House of Hearts

วิธีจัดสรรความสัมพันธ์และงานของ วีรภัฏและวิชชุกร โชคดีทวีอนันต์ คู่รักเจ้าของ The Bound House

The Bound House คือหมู่บ้านทาวน์เฮาส์ขนาด 20 หลัง บวกช็อปเฮาส์สำหรับทำธุรกิจและอยู่อาศัยอีก 8 หลัง ที่ริเริ่มโดย บอน–วีรภัฎ โชคดีทวีอนันต์ สถาปนิกผู้ก่อตั้งสตูดิโอออกแบบ Studiotofu

ทาวน์เฮาส์ แปลได้ว่ามีขนาดกะทัดรัด แต่บ้านของบอนอยู่สบายด้วยช่องแสงสกายไลต์ รับแสงธรรมชาติตลอดวัน มีลมถ่ายเทจนแทบไม่ต้องพึ่งแอร์ แถมยังออกแบบสเปซให้โปร่งโล่ง จนลูกบ้านหลายคนออกปากว่าพวกเขาใช้เวลาอยู่บ้านมากกว่าเดิมเป็นเท่าตัว

ฟังดูเหมือนบ้านในฝันที่น่าลงทุน เว้นแต่ ‘โลเคชั่น’ ของหมู่บ้านคือจังหวัดนครปฐม แทนที่จะเป็นโลเคชั่นยอดนิยมสำหรับที่อยู่อาศัยอย่างใจกลางกรุงเทพฯ ทำให้ตอนเริ่มต้นไม่มีคนรอบตัวเห็นดีเห็นงามกับโครงการนี้ของบอนสักคน ไล่ตั้งแต่เพื่อนสถาปนิก นักลงทุน ไปจนถึงญาติๆ และครอบครัว

มีแค่ภรรยาอย่าง วิ–วิชชุกร โชคดีทวีอนันต์ เท่านั้นที่ไม่ห้าม ซ้ำอดีตครีเอทีฟไดเรกเตอร์ของ Greyhound คนนี้ยังกระโดดลงมาทำโครงการด้วยกัน และเปิดร้าน LIFE SHOP Nakhon Pathom เพื่อใช้เป็น community center และเป็นบ้านตัวอย่างไปในตัว

ปัจจุบันทาวน์เฮาส์ของพวกเขาขายหมดเกลี้ยง เหลือช็อปเฮาส์ให้จองเพียงแค่ 2 ยูนิต ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยที่ทั้งคู่ย้ำว่า “ไม่เคยอยากทำงานด้วยกันเลย” 

และนี่คือวิธีทำงานของคู่สามี-ภรรยาที่ไม่เคยคิดจะทำงานด้วยกัน แต่เวิร์กจนความสัมพันธ์ทั้งสองฝั่ง bound และเบา เหมือนชื่อบ้านของพวกเขาไม่มีผิด

คนหนึ่งเป็นสถาปนิก คนหนึ่งเป็นดีไซเนอร์ สายงานดูใกล้กันทำไมคุณถึงไม่อยากทำงานด้วยกัน

วิ : ส่วนใหญ่ทุกคนจะเตือนหมดเลย เราก็คิดว่าไม่ควรเพราะเขามีความคิดของตัวเอง เราก็มีความคิดของตัวเอง ถ้ามาทำงานด้วยกันเดี๋ยวบ้านแตกหรือเปล่า (หัวเราะ)

บอน : เราคิดว่าเดี๋ยวจะทะเลาะกันเรื่องงาน ห่วงบรรยากาศในบ้านว่าจะกระทบไปสู่ลูกๆ 

แต่จริงๆ ก็เคยทำงานด้วยกันบ้างนะช่วงที่วิทำงานอยู่ Greyhound เรามีบริษัทออกแบบชื่อ Studiotofu ทำงานออกแบบสถาปัตยกรรมและอินทีเรียร์ รับงานออกแบบพวกช็อปบูทีกหรือ Greyhound Cafe อยู่ 7-8 ปี

