2374
November 11, 2022

New Shopping Mall

ทำไมช่วงนี้ห้างสรรพสินค้าใหม่ผุดขึ้นมากมาย ธุรกิจค้าปลีกในไทยกำลังจะกลับมาดีจริงไหม

หากย้อนดูไทม์ๆไลน์ในช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมา จะเห็นว่าในช่วงเวลานี้มีห้างสรรพสินค้าเกิดขึ้นใหม่มากมายจนแทบตามไปช้อปปิ้งไม่ทัน

เริ่มตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2565 กลุ่มเซ็นทรัล รีเทล หรือ CRC เปิดตัว ‘Tops Club’ ห้างค้าปลีกโมเดลระบบสมาชิก ที่เน้นสินค้านำเข้าแบรนด์ดังจากทั่วทุกมุมโลก และครอบคลุมสินค้าหลากหลายหมวดหมู่ เช่น ของเล่น, อุปกรณ์กีฬา, อุปกรณ์กลางแจ้ง, ของใช้ภายในบ้าน, เครื่องใช้ไฟฟ้า, อาหารสด, อาหารแช่แข็ง, อาหารแห้ง, ขนม-เบเกอรี และเครื่องดื่มต่าง ๆ รวมแล้วมีสินค้ากว่า 3,500 รายการ ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังศูนย์การค้าเซ็นทรัลพระราม 2 โดยมีพื้นที่กว่า 15,000 ตารางเมตร

3 ตุลาคม 2565 บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งในบริษัทของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เปิดตัว ‘Silom Edge’ โครงการมิกซ์ยูส โดยขณะนี้เปิดให้บริการเฟสแรก เฉพาะชั้น G และ B มีจุดเด่นคือ ให้บริการร้านอาหารตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมถนนสีลม ซึ่งพื้นที่ทั้งโครงการรวมแล้วมากกว่า 50,000 ตารางเมตร 

20 ตุลาคม 2565 เครือแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เปิดตัว ‘Terminal 21 พระราม 3’ ศูนย์การค้าติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเน้นการเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งมีพื้นที่กว่า 140,000 ตารางเมตร

นอกจากนี้ยังมีโครงการอื่นๆ ที่กำลังจะเปิดให้บริการตามมาอีกหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็น ‘ICS’ โครงการมิกซ์ยูส ที่ต่อยอดจาก ICONSIAM เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าแมส ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามไอคอนสยาม โดยพื้นที่ทั้งโครงการรวมแล้วมากกว่า 70,000 ตารางเมตร ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการภายในไตรมาส 4 ของปีนี้

‘THE EMSPHERE’ ที่คอนเซปต์คือศูนย์การค้าแห่งอนาคตที่ไม่เคยหลับไหล ที่รวบรวมทั้งโซนสินค้าแฟชั่น โซนสินค้าไลฟ์สไตล์ โซนอาหารศูนย์รวม และโซนแหล่งแฮงเอาต์กลางคืน ไว้ในที่เดียว ในพื้นที่กว่า 200,000 ตารางเมตร จาก The Mall Group โดยจะเปิดบริการในช่วงเดือนธันวาคมปีหน้า

‘นอร์ธ ราชพฤกษ์’ ศูนย์กลางสำหรับการช้อปปิ้ง กิน ดื่ม เที่ยว และการใช้ชีวิตในแบบ 24 ชั่วโมง โดยมีโลตัสเป็นเจ้าของ ตั้งอยู่บนถนนราชพฤกษ์ ซึ่งมีพื้นที่กว่า 30,000 ตารางเมตร เตรียมเปิดภายในปีนี้

จะเห็นได้ว่าแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ แต่กลับมีห้างขนาดใหญ่เกิดขึ้นถึง 6 แห่งด้วยกัน สิ่งที่น่าสนใจ ทำไมหลายบริษัทถึงเลือกเปิดห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้ากันสูงในช่วงนี้

คำตอบคือ ‘ธุรกิจค้าปลีกกำลังฟื้นตัวดีขึ้น’ นั่นเอง ซึ่งคำว่าธุรกิจค้าปลีกกำลังฟื้นตัวดีขึ้นนี้ก็อธิบายได้ด้วยข้อมูลจาก Economic Intelligence Center โดยสัญญาณการฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีกนั้นมาจาก 2 เหตุผลหลักๆ ด้วยกัน

เหตุผลแรกคือคนไทยมีพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยที่สูงขึ้น โดยในปี 2564 รายได้ต่อหัวคนไทย อยู่ที่ 232,160 บาทต่อคนต่อปี ขณะที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก็คาดการณ์ว่าในปี 2565 รายได้ต่อหัวคนไทย อยู่ที่ 252,464 บาทต่อคนต่อปี คิดเป็นการเติบโตจากปีก่อนหน้า 8.7%

อีกทั้งการผ่อนคลายมาตรการโควิดก็ทำให้ผู้คนสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้มากกว่าเดิม ทั้งยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่คอยส่งเสริมให้ผู้คนเริ่มใช้จ่ายมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ pent-up Demand หรือกลุ่มคนที่มีกำลังซื้ออัดอั้นการจับจ่ายใช้สอยมานานจากสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้นเมื่อสถานการณ์เริ่มกลับมาปกติ คนเหล่านี้จึงกลับมาใช้จ่ายกันสูงอีกครั้ง

ส่วนเหตุผลที่สองก็มาจากการที่ภาคท่องเที่ยวฟื้นตัว จากการที่รัฐเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ ซึ่งตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิงหาคมของปี 2565 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในไทยกว่า 4 ล้านคน การเข้ามาของนักท่องเที่ยวจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้เป็นอย่างดี

นอกเหนือจากเรื่อง timing หรือเวลาที่น่าสนใจแล้ว สาเหตุที่บริษัทในไทยนิยมเปิดห้างกันก็มาจากพฤติกรรมของคนไทยที่นิยมพักผ่อนหย่อนใจด้วยการเข้าห้าง เพราะตอบโจทย์ความสะดวกสบาย สามารถทำได้หลายกิจกรรมในที่เดียว ตั้งแต่การกิน การช้อปปิ้ง ความบันเทิง จนไปถึงