศัพท์ภาษากรีกว่า Eudaimonia คือเป้าหมายสูงสุดในชีวิตที่เกิดมาคือเป็นตัวเองเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดที่เราสามารถเป็นได้ ทุกวันเราจึงควรจะพยายามเป็นคนๆ นั้นให้ได้ จากที่ตอนเกิดเราเป็นเหมือนเมล็ดพันธุ์แล้วค่อยๆ เติบโตเป็นต้นไม้ที่แข็งแกร่ง แต่มองว่า ‘เป็ด’ ในมุมมองคนไทยไม่มีสิ่งเหล่านี้อยู่ในนั้น เราไม่ได้พยายามจะเป็นคนที่เก่งขึ้น ดีขึ้น เพื่อจะช่วยคนได้มากขึ้น เพราะแค่เอาตัวเองให้รอดยังไม่รอดเลย 

ทุกวันนี้มนุษย์เป็ดโปรแบบ ‘แอดทอย’ ’อยากเพิ่มทักษะอะไรอีกเพื่อให้ตัวเองเก่งขึ้น  

ตอนนี้โฟกัสที่ Meta Skill อย่างเดียวเลยซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานคือการอ่านกับเขียน เพราะถ้าเราอ่านกับเขียนเก่ง เราก็จะเรียนรู้เรื่องอื่นได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ใจเราอยากจะกลับไปเรียนคณิตศาสตร์และพวก Logic ในการคิดให้เยอะขึ้นเหมือนกัน มีเพื่อนคนหนึ่งทำเพจคณิตศาสตร์สอนมาว่า ‘ถ้าโจทย์ตรงหน้ามันเป็นปัญหาที่ยากมาก คณิตศาสตร์ที่เราใช้แก้โจทย์พวกนั้นก็ต้องยากขึ้นตามไปด้วยเหมือนกัน การเข้าใจคณิตเยอะขึ้นจะทำให้แก้ปัญหาโครงสร้างที่ใหญ่ขึ้นได้ การพัฒนาทักษะอ่าน เขียน วิชาเลขให้เก่งขึ้นจะทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้นหมด แล้วจะไม่มีหนังสือเล่มไหนในโลกนี้ที่จะทำให้เรากลัวได้เลย ถ้าเราเข้าใจ Meta Skill พวกนี้ 

แล้วคุณมีหลักคิดในการบริหารความเสี่ยงอย่างไรในการทำงาน 

มองว่าความเสี่ยงอย่างเดียวคือการที่เราไม่ลงมือทำ ตอนนี้ถ้าเกิดสมมติว่านอนเป็นผักอยู่ที่บ้าน ไม่ทำอะไรเลย ไม่มีทางที่เราจะสำเร็จได้เลย แต่ถ้ายิ่งเราทำเยอะขึ้นก็มีโอกาสที่จะสำเร็จมากขึ้น การบริหารความเสี่ยงของเราก็คือการตัดสินใจ ณ โมเมนต์นั้นว่าทำสิ่งนั้นไปแล้ว ชีวิตเราจะเข้าใกล้เป้าหมายขึ้นไหม หรือว่ามันจะวิ่งออกห่างจากเป้าหมายที่เราวางไว้

ถ้าเราใช้ชีวิตผิด มันจะเสี่ยงมากเลยว่าเราจะไม่ถึงเป้าหมาย แล้วก็ไปทำร้ายพาร์ทอื่นๆ ในชีวิตเราด้วยเหมือนกัน เราว่าเรื่องเวลาสำคัญสุด ถ้าถามเรา เราว่าไม่ควรจะใช้เวลาผิด เช่นสมมติบอกว่าเป้าหมายคืออยากมีธุรกิจเป็นของตัวเองและเกษียนตอนอายุ 40 ปี คำถามคือการหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูซีรีส์ 8 ชั่วโมงมันทำให้เข้าใกล้เป้าหมายมากขึ้นหรือเปล่า 

