นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

คิดแบบจอมยุทธ์ธุรกิจชา ต้องแสวงหา มิใช่รอคอย

ทางหมื่นลี้ของห้างใบชาลิ้มเมี่ยกี่ ตราสิงห์ม้า กับวิทยายุทธไร้กระบวนท่าที่ทำชามา 108 ปี

ว่ากันว่าคนไทยชอบเดินห้าง แต่คุณเคยเดินห้างใบชาหรือยัง

ณ ห้องแถวซอยเท็กซัส เยาวราช ที่ตรงนี้ย้อนกลับไปในยุคที่เยาวราชเป็นย่านการค้าหลัก คือจุดเริ่มต้นของห้างใบชาลิ้มเมี่ยกี่ ตราสิงห์ม้า กิจการชายุคแรกเริ่มในไทยที่ประสบความสำเร็จในการค้าปลีกและส่งชาทั่วประเทศตั้งแต่ยุคเสื่อผืนหมอนใบ เป็นต้นตำรับของชาหลายชนิด

หากเคยดื่มชาตราดอกบ๊วย น้ำเต้าเขียวเด็กคู่ ใบทอง ต้าหงเผา ตราสิงห์ นกอินทรีย์ทอง นั่นแปลว่าคุณเคยดื่มชาของห้างแห่งนี้

ห้างใบชาลิ้มเมี่ยกี่ ตราสิงห์ม้า

ในยุคสมัยที่กิจการห้างใบชาสัญชาติไทยโด่งดังกว่าแบรนด์ชาหรือกาแฟแฟรนไชส์จากเมืองนอก เรื่องราวเบื้องหลังร้านชาแห่งนี้ไม่ใช่แค่ภูมิปัญญาความรู้เกี่ยวกับชาแต่เป็นกลยุทธ์การทำธุรกิจไร้กระบวนท่าที่มีเสน่ห์

ทั้งการทำการตลาดสไตล์กงสีที่แตกต่างจากการทำแบรนด์ยุคปัจจุบัน การขยายกิจการให้โตทั่วประเทศด้วยรถไฟ ขายชาด้วยสิ่งพิมพ์แค็ตตาล็อก ไปจนถึงกำลังภายในของคนทำธุรกิจครอบครัว

แมค–วัชรพงศ์ เหลืองอรุณศิริ และ ออย–ณภัทชา ภามโนดมผล ทายาทรุ่น 5 เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้ลงคอร์สในห้องเรียนธุรกิจติดแอร์แต่กลับมาเรียนรู้ศาสตร์ธุรกิจจากครอบครัวและสุดยอดเคล็ดลับคือเอกลักษณ์การอบชาแบบดั้งเดิมที่ทำให้ชาตราสิงห์ม้าไม่เหมือนใครและอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้

มาฟังทั้งสองคนเล่าเรื่องราวย้อนกลับไปในยุคสมัยของทายาทรุ่นก่อนไปจนถึงรุ่นบุกเบิกว่าการทำกิจการชาตั้งแต่ยุคแรกเริ่มนั้นเหมือนและแตกต่างจากตำราธุรกิจยังไงบ้าง

ห้างใบชาลิ้มเมี่ยกี่ ตราสิงห์ม้า

หนีระเบิด เกิดเป็นห้างใบชา

ในขณะที่นักธุรกิจและคนรุ่นใหม่ยุคนี้เครียดกับวิกฤตเศรษฐกิจและการปรับตัวให้ทันโลกอยู่เสมอ วิกฤตของ young entrepreneur เมื่อร้อยปีที่แล้วคือหนีสงคราม

พ.ศ. 2457 ผู้ก่อตั้งแซ่ลิ้ม หรือเหล่าโจ๋วกงของทายาทรุ่น 5 ชาตราสิงห์ม้าในปัจจุบันต้องบอกลาครอบครัวที่เมืองเจี๋ยหยาง (揭阳/ เก๊กเอี้ย) มณฑลกว่างตง (广东/กวางตุ้ง) ตั้งแต่วัยรุ่น อพยพมาก่อตั้งกิจการค้าใบชาในไทยพร้อมนำวิชาความรู้ติดตัวที่ได้จากตระกูลค้าใบชาที่จีนมาด้วย

Start small! เหล่าโจ๋วกงไม่ได้สอนแต่ทำทิ้งไว้ให้ดู

เริ่มจากหาบใบชาและยาสูบเร่ขายตามชุมชนและถนน เก็บหอมรอมริบจนมั่นใจว่ามีเงินลงทุนและได้กระแสตอบรับที่ดีจากลูกค้า เห็นโอกาสขยับขยายทางธุรกิจ จึงชักชวนญาติพี่น้องมาช่วยกันเปิดหน้าร้าน ห้างใบชาลิ้มเมี่ยกี่ ตราสิงห์ม้าจึงถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2475 เปิดร้านแรกที่เสือป่าก่อนย้ายมารุ่งทรัพย์ที่เยาวราช

ต่อมาเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาใน พ.ศ. 2485-2488 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ระเบิดตกที่โกดังทำชา สินค้าและอุปกรณ์ทำชาทั้งหมดเสียหายจึงย้ายร้านมาที่ซอยเท็กซัส เยาวราชซึ่งเป็นตำแหน่งร้านในปัจจุบัน

เปิดห้างยังไงให้ปัง

ยุคสมัยก่อนลูกหลานคนจีนโตมากับชา มีวัฒนธรรมชงชากินเองที่บ้าน ตื่นเช้ามาชงชากาใหญ่ ผู้คนนิยมเดินทางมาซื้อหน้าร้าน ใครอยากซื้อชาต้องนึกถึงเยาวราช ซึ่งถือเป็นใจกลางย่านการค้าสมัยก่อนที่คนเดินทางไปมาสะดวก

Right timing, right location! คือหลักเปิดธุรกิจสุดคลาสสิกที่ใช้ได้ทุกสมัย

บรรยากาศห้างใบชาลิ้มเมี่ยกี่ขนาด 2 คูหาที่เปิดถูกที่ถูกเวลาในยุคสมัยที่วัฒนธรรมการดื่มชาเฟื่องฟูแต่ยังไม่มีร้านชาในไทยเยอะมากนัก จึงมีคนแน่นขนัดเหมือนห้างสรรพสินค้าช่วงลดราคาในทุกวันนี้

หากมา ‘เดินห้างใบชา’ จะได้กลิ่นชาหอมอบอวลทันทีที่ย่างก้าวเข้ามา ความหอมของชานี้เป็นเอกลักษณ์ของชาสิงห์ม้า ซึ่งมีชาหลากหลายแบบให้เลือกสมชื่อเรียกกิจการว่าห้างใบชา ทั้งชาไทยสำหรับชงชาเย็น ชามะนาว ชาเขียวไทย ชาดำอย่างชาซีลอนและชาไข่มุก ชาจีนที่แบ่งออกเป็นชาสุ่ยเซียน รสเข้มข้นนุ่มชุ่มคอ ชาทิกวนอิมที่หอมและมีความเข้มข้นหลายระดับ ชาใบทั้งแบบกล่องและถุง ชาหมัก ชาแผ่นสำหรับชงร้อน ชาผงสำหรับชงเย็น

ชาแต่ละแบบยังแบ่งออกเป็นอีกหลายเกรดและรสชาติตามชนิดและกรรมวิธี พร้อมอุปกรณ์ชงชาดั้งเดิมทั้งกาน้ำชา ไก้หว่าน ฯลฯ วางเรียงรายแน่นขนัด เป็นสวรรค์ของคนรักชาที่น่าตื่นตาตื่นใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อย้อนกลับไปเมื่อเกือบร้อยกว่าปีที่แล้ว

สมัยก่อนพื้นที่ในห้างยังถูกแบ่งเป็นอุตสาหรรมทำชาขนาดเล็ก ในตึกสามชั้นมีโกดังเก็บชา ที่อบชา โรงงานอบชาที่มีเตาอบหลายแบบทั้งเตาไฟฟ้า เตาฟืน เตาถ่าน ซึ่งเป็นความลับที่ทำให้ชาหอมและเข้มข้นชุ่มคอ

โฆษณาให้ดังไกลหมื่นลี้

ด้วยเป็นครอบครัวใหญ่ ญาติพี่น้องตระกูลลิ้มซึ่งนับเป็นรุ่น 2 ของกิจการร่วมแรงร่วมใจกันทำการตลาด ขายของและหาลูกค้าใหม่ทุกวันด้วยสารพัดวิธีต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสิบปี     

แมค ทายาทรุ่น 5 เล่าถึงการตลาดสมัยก่อนว่า “เซลส์ถือกระเป๋าหนึ่งใบ นั่งรถไฟไปต่างจังหวัด เอาแค็ตตาล็อกเข้าไปหาร้านโชห่วย” แยกย้ายกันไปหลายจังหวัดทั่วประเทศ ทำให้ขยายตลาดค้าส่งในต่างจังหวัดได้อย่างรวดเร็ว พ่วงด้วยออกโฆษณาโทรทัศน์ ออกงานที่คนเข้าร่วมล้นหลามในสมัยนั้นอย่างงานกาชาดและงานวชิราวุธเพื่อให้เป็นที่รู้จักมากที่สุด

วิชาการทำแบรนด์ 101 ของคนยุคก่อนคือ แตกแบรนด์เดียวออกเป็นหลายแบรนด์ แม้เครื่องหมายการค้าหลักคือสิงห์ม้าแต่ในแค็ตตาล็อกจะพบแพ็กเกจชาในดีไซน์คลาสสิกหลากหลายแบบภายใต้ชื่อยี่ห้อที่แตกต่างกัน ทั้งดอกบ๊วย น้ำเต้า นกอินทรีย์ทอง ตั้งชื่อตามชนิดและรสชาติของชาที่แตกต่างกันออกไป

ห้างใบชาลิ้มเมี่ยกี่ ตราสิงห์ม้า

ถ้าเปรียบกับปัจจุบัน สิงห์ม้าเป็นดั่ง house brand หรือสินค้าตราห้างนั่นเอง ส่วนชื่อตราที่แตกออกไปมากมายคล้ายแบรนด์ย่อยภายใต้ห้างหรือบริษัทนั้นๆ ตราดอกบ๊วยเป็นชาจีน ตรานกอินทรีย์ทองเป็นชาซีลอน ตราสิงห์เป็นชาผง เป็นต้น ทำให้ลูกค้าทั้งปลีกและส่งจดจำชื่อและรุ่นชาได้ง่ายจนคงเอกลักษณ์ใช้ต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

เมื่อห้างชาเป็นที่รู้จักโด่งดังก็เชิญชวนดารามาเป็นพรีเซนเตอร์ที่ร้าน จัดลดแลกแจกแถมของสมนาคุณและของรางวัล อย่างการแจกแก้วสกรีนลายห้างใบชาลิ้มเมี่ยกี่แถมไปในกระป๋องชา ใครได้แก้วลิ้มเมี่ยกี่ไปใช้ถือเป็นคอชาที่คูล ไม่ต่างกับคอกาแฟยุคปัจจุบันที่นิยมถือแก้วสตาร์บัคส์

ห้างใบชาลิ้มเมี่ยกี่ ตราสิงห์ม้า

อบชาให้หอมหมื่นลี้กับสำนักชาสิงห์ม้า

พระเอกที่ทำให้ชาตราสิงห์ม้าอยู่ได้นานกว่าศตวรรษคือ ศาสตร์การอบชาแบบดั้งเดิม 

ออย (ทายาทรุ่น 5) เล่าว่า สมัยก่อนมีแต้ซือ หรือ ผู้เชี่ยวชาญด้านชาจีนมาถ่ายทอดความรู้ให้สมาชิกในครอบครัว ทายาทบางรุ่นอย่างอาติ่ง–วีรพล มโนดมผล ทายาทรุ่น 3 ศึกษาชาจนเชี่ยวชาญถึงขั้นเป็นแต้ซือด้วยตัวเอง 

ในขณะที่บุณณดา เตชะกัลยาณิน (ทายาทรุ่น 4) บอกว่าแต่ก่อนศึกษาชาไปเรื่อยๆ จากการช่วยผู้ใหญ่ หัวใจคือคลุกคลีอยู่กับชาจนชำนาญ ทายาทแซ่ลิ้มแต่ละรุ่นต้องฝึกชิมชาซึ่งเป็นศาสตร์ที่ละเอียดอ่อนเปรียบได้กับการชิมน้ำเปล่าให้รู้รสแตกต่างกัน “เวลาเรากินน้ำเปล่า 10 ขวด ถ้ากินเยอะจะรู้ว่าไม่เหมือนกันทั้งกลิ่นและรสชาติ” ศิลปะของชาก็เช่นกัน แต่ละคนชิมแล้วรสชาติอาจไม่เหมือนกัน จึงต้องชิมให้เยอะแล้วมาคุยกัน 

