ความไม่เท่ากันของความไม่เท่าเทียม

‘Tony’s Chocolonely’ ช็อกโกแลตที่หักยังไงก็ไม่มีทางเท่ากันเพื่อสะท้อนถึงความไม่เท่าเทียม

กว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา บริษัทช็อกโกแลต Tony’s Chocolonely ที่สร้างรายได้มากกว่า 100 ล้านยูโรต่อปีและมีส่วนแบ่งของตลาดกว่า  21 เปอร์เซ็นต์ในประเทศเนเธอร์แลนด์ พยายามทำบางอย่างที่ยิ่งใหญ่มากกว่าการแค่การขายช็อกโกแลตแสนอร่อยให้คนทั่วโลก ด้วยภารกิจที่ไม่ใช่เพียงการสร้างผลกำไรจากแท่งช็อกโกแลตแต่พยายามขจัดแรงงานทาสออกจากขั้นตอนการผลิตช็อกโกแลต นอกจากนั้นยังพัฒนาและปรับปรุงสภาพการทำงานของคนงานในสวนโกโก้ทั่วโลกด้วย

เบน กรีนสมิท (Ben Greensmith) ผู้จัดการธุรกิจที่ดูแลสหราชอาณาจักรบอกว่า Tony’s Chocolonely คือบริษัทที่ต้องการ ‘สร้างผลกระทบเชิงบวก’ ให้กับสังคมผ่านธุรกิจที่พวกเขาทำตั้งแต่วันแรกที่ก่อตั้งบริษัท

Tony's Chocolonely

Tony’s Chocolonely เกิดขึ้นในปี 2003 โดย Maurice Dekker ที่มีอาชีพเป็นโปรดิวเซอร์และ Teun van de Keuken ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์และวิทยุชาวดัตช์ซึ่งสร้างชื่อเสียงในการสืบสวนการค้าและการผลิตที่ไม่เป็นธรรมในอุตสาหกรรมอาหาร เขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับแรงงานทาสสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและการใช้แรงงานเด็กที่ผิดกฎหมายทั่วฟาร์มโกโก้ในแอฟริกาตะวันตก ซึ่งสำหรับเขาแล้วมันน่าแปลกใจมากเพราะแบรนด์ช็อกโกแลตชื่อดังของโลกมากมายต่างได้ร่วมมือกันลงนามในข้อตกลงเพื่อยับยั้งไม่ให้มีการใช้แรงงานทาสในกระบวนการทั้งหมดโดยเฉพาะ แต่ในความเป็นจริงแล้วมันก็ยังเกิดขึ้นอยู่ดี พวกเขาทั้งสองคนเลยพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยการแสดงให้ทุกคนเห็นเลยว่าแบรนด์ช็อกโกแลตสามารถประสบความสำเร็จได้แบบยั่งยืนโดยไม่ต้องมีการใช้แรงงานทาสเด็กในชุมชนแอฟริกาตะวันตกแบบผิดกฎหมายเลย และทุกคนที่อยู่ในกระบวนการผลิตจนถึงการขายก็จะได้ส่วนแบ่งผลกำไรที่สมเหตุสมผลอีกด้วย

แรงงานทาสหรือแรงงานผิดกฎหมายอาจจะดูเป็นสิ่งที่ไกลตัวสำหรับเราทุกคนในโลกยุคปัจจุบัน ทุกอย่างดูทันสมัย มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่เข้มงวด เทคโนโลยีที่มาช่วยผ่อนแรงสำหรับงานหนัก แต่ความจริงแล้วปัญหาของการใช้แรงงานมนุษย์อย่างผิดกฎหมายในยุคปัจจุบันที่เรียกว่า ‘modern slavery’ หรือ ‘ทาสสมัยใหม่’ นั้นยังคงมีอยู่จริงๆ เราอาจจะไม่เคยเห็นหรือสัมผัสด้วยตัวเอง รายงานข่าวอาจจะมีน้อยเกินไป แต่สถิติที่โหดร้ายจากองค์กรสิทธิมนุษยชนระดับนานาชาติที่ก่อตั้งมายาวนานที่สุดตั้งแต่ปี 1839 อย่าง antislavery.org บอกว่า ตอนนี้มีคนที่ตกเป็นทาสแรงงานทั่วโลกกว่า 40 ล้านคน (ซึ่งเอเชียถือว่าเยอะที่สุดด้วย) 1 ใน 4 ของจำนวนนั้นหรือประมาณ 10 ล้านคนเป็นเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และประมาณ 71 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้หญิงทั้งเด็กและผู้ใหญ่

