‘TSMC’ บริษัทผลิตชิปในไต้หวันเป็นใคร ใหญ่แค่ไหน ทำไมทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างให้ความสำคัญ
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาคงไม่มีข่าวไหนที่คนทั้งโลกจับตามองและให้ความสนใจไปมากกว่าการที่ ‘แนนซี เพโลซี’ ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ ไปเยือนไต้หวัน และนี่ถือเป็นการไปไต้หวันของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐในรอบ 25 ปี จนกลายเป็นเหมือนการกระตุกหนวดมังกรครั้งใหญ่
เพราะจีนนั้นมีจุดยืนเรื่อง ‘จีนเดียว’ มาโดยตลอดที่มองว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศตัวเอง ซึ่งการที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ เดินทางไปเยือนไต้หวัน เป็นการขัดต่อจุดยืนดังกล่าว แม้ว่าก่อนหน้านี้ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ เคยบอกว่าไม่สนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราชของไต้หวันก็ตาม
เรื่องนี้นำมาสู่แถลงการณ์อันเผ็ดร้อนของสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยที่ระบุว่า “สหรัฐฯ พูดอย่างทำอย่าง ไม่มีความน่าเชื่อถือและสัจธรรม ถูกคนทั่วไปดูถูกกัน และทำให้เครดิตรัฐของสหรัฐฯ สูญหายไปหมด”
ความขัดแย้งของทั้งสองสร้างแรงสะเทือนและความกังวลใจให้กับหลายประเทศทั่วโลกว่าจะเป็นชนวนที่ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างจีน-สหรัฐฯ ทวีคูณขึ้นอีกหรือไม่ และอาจจะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกทั้งเรื่องเงินเฟ้อ หรือภาวะเศรษฐกิจถดถอยให้แย่ลงไปอีก
อย่างไรก็ดีอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญในการเดินทางไปไต้หวันของ ‘แนนซี เพโลซี’ ครั้งนี้ คือการไปพบกับมาร์ก หลิว (Mark Liu) ประธานของ Taiwan Semiconductor Manufacturing Co. หรือ TSMC ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลกเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับความร่วมมือในการผลิตชิป หลังสหรัฐฯ เพิ่งผ่านกฎหมาย Chips and Science Act ที่จะให้เงินอุดหนุนกว่า 52,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1.8 ล้านล้านบาท) แก่โรงงานที่ผลิตชิปภายในประเทศสหรัฐฯ
แล้ว TSMC เป็นใคร ใหญ่แค่ไหนจนทำให้แนนซี เพโลซี ถึงกับต้องเดินทางไปพบ?
เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 1973 ที่รัฐบาลของไต้หวันมุ่งมั่นที่จะยกระดับอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมของประเทศ จากที่เน้นการรับจ้างผลิตและใช้แรงงานจำนวนมาก ให้เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง หนึ่งในนั้นก็คือการผลักดันในการจัดตั้งสถาบันวิจัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (ITRI) เพื่อศึกษา วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์และแผงวงจรโดยเฉพาะ
ต่อมาในปี 1987 หรือเมื่อ 35 ปีก่อน ITRI จึงได้ร่วมกับบริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศเนเธอร์แลนด์ ก่อตั้ง TSMC โดยมีโมเดลธุรกิจคือ ดำเนินการรับจ้างผลิตแผงวงจร และชิปเซมิคอนดักเตอร์ ที่เรียกว่าเป็น ‘สมอง’ ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ให้กับบริษัทต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทในสหรัฐฯ และยุโรป
ข้อมูลไตรมาส 1 ปี 2022 จาก TrendForce รายงานส่วนแบ่งทางการตลาดชิปเซมิคอนดักเตอร์ของทั่วโลก พบว่า TSMC ครองส่วนแบ่งมากที่สุดคิดเป็น 54%, รองลงมา อันดับ 2 Samsung คิดเป็น 16% และอันดับ 3 UMC คิดเป็น 7%
ซึ่งจากสัดส่วนนี้อธิบายได้ว่า ชิปครึ่งหนึ่งที่คนทั่วโลกใช้ เป็นชิปที่ TSMC เป็นผู้ผลิตนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นชิปที่ใช้ในสมาร์ตโฟน, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, ซูเปอร์คอมพิวเตอร์, อุตสาหกรรมรถยนต์ หรือแม้แต่เครื่องบิน F-35 ของสหรัฐฯ และถ้าให้ยกตัวอย่างแบรนด์ที่ใช้ชิปของ TSMC เช่น Apple, AMD, Nvidia, Sony และ Intel
TSMC ยังนับว่าเป็นบริษัทที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของไต้หวัน และอันดับ 10 ของโลกด้วย โดยเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้อยู่ที่ 1.9 ล้านล้านบาท และมีกำไรอยู่ที่ 7.1 แสนล้านบาทเลยทีเดียว
ไม่ใช่แค่ TSMC ที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมชิปเซมิคอนดักเตอร์ แต่เรียกได้ว่า ‘ไต้หวัน’ ทั้งประเทศก็มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมนี้เช่นกัน เพราะไต้หวันครองสัดส่วนการผลิตชิปถึง 64% จากทั่วโลก โดยมีบริษัทที่ผลิตชิปรายอื่นๆ อย่าง UMC, PSMC และ VIS ด้วย รองจากไต้หวันก็คือประเทศเกาหลีใต้ซึ่งครองสัดส่วนอยู่ที่ 18% จีนครองสัดส่วนอยู่ที่ 9% และสหรัฐฯ ที่แม้จะเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีแต่สามารถผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ได้เพียง 6% ของการผลิตทั้งโลก
ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า TSMC รวมถึงประเทศไต้หวัน มีความสำคัญต่อการผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์มากเพียงใด ซึ่งหากขาดชิปจากไต้หวันเพียงประเทศเดียว ก็จะส่งผลให้การผลิตเทคโนโลยีค่อนโลกหยุดชะงักตามไปด้วย
แล้วประเทศอื่นๆ รวมถึงสหรัฐฯ จะสามารถผลิตชิปเอง เพื่อทดแทนชิปจากไต้หวันได้หรือไม่?
