นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

What the Yell

คุยกับ Yell Advertising เอเจนซีไทยอายุ 13 ปี เรื่องวงการโฆษณา และการรักษาให้คนเก่งอยู่กับองค์กร

การดูแลคนในองค์กรว่าเป็นเรื่องที่ยากแล้ว การดูแลคนเก่งให้อยู่กับองค์กรไปนานๆ นั้นยากยิ่งกว่า และการดูแลคนเก่งให้อยู่นานๆ ในเอเจนซีโฆษณา–วงการที่หลายต่อหลายต่างก็บอกว่าพนักงานในวงการนี้มี turn over rate สูง เปลี่ยนงานบ่อย ก็ยิ่งเป็นอะไรที่ยากทวีคูณเข้าไปอีก

วันนี้เราจึงชวน โอห์ม–ดิศรา อุดมเดช CEO และ Founder ของ Yell Advertising เอเจนซีโฆษณาสัญชาติไทยเจ้าของผลงานโฆษณาที่น่าจะเคยผ่านตาใครหลายคนอย่าง ‘จีบได้แฟนตายแล้ว’ โฆษณาที่สร้างสรรค์ให้กับบัตร The One Card จนกลายเป็นไวรัลเมื่อปี 2016 และอีกหลายงานโฆษณารางวัลระดับนานาชาติในปีที่ผ่านมา มาพูดคุยกัน

เพราะรู้มาว่าจากจำนวนพนักงานกว่า 100 คน ค่าเฉลี่ยการทำงานของพนักงานที่นี่นั้นอยู่ที่ประมาณ 5 ปี และกว่า 1 ใน 3 เป็นพนักงานที่อยู่มาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทเมื่อสิบกว่าปีก่อนหน้า

ย้อนกลับไปก่อนที่จะก่อตั้ง Yell หลังจากเรียนจบในสายนิเทศศาสตร์ โอห์มเริ่มต้นทำงานด้วยการเป็น Copywriter ต่อด้วยเป็นครีเอทีฟในบริษัทโฆษณา หลังจากนั้นจึงออกมาเป็นฟรีแลนซ์เพื่อรับงานกับเพื่อนๆ ที่รู้จัก จนเมื่อทำไปได้สักพักจากฟรีแลนซ์ก็นำไปสู่การรวมตัวกับกลุ่มเพื่อนเพื่อเปิด Yell ในปี 2009 

ทว่าบริบทการเปิดเอเจนซีโฆษณาเมื่อสิบปีที่แล้วกับทุกวันนี้นั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ในอดีตที่ยังไม่มีเรื่องของ digital marketing หรือ digital media เข้ามา การจะทำบริษัทเอเจนซีจึงต้องใช้เงินทุนเป็นจำนวนมาก ทั้งเงินในการเซตทีมงาน เงินในการจองสื่อ และเงินที่ต้องใช้เพื่อเป็นต้นทุนในการทำธุรกิจอีกมากมาย  

การเริ่มต้นธุรกิจของ Yell จึงเป็นการระดมทุนจากนายทุน เป็นการทำ crowdfunding แบบมาก่อนกาลตั้งแต่คำว่าสตาร์ทอัพยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในไทยเหมือนอย่างทุกวันนี้ จนในที่สุดเขาก็ได้เงินทุนก้อนแรก 5 ล้านบาทมาทำธุรกิจอย่างที่ตั้งใจไว้ แต่ทำไปได้ราว 3-4 ปี โอห์มบอกกับเราว่า ‘จะเจ๊งเอา’ เพราะหุ้นส่วนในตอนเริ่มต้นล้วนแต่มีพื้นฐานมาจากการเป็นครีเอทีฟมากกว่าการทำธุรกิจ บ้างเลยตัดสินใจถอนหุ้นออกไป บ้างเลือกที่จะไปทำอย่างอื่น เหลือตัวเขาในวัย 29 ที่กำลังยืนอยู่บนทางแยกของการตัดสินใจว่าจะกลับไปทำงานในบริษัทเอเจนซีของคนอื่นเหมือนเดิม หรือบริษัทของตัวเองที่หลายคนเลือกถอนหุ้นออกไปแล้วดี