กรรมวิธีอบชาของสิงห์ม้ามีหลายวิธีทั้งเตาไฟฟ้าและเตาถ่านดั้งเดิม แต่แมคบอกว่าการอบถ่านที่อนุรักษ์มาตั้งแต่รุ่นแรกนั้นเป็นชาเกรดพรีเมียมที่สุด ทุกขั้นตอนใช้คนดูแลซึ่งต้องใช้ฝีมือ

รายละเอียดเล็กน้อยที่ส่งผลต่อรสชาติของชามีทั้งระยะเวลาอบ ความแรงและความร้อนของไฟ ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้ขึ้นอยู่กับว่าต้องการให้ชาเป็นรสชาติแบบไหน ต้องลองผิดลองถูกจนรู้จริง พิถีพิถันสังเกตวิธีการวางถ่านและฟืน เก็บชาในห้องที่เหมาะสมกับรูปแบบการทำชาแต่ละแบบเพื่อให้กลิ่นหอมอบอวล คั่วใบชาให้ได้รสชาติใกล้เคียงเดิมที่สุด 

สำหรับชาจีนรุ่นดั้งเดิมจะบรรจงห่อชาด้วยมือที่ฝึกฝนการห่อนานหลายสิบปีจนเชี่ยวชาญ ใช้กระดาษพิเศษจากจีนที่ไม่มีกลิ่น เก็บใบชาที่ห่อแล้วในลังดีบุกเพื่อไม่ให้ชื้นและมีกลิ่นอับ เมื่อเปิดฝาถังชาออกมาจะได้กลิ่นหอมอบอวล

ห้างใบชาลิ้มเมี่ยกี่ ตราสิงห์ม้า
ห้างใบชาลิ้มเมี่ยกี่ ตราสิงห์ม้า

กรรมวิธีเหล่านี้ โดยเฉพาะการอบชา คือประสบการณ์กว่าร้อยปีที่สะสมบ่มเพาะจนสามารถสร้างสรรค์รสชาติเอกลักษณ์ที่ทุกวันนี้ยังคงรายละเอียดดั้งเดิมไว้ได้ เป็นตำราสืบทอดจากบรรพบุรุษที่ยากจะบันทึกเป็นขั้นตอน 1 2 3 4 ไว้ได้ทั้งหมด 

ศาสตร์ชาเหมือนวิชากระบี่ไร้กระบวนท่าที่ต้อง ‘รู้ทุกท่าจนคิดวิธีแก้ทางได้ทุกอย่าง’ แต่เดิมชามีเป็นร้อยชนิดที่แมคและออยบอกว่าคงจำไม่ได้ทั้งหมด แต่เมื่อรู้หลักการทำชาโดยคร่าวก็สามารถปรับแต่งรสชาติชาได้ตามใจชอบ เพิ่มรสเปรี้ยวนิดหวานหน่อยได้ตามต้องการ 

หากกระบี่ไร้กระบวนท่าเพราะต้องปรับไปตามคู่ต่อสู้ จะเก่งหรือไม่ขึ้นอยู่กับความเข้าใจในศาสตราและอาวุธที่หลากหลาย ชาก็ไร้กระบวนท่าเพราะปรับไปตามสิ่งที่ลูกค้าต้องการเช่นกัน การเรียนรู้ทั้งศาสตร์ชาไทยที่เติมน้ำแข็งให้หอมเข้มข้นสดชื่นและการชงชาจีนที่หอมกลิ่นควันจากการคั่วให้รสเข้มข้นชุ่มคอจึงเหมือนเรียนวิทยายุทธของชาครบจบทั้งหยินและหยาง 

แมคบอกว่าเข้ามาเริ่มศึกษาธุรกิจครอบครัวเพราะ “ถ้ายังไม่ทำอะไร อีกหน่อยเรื่องนี้จะหายไป  ต้องเรียนจากทุกทาง” คือหน้างานและผู้คน ไม่เหมือนเรียนหนังสือแต่เหมือนเรียนวิทยายุทธในสำนักชา

