A rental person who does nothing

โชจิ โมริโมโตะ มนุษย์ให้เช่าผู้ไม่ยอมทำอะไรเลย

คุณอาจอ่านเรื่องนี้ในฐานะเรื่องสั้นตลกร้าย แรงบันดาลใจหรือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความบิดเบี้ยวในระบบสังคมการทำงานก็ได้ แต่ โชจิ โมริโมโตะ (Shoji Morimoto) เป็นมนุษย์ให้เช่าผู้ไม่ยอมทำอะไรเลย และเขามีตัวตนอยู่จริง

‘มีตัวตนอยู่จริง’ มันย้อนแย้งตรงที่–คำว่า ‘ตัวตน’ นี่เองที่เป็นสิ่งที่โชจิ โมริโมโตะ ไม่เคยได้รับ หรือไม่ต้องการที่จะได้รับมาตลอด

“นายเหมือนอากาศธาตุที่อยู่ตรงนั้นไปวันๆ ไม่ทำอะไรเลยว่ะ” คือคำที่หัวหน้าเคยบอกเขา “นายอยู่ตรงนี้ หรือไม่อยู่ ก็ไม่ต่างเลยว่ะ” คืออีกคำ

“บอกไม่ได้เลยว่านายยังหายใจอยู่หรือตายไปแล้ว”

ถ้าจะมีอะไรที่ โชจิ โมริโมโตะ ไม่มี โดยการตัดสินของคนรอบข้างแล้ว สิ่งนั้นคือ ‘ตัวตน’ เขาอธิบายว่าตัวเองไม่ได้มีลักษณะอะไรพิเศษ​ ไม่ได้สูง ไม่ได้เตี้ย ไม่ได้ผอม ไม่ได้อ้วน ไม่ได้หล่อ ไม่ได้น่าเกลียด เป็นคนปกติธรรมดาที่คุณอาจเดินผ่านไปโดยไม่สังเกต เป็นเหมือนเทมเพลตมนุษย์ผู้ชายหนึ่งหน่วย ก๊อป-วาง-แปะ-แบบไม่ได้แต่งเพิ่ม

คำว่า ‘ไร้ตัวตน’ อาจเป็นคำปรามาสร้ายกาจที่ใครได้ยินแล้วอาจดับดิ้นลงไปตรงนั้น แต่สำหรับเขามันกลับเป็นทั้งบทสรุป เชื้อเพลิง และจุดเริ่มต้นอันเป็นธรรมชาติ–แล้วเขาก็ตัดสินใจ

“ผมขอเริ่มให้บริการที่เรียกว่า ‘บริการให้เช่าเพื่อไม่ทำอะไรเลย’ บริการนี้ใช้ได้ในสถานการณ์ที่คุณแค่อยากให้มีคนอยู่ตรงนั้น อาจเป็นร้านอาหารที่คุณอยากไปแต่ประหม่าถ้าต้องไปคนเดียว อาจเป็นเกมที่อยากเล่นแต่ขาดคนไปหนึ่ง หรืออาจต้องการให้ใครสักคนจองที่ชมดอกซากุระ… ผมขอแค่ค่าเดินทาง (จากสถานีโคคุบุนจิ) และค่าอาหาร / เครื่องดื่ม (ถ้ามี) แต่ผมจะไม่ทำอะไรนอกจากตอบสนองแบบง่ายๆ”–@morimotoshoji 

จากทวีตนี้ โชจิกลายเป็นมนุษย์ให้เช่าโดยสมบูรณ์​ เขาไม่ได้ทำสิ่งนี้เป็นธุรกิจ ไม่คิดหาผลกำไรและใช้ชีวิตด้วยเงินเก็บ

แต่ก่อนโชจิจะเป็นมนุษย์ให้เช่าผู้ไม่ยอมทำอะไรเลย เขาเคย ‘ทำอะไร’ มาก่อน 

โชจิเรียนจบคณะวิทยาศาสตร์ หลังจากนั้นก็ร่วมทำงานในบริษัทตีพิมพ์ตำราวิชาการและให้บริการเรียนทางไกล ทำอยู่ 2-3 ปีก็ออกมาเป็นนักเขียนอิสระ เป็นฟรีแลนซ์ สองปีต่อมาเขาอ่านเจอบล็อกที่เขียนเกี่ยวกับแนวคิด ‘ค่าตอบแทนเพียงเพื่อมีชีวิตอยู่’ 