แน่นอนเขาเลือกอย่างหลัง และเพื่อประคองให้องค์กรได้ไปต่อ จึงตัดสินใจเปลี่ยนทิศทางของ Yell จากเดิมที่เน้นทำงานเชิงสร้างสรรค์ ก็ปรับมาเป็นงานเชิงสร้างสรรค์ที่ผนวกความเป็นดิจิทัลเข้าไปด้วย

จนถึงวันนี้ Yell กลายเป็นเอเจนซีโฆษณาสัญชาติไทยที่ยังคงยืนระยะท่ามกลางความท้าทายของธุรกิจเอเจนซีที่มีเข้ามาอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันจากบริษัทใหญ่ที่เป็นเน็ตเวิร์กข้ามชาติ เอเจนซีขนาดเล็กสายสเปเชียลลิสต์ที่เกิดขึ้นใหม่มากมาย หรือแม้แต่ความท้าทายของเทคโนโลยีที่ทำให้ลูกค้าเข้าถึงสื่อ เข้าถึงผู้บริโภคได้ด้วยตัวเองอย่างง่ายดายมากขึ้นก็ตาม 

อะไรคือความเชื่อมั่นของคุณในการทำเอเจนซีโฆษณา ตั้งแต่อดีตที่ตัดสินใจทำธุรกิจที่กำลังจะเจ๊งต่อ และปัจจุบันกับการทำธุรกิจที่เจอความท้าทายรอบด้าน

อย่างแรกคือผมว่าถ้าเราทุ่มเทและพยายามมากพอ เราก็จะเชื่อมั่นได้ว่าสิ่งที่เราคิดมันมีเหตุผลมารองรับ สุดท้ายเราก็จะกล้าเสี่ยงกับมัน เสี่ยงกับสิ่งที่เรารู้

ส่วนอย่างที่สอง พอเราทำธุรกิจมาสักพักเราเริ่มมีความผูกพันกับคนมากขึ้น หลายคนเติบโตมาพร้อมกับเรา เอาใจช่วยเรามาตลอด แล้วถ้าเกิดเราวงแตกไม่ทำออฟฟิศแล้ว ทีนี้คนที่เขาอุตส่าห์ให้ความไว้วางใจกับเราเขาจะทำยังไงล่ะ 

การมาของเทคโนโลยีทำให้บางคนบอกว่าธุรกิจเอเจนซีโฆษณาจะโดนดิสรัปต์ คุณคิดเห็นยังไง

คือถ้าทำตัวเป็นเอเจนซีที่แค่รวมแพ็กแล้วเอามาขายลูกค้าอย่างเดียวคงอยู่ไม่ได้ เพราะถ้าผู้บริโภคปรับ แบรนด์ปรับ เอเจนซีโฆษณาก็ต้องปรับด้วยเช่นกัน เพราะทั้งคน ทั้งแบรนด์ ทั้งเอเจนซีล้วนแต่เป็นสิ่งมีชีวิต มันควรจะเติบโตไปตามโลกตามยุคสมัย

ในมุมผู้บริโภค ด้วยความที่ตอนนี้สามารถดูข้อมูลได้จากหลายด้าน ดังนั้นในมุมของการทำโฆษณาเนี่ยผู้คนเขาจะคาดหวังกับแบรนด์มากขึ้น ไม่ใช่ว่าทำโฆษณาแบบนี้แต่พอคนเขาไปถึงจุดขายกลับไม่เป็นแบบที่โฆษณาบอก หรือบางแบรนด์ทำ CSR มาก แต่คุณไม่ตอบคำถามในสิ่งที่คนเขาสงสัยเกี่ยวกับแบรนด์คุณ ไม่ตอบตรงๆ เอาแต่บอกว่าฉันทำดีเรื่องอื่น แล้วใครจะไปเชื่อล่ะ

ในมุมแบรนด์ เขาสามารถเดินตรงไปหาผู้กำกับที่เขาชอบ ไปเลือกอินฟลูเอนเซอร์ ไปซื้อสื่อเองได้เลย เพราะเฟซบุ๊กกับกูเกิลก็ไม่ได้ห้ามให้ลูกค้าซื้อโฆษณาเอง