“คนที่รู้เรื่องชาตั้งแต่ต้นและให้เราสัมภาษณ์ได้เหลือน้อยลงทุกที เราไปคุยกับอาเจ็ก คนรุ่นก่อน แลกเปลี่ยนกับหลายคนเพราะเรายังรู้ไม่เยอะ ต้องรักษาความรู้เหล่านี้ให้สืบทอดต่อไป” แม้จะเรียนแล้วยาก แต่อยู่ที่ใจ “ถ้าใส่ใจและให้เวลากับมันเพียงพอ ก็ไม่เกินความสามารถ”

ห้างใบชาลิ้มเมี่ยกี่ ตราสิงห์ม้า

วิทยายุทธตั้งชื่อชา    

สำหรับคนนอกวงการชาอาจรู้สึกว่าร้านชาเข้าถึงยาก เฉพาะชาจีนสุ่ยเซียนก็แบ่งชาออกเป็นหลายเกรดที่ชื่อคล้ายกันมากมายอย่าง ต้นเก่า เก่าจริง เก่าเกรดที่หนึ่ง เกรดดี ชื่อในภาษาจีนก็ออกเสียงคล้ายกัน มีทั้ง เจี้ยจี่ เกาจี่ หยีจี่ ปิ่งจี่ เจินจี่ 

แมคที่เป็นคนรุ่นใหม่จึงหาทางเล่าเรื่องชาให้เข้าใจง่ายมากขึ้นด้วยการทำเมนูที่เรียงสเกลความเข้มข้นของรสและความหอมของชาเพื่อให้ลูกค้าเลือกได้ง่ายขึ้น

รวมทั้งแปลชื่อชาจีนบางชนิดจากภาษาจีนแต้จิ๋วเป็นชื่อไทยที่คนจำง่าย “สมัยก่อนไม่มีคำพวกนี้ เราเอามาแปลเป็นไทยตรงตัวอย่างกุญแจทอง น้ำเต้าเพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงได้ง่ายขึ้น” 

การตั้งชื่อชาเป็นทั้งวิธีการบรรยายสรรพคุณและการตลาดของคนจีนตั้งแต่โบราณแล้ว คนสมัยก่อนมักนำเรื่องเล่าและนิทานมาตั้งเป็นชื่อชา การเข้าใจความหมายของคำจึงทำให้เข้าใจที่มาของชาไปด้วย

ห้างใบชาลิ้มเมี่ยกี่ ตราสิงห์ม้า

ตัวอย่างเช่น ชาจักรพรรดิมาจาก ในอดีตจักรพรรดิจีนไม่สบายเลยไปเด็ดชาจากยอดเขา พอดื่มแล้วร่างกายหายเจ็บป่วย ทำให้ชาเป็นที่เลื่องลือว่าสามารถดื่มเพื่อล้างพิษหรือรักษาสุขภาพได้ หากเลือกชาจากยอดเขาโดยเฉพาะก็จะยิ่งมีมูลค่าสูงที่มีสรรพคุณบำรุงร่างกาย ดั่งได้ดื่มชาเหมือนจักรพรรดิ

ส่วนชาไม่รู้ฤดูใบไม้ ผลิมาจากเรื่องเล่าว่าชาชนิดนี้จะงอกหลังฤดูใบไม้ผลิเท่านั้น ต้องสังเกตจุดสิ้นสุดของฤดูแล้วเก็บให้ทัน

เพราะชามีความหมาย ผู้คนจึงนิยมให้ชาเป็นของขวัญกันตั้งแต่ยุคก่อน ด้วยห้างใบชาลิ้มเมี่ยกี่สืบสานการห่อชาแบบดั้งเดิมมานาน แมคจึงทำห่อชาเป็นเซตของขวัญที่ผูกกับหลักฮวงจุ้ย จับคู่ชาแต่ละคาแร็กเตอร์กับธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ เพื่ออวยพรคนทั้ง 5 ธาตุ ตั้งชื่อว่าเซต 5 มงคล

ชาจักรพรรดิแทนธาตุดิน ชากุญแจทองที่มีรสหนักสีเข้มแทนธาตุทอง ชาขาวเข็มเงินที่รสเบา กลิ่นหอม ดื่มง่าย แทนธาตุน้ำที่เป็นคนสบายๆ ส่วนชามังกรดำมีกลิ่นคั่วจากถ่านไม้แทนธาตุไม้

