Golden Generation

หยิน-หยางในธุรกิจ 121 ปีของ ‘คั้นกี่น้ำเต้าทอง’ ผู้สืบทอดตำนานน้ำขมที่ลือนาม

ที่สุดของความขม โคตรขม ขมปี๋ติดปากติดคอ คือกิตติศัพท์ของน้ำขมร้อยปีที่เลื่องชื่อของคั้นกี่น้ำเต้าทอง

หน้าร้านของคั้นกี่น้ำเต้าทองตั้งอยู่ที่เยาวราชมา 121 ปี โดดเด่นด้วยน้ำเต้าทองคู่ตั้งเด่นกลางร้าน ขายน้ำขม-น้ำหวานสูตรเก่าแก่ มีสรรพคุณรักษาอาการร้อนใน บำรุงสมดุลธาตุในร่างกาย สูตรน้ำขมแก้หยางสูง ส่วนน้ำหวานแก้หยินพร่อง

สัญลักษณ์เครื่องหมายการค้าน้ำเต้าคู่มีความหมายลึกซึ้งสื่อถึงหยินและหยาง ออกแบบโดยซินแสตามหลักฮวงจุ้ยตั้งแต่สมัยคุณทวด ค้างคาว 5 ตัวที่อยู่ในเมฆเหนือน้ำเต้าสื่อถึง 5 ธาตุแบบจีน คือ ดิน น้ำ ไม้ ไฟ ทอง มีสัญลักษณ์ของ ฮก ลก ซิ่วซ่อนอยู่ สื่อถึงลาภ ยศ สรรญเสริญ น้ำเต้าทองยังเป็นภาชนะบรรจุยาของคนจีนในยุคโบราณ นับเป็นสิ่งของมีค่าในบ้านอีกด้วย

น้ำขมเป็นชื่อน้ำสมุนไพรที่หลายแบรนด์ใช้เรียกทั่วไป แต่ต้นตำรับผู้คิดค้นน้ำขมในไทยเจ้าแรกคือคั้นกี่น้ำเต้าทองที่นำสูตรยาสมุนไพรแผนโบราณมาจากเมืองจีนโดยทุกวันนี้ต่อยอดสินค้าจากสมุนไพรหลายชนิดและรูปแบบพร้อมแพ็กเกจที่ทันสมัย ทั้งแบบผงพร้อมชงดื่ม แบบเม็ดบรรจุแผง ลูกอมสมุนไพรที่สดชื่น ชุ่มคอ รวมทั้งต้มสดแบบดั้งเดิมและสเลอปี้สำหรับคนรุ่นใหม่พร้อมขายที่หน้าร้าน เน้นคอนเซปต์ที่อยากผลักดันต่อไปในอนาคตคือทานอาหารให้เป็นยา

วันนี้ทายาทของคั้นกี่น้ำเต้าทอง 3 เจนฯ 3 รุ่น เสถียร ธรรมสุริยะ รุ่น 3, ชวน ธรรมสุริยะ รุ่น 4 และชัชภณ ธรรมสุริยะ รุ่น 5 จะมาแกะแพ็กเกจยาและใบปลิวโฆษณายุคก่อน เล่าเรื่องราวเทคนิคการขายยาตั้งแต่ร้อยกว่าปีที่แล้วซึ่งไม่เหมือนสมัยนี้ การพัฒนาสูตรในโรงงาน และการปรับตัวตามโลก เรื่องราวยาวนานกว่าศตวรรษที่คลี่ให้เห็นประวัติศาสตร์ของวงการยาสมุนไพรไทยและปรัชญาหยิน-หยางที่ซ่อนอยู่ในธุรกิจ

ต้นตำรับยาขมที่ลือนาม

คุณทวด ไค้ แซ่ถ่ำ เป็นชาวจีนย้ายถิ่นฐานจากกวางตุ้งมาตั้งรกรากในไทย เปิดร้านค้าเพิงหมาแหงนขายน้ำสมุนไพร

ครอบครัวธรรมสุริยะรำลึกประวัติการก่อตั้งสมัยนั้นว่า “แรกเริ่มค้าขายเป็นห่อ สั่งมาทีละ 100 ห่อต่อเดือน ค่อยๆ ขายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พอเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ช่วงนั้นร้านที่ค้าขายยาสมุนไพรจากจีนต้องหนีสงครามจากกวางตุ้งมาที่ฮ่องกง เราช่วยเหลือเขาให้หนีภัยสงครามบวกกับทางนั้นเห็นว่าเราสั่งของเยอะเลยบอกว่าเอาไปผลิตขายเองดีไหม”