ทุกวันนี้เห็นคุณทั้งผลิตและเสพคอนเทนต์เยอะมาก คุณบริหารจัดการเวลาในชีวิตยังไง 

เราอินกับเรื่องการใช้เวลามาก เมื่อเช้าออกจากบ้านตี 5.30 น. ใช้เวลาเดินทางราวชั่วโมงเดียวและถึงที่หมายเวลา 6.30 เพราะเราประหยัดเวลาได้ถ้าออกเช้า แต่คนส่วนใหญ่จะตื่น 8 โมงแล้วก็ไปติดอยู่บนถนนอีก 2 ชั่วโมง ถึงออฟฟิศ 10 โมง ซึ่งความจริงเราเซฟเวลา 2 ชั่วโมงนั้นได้ ถ้าเราใช้เวลาให้เหมาะสมและเต็มประสิทธิภาพในสิ่งที่ควรจะต้องทำ นั่นคือก้าวแรกเลยของความแข็งแกร่งที่เราว่าเวิร์กสุดแล้ว 

Time Management เป็นเรื่อง Mind Management คือการบริหารจัดการความคิดว่าเราจะทำอะไร และจะได้อะไรกลับมาภายในชั่วโมงนั้น สมมติเรามีเวลาหนึ่งชั่วโมงในการอ่านหนังสือหนึ่งเล่ม แต่ประโยคในหนังสือเล่มนั้นไม่ได้มีคุณค่าเท่ากันทั้งเล่ม เราจะย่อยข้อมูลยังไงให้ได้เนื้อหาที่ทำให้เข้าใกล้เป้าหมายเราได้ดีที่สุดภายในเวลาหนึ่งชั่วโมง และใช้เวลาให้เกิดประสิทธิภาพที่สุดด้วยการอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง เรามีเวลามากมายก็จริงแต่คำถามคือเราใช้เวลานั้นทำอะไร

หลักคิดทางปรัชญาช่วยคุณบริหารความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในชีวิตการทำงานยังไงบ้าง 

ถ้าตามหลักสโตอิกแบบขั้นสุดก็คือ มันมีอยู่แค่ไม่กี่อย่างในโลกนี้ที่เราสามารถควบคุมได้ ก็คือความคิดและการกระทำของเรา เรื่องอื่นนอกเหนือจากนั้นก็เลยจะไม่ได้มีอิทธิพลกับชีวิตมากนัก อย่างเช่น สภาพเศรษฐกิจ มันจะดีไม่ดีก็อยู่เหนือการควบคุมเราไปเยอะมากเลย สิ่งเดียวที่เราทำได้ก็คือเราจัดการตัวเองให้ดีก็พอ

ถ้าเรามีกรอบในการใช้ชีวิตแล้ว ไม่มีทางที่ชีวิตเราจะแย่ลงกว่านี้ได้เลย ซึ่งสิ่งที่ดีในมุมสโตอิกมี Cardinal Virtues 4 อย่าง คือ Wisdom กิจกรรมที่ทำให้เราเข้าถึงความรู้ทุกอย่างได้ดีขึ้น, Courage กล้าทำในสิ่งที่ดี, Justice ช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ใช่แค่ทำเพื่อตัวเองอย่างเดียว, Moderation หรือ Temperance ใช้ชีวิตแบบรู้จักพอ  

ความเสี่ยงจะเกิดขึ้นถ้าเกิดเราใช้ชีวิตแบบไม่มีกรอบและข้อจำกัดเลย เราจะทำอะไรในโลกนี้ก็ได้ แต่ชีวิตที่ไม่มีกรอบจะเสี่ยงมาก ถ้าเรากินพิซซ่าทุกวันต่อจากนี้ไป 5 ปี ปีที่ 6 เราอาจจะเดินไม่ได้เพราะเราอ้วนเกินไป ถ้าเราไม่ออกกำลังกาย อนาคตเราอาจไม่มีอิสระเลย Wisdom คือการที่เราเข้าใจว่า 10 ปีต่อจากนี้ถ้าเกิดเราทำสิ่งนี้ต่อไปเรื่อยๆ ชีวิตเราจะเป็นยังไงบ้าง

นอกจากนี้จะมีกฎที่เรียกว่า Polarity คือการมีขั้วตรงข้ามเสมอ จะมีคนเก่งกับไม่เก่ง รวยกับจน ฉลาดกับไม่ฉลาดเสมอ โลกไม่สามารถทำให้ทุกคนบนโลกนี้เป็นคนขยันเหมือนกันหมดได้ มันจะยังมีคนขี้เกียจอยู่ดี แต่ในมุมเราคือเราเลือกได้ว่าเราจะเป็นขั้วไหนและจะใช้ชีวิตอยู่ในขั้วไหนมากกว่ากัน ถ้าเลือกขั้วถูก ชีวิตเราก็ไม่มีทางจะแย่ลงกว่านี้ได้เลยในเชิงปรัชญา ซึ่งเราว่าทุกอย่างอยู่ในอำนาจการตัดสินใจของเราอยู่แล้วและจะดีมากถ้ามันมีกรอบในการเลือก 

