นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

Art Meets Waste

Wishulada แบรนด์ที่อยากเปลี่ยนโลกด้วยวัสดุเหลือใช้ และสะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อมผ่านศิลปะ

ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นเรื่องใหญ่ของคนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาวะโลกร้อน สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ปัญหาด้านมลภาวะ หรือแม้แต่จำนวนทรัพยากรธรรมชาติที่ร่อยหรอลงจนน่าเป็นห่วง สิ่งเหล่านี้ได้กระตุกเตือนให้ทุกฝ่ายรับรู้ถึงปัญหา 

ซึ่งผู้ที่รับหน้าที่แก้ปัญหาที่ว่าไม่ใช่หน้าที่ของเหล่านักอนุรักษ์หรือองค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบ แต่ทุกคนบนโลกล้วนมีส่วนสำคัญ เราจึงเห็นผู้คนในสังคมหลากบทบาทหลายอาชีพใช้ความสนใจและความถนัดของตัวเองช่วยโลกในอีกทาง และมีในแวดวงศิลปะ งานออกแบบ มีหลายคนหยิบยกประเด็นนี้มาพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง 

หนึ่งในนั้นคือ เอ๋–วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินและเจ้าของแบรนด์ Wishulada ผู้สร้างสรรค์โปรดักต์ที่เข้าใจสิ่งแวดล้อม และทำงานศิลปะในประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่องและจริงจัง

ณ วันนี้งานของวิชชุลดาได้เดินสายไปอวดโฉมในหลายสถานที่ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งงานล่าสุดอย่างนิทรรศการ ‘Fast Fashion ช็อปล้างโลก’ ที่ทำร่วมกับมิวเซียมสยามก็กลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์

เราจึงชวนศิลปินผู้ควบบทบาทเจ้าของ Wishulada แบรนด์ผู้ผลิตสินค้าไลฟ์สไตล์จากวัสดุเหลือใช้ และศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลปะจัดวาง (installation art) มาพูดคุยถึงการทำงานศิลปะและมุมมองต่อสิ่งแวดล้อมว่าเธอมีแนวคิดยังไง installation art และการจัดการวัสดุเหลือใช้จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากเพียงใด

หากอยากรู้จักแบรนด์ Wishulada ให้มากขึ้น เราต้องเข้าใจและล้วงลึกถึงที่มาที่ไปก่อนว่าเธอผ่านอะไรมาบ้าง จนสามารถสร้างแบรนด์สินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมมาจนถึงวันนี้ 

ย้อนกลับไปในวัยเด็ก ทำไมคุณถึงสนใจงานศิลปะ

ตอนมัธยมเราเรียนสายวิทย์-คณิต แต่ก็มีความชอบทางศิลปะมาตั้งแต่เด็ก หลังจากที่ว่างจากการเรียน ที่บ้านอยากให้ทำกิจกรรม ซึ่งในเวลานั้นเราเลือกที่จะวาดรูปเป็นงานอดิเรก และทำมาเรื่อยๆ 

แต่สิ่งที่ดึงดูดความสนใจเราได้มากที่สุดคือ วัสดุเหลือใช้ต่างๆ ที่เรามองว่ายังสามารถใช้ประโยชน์ได้อีก และด้วยความช่างจินตนาการของเรา ที่มักนึกถึงสัตว์ประหลาดหรือสัตว์หน้าตาแปลกๆ ที่ชื่นชอบ พอถึงช่วงที่ต้องทำทีสิสจึงเลือกทำเรื่องสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม โดยนำวัสดุเหลือใช้มาสร้างสรรค์เป็นสัตว์ประหลาด เป็นตัวแทนแห่งความสูญเสียทางสิ่งแวดล้อม

จากการทำทีสิสครั้งนั้น ทำให้รู้ว่ารอบตัวมีวัสดุเหลือใช้จำนวนมาก และแต่ละชนิดก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ เมื่อได้ศึกษาเกี่ยวกับวัสดุต่างๆ ยิ่งทำให้อินมากขึ้น เราเลยตั้งเป้าหมายว่า งานศิลปะของเราจะช่วยกระตุ้นความคิดและทำให้ผู้คนตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมได้บ้าง