คุณชวนบอกว่าต้นตำรับของน้ำขมเป็นยาพื้นบ้านซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายในท้องถิ่นแถบจีนตอนใต้ ฮ่องกง และกวางตุ้ง

“ตอนที่คุณทวดเอายาจากจีนมาเมืองไทย เนื่องจากไทยมีอากาศร้อนชื้น คนไทยกินของเผ็ด มัน คุณทวดเลยเพิ่มฤทธิ์ยาเข้าไปให้เหมาะกับวิถีชีวิต เวลาเล่าให้ผู้บริโภค เราบอกว่าสูตรนี้คือสูตรยาแผนจีนโบราณที่เสริมฤทธิ์ เพิ่มกำลังของยาโดยเติมสมุนไพรท้องถิ่นลงไป กลายเป็นแบรนด์ของเรา สูตรน้ำเต้าทอง”

ร้านขายน้ำขมและน้ำหวานจึงถือกำเนิดขึ้นใน พ.ศ. 2444 ใช้ชื่อยี่ห้อ ‘น้ำเต้าทอง ซังโฮ่วโล้วเลี่ยงเต๊’ ตอนก่อตั้ง

ส่วนผสมของน้ำขมเป็นสมุนไพร 24 ตัวที่คุณชวนบอกว่าทำยาก “วัตถุดิบ 24 ตัวนั้นไม่ง่าย ส่วนใหญ่เป็นรากต้นไม้ เคยได้ยินยาไทยชื่อยาแก้ไข้ 5 รากไหม มีหลักการทำยาเหมือนกันคือใช้รากมาแก้ไข้ แต่ของเราเป็นยาจีน” 

สรรพคุณหลักคือแก้ร้อนใน หมายถึงกลุ่มอาการที่หยางสูงกว่าหยิน ทำให้มีธาตุร้อนมากเกินไป เช่น ไอร้อน (ไอมีเสมหะเหนียว) หวัดร้อน (หวัดมีน้ำมูกข้น) หวัดแดด ลิ้นแตก ในปากเป็นแผล คอเจ็บ คอแห้ง อดนอน ฯลฯ

คุณชวนอธิบายว่าโดยทั่วไปแล้วน้ำขมแก้หยางสูง ช่วยลดร้อนใน น้ำหวานแก้หยินพร่องช่วยเย็นใน แต่ธรรมชาติของแต่ละคนมีธาตุหยิน-หยางในตัวไม่เท่ากันทำให้เหมาะกับการกินน้ำสมุนไพรไม่เหมือนกัน “คนกินยาขมแล้วยังเป็นซ้ำบ่อยๆ ต้องกินยาหวาน บางคนกินยาขมแล้วกดเกินไป เป็นถี่ เลยกินทีเดียว 2 อย่าง กินยาหวานช่วยจะทำให้ระยะความถี่ของอาการห่างออกไป” 

ในด้านรสชาติ ลูกค้าที่มาหน้าร้านแล้วกินน้ำขมไม่ไหวจะเอาน้ำหวาน หรือที่ปัจจุบันเรียกว่าเก๊กฮวย 8 เซียนมาผสมเพื่อให้ทานง่ายขึ้น

ขายดิบขายดีที่ชุมทางค้าขาย

ในยุคแรกเริ่ม คุณชวนบอกว่าคนรู้จักคั้นกี่น้ำเต้าทองที่เยาวราชเยอะเพราะตำแหน่งร้านดี “ตรงที่เราอยู่เป็นภูมิศาสตร์ของการตลาด เป็นแหล่งชุมชน สมัยตอนพ่อหนุ่มๆ เหมือนสยามสแควร์”

เมื่อร้อยปีก่อนที่สามแยกเฉลิมบุรี เยาวราชเป็นชุมทาง มีรถรางผ่าน เป็นจุดต่อรถไปสนามหลวง สวนลุมฯ หัวลำโพง เป็นแหล่งเฮฮาบันเทิงที่ผู้คนรวมตัวเฮฮาสังสรรค์กัน รายล้อมด้วยโรงหนังเฉลิมบุรี โอเดียน บรอดเวย์ และโรงมหรสพทั้งโรงงิ้ว โรงลิเกไม่ต่ำกว่า 10 โรง ทำให้มีคนสัญจรไปมาเยอะ เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ดีในการค้าขาย

