The art of letting go

คำว่า Let go ที่ไม่ได้แปลว่าปล่อยวาง

The art of letting go

คำว่า let go ที่เห็นอยู่นี้ ไม่ได้แปลว่าปล่อยวาง 

มันไม่ได้เป็น let go ความหมายเดียวกับ let it go ของเอลซ่าในภาพยนตร์ Frozen–ไม่มีการร้องเพลง ไม่มีเอฟเฟกต์หิมะอลังการ ไม่มีเด็กเต้นไปรอบๆ ร้องเพลงตามเป็นร้อยรอบจนพ่อแม่ต้องอุดหู 

ความหมายของมันคือผม–อันที่จริง–เราแทบทุกคน กำลังถูกปรับออกจากงาน

คอร์เปอเรตเป็นสิ่งไร้ชีวิตแปลกประหลาด บางครั้งเมื่อสะดวก มันจะทำตัวราวกับมีชีวิต ‘เราแคร์ลูกจ้างของเรา เรามีวัฒนธรรมที่ดี ที่คูล ที่มีเสน่ห์’ เมื่อมันทำตัวมีชีวิตเช่นนี้ คุณก็มักไม่เห็นหรอกว่าตอนจะแยกทาง คำอย่าง fire (ไล่ออก) จะถูกหยิบขึ้นมาใช้ เขาจะหลีกไปใช้คำอื่นๆ ที่ดู ‘มีมนุษยธรรมกว่า’ แทน

ตัวอย่างเช่น let go ที่ให้ภาพราวกับว่าเรากำลังจำใจปล่อยมือ ปล่อยให้เธอไปเป็นอิสระ ไม่ใช่การผลักใส ไปจนถึงคำอย่าง mutually parted ways ที่แปลตรงตัวว่า จากลากันโดยเป็นการตัดสินใจของทั้งคู่ ทั้งที่ความจริงอาจไม่เป็นอย่างนั้นก็ได้ เป็นแค่การขอรักษาศักดิ์ศรีครั้งสุดท้ายของพนักงาน คำอย่าง retrench (ทอนออก) ก็มีให้เห็นบ่อย หรือกระทั่งคำอย่าง exit ก็เช่นกัน–คือการโชว์ประตูทางออกให้กับลูกจ้าง

คำที่โหดร้ายกว่านั้นอาจเป็นคำว่า made redundant ซึ่งแปลตรงตัวว่า เรากำลังถูกทำให้ซ้ำซ้อน พูดง่ายๆ ลองจินตนาการภาพว่าเราเป็นชิ้นส่วนเครื่องจักร เป็นกลไก เป็นเกียร์ เดือย ตัวน็อตของบริษัท เมื่อมีกลไกอื่นที่ทำงานได้เหมือนกันแล้ว เขาจะเก็บเกียร์เก่าไว้ทำไม

ไม่ว่าจะใช้คำยังไง ไม่ว่าจะพยายามซอฟต์สักแค่ไหน การถูกเลิกจ้างก็ให้ความรู้สึกคล้ายเดิม ไม่ต่างจากการถูกบอกเลิกด้วยคำว่าเธอดีเกินไป 

แล้ววันนี้ก็เป็นวันที่ผมถูกบอกเลิก

หลังเหตุโควิด มีกระแสการเลย์ออฟพนักงานของบริษัทเทคโนโลยีให้เห็นบ่อยครั้ง ส่วนหนึ่งเพราะในช่วงโควิด หลายบริษัทมีเงินเก็บสะสมไว้มากเกินไปเพราะลงทุนกับสิ่งที่จับต้องได้ได้ยากขึ้น เลยไปเน้นหนักในการเพิ่มการลงทุนกับจำนวนพนักงาน หรือการเตรียมทัพเพื่อขยายกิจการใหม่ 

ครั้งโควิดผ่านพ้น นอกจากมีกระแสการทำงานรูปแบบใหม่จากฝั่งพนักงานอย่างความยืดหยุ่นให้ทำงานที่บ้าน ที่ออฟฟิศ หรือที่ไหนก็ได้ และกระแสแนว quiet quitting (การถอดใจเงียบๆ) หรือ The Great Resignation (การทบทวนชีวิตครั้งใหญ่จนทำให้คนลาออกกันมาก) แล้ว ในฟากฝั่งบริษัทก็มีการกลับมาทบทวนถึงเดิมพันที่ตนลงไปในช่วงโควิดเช่นกัน จึงเกิดการคิดใหม่ ทำใหม่ เหมือนคลื่นที่ซัดสาดทุกสิ่งเพื่อรีเซตสถานการณ์

อีกเหตุคือในช่วงหลังบริษัทเทคทั้งหลายเริ่มตระหนักว่า หนึ่งในหนทางเพิ่มราคาหุ้นระยะสั้น ก่อนการประกาศผลประกอบการในแต่ละไตรมาส คือการปรับพนักงานออกเพื่อส่งสัญญาณว่ามีการลดทอนค่าใช้จ่าย ในปัจจุบัน การปรับพนักงานออกไม่ได้เป็นการยอมรับความพ่ายแพ้เชิงกลยุทธอีกแล้ว แต่เป็นคล้ายการทำให้นักลงทุนมั่นใจว่าผู้บริหารของบริษัทมีวิสัยทัศน์ รู้จักเฉือนเนื้อ เพื่อผลกำไรที่มากขึ้น แทบทุกครั้งที่มีการปรับพนักงานออก เราจะเห็นราคาหุ้นที่พุ่งสูงขึ้นทันที จนนี่กลายเป็นเทรนด์ ราวกับว่าผู้บริหารของแต่ละบริษัทจ้องไปยังบริษัทคู่แข่งอื่น–ใครปรับออกก่อน คนที่เหลือรอบวงก็จะ ‘ตาม’ เพราะไม่ต้องเป็นคนเปิดคลื่นการเลย์ออฟครั้งใหม่

“ในวงการเทค มีการทำเป็นกระแสตามๆ กันอยู่” เจฟ ชูลแมน (Jeff Shulman) ศาสตราจารย์ที่ภาควิชาธุรกิจมหาวิทยาลัยวอชิงตันผู้ติดตามอุตสาหกรรมเทคโนโลยีบอกว่า “การเลย์ออฟดูจะช่วยราคาหุ้น บริษัทพวกนี้เลยไม่มีเหตุผลที่จะต้องหยุด” เขาว่า “พวกเขาทำแบบนี้ได้เพราะทุกคนทำ และทุกคนทำเพราะมันกลายเป็นปกติใหม่ไปแล้ว… ผมคิดว่าเราจะเห็นเทรนด์นี้ดำเนินไปอีกสักพัก”

สิ่งหนึ่งที่ผมเรียนรู้จากชีวิตการทำงานยี่สิบปีเป็นความจริงขั้นพื้นฐาน (ที่ก็นั่นเอง–ผมต้องอาศัยเวลาตั้งยี่สิบปีกว่าสารจะซึมเข้าไปในใจ)–ความจริงที่ว่า บนโลกนี้มีสิ่งที่เราควบคุมได้ และสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ 

สองอย่างนี้ไม่ได้แยกขาดกันชัด หากมองให้ดีมันคงเป็นสเปกตรัม ปลายด้านหนึ่งควบคุมได้สมบูรณ์ เช่นความรู้สึกของเราเองต่อเหตุการณ์รอบด้าน ตรงกลางอาจเป็นเรื่องที่ขึ้นกับตัวแปรหลายอย่างด้วยสัดส่วนที่แตกต่างกันไป เช่น คุณภาพของชิ้นงานที่อาจขึ้นกับความสามารถของทีม รวมถึงความสามารถของเราในการสื่อสารกับทีม ในขณะที่สุดปลายอีกด้านเป็นเรื่องที่เราควบคุมไม่ได้เลย เช่นการตัดสินใจแนวทางของบริษัทที่คนห่างไกล ไม่เคยเห็นหน้า ที่อาจนั่งอยู่ในออฟฟิศในอเมริกาคิดฝันขึ้นมา 

การถูกปรับออกครั้งนี้เป็นหนึ่งในสิ่งที่ผมจัดว่าค่อนไปทางควบคุมไม่ได้ มันเป็นการปรับภาพใหญ่ของธุรกิจ โดยคนที่คิดปรับไม่เคยรู้จักเราด้วยซ้ำ

ชีวิตผมไม่เคยประสบกับการถูกปรับออกมาก่อน นี่เป็นครั้งแรก และเป็นครั้งใหญ่ ไม่ใช่เพียงผม แต่ยังมีเพื่อนร่วมงานอีกหลายสิบชีวิตที่ถูกปรับออกพร้อมกันด้วยเหตุผลทางธุรกิจ 