เหมือนนั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คุณสร้างแบรนด์ Wishulada 

เราเริ่มสร้างแบรนด์ Wishulada ในปี 2019 โดยมองว่าแบรนด์ Wishulada เปรียบเสมือนผู้ชุบชีวิตใหม่ให้วัสดุเหลือใช้ได้กลับมามีคุณค่าอีกครั้ง ในรูปแบบของ product design การแปรรูปวัสดุเหลือใช้ให้กลายเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ เช่น กระเป๋า โคมไฟ เคสสำหรับโน้ตบุ๊ก หรือสินค้า made-to-order ของชำร่วยต่างๆ

ส่วนในพาร์ตของงานศิลปะ เราพยายามเน้นการนำเสนอในรูปแบบ installation art ที่หมายถึงงานศิลปะที่มีที่ตั้งเฉพาะจุด เป็นงานสามมิติที่ออกแบบมาเพื่อสร้างการรับรู้และตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม มีเสน่ห์จากการจัดวางหรือติดตั้งในสถานที่ที่แตกต่างกัน ดังนั้นงานของ Wishulada ที่ทุกคนเห็นในแต่ละที่จึงไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของงานและวัสดุที่เลือกใช้ 

อะไรคือความท้าทายในการสร้างงาน installation art ที่เล่าปัญหาสิ่งแวดล้อม

การทำงานศิลปะแบบ installation art ทำให้เราได้เจอกับวัสดุชนิดต่างๆ ที่มีวิธีจัดการแตกต่างกัน ถือเป็นความสนุกและท้าทายในเวลาเดียวกัน ทุกงานที่ทำจะได้จัดการกับวัสดุที่ไม่เหมือนกันเลย เช่น งานที่แล้วได้จัดการเหล็กและไม้ หรืองานล่าสุดก็ได้จัดการกับเสื้อผ้าจำนวนมาก นี่คือความสนุกที่เกิดขึ้น และก็ท้าทายความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองเหมือนกัน

อีกเรื่องที่เป็นความท้าทายคือ การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ installation art เพราะหลายคนอาจคุ้นเคยกับคำว่ารีไซเคิล ที่เป็นการนำวัสดุเหลือใช้มาผ่านขั้นตอนเพื่อแปรรูปเป็นของใหม่ แต่การทำ installation art เป็นการ upcycle เป็นการนำวัสดุมาทำให้เกิดมูลค่าโดยที่ยังไม่ต้องผ่านขั้นตอนแปรรูป

บางคนมองว่างานของคุณเป็นการนำขยะชิ้นเล็กๆ มาสร้างเป็นขยะชิ้นใหญ่ คุณคิดเห็นยังไงกับประเด็นนี้

สำหรับคนดูงานของเรา หลายคนอาจยังไม่รู้จักเราหรือไม่มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ การสื่อสารผ่านงานศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเราจึงเป็นตัวเชื่อมสำคัญที่เข้าถึงประสาทสัมผัสได้ทั้งหมด และพื้นที่ที่จัดแสดงจะช่วยให้คนดูงานรู้สึกได้เห็น ได้สัมผัส หรือแม้แต่ได้กลิ่น 

ปัจจุบันมีทั้งคนที่เข้าใจและไม่เข้าใจ เรายินดีอธิบายให้เขาเข้าใจ คอมเมนต์บางอันก็ทำให้เราพัฒนามากขึ้น เช่น ทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร ในเมื่อทำไปแล้วก็เป็นขยะต่อ หรือทำไมต้องเชื่อเรา ถ้ามีขยะก็แค่คัดแยกแล้วส่งทำลายก็น่าจะพอแล้ว ทำไมต้องทำงานศิลปะให้เสียเวลา คำถามเหล่านี้ทำให้เราเกิดการพัฒนา เพราะเราไม่ได้สร้างงานศิลปะแล้วดูแค่ปลายทางอย่างเดียว แต่เราดูกระบวนการแปรรูปวัสดุทุกขั้นตอน มีการเก็บข้อมูลในเชิงดาต้าต่างๆ รวมถึงการกระจายรายได้สู่ชุมชน