จากความเปลี่ยนแปลงที่ว่าทำให้คุณต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานด้วยไหม

ในมุมของ Yell เราทำสิ่งที่เรียกว่า communication as a service ซึ่งคำว่า service ในที่นี้ไม่ใช่การบริการลูกค้า แต่คือการ ‘แก้ปัญหา’ ให้ลูกค้า เรามักจะบอกกับน้องในทีมเสมอว่าถ้าลูกค้าเขาไม่มีปัญหาเขาไม่มาหาเราหรอก เพราะเขาทำเองได้ สมัยนี้มันไม่ได้ยากขนาดนั้นแล้ว

นอกจากนี้วิธีในการทำงานก็ยังต้องเปลี่ยนไปด้วย จากสิบปีที่แล้ว เราอาจจะมีเวลาสักสัปดาห์สองสัปดาห์ในการทำอาร์ตเวิร์กสักชิ้น ส่วนตอนนี้ 48 ชั่วโมงก็ถือว่าหรูหรามากแล้วในการทำอาร์ตเวิร์ก ไม่ใช่แค่ชิ้นเดียวนะแต่เป็นหลายชิ้น เพราะแต่ละสื่อก็ต้องการอาร์ตเวิร์กที่ต่างกันไปในแต่ละบริบท หรือการมาของเทคโนโลยีที่ทำให้เราเชื่อมโยงผลลัพธ์ในการทำโฆษณาได้ดีมากขึ้น

โชคดีหน่อยว่าคนของเราเองเติบโตมาในยุคออนไลน์พอดี ค่าเฉลี่ยอายุอยู่ที่ 30 กว่าๆ ก็เลยมีความเข้าใจในเรื่องของเทคโนโลยีและทำให้เราไม่ต้องปรับแต่งอะไรในองค์กรเพื่อก้าวให้ทันกับโลกดิจิทัล 

ณ ปัจจุบันคุณมองอุตสาหกรรมเอเจนซีโฆษณายังไง 

ถ้าเป็นช่วงก่อนโควิดถือว่าเป็นอะไรที่คึกคักเลย เพราะเมื่อเทคโนโลยีพัฒนา ด้วยต้นทุนที่ต่ำลงก็ทำให้คนหันมาเปิดเอเจนซีโฆษณา เราจะเห็นว่าช่วงก่อนโควิดมีบริษัทเอเจนซีโฆษณาเล็กๆ เกิดขึ้นมากมาย

แต่พอมาเจอโควิด คราวนี้แหละมันจะมาเป็นตัววัดว่าธุรกิจนั้นๆ มีพื้นฐานที่แข็งแรง มี cash flow ที่ดีหรือไม่ รู้จักวิธีเล่นกับ credit term เพราะอย่าลืมว่าสกิลการทำงานกับสกิลการทำเงินนั้นมันคนละเรื่องกัน สกิลการทำงานคือเราทำให้ลูกค้า ส่วนสกิลการทำเงินคือเราต้องทำให้องค์กรอยู่ได้ สองปีที่ผ่านมาเราเลยจะเห็นเอเจนซีหลายๆ เจ้าล้มหายไปจากตลาด

อีกอย่างคือลูกค้าจะค่อนข้างมีความเปราะบางมากในช่วงโควิด เขาจะมีความคาดหวังกับเรามากขึ้น ว่าเงินที่จ่ายมามันต้องเอามาทำให้เกิดความคุ้มค่าที่สุด และนั่นก็ทำให้เราต้องคอยทำงานคอยแก้ปัญหาให้กับลูกค้ามากขึ้นด้วยเช่นกัน

ที่ว่าแก้ปัญหาให้ลูกค้าคุณทำยังไง 

เวลาลูกค้ามาหาเราเขาไม่ได้มาด้วยโจทย์ที่สมบูรณ์ มันมักจะเป็นโจทย์กว้างๆ สมมติเช่นเขาอยากจะให้ยอดขายไตรมาสนี้เพิ่มขึ้น 35 เปอร์เซ็นต์ คำถามคือแล้วเขาจะทำยังไง อันนี้ก็เป็นหน้าที่ของเราแล้วที่จะต้องเซอร์วิสไอเดียให้กับเขา

