นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

1211
November 20, 2023

100 Years of Kyoto’s Food Brands

จิตวิญญาณของแบรนด์อาหารและเครื่องดื่มหลัก 100-1,000 ปีในเกียวโต

Shinise ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่าธุรกิจที่อยู่มายาวนานอย่างน้อย 100 ปีขึ้นไป 

สาเหตุที่มีศัพท์เฉพาะเพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่รักษาเอกลักษณ์และคุณค่าของธุรกิจเก่าแก่ไว้ได้เยอะที่สุดประเทศหนึ่ง จากข้อมูลของ the Tokyo-based Research Institute of Centennial Management พบว่า ญี่ปุ่นมีธุรกิจหลักร้อยปีกว่า 30,0000 ราย ซึ่งคิดเป็น 40% ของโลก ราว 140 ธุรกิจในนั้นมีอายุกว่า 500 ปี และมีอย่างน้อย 19 รายที่อายุถึงหลักพันปี

เกียวโตเป็นหนึ่งในเมืองที่มีธุรกิจเก่าแก่ที่สุดรวมกันอยู่มากที่สุด เนื่องจากเคยเป็นเมืองหลวงเก่า Shinise เหล่านี้เป็นธุรกิจครอบครัวที่ถือกำเนิดเมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว สามารถส่งต่อภูมิปัญญาและความเชื่อในการทำธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่นและยังรักษาคุณค่าหลักของธุรกิจดั้งเดิมเอาไว้ได้ 

วันนี้ Capital ขอพาเดินชม Capital of Shinise ย้อนเวลากลับไปเปิดประวัติศาสตร์ของเมืองตั้งแต่หลักร้อยถึงพันปีเพื่อทำความรู้จักเหล่าผู้ประกอบการร้านอาหารและเครื่องดื่มในเมืองโบราณอย่างเกียวโต

ชวนฟังเบื้องหลังโรงสาเก Gekkeikan อายุ 386 ปี, หลังครัวของ Honke Owariya ร้านโซบะและขนม 558 ปี, ความเป็นมาของ Tsuen Tea ชา 863 ปีที่เก่าแก่ที่สุดในโลกและสปิริตของ Ichimonjiya Wasuke โมจิที่อยู่คู่กับศาลเจ้ามา 1,000 ปีว่าอะไรคือจิตวิญญาณสำคัญที่ทำให้ร้านรวงเหล่านี้ยังยืนหยัดอยู่จนถึงทุกวันนี้

Fighting Heart of Gekkeikan
สาเก 386 ปี 14 รุ่น 

สิ่งสำคัญที่ทำให้สาเก Gekkeikan เป็นบริษัทที่แข็งแกร่งคือหัวใจนักสู้ที่ไม่ยอมแพ้ในการคิดค้นนวัตกรรม

ย้อนกลับไปราว 300 ปีที่แล้ว ชายผู้หนึ่งนาม Jiemon Okura ก่อตั้งโรงผลิตสาเกชื่อ Kasagiya ขึ้นใน ค.ศ. 1637 ที่เขตฟุชิมิซึ่งเป็นย่านที่ขึ้นชื่อเรื่องน้ำบาดาลใสสะอาดและรสชาตินุ่มนวลเหมาะแก่การนำมาทำสาเก ทำให้ต้นตระกูล Okura สามารถคิดสูตรสาเกที่มีเอกลักษณ์เฉพาะขึ้นมาได้ โดยช่วงแรกโรงสาเกของเขาเป็นร้านเล็กๆ ที่ขายสาเกให้คนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวในย่าน

ภาพ : Gekkeikan

ในยุคนั้นสภาวะเศรษฐกิจไม่เป็นใจกับธุรกิจสาเกนัก โรงผลิตสาเกจำนวนมากในญี่ปุ่นลดลงอย่างฮวบฮาบ จากที่เคยมีผู้ผลิตสาเก 83 แห่งใน ค.ศ. 1657 ก็เหลือเพียง 28 แห่งใน ค.ศ. 1785 จากปัจจัยภายนอกหลายอย่างทั้งความรู้ทางวิทยาศาสตร์ยังไม่มีการพัฒนาให้สามารถเก็บสาเกได้นาน การขาดแคลนข้าวซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการหมักสาเกซึ่งเป็นผลกระทบจากสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงและศัตรูพืช โรงผลิตสาเกในยุคนั้นยังเกิดไฟไหม้บ่อยครั้งเพราะต้องใช้ไฟในกระบวนการผลิต อีกทั้งเมืองฟุชิมิยังเจอสงครามราคาของตลาดสาเกจากพื้นที่ใกล้เคียงไปจนถึงสงครามโบชิงที่เมืองถูกถล่ม