รุ่นสองผู้รับช่วงต่อจากรุ่นหนึ่ง คือ คุณปู่องอาจและคุณย่าจินต์ ธรรมสุริยะ ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก หนังสือประวัติคั้นกี่น้ำเต้าทองของครอบครัวบันทึกเรื่องราวในยุคนั้นเอาไว้ว่า  

“ขายเป็นชาม ชามละ 1 สตางค์ เริ่มขายตั้งแต่ 9 โมงเช้า เรียง 3 เตา น้ำขม 2 หม้อ น้ำหวาน 1 หม้อเพราะน้ำขมขายดีกว่า ช่วง 1-4 ทุ่ม ลูกค้าจะเข้ามาซื้อมากเพราะมีโรงมหรสพมาก”

ทายาทรุ่นสามอย่างคุณเสถียรนั้นช่วยที่บ้านค้าขายตั้งแต่เด็ก “มีหน้าที่ช่วยคุณแม่หาฟืนและถ่านมาต้มยาตั้งแต่เด็กๆ ต้มไปขายไป วิ่งไปหาซื้ออุปกรณ์ต่างๆ เช่น ขวด กระป๋อง เชือกปอผูกขวด เชือกกล้วยผูกกระป๋องเพื่อใช้บรรจุน้ำขม น้ำหวาน แถวสะพานเหล็กล่างและตลาดน้อย”

สมัยนั้นเมื่อมีลูกค้ามากขึ้นและอยากซื้อแบบ takeaway จะประยุกต์เอากระป๋องนมข้นหวานมาใส่เชือกกล้วยห้อยสำหรับถือกลับบ้านโดยราคาเพิ่มมาเป็นกระป๋องละ 2 สตางค์ ขายดิบขายดีจนต้องเตรียมกระป๋องนมไว้ 3-4 เข่งต่อวัน

 

บุกเบิกสมุนไพรแบบชงละลาย
จากการสังเกตกาแฟ instant

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเมื่อคุณเสถียรเข้ามาทำเต็มตัวคือการคิดค้นน้ำขมและน้ำหวานชนิดกลับไปต้มเองที่บ้านได้ เริ่มจากตั้งคำถามว่า “ทำยังไงจะให้การขายยากระจายกว่านี้ ทำยังไงจึงจะสะดวกแก่ผู้ซื้อมากกว่านี้”

คุณเสถียรลองโม่ยาเป็นผงละเอียดด้วยตัวเอง ใส่ในซองกระดาษคล้ายผ้าสาลูที่ต้มได้โดยไม่ละลายน้ำ คุณชวนบอกว่า “จากแต่ก่อนใช้ผ้าดิบ พัฒนามาใช้กระดาษกรองที่ต้มแล้วไม่เปื่อยไม่ยุ่ย ต้มได้ 1-2 ชั่วโมง เป็นกระดาษกรองที่ไม่มีใครมี แล้วปรับให้ซีลได้เหมือนชาผงสำเร็จรูปสมัยนี้”

ด้วยเหตุนี้เมื่อกิจการไม่จำกัดแค่ค้าขายหน้าร้าน แต่สามารถทานเองที่บ้านได้ ธุรกิจจึงขยับขยายเข้าสู่ยุคทอง จากตึกแถวเติบโตเป็นโรงงาน ขายต่างจังหวัดทั่วประเทศ

ในยุคนั้นแบรนด์ต่างชาติเริ่มคิดค้นกาแฟสำเร็จรูปที่ได้รับความนิยม คุณชวนรับช่วงต่อมาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างเต็มตัวโดยได้คำแนะนำจาก ดร.ฤกษ์ ศยามานนท์ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อนของคุณเสถียรผู้ชี้แนะกรรมวิธี spray dye ที่บริษัทกาแฟชื่อดังของไทยใช้

หลักคิดสำคัญที่คุณเสถียรและคุณชวนมีคือวิธีคิดแบบนวัตกรที่ช่างสังเกตและลงมือทำ “เห็นกาแฟทำได้ เลยคิดว่าสมุนไพรก็น่าจะทำได้เหมือนกัน” ทั้งนี้การสกัดยาผงแบบใหม่ต้องนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศและลองผิดลองถูกอยู่พักใหญ่ โดยเฉพาะน้ำหวานที่สกัดจากดอกเก๊กฮวย ที่ต้องรักษากลิ่น รสชาติและสรรพคุณของสมุนไพรไว้