อีกอย่างคือเรามักจะบอกกับน้องๆ ในทีมว่าลูกค้ามักจะไม่ค่อยพูดสิ่งที่ตัวเองคิดหรอก หนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาของเรา คือต้องมองให้ออกว่าสิ่งที่ลูกค้าต้องการจริงๆ มันคืออะไรกันแน่ 

ทำไมลูกค้าถึงไม่ค่อยพูดในสิ่งที่ตัวเองต้องการจริงๆ 

คือมนุษย์มีความซับซ้อน การที่เขาจะแสดงออกถึงตัวตนในห้องประชุมบางครั้งมันก็อาจเป็นเรื่องที่ลำบากและส่งผลต่อการใช้ชีวิตอยู่ในองค์กร ดังนั้นเวลาประชุมกันเขาอาจไม่กล้าพูดในสิ่งที่คิดจริงๆ ออกมาเพราะเขาอาจไม่ได้คิดเห็นเหมือนผู้บริหารที่กำลังนั่งอยู่ในห้องเดียวกัน

หรือด้วยความชำนาญในคนละสายงาน เวลาคอมเมนต์ เช่นตัวอาร์ตเวิร์ก ลูกค้าให้เรากลับมาแก้ว่าใส่สีขาวตรงนี้หน่อย พอใส่ไปให้แล้วเขาก็ยังแก้กลับมาอีก ดังนั้นสิ่งที่เขาต้องการอาจไม่ใช่สีขาว แต่อยากให้ชิ้นงานดูสว่างขึ้น อะไรแบบนี้เป็นต้น มันเลยเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องมองให้ออกว่าความต้องการจริงๆ ของลูกค้าคืออะไร แล้วก็เข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้กับเขา แล้วค่อยส่งกลับไปด้วยโซลูชั่น ที่อยู่ในรูปแบบของงานครีเอทีฟ แพลนมีเดีย หรืออะไรก็ว่าไป 

ทีนี้พอมันเป็นงานที่ต้องแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้าตลอดเวลา ก็เลยทำให้เรามีนโยบายที่เรียกว่า Safety Net ให้กับพนักงาน คือทำงานที่ Yell เนี่ยคุณทำงานอย่างเดียวไปเลย ไม่ต้องเอามาปวดหัวเรื่องอื่น ไอ้อย่างอื่นๆ ในชีวิตที่ดูวุ่นวาย เดี๋ยวบริษัทดูแลให้เอง

ดูแลยังไง 

เอาเป็นว่าพื้นฐานชีวิตมนุษย์คนนึงต้องเจออะไรเราดูแลให้หมด อย่างเรื่องเข้างาน บริษัทเราให้พนักงาน work from anywhere มา 3 ปีแล้วก่อนจะมีโควิดซะอีก เราไม่มี workhour ที่ชัดเจน เพราะบางทีลูกค้ามี crisis ตอน 4 ทุ่ม น้องๆ ก็ต้องลุกขึ้นมาแก้ปัญหากลางดึกให้ ซึ่งมันนอกเวลางาน แล้วแบบนี้เราจะให้เขาตื่นมาเข้างานแบบ office hour ได้ยังไง มันไม่แฟร์สำหรับเขาเท่าไหร่ 

ทุกวันนี้คนที่เข้าบริษัททุกวันมีแค่ 2 คน คือผมกับลุงซาที่เป็น รปภ. ส่วนที่เหลือก็ทำงานออนไลน์กันไป ทำที่ไหนก็ได้เอาว่าเสร็จตามความรับผิดชอบก็พอ 

