Kindest Commune
theCOMMONS กับความฝันหลังวิกฤตโควิด-19 ที่อยากเป็นคอมมิวนิตี้ที่ใจดีต่อโลกมากกว่าเดิม
จากการระบาดของโควิด-19 ในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมาทำให้ทั้งห้างสรรพสินค้าและคอมมิวนิตี้มอลล์ได้รับผลกระทบอย่างหนักและต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก theCOMMONS ก็เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน
คอมมิวนิตี้มอลล์แห่งนี้เปิดมา 7 ปีแล้วและอยู่ภายใต้ Kinnest Group ในเครือเดียวกับ Roast, Roots และร้านอาหารชื่อดังอีกมากมาย มีความตั้งใจรวบรวมผู้ประกอบการรายเล็กที่มีแพสชั่นและความตั้งใจดีมาอยู่ด้วยกัน แตกต่างจากห้างสรรพสินค้าที่มักคัดเลือกเฉพาะแบรนด์ใหญ่และร้านแฟรนไชส์ การออกแบบสเปซของที่นี่ยังตั้งใจให้เป็นสวนหลังบ้านของย่านที่สนับสนุนสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ
อะไรคือสิ่งที่ทำให้ธุรกิจที่มีความตั้งใจดีแบบนี้ยืนหยัดผ่านความท้าทายและรักษา purpose ของธุรกิจไว้ได้
วิชรี วิจิตรวาทการ ผู้ก่อตั้ง Kinnest Group ที่ดูแลธุรกิจในฝั่งไลฟ์สไตล์อย่าง theCOMMONS และทีมของเธอบอกว่าสิ่งนั้นคือคำว่า ‘Kind’
พวกเขาบอกว่าในวันนี้สิ่งที่ theCOMMONS ยังทำได้ไม่ถึงภาพที่ฝันไว้คือยังใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมไม่พอ อยากสร้างคอมมิวนิตี้ที่ kind ต่อโลกมากกว่านี้ เป็นมิตรกับคนทุกกลุ่มมากกว่านี้เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ ในหลายแง่มุม ไม่อยากเป็นแค่สถานที่ปาร์ตี้สังสรรค์
all kinds of product by all kinds of kind people คือสิ่งที่วิชรีนิยามคอนเซปต์ของร้านมัลติแบรนด์ชื่อ All Kinds ซึ่งเปิดใหม่ในช่วงโรคระบาดที่ theCOMMONS เพื่อสนับสนุนธุรกิจท้องถิ่นรายเล็ก
นอกจากนั้นคำว่า kind ยังเป็นหัวใจที่นิยามสปิริตของทั้งทีมทำงานและผู้เช่าที่แต๊วบอกว่าอยากให้คอมมิวนิตี้ใจกลางเมืองแห่งนี้เป็นเหมือนบ้านที่ทุกคนสนับสนุนกันและกัน
purpose ในการทำ theCOMMONS มาตลอดหลายปีของคุณคืออะไร
ความตั้งใจของเรายังคงมีส่วนที่เหมือนเดิมจากวันแรกอยู่เยอะคือเราอยากเป็น backyard หรือสวนหลังบ้านให้ชุมชนในย่าน อยากเป็นสถานที่โปรโมตการใช้ชีวิต wholesome คือการทานอาหารที่ดี ออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพ เรียนรู้สิ่งใหม่ และเติมเต็มตัวเองอยู่เสมอ เป็นแพลตฟอร์มที่สนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กที่อาจไม่ได้เป็นแบรนด์ใหญ่แต่มีความตั้งใจที่ดีและเป็นพื้นที่โชว์เคสให้เขา
7 ปีที่ผ่านมา อะไรคือสิ่งที่รู้สึกว่าทำสำเร็จแล้วและยังทำไม่สำเร็จ
ส่วนที่สำเร็จหรือภูมิใจแล้วคือเราสร้างคอมมิวนิตี้ได้จริงจากตอนแรกที่ฝันไว้ พอเห็นว่ามีกลุ่มลูกค้าที่กลับมาบ่อยๆ มานัดเจอเพื่อนฝูง ใช้ชีวิตที่นี่แล้วมีความสุข มาแล้วเป็น backyard ของลูกค้าได้จริง สามารถทำให้เขารู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของคอมมิวนิตี้ได้ อีกความสำเร็จคือการที่เราได้สนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กแล้วเขาเติบโต มีผู้เช่าหลายคนที่มาเปิดร้านค้าที่นี่ครั้งแรก พอตั้งตัวได้ก็ขยายสาขาไปเปิดเพิ่มที่อื่นต่อ มีร้านที่สองและสามตามมา พอเห็นความสำเร็จของผู้เช่ากลุ่มนี้ก็รู้สึกว่ามันตอบโจทย์สิ่งที่เราอยากทำ
ส่วนสิ่งที่รู้สึกว่ายังไม่สำเร็จคือการผลักดันสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องใหญ่ที่รู้สึกว่าเราทำได้มากกว่านี้เยอะมากเพราะที่จริงเราก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เช่น มีการสั่งอาหารเดลิเวอรีเยอะทำให้สร้างขยะเยอะมากไม่ว่าจะเป็นแก้วหรือแพ็คเกจต่างๆ ที่เกิดขึ้น พอทำมาถึงจุดนี้เลยกลับมาดูว่าจะทำคอมมิวนิตี้ของเราให้ดีขึ้นได้ยังไงบ้าง เรามักจะไม่แฮปปี้กับคำว่าดีแล้ว อยากทำให้ดีขึ้นกว่านี้ตลอด อยากผลักดันให้ประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญซึ่ง theCOMMONS จะโฟกัสอย่างจริงจังมากขึ้นตั้งแต่ช่วงปีที่ 7 เป็นต้นไป การ be kind เป็นสิ่งสำคัญ แต่ไม่ใช่แค่ be kind กับตัวเองหรือชุมชน แต่ kind กับโลกด้วย
ที่ผ่านมาทำไมถึงรู้สึกว่ายัง kind ไม่พอ
เราตั้งต้นทำกิจกรรมเล็กๆ หลายอย่างเกี่ยวกับการรณรงค์ดูแลสิ่งแวดล้อมแต่ที่ผ่านมามันกระจัด กระจายพอสมควร สิ่งที่เราทำเป็นที่แรกในไทยคือ community fridge กับ Scholars of Sustenance Foundation (SOS) รณรงค์ให้ร้านอาหารที่อยู่กับเรานำอาหารส่วนเกิน (food surplus) ไปใส่ตู้เย็น แล้วทาง SOS จะมารับเพื่อเอาไปบริจาคต่อ เป็นงานที่เราทำมาตลอด นอกจากนี้ก็ทำเวิร์กช็อปเรื่องการ reuse ต่างๆ เช่น การทำสบู่จากน้ำมันที่ใช้แล้วจากร้านอาหาร งานที่เราเริ่มทำเมื่อปีที่แล้วคือ งาน ‘สมบัติผลัดกัน…’ เช่น สมบัติผลัดกันฟัง สมบัติผลัดกันอ่าน อยากให้คนมาแลกเปลี่ยนของมือสองที่มีอย่างอุปกรณ์ดนตรี แผ่นเสียง หนังสือ ฯลฯ มากกว่าซื้อใหม่ในทุกครั้ง ปีนี้ก็จะมีกิจกรรมเพิ่มอีก ในส่วนของการรีไซเคิลก็ทำเรื่อยๆ มาตลอดแต่ไม่ได้ทำแบบจริงจัง
นอกจากนี้เราทำจุดกดน้ำมานานตั้งแต่เปิดใหม่ซึ่งช่วงแรกยังไม่ได้เน้นเรื่องรักษ์โลกเท่าตอนนี้ แต่ก่อนจะมีขวดน้ำพลาสติกวางไว้ให้สามารถหยิบไปได้ หยอดเงินตามความสะดวกและแรงศรัทธาของแต่ละคน สำหรับเงินบริจาคที่ได้ สำนักงานเขตวัฒนาจะนำไปบริจาคและสนับสนุนการสร้างอาชีพแก่ครอบครัวหรือคนที่กำลังลำบากและต้องการความช่วยเหลือในทุกเดือน คนเหล่านี้อยู่นอกชุมชน หลายคนไม่ได้มีทะเบียนบ้านในเขตนี้ทำให้ไม่อยู่ในสถานะที่ทางเขตหรือ กทม.จะช่วยได้ เราก็ทำงานกับเขตวัฒนามาเกือบ 7 ปีแล้ว แต่พักหลังเรารู้สึกผิดว่าถึงแม้ได้เงินบริจาคแต่กลับมีขวดพลาสติกเพิ่มขึ้นเยอะ เลยเปลี่ยนจากการขายขวดน้ำพลาสติกมาเป็นกดน้ำแทน คือกิจกรรมค่อนข้างยิบย่อยและไม่ได้สื่อสารเป็นเรื่องเดียวกัน
อยากทำให้คอมมิวนิตี้มอลล์แห่งนี้ kind ขึ้นยังไง
ปีนี้ตั้งใจว่าอยากเล่าเรื่องให้คนเห็นภาพชัดขึ้นด้วยการสื่อสารเป็นเรื่องเดียวกันผ่าน Reseries ที่ประกอบด้วย 4 Re อย่างแรกคือ reuse ทำยังไงให้คนบริโภคน้อยลงและใส่ใจมากขึ้นด้วยการใช้ของที่มีอยู่ เลือกใช้ซ้ำแทนซื้อใหม่ เรารีฟิลแทนซื้อใหม่ได้ไหม แทนที่จะใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งตลอด เราสนับสนุนให้คน bring your own container เอากระติกน้ำหรือคอนเทนเนอร์ต่างๆ มาใช้ที่นี่ เรื่องรีไซเคิล เราพาร์ตเนอร์กับ Trash Lucky เป็นองค์กรที่ตั้งจุดรับบริจาคขยะรีไซเคิลตามที่ต่างๆ ทั้งศาลาแดงและทองหล่อ
อย่างที่ทองหล่อก็จะมีจุดทิ้งขยะรีไซเคิลตรงบันไดทางเข้าและที่จอดรถด้านล่าง สามารถเอาขยะที่แยกแล้วจากบ้านมาทิ้งเพื่อนำไปรีไซเคิลต่ออย่างถูกต้องได้ ถ้าลูกค้าเป็นสมาชิก พอเอาขยะมาทิ้งและเขียนนัมเบอร์ทิ้งไว้ จะมีชิงโชคทุกเดือน ได้รางวัลตั้งแต่เงิน 100 บาท ทอง ไปจนถึงโทรศัพท์ คิดว่าวิธีนี้ทำให้คนอยากทำดีง่ายขึ้นด้วย อันสุดท้ายคือ redistribute อย่างการเอารายได้บางส่วนจากการขายน้ำกลับไปให้คนในชุมชนที่ลำบาก กิจกรรมทั้งหลายที่เราจัดต่อไปในอนาคตจะเน้นพูดเรื่อง Reseries โดยมีกิจกรรมที่ใหญ่ขึ้นและสนับสนุน 4 Re นี้ไปเรื่อยๆ เพื่อให้เป็นการสื่อสารที่ติดหูลูกค้าและเข้าใจว่า theCOMMONS จริงจังกับสิ่งนี้
อะไรคือสิ่งที่ได้เรียนรู้จากสมัยเปิด theCOMMONS ใหม่ๆ
ช่วงที่เปิดใหม่ โซนชั้น 1 หรือ ชั้น village เงียบและโล่งมาก ตอนนั้นเรายังไม่เข้าใจว่าร้านแบบไหนที่ควรอยู่ที่นี่ ตอนแรกคิดว่าอยากมีรีเทลหลายหมวดอย่างร้านขายกระเป๋า ร้านขายรองเท้า แต่เราก็มาเข้าใจว่ามันไม่เวิร์ก พอเป็นสินค้าที่ลูกค้าสามารถหาซื้อในห้างได้ เขาก็ไปที่ห้างดีกว่า ถ้าจะมีรีเทลที่ theCOMMONS ควรเป็นสิ่งที่พิเศษหรือมีเอกลักษณ์ที่หาจากที่อื่นไม่ได้ เราก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนตรงโซนร้านค้าชั้นหนึ่ง ใช้เวลาหลายปีเลยกว่าจะลงตัว
แล้วคุณมีวิธีเลือกผู้เช่ายังไงที่ทำให้แตกต่างจากที่อื่น
เริ่มจากคอนเซปต์ก่อนว่าเราต้องการคอนเซปต์อะไร ตอนนี้มีร้านอะไรที่ขาดไปไหม เราอาจไม่เหมือนห้างสรรพสินค้าหรือคอมมิวนิตี้มอลล์ที่อื่นที่มีร้านหมวดเดียวกันหลายร้าน ถ้าที่นี่มีร้านไอติมแบรนด์หนึ่ง เขาก็จะเป็นตัวแทนว่าแบรนด์นี้คือร้านไอติมของ theCOMMONS เราจะไม่เอาร้านไอติมเข้ามา 3-4 ร้าน อยากพยายามไม่ให้มีคอนเซปต์ที่ชนกัน ทุกร้านต้องได้เจอก่อนและคุยกันก่อน ลองชิมก่อน แต่แค่อร่อยอย่างเดียวก็อาจไม่พอ เราพยายามมองในหลายจุดเพราะการทำร้านอาหารจริงๆ เหนื่อยมากและไม่ง่ายเลย ต้องดูว่าเขามีประสบการณ์ด้านโอเปอเรชั่นด้วยไหมเพราะการบริหารร้านก็มีเรื่องปวดหัวที่ตามมาอีกเยอะ มีแพสชั่นที่อยากทำจริงๆ พร้อมจะลุยไปด้วยกันในระยะยาวหรือเปล่า ต้องเป็นคนที่มีใจรัก พร้อมสู้และอยู่กับมันจริงๆ
บางทีอาจยังไม่มีพื้นที่ว่างสำหรับเช่าเลย แต่ถ้ามีผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่น่าสนใจทีมก็จะไปทำความรู้จักและลองชิมไว้ก่อน หลายแบรนด์เราก็เป็นแฟนคลับเขากันมาก่อน ถึงเวลาที่เหมาะสมก็ไปจีบเขามา บางทีก็จะทำแบบสอบถามกับลูกค้าด้วยว่ามีร้านอะไรที่ตอบโจทย์เขาได้มากกว่าในตอนนี้ไหม นอกจากนั้นก็มีผู้ประกอบการที่ติดต่อเราเข้ามาตลอด เราก็จะมีดาต้าเบสเป็นมาสเตอร์ลิสต์ไว้ว่าใครน่าสนใจ
สิ่งสำคัญคือเรามองหาคนที่เป็นส่วนหนึ่งของคอมมิวนิตี้ด้วย ไม่ได้อยากแค่ให้พื้นที่สำหรับเปิดร้าน มาเก็บค่าเช่าอย่างเดียวแล้วจบ แต่อยากให้ทุกคนที่มาเช่ารู้สึกว่าที่นี่คือบ้านของเขา มีคนที่พร้อมซัพพอร์ตร้านเขาได้ มีอะไรก็ช่วยเหลือกันและได้เป็นส่วนหนึ่งของคอมมิวนิตี้จริงๆ
ภายใต้ Kinnest Group การทำงานในฝั่งไลฟ์สไตล์ของ theCOMMONS กับฝั่งร้านอาหารและเครื่องดื่มช่วยสนับสนุนกันยังไง
เราเป็นบ้านให้ฝั่ง F&B (food & beverage) คือที่ theCOMMONS จะมีแบรนด์ในเครือบริษัทเราอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟอย่าง Roots ร้านอาหารอย่าง Roast หรือ Monty’s ที่เป็นร้านเบเกิล เวลาเรามีพื้นที่หรือโครงการใหม่ก็จะเป็นบ้านให้เวลาที่มีคอนเซปต์ที่เหมาะสม การกินดื่มเป็นสิ่งที่เอาคนมาอยู่ด้วยกันซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่เติมเต็มไลฟ์สไตล์ของ Kinnest Group ก็ต้องทำงานไปด้วยกันตลอด
