นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

Long Voyage de Button

113 ปีของ ‘ไตเย็บใหม่’ ร้านกระดุม 5 แผ่นดิน ที่นำเข้ากระดุมจากยุโรปสำหรับห้องเสื้อชั้นสูง 

จำได้ไหม ครั้งสุดท้ายที่สั่งตัดชุดคือเมื่อไหร่

ก่อนการมาถึงของฟาสต์แฟชั่นที่ซื้อไว ขายไวและการเช่าชุดแพร่หลายอย่างทุกวันนี้ เคยมีวันวานที่คนรักการแต่งตัวนิยมสั่งตัดชุดใส่เองเป็นประจำ กิจการห้องเสื้อเติบโตเฟื่องฟูจากวัฒนธรรมตะวันตก  

เป็นยุคสมัยของแฟชั่นโอต์กูตูร์ที่เน้นความฟู่ฟ่า กระดุมและลูกไม้จัดเป็นของหรูหรา ของชิ้นเล็กอันล้ำค่าที่เลือกประดับประดาบนเสื้อผ้าอาภรณ์ คัดสรรวัสดุที่ดีที่สุด งานฝีมือชั้นเลิศที่สุดด้วยความประณีตเพื่อชุดสวยโก้ไม่เหมือนใคร  

ร้าน ‘ไตเย็บใหม่’ ที่พาหุรัดเป็นแหล่งซื้อวัตถุดิบสำคัญที่นำเข้ากระดุมจากหลายประเทศ 

เยอรมนี เชโกสโลวะเกีย ออสเตรีย ฮังการี ฝรั่งเศส เบื้องหลังวงการแฟชั่นในยุคที่สาวไทยเริ่มหัดแต่งตัวคือคู่พระ-นางอย่างกระดุมและลูกไม้ที่เฉิดฉายในตู้เสื้อผ้าของเหล่ากุลสตรีและอยู่คู่ประวัติศาสตร์ย่านพาหุรัดเรื่อยมา

เราจึงอยากชวนเปิดแคตตาล็อกในความทรงจำกับ กิตติพงษ์ วงศ์มีนา ทายาทรุ่นสามของไตเย็บใหม่ที่ชวนลูกสาว มาริสา วงศ์มีนา มาเปิดกรุสมบัติในร้าน 

The Pahurat Nights
พันหนึ่งราตรีของครอบครัวไตเย็บ

พาหุรัดเป็นย่านที่ได้รับฉายาว่า Little India เพราะมีคนอินเดียอพยพมาตั้งถิ่นฐานและทำกิจการเยอะในยุคก่อน ไม่ใช่แค่ขายผ้า แต่มีสินค้าหลากหลายทั้งเครื่องเทศ อาหาร ขนมหวาน กำยาน ธูป รูปปั้น สารพัดสิ่งไม่เว้นแม้แต่กระดุม

“รุ่น 1 คือ พี่ชายของพ่อชื่อ ไตเย็บ ย้ายมาจากอินเดีย มีเชื้อชาติเป็นคนอิหร่าน เป็นเชื้อชาติเดียวกับกลุ่มคนเลี้ยงปศุสัตว์ที่สระบุรีและดาราชื่อดังในยุคก่อนที่ชื่อเกชา เปลี่ยนวิถี” 

คุณลุงกิตติพงษ์อธิบายว่า “ไตเย็บเป็นชื่อคนทั่วไปเหมือนสมชัย” เพียงแค่เป็นชื่อของคนอิหร่านจึงฟังดูแปลกหู แต่ช่างไพเราะเหมาะเจาะกับการทำกิจการเย็บปักถักร้อย  

กิจการเปิดทำการราว พ.ศ. 2452 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ถนนพาหุรัดสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2441 แล้วเติบโตเป็นย่านการค้าที่โด่งดังด้านการขายผ้า นำเข้าสินค้าจากแขกและคนต่างชาติ ไตเย็บใหม่ถือเป็นกิจการยุคบุกเบิกในย่านนี้

รุ่น 2 พ่อของคุณลุงกิตติพงษ์รับช่วงต่อและเปลี่ยนชื่อร้านเป็น ‘ไตเย็บใหม่’ ให้สมกับเป็นรุ่นใหม่ ป้ายชื่อร้านจากไม้เขียนด้วยลายมือบรรจงที่แขวนไว้ในร้านเป็นลายมือของคุณพ่อ

“พ่อมาไทยแต่งงานกับแม่ผมที่เป็นเชื้อสายมอญ” ซึ่งคล้องจองกับบันทึกประวัติศาสตร์ ที่ว่าการย้ายถิ่นฐานเข้าไทยของคนหลายเชื้อชาติทั้งชาวอินเดีย มอญ ญวน จีน มีผลต่อการขยับขยายย่านการค้าสำคัญในสมัยก่อนอย่างพาหุรัดและสำเพ็ง

“รุ่น 3 คือ ผมที่เป็นน้องคนสุดท้อง ก่อนหน้านี้มีพี่สาวที่มาช่วยดูแลร้านไม่นานถือเป็นรุ่นเดียวกัน” หากคาดการณ์เวลาโดยคร่าวจากความทรงจำ คุณลุงบอกว่า “รุ่นเดียวกับผมมีกิจการคือตั้งฮั่วเส็ง ไนติงเกล รังนกใต้ ห้างแมวดำ ตั้งโต๊ะกัง”  

คำบอกเล่าของประวัติกิจการครอบครัวขนานไปกับเรื่องราวการเติบโตของพาหุรัด ย่านค้าผ้าคู่ประวัติศาสตร์ไทย ชวนให้ซูมเข้าไปที่ห้องแถวเลขที่ 612 ริมถนนจักรเพชร หยิบกระดุมเม็ดเล็กขึ้นมาย้อนไปหลายพันหนึ่งราตรีที่แล้วในวันที่สาวๆ ใฝ่ฝันตัดเย็บชุดสวยงามเป็นของตัวเองอยู่เป็นนิจ

Little Pieces of Lady’s Treasure

แคตตาล็อกจากยุโรปที่เก่าคร่ำคร่าแต่ยังสัมผัสได้ถึงความประณีตวางตั้งโชว์ไว้บนโต๊ะ ในมุมเล็กๆ ของร้าน

เมื่อพลิกหน้าแรก ลูกไม้สีสันอ่อนหวานทั้งดอกเล็กและใหญ่ชูช่อเบ่งบานบนหน้ากระดาษแผ่นเก่า กาลเวลาที่ผ่านไปนับร้อยปีไม่ทำให้ความอ่อนช้อยจืดจางลงเหมือนทับความงามของดอกไม้ดอกงามไว้

คุณลุงกิตติพงษ์เล่าว่ากิจการเริ่มด้วยการขายลูกไม้ที่นำเข้าตั้งแต่ก่อนมารับช่วงต่อ

“ปลายรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 เป็นยุคที่ผ้าเด่น ไม่ใช่ผ้าเป็นผืนแต่เป็นผ้าลูกไม้ เอาไปติดเสื้อผ้า”

ลูกไม้ของร้านไตเย็บใหม่นำเข้าจากสวิตเซอร์แลนด์ ทำจากผ้าฝ้ายแท้ ขายแบบเป็นช่อและเป็นเมตรสำหรับประดับเสื้อ

“ลูกไม้มีหลายยี่ห้อ อย่างแบรนด์ Mccal ตอนนี้เลิกทำไปแล้ว อยู่ตั้งแต่ผมยังไม่เกิด”

หน้าซ้ายของหนังสือเป็นภาพวาดสเกตช์แบบและแพตเทิร์นวินเทจ สาธิตการประดับลูกไม้ที่คอเสื้อ กระโปรง แขนเสื้อ ชายเสื้อ แสดงให้เห็นการประยุกต์ใช้ที่หลากหลาย บ้างปักช่อเดียวให้โดดเด่น บ้างจับจีบเป็นช่อและระบายอย่างมีลูกเล่น  

ส่วนใหญ่เป็นชุดออกงานสังคม ชุดปาร์ตี้ ชุดราตรี ชุดในชีวิตประจำวันที่มีความหวานแบบเฟมินีน เพียงดูจากสไตล์ชุดก็พอรู้ว่าสุภาพสตรีที่สั่งตัดชุดเหล่านี้ในยุคก่อนต้องมีฐานะพอสมควร 

“ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคุณหญิง คุณนายไฮโซ ชาววัง นางสนม เมื่อก่อนตัดเสื้อผ้าถี่ มาร้านตัดเสื้อกันทุกอาทิตย์เพราะมีงานปาร์ตี้เยอะ บางทีตัดครั้งหนึ่งราคาเป็นแสน ลูกค้าเอาแบบมาจากแคตตาล็อกยุโรป สั่งร้านตัดเสื้อว่าเจ๊ต้องการเสื้อตัวนี้แบบนี้ เลือกผ้าเสร็จก็มาซื้อกระดุมกับเรา” ลูกค้าประจำจึงมีทั้งสุภาพสตรีมีฐานะและร้านตัดเสื้อ 

กระดุมได้รับความนิยมในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน คุณลุงบอกว่า “สมัยก่อนกระดุมไม่ได้ใช้ แค่ติดเท่านั้น แต่เป็นเครื่องประดับในตัวด้วย บางคนเอาไปติดชุดแซ็ก ชุดธรรมดาสักเม็ด 2 เม็ด ยุคนั้นเสื้อของผู้หญิงเน้นกระดุมเป็นหลัก ใช้กลัดโชว์ บางคนเอาไปทำเป็นต่างหู”

กล่าวได้ว่า กระดุม ลูกไม้ เลื่อม คือเครื่องประดับล้ำค่าที่สุภาพสตรีเทรนด์ดี้ยุคก่อนต้องมี   

Tailor-Made & Detail Matter 

“สมัยที่ร้านตัดเสื้อโด่งดัง ยุคนั้นผมขายเต็มตัว”

เมื่อคุณลุงเปิดกระเป๋านามบัตรและอัลบั้มรวมภาพผลงานการตัดเสื้อหนาเป็นปึกก็เหมือนเปิดอัลบั้มบันทึกความทรงจำเมื่อครั้งห้องเสื้อเฟื่องฟูให้โลดแล่น 

ในฐานะเจ้าของร้านกระดุม คุณลุงกิตติพงษ์ทำงานคลุกคลีกับร้านตัดเสื้อแถวหน้าอย่าง ไข่บูติก (Kai Boutique) ของสมชัย แก้วทอง, ดวงใจบิส (Duangjai Bis) ของกีรติ ชลสิทธิ์ ธีระพันธ์, งามพิไล, กาสะลอง, พิจิตรา, OP. Park, Yours และอีกมากมาย

ดีไซเนอร์หลายท่านเป็นกูรูติเยร์ หรือผู้สร้างสรรค์เสื้อผ้าไฮแฟชั่น ช่างเสื้อชั้นสูงระดับตำนานของไทย ห้องเสื้อเหล่านี้ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมตะวันตกทำให้มีเอกลักษณ์การตัดชุดที่วิจิตร ตระการตา

สมัยก่อนร้านตัดเสื้อเรียกอีกอย่างว่าห้องเสื้อ มีความหมายนัยสำคัญว่าเป็นสถานที่สำหรับลูกค้าที่ต้องการเสื้อผ้าที่ออกแบบพิเศษ ห้องเสื้อในยุคนั้นเน้นการออกแบบที่มีฝีมือและมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง

ลุงที่เฟ้นกระดุมให้ห้องเสื้อกับมือยืนยันว่า “คนอยากได้ชุดที่หรูหราละเอียดอ่อน เป็นของเราคนเดียว คนอื่นห้ามมี” คือบริการสั่งทำพิเศษที่ในยุคนี้เราเรียกกันว่า customize  

“ยุคนั้นไทยมี New City เป็นบริษัทรับตัดเย็บเสื้อผ้า ตอนที่บริษัทบูมมากรับออร์เดอร์จากแบรนด์ดังฝั่งยุโรปและสั่งกระดุมกับเรา เสื้อของ Christian Dior, Chanel, Gucci ต้องติดกระดุมชั้นดี” 

ช่วงนั้นไตเย็บใหม่ขายอุปกรณ์เย็บปักถักร้อยครบครันทั้งกระดุม เข็ม เลื่อม ดิ้นเงิน ดิ้นทอง “ตอนนั้นยุโรปยังไม่พึ่งเวียดนาม จีน เขาสั่งตัดเย็บและหาวัตถุดิบจากไทย เพราะฝีมือประเทศเราดี เย็บละเอียด” 

เข็มเล็กจิ๋วที่ห่อพับเก็บอย่างดีในซองวินเทจตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นเครื่องยืนยันได้ว่าหัวเข็มสมัยนั้นมีขนาดจิ๋วกว่าเข็มทั่วไปในปัจจุบัน “เสื้อยี่ห้อดังต้องใช้ผ้าละเอียด ด้ายละเอียด กระดุมละเอียด เพราะราคาหลายแสน กระดุมเลยต้องหรูหราตามลักษณะของเขา”

ด้วยสไตล์เสื้อผ้าแบบตะวันตกนี้เอง จึงเป็นที่มาว่าทำไมกระดุมของไตเย็บใหม่จึงอาศัยการนำเข้าจากประเทศแถบตะวันตกเป็นหลัก


Long Voyage de Button 

หนุ่มสาวที่รักการช้อปปิ้งในยุคนี้น่าจะเคยชินกับธุรกิจนำเข้าที่เรียกว่าพรีออร์เดอร์ กด CF จองเสื้อผ้านำเทรนด์สุดฮิตจากต่างประเทศในโซเชียล รอแค่ชั่วพริบตาพัสดุก็มาส่งถึงบ้าน

ส่วนไตเย็บใหม่นั้นนำเข้ากระดุมจากยุโรปตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ในยุคที่มีวิธีการสื่อสารวิธีเดียวคือทางจดหมาย โดยหนึ่งในแบรนด์ที่ติดต่อไปคือสวารอฟสกี้ที่สมัยนั้นยังไม่เข้ามาขายในไทย 

คุณลุงกิตติพงษ์ย้อนความหลังว่า “ผมเป็นตัวแทนจำหน่ายเป็นทางการคนเดียวของสวารอฟสกี้ คนอื่นสั่งไม่ได้ แบรนด์จะส่งนิตยสารมาเป็นประจำให้ดูแบบ เมื่อก่อนสั่งผ่านสิงคโปร์เพื่อติดต่อกับออสเตรีย” 

ขั้นตอนคือพิมพ์สเปกกระดุมแบบที่ต้องการทางจดหมายแล้วรอทางยุโรปหรือประเทศที่ติดต่อไปพิมพ์ตอบกลับมา เป็นการทำธุรกิจที่รอคอยอย่างใจจดจ่อยิ่งกว่ารอจดหมายรัก

“ไปจ้างพิมพ์ดีดภาษาอังกฤษกับบริษัทรับทำเรื่องนำเข้าและส่งออก เขาพิมพ์ให้เราเสร็จ ใส่ซอง ไปที่ธนาคาร” จากนั้นจัดการเรื่องยิบย่อยในการนำเข้า “คุยว่าต้องการ deposit กี่เปอร์เซ็นต์ เลือกว่าจะเปิด letter of credit ไหม คำนี้แปลว่าแบงก์เป็นคนจ่ายให้เราก่อน หรือเลือกว่าของมาถึงแล้วเราจะค่อยจ่าย ประเมินภาษีต่างๆ” 

รวมใช้เวลาทั้งหมด 2-3 เดือน

“ตอนแฟกซ์เข้ามาดีใจมาก เมื่อก่อนอยู่ในยุคที่ไม่มีมือถือ โทรศัพท์ยุโรปติดต่อยาก โดยเฉพาะประเทศคอมมิวนิสต์ เยอรมนี โปแลนด์ เชโกสโลวะเกีย โรมาเนีย ต้องติดต่อผ่านสถานทูตและติดต่อยาก ฝั่งสวิตเซอร์แลนด์จะติดต่อง่ายกว่า” 