เราถูกสอนมาตั้งแต่ยังเด็กว่า เพื่อที่จะได้มาซึ่งค่าตอบแทนนั้น เราต้องทำงานไปแลก พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ในชีวิตของแต่ละคนคงมีวิธีสอนเรื่องนี้แตกต่างกันไป ส่วนตัว ความที่บ้านเป็นร้านขายยาต่างจังหวัด และมีกล่องกระดาษลูกฟูกเปล่าที่บรรจุยามาส่งคราวละมากๆ พ่อแม่สอนผมเรื่องนี้โดยใช้ให้พับกล่อง แบกไปชั่งน้ำหนักขายที่ร้านรับซื้อวัสดุไกลออกไป 2-3 กิโลฯ ในแต่ละคราวได้เงินไม่มากแค่ 100-200 บาท แต่ก็มากพอที่ทำบ่อยครั้งเข้าบทเรียนจะถูกสลักเข้าไปในสมอง บทเรียนของการทำงานแลกเงิน งานคือเงิน เงินคืองาน

แต่แนวคิดที่โชจิพบ–ค่าตอบแทนเพียงเพื่อมีชีวิตอยู่–บอกว่าเราควรได้รับค่าตอบแทนแม้ไม่ได้ทำอะไร เพียงหายใจเฉยๆ คนเรามีคุณค่าแม้ไม่ได้ทำอะไรเลย

วันหนึ่งๆ ของมนุษย์ให้เช่าอย่างโชจิประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ตัวอย่างจากวันหนึ่งของเขา : เวลา 9 โมงครึ่งโชจิสวมเสื้อมีฮู้ด กางเกงยีนส์ และหมวกแก๊ป ยืนรอลูกค้าที่ทางออกสถานีชิบูยะ ลูกค้าคนนี้เพิ่งเข้าเป็นครูอนุบาล ไม่มั่นใจที่จะสอนวิชาพละโดยเฉพาะกับบาร์โหน เธอฝึกที่โรงเรียนไม่ได้เพราะกลัวครูคนอื่นเห็น เลยมาฝึกที่สนามเด็กเล่น แต่ก็ไม่อยากทำคนเดียว เลยเรียกให้โชจิมาอยู่เป็นเพื่อนโดยติดต่อผ่าน DM ในทวิตเตอร์ ตอนเที่ยงโชจิไปพบลูกค้าอีกคนที่อยากให้โชจิมาฟังตัวเองพูดถึงอนาคตในวงการดนตรีเพราะตัดสินใจไม่ได้ ในฐานะมนุษย์ให้เช่าผู้ไม่ทำอะไรเลย โชจิไม่สามารถให้คำปรึกษาหรือแสดงความเห็นได้ จึงได้แต่ฟัง แต่ลำพังการฟังก็ดูเหมือนจะทำให้ลูกค้าคนนั้นรู้สึกดีขึ้น หลังจากนั้นตอนบ่าย 2 โชจิไปพบลูกค้าอีกคนที่อยากให้เขากินข้าวกล่องโฮมเมด และหกโมงเย็นไปพบลูกค้าที่อยากให้โชจิอยู่ด้วยตอนขอพรให้การย้ายประเทศราบรื่น นั่นคือวันหนึ่งๆ ของเขา

ฟังดูเป็นชีวิตที่แม้เขาจะบอกว่า ‘ไม่ทำอะไร’ แต่ก็มีคุณค่าดีพิลึก

“ในฐานะมนุษย์ให้เช่า ผมไม่ต้องแสดงความเป็นปัจเจกและก็ไม่พยายามเป็นอย่างนั้น แต่ย้อนกลับไป ตอนที่ผมมองหางาน ผมต้องฉายสปอตไลต์โชว์บุคลิกของตัวเองออกมา การกรอกแบบฟอร์มและสัมภาษณ์งานหมายความว่าผมต้องพยายามขายตัวเอง ผมต้องรู้ว่าข้อดีของตัวเองคืออะไรและบรรยายมันออกมา… ผมคิดว่าตอนที่ผมมองหางาน ผมรู้สึกเหมือนตอนนี้เลย–ว่าไม่อยากให้ตัวตนของตัวเองถูกนิยามด้วยชุดทักษะ นี่คือหัวใจของบริการการไม่ทำอะไร”