คือกระบวนทัศน์ของออฟฟิศมันเปลี่ยนไปแล้ว มันไม่ได้เหมือนยุคอุตสาหกรรมที่ต้องเข้าที่ทำงานกันตรงเวลาเป๊ะๆ กันทุกคนเพื่อที่จะต้องส่งต่องานกันเป็นทอด ๆ ออฟฟิศในยุคนี้มันควรจะเป็นพื้นที่ที่เอาไว้ให้ collaborate สำหรับเรื่องยากๆ หรือเป็นที่เอาไว้นัดเจอเพื่อมาสนุกกันมาเฮฮากันเป็นพอ เพราะปัจจุบันนี้เทคโนโลยีมันขนาดนี้ คุณจะทำงานที่ไหนก็ได้ 

คุณทำยังไงให้ความยืดหยุ่นในการทำงานไม่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของงาน

อย่างแรกเลยนะ ถ้าคิดว่าคนทำงานของเราเขาไม่เพอร์ฟอร์มหรือไม่มีวินัยที่ดี คราวนี้ก็ต้องกลับไปดูวิธี recuit ของเราก่อนเลยว่าเราเลือกคนแบบไหนเข้ามา 

ดังนั้นการสัมภาษณ์งานที่ Yell มันเลยจะเป็นอะไรที่เรื่องมากนิดนึง คือทำเทสต์อะไรต่าง ๆ เสร็จแล้วก็จะมีการสัมภาษณ์อีก 3 รอบ รอบแรก HR รอบสองหัวหน้าของแต่ละทีม ส่วนรอบสามเป็นเราเอง แล้วเราจะเป็นคนสัมภาษณ์พนักงานทุกคนก่อนเข้ามาทำงานที่นี่ ดังนั้นถ้าเขาทำงานไม่ได้ตามที่วางไว้ ก็ต้องดูแล้วว่าตอนแรกเราเลือกเขามายังไง

อย่างที่สองคือการดีไซน์วิธีการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน เมื่อไหร่ก็ตามที่คนคนนึงอยู่ในสังคมเดียวกับคนที่มีคุณภาพและมีความรับผิดชอบ เขาจะไม่ยอมรับมาตรฐานที่มันต่ำกว่านั้น แปลว่าถ้าคนคนนั้นเขาไม่ได้อยู่ในมาตรฐานความขยันเดียวกันหรือเอาจริงเอาจังในการทำงานร่วมกัน เขาก็จะไม่มีความสุขแล้วก็จะอยู่ไม่ได้ 

มันฟังดูแล้วกดดันนะ เราก็เลยมีนโยบาย Safety Net เอาไว้ให้พนักงาน คือซัพพอร์ตแทบจะทุกด้านของชีวิตให้คุณแทบไม่ต้องจ่ายอะไรเลย ดูแลแบบ 360 องศา เพื่อให้น้องๆ ได้โฟกัสไปที่เรื่องการทำงานอย่างเดียว

แล้วคนแบบไหนที่มักจะผ่านด่านการสัมภาษณ์ของคุณ

คือเราไม่ได้อยากได้ความเก่ง ณ ขณะนั้นของเขา แต่จะมองให้ออกว่าคนนี้อีกสักปีสองปีถ้าเขาอยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ช่วยส่งเสริม เขาจะเก่งขึ้นยังไงได้บ้าง 

พอไม่ได้มองที่ความเก่งในวันสัมภาษณ์มันก็เลยอาจจะเป็นเหตุผลที่ว่าเราเป็นเอเจนซีโฆษณาที่มีคนจากหลากหลายสาขาหลายคณะมาทำงานด้วยมาก ไม่ใช่แค่นิเทศ แต่มีทั้งรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ หรือโบราณคดี

ที่เลือกเด็กจากหลายคณะ เพราะเราคิดว่ามนุษย์ ความสนใจ 3 ปี 5 ปีมันมีเปลี่ยนนะ วันนั้นเราอาจสนใจเรื่องนึง แต่ตอนเรียนอยู่มหา’ลัยเราอาจสนใจอีกเรื่องนึงแล้วอาจทำให้คนพบทักษะอะไรบางอย่างในตัวเองก็เป็นได้ 