กระดุมที่สั่งไปเดินทางไกลมาถึงไทยด้วยหลายวิธี ทั้งเครื่องบิน เรือ ส่งที่ท่าเรือ ไปรษณีย์ และสนามบิน มาครั้งละหลายกุรุส โดย 1 กุรุสเท่ากับ 12 โหล

หลากดีไซน์ของกระดุมที่วางเรียงรายในตู้กระจกจนถึงทุกวันนี้กลายเป็นของหายากที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาไม่รู้กี่รอบ เริ่มต้นจากสายตาพ่อค้าอันเฉียบแหลมของคุณไตเย็บ รุ่นหนึ่งที่มองเห็นว่าการเดินทางไกลของกระดุมเหล่านี้จะสร้างมูลค่าได้ เพียงติดกระดุมเม็ดแรกถูกต้อง กิจการก็เดินทางไกลมายาวนานผ่านยุคสมัยต่างๆ จนอายุเกินร้อยปี

From Chandelier to Accessories

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประเทศที่ร้านนำเข้ากระดุมเยอะที่สุดคือเยอรมนี

“สมัยก่อนสวารอฟสกี้ผลิตโคมไฟเป็นเนื้อแก้วคริสตัลแล้วนำเศษเหลือจากโคมไฟ เศษหิน เศษแก้วมาตัดทำเป็นกระดุม ได้เป็นกระดุมคริสตัล กระดุมแก้ว หลอมเป็นกระดุมสีดำแบบต่างๆ”

จากโคมไฟระย้าแสนอลังการที่ประดับในห้อง เม็ดคริสตัลที่ขนาดเล็กลงเหล่านั้นเพียงย้ายที่มาอยู่บนชุดอันงดงามของเหล่าสุภาพสตรีโดยยังคงความหรูหราไว้ 

“ผมเคยไปที่เยอรมนี เท่าที่ฝรั่งบอก โรงงานเขาเอาเศษแก้วจากจากยุโรปตะวันออก จากพวกโปแลนด์ บราซิล เยอรมนี แล้วใช้เตาอบเพนต์ ผ่านหลายขั้นตอน”

ไม่ได้มีเพียงแค่แบรนด์สวารอฟสกี้เท่านั้นที่ใช้วิธีนี้ แต่การผลิตกระดุมของโรงงานวัสดุหลายแห่งในยุโรปยุคนั้นมีที่มาจากบรรดาโรงงานคริสตัล หิน แก้ว โลหะ ที่นิยมผลิตของอลังการชิ้นใหญ่อย่างโคมไฟราคาหลักแสนแล้วค่อยนำส่วนที่เหลือมาต่อยอดเป็นเครื่องประดับชิ้นเล็กเพื่อไม่ให้เสียของ 

กระดุมที่แพงที่สุดของร้านคือกระดุมคริสตัลจากโรงงานเหล่านี้ ราคาเม็ดละ 200-300 บาท สมัยก่อนมีกระดุมเพชรเจียระไนจากเชโกสโลวะเกียและกระดุมคริสตัลฝังเพชรรุ่นขายดีที่ขายหมดแล้ว

กระดุมรุ่นอื่นๆ มีราคาลดหลั่นลงมาอยู่ที่หลักสิบบาทต่อเม็ด ต่างมีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ เรียกชื่อง่ายๆ ตามตาเห็น ดังเช่น ลายเชือกคู่ สูท ดอกสีเงิน คลีโอพัตรา แม้วัสดุเหมือนกันแต่มีการแกะสลักและความวิจิตรที่ซ่อนในแต่ละเม็ดแตกต่างกันไป

ฝั่งเอเชียมีกระดุมที่ผลิตจากไต้หวัน จีน ญี่ปุ่น ไทยขายอยู่บ้าง อย่างไรก็ตามด้วยสไตล์การแต่งตัวยุคก่อนที่นิยมแบบตะวันตกทำให้เน้นขายกระดุมจากเยอรมนีเป็นสินค้าเด่นสุด


The Last Antique Lot

คุณลุงทิ้งท้ายว่ากระดุมที่ร้านตอนนี้เป็นล็อตสุดท้าย

“พวกนี้ไม่มีอีกแล้ว พ่อผมสั่งสต็อกไว้เยอะ ตอนนี้หยุดสั่งกระดุมไปตั้งนานแล้ว”
เหตุผลนั้นมีจากหลายปัจจัย