เมื่อทำสำเร็จจนน้ำขมและน้ำหวานเป็นที่รู้จักมากขึ้นก็นำสมุนไพรอื่นมาสกัดเพิ่มเติม ออกสินค้าใหม่เป็นเครื่องดื่มสมุนไพรชนิดชงละลายอื่นๆทั้งจับเลี้ยง มะขามป้อม บัวบก ในส่วนยาขมและยาหวานก็ปรับแพ็กเกจอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาให้เข้ากับยุคสมัย

คุณชวนยังริเริ่มทำยาเม็ดสำเร็จรูปก่อนจะพัฒนาเพิ่มเติมเป็นลูกอมที่คนรุ่นใหม่คุ้นชินมากขึ้น “เอามาตอกเป็นเม็ด ทำส่วนผสมให้รสไม่จัด เติมมินต์ เติมความเย็นให้น่ากิน” ลูกอมสมุนไพรมีหลายรสโดยต่างมีสรรพคุณพิเศษของตัวเอง ทั้งลูกอมจับเลี้ยง ชะเอมมินต์ มะขามป้อม ชาเขียวใบหม่อน ตรีผลา

นิยามอาหารเป็นยา แล้วจะขายที่ไหนก็ได้ 

ระยะเวลากว่าร้อยปีทำให้คุณชวนมองเห็นการเปลี่ยนแปลงของวงการสมุนไพรไทย และการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาที่มีข้อจำกัดทางกฎหมาย

“สมัยก่อนยาสัตว์ยังไม่แพร่หลาย เอายาขมไปให้สัตว์กินได้ ไก่เป็นขี้ตาแฉะ วัวเป็นกลีบเท้าเปื่อย เอาไปให้กินก็หายจริง แต่ซาลงเพราะกฎหมายไม่รับขึ้นทะเบียนเป็นยาสัตว์

“ยุคก่อน พ.ศ. 2526 ยังไม่ได้ประกาศว่ายาต้องขายในร้านขายยา ขายที่ไหนก็ได้  ไปขายที่งานหนังกลางแปลง พอฉายหนังกลางคืน ชาวบ้านแห่มาดูหนังก็โฆษณาขายยาไปด้วย มีรถขายยาไปทุกจังหวัด ขายตามงานที่ขายของธรรมชาติ พอออกกฎใหม่ ต้องขายในร้านขายยาเท่านั้น ไปโฆษณากลางถนนไม่ได้”

จากการทำงานในวงการสมุนไพรและคลุกคลีกับกฎหมายไทยคุณชวนบอกว่า หากนิยามเป็นยาต้องขายในร้านขายยาเท่านั้น หากนิยามเป็นอาหารหรือเครื่องดื่ม สามารถขายที่ไหนก็ได้

ดังนั้นเพื่อการส่งเสริมการขายอย่างสะดวก คุณชวนจึงเลือกตั้งคอนเซปต์ “ทานอาหารเป็นยา” นิยามสินค้าของ Nam Tao Thong Herb เป็นอาหารเพื่อช่องทางการขายที่แพร่หลายกว่าเพราะสิ่งสำคัญคือขายยังไงและขายที่ไหน

ในอนาคตครอบครัวธรรมสุริยะตั้งใจต่อยอดแนวคิดการทำอาหารให้เป็นยาต่อไป

เพื่อให้คนซื้อได้ง่าย มีตัวเลือกหลากหลายให้ทานในชีวิตประจำวัน

อยากเป็นเซียนสมุนไพรที่เข้าใจง่าย   

ปัจจุบันคุณชัชภณ ทายาทรุ่น 5 รับหน้าที่ดูแลด้านการตลาด “พยายามทำให้ยี่ห้อเราเข้าถึงง่าย ปรับขวดทรงน้ำเต้าให้น่าซื้อ ปรับโลโก้

“ขวดเดิมมีข้อดีคือลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ กลมเหมือนน้ำเต้า แต่มีข้อเสียคือ บุบง่ายระหว่างขนส่ง ใช้เนื้อที่ในการขนส่งเยอะ และลูกค้าทานไม่หมดในครั้งเดียว พอเราออก SKU ใหม่ที่เป็นขวดน้ำเต้าทรงแบน ขนส่งได้ดีขึ้น ลดปริมาณให้ทานได้หมดพอดีและขายในราคาที่ถูกลง คนรับไปขายต่อก็ทำราคาได้ดีขึ้น”