ที่คุณบอกว่าทำงานร่วมกับชุมชน อยากให้ขยายความการทำงานกับชุมชนให้ฟังหน่อย

ผลงานทุกชิ้นภายใต้แบรนด์ Wishulada เป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชน ไม่ใช่แค่สร้างผลงานที่สะท้อนสิ่งแวดล้อม เรายังทำธุรกิจในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise) ที่มีการกระจายรายได้สู่ชุมชน ผ่านการรับซื้อขยะจากชุมชนอำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี และโปรดักชั่นในการทำงานศิลปะในแต่ละชิ้น ซึ่งรวมถึงการคัดแยก ทำความสะอาด และสร้างสรรค์ผลงาน โดยให้เครดิตว่างานแต่ละชิ้นมีคนเบื้องหลังเป็นใครบ้าง

การที่เราทำงานกับชุมชนและวัสดุเหลือใช้ ทำให้คนส่วนใหญ่มองว่างานของเราต้องราคาถูก งานของ Wishulada ทุกชิ้นมีการคำนวณต้นทุนเหมือนสินค้าอื่นๆ แต่จะหนักที่ค่าแรง ค่าขนส่ง และการติดตั้ง แม้ราคาวัสดุเหลือใช้จะไม่แพง แต่ค่าแรงก็สูงถึง 70% เลยทีเดียว เพราะงานแต่ละชิ้นต้องผ่านหลายขั้นตอน

และที่สำคัญศิลปินไม่จำเป็นต้องทำงานคนเดียว โดยเฉพาะงานด้านสิ่งแวดล้อม การสร้างอิมแพกต์ต้องมีกระบวนการที่ชัดเจน ซึ่งการร่วมมือกับชุมชนจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้ แม้เราจะเป็นแกนนำในการทำงาน เริ่มแรกเราจะออกแบบงานมาก่อน แล้วนำมาหารือกันในทีม รับฟังความคิดเห็นต่างๆ และพัฒนาไปด้วยกัน

แหล่งที่มาของวัสดุเหลือใช้คุณได้มาจากที่ไหนบ้าง

ด้วยความที่ผลงานทั้งหมดของเราผลิตจากวัสดุเหลือใช้ ซึ่งในแต่ละชิ้นต้องนำวัสดุเหลือใช้จำนวนมากมาทำ upcycle แหล่งที่มาของวัสดุที่นำมาใช้มี 3 แหล่งหลักๆ คือ การคัดแยกด้วยตัวเอง การรับซื้อจากชุมชน และได้รับบริจาค ซึ่งเราขอรับแค่เฉพาะเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น เพราะถ้าไกลกว่านั้นจะต้องเสียค่าส่งเยอะ และระหว่างการขนส่งก็จะเกิดการปล่อยคาร์บอนฟุตปรินต์ หรือก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นตามระยะทาง เราจึงแนะนำให้ขายในจังหวัดนั้นๆ ดีกว่า

เมื่อเรารู้แหล่งที่มาของวัสดุเหลือใช้ทุกชิ้น ทำให้เราตรวจสอบการผลิตได้ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สามารถระบุปริมาณการปล่อยคาร์บอนฟุตปรินต์ได้ทั้งหมด เพราะมีการเก็บข้อมูลตั้งแต่ต้นว่าแหล่งที่มาของวัสดุมาจากไหน ขนส่งด้วยอะไร ใครเป็นผู้ผลิตชิ้นงาน รวมถึงระบุสัดส่วนในการกระจายรายได้สู่ชุมชนในทุกโปรเจกต์ 

คุณคิดว่าอะไรเป็นสิ่งที่ทำให้องค์กรต่างๆ อยากร่วมงานกับคุณ

คงเป็นเรื่องจุดยืนของแบรนด์ Wishulada ที่ต้องการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละองค์กรหรือสถานที่ สิ่งที่ทำให้ผลงานของเราไม่เหมือนใคร อยู่ที่การแสดงผลงานในพื้นที่ที่แตกต่างกัน ซึ่งก่อนเริ่มงานทุกครั้ง ทีมจะลงไปสำรวจพื้นที่ก่อนว่าองค์กรนั้นๆ มีวัสดุเหลือใช้อะไรบ้าง และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์