รูปแบบการทำงานด้วยกันตอนนั้นเป็นยังไง

วิ : ประมาณนายจ้าง-ลูกจ้าง (หัวเราะ) Greyhound ไปจ้าง Tofu ออกแบบร้าน มีประชุม บรีฟแบบ ทำแบบตามปกติ ซึ่งเขาก็ไม่ได้เอามาให้เราดูก่อนนะ เรามาดูหน้างานพร้อมทีมเลย ทั้งคอมเมนต์ ปรับ แก้ ไปดูไซต์ เจอกันตามขั้นตอน แต่ทุกอย่างจบอยู่ที่ด้านครีเอทีฟ

แล้วมาเริ่มทำ The Bound House ด้วยกันได้ยังไง

บอน : สิ่งที่ทำให้เราอยากทำธุรกิจคือเรามีลูกค้าประจำเยอะ ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดี ลูกค้ามีงานให้เราตลอด จนเราสงสัยว่าอะไรคือหัวใจในการทำธุรกิจของเขา พอสังเกต พูดคุยกันเยอะๆ เราก็เห็นคีย์สำคัญคือถ้าโปรเจกต์ดียังไงธุรกิจก็ไปได้ เป็นจุดเริ่มต้นให้เราคิดว่าเราน่าจะทำธุรกิจของตัวเองได้ด้วยชุดความคิดนี้แต่มีแต่คนห้ามว่าอย่าเลย อย่ามาทำที่นครปฐม

เรามีแค็ตตาล็อกโครงการด้านในมีแบบบ้านต่างๆ (เดินไปหยิบแค็ตตาล็อกมาให้ดู) ก่อนเริ่มสร้างเราเอาให้เพื่อนดู พยายามขายกระดาษ เชิญชวนนักลงทุนมาร่วมลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยง แต่พอดูเล่มนี้จบปุ๊บทุกคนพูดว่าเขาชอบทุกอย่างเลย แต่พอเป็นนครปฐมเขาไม่เก็ต ทำไมไม่เป็นทองหล่อ เอกมัย ญาติมาจากในตลาด มาดูที่ของเรายังบอกว่า โห บอน ไม่ใช่แล้ว ลื้อผิดแล้ว

วิ : ไม่มีใครเชียร์เลยนะ ถ้าไปถามสิบคนคือเชียร์ศูนย์คน

บอน : ช่วงก่อสร้างเราทำได้อยู่แล้วแต่พอมาถึงเรื่องมาร์เก็ตติ้ง ต้องเริ่มขาย เราเรียกทีมมาร์เก็ตติ้งเข้ามา ทีมที่ 1 2 3 4 5 6 ทุกคนมาในฟอร์แมตเดียวกันหมด มีสูตรสำเร็จเป็นแพตเทิร์นในการทำการตลาด

วิ : ทุกคนมาแบบขอซุ้มทางเข้าใหญ่ๆ (หัวเราะ)

บอน : ทุกคนมาด้วยฟอร์แมตการขายเดิมๆ แทนที่จะเอาบ้านของเราไปตีความว่าต้องขายยังไงให้เหมาะสม แต่เราทำไปขายไป ไม่ได้มีเงินถุงเงินถังพอจะสร้างให้เสร็จทีเดียวแล้วขาย นี่เป็นจุดที่ทำให้เราปรึกษากันมากขึ้นและเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานด้วยกัน

ทางนี้ (ชี้ที่ตัวเอง) รับผิดชอบเรื่องแบบ การก่อสร้าง ติดต่อประสานงานเจ้าหน้าที่เทศบาล นอกนั้นเรื่องมาร์เก็ตติ้ง งานขาย หลักๆ จะเป็นคนนี้ (ชี้วิ)