สิ่งสำคัญคือการปรับการสื่อสารให้สมุนไพรเข้าใจง่ายกับคนทั่วไปมากขึ้น

“รุ่นก่อนไม่ได้พูดส่วนผสม เวลาพูดถึงน้ำหวาน คนรุ่นใหม่จะเข้าใจว่าน้ำหวานเฮลซ์บลูบอยหรือเปล่า เดี๋ยวนี้คนต้องการรู้รายละเอียดมากขึ้น เลยเรียกใหม่จากน้ำหวานเป็นเก๊กฮวย 8 เซียนให้เข้ากับยุคสมัย แปดเซียนหมายถึงมีสมุนไพรอื่นๆ อีกแปดตัวรวมกัน”

เครื่องดื่มแต่ละรสมีจำนวนสมุนไพรต่างกัน เรียกเป็น ‘เซียน’ ให้จำง่าย อย่างน้ำขม 24 เซียน จับเลี้ยง 10 เซียน 

จากสมัยก่อนที่กลุ่มลูกค้าหลักอายุ 40+ นิยมทานน้ำขมรสชาติตำรับจีนดั้งเดิมเป็นประจำทุกวัน ทายาทคนหนุ่มพบว่าบางคนคุ้นหูชื่อเสียงน้ำขมที่ลือนามแต่ทนความขมไม่ไหว เลยเพิ่มตัวเลือกน้ำขมรสขมน้อยเข้ามา “เอาเก๊กฮวยมาผสมเข้าไปให้ขมน้อยลงกลายเป็นสูตรขมน้อยและปรับใช้น้ำตาลหล่อฮังก๊วยให้ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ทานง่ายขึ้นด้วย”

สินค้าใหม่ที่ได้รับความนิยมมากคือสเลอปี้ จับเลี้ยงหิมะและเก๊กฮวยหิมะ นำสมุนไพรมาทำเป็นเครื่องดื่มเกล็ดหิมะ เย็นชื่นใจ ถูกอกถูกใจลูกค้าที่ไม่ได้เป็นสายสมุนไพรจ๋าไม่แพ้ลูกอมสมุนไพรที่พกพาง่ายเข้ากับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่

ช่องทางการขายก็ปรับเปลี่ยนไป จากปักหลักที่เยาวราชก็เข้าหาลูกค้ามากขึ้น “ขายออนไลน์เป็นหลัก ออกบูทตามห้างและลานกิจกรรมหลากหลายทำเล คนตอบรับดีโดยเฉพาะงานตรุษจีน สารทจีน งานเทศกาล”

คุณชัชภณบอกว่า “วิธีวัดว่าลูกค้าเก่ามาเยอะไหมเวลาออกบูทคือน้ำขมขายออกไหม ถ้าออกเยอะแปลว่าลูกค้าเก่าตามมาซื้อ” แม้รสชาติจะขมปี๋ แต่ยังเป็นรสชาติที่ดีต่อใจและกายสำหรับแฟนคลับน้ำขมที่ทานต่อเนื่องมาเนิ่นนาน 

หยิน-หยางกับสมดุลในธุรกิจ

ในตำราธุรกิจ หยิน-หยางเป็นแนวคิดหนึ่งที่ใช้บริหารชีวิตและธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ

หยางคือรุก หยินคือรับ
หยางคือการแสวงหาโอกาส สร้างผลิตภัณฑ์และการตลาดเชิงรุกให้เติบโตโดยไม่รอเพียงตั้งรับผลกระทบ มุ่งมั่นผลักดันเป้าหมายและนวัตกรรมสู่อนาคต

หยินคือการอยู่กับปัจจุบัน ทำงานตรงหน้า รับมือกับอุปสรรค แก้ไขปัญหาและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สร้างความสัมพันธ์และรักษากำลังใจ

ตลอด 121 ปี ทายาทแต่ละรุ่นของคั้นกี่น้ำเต้าทองใช้ทั้งหยินและหยาง ไม่ใช่แค่กลยุทธ์แต่รวมถึงวิธีคิดทางธุรกิจที่เตรียมพร้อมสำหรับการรุกและรับเสมอ