การตั้งชื่อและเล่าเรื่องชาเหล่านี้สามารถทำเองง่ายๆ สไตล์ธุรกิจขนาดเล็ก แต่กว่าจะจรดจดคำเป็นชื่อชาและรวบรวมเป็นคอนเซปต์ให้เป็นเรื่องง่ายแบบนี้ได้ต้องศึกษาจนรู้จริงอย่างละเอียดให้ได้ก่อน

ห้างใบชาลิ้มเมี่ยกี่ ตราสิงห์ม้า

มาตรฐานในวันวานและวันนี้  

ความท้าทายของธุรกิจเก่าแก่กว่าร้อยปีคือการคงมาตรฐานเดิมและสร้างมาตรฐานใหม่  

มาตรฐานเดิมคือทำยังไงให้ดีเท่าเดิม

ออยบอกว่ากาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้คุณภาพชาจากต้นทางไม่เหมือนเดิม 

“ชาแต่ละตัวที่มาจากจีนไม่เคยเหมือนกันเลย การคงสิ่งเดิมให้คุณภาพเท่าเดิมหรือดีกว่าเดิมก็เป็นเรื่องยากมากแล้ว”

พอดินฟ้าอากาศเปลี่ยน ผลผลิตและรสชาติย่อมเปลี่ยนตามแต่ลูกค้าที่ดื่มชามายาวนานย่อมคาดหวังชาสเปกเดิม “ความยากคือความดั้งเดิม ถ้าเป็นเครื่องจักร เรากดสั่งได้ แต่ของเราเป็นศาตร์และศิลป์ เราเอาวัตถุดิบจากธรรมชาติมาทำ เลยกำหนดธรรมชาติไม่ได้ว่าจะต้องเป็นแบบเดียวกันทุกครั้ง” สิ่งที่ทำได้คือพยายามทำให้ใกล้เคียงแบบเดิมที่สุด 

มาตรฐานใหม่คือทำยังไงให้ปรับไปตามโลกได้  

โลกต้องการสร้างมาตรฐานใหม่เพิ่มขึ้นทุกวัน เช่น มีกฎหมายควบคุมความสะอาดเพิ่มเติมจากยุคเสื่อผืนหมอนใบ ลูกค้าโรงงานเจ้าประจำอยากได้คุณภาพที่มั่นคงซึ่งแมคบอกว่า

“ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน สิ่งที่ปรับมาเยอะคือ มาตรฐานการผลิต เราไม่เหมือนสมัยก่อนในเรื่องมาตรฐานแต่กระบวนการยังคงแบบเดิม”

ห้างใบชาลิ้มเมี่ยกี่ ตราสิงห์ม้า

ทั้งนี้แพ็กเกจของห้างใบชาลิ้มเมี่ยกี่ตราสิงห์ม้ายังคงชื่อแบรนด์และกลิ่นอายดีไซน์จากสมัยก่อนด้วย แต่ปรับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในบางรุ่น จากกระป๋องชาไทยยุคดั้งเดิมที่ทำให้ขนส่งยากและราคาแพงในยุคปัจจุบัน ก็เปลี่ยนเป็นซองเพื่อให้ขนส่งปริมาณเยอะได้สะดวกขึ้น

มาตรฐานใหม่ยังรวมถึงการสร้างสิ่งใหม่ที่ต้องปรับไปตามยุคสมัยด้วย จากฐานกลุ่มลูกค้าต่างจังหวัดที่ขายมายาวนานจนเป็นที่รู้จักแล้วก็ขยายมาโปรโมตในกรุงเทพฯ มากขึ้น เพิ่มช่องทางขายออนไลน์ตามยุคสมัย เพิ่มสินค้ารุ่นใหม่  

แมคสังเกตเห็นว่า “คนที่ชอบดื่มชาดอกบ๊วยก็ยังมีอยู่มาก แต่มีคอชากลุ่มใหม่ขึ้นมาอย่างวัยรุ่นที่ชอบชาผลไม้ รุ่นเราเลยทำชาพีชออกมา เราผสมใบชาเอง คั่วชาเอง ทำได้เองหมดเลย ทำให้พัฒนาชารสใหม่จากสิ่งที่เรามีอยู่แล้วได้” การทำชาขึ้นอยู่กับคนผลิต ส่วนความต้องการสินค้าต้องสังเกตจากลูกค้า

ห้างใบชาลิ้มเมี่ยกี่ ตราสิงห์ม้า

กำลังภายในของทายาทบู๊ลิ้ม
ที่ทำธุรกิจอยู่กับปัจจุบัน

ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่เคยทำงานประจำในบริษัทมาก่อนทำธุรกิจครอบครัว แมคบอกว่า

“เราเคยคิดว่าเราเก่งจนพอมาทำธุรกิจถึงพบว่ามันต่างกัน ในแง่ความทุ่มเทและใจที่เราลงไป เราเคยคิดว่าเราทำได้แค่นี้ แต่ความจริงเราทำได้มากกว่านั้นเยอะ ไม่มีใครบอกว่าให้ทำยังไง เราต้องดูแลทั้งหมด ทุกอย่างเกิดจากใจ ลงมือลงแรงด้วยตัวเอง ไม่ได้มีหลักสูตรเรียน”

“บางทีเรามองว่าสิ่งที่คนรุ่นก่อนทำมันเก่า แต่จริงๆ แล้วมันไม่ได้เก่า มันมีคุณค่า สิ่งที่เขาทำคือ the best at that time แล้วในตอนนั้น สิ่งที่เราทำ คือ the best ของเราในเวลานี้เหมือนกัน เราจะเอาสิ่งที่มีมาใช้ยังไงให้เหมาะกับเวลาและพื้นฐานของเรามากกว่า”

กาลเวลาผ่านไปกว่า 100 ปีจากวันที่เหล่าโจ๋วกงของทายาทรุ่น 5 ก่อตั้งกิจการชา บุณณดาบอกว่า “ไม่ค่อยกังวลกับกิจการชาที่เปิดใหม่เพราะค้าขายกันคนละแนว  ชามีหลายชนิดและปรุงแต่งได้หลายแบบ เป็นทางเลือกหลากหลายให้คนดื่มชาได้หลายแนว”

นอกจากต่อยอดจากคนรุ่นก่อน หนุ่มสาวทายาทรุ่น 5 ยังบอกว่าอยากต่อยอดกับกิจการอื่นในเยาวราชแถวนี้ด้วย “เรามองว่ากิจการเรามีเรื่องเล่าและความเชี่ยวชาญด้านชา ธุรกิจและคาเฟ่อื่นๆ ก็มีความเชี่ยวชาญในวัตถุดิบที่ต่างกัน มองว่าสามารถแลกเปลี่ยนให้เกิดเมนูใหม่ร่วมกันได้” 

ศาสตร์ของชาไม่ใช่แค่ปลายทางที่ได้ดื่มชาแต่รวมถึงกระบวนการชงที่แมคบอกว่า “เวลาดื่มชาเหมือนได้กลับมาอยู่กับตัวเอง” คล้ายการทำธุรกิจที่ไม่ใช่แค่ปลายทางแต่เป็นเรื่องระหว่างทางที่มีความหมาย 

จิบชาแล้วจดบทเรียนจากแมค ทายาทรุ่น 5 ในวันนี้ไว้ว่า 

“เราเรียนรู้ว่าคนรุ่นก่อนทำอะไรมาเยอะกว่าที่เราคิด การที่เขาไม่ได้พูดไม่ได้หมายความว่าไม่ได้ทำ แต่ให้โอกาสเราทำ ถ้ายังไม่พร้อมเปลี่ยนแปลงทันที ยังไม่พร้อมลงทุนมาก ลองไปดูก่อนว่าสิ่งที่คนรุ่นก่อนทำมา เขาทำไปเพื่อจุดประสงค์อะไรและจะปรับกับเราได้ยังไงบ้าง แล้วใช้สิ่งที่เรามีสู้กับปัจจุบัน”

“ลองเข้าไปดูแล้วจะรู้ว่าผ่านอะไรมา”

ห้างใบชาลิ้มเมี่ยกี่ ตราสิงห์ม้า

Writer

Craft Curator, Chief Dream Weaver, Lifestyle Columnist, Editor-in-Cheese, Design Researcher 'Instagram : @rata.montre'

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like