ครอบครัว Okura พาธุรกิจสาเกฝ่าวิกฤตเหล่านี้รอดมาถึงรุ่นที่ 10 ในฐานะโรงกลั่นสาเกท้องถิ่นซึ่ง
นับเป็นช่วงเวลายาวนานถึง 250 ปี จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ยุคโมเดิร์นของทายาทรุ่นที่ 11 ชื่อ Tsunekichi Okura ที่ขยายธุรกิจให้โตขึ้นถึง 100 เท่า เขาเริ่มเข้ามาช่วยสานต่อและฝึกทำสาเกตั้งแต่อายุ 13 ปี แต่อุปสรรคสำคัญที่พบคือไม่สามารถเก็บรักษาสาเกได้นานเพราะปัจจัยจากแบคทีเรีย

Tsunekichi ได้พากเพียรทำงานหนักและค้นคว้าการพัฒนาสาเกให้ดีขึ้นอย่างไม่ยอมแพ้แม้จะล้มเหลวอยู่หลายครั้งก็ตาม จนทำให้สามารถคิดค้นวิธีเก็บสาเกได้นานขึ้นเป็นคนแรกในบรรดาโรงกลั่นผู้ผลิตสาเกในญี่ปุ่น และทำให้สามารถเปลี่ยนมาขายสาเกแบบขวดได้ ส่งผลให้สามารถขายสาเกแบบแมสในจำนวนมากขึ้นจากแต่เดิมที่ผู้คนคุ้นชินกับการซื้อสาเกแก้วเล็กๆ ไม่กี่แก้วมารินดื่มที่บ้าน

ภาพ : Gekkeikan

ดีมานด์ของตลาดที่เพิ่มขึ้นจากการขายแบบแมสนี้เองที่ทำให้ธุรกิจขยายเติบโตตาม ทั้งสามารถขยายโรงผลิตสาเก วางระบบบัญชีและธุรกิจหลังบ้านแบบตะวันตก สร้างแบรนด์ชื่อ Gekkeikan ไปจนถึงก่อตั้งแล็บวิจัย Okura Sake Brewing Institute ซึ่งเป็นรากฐานทางนวัตกรรมสำคัญที่ทำให้เป็นธุรกิจสาเกที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดและแตกต่างจากแบรนด์อื่น

ทุกวันนี้ Gekkeikan อยู่ในความดูแลของทายาทรุ่น 4 และขยายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศอย่างอเมริกาเพื่อส่งออกสาเกไปหลายประเทศทั้งแคนาดา อเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย โดยยังคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่เสมอ สมกับเป็นแบรนด์ผู้นำสุดแข็งแกร่งที่บุกเบิกอุตสาหกรรมสาเกในญี่ปุ่น

หากใครอยากอ่านประวัติการทำธุรกิจของ Gekkeikan อย่างละเอียดเพิ่มเติม ทางแบรนด์ยังทำการ์ตูนมังงะเล่าประวัติธุรกิจครอบครัวและวัฒนธรรมการทำสาเกในเว็บไซต์ที่สามารถเข้าไปอ่านกันสนุกๆ ได้

ภาพ : Gekkeikan


Delicacy of Honke Owariya 

โซบะ 558 ปี 16 รุ่น 

หัวใจของร้านโซบะ Honke Owariya คือความใส่ใจในทุกรายละเอียด

ก่อนทำโซบะขาย ครอบครัว Owariya เริ่มจากเปิดร้านขนม ค.ศ. 1465 ในยุคมูโรมาจิโดยเน้นทำ soba mochi ขนมไส้ถั่วแดงที่ทานง่ายและพบเห็นได้ทั่วไปในญี่ปุ่น จุดเปลี่ยนของร้านเกิดขึ้นในยุคเอโดะ ในสมัยนั้นพระนิกายเซนเป็นผู้ผลิตโซบะด้วยตัวเองที่วัดและใช้การทำโซบะเป็นการฝึกฝนจิตใจ ต่อมาเมื่อโซบะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นทำให้วัดต้องหาแหล่งสำหรับช่วยทำเส้นโซบะ เมื่อเล็งเห็นว่าร้านทำขนมมีความเชี่ยวชาญในการทำแป้งอยู่แล้ว จึงกระจายงานให้ร้านเหล่านี้ หากใช้ศัพท์ธุรกิจอาจกล่าวได้ว่าวัดเลือกใช้ร้านขนมเป็นแหล่งผลิต OEM เส้นโซบะให้นั่นเอง 