โดยรวมแล้วคุณมองว่าตัวเองเป็นคนชอบ take risk หรือ play safe 

เรา play safe หมดเลย เป็นคนไม่ชอบความเสี่ยงเท่าไหร่ ไม่ลงทุนในหุ้นไทยเลย มองว่าการทำตัวเองให้เก่งขึ้นทุกวันคือการ play safe ที่สุดแล้วในชีวิต ทุกๆ อย่างในชีวิตเราเกิดจากการที่เรามีทักษะเลย การที่เรามีงานทำก็เพราะว่าเรามีทักษะ ถ้าเกิดวันนี้เราบอกว่าปัญหาคือเราอยากจะมีงานที่ดีขึ้นกว่านี้ มีอยู่ทางเดียวก็คือต้องเก่งขึ้นกว่านี้ ต้องรู้ว่าเป้าหมายของเราคืออะไร แล้วลดความเสี่ยงด้วยการทำสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใกล้เป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น

ถ้าชีวิตที่ดีและเก่งไม่จำเป็นต้องเสี่ยง คุณมองว่าทำไมถึงยังมีคนที่ไม่ประสบความสำเร็จ

ความจริงแล้วคนส่วนใหญ่อาจไม่ได้มีเป้าหมายในชีวิตตัวเองด้วยซ้ำ ถ้าถามว่าอยากมีอะไรในชีวิต หลายคนอาจจะตอบว่าอยากมีบ้าน มีรถ งานที่มั่นคง มีครอบครัว แต่มันใช่ความฝันตัวเองไหมหรือว่าคนอื่นเอาความฝันนั้นมายัดใส่ในหัวเราเข้าไป จริงๆ แล้วชีวิตเราต้องการอะไร สำหรับเรา เราอยากทำให้การศึกษาเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เป็นเป้าหมายใหญ่เลย ซึ่ง DataRockie ก็ไม่รู้จะทำสำเร็จไหมแต่เราจะทำไปเรื่อยๆ 

บทเรียนสำคัญที่คุณได้เรียนรู้หลังจากทำ DataRockie มาเกือบสิบปีคืออะไร 

เยอะมากเลย ข้อแรกเป็นเรื่องทักษะ ถ้าเราเก่งขึ้นปัญหาหลายๆ อย่างในชีวิตเราจะง่ายขึ้นเยอะมาก เราจะแก้ปัญหาได้เยอะขึ้น อนาคตก็อาจจะมีรายได้ทางใหม่เข้ามามากขึ้นเหมือนกัน 

ข้อ 2 คือ ยิ่งให้ยิ่งได้รับกลับมา ยิ่งเรารู้อะไรใหม่ๆ มากขึ้น เราควรจะต้องแชร์ให้แก่คนอื่นด้วย ตอนปี 2016 ที่เราเริ่มทำคอนเทนต์แล้วมีคนกดแชร์ไปเยอะ นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรามีวันนี้เลย ถ้าไม่ทำคอนเทนต์ตอนนั้น วันนั้นเราก็คงไม่ได้เปิดเว็บไซต์ขึ้นมา แล้วก็อาจจะไม่มีวันนี้ก็ได้ 

ข้อ 3 อาจจะเป็นเชิงปฏิบัตินิดนึง คือการมีเว็บไซต์เป็นของตัวเองมันเวิร์ก ใครก็ตามที่ทำธุรกิจหรือเป็นพนักงานบริษัทก็ตาม เว็บไซต์เหมือนเรซูเม่ของเด็กยุคใหม่เลยเพราะจะเปิดโอกาสได้เยอะมาก ซึ่งในการทำเว็บไซต์การเขียนคอนเทนต์กับ SEO ก็ต้องมาด้วยกัน 