“ผมอยากให้โลกเป็นที่ที่ต่อให้คุณไม่ทำอะไรเพื่อคนอื่น กระทั่งคุณเมื่อไม่มอบอะไรให้สังคม คุณก็ยังใช้ชีวิตแบบสบายๆ ได้ นี่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับผม” โชจิว่า

ในสังคมทุนนิยม มนุษย์คือหน่วยทางเศรษฐกิจ นอกจากในฐานะผู้บริโภค เรายังเป็นผู้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจผ่านการทำงานด้วย จากมุมมองของบริษัท เราคือทรัพยากรชนิดหนึ่ง หลายครั้งถูกมองไม่ต่างจากเงินทุน เครื่องจักรหรือซอฟต์แวร์ เป็นอินพุตที่ใส่เข้าไป ณ ปลายด้านหนึ่งของกล่องดำเพื่อให้ผลิตเอาต์พุตออกมาได้ ยิ่งด้วยการแบ่งงานออกเป็นส่วนๆ ตามการจัดการแบบวิทยาศาสตร์แบบเทย์เลอร์ การทำงานตามสายพานแบบฟอร์ด เรายิ่งอยู่ไกลจากชิ้นงานสมบูรณ์จนบ่อยครั้งไม่รู้ว่าเครื่องจักรนี้ประกอบเข้าหากันยังไง 

เดวิด เกรเบอร์ (David Graeber) นักมานุษยวิทยาอนาธิปไตย พูดถึงงานในปัจจุบันว่าหลายตำแหน่งมีลักษณะเป็น bullshit jobs ซึ่งคืองานที่แท้จริงแล้วไร้ความหมาย แต่สังคม (และตัวคนทำงานเอง) หลอกกันไปมาว่ามันมีความหมายจนเชื่อแบบนั้นจริงๆ 

เขาแยกประเภท bullshit jobs ออกมาเป็น 5 แขนงใหญ่

Flunkies คืออาชีพที่ทำให้คนข้างบนรู้สึกสำคัญเช่นฝ่ายต้อนรับหรือคนเปิดประตู, Goons คือคนที่ปะทะแทนนายจ้าง เช่น ทนายของบริษัทหรือลอบบี้ยิสต์ Duct Tapers คือคนที่ซ่อมปัญหาแต่ซ่อมแบบชั่วคราวไม่ถาวร, Box Tickers คือคนที่ทำงานตามระเบียบเพื่อให้เป็นไปตามฟอร์มมากกว่าฟังก์ชั่น และ Taskmasters คือคนที่สร้างงานวุ่นๆ ให้คนอื่น เช่นผู้จัดการระดับกลาง

เป็นไปได้ว่าตามการจัดประเภทนี้ ทุกงานจะมีองค์ประกอบของ bullshit jobs อยู่ กระทั่งงานอย่างครูที่ดูมีความหมายเพื่อมอบการศึกษาให้เด็ก ก็อาจมีบางส่วนที่เป็น Box Tickers คอยเช็กหรือทำเอกสารเพื่อ ‘ให้เป็นไปตามระเบียบของหน่วยงาน’ 

คุณเองก็คงรู้สึก (ถ้าไม่รู้สึกก็ขอแสดงความยินดีด้วย) ว่าสิ่งที่ทำในงานของตัวเองบางเรื่อง ‘ไร้ประโยชน์’ ฉิบหาย 

อย่างการประชุมที่ไม่มีสาระ ไม่มีข้อสรุป ไม่มีการถกเถียงที่กระตุ้นนิวรอนในสมอง งานที่ต้องเขียนขึ้นมา ‘เพื่อให้เจ้านายอ่าน’ ทั้งที่รู้ว่าเจ้านายก็ไม่ได้อ่านหรอก เจ้านายก็ส่งต่อขึ้นไปข้างบนสู่เจ้านายของเขาที่ก็ไม่อ่านอีกที เอกสารชิ้นนี้จะลอยละล่องไปตามขั้นบันไดของบริษัทโดยที่ไม่มีคนครุ่นคิดอย่างจริงจังกับมันเท่าที่คุณลงแรงเขียน เหล่านี้อาจทำให้คุณกลับบ้านล้มตัวลงนอนมองเพดานด้วยความเหนื่อยหน่ายว่ากูกำลังทำอะไรอยู่วะ

บางวันความรู้สึกนี้ก็โผล่ขึ้นมาทักทายเบาๆ แบบพอจัดการได้ แต่บางครั้งก็ผุดขึ้นมาเหมือนไฟที่ดับไม่หมด!