ตอนที่ทุกคนห้ามไม่ให้ทำ The Bound House ทำไมตอนนั้นวิถึงไม่ห้าม

วิ : จริงๆ บอนเขาเรียนสถาปัตย์ผังเมืองมาจากเนเธอร์แลนด์ เราแอบรู้สึกว่าความฝันของเขามันคือการวางผัง การทำ planning สร้างชุมชน

อีกอย่างเราอยู่ด้วยกันเรารู้ว่าเขาไม่ได้เข้าข้างตัวเอง นครปฐมเมืองมันมีความเชียงใหม่นะ มีคาเฟ่ดีๆ มีมหาวิทยาลัย ศิลปากรก็อยู่ที่นี่ มหิดลก็ไม่ไกล เป็นเมืองที่เวลาเรามามัน positive ทำไมการทำหมู่บ้านที่นี่จะเป็นไปไม่ได้ เราเองดูแบบของบอนก็คิดว่ามันโอเคแล้ว คือถ้าบอนจะทำอะไรแล้วเราคิดว่ามันไม่น่าจะดีเราก็ไม่ทำเหมือนกันเพราะว่ามันเหนื่อยนะ ทำหลายปี แต่เห็นแล้วเรารู้ว่าเขามีทาร์เก็ตที่ดีเราก็เลยช่วยๆ กันทำ

ยิ่งได้มาเห็นบ้านข้างในจริงๆ เรายิ่งนับถือ ดีจังเลย อยากได้บ้านอย่างนี้เหมือนกัน (หัวเราะ)

ทำไมถึงต้องเป็นวิที่มาทำมาร์เก็ตติ้ง

บอน : เขามีประสบการณ์เป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์  มันก็เป็นเส้นทางธรรมชาติ ซื่อๆ ออร์แกนิกมากๆ ทำสิ่งที่พวกเราถนัด เราชอบเล่าเรื่อง สแนปรูปมุมโน้น มุมนี้ เราก็ไปทางนี้แหละ แล้วกระบวนการตัดสินใจมันไม่ต้องผ่านเยอะ แค่สองคนนี่แหละ อีกอย่างเราคิดว่าคนนี้หวังดีกับเราที่สุดแล้ว ไม่โกหกเราแน่ๆ ถ้าดีก็บอกดี ไม่ดีก็บอกตรงๆ

วิ : เราเป็นครีเอทีฟที่ทำงานกับมาร์เก็ตติ้ง ประชุม ดู p&l (profit and loss) ของบริษัท ฉะนั้นจะรู้เรื่องมาร์เก็ตติ้งบ้างทำให้ช่วยคอมเมนต์บอนได้

จ๊อบแรกที่มาช่วยด้านดีไซน์และครีเอทีฟคือบ้านตัวอย่าง เราชอบช้อปปิ้งเฟอร์นิเจอร์อยู่แล้ว และเรียนอินทีเรียร์ที่ศิลปากรมาซึ่งไม่ได้ใช้ความรู้เลย พอบอนทำโครงบ้านเสร็จเราก็บอกว่าเดี๋ยวจัดให้ (หัวเราะ)

งานเปิดบ้านตัวอย่างด้วย เราทำ exhibition ชื่อ Joy House ชวนเพื่อน พี่ น้อง เอางานศิลปะ ดีไซน์ของเขามาแต่งบ้านและขาย คนมาชมบ้านก็ได้มาชมงานด้วย พูดตรงๆ มุกแบบนี้ได้มาจากสมัยที่อยู่ Greyhound แหละ เป็นอารมณ์แบบไม่เห็นต้องทำแบบเดิมเลย บอนเขาเป็นคนไม่ชอบทำอะไรตามที่คนอื่นทำอยู่แล้วก็เลยแชร์กัน

ที่บอนบอกว่าวิคือคนที่หวังดีที่สุด วิหวังดียังไง

บอน : เอาจริงๆ น่าจะเยอะนะ (นิ่งคิด)

วิ : โห เราทักเยอะเลย  ยกตัวอย่าง ถ้าเราเห็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นเรื่องงานก่อสร้างซึ่งไม่เกี่ยวกับเรา เราจะคอมเมนต์ด้วยความหวังดี

บอน : ที่จำได้ว่าวิทักคือตรงมุมขวาด้านหน้าโครงการ ตอนนั้นอาคารพาณิชย์เราสร้างเสร็จแล้วแต่มุมนั้นมันยังคาราคาซัง มีกองหิน กองอะไรอยู่มันไม่เรียบร้อยเพราะช่างเร่งทำบ้านข้างในอยู่ให้ลูกค้าโอนได้  วิเขาก็ทักมาว่า เฮ้ย มันเป็นหน้าตาของบ้านนะ เราน่าจะทำให้มันเรียบร้อยกว่านี้ เราคิดว่าจริง ก็แบ่งคนมาจัดการ

หรือการติดต่อกับหน่วยงานราชการ บางทีวิเขาไม่ได้ไปเราก็มาปรึกษาเพราะเขามองจากมุมของคนที่ไม่ได้อยู่กับสิ่งนี้ มองเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ต้องรีบดีไหม ไปทำเรื่องอื่นก่อน

วิ : แต่บางทีเขาไม่เห็นด้วยก็มี ถ้าไม่เห็นด้วยเราก็จะรู้แล้วว่าเราไม่ได้อยู่กับปัญหา บางทีเขาอาจจะไปเจอบางอย่างหน้างานมาแล้วเราไม่รู้ ฉะนั้นเราต้องยอมรับเพราะให้เราไปเองเราก็ไม่ได้ไป (หัวเราะ) 

พอเป็นคนสนิทบางคนก็ไม่กล้าคอมเมนต์งานอีกฝ่ายเพราะกลัวจะผิดใจกัน ทำไมคุณถึงกล้าคอมเมนต์

วิ : เพราะเรารู้สึกว่าถ้าเราไม่พูดก็ไม่มีใครพูดแล้ว เรารู้ว่าบอนเขาเป็นคนฟัง เทคไม่เทคไม่รู้แต่อย่างน้อยเขาจะได้ยินมัน ที่กลัวที่สุดคือเราไม่ได้พูดแล้วเขาไม่ได้ยิน ถ้ามันออกไปแล้วผิดพลาดเราก็จะมาเสียดายทีหลังว่าทำไมไม่พูด สุดท้ายถ้าเขาลำบากเราก็ลำบากด้วย

เราเคยคุยกันว่าบางทีสิ่งที่เราพูดมันอาจจะไม่ถูกใจแต่ที่พูดคือเพราะหวังดี เราไม่ต้องการอะไรมากไปกว่านั้น

บอน : เราคิดเหมือนกันว่าเราไม่ชอบให้มีความยุ่งยากเกิดขึ้นในอนาคต ฉะนั้นสิ่งที่วิทักถ้ามันจริงแล้วเราไม่แก้ ในอนาคตยังไงปัญหาก็วนกลับมาที่เราอีกแน่ๆ (หัวเราะ) 

วิ : แต่จริงๆ ก็ไม่ง่ายนะการทำงานด้วยกันน่ะ

ไม่ง่ายยังไง

วิ : เรื่องจุกจิกมันเยอะซึ่งบางทีสร้างปัญหา คือเรื่องจุกจิก เรื่องเล็กก็จริงแต่เราเห็นไม่เหมือนกันจะทำยังไง อันนี้แหละปัญหา เช่น ส่งงานไป 18 แบบแล้วเขาไม่เอา ไม่ชอบก็จะมีเหมือนกัน

บอน : มีเหรอ

วิ : มี แต่อาจจะสัก 10 แบบ (หัวเราะ)

บอน : ไม่ถึง (หัวเราะ) จริงๆ แล้วเราว่าเต็มที่อะ 3 แบบซึ่งถ้าเกิดเรายังไม่ชอบเราจะทำเองแล้วส่งให้ดู ว่าอยากได้ประมาณนี้ 