อย่างครีเอทีฟของเราก็มีคนเรียนจบโบราณคดีมาเหมือนกัน แล้วก็รู้สึกว่าจริงๆ แล้วเด็กโบราณคดีมีแนวโน้มที่จะเป็น copywriter ที่เก่งนะ เพราะส่วนใหญ่เขาจะสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ เขามีพื้นฐานการอ่านการหาข้อมูลที่ดี เชื่อมโยงภาพในอดีตมาสู่ปัจจุบันและอนาคตได้ มันเลยทำให้เราเห็นว่า เฮ่ย จริงๆ แล้วมันไม่ได้สำคัญเลยว่าเขาจะเรียนจบจากไหนมา แล้วสิ่งที่เขาถูกหล่อหลอมและเติบโตมา ทำให้เราได้มุมมองที่แตกต่างออกไปด้วย

คือเราว่าถ้าจะทำให้องค์กรมีชีวิต มันต้องมีความหลากหลายและแตกต่าง ทั้งในเรื่องของประสบการณ์ รสนิยม หรืออะไรต่างๆ ซึ่งถ้าเราคิดว่าจะรับแต่เด็กนิเทศเท่านั้นเอาแต่คนที่มีแบ็กกราวด์ใกล้เคียงกันมาเท่านั้น แต่ในขณะที่ลูกค้าของเราอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรมทั้งอสังหาฯ เครื่องดื่ม แฟชั่น e-Commerce และอะไรอีกมากมาย ถ้าคิดว่าจะเอาแต่คนที่มีความคิดคล้ายกันมาทำงานด้วยกัน การทำความเข้าใจ การแก้ปัญหาให้กับลูกค้ามันก็อาจจะยากขึ้นตามไปด้วย

แล้วคุณรักษาให้คนเก่งๆ อยู่ในองค์กรไปนานๆ ได้ยังไง 

ตอบแบบฮาร์ดๆ เลยนะ กับคนเก่งอย่าไปเสือกกับเขามาก นึกออกไหม คือคนเก่งเราต้องให้พื้นที่กับเขาได้ตัดสินใจเอง อย่าไปยุ่งอย่าไปจัดการกับเขามาก หน้าที่ของคนเป็นหัวหน้าคือต้องคอยซัพพอร์ตเขา แน่นอนสิ่งที่เขาทำมันต้องมีความผิดพลาดอยู่แล้วแหละ แต่ในฐานะหัวหน้าอย่าไปยุ่งกับเขามาก เรามีหน้าที่จำกัดความเสียหายให้กับเขาก็พอ

จำกัดความเสียหายที่ว่าหมายถึงอะไร

ธรรมชาติของงานครีเอทีฟกับงานอินโนเวชั่นคือความผิดพลาด ดังนั้นถ้าเกิดเขาดันผิดพลาดขึ้นมาแล้วคนเป็นหัวหน้ากลับไปบอกเขาว่าอย่าผิดพลาดอีก เขาก็จะไม่กล้าคิดอะไรใหม่ๆ ทำแต่อะไรเดิมๆ เซฟๆ เอาแค่ให้มันผ่านไปก็พอ

วิธีการจำกัดความเสียหายของเราก็คือ ในไอเดียที่เขาคิด เขาต้องเห็นภาพใหญ่ด้วยว่าตัวงานมันจะเกิดผลกระทบกับส่วนไหนต่อองค์กรของเราและลูกค้าบ้าง ดังนั้นในพื้นที่ของคุณคุณเอาไปเลยร้อยเปอร์เซ็นต์ เราไม่ยุ่ง แต่ถ้ามันเกินร้อยเปอร์เซ็นต์มา อันนี้ก็ต้องมาแชร์การตัดสินใจร่วมกับคนอื่นหรือหัวหน้าด้วยเหมือนกัน

ดูคุณลงทุนกับพนักงานไม่น้อย ทั้งที่หลายคนบอกว่าคนสายงานเอเจนซีเปลี่ยนงานกันบ่อย 2-3 ปี ก็ย้ายองค์กรแล้ว คุณคิดเห็นกับเรื่องนี้ยังไง