ถ้ามองจากภายนอกแล้วพวกเขาอาจจะดูเหมือนทำงานทั่วไป แต่ความจริงแล้วคนเหล่านี้ตกอยู่ในสภาวะของทาสผู้ถูกควบคุม อาจจะต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรงหรือการข่มขู่ ถูกบังคับให้เป็นหนี้ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือถูกยึดพาสปอร์ตไปและถูกคุกคาม หลายคนตกหลุมพรางกดขี่อันนี้เพียงเพราะพยายามหนีความยากจนและความไม่มั่นคง อยากทำให้ชีวิตของตัวเองดีขึ้น อยากหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว แต่กลับกลายเป็นว่าพวกเขาไม่สามารถหนีออกไปจากตรงนี้ได้ กลายเป็นทาสที่ถูกเอารัดเอาเปรียบและไม่ได้รับการดูแลทางกฎหมายเลยแม้แต่น้อย

ในปี 2005 นั้น Teun van de Keuken จึงเปิดตัว Tony’s Chocolonely ช็อกโกแลตแท่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์แสดงให้เห็นกระบวนการทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ ตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยว ผ่านกระบวนการออกมาเป็นแท่งและวางขายให้กับลูกค้า เขาอยากสื่อให้ทุกคนรู้ว่ามันสามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานเด็กแบบผิดกฎหมายเลย มีการจ่ายเงินอย่างถูกกฎหมายให้กับเกษตรกร ทำทุกอย่างโปร่งใสตั้งแต่ต้นจนจบ

ชื่อของบริษัทนั้นมาจากชื่อของ Teun van de Keuken ย่อมาเป็น ‘Tony’ ส่วน ‘lonely’ คือการค้นหาเส้นทางการผลิตช็อกโกแลตแบบไม่ใช้แรงงานเด็กแบบผิดกฎหมายอย่างโดดเดี่ยว เลยกลายเป็น Tony’s Chocolonely 

ช็อกโกแลตล็อตแรกขายหมดอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงจากการสนับสนุนของลูกค้าที่ชื่นชอบในไอเดีย ตอนนี้มีวางขายในตลาดมากกว่า 20 แห่งทั่วโลก และยังขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

แพ็กเกจของ Tony’s Chocolonely นั้นโดดเด่นด้วยสีสันที่สดใส และตัวหนังสือที่ย้อนยุคหน่อยๆ ซึ่งแตกต่างจากเจ้าอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่ใช้สีที่ชัดเจนว่าเป็นช็อกโกแลตอย่างสีน้ำตาล พวกเขาใช้สีแดงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงในอุตสาหกรรมช็อกโกแลต รวมทั้งดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาหยิบดู ทำให้คนสงสัยว่ามันคือช็อกโกแลตอะไรกันแน่ พอหยิบขึ้นมาดูก็จะเป็นโอกาสที่แบรนด์สามารถสื่อสารให้ลูกค้าที่หยิบขึ้นมาอ่านด้านหลังของแพ็กเกจได้เลยว่าสิ่งที่แบรนด์กำลังจะทำคืออะไร บอกเล่าเรื่องราวจุดประสงค์ให้ลูกค้าที่หยิบขึ้นมาอ่าน เพราะฉะนั้นอย่างแรกเลยก็คือทำยังไงก็ได้ให้ลูกค้าสนใจจะหยิบขึ้นมาก่อน จึงเป็นที่มาของการออกแบบแพ็กเกจด้านนอกที่ฉูดฉาด

พอแกะออกมาภายในแพ็กเกจก็จะเห็นข้อความที่กระตุ้นจิตสำนึกเรื่องการใช้แรงงานทาสและแรงงานเด็กที่ผิดกฎหมาย แค่นั้นยังไม่พอ พวกเขายังจงใจแบ่งชิ้นช็อกโกแลตให้เป็นชิ้นๆ ที่ขนาดไม่เท่ากันเพื่อแสดงถึงความไม่เท่าเทียมกันในห่วงโซ่อุปทานของโกโก้ มีการเอารัดเอาเปรียบกันจนทำให้เกิดการใช้แรงงานเด็กแบบผิดกฎหมายในสายงานการผลิต แถมถ้าสมมติว่าเอาช็อกโกแลตแท่งของ Tony’s Chocolonely มาวางดู จะเห็นว่ามันเป็นแผนผังประเทศที่ผลิตช็อกโกแลตในแอฟริกาตะวันตก ซึ่งประกอบไปด้วยโกตดิวัวร์, กานา, โตโก, เบนิน, ไนจีเรีย และแคเมอรูน

Tony's Chocolonely
Tony's Chocolonely

เบนบอกว่า “คุณอาจได้ชิ้นใหญ่ไปเหมือนเป็นบริษัทช็อกโกแลตขนาดใหญ่ หรือคุณอาจจะได้อะไรเล็กๆ น้อยๆ เฉกเช่นเดียวกับชาวนา” มันเป็นการใช้ตัวสินค้าเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของแบรนด์ได้อย่างชาญฉลาดเพราะพวกเขาไม่เคยซื้อสื่อเพื่อโฆษณาเลย

Tony’s Chocolonely เป็นบาร์ช็อกโกแลตที่แตกต่างจากเจ้าอื่นๆ แต่พวกเขาไม่ได้แค่อยากทำให้มันแตกต่างเพียงเพราะอยากแตกต่างเท่านั้น พวกเขามีเหตุผลอันเป็นหัวใจของแบรนด์เลยก็ว่าได้ ตามเป้าหมายของบริษัทที่บอกว่า

“Crazy about chocolate, serious about people–A 100% Slave-Free Chocolate industry–That’s our goal”

เป้าหมายของช็อกโกแลตแท่งนี้ที่หักยังไงก็ไม่เท่ากันพยายามจะสื่อก็คือการให้ลูกค้าที่ซื้อไปนั้นได้หยุดและคิดสักหน่อยถึงช็อกโกแลตที่กำลังจะหยิบเข้าปาก ให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริงๆ ในโลกของเรา และยังเกิดขึ้นอยู่ในตอนนี้ 

Tony's Chocolonely

แต่ใช่ว่าทุกอย่างจะราบเรียบไร้อุปสรรค อุตสาหกรรมช็อกโกแลตทั่วโลกมีขนาดใหญ่และสามารถสร้างผลกำไรได้อย่างมหาศาล โดยในตอนนี้มีมูลค่าประมาณ 1.3 แสนล้านดอลลาร์ทั่วโลก และคาดว่าจะถึง 2 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2028 แน่นอนว่าการแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ก็สูงเช่นกัน เพราะมีเจ้าใหญ่ๆ ครองตลาดอยู่ แถม Tony’s Chocolonely ก็ต้องประสบปัญหาทางด้านอื่นระหว่างทางด้วยไม่ใช่แค่การขายให้ได้อย่างเดียว แม้ว่าจะมีเป้าหมายที่ชัดเจนมากขนาดไหนก็ตาม อย่างในปี 2021 ที่พวกเขาเจอกระแสด้านลบเมื่อชื่อแบรนด์ถูกตัดออกจากรายชื่อผู้ผลิตที่มีจริยธรรมโดยองค์กรอุตสาหกรรม Slave Free Chocolate เพราะดันไปร่วมงานกับบริษัทแปรรูปโกโก้รายใหญ่อย่าง Barry Callebaut ที่มีข่าวว่าละเมิดการใช้แรงงานมนุษย์

อันที่จริงกระบวนการทั้งหมดในการผลิตช็อกโกแลตตั้งแต่ต้นจนจบนั้นมีความซับซ้อนและบางทีก็ไร้ความโปร่งใส ส่วนใหญ่แล้วมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของกระบวนการทั้งหมดจะเริ่มต้นที่กานาและโกตดิวัวร์ ซึ่งในขณะที่บริษัทช็อกโกแลตขนาดใหญ่ทั่วโลกสร้างรายได้และกำไรมหาศาลปีแล้วปีเล่า แต่เกษตรกรที่บริษัทเหล่านี้ต้องพึ่งพาในกระบวนการปลูกและดูแลยังคงยากจนข้นแค้นอย่างน่าสลดใจ พวกเขายากจนมากจนเหมือนถูกบีบบังคับให้จ้างแรงงานที่ผิดกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็เป็นเด็กและคนที่อพยพเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย เพียงเพื่อจะพอมีเงินแค่เอาชีวิตรอดหลังฤดูเก็บเกี่ยวผ่านไปแล้วเท่านั้น

ราคาโกโก้ในประเทศเหล่านี้ถูกกำหนดโดยรัฐบาลมาตั้งแต่แรก (เรียกว่า farm gate price) แต่เกษตรกรเกือบทั้งหมดก็ยังอยู่ใต้ค่าเฉลี่ยเส้นความยากจนอยู่ดี บริษัทใหญ่ๆ ส่วนใหญ่จะจ่ายเพียงค่าแรงขั้นต่ำเท่านั้น และถึงแม้ว่าจะมีการปรับปรุงข้อกำหนดทางกฎหมายจากองค์กรอย่าง Fairtrade ที่มีการเสนอราคาที่สูงขึ้นสำหรับโกโก้ที่ผ่านการรับรองว่ามาจากฟาร์มที่ไม่มีการใช้แรงงานเด็ก มันก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี เบนบอกว่าเมื่อคุณซื้อช็อกโกแลตแท่งหนึ่งที่เป็น Fairtrade มันก็ไม่ได้หมายความว่าโกโก้ในบาร์ของคุณนั้นมีกระบวนการทุกอย่างที่เป็นธรรม แต่มันหมายความว่าในกระบวนการทั้งหมดนี้ มีบางคน บางแห่ง ซื้อ-ขายโกโก้เหล่านั้นอย่างยุติธรรม

การตรวจสอบแบบย้อนกลับทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบนั้นเป็นไปได้ยาก เนื่องจากแหล่งของเมล็ดโกโก้นั้นกระจัดกระจายไปทั่วจากฟาร์มของเกษตรกรรายย่อยหลายล้านราย แถมกระบวนการซื้อ-ขายก็มักจะขายผ่านผู้ค้าในท้องถิ่นที่ดำเนินการภายใต้การควบคุมดูแลที่จำกัด เพราะฉะนั้นเมล็ดโกโก้เลยถูกผสมรวมกันระหว่างกระบวนการเหล่านี้

Tony’s Chocolonely เลยตัดสินใจนำเทคโนโลยีอย่างบล็อกเชนเข้ามาใช้เพื่อให้มั่นใจว่าการตรวจสอบแหล่งที่มาที่ไปตลอดทั้งสายนั้นสามารถติดตามได้จริงๆ โดยบริษัทจะจ่ายให้เกษตรกรในราคาที่สูงโดยคำนวณตามขนาดของฟาร์มและจำนวนสมาชิกในครอบครัว ไม่เพียงมีเป้าหมายแค่เพิ่มรายได้ให้พวกเขาเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เกษตรกรเหล่านี้ยังสามารถลงทุนในทรัพยากรอื่นๆ ที่จะช่วยยกระดับชีวิตของตัวเองและครอบครัวขึ้นไปด้วย อย่างเช่นการเสนอหลักสูตรฝึกอบรมการเกษตรที่จะสามารถช่วยเพิ่มผลผลิตในอนาคต โดยทางบริษัทจะแบ่งสัดส่วนรายได้ประมาณ 9 เปอร์เซ็นต์ของราคาขายปลีกแท่งช็อกโกแลตให้กับเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้ของพวกเขา และทุกปีสามารถตรวจสอบรายละเอียดเหล่านี้ได้จากเอกสารเผยแพร่ในรายงานประจำปีของบริษัทด้วย

เบนอธิบายถึงขั้นตอนนี้ว่ามันใช้เงินและเวลาค่อนข้างเยอะเพราะต้องใช้เทคโนโลยีระบบ GPS เพื่อวางแผนที่สำหรับฟาร์มแต่ละแห่งเพื่อให้ทราบว่าแต่ละที่นั้นสามารถสร้างผลผลิตได้มากขนาดไหน ทุกอย่างยังอยู่ในกระบวนการที่ต้องพัฒนาต่อไป มันอาจจะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็เป็นก้าวแรกที่จำเป็นต้องทำเพื่อสร้างห่วงโซ่การผลิตที่ติดตามได้อย่างแท้จริง

แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนจะคิดในเชิงบวกเห็นด้วยกับสิ่งที่ Tony’s Chocolonely ทำ อย่าง Ayn Riggs ผู้อำนวยการองค์กร Slave Free Chocolate ซึ่งเป็นกลุ่มที่ลบชื่อของ Tony’s Chocolonely ออกจาก directory ผู้ผลิตที่มีจริยธรรมเมื่อสิ้นปี 2020 เธอเชื่อว่าสิ่งที่บริษัทกำลังพยายามทำนั้นเป็นเรื่องการตลาดมากกว่า เอาเรื่องความเท่าเทียมและจริยธรรมมาสร้างเป็นจุดขายเพื่อให้ได้กำไรเยอะๆ หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘greenwashing’ และเป็นเพียงหมากของธุรกิจเท่านั้น เธอกล่าวว่า “พวกเขาไม่ได้กำลังจะเปลี่ยนแปลงโลก แค่กำลังทำการตลาดเท่านั้นเอง”

บริษัทตอบสนองกับข่าวแย่ๆ นี้โดยการออกมาแสดงจุดยืนที่มั่นคงอีกครั้ง Tony’s Chocolonely แถลงการณ์ยาวเหยียดโดยส่วนหนึ่งบอกว่า “เราไม่เคยพบกรณีของทาสสมัยใหม่ในห่วงโซ่การผลิตของเราเลย แต่เราเคยพบกรณีการใช้แรงงานเด็กอย่างผิดกฎหมายที่เกิดขึ้นในฟาร์มโกโก้ที่เราจัดหาเมล็ดอยู่บ้าง ซึ่งเราเองก็พูดถึงเรื่องนี้ถ้าเกิดขึ้นและโปร่งใสกับเรื่องนี้มาโดยตลอดร้อยเปอร์เซ็นต์”

มันเป็นเรื่องยากที่จะออกไปตอบโต้ข่าวที่เกิดขึ้น สิ่งที่พวกเขาทำได้คือบอกข้อมูลตามความเป็นจริงทั้งหมดเท่านั้น 

อุตสาหกรรมช็อกโกแลตให้ผลกำไรที่งดงาม แต่โดยรวมแล้วมันกระจุกตัวอยู่กับบริษัทยักษ์ใหญ่เพียงไม่กี่แห่งอย่าง Hershey’s, Nestle, Mars และ Mondelez (เจ้าของ Cadbury, Oreo, Toblerone และ Belvita) ซึ่งแบรนด์เหล่านี้มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ควบคุมตลาดการผลิตทั่วโลกและมีอำนาจต่อรองในมืออย่างมาก เอาตัวอย่างง่ายๆ เพียงแค่ไตรมาสแรกของปี 2021 บริษัท Mondelez ทำรายได้ไปมากกว่า 7.2 พันล้านดอลลาร์ และกำไรมากถึง 515 ล้านดอลลาร์แล้วจากยอดขายของ Oreo และ Dairy Milk

Tony's Chocolonely

เมื่อมองภาพใหญ่ Tony’s Chocolonely ถือว่าเล็กและเดียวดายเหมือนชื่อของบริษัทไม่มีผิด เขาคือปลาตัวน้อยๆ ที่ว่ายอยู่ในบ่อของฉลาม แต่ถ้ามองจากมุมของบริษัทเอง พวกเขาก็ทำได้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ตั้งแต่วันแรกที่ว่า “Crazy about chocolate, serious about people–A 100% Slave-Free Chocolate industry–That’s our goal” แม้จะไม่ได้กำไรหรือเติบโตอย่างมาก แต่ก็ได้สร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ให้กับผู้บริโภคช็อกโกแลตทั่วโลก พวกเขาไม่กลัวที่จะตะโกนดังๆ ถึงความฝันและมุ่งมั่นที่จะทำให้มันเติบโต นอกจากนั้นยังสร้างความแตกต่างในสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้ ทั้งแพ็กเกจ ทั้งการออกแบบแท่งช็อกโกแลต และแน่นอนเรื่องของกระบวนการผลิตที่โปร่งใส เมื่อเจอกับการวิจารณ์ก็ตอบโต้อย่างเปิดเผยด้วยข้อมูลและความซื่อสัตย์ ไม่ปิดบังความผิดพลาดที่เกิดขึ้นและพยายามแก้ใขให้เร็วที่สุด ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่

การทำธุรกิจในยุคที่เต็มไปด้วยความท้าทาย ตลาดที่ผันผวนและมีเจ้าใหญ่ๆ ที่ครอบครองตลาดอยู่ไม่เคยเป็นเรื่องง่ายอยู่แล้ว Tony’s Chocolonely ไม่เพียงแค่พยายามสร้างรายได้จากการขายช็อกโกแลตเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดเท่านั้น พวกเขาต้องการสร้างผลกระทบทางบวกแก่โลกของเรา ทำให้ทุกคนเห็นว่ามันเป็นไปได้ที่จะทำธุรกิจให้เติบโตและทุกคนก็ได้ผลประโยชน์ที่เพียงพอไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ พวกเขาได้แสดงให้เห็นว่าโลกนี้มี ‘ความไม่เท่าเทียม’ แฝงอยู่ใกล้ตัวเสมอ ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม และตัวของเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของมันด้วย ถ้าไม่เชื่อลองหักแบ่งแท่งช็อกโกแลตของ Tony’s Chocolonely ดูก็ได้ เพราะหักยังไงมันก็ไม่เท่ากัน และนั่นก็สะท้อนความไม่เท่าเทียม

อ้างอิง

babame.com/tonys-chocolonely-the-story-behind-the-brand.html

mailchimp.com/courier/article/tonys-chocolonely

instagram.com/tonyschocolonely_us

slavefreechocolate.org

fairtrade.net

forbes.com/sites/afdhelaziz/2020/10/30/how-the-netherlands-no-1-chocolate-brand-tonys-chocolonely-is-winning-fans-in-the-usand-helping-people-vote/?sh=71f34b0637b9

tonyschocolonely.com/int/en/our-story/how-it-all-started

Writer

คุณพ่อลูกหนึ่งจากเชียงใหม่ที่รักการเขียน การอ่าน และการดองหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ หลงใหลเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจและเป้าหมายการทำงานที่เป็นมากกว่าแค่ผลกำไรและทำงานหนักจนลืมความหมายของการมีชีวิตอยู่

You Might Also Like