แกะ ‘ทฤษฎีมินิสเกิร์ต’ เล่าเรื่องยากให้เข้าใจง่าย โดย ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน จากเวที iCreator Conference 2023

เพิ่งจบไปหมาดๆ สำหรับงาน iCreator Conference 2023 Presented by SUPALAI ภายในงานคับคั่งไปด้วยเหล่าครีเอเตอร์ชั้นนำระดับประเทศ และผู้เข้าร่วมงานกว่า 3,000 คน ถือเป็นการรวมตัวของครีเอเตอร์ครั้งใหญ่ที่พร้อมเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการผลักดันอาชีพครีเอเตอร์ไทยให้ก้าวสู่ระดับโลก

โดยหนึ่งในเซสชั่นที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือเซสชั่นของ ‘เฮียวิทย์’ หรือ ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน ผู้ดำเนินรายการ ‘8 Minute History’ ที่หยิบเรื่องราวประวัติศาสตร์มาเล่าได้อย่างสนุกน่าติดตาม งานนี้ ดร.วิทย์ขึ้นเวทีมาแชร์เทคนิคการเล่าเรื่องยากให้เข้าใจง่ายภายใน 8 นาที

โดย ดร.วิทย์เริ่มด้วยการย้อนเล่าว่า ช่วงแรกที่ทำรายการก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไมคนถึงไม่สนใจเรื่องประวัติศาสตร์ ซึ่งในอดีตการจะเล่าประวัติศาสตร์ผ่านสื่อใหญ่อย่างโทรทัศน์คงทำได้ยาก เพราะมีต้นทุนสูง แต่เมื่อมาถึงยุคของอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นยุคทองของการสื่อสาร ก็เปิดโอกาสให้เราทำคอนเทนต์ได้ง่ายขึ้น

คำถามคือทำยังไงให้น่าสนใจและดึงดูดคนจำนวนมากได้

‘ทฤษฎีมินิสเกิร์ต’

ในคลิปแรกๆ ที่ทำยังเป็นช่วงทดลอง ดร.วิทย์เล่าว่าตนเองทำคลิป 20 นาที เมื่อได้รับฟีดแบ็กจากทีมงานจึงพบว่า มีความน่าสนใจแค่ 10 นาทีแรกเท่านั้น เพราะข้อมูลเยอะเกินไป ผู้ฟังย่อยไม่ทัน ทีมงานจึงลงความเห็นกันว่าควรตัดให้เหลือ 8 นาทีเพราะผู้ฟังยุคนี้ใจร้อน รายการจึงต้องปรับเปลี่ยนไปตามพฤติกรรมผู้ฟัง แม้จะเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ที่หลายคนมองว่าน่าเบื่อ แต่ถ้าเวลาในการเล่าเหมาะสมมีการเรียบเรียงที่ดีก็สร้างความสนุกได้เหมือนกัน

และนั่นกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เมื่อเวลาถูกกำหนดให้อยู่ใน 8 นาที เนื้อหาจึงจำเป็นต้องกระชับ ก่อเกิดให้เป็น ‘ทฤษฎีมินิสเกิร์ต’ หรือ ‘กระโปรงตัวจิ๋วที่ขนาดพอดีตัว’ ไม่ปกปิดหรือเปิดเผยเกินไป เป็นชุดที่มีความกะทัดรัด เหมือนกับการเล่าเรื่อง ที่ควรยาวพอที่จะเล่าครอบคลุมในเรื่องราวนั้นๆ และสั้นพอที่เรื่องราวจะยังน่าสนใจ เรียกได้ว่าเป็น 8 นาทีที่ให้ความสำคัญกับแก่นของเรื่องอย่างแท้จริง

ปัญหาต่อมาที่พบคือ เมื่อเรื่องสั้นเกินไป ผู้ฟังอาจฟังไม่รู้เรื่องและไม่สามารถลงลึกไปในรายละเอียดของเรื่องนั้นๆ ได้ เทคนิคของ ดร.วิทย์คือ เลือกที่จะให้ข้อมูลเฉพาะหัวข้อสำคัญ มีการลำดับเหตุการณ์ที่ดี เพื่อให้คนเข้าใจไทม์ไลน์ที่เกิดขึ้น เพราะหากผู้ฟังสนใจ พวกเขาจะหาข้อมูลเพิ่มเติมด้วยตัวเอง