อย่างที่บอกไปตอนต้น งานของเรามันคือการแก้ปัญหา มันคือ communication as a service ถ้าจะให้คนของเราไปเซอร์วิสลูกค้าได้ อย่างแรกเลยต้องเซอร์วิสให้คนในองค์กรเขารู้สึกโอเคก่อน ไม่งั้นเขาจะไปเซอร์วิสลูกค้าได้ยังไง คือเราบังคับใครไม่ได้ ถึงคุณจะสั่งให้เขาทำงานอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ถึงหน้างานจริงๆ เขาก็ทำได้ไม่ดีหรอก เขาก็แค่ทำไปตามหน้าที่ตรงนั้น ดังนั้นเราต้องดูแลเขา ทำให้เวลาเขาไปเจอกับลูกค้าแล้วเกิดความรู้สึกว่าอยากจะช่วยลูกค้าแก้ปัญหาจริงๆ

เท่าที่คุยกันมาคุณดูเป็นคนที่เชื่อมั่นในพนักงานไม่น้อย อะไรที่ทำให้คุณมีความเชื่อแบบนี้ 

อาจเพราะด้วยแบ็กกราวด์ของเราเองที่ไม่ใช่เด็กเรียนเก่งอะไรมากมาย ไม่ได้จบจากมหาลัย Ivy League เบอร์ต้นๆ ของโลกอะไรเลย แต่เราก็รู้สึกว่าจริงๆ แล้วมนุษย์มีศักยภาพในตัวเองนะ เพียงแต่แต่ละคนอาจมีต้นทุนที่ไม่เท่ากัน 

ถามว่าต้นทุนนี้มันส่งผลกับชีวิตยังไง เราว่าหลายๆ อย่างเลยนะ บางคนที่มีต้นทุนที่ดีเขาก็สามารถโฟกัสในสิ่งที่เขาอยากทำ ในสิ่งที่เขาชอบได้โดยไม่ต้องเสียเวลาไปพะว้าพะวงกับเรื่องอื่น แต่สำหรับคนอื่นๆ ที่อาจไม่ได้มีต้นทุนชีวิตที่ดีมากเท่า ดังนั้นก็เลยคิดว่าถ้าเขาได้มาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมเขา เราน่าจะสามารถดึงศักยภาพที่หลบซ่อนอยู่ในตัวเขาออกมาได้ 

เรายินดีที่จะให้ความเชื่อมั่นกับน้องๆ ทุกคนใน Yell อย่างเต็มที่ มันก็เลยเป็นอีกหนึ่งเหตุผลว่าทำไมเราถึงอยากจะขยายเพดานความสำเร็จของ Yell ให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะหลายคนอยู่กับเรามาตั้งแต่เริ่มทำบริษัท อยู่กันมาสิบกว่าปี เราเลยอยากทำให้เขารู้สึกว่าเราจริงใจ แล้วเราก็อยากจะดีขึ้นให้เขาอยู่กับเรานานๆ ด้วยเหมือนกัน

เราเชื่ออย่างเต็มหัวใจว่าถ้าอยากได้ศักยภาพมนุษย์ ขั้นแรกเลยนะเราต้องเชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์ก่อน 

คิดว่าการเป็นเอเจนซีสัญชาติไทย มีข้อดีหรือข้อด้อยยังไงในสนามธุรกิจโฆษณาที่มีความท้าทายอย่างนี้

ข้อดีอย่างแรกที่เห็นได้ชัดเลยนะ คือเราเข้าใจบริบทความเป็นไทย ซึ่งความเป็นไทยมันเป็นอะไรที่ซับซ้อนมากๆ แล้วการที่เรามีความเข้าใจอินไซต์มากขึ้น ก็จะทำให้โฆษณาของเรามีประสิทธิภาพด้วยเหมือนกัน

ข้อดีข้อที่สองคือเมื่อเราไม่ต้องทำตามนโยบายของบริษัทแม่ในต่างประเทศ เราก็สามารถจัดโครงสร้างองค์กรได้ลีนขึ้น ไวขึ้น เคลื่อนตัวได้เร็วกว่า พอเราลีนมากๆ ทุกคนที่อยู่ในหน้าที่ตำแหน่งของตัวเองเขาก็สามารถจะตัดสินใจได้ด้วยตัวเองแบบไม่ต้องมีลำดับขั้นมากมาย ตัดสินใจได้เร็วก็ส่งผลต่อการทำงานลูกค้าได้เร็วขึ้นด้วยเช่นกัน  

