ข้างนอกสดใส ข้างในฮือๆ

well-being washing เมื่อออฟฟิศโฆษณาสวัสดิการสวยหรู แต่ไม่ใจดีกับพนักงาน

คลาสโยคะให้พักใจ กิจกรรมกีฬาสีสานสัมพันธ์ ห้องให้งีบหลับระหว่างวัน กิจกรรมเอาต์ติ้งแบบจัดเต็ม! 

ได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่านแค่นี้ เชื่อว่าคนทำงานหลายคนคงอยากทำความรู้จักบริษัทเหล่านี้ให้มากขึ้น แต่ใครจะรู้ว่าสวัสดิการสวยหรูในบริษัทบางแห่งเป็นเพียงน้ำตาลเคลือบยาขม เพราะแท้จริงบริษัทกำลัง well-being washing!

well-being washing คืออะไร? 

well-being washing หรือบ้างก็เรียกว่า wellness washing หมายถึงการที่บริษัทดูเหมือนจะสนับสนุนให้พนักงานมีความเป็นอยู่ที่ดี แต่กลับไม่ได้เป็นไปตามที่เห็น สวัสดิการเหล่านั้นเป็นการสร้างภาพให้คนภายนอก หรือคนที่กำลังจะหลงกลเข้ามาสมัครงานได้รับรู้ ก่อนเฉือนจิตใจพนักงานทีละน้อย ทีละน้อย 

การวิจัยหนึ่งของ Society of Occupational Medicine ของสหราชอาณาจักรพบว่า 1 ใน 3 ของบริษัทกำลัง well-being washing กว่า 7 ใน 10 แห่งรับรู้ถึงวันเแห่งการตระหนักรู้ด้านสุขภาพจิต ซึ่งมากเป็น 2 เท่าของออฟฟิศที่สนับสนุนให้เกิดการทำงานที่เป็นมิตรกับพนักงานจริงๆ นอกจากนั้น เพียง 1 ใน 3 ขององค์กรเท่านั้นที่สวัสดิการด้านการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตได้รับการยอมรับจากพนักงานจริงๆ 

การศึกษาอีกชิ้นโดยสถาบันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยพบว่า บางครั้งบริษัทก็มีห้องปรึกษาด้านสุขภาพจิต และมีสวัสดิการว้าวๆ อื่นๆ แต่ปริมาณงานที่ต้องแบกรับนั้นไม่สมน้ำสมเนื้อกับเงินที่ได้ ห้องสำหรับพักใจที่โฆษณาไว้ก็ใช้ไม่ได้จริง เพราะคนที่ใช้งานจะถูกรังสีอำมหิตบางอย่างจากหัวหน้า บางบริษัทประกาศอย่างเป็นทางการว่าเคารพเวลางาน แต่คนที่เข้างานเร็วและออกจากงานช้ากลับได้รับการยกย่อง 

well-being washing กับโควิด19? 

หลังเผชิญกับสถานการณ์อันหดหู่ช่วงไวรัสแพร่ระบาด หลายบริษัทพยายามปรับให้ออฟฟิศน่าทำงานมากขึ้น ทั้งผ่านการตกแต่งให้สวยหรู บ้างก็ปรับสวัสดิการให้ดี ซึ่งไม่ใช่แค่บริษัทเองก็ปรับตัว แต่เกณฑ์เหล่านี้เป็นหนึ่งในแรงจูงใจที่พนักงานจะเลือกสมัครงานหรือลาออกเลยทีเดียว  

จากการศึกษา Hybrid Talent Magnet ของ IWG พบว่า 88% ของผู้บริหารฝ่ายทรัพยากรบุคคลเชื่อว่าสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพเหล่านี้จะลดการลาออกของพนักงานได้ ขณะเดียวกัน จากการสำรวจโดย Claro Wellbeing กลับชี้ให้เห็นว่าพนักงานกว่า 38% ไม่เชื่อว่าบอสของพวกเขาเห็นความสำคัญของสุขภาพกายและใจของพนักงานจริงๆ ส่วนสถาบันสุขภาพ McKinsey ก็พบว่าเหล่าบอสให้คะแนนความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานมากกว่าพนักงานเองถึง 22% หมายความว่าพวกเขาไม่รู้เลยว่าคนของตัวเองไม่มีความสุข