และร้าน Honke Owariya ที่ขึ้นชื่อเรื่องการทำขนมจากแป้งโมจิสุดอร่อยก็ได้รับเลือกเป็นหนึ่งในร้านที่เข้ามาช่วยในการผลิต กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ร้านหันมาทำโซบะส่งให้วัดหลายแห่งในญี่ปุ่นและเมื่อทำแล้วมีความโดดเด่นก็ได้รับคำสั่งให้ทำโซบะส่งให้พระราชวังอิมพีเรียลอีกด้วย

โชคช่างเข้าข้างให้กิจการรุ่งเรือง เพราะหลังจากนั้นวัฒนธรรมการทานโซบะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นอาหารประจำเทศกาลปีใหม่ และโซบะยังถูกมองเป็นอาหารล้ำค่าดั่งทอง เพราะช่างทำทองของญี่ปุ่นในสมัยก่อนจะใช้แป้งโรยที่พื้นเพื่อเก็บทองที่ติดมากับแป้ง

นอกจากตลาดเป็นใจให้สำเร็จแล้ว หัวใจของการทำโซบะที่ Honke Owariya สืบทอดตลอดมาคือความเชื่อว่าอาหารคือ ‘ของขวัญจากทำธรรมชาติ’ สูตรลับคือต้องพิถีพิถันในการเลือกวัตถุดิบที่ดีและทำอาหารโดยไม่ปรุงแต่ง ทั้งใช้น้ำแร่จากภูเขา Hiei สำหรับทำเส้นและซุป เลือกแหล่งแป้งเส้นโซบะจากฮอกไกโดและเลือกวัตถุดิบเครื่องเคียงทุกอย่างที่ดีที่สุดจากธรรมชาติ 

ความพิถีพิถันนี้เห็นได้จากการขยายสาขาที่อยากคงการใช้วัตถุดิบที่ดีที่สุดไว้ เช่น เมื่อขยายสาขาไปอยู่ในห้าง Takashimaya ทางร้านก็ขุดบ่อน้ำมาปรุงอาหารเองเพื่อให้คงคุณภาพและรสชาติกับสาขาดั้งเดิม หากเป็นสาขาอื่นที่ขุดบ่อน้ำเองไม่ได้ ก็ต้องรอให้สาขาหลักส่งน้ำแร่ไปให้เท่านั้น โดยทุกวันนี้ร้านยังขายเส้นโซบะส่งทั่วญี่ปุ่นสำหรับคนที่อยากทานที่บ้านโดยยังยึดหลักเดิมคือส่งอาหารที่เป็นเหมือนของขวัญจากธรรมชาติและปรุงแต่งน้อยที่สุดให้ลูกค้า 

ทายาทรุ่นปัจจุบันของ Honke Owariya คือ Ariko Inaoka ผู้สืบทอดรุ่น 16 ผู้เคยเป็นช่างภาพที่นิวยอร์กเป็นระยะเวลา 10 ปี เมื่อรู้อาชีพก่อนของเธอแล้วก็ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมภาพในเว็บไซต์ของร้านโซบะแห่งนี้ถึงมีความละมุนที่น่าสะดุดตา นั่นก็เพราะเป็นความตั้งใจของ Ariko ที่อยากถ่ายทอดความสวยงามของอาหารและธรรมชาติในเกียวโตผ่านเรื่องเล่าจากร้านโซบะนั่นเอง