คำตอบของเรื่องนี้ก็คือ “อาจจะได้” แต่อาจจะต้องใช้เวลาอีกหลายปี กว่าที่จะมีความชำนาญเทียบเท่ากับ TSMC หรืออาจต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล ทั้งเพื่อการวิจัยและพัฒนา การตั้งโรงงานผลิต รวมถึงจ้างบุคคลากรและผู้เชี่ยวชาญด้วย
เมื่อดูจากประเทศจีนที่มีจุดยืนคือ จีนเดียว จึงอาจคาดเดาได้ว่า ไม่ช้าก็เร็วจีนจะเข้ายึดครองไต้หวัน เหมือนดั่งที่เกิดขึ้นกับฮ่องกง เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เท่ากับว่า TSMC ที่มีฐานการผลิตอยู่ที่ไต้หวันและจีน รวมถึงบริษัทผลิตชิปอื่นๆ ของไต้หวัน จะตกอยู่ในการควบคุมของรัฐบาลจีนทั้งหมด
ดังนั้น การที่แนนซี เพโลซี เดินเข้าพบกับประธาน TSMC ก็เพื่อเจรจาให้เข้ามาตั้งโรงงานที่สหรัฐฯ เพื่อเพิ่มฐานการผลิต นอกเหนือจากโรงงานเดิมที่ตั้งอยู่ในเมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา และเพื่อลดความเสี่ยงเกี่ยวกับปัญหาด้านการผลิต หากความขัดแย้งระหว่างจีนและไต้หวันตึงเครียดมากขึ้น
ตัดภาพมาที่ประเทศจีน รู้หรือไม่ว่า จีนก็มีบริษัทผลิตชิปเป็นของตัวเองเช่นกัน บริษัทนี้มีชื่อว่า Semiconductor Manufacturing International Corporation หรือ SMIC เป็นบริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของประเทศจีน
อย่างไรก็ดี SMIC ยังไม่มีความชำนาญ หรือเทคโนโลยีขั้นสูงเทียบเท่ากับ TSMC โดยครองส่วนแบ่งทางการตลาดทั่วโลกเพียง 6% เท่านั้น จึงทำให้ที่ผ่านมา จีนยังต้องพึ่งพาชิปจากไต้หวันอยู่นั่นเอง
เรียกได้ว่าชิปจากไต้หวันเป็นชิ้นส่วนสำคัญของจีน สังเกตได้จากมาตรการล่าสุดที่จีนสั่งแบนหลังแนนซี เพโลซี เยือนไต้หวัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสินค้าทางการเกษตร และอาหารทะเล แต่จีนไม่เคยแบนการนำเข้าสินค้าอย่างชิปเซมิคอนดักเตอร์เลย
นอกจากมาตรการแบนการนำเข้าแล้ว จีนยังได้ทำการซ้อมรบครั้งใหญ่ที่สุดในบริเวณน่านฟ้าและทะเลรอบๆ ไต้หวัน รวมถึงยังมีความเป็นไปได้ว่าจีนจะบุกเข้าไต้หวัน
เรื่องนี้เป็นเหตุทำให้มาร์ก หลิว ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “หากจีนทำการบุกไต้หวัน โรงงานผลิตชิปที่ล้ำหน้าที่สุดในโลก จะไม่สามารถดำเนินการได้” รวมถึงบอกด้วยว่า “ไม่มีใครสามารถควบคุม TSMC ได้ด้วยการใช้กำลัง” และ “สงครามไม่มีผู้ชนะ มีแต่ทุกคนที่เป็นผู้แพ้”
สุดท้ายนี้ สถานการณ์ระหว่างจีน สหรัฐ และไต้หวัน เป็นเรื่องที่ทั่วโลกยังต้องติดตามกันว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ไต้หวัน เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความสำคัญต่อการผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์เป็นอย่างยิ่ง
เอาแค่ว่าการขาดแคลนชิปในช่วงการระบาดของโควิด-19 ยังทำให้หลายอุตสาหกรรมปั่นป่วน ทั้งการผลิตรถยนต์ และการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ หลายคนก็คงไม่อยากจะนึกว่าถ้าหาก TSMC รวมถึงบริษัทอื่น ๆ ไม่สามารถผลิตชิปได้ตามที่ประธาน TSMC กล่าว เรื่องนี้จะทำให้โลกปั่นป่วนมากขึ้นกว่าเดิมขนาดไหน