ข้อคิดการใช้หยินจากคุณเสถียร ซึ่งเป็นรุ่นที่ 3 คือ “ถ้าถามว่าช่วงไหนของชีวิตที่ท้อที่สุดลำบากที่สุด สำหรับผมตอบได้เลยว่าไม่มี เพราะผมเป็นคนประเภทไม่มั่นคงไม่เดิน ไม่แน่ใจไม่เดิน ถึงแม้จะมีพลาดบ้างแต่ไม่ถลำลึก ตลอดเวลาของเรา จะบุกอย่างมีระเบียบ ถอยก็ถอยอย่างมีระเบียบ สิ่งที่เกินตัวจะไม่ทำ ผมทำแบบนี้มาตั้งแต่วัยเด็ก จะเดินอย่างพอดี อะไรที่เป็นความเสี่ยงจะไม่ทำ เพราะถ้าล้มแล้วไม่ใช่เราแค่คนเดียว แต่ยังหมายถึงลูกน้องและทุกๆ คนที่อยู่ข้างหลังเราด้วย”

คุณชวน รุ่นที่ 4 ผู้โดดเด่นด้านคิดค้นผลิตภัณฑ์ ไม่เพียงใช้หยางในการรุกและเร่งเดินหน้ากับธุรกิจส่วนตัวเท่านั้นแต่ยังแบ่งปันความรู้ให้วงการสมุนไพรพร้อมตั้งรับเทคโนโลยีเช่นเดียวกัน โดยรับตำแหน่งเป็นประธานกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยคนแรกเพื่อขับเคลื่อนองค์ความรู้เรื่องยาแผนโบราณและสมุนไพรกับภาครัฐด้วย

“สมัยนั้นเวลาหน่วยงานราชการมาดูเครื่องจักรผลิตยาแผนโบราณที่ทันสมัย ก็มาดูที่คั้นกี่น้ำเต้าทอง เพราะเราก้าวหน้ามากที่สุดในเรื่องเทคโนโลยีและเครื่องจักรใหม่ๆ ผมก็ไม่มีอะไรปิดบังให้ความรู้ต่างๆที่มีหมด เพราะเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและวงการสมุนไพรไทย คงเป็นเพราะบรรพบุรุษที่สอนกันมารุ่นต่อรุ่นเสมอว่า ทำงานต้องมีความซื่อสัตย์ ต้องเห็นแก่ส่วนรวม อย่าเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัว”

คุณชัชภณ ทายาทรุ่น 5 กล่าวถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากรุ่นก่อนว่า “คุณพ่อเชี่ยวชาญเรื่องปรุงสมุนไพร การผลิต รู้การใช้งานจริง ลงมือทำจริง พลิกแพลงหน้างาน เชี่ยวชาญการทำเครื่องจักร เคยจัดการเครื่องจักรทุกเครื่อง เวลามีปัญหาแก้ได้”

“สิ่งที่ได้เรียนรู้นอกจากความรู้จากการทำงาน คือ การสังเกตพฤติกรรมลูกค้า สังเกตว่าคนรุ่นใหม่ เขามีปัญหาอะไรในการเข้าถึงน้ำสมุนไพรของเราบ้าง ได้ผิดลองถูกหาสินค้ารูปแบบใหม่ๆ แพ็คเกจใหม่ๆ ไปตอบ pain point ของเขา นอกจากกลยุทธ์และการเข้าใจลูกค้าว่าต้องการอะไรแล้ว การเปิดใจและเข้าใจคนที่ทำงานร่วมกันก็เป็นอีกตัวแปรที่สำคัญไม่แพ้กัน การทำงานข้ามรุ่น ข้าม generation ต้องเข้าใจและยอมรับในความคิดซึ่งกันและกัน ให้ความเคารพในวิธีคิดของซึ่งกันและกัน จึงจะทำงานด้วยกันได้อย่างสมดุล”

เพราะแตกต่างจึงสมดุล รู้จักรุกและรับ

เหมือนที่มีหยินย่อมต้องมีหยาง มีน้ำขมย่อมมีน้ำหวาน

การอยู่คู่กันทำให้เกิดความสมดุลพอดี

Writer

Craft Curator, Chief Dream Weaver, Lifestyle Columnist, Editor-in-Cheese, Design Researcher 'Instagram : @rata.montre'

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like