นอกจากโซบะแล้ว ทุกวันนี้ทางร้านยังคงทำขนมควบคู่ไปด้วยเหมือนยุคแรกเริ่มและยังนำเสนอเมนูใหม่พร้อมแพ็กเกจใหม่อยู่เสมอ ขนมส่วนใหญ่จะนำแป้งมาประยุกต์เป็นเมนูใหม่ที่สอดคล้องกับเมนูหลักอย่างโซบะ ไม่ว่าจะเป็น Soba Rice Cake, Soba-ita, Soba-Boru โดยคนในตระกูลแต่ละเจเนอเรชั่นจะหมั่นนำเสนอขนมเมนูใหม่สุดพิเศษในช่วงของตัวเอง เช่น รุ่น 14 นำแป้งโซบะมาทำแคร็กเกอร์ รุ่น 15 ทำโมจิย่าง รุ่น 16 ทำขนมญี่ปุ่นโบราณชื่อ karinto ที่หวานกรอบ

หากเข้าไปที่เว็บไซต์ของ Honke Owariya จะพบเรื่องเล่าเบื้องหลังของผู้ผลิตวัตถุดิบต่างๆ ที่ถ่ายทอดให้เห็นถึงความใส่ใจในอาหารและผู้คน ซึ่งทำให้กลายเป็นร้านโซบะที่อบอุ่นจนคนเกียวโตหลงรักมากว่า 500 ปี

ภาพ : Honke Owariya

Everyday Consistency of Tsuen Tea
ชา 863 ปี 24 รุ่น 

เหตุผลที่ชา Tsuen Tea อยู่มาถึงหลัก 800 ปีคือความสม่ำเสมอในการเรียนรู้และพัฒนา แวะมาที่ย่านอุจิในเมืองเกียวโตที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกชาเขียวที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นกันบ้าง ย่านนี้เป็นที่ตั้งของ Tsuen Tea ร้านชาเจ้าแรกๆ ในย่าน และยังนับเป็นร้านชาที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอีกด้วย 

ต้นตระกูล Tsuen เป็นซามูไรมาก่อน ผู้ก่อตั้งคือ Masahisa Tsuen ที่หันมาทำร้านชาใน ค.ศ. 1160 หลังเกษียณจากซามูไร เริ่มจากการขายใบชา ชงชาคุณภาพดี และเริ่มขายขนมจากชาตั้งแต่ ค.ศ. 1965 

ด้วยโลเคชั่นที่เป็นทางผ่านระหว่างเกียวโตกับนาระและมีแหล่งวัตถุดิบผลิตชาอุจิรสเลิศ ทำให้ร้านชา Tsuen Tea โด่งดังและมีบรรดาซามูไร ขุนนางชั้นสูง นักบวช แวะมาจิบชามากมายเมื่อหลายร้อยปีก่อน

ภาพ : Tsuen Te

ความพิเศษคือการคัดเลือกใบชาชั้นดีเฉพาะส่วนยอดชาอ่อน ผ่านกระบวนการรีด หมัก และบดใบชาด้วยกรรรมวิธีโบราณในการชงชา โดยในวันนี้ Tsuen Tea ภายใต้ความดูแลของทายาทรุ่นที่ 24 Yusuke Tsuen ได้รักษาเอกลักษณ์ความดั้งเดิมไว้ และปรับเมนูใหม่เพิ่มเข้ามาอย่างเมนูของหวานที่โมเดิร์นขึ้น เช่น พาร์เฟต์ชาเขียว 

แม้หน้าร้านของแบรนด์จะมีเพียงสาขาเดียวที่เกียวโต ปัจจุบัน Tsuen Tea ได้ทำผงชาสำเร็จรูปสำหรับกระจายช่องทางการขายหลายช่องทาง ทั้งซูเปอร์มาร์เก็ต คาเฟ่ ร้านอาหาร แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ และพี่สาวของทายาทรุ่นปัจจุบันคือ Yuka Tsuen ที่ไปเรียนต่อที่แคนาดาก็ได้โอกาสขยายช่องทางการขายส่งที่แวนคูเวอร์ แคนาดาด้วย

Yuka บอกว่าความท้าทายของเธอคือการนำเสน่ห์ของชาอุจิไปถ่ายทอดที่ต่างประเทศ เพราะยังหาคำพรรณนามาบรรยายรสชาติเอกลักษณ์ของชาในภาษาอังกฤษไม่ได้หมด แม้แต่กับคนญี่ปุ่นเองก็ยังหาคำบรรยายรสชาติของชาในภาษาญี่ปุ่นให้ฟังได้ยาก เธอยกตัวอย่างรสของชา genmaicha ใบชาเขียวผสมข้าวคั่วที่คนแคนาดารู้สึกว่ารสคล้ายป๊อปคอร์น ทั้งที่ความจริงรสไม่เหมือนกันซะทีเดียวแต่ก็ยากจะอธิบายรสออกมาเป็นคำพูดได้ ความท้าทายของ Tsuen Tea จึงเป็นการสื่อสารและเผยแพร่วัฒนธรรมการดื่มชา