ไตเย็บใหม่เปิดกิจการมา 5 แผ่นดิน รวมระยะเวลา 113 ปี ผ่านยุคเฟื่องฟูของห้องเสื้อและช่วงขาลงตอนต้มยำกุ้งที่เศรษฐกิจไม่ดีทำให้การนำเข้าชะงักลง

กิจการห้องเสื้อและกระดุมนั้นเป็นของคู่กัน อยู่ด้วยกันแบบน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า เมื่อถึงยุคที่มีเสื้อผ้าสำเร็จรูปและแบรนด์เนมเข้ามาระลอกใหญ่ทำให้ร้านตัดเสื้อล้มหายตายจากไปเยอะส่งผลพวงมาถึงร้านกระดุมด้วย 

ฝั่งโรงงานจากจีนมีการผลิตของก๊อปราคาถูกจำนวนมาก ส่วนแบรนด์ยุโรปก็ขยับขยายมาเปิดขายเครื่องประดับในไทยเอง การผลิตกระดุมที่มีรายละเอียดเยอะและต้นทุนสูงสู้ราคากระดุมพลาสติกจากจีนไม่ได้ทำให้โรงงานเหล่านี้เลิกผลิตไป

กาลเวลาเปลี่ยน รสนิยมและสไตล์การแต่งตัวของผู้คนก็แปรผันตามแต่พาหุรัดที่มองออกมาจากร้านไตเย็บใหม่ในสายตาของคุณลุงกิตติพงษ์นั้นยังคงเหมือนเดิม “พาหุรัดเป็น old market เมืองเปลี่ยนไปแต่โครงสร้างเดิมยังมีอยู่ ผมอยู่ตั้งแต่เมอร์รี่คิงส์ยังเป็นโรงหนังคิงส์ ดิโอลด์สยามเป็นตลาดมิ่งเมือง เมืองเปลี่ยนแต่คนก็ยังมาซื้อ”  

สิ่งมีค่าที่ไตเย็บใหม่ยังคงรักษาไว้ตลอดมาคือการขายของล้ำค่าที่วิจิตรละเอียดลออ

“ที่ร้านอาศัยลูกค้าเก่าแก่ เราเอากระดุมสำเพ็งเหมือนที่อื่นมาขายหลอกเขาไม่ได้ ขายน้อยแต่ยึดแนวนี้ไป ถ้าเน้นของจากเมืองจีนจะมั่วไปหมด” 

ทุกวันนี้ไตเย็บใหม่มีตู้ไม้โบราณสำหรับเก็บลูกไม้ ตู้กระจกที่สะสมกระดุม เลื่อม เข็มกลัด เครื่องประดับสวยงามที่หาจากที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว นอกจากกระดุมก็มีของชิ้นเล็กชิ้นน้อยอย่างดอกเลื่อมและหมวกเลื่อมจากอัฟกานิสถาน ทำจากด้ายทองจึงสีไม่หมอง ยุคก่อนทำส่งให้ชนชั้นสูงของอาหรับอีกด้วย

สมบัติสุดพิเศษเหล่านี้เคยเป็นเครื่องประดับ ของใช้ที่แพร่หลายในวันวาน เมื่อเวลาผ่านไปร้อยปีจากสิ่งที่ไม่ได้นิยามว่าโบราณ ผู้คนก็เปลี่ยนคำเรียกเป็น ลูกไม้โบราณ กระดุมวินเทจ 

ในห้องแถวขนาดเล็ก ณ พาหุรัดที่ตกแต่งอย่างคลาสสิกและเรียบง่าย หากเดินเข้าไปทักทายและขอเลื่อนบานกระจกที่ตู้เปิดดู คุณอาจพบของแวววาวล้ำค่าที่หาจากที่ไหนไม่ได้

เพราะความหรูหราคือสินค้าไม่เหมือนใครที่มีจำนวนจำกัด

     



Writer

Craft Curator & Columnist, Chief Storyteller & Dream Weaver, Editor-in-Cheese, Design Researcher 'Instagram : @rata.montre'

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like