วิ : เวลาเขาคอมเมนต์บางอย่างมันไม่ถูกใจเราหรอก เฮ้ย พูดงี้ได้ไง เราว่าความยากเวลาครอบครัวทำงานด้วยกันคืออารมณ์ที่เกิดจากความเป็นส่วนตัว ปกติถ้าเราคุยกับหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานมันก็จะตัดจบแค่เรื่องงานไม่ได้มีความลึกซึ้ง ไม่รู้สึกว่าทำไมพูดอย่างนี้ เราเสียใจ

ตอนหลังๆ พอเริ่มร่วมงานกันมากขึ้นเราถึงเริ่มรู้สึกว่าเอาจริงๆ เป้าหมาย หลักการ สิ่งที่เขาต้องการคือสิ่งที่เราคิดตรงกัน 

เป้าหมายนั้นคืออะไร

บอน : เราควรทำในสิ่งที่ถูกต้องก่อนจะทำในสิ่งที่ถูกใจ เป็นเป้าหมายเลย ถ้าเกิดถูกต้องแล้วเรื่องความสวยเราค่อยครีเอตให้เต็มที่ อย่างตอนเราสั่งเสาเข็มเข้าโครงการ ญาติมาเห็นเขาก็บอกว่าเฮ้ย ที่นี่ไม่มีใครใช้เสาเข็มใหญ่แบบลื้อ แต่เราคิดว่าเราทำงานด้านนี้มานานก็อยากทำให้ถูกมาตรฐาน อยากสร้างบ้านให้ลูกบ้านอย่างดีที่สุดเท่าที่ความสามารถและความตั้งใจเรามี จนบ้านมันก็ไปได้

วิ : มันเหมือนเรามองเป้าหมายเดียวกัน ต่อให้ระหว่างทางจะเป็นยังไง สุดท้ายเราจะไปที่นี่ แต่ใช่ ในรายละเอียดเราสู้รบกันอยู่แล้วแต่สุดท้ายเราทำเพราะอยากให้เป้ามันดี หรือบางอย่างไม่อยากทำก็ต้องทำเพราะเราจะทำตามเป้า

นอกจากเห็นเป้าหมายเดียวกัน อะไรอีกที่สำคัญในการทำงานกับสามี-ภรรยา

วิ : เรามีเทคนิคว่าต้องแยกเรื่องส่วนตัวกับเรื่องงาน สมมติหัวหน้าทักเรื่องที่เราทำผิด ทำไมเราเปลี่ยนล่ะ เพราะมันเป็นหน้าที่ใช่ไหม แต่บางทีพอเป็นครอบครัวเราจะมีเรื่องส่วนตัว ไอ้นี่มันนู่นนี่นั่น เราต้องแบ่งส่วนออกมา ถ้าเป็นส่วนงาน เข้าใจ แต่ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวก็ไปคุยแยกว่าเรื่องนี้ทำให้เราเสียใจ แยกหัวข้อให้ชัดเจนไม่พูดปนกัน เพราะถ้าพูดปนกันมันอาจจะจบลงด้วยการร้องไห้

ปีนี้ครบรอบ 19 ปีเราเริ่มรู้แล้วว่าต้องทำประมาณนี้แหละ แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกอย่างดีทั้งหมดเนอะ ชีวิตเนอะ คนอยู่ด้วยกันมันมีกระทบกันอยู่แล้วแหละ

เราเรียนรู้เรื่องนี้จากโรงเรียนของลูกและธรรมะด้วย เขาบอกว่าไม่มีใครหรอกที่อยากจะพูดสิ่งที่ทำให้อีกคนไม่ชอบแต่ว่าที่ต้องพูดเพราะมันจำเป็น การที่มีคนมาทักเราเราต้องขอบคุณเขาด้วย อย่างเจ้านายประเมินเราทุกปีเราก็ต้องขอบคุณเจ้านายนะเพราะถ้าเขาไม่ทักเราเราก็ไม่ดีขึ้น ถ้าบอนทักผิดหูเราต้องพยายามคิดว่ามันจริงหรือเปล่า ถ้าจริงเราต้องยอมรับนะ