‘สิ่งใดที่มีคำถาม สิ่งนั้นย่อมทำให้เกิดการเรียนรู้’

สำหรับช่วงแรก ถ้าไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง ดร.วิทย์แนะนำให้ตั้งคำถามก่อน เช่น การเล่าเรื่องสงครามอ่าวเปอร์เซียที่เกิดขึ้นในปี 1990 โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีแฟนรายการแนะนำมา จริงๆ แล้วเรื่องนี้ถือว่ายังเป็นเรื่องใหม่ที่หลายคนมองว่ายังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะเรียงร้อยเป็นประวัติศาสตร์ได้ แต่เมื่อลองตั้งคำถามกับประเด็นนี้ก็พบว่าสามารถนำมาเล่าได้ เช่น อ่าวเปอร์เซียอยู่ที่ประเทศใด คู่สงครามคือใคร ปมขัดแย้งคืออะไร เป็นต้น ซึ่งเมื่อได้คำถามแล้ว การเล่าเรื่องก็ทำได้ไม่ยาก

สำหรับหลักในการตั้งคำถามให้เริ่มจากคำถามง่ายๆ หรือคำถามที่คิดว่าผู้ฟังควรรู้ เพราะในการทำคอนเทนต์ ถ้ากำหนดเป้าหมายไว้ชัด เช่น ต้องการให้ความรู้ ความเข้าใจ การตั้งคำถามที่ดีจะนำไปสู่การถ่ายทอดเรื่องราวที่พาผู้ฟังลงลึกไปในระดับที่สร้างความเข้าใจได้จริง และถ้าต้องการศึกษามากขึ้น พวกเขาจะลงมือสืบค้นด้วยตัวเองต่อไป

หาจุดเชื่อมโยงของเนื้อหา

อีกหนึ่งเทคนิคในการเล่าเรื่องยากให้กลายเป็นเรื่องง่ายคือ หาจุดเชื่อมโยงระหว่างคนดูและเนื้อหา ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์โดยอิงกับภาพยนตร์ เพลง ละคร ฯลฯ เพื่อให้เกิดการหลอมรวมเป็นเรื่องเดียวกัน และเมื่อฟังจบผู้ฟังเข้าใจและจดจำเรื่องราวได้ดีขึ้น สามารถนำเทคนิคนี้ไปปรับใช้กับการเรียนได้ด้วย

เช่น การเล่าเรื่องสงครามครูเสด ความยากคือ ไม่รู้ว่าจะเริ่มจากตรงไหน และรายละเอียดเป็นยังไง สิ่งที่ ดร.วิทย์ทำคือ ลำดับและเรียบเรียงเนื้อหาให้ผู้ฟังเข้าใจ อาจไม่ใช่การเรียงลำดับแบบ 1 2 3 4 แต่อาจเล่าถึงไคลแมกซ์ก่อน และค่อยๆ ลงรายละเอียดก็ได้ พร้อมเชื่อมโยงกับผู้ฟังด้วยภาพยนตร์เรื่อง Kingdom of Heaven ยิ่งทำให้ผู้ฟังเห็นภาพและเข้าใจได้มากขึ้น

ดร.วิทย์ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า อย่าทิ้งคนดู อย่ารู้ทุกอย่าง ต้องสวมหมวกเป็นนักเรียนบ้าง เพราะ ง งู มาก่อน ฉ ฉิ่ง การโง่ก่อนฉลาดจึงไม่ใช่เรื่องแปลก คนทำคอนเทนต์ก็เช่นกัน อย่าหยุดที่จะเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา

Writer

นักเขียนที่สนใจเรื่องธุรกิจ การตลาด และความเป็นไปในสังคม

You Might Also Like