เราได้รับอีเมลคร่าวๆ ว่าจะมีบางตำแหน่งงานที่ได้รับผลกระทบในคืนวันพุธ พอถึงเช้าวันพฤหัสเราก็รู้ตัวว่าเป็นตำแหน่งของตนนั่นเองที่ถูกกระทบอย่างที่ว่า, ทั้งภูมิภาค, ด้วยนัดประชุมที่โผล่ขึ้นมาในปฏิทิน–การประชุมที่มีฝ่ายบุคคลเข้าร่วม–คล้ายกับยมทูตที่เป็นสัญญาณว่าความตายใกล้มาถึง 

เราโทรเช็กซึ่งกันและกัน นายโดนหรือไม่ ใช่ ฉันก็โดน สายโทรศัพท์เช้านั้นน่าจะพันกันยุ่งเหยิงด้วยการโทรเช็กของพวกเรา ใครโดนเข้าไปก่อน ช่วยบอกคนที่เหลือด้วยนะว่าเขาว่ายังไงบ้าง

ทุกครั้งที่ผ่านมาเมื่ออ่านข่าวการเลย์ออฟ จะมีความรู้สึกคล้ายการอ่านข่าวโศกนาฏกรรม หลายครั้งเมื่อเกิดขึ้นในบริษัทบ้านใกล้เรือนเคียง ก็ทำให้เกิดมรณานุสติในเชิงการงานขึ้นมา นึกไปว่าถ้าเป็นเราโดน เราจะเป็นยังไง เรามีความพร้อมทางด้านการเงินพอไหม แล้วเราจะไปทำอะไรต่อ มีค่าใช้จ่ายอะไรที่คงค้างบ้าง บ่อยครั้งเข้าก็เกิดบรรลุขึ้นมาว่าชีวิตไม่แน่นอน เราควบคุมได้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ แต่ชีวิตก็มีสิทธิ์โยนลูกเคิร์ฟบอลมาแสกหน้าได้แบบไม่คาดคิดเหมือนกัน

เช้านั้นการเปิดเว็บไซต์อ่านข่าวคล้ายกับการได้เป็นสักขีพยานในงานศพของตัวเอง เรารู้จักการเลย์ออฟในเชิงทฤษฎีมามาก แต่วันนั้นโลกเลือกให้เราสอบปฏิบัติ ยังดีอยู่บ้างที่ได้ฝึกมรณานุสติมาพอสมควรแล้ว และรู้จักการเงินของตัวเองดีพอจนไม่ตระหนกมาก

ออฟฟิศกลายเป็นละครชีวิตฉากใหญ่ มีครบทุกอารมณ์ บางคนตอบรับสถานการณ์ด้วยความโกรธ บางคนหยิบขวดเหล้าจากลิ้นชักขึ้นมาเปิดกินตรงนั้น บางคนหัวเราะ เล่นมุกตลกกลบเกลื่อน บางคนดีใจ เพราะตั้งใจจะลาออกอยู่แล้วในเร็ววัน และก็มีทางน้ำตาให้เห็นบนใบหน้าของอีกหลายคน แน่นอน ไม่มีใครมีแก่ใจจะทำงานในโมงยามของวันที่เหลือ

คุณอาจเคยอ่านผ่านข้อความเตือนใจของใครสักคน ที่บอกว่าอย่าทุ่มเทถวายชีวิตให้การงานนักเลย เพราะต่อให้ไม่มีเรา บริษัทก็อยู่รอดได้ เราถูกทดแทนได้เสมอ สัญญาใจก็เรื่องหนึ่ง แต่พอเข้าตาจนสัญญาที่เป็นเอกสารเท่านั้นคือของจริง นั่นเองคือภาพที่เห็นจากการตัดฉับ–ตัดเลยอย่างรวดเร็วในครั้งนี้–ณ ที่แห่งนี้ เราเป็นเกียร์ เราเป็นตัวน็อต

บนโลกนี้ มีสิ่งที่เราควบคุมได้ และสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ 

กระทั่งกับสิ่งที่ควบคุมได้ ก็ใช่จะยังผลดีพร้อมสมบูรณ์ให้เราเสมอไป ในช่วงว่างโหวงและหน้าต่างเวลาที่ได้คืนมาโดยไม่ตั้งตัวนี้ ผมพบว่าหนึ่งในคาถาที่พอทำให้วางใจลงได้แบบแปลกๆ คือคำพูดที่ดูคล้ายสิ้นหวัง (แต่ก็ไม่!) ของเคียร์เคอการ์ด นักปรัชญาอัตถิภาวนิยม เขาบอกว่า

“เลือกแต่งงานคุณก็เสียใจ เลือกไม่แต่งคุณก็ยังเสียใจ แต่งหรือไม่แต่งคุณก็เสียใจหมด หัวเราะกับความโง่เง่าของโลกใบนี้ คุณก็จะเสียใจ จะร่ำไห้ คุณก็เสียใจอยู่ดี จะหัวเราะกับความโง่เง่าของโลกใบนี้ หรือจะร่ำไห้ ไม่ว่าทางไหนคุณก็เสียใจทั้งนั้น เชื่อใจหญิงสาว คุณจะเสียใจ ไม่เชื่อใจ คุณก็เสียใจเหมือนกัน แขวนคอตาย คุณจะเสียใจ ไม่แขวน คุณก็เสียใจทั้งนั้น จะแขวนหรือไม่แขวนก็เสียใจ นี่แหละ ท่านสุภาพบุรุษ คือแก่นหลักของปรัชญาทั้งมวล”

กระทั่งหากเลือกได้เรายังเสียใจ แล้วนับประสาอะไรกับสิ่งที่เลือกไม่ได้อย่างการถูกปรับออกเล่า เราเสียใจ (regret) ได้ แค่เราต้องรู้ตัวกับมัน อย่างน้อยรู้ว่ากระทั่งทุ่มเทเวลาให้งานมากกว่านี้อีกสิบเท่า ทำงานจนไม่มีเวลาหลับนอน ผลลัพธ์ของเรื่องนี้ก็ยังคงเดิม ต่อให้ถวายชีวิต เรื่องนี้ก็จบอย่างเดิม เมื่อรู้อย่างนั้น ผมก็เกิดความสงบในใจขึ้นมา และมองมันอย่างที่เป็น

การถูกปรับออกโดยไม่ทันตั้งตัวสมบูรณ์ครั้งนี้ทำให้ผมคิดถึงการงานที่ผ่านมา กับทุกงาน เราเหมือนมีป้ายแขวนคอว่าเราเป็นพนักงาน (หรือเป็นเจ้าของ) บริษัทแห่งนั้นแห่งนี้ และในอดีต เป็นผมเองที่เป็นคนเลือกช่วงเวลาในการถอดป้ายนั้นออกและพับเก็บไว้ เพื่อไปหาป้ายใหม่ๆ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ป้ายโดนกระชากออกโดยยังไม่ยินยอมพร้อมใจ

แต่เมื่อไม่มีป้ายหนักๆ มาแขวนคอไว้ ความเป็นไปได้ก็เปิดกว้าง–โชคดีอยู่บ้าง ที่ตัวผมไม่มีความเร่งรีบจะต้องหางานใหม่ให้ได้ทันที โชคดีอยู่บ้าง ที่ไร้หนี้สิน โชคดีอยู่บ้าง ที่มีเวลาให้ค่อยครุ่นคิด มีเวลาให้สำรวจตัวเองอีกครั้ง 

ผมอายุ 39 ปี ทำงานมาแล้ว 20 ปี ถ้ามองว่าหนึ่งปีก่อน 40 นี้เป็นเหมือนสัญญาณให้หยุดพักทบทวน มองตัวเองอย่างที่เป็น ลองสำรวจคุณค่าของตัวเองดูใหม่ สิ่งที่เราเคยคิดว่าชอบ อาจชอบมากขึ้นหรือไม่ชอบแล้ว สิ่งที่เราเคยปฏิเสธ อาจพร้อมที่จะกลับมามองด้วยสายตาที่ไร้อคติแล้ว สิ่งใดที่ควรเก็บไว้ สิ่งใดควรปล่อยไป นี่คือหนึ่งปีก่อน 40 ที่อาจทำให้ยืนในชีวิตครึ่งหลังได้อย่างมั่นคงขึ้น

ผมคิดกับตัวเอง นี่เป็นช่วงเวลาที่ต้องเรียนรู้เรื่องใหม่ ศิลปะแห่งการ let go

ไม่ใช่ let go ที่แปลว่าปรับออก แต่ใช่ เป็น Let go คำนี้เอง ที่แปลว่าปล่อยวาง

Resources

Writer

นักเขียน นักวาด อดีตผู้ทำงานด้านการตลาดที่ Amazon สิงคโปร์

Illustrator

แล้วแต่จะคิด ชีวิตคนละแบบ

You Might Also Like