Yuka มองว่าการสานต่อธุรกิจหลักร้อยปีของครอบครัวเหมือนกับการเลี้ยงเต่าที่อายุยืนหลักศตวรรษ ตั้งแต่เธอเด็กๆ ครอบครัวของเธอได้เลี้ยงเต่ามายาวนานจากรุ่นสู่รุ่นและเธอคิดว่าการทำธุรกิจครอบครัวเหมือนการเลี้ยงเต่าที่ต้องหมั่นให้อาหารและทำความสะอาดในแต่ละวัน หัวใจสำคัญคือการดูแลอยู่เสมออย่างไม่ละเลย เหมือนที่กิจวัตรประจำวันในครอบครัวตั้งแต่เด็กของเธอคือการตื่นมาชงชา 2 ถ้วยให้ตัวเองและบรรพบุรุษในทุกๆ เช้า ค่อยๆ ฝึกชงชาและสังเกตความชอบของลูกค้าในทุกๆ วัน

ภาพ : Tsuen Tea

การชงชาเป็นศาสตร์ละเอียดอ่อนที่ไม่สามารถขึ้นเป็นกุนซือได้ในวันเดียว แต่ต้องอาศัยการฝึกปรือและสะสมความรู้อย่างสม่ำเสมอ โดยทุกวันนี้ Yusuke ทายาทรุ่นปัจจุบันของ Tsuen tea ยังรับบทบาทเป็น Head of the Kyoto Tea Association Youth Wing ที่ยังเรียนรู้เรื่องชาอยู่เสมอและผลักดันวงการชาให้ก้าวหน้าขึ้นไป

Spirit of Ichimonjiya Wasuke
โมจิ 1,023 ปีที่นับรุ่นไม่ถ้วน 

สปิริตของร้านโมจิที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกคือ purpose ที่ยิ่งใหญ่กว่าแค่กำไร ย้อนกลับไปเมื่อพันปีที่แล้วช่วงโรคระบาดและสงครามในยุคเฮอัน ศาลเจ้าอิมามิยะได้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อเป็นที่พึ่งพิงทางใจให้ผู้คน ท่ามกลางช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ ร้าน Ichimonjiya Wasuke หรือชื่อสั้นว่า Ichiwa เริ่มขาย ‘อะบุริโมจิ’ (โมจิย่าง) ในช่วงเทศกาลยาสุไร เทศกาลของศาลเจ้าอิมามิยะที่ผู้คนมาอธิษฐานให้มีสุขภาพดีโดยมีโมจิย่างเป็นขนมที่ศาลเจ้าแจกให้ผู้หิวโหยในช่วงสงคราม

ภาพ : Japan Travel

ตั้งแต่นั้นมาคนญี่ปุ่นจึงเชื่อว่าอะบุริโมจิสื่อถึงการมีสุขภาพที่ดีและไม้ไผ่ที่เสียบโมจิก็สื่อถึงความเคารพต่อเทพเจ้าที่ศาลเจ้า โมจิของร้าน Ichimonjiya Wasuke จึงเรียกได้ว่าเป็นขนมทางวัฒนธรรมที่อยู่คู่กับศาลเจ้ามาตลอดและมีความมุ่งมั่นในการทำธุรกิจคืออยากเติมความหวังและความหวานในชีวิตให้คนท้องถิ่นในยามที่ชีวิตมีรสขม  