แล้วความท้าทายของ theCOMMONS หลังจากทำมาหลายปีคืออะไร
เราอยู่ที่นี่มาปีที่ 7 ตอนนี้กำลังจะเข้าปีที่ 8 ความท้าทายคือเราจะทำยังไงให้สามารถสร้างพื้นที่และประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้าได้อยู่เพราะเมื่อผ่านมาหลายปีบางอย่างอาจจะเริ่มเก่า ทำยังไงให้คงความน่าสนใจและเฟรชในอีเวนต์ต่างๆ ที่เราจัดอยู่ตลอด ทำยังไงให้สามารถก้าวข้ามขีดจำกัดและสร้างคุณค่าใหม่ที่ลูกค้าต้องการได้เรื่อยๆ ช่วงหลังโควิดพอเวิร์กฟรอมโฮมมานานพฤติกรรมการเดินห้างหรือมาคอมมิวนิตี้มอลล์ของคนก็เปลี่ยน สิ่งที่เราเคยทำแล้วเอากลับมาทำใหม่อาจไม่ได้เวิร์กเหมือนเดิมเสมอไป จากงานที่คนเคยลงทะเบียนเต็มก็สามารถกลายเป็นว่าคนไม่ลงทะเบียนได้ ซึ่งเราต้องเข้าใจลูกค้ามากๆ ว่า ณ วันนี้เขามองหาอะไรในอีเวนต์และเราจะตอบโจทย์เขาได้ยังไง
ณ วันนี้ อยากตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของลูกค้ายังไง
คิดว่าตอนนี้หลายคนจะรู้จัก theCOMMONS ในแง่ของการเป็นที่กินดื่มอย่างเดียว กลางคืนมีคนมาเยอะและมาปาร์ตี้กัน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีแต่เราไม่อยากเป็นแค่นั้น เราอยากกลับไปถึงแก่นของคำว่า wholesome ที่มีความกลมในหลายด้านของไลฟ์สไตล์จริงๆ อยากเป็นที่ของครอบครัว ทั้งสำหรับคนอายุมากและเด็กเล็ก พร้อมต้อนรับกลุ่มคนที่เอาสัตว์เลี้ยงมา ซึ่งเราก็พยายามให้มีอย่างอื่นที่ไม่ใช่แค่อาหารและเครื่องดื่ม ทั้ง Paws Club ที่เป็นร้านขายสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง ตอนนี้เพิ่งเปิดได้เดือนกว่า ยังใหม่มากและกำลังปรับบางอย่างในพื้นที่ให้มีความเฟรนด์ลี่ต่อสัตว์เลี้ยงด้วย เช่น พื้นที่สำหรับให้น้องหมามาเข้าห้องน้ำ นอกจากนี้ก็มี Little Pea ที่จัดกิจกรรมสำหรับเด็ก และมัลติแบรนด์ All Kinds ของเราที่เพิ่งเปิดใหม่รวมถึงฟิตเนสสำหรับออกกำลังกาย ก็อยากทำบริการหรือกิจกรรมที่ตอบโจทย์คนหลายกลุ่มเหล่านี้มากขึ้น
คุณสร้างคอมมิวนิตี้ที่เฟรนด์ลี่สำหรับครอบครัวยังไง