เกรเบอร์คิดว่าแม้มองผิวเผิน bullshit jobs จะมอบคุณค่าทางเศรษฐกิจ ทำให้ระบบไหลเวียนไปได้ไม่ขัดข้อง แต่เมื่อขุดลึกลงไป bullshit jobs ต่างเป็นงานที่ไม่ได้มอบ ‘คุณค่า’ หรือประโยชน์ต่อสังคมจริง ไม่ได้มอบผลิตภาพผลิตผลจริง อาจไม่ทำให้โลกดีขึ้นในด้านใดด้านหนึ่งด้วยซ้ำ สิ่งที่มอบให้อาจเป็นเพียงความรู้สึกปลอมๆ ว่าตนสำคัญเท่านั้น

หากเราหยิบงานมนุษย์ให้เช่าผู้ไม่ทำอะไรเลยของโชจิ โมริโมโตะ มาวางเทียบกับ bullshit jobs เราอาจพบว่าทั้งสองกำลังพูดเรื่องเดียวกัน นั่นคือการตั้งคำถามกับนิยามของงาน 

โชจิตั้งใจไม่ทำอะไรในความหมายที่ว่าเขาจะไม่มอบคุณค่าทางเศรษฐกิจ ไม่มีการแลกเปลี่ยนเงิน (นอกจากแค่ค่าเดินทางและค่าอาหารในกรณีที่ลูกค้าขอให้กิน) ไม่มีการแลกเปลี่ยนเนื้องานที่เอาไปขายหรือทำอะไรต่อได้

แต่เราไม่อาจพูดได้ว่าโชจิไม่มีคุณค่าหรือประโยชน์ต่อสังคม สิ่งที่เขามอบให้ลูกค้าในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง, ในฐานะเพื่อนมนุษย์หนึ่งหน่วยที่อยู่ตรงนั้นตอนที่มีคนต้องการ (แม้ไม่ตอบสนองอะไรไปมากกว่าพื้นฐาน) ในสายตาของผมแล้วมีคุณค่า เป็นคุณค่าที่จับต้องได้จริงสำหรับลูกค้าของเขา ด้วยวิธีคิดนี้ เราอาจมองว่าย้อนแย้งดีที่งานของโชจิ ไม่ใช่ bullshit jobs ตามคำนิยามของเกรเบอร์ ซึ่งขัดกับคำนิยามการงานและอาชีพปกติที่อาจมองว่าเขาเป็นฟรีโหลดเดอร์ เป็นคนที่ไม่มีประโยชน์อันใดต่อสังคม

ในฐานะมนุษย์ให้เช่าผู้ไม่ทำอะไรเลย ในฐานะคนที่ไร้ตัวตน โชจิ โมริโมโตะ กลับมีตัวตนขึ้นมาอย่างน่าประหลาด

งานคือเงิน เงินคืองาน งานคือสิ่งที่สร้างคุณค่าในระบบเศรษฐกิจ การพับกล่องลูกฟูกไปขาย

โชจิ โมริโมโตะ ทำให้เราตั้งคำถามว่า ถ้าเอาตัวแปรเรื่องเงินออกจากงาน เอาคุณค่าทางเศรษฐกิจออกจากงาน งานจะมีหน้าตา มีลักษณะในรูปใดได้บ้าง และเขาทำเรื่องนี้ได้ด้วยการไม่ทำอะไรเลย

อ้างอิง

  • หนังสือ Rental person who does nothing: a memoir, Shoji Morimoto – เขาปฏิเสธว่าการเขียนหนังสือไม่นับว่าเป็นการทำอะไร เพราะจริงๆ แล้วเขาไม่ได้เขียน แต่มีคนอื่นเขียนให้ เขาเพียงแค่ตอบคำถามไปอย่างง่ายๆ เท่านั้น
  • หนังสือ Bullshit jobs, David Graeber

Writer

นักเขียน นักวาด อดีตผู้ทำงานด้านการตลาดที่ Amazon สิงคโปร์

Illustrator

แล้วแต่จะคิด ชีวิตคนละแบบ

You Might Also Like