ทุกวันนี้มีองค์กรภาครัฐและเอกชนติดต่อเข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งเรายินดีร่วมงานกับทุกฝ่าย เพราะเป็นความตั้งใจของเราที่อยากสื่อสารกับผู้ผลิตโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นงานบริการ หรือภาคอุตสาหกรรมการผลิต เรามองว่าถ้าผู้ผลิตมีความเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เขาจะผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้เราก็มีการจัดเวิร์กช็อปในหลายองค์กรเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า กระตุ้นให้เห็นความสำคัญของวัสดุเหลือใช้ และคัดแยกขยะในองค์กรให้ถูกต้อง ถูกวิธี 

และในมุมของศิลปิน การได้สื่อสารกับองค์กรต่างๆ ถือเป็นโอกาสสำคัญในการแลกเปลี่ยนความคิดทางศิลปะ ทำให้เห็นมุมมองอื่นๆ มากขึ้น ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานต่อไป

แล้วโปรเจกต์ที่ชื่อ ‘ท่วมท้น ล้นหลาม Over Flow’ ที่คุณทำมีที่มาที่ไปยังไง 

ภายใต้นิทรรศการ ‘Fast Fashion ช็อปล้างโลก’ ที่มิวเซียมสยามเป็นผู้จัด เรามีโอกาสได้เข้าไปทำในโปรเจกต์ชื่อ ‘ท่วมท้น ล้นหลาม Over Flow’ เพื่อจุดประกายความคิด กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และสะท้อนปัญหาอุตสาหกรรมสิ่งทอทั่วโลกตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องขยะแฟชั่น เป็นการนำขยะเสื้อผ้ากว่า 4 ตันมาจัดแสดงเต็มโถงทางเดินของมิวเซียมสยาม

เสื้อผ้าที่นำมาใช้ในนิทรรศการนี้ เป็นเสื้อผ้าที่มูลนิธิกระจกเงาได้รับบริจาคมา แต่ครึ่งหนึ่งที่ได้รับมานั้นเป็นเสื้อผ้าที่ไม่สามารถใช้งานต่อได้ บางตัวมีคราบเปื้อน มีรอยขาด หรือเป็นผ้าเก่าและผุขนาดที่แค่คลี่ออกมาก็ขาด ในโปรเจกต์นี้เอ๋และทีมงานเป็นคนคัดแยกเสื้อผ้าเองทั้งหมด ทำให้เห็นว่าการบริจาคเสื้อผ้าเก่าที่หลายคนมองว่าเป็นการช่วยเหลือสังคม จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย แต่เป็นการส่งต่อภาระให้ผู้รับ 

และเมื่อสิ้นสุดการจัดงาน เสื้อผ้าทั้งหมดจะถูกนำไปทำเชื้อเพลิงในระบบปิด เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนทางทรัพยากร ซึ่งหากว่าไม่มีกระบวนการนี้ การทิ้งโดยการฝังกลบก็จะกลายเป็นขยะมหาศาลที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

การทำเพื่อสิ่งแวดล้อมถือเป็นภารกิจใหญ่ที่ทำคนเดียวไม่ได้ คิดว่างานศิลปะจะช่วยสื่อสารได้แค่ไหน

อย่างน้อยเราคาดหวังให้งานของเราเป็นกระบอกเสียง คนดูงานไม่จำเป็นต้องมองในมุมศิลปิน แต่อย่างน้อยการได้มาเห็นและรับรู้ถึงสิ่งที่เราทำ สิ่งที่เขาจะได้กลับไปคือความตระหนักที่เกิดขึ้น อย่างในนิทรรศการ Fast Fashion ที่ทุกคนมาดูแล้วก็เกิดการตระหนักในเรื่องการซื้อเสื้อผ้า เพราะเมื่อพูดถึงสิ่งแวดล้อมคนอาจคิดถึงมลพิษ ขยะ แต่ไม่ค่อยนึกถึงเสื้อผ้า และคุณไม่จำเป็นต้องมีชื่อเสียงหรือเป็นองค์กรขนาดใหญ่ เป็นคนธรรดา แค่ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเล็กๆ ง่ายๆ คุณก็เปลี่ยนโลกได้