บอน : ข้อเสียของเราคือเราคิดมาเยอะแล้วนะแต่พูดน้อย ต้องกระชับที่สุดเพราะยังมีเรื่องอื่นๆ รออีกเยอะ กับน้องๆ ที่ออฟฟิศก็เป็น ฉะนั้นบางคำพูดของเราทำร้ายจิตใจก็มี เขาก็บอกว่าคราวหลังเตือนด้วยอีกวิธีได้ไหม เราก็ เออว่ะ จริง ไม่ว่าจะคนในครอบครัวหรือคนอื่นก็ตามเราน่าจะมีวิธีสื่อสารที่ดีขึ้น

แล้วเวลางานกับเวลาส่วนตัวสามารถแยกออกจากกันได้ไหม

บอน : จริงๆ ความเป็นกันเองมันทำให้เราสามารถคุยเรื่องงานได้ทุกเวลาแต่ถ้าอันไหนซีเรียสเราก็จะขอเซตเวลาเพื่อสิ่งนี้

วิ : ตอนเย็นอาจจะเหนื่อยมากแล้ว คุยไม่ไหวก็มี แต่บางเรื่องถ้าแชร์ได้เราก็อยากให้ลูกได้ฟังเป็นข้อคิด คุยกันแล้วก็ถามความเห็นลูกเพราะเขา 12 ขวบแล้วคุยกันรู้เรื่อง หรือบางทีเราคุยงานกันก็รู้ว่าเขาแอบฟังเราอยู่ บอนเขาก็จะแหย่ๆ ให้เขาหันมาแบบ “พ่อรู้ว่าเราฟัง” (หัวเราะ)

เรื่องเวลางานบางทีแบ่งได้ บางทีก็แบ่งไม่ได้ บางทีเราคุยกับบอนเสียงเราจะดังโดยอัตโนมัติ ไม่ได้ทะเลาะกันนะแต่มันเหมือนเวลาเราแชร์ไอเดียในที่ประชุมอะ เราแค่พยายามอธิบายพรีเซนเทชั่น กำลังมัน ลูกก็จะแบบ “แม่ใจเย็น” (ทำท่าแตะไหล่) 

บอน : เออใช่ๆๆ บางทีก็บอกว่าพ่อ แม่ อย่าทะเลาะกันสิ แม่อย่าเสียงดังใส่พ่อ (หัวเราะ)

วิ : เราก็บอกว่าไม่ได้ทะเลาะกันนะ นี่คุยกันเฉยๆ อธิบายให้เขาเข้าใจ บางทีจะมีกรรมการเข้ามาบอกว่า “แม่ หายใจลึกๆ นับ 1-10 หรือยัง” (หัวเราะ) เราก็ อ๋อ นี่แม่กำลังโกรธอยู่เหรอ กลับมารู้ตัว ซึ่งคนที่พูดคือลูกอนุบาล 3 นะ เขาอ่านมาในนิทานว่าเวลาโกรธให้นับ 1-10

ถ้าต้องแนะนำคนที่กำลังจะเริ่มทำธุรกิจกับคนรักสักข้อ อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่คุณได้เรียนรู้จาก The Bound House

วิ : เราคิดว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้ทำงานด้วยกันได้คือเราเคารพความคิดเห็นของแต่ละคน เคารพส่วนงานที่แต่ละคนรับผิดชอบ ดังนั้น อย่างแรกคือควรแบ่งส่วนงานให้ชัดเจน เรื่องนี้คนนี้รับผิดชอบ เรื่องนี้คนนี้ตัดสินใจ ถ้าสุดท้ายเคาะจบแล้วก็ต้องเคารพ ไปต่อ ไม่ต้องมานั่งพะว้าพะวง