ทำยังไงให้ออฟฟิศน่าอยู่จริงๆ
ไม่ใช่การ well-being washing แบบที่อื่นๆ 

การวิจัยของ IWG พบว่าโมเดลการทำงานแบบไฮบริด หรือทำงานที่ออฟฟิศสลับที่ไหนก็ได้นั้นช่วยเพิ่มความสุข ประสิทธิภาพของงาน และความเป็นอยู่โดยรวมของพนักงานได้จริง เพราะนี่คือการเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานให้เป็นมิตรกับคนทำงาน 

IWG ยังพบว่าพนักงานที่ได้ทำงานแบบไฮบริดมีเวลาออกกำลังกาย 4.7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มากกว่าช่วงเกิดการระบาดของโควิด-19 ที่ตอนนั้นได้ออกเพียง 3.4 ชั่วโมงเท่านั้น นอกจากนั้นยังมีเวลานอนเพิ่มขึ้น 3 วันต่อปี มีเวลาทำอาหารอร่อยๆ และมีประโยชน์ระหว่างสัปดาห์เพิ่มขึ้น เพราะไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไกลไปทำงาน 

บางการศึกษาก็พบว่าเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นทำให้พนักงานบางกลุ่มรู้สึกโอเคมากกว่าระบบการทำงานที่ยืดหยุ่น แต่เมื่อพูดถึงเงินก็อาจเป็นเรื่องยากสำหรับหลายบริษัท หากไม่สามารถปรับเงินเดือนได้ทันที การจัดสัมมนาทางการเงินให้พนักงานได้เรียนรู้ถึงระบบภาษี การวางแผนเกษียณ และการจัดการเงินก็อาจเป็นอีกหนึ่งทางออก

จากการสำรวจของ Korn Ferry บริษัทที่ปรึกษาการจัดการองค์กรระดับโลกที่รับออกแบบโครงสร้างองค์กร บทบาท และความรับผิดชอบ และ HRE พบว่า DHL Group หรือที่เรารู้จักกันในนามขนส่ง DHL นั้นได้รับการยอมรับจากพนักงานสูงเป็นอันดับหนึ่ง พุ่งขึ้นจากอันดับที่ 292 ในปีก่อนหน้า แซงหน้า Apple ที่ตอนนี้อยู่อันดับ 2 ส่วน L’Oreal อยู่อันดับที่ 12 และ PepsiCo อยู่อันดับที่ 16  

หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ DHL พลิกอันดับของตัวเอง แม้จะเป็นบริษัทที่มีพนักงานหลักหลายหมื่นคนในออฟฟิศกว่า 1,400 แห่งทั่วโลกคือการเทรนพนักงานระดับบริหารในแต่ละไซต์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เข้าใจถึงภาพรวมการทำงานทั้งหมด มีมายด์เซตหรือทักษะที่ปรับใช้ได้จริง สะท้อนว่าอีกหนึ่งสิ่งที่อาจช่วยให้ความเป็นอยู่ของพนักงานดีขึ้นและงานก็มีประสิทธิภาพมากขึ้นคือการจัดเทรนอย่างสม่ำเสมอ

แล้วบริษัทของเราจะทำอะไรได้บ้าง? เริ่มจากการรวบรวมความเห็นจากพนักงานแบบไม่เปิดเผยตัวตนว่าพนักงานกำลังประสบปัญหาอะไร และพวกเขาต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านไหน เพราะบางครั้งสวัสดิการเข้ายิมฟรีอาจไม่ตอบโจทย์ถ้างานที่หนักเกินไปทำให้พนักงานไม่เหลือเรี่ยวแรงจะไปออกกำลังกาย

สุดท้ายแล้ว การสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีอาจไม่ใช่การเพิ่มสวัสดิการแสนฉาบฉวย แนวทางการปรับระบบการทำงานที่ดีขึ้นเพื่อให้พนักงานมีความสุขมากขึ้นนั้นยังมีหลากหลายรูปแบบ คัมภีร์การบริหารของบริษัทหนึ่งอาจใช้ไม่ได้กับอีกบริษัท การค่อยๆ หาตรงกลางของบริษัทจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องของคนก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการอยู่รอดของบริษัทไม่น้อยทีเดียว

อ้างอิง

Writer

กองบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ที่มีแมวเป็นแรงผลักดันในการทำงาน

Illustrator

แล้วแต่จะคิด ชีวิตคนละแบบ

You Might Also Like