ข้อ 4 ในการสร้างคอนเทนต์ เราเชื่อเรื่องการเขียนมากเลย ยิ่งเราเขียนเก่งเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสมากขึ้นเท่านั้น เหตุผลก็เพราะว่าสำหรับเราการเขียนกับการคิด มันคือเรื่องเดียวกันเลย เราจะเขียนได้เก่งเพราะเราคิดออกมาก่อน มันคือการที่สิ่งในหัวเราถูกแปลงออกมาให้อยู่ในกระดาษ ยิ่งเราคิดเก่งขึ้นเราก็จะเขียนได้เก่งขึ้น และพอเราเขียนเก่งขึ้น เราก็จะคิดได้เก่ง

ทั้งหมดนี้มันกลายเป็นลูปที่ไม่มีวันจบเลย พัฒนาทักษะ ให้มากกว่ารับ สร้างเว็บไซต์ ฝึกเขียน และข้อสุดท้าย พอเราทำเพจมาเรื่อยๆ รู้จักสโตอิกมากขึ้น รู้สึกว่าการเป็นคนดีคือที่สุดแล้ว เราสามารถทำธุรกิจที่และมีกำไร เลี้ยงครอบครัว เลี้ยงตัวเองได้โดยไม่จำเป็นต้องเอาเปรียบคนอื่น ตั้งตนอยู่บนความดีงาม ซึ่งดูเป็นคำที่เชยมากเลย 

คุณมองว่าการเป็นคนดีสำคัญต่อการทำธุรกิจยังไง

เคยดูรายการ Shark Tank ชื่อตอน Tree T-PEE ในซีซั่นแรกๆ  ซึ่งเป็นตอนที่ชอบที่สุดเลย คนที่มาออกชื่อ Johnny Georges เขาสร้างตัวพ่นน้ำที่รดน้ำในรัศมีรอบต้นไม้ ซึ่งสามารถลดการใช้น้ำได้ถึง 80-90% ต้นไม้ก็เติบโตได้ดีขึ้น ชุ่มชื้นมากขึ้น กันแมลง กันน้ำค้างด้วย ไม่เคยมีใครคิดเรื่องนี้มาก่อนว่าเวลาพ่นน้ำ น้ำจะพุ่งไปไกลมากทั้งที่ต้นไม้อยู่ใกล้แค่นี้

จอห์นนี pitch ที่ Shark Tank โดยขายสินค้านี้ในราคาอันละ 5 เหรียญ นักลงทุนก็ถามว่าทำไมไม่ขายราคา 12 เหรียญ เขาบอกว่าเพราะคนที่ซื้อเป็นชาวนาทำให้ไม่อยากขายแพง ชาวนาไม่พร้อมจ่าย 10 เหรียญ เราเห็นด้วยกับเขาเลย ตอนดูครั้งแรกเราร้องไห้เลย ชอบคอนเซปต์เรื่องนี้มาก คือการเป็นคนดี

เราเชื่อว่ายิ่งให้ยิ่งได้รับกลับมาแล้วเราไม่ควรเอาเปรียบใครเลยในการทำธุรกิจ มันขัดกับที่หลายคนบอกว่าถ้าเป็นคนดีเกินไป ทำธุรกิจไม่ได้ แต่เราไม่เชื่อเรื่องนี้เลย อย่างที่บอกว่าเชื่อใน ‘Give to Grow’ ยิ่งเราเป็นคนดี ธุรกิจเราจะยิ่งโต ยิ่งให้ยิ่งได้รับกลับมา เราคิดราคาแบบหมาะสม ไม่ควรขายแพง 

ความเชื่อนี้ทำให้ในอนาคต DataRockie ก็อยากจะลดราคาลงเรื่อยๆ เดี๋ยวนี้ค่าเทอมแพงขึ้นเยอะมาก คนไทยจ่ายของแพงกว่าที่ควรจะเป็นโดยเฉพาะเรื่องการศึกษา แต่รายได้บ้านเราไม่ได้สูงขึ้นตามเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น ซึ่งการที่การศึกษาปรับราคาขึ้นตามเงินเฟ้อเป็นเรื่องที่ผิดมาก

เราอยากให้อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับการศึกษามีราคาถูกลงเรื่อยๆ เป้าหมายใหญ่ของ DataRockie คือการทำหลักสูตรมหาวิทยาลัยทางเลือกให้คนไทยได้เรียน ซึ่งเราจะทำไปเรื่อยๆ นะ ไม่รู้จะเสร็จเมื่อไหร่แต่ก็จะไม่หยุด

Writer

Craft Curator, Chief Dream Weaver, Lifestyle Columnist, Editor-in-Cheese, Design Researcher 'Instagram : @rata.montre'

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like