บอน : พอสามี-ภรรยาทำธุรกิจด้วยกันเราจะผูกพันกันในหลายๆ มิติ อีรุงตุงนัง ทั้งลูก ทั้งครอบครัวสามี ครอบครัวภรรยา เราคิดว่าต้องเรียบเรียงพาร์ตต่างๆ เหล่านี้ให้ทำงานด้วยกันได้อย่างดีไม่อย่างนั้นจะมีปัญหา

อีกอย่างคือเรื่องการตัดสินใจ ถ้าจะทำธุรกิจด้วยกันเราต้องเอาความเป็นตัวเองออกไปก่อน แล้วคิดถึงผู้อื่นหรือคิดถึงความถูกต้อง คิดถึงเป้าหมาย แล้วก็สร้างกระบวนการเพื่อไปสู่เป้าหมายนั้น

การคิดถึงผู้อื่นในที่นี้ไม่ใช่แค่ลูกค้า มันคือการคิดถึงทีมงาน บอนก็ต้องคิดถึงวิ คิดถึงลูกน้อง คล้ายๆ กับเรื่องที่เราชอบเป็นพิเศษคือ ‘โอโมเตนาชิ’ หรือจิตวิญญาณการบริการของญี่ปุ่น คือร้านอาหารร้านหนึ่งเขาเทรนบริกรว่าอย่าให้ลูกค้าต้องขอน้ำ แต่ถ้าเกิดได้ยินเสียงกริ๊กของน้ำแข็งที่กระทบแก้วเมื่อไหร่ขอให้รีบเอาเหยือกน้ำไปเติมให้ลูกค้าทันที

เราอยากเป็นแบบนี้คือคิดถึงคนรอบข้างอยู่เสมอแล้วก็ทำทุกอย่างให้ดีกับเพื่อนร่วมงาน กับครอบครัว กับลูกค้า นี่น่าจะเป็นหัวใจที่เราได้เรียนรู้จากการทำงานนี้

You Are My Best Part(ner)

บอน : เรื่องที่ดีของวิคือความจริงใจหรือความซื่อสัตย์ ไม่ไบแอส ดีก็บอกว่าดี ไม่ดีก็บอกว่าไม่ดี ไม่โอนเอียงไปทางใคร ดังนั้นเวลาเราเริ่มหันซ้ายหันขวา เราถามคนนี้ดีที่สุด เพราะเขาไม่น่าจะมีวันโกหกเรา ทุกวันนี้เขาเป็นคนแรกเลยที่เราถามเรื่องงาน

วิ : เรื่องที่เราประทับใจจากการทำงานกับบอนคือการเรียนรู้และความไม่ยอมแพ้ โดยพื้นฐานเราเป็นคนขี้เกียจแต่อยู่กับเขาเราขี้เกียจไม่ได้ เขาเข้าห้องสมุดมาตั้งแต่มหาวิทยาลัยแต่เราเข้าไปนอน (หัวเราะ) เขาจะคุยกับคนนู้น สวัสดีคนนี้ ไปตรงนั้น เฮ้ย มีสิ่งนี้ใหม่ ทำให้เรารู้จักคนเยอะขึ้น ได้ทำอะไรใหม่ๆ เติบโตและเรียนรู้ไปด้วย

ส่วนความไม่ยอมแพ้คือเขาไม่ยอมหยุดอยู่กับที่ เวลาทุกคนบอกว่าทำสำเร็จแล้วนะเขาจะบอกว่านี่เป็นแค่ก้าวที่ทำให้เราไปทำอะไรต่อได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเรานับถือเขานะ เป็นเราเราคงไม่กล้าทำสิ่งที่ทุกคนห้ามไม่ให้เราทำ แต่บอนบอกให้เรามาดูที่ ดื้อมากจนเขาทำได้และทำให้คนที่มาอยู่มีความสุข เป็นสิ่งที่ทำให้เราประทับใจ

Writer

Lifestyle Editor ชอบคุย ชอบรู้จัก และชอบอุดหนุนแบรนด์สร้างสรรค์ที่รัก

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like