ตลอดระยะที่ทำศิลปะเพื่อสิ่งแวดล้อม ตอนนี้คุณเห็นความเปลี่ยนแปลงในด้านใดบ้าง

สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ ชุมชนที่ทำงานร่วมกับเรา ในช่วงแรกอาจมีคำถามว่า ทำไมต้องเก็บขยะมาให้เรา จากที่เคยขายได้ 5 บาท 10 บาท หลังจากทำงานกับเรา การคัดแยกขยะยิ่งทำให้สะอาดมากเท่าไหร่ยิ่งเพิ่มมูลค่าให้ขยะได้มากขึ้นเท่านั้น และคนรอบข้างลดการใช้ทรัพยากรเหล่านี้ ตอนแรกเราคิดว่าถ้าคนอื่นรู้ว่าที่นี่รับซื้อขวด เขาจะรีบซื้อน้ำเพื่อเอาขวดมาขายเราหรือเปล่า กลายเป็นว่าตอนนี้ทุกคนรู้แล้วว่าขวดพลาสติกเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม และสามารถเพิ่มมูลค่าได้ถ้ามีการคัดแยกอย่างถูกวิธี

จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่เรื่องขยะ การปิดน้ำ ปิดไฟเมื่อไม่ใช้ หรือทานข้าวให้หมดจานก็มีส่วนช่วยโลกได้เหมือนกัน ซึ่งคนรอบตัวเราเริ่มเข้าใจในมิติสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หรือแม้แต่คนที่ดูงานของเรา ก็เข้าใจสิ่งที่เราต้องการสื่อสารเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม

ตอนนี้ภาคธุรกิจตื่นตัวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นไหม 

เราสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมาตลอด และปัญหาสิ่งแวดล้อมถูกพูดถึงมานาน ไม่ใช่แค่เราหรือบุคคลทั่วไปที่เริ่มตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ แบรนด์สินค้าต่างๆ ก็เริ่มมองเห็นโอกาสทางการค้าเช่นกัน แต่เรากลับเห็นปัญหาเรื่อง Greenwashing (การฟอกเขียว เป็นการทำโฆษณาให้กลุ่มเป้าหมายมองว่าเป็นธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำจริง) ที่ผู้ผลิตหลายรายบอกว่าสินค้าตนเองเป็นสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม แต่ใช้วัสดุเหลือใช้แค่ 10% หรือทำสินค้าให้เป็นสีเอิร์ทโทนหรือสีเขียว

เรามองว่าสิ่งแวดล้อมไม่จำเป็นต้องเฉดเขียวตลอดเวลา เราสนุกกับการรักสิ่งแวดล้อม ทำให้เหมือนเป็นวิถีชีวิต บาลานซ์ไปกับมันได้ สังคมอยู่ได้ สิ่งแวดล้อมอยู่ได้ ทุกครั้งที่เราทำงาน เราจะไม่บอกใครว่าห้ามใช้พลาสติก หรือห้ามปล่อยควันพิษ มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วในเชิงของการผลิต ทุกคนสามารถทำบางอย่างเพื่อสิ่งแวดล้อมได้ แค่มีความใส่ใจและลงมือทำอย่างจริงจัง

เหมือนว่าต้องการให้แบรนด์เป็นมากกว่าสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

เรามองว่าตัวเองเป็น Social Activist Artist และแบรนด์ Wishulada ไม่ได้ทำแค่รังสรรค์ผลงานจากขยะหรือวัสดุเหลือใช้ แต่เป้าหมายใหญ่คือต้องการจุดประกายความคิดในแง่มุมต่างๆ ที่มากกว่าเรื่องสิ่งแวดล้อม

Writer

นักเขียนที่สนใจเรื่องธุรกิจ การตลาด และความเป็นไปในสังคม

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like