‘อะบุริโมจิ’ ของคนญี่ปุ่นนั้นเป็นโมจิเสียบไม้ไผ่ที่นำไปย่างเตาถ่าน โรยผงคินาโกะจากถั่วเหลืองบดแล้วราดซอสหวานเหนียวเข้มข้นจากมิโซะขาว ความพิเศษของโมจิพันปีคือการรักษาสูตรดั้งเดิมไว้ ทั้งการต้มข้าวสำหรับทำโมจิด้วยน้ำพุธรรมชาติและย่างโมจิบนเตาฮิบาชิดั้งเดิม ออกมาเป็นโมจิย่างสีน้ำตาลเกรียมที่เสิร์ฟร้อนๆ คู่กับชา โดยมีโมจิเป็นเมนูซิกเนเจอร์เมนูเดียวตลอดพันปีที่ผ่านมา กล่าวได้ว่าการ ‘doing one thing’ ทำสิ่งเดียวให้ดีและทำอย่างเชี่ยวชาญคือหัวใจการทำธุรกิจและทำโมจิของร้านพันปีแห่งนี้

ปัจจุบัน Naomi Hasegawa คือทายาทรุ่นที่ 25 วัย 60 กว่าปีที่สืบทอดความหวานอร่อยของโมจิย่างแม้หน้าร้านจะคงความเก่าแก่ตามแบบฉบับร้านไม้ในเกียวโตแบบดั้งเดิมแต่หลังครัวก็มีการปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย ทั้งการใช้น้ำที่ถูกหลักอนามัยและถูกสุขลักษณะมากขึ้น ใช้เครื่องจักรช่วยในการทุบแป้งโมจิ เปลี่ยนจากระบบจ่ายเงินแบบเชื่อใจเป็นการตั้งราคาต่อจาน และมีการออกแบบสวนสไตล์ญี่ปุ่นที่ร้านเพื่อให้ผู้ที่มาทานโมจิได้ค่อยๆ ใช้เวลาละเลียดโมจิ ดื่มชาพร้อมชมสวนอย่างเนิบช้า

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาร้าน Ichimonjiya Wasuke ได้ตัดสินใจว่าจะไม่ขยายร้านตามโลกยุคใหม่ไปทุกอย่าง เช่น การปฏิเสธข้อเสนอการขายโมจิออนไลน์จาก Uber Eats เพราะไม่ได้ต้องการขยายกิจการอย่างใหญ่โตเป็นหลักแต่อยากทำโมจิที่อร่อยอยู่คู่กับศาลเจ้าต่อไป


หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว (One Hundred Years of Solitude) คือวรรณกรรมของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ แนว magical realism ที่เล่าถึงชีวิตของผู้คนเมืองมาก็อนโดหลายรุ่นในช่วงเวลาร้อยปี วรรณกรรมฉายภาพให้เห็นวัฏจักรทั้งเรื่องมหัศจรรย์และหายนะพิลึกพิลั่นสุดขมขื่นที่วนเวียนสลับกันไปในช่วงชีวิตของคนแต่ละรุ่นในตระกูล

ชีวิตจริงของธุรกิจร้อยปีล้วนผ่านหายนะและโชคลาภ ดีและร้ายสลับกันไปในช่วงเวลาหลายร้อยปีเช่นกัน ทั้งโรงสาเกที่เอาตัวรอดจากภัยธรรมชาติในยุคบ้านเมืองลุกเป็นไฟ โชคที่ไม่คาดฝันว่าจะมีโอกาสได้ทำโซบะส่งพระราชวังของร้านขนม ชีวิตที่พลิกผันจากนักรบซามูไรมาทำชาและลูกหลานสืบสานมาตลอด 500 ปี ไออุ่นของร้านโมจิที่เกิดขึ้นข้างศาลเจ้ายามเกิดโรคระบาดและผู้คนอดอยาก

เบื้องหลังวงจรขาขึ้นและลงของธุรกิจในคอลัมน์ ‘100 ปีแห่งความเด็ดเดี่ยว’ คือความเด็ดเดี่ยวที่จะรักษาความเชื่อและจิตวิญญาณของธุรกิจไว้จากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งภาษาญี่ปุ่นมีคำศัพท์เฉพาะเรียกว่า ‘kakun’ คือการยึดมั่นในคุณค่าหลักของธุรกิจมากกว่ากำไรซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ Shinise เหล่านี้อยู่อย่างยืนยาวและยั่งยืนมาได้อย่างยาวนานกว่าศตวรรษ
 

ภาพ : Gekkeikan, Honke Owariya, Tsuen Tea, Japan Travel

อ้างอิง

Writer

Craft Curator, Chief Dream Weaver, Lifestyle Columnist, Editor-in-Cheese, Design Researcher 'Instagram : @rata.montre'

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม Email: y.pongtorn@gmail.com

You Might Also Like