ส่วนในมุมการเป็นเอเจนซี่ต่างชาติก็อาจทำให้มีแต้มต่อมากกว่าในแง่ของการเป็นเน็ตเวิร์กกิ้ง แชร์ข้อมูลในเน็ตเวิร์กเดียวกันเองว่าในแต่ละประเทศเป็นยังไงบ้าง หรืออย่างของ Yell เองเรามี Regional Hub ที่สิงคโปร์เวลา pitch โปรเจกต์ครั้งเดียว แต่ก็สามารถทำแคมเปญได้ในอีกหลายประเทศเลย

หลายคนอาจมองว่าความสำเร็จของการทำเอเจนซีโฆษณาคือรางวัลทั้งหลาย สำหรับคุณความสำเร็จคืออะไร

สำหรับผมความสำเร็จคือการที่ปัญหาของลูกค้าถูกแก้ไข ส่วนเรื่องรางวัลถือเป็นผลพลอยได้ เป็นเหมือน track record ของน้องๆ ที่เขาช่วยกันทำงานนั้นมา

Side Story

ก่อนจบบทสนทนามีอีกเรื่องราวที่โอห์มเล่าให้ฟัง เป็นเรื่องราวที่สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญพนักงานได้เป็นอย่างดี

โอห์มบอกกับเราว่าที่ Yell Advertising มี CEO อยู่สองคนด้วยกัน คนแรกคือตัวเขาเอง ส่วนคนที่สองคือ ลุงซา – ซา สุขเสรี  ที่โอห์มยกให้เป็น ‘Chief Everything Officer’ เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยระดับแอดวานซ์ 

“คือถ้าใครมาออฟฟิศของ Yell จะต้องได้พูดคุยกับลุงซา ไม่ใช่เพียงเพราะเป็นคนยืนอยู่ด่านหน้าก่อนเข้าบริษัท แต่คือคนที่มักจะเข้าไปอำนวยความสะดวกให้กับพนักงานและผู้ที่มาเยี่ยมเยียนออฟฟิศของ Yell อยู่อย่างเสมอ 

ลุงซาทำงานมาที่ Yell มาได้สองปีกับอีกแปดเดือน เป็นรปภ.ระดับแอดวานซ์ คือลุงซาสามารถจำทะเบียนรถของพนักงานได้ทุกคัน ท่องได้ทุกตัวอักษรทุกตัวเลข ชื่อพนักงานร้อยกว่าคนก็จำได้ทั้งหมด เวลาเข้างานของลุงซาคือ 7 โมง แต่เขามักมาถึงก่อนเสมอเพื่อตรวจตราความเรียบร้อยก่อนเข้างาน” โอห์มเล่าถึงลุงซา 

ส่วนลุงซาเองบอกกับเราว่า เขามีความสุขมากที่ได้ทำงานที่ Yell บอกว่าที่นี่ดูแลดีมาก แตกต่างกับที่อื่นที่เคยทำงานมาอย่างสิ้นเชิง มีน้ำมีขนมให้บริการตลอด ไม่มีใครมาคอยจุกจิกหรือสั่งงานมากมาย ส่วนน้องๆ ที่นี่ทุกคนก็น่ารักและเป็นมิตร เมื่อมาถึงออฟฟิศก็จะทักทายกับลุงซาก่อนเข้าไปทำงานเสมอ

ลุงซามีความสุขในการทำงานที่นี่ ถึงกับบอกกับเราว่า “ผมอยากทำงานที่นี่ไปนานๆ ทำจนกว่าลูกจะเรียนจบ”

Writer

บรรณาธิการธุรกิจ มีความสนใจเรื่องกลยุทธ์ธุรกิจ-การตลาด และชื่นชอบการเข้าโรงงานเพื่อดูเบื้องหลังการผลิตเป็นอย่างยิ่ง

Photographer

ชีวิตต้องมีสีสัน

You Might Also Like