อย่างการทำ Little Pea ซึ่งเป็นธุรกิจที่จัดกิจกรรมสำหรับเด็กที่ชั้น 2 หรือ Play Yard ของ theCOMMONS มีจุดประสงค์หนึ่งคือการสร้างคอมมิวนิตี้ของเหล่าคุณแม่ บางทีคุณแม่มือใหม่จะมีคำถามในการเลี้ยงลูกหรืออยากมีเพื่อนที่อยู่ในช่วงชีวิตเดียวกัน ก็สามารถมาเข้าร่วมกิจกรรม playgroup ทุกเช้าได้ เราเห็นเด็กไปโรงเรียนแล้วมีความเครียด ต้องเรียนกวดวิชาที่เป็นวิชาการเยอะแยะ เลยมีกิจกรรมหลายอย่างที่ให้เด็กเรียนรู้อย่างสนุก ทั้งทำอาหาร เต้นรำ ถ่ายรูป ฯลฯ ซึ่งก็เป็นโอกาสให้ครอบครัวหรือคุณแม่ได้เจอเพื่อนด้วย ในส่วนของ Little Pea ก็เปิดมาพร้อม theCOMMONS เลย ก็มีความท้าทายว่าพอเด็กโตขึ้นเรื่อยๆ แล้ว กิจกรรมที่มีอยู่ก็เด็กเกินไปสำหรับเขา เราก็ต้องพยายามหาลูกค้าใหม่ตลอดเวลาเพื่อมีฐานลูกค้าที่มั่นคงต่อไปเรื่อยๆ
ภาพปาร์ตี้ในนิยามของ theCOMMONS แตกต่างจากอีเวนต์สังสรรค์และกินดื่มของที่อื่นยังไง
เราจัดอีเวนต์ประจำปีชื่องาน Block Party ซึ่งจัดมาตลอดทุกปียกเว้นช่วงโควิด-19 ชวนผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจที่มีความตั้งใจดีและน่าสนใจมาในงาน ชวนผู้คนมาปาร์ตี้สังสรรค์กันและแนะนำร้านค้าเหล่านี้ให้ได้รู้จัก ไม่เฉพาะร้านค้าที่อยู่กับเราเท่านั้นแต่พยายามชวนเพื่อนบ้านมาด้วย ปีนี้เป็นครั้งแรกที่เราจัดงาน Block Party ในธีมรักษ์โลก Reseries ด้วย ก็เป็นปาร์ตี้ที่มีสิ่งที่อยากสื่อสารออกไป
ทำไมถึงทำมัลติแบรนด์ของตัวเองในชื่อ All Kinds
เริ่มสังเกตว่ามีผู้ประกอบการรายเล็กที่ขายของผ่านอินสตาแกรมโดยไม่มีหน้าร้านแต่มีสินค้าที่น่าสนใจและทำในสิ่งที่คืนกลับสู่สังคม เลยรู้สึกว่าอยากเป็นแพลตฟอร์มหรือกระบอกเสียงให้แบรนด์ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมและการดูแลสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพใจหรือกาย รวม all kinds of product by all kinds of kind people ของกลุ่มคนใจดีที่ทำธุรกิจหลายอย่าง เริ่มเปิดตั้งแต่กุมภาพันธ์ปีที่แล้วในช่วงโควิด-19 เป็น retail collective อันแรกเลยที่เราลองทำ มีการเรียนผิดเรียนถูกเยอะมากทั้งการหาสินค้ามาวางที่ร้านหรือการจัดดิสเพลย์สินค้า (visual merchandising) ก็เป็นสิ่งที่เรายังไม่ได้เก่ง ก็ค่อยๆ ปรับและเรียนรู้ไปเรื่อยๆ
การทำรีเทลแตกต่างจากการทำคอมมิวนิตี้มอลล์ยังไง
การทำรีเทลจะเป็นการสร้างประสบการณ์ในร้าน คิดว่าจะเล่าเรื่องยังไงให้ลูกค้าเข้าใจและชื่นชอบแบรนด์ของเรา ซึ่งการทำ theCOMMONS และกิจกรรมต่างๆ ของเราก็มีความคล้ายรีเทลในส่วนของการสร้างประสบการณ์และการสื่อสารว่าทำไมถึงควรมาที่นี่ ความแตกต่างคือปฏิสัมพันธ์ของลูกค้าที่เข้ามาในรีเทลจะมีระยะเวลาสั้นกว่า เดินเข้ามาในร้านเดียวแล้วจ่ายเงิน ส่วนปฏิสัมพันธ์ของคนที่เข้ามาในคอมมิวนิตี้มอลล์จะนานกว่า ซึ่งก็ถือเป็นโอกาสดีที่มีระยะเวลายาวนานในการสร้างสิ่งที่คอนเนกต์กับลูกค้า
ผู้ประกอบการรายเล็กที่คุณเลือกมาอยู่ใน theCOMMONS เป็นสเกลไหนบ้าง
มีหลายสเกล แบรนด์ที่วางขายใน All Kinds คือแบรนด์น้องใหม่ที่ขนาดเล็กมาก มีหลายรายที่ยังไม่เคยมีหน้าร้านเลยหรือเพิ่งเปิดได้ไม่นาน ไม่มีทีม ทำ 1-2 คน และยังมีสินค้าไม่เยอะ ส่วนตลาดป๊อปอัพที่ตอนนี้กำลังทำเป็นอีกโปรเจกต์หนึ่งที่สนับสนุนธุรกิจท้องถิ่นทั้งขนาดเล็กและกลาง ขนาดกลางหมายถึงคนที่ทำธุรกิจมาแล้ว 2-3 ปี บางคนอาจมีหน้าร้านของตัวเองอยู่แล้ว เป็นคนที่อยากขยายเพิ่มหรือมีความตั้งใจดีและเป็นแบรนด์ที่น่าสนใจ
การมี 2 สาขาที่ตั้งอยู่ในคนละย่านอย่างทองหล่อและศาลาแดงทำให้คุณออกแบบพื้นที่ของคอมมิวนิตี้แตกต่างกันยังไง
สาขาศาลาแดงอยู่ใจกลางโซนออฟฟิศทำให้มีกลุ่มคนทำงานเยอะ ในขณะที่สาขาทองหล่อจะมีกลุ่มคนทำงานฟรีแลนซ์และครอบครัวมากกว่า ซึ่งพอเปิดมาแล้วก็พบว่าทั้งจริงและไม่จริง เพราะหลังเปิดสาขาศาลาแดงได้ 2 อาทิตย์ก็เจอโควิด-19 เลยทำให้พนักงานออฟฟิศหายหมดเลย แต่ช่วงนี้คนกลุ่มนี้ก็เริ่มกลับมาแล้ว นอกจากพนักงานออฟฟิศ ที่ศาลาแดงยังมีนักท่องเที่ยวและครอบครัวที่อาศัยแถวนั้น รวมถึงนักศึกษาและวัยรุ่นที่มาตอนเย็นและวันธรรมดา
พอกลุ่มคนที่มาไม่เหมือนกัน พฤติกรรมของลูกค้าแต่ละสาขาก็ต่างกัน การใช้เวลาของคนทำงานและนักศึกษาที่ศาลาแดงจะเป็นอีก pace หนึ่ง ไม่เหมือนคนที่ทองหล่อซึ่งมักมานั่งเป็นเวลานานและทำงานไปด้วยแบบชิลล์ๆ ดังนั้นแทนที่เราจะพยายามบังคับให้องค์ประกอบทุกอย่างของสองสาขาเหมือนกัน เราก็พยายามปรับการนำเสนอสถานที่และกิจกรรมให้เข้ากับลูกค้าในย่านนั้น
ถ้านึกถึงสถาปัตยกรรมของ theCOMMONS ศาลาแดงก็จะมีความทึบและโมเดิร์นกว่าที่ทองหล่อซึ่งเรื่องความทึบเป็นสิ่งที่เรากำลังจะปรับ เรียนรู้ว่าลูกค้าที่มา theCOMMONS ชอบความโปร่งที่มองเห็นกันและกัน ตอนนี้เพิ่งรีโนเวตชั้นหนึ่งไปและมีแผนอยากรีโนเวตชั้นบนทั้งชั้นเพราะอยากให้มีความเชื่อมทะลุที่มองเห็นกันมากขึ้นและมีที่นั่งเอาต์ดอร์มากขึ้นให้รู้สึกว่ามีพื้นที่นั่งข้างนอกด้วย เอาพื้นที่สีเขียวมาเติมเข้าไป โดยรวมคืออยากให้คนได้มาใช้เวลากับเรามากขึ้นกว่าเดิม
คุณแก้ปัญหาช่วงวิกฤตในตอนที่เพิ่งเปิดสาขาใหม่แล้วเจอโควิด-19 ยังไง
เป็นช่วงที่หนักมากและต้องปรับหลายอย่าง เราพยายามสนับสนุนผู้เช่าให้ได้มากที่สุดเพราะหลายคนเป็นเจ้าใหม่ที่เพิ่งเปิด เป็นร้านแรกของเขา เราก็สนับสนุนโดยการไม่คิดค่าเช่าหรือลดค่าเช่าตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหมายความว่าเราก็สามารถช่วยให้บางคนอยู่ได้จนถึงตอนนี้ แต่ก็ไม่สามารถช่วยทุกคนได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องเศร้าที่มีผู้ประกอบการหลายคนที่สินค้าดีมากแต่เขาก็ไม่รอดในช่วงโควิด
พอเราช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการ เราเองก็ลำบากมาก การบริหารจัดการเงินในช่วงนั้นเป็นช่วงที่เครียดที่สุดว่าทำยังไงให้สามารถพยุงให้อยู่ต่อไปได้ในระยะ 2-3 ปี ต้องขอความช่วยเหลือกับคนหลายกลุ่มมากทั้งธนาคารและนักลงทุนรวมถึงกับซัพพลายเออร์ต่างๆ ในช่วงลำบากก็เป็นช่วงที่ได้เห็นถึงความมีน้ำใจของหลายคนซึ่งเป็นสิ่งที่ซึ้งมาก ทั้งทีมของเราเองและผู้ประกอบการต่างก็พยายามช่วยกันและกัน
Common Things ของ theCOMMONS’ People ไม่ว่าจะเป็นผู้เช่าและทีมในบริษัทคืออะไร
kind และ care ในการช่วยเหลือคอมมิวนิตี้และสิ่งรอบตัว มีความเอาใจเขามาใส่ใจเราและนึกถึงคนอื่น เปิดใจและเปิดกว้างที่จะรับฟัง หลายคนอาจไม่ได้เป็นคนเอกซ์โทรเวิร์ตแต่อยากคอนเนกต์กับผู้คน เวลาร้านไหนมีปัญหา ร้านข้างเคียงก็จะมีความแอ็กทีฟในการช่วยเหลือกันและกัน ช่วยกันปรับที่หน้างานตามสิ่งที่เจ้าของร้านเห็นจากพฤติกรรมลูกค้า บางทีทีมเรามีไอเดียอะไร พอเจอผู้เช่าก็จะปรึกษากัน หรือช่วงไหนที่เจ้าของร้านรู้สึกว่าคนไม่ค่อยมาเลย ช่วยถ่ายรูปเมนูนี้ลงสตอรีในโซเชียลมีเดียให้หน่อยได้ไหมก็มาโยนไอเดียกัน เราอาจไม่ได้เหมือนที่อื่นที่มีปฏิทินลงคอนเทนต์ฟิกซ์ไว้อย่างจริงจัง ที่นี่เราจะช่วยเหลือกันแบบ very community-based มากๆ
ในระยะยาวเห็นภาพคอมมิวนิตี้มอลล์ในฝันเป็นยังไง
ภาพในฝันเลยคือเป็นคอมมิวนิตี้ที่ kind และการใช้ชีวิตรักโลกกลายเป็นเรื่องง่ายในชีวิตประจำวัน สิ่งที่ฝันคือจะมีบริการ reusable container เวลาสั่งอาหารเดลิเวอรีร้านค้าก็จะส่งคอนเทนเนอร์นี้มาที่บ้าน ทานเสร็จแล้วสามารถล้างได้ที่จุด drop off ที่คอนโดหรือร้านสะดวกซื้อต่างๆ มีบริการรับคอนเทนเนอร์เหล่านี้กลับไปล้างพร้อมนำกลับมาส่งให้ร้านอาหาร ไม่มีอะไรที่ใช้แล้วทิ้งอีกต่อไป ยกระดับไปถึงขั้น no waste จริงๆ
ตอนนี้การทำดีมันอาจดูยาก ต้องสู้ตายประมาณหนึ่ง อยากไปถึงจุดที่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมผู้คนได้จริง ให้รู้สึกว่าทำดีนั้นทำง่าย คนอาจจะเริ่มทำสิ่งเหล่านี้จากการมา theCOMMONS ก่อนแล้ววันหนึ่งเขาอาจเอาพฤติกรรมนี้ เช่น การพกกระติกน้ำหรือการรีไซเคิลไปใช้กับที่อื่นได้เหมือนกัน ปลายทางก็อยากให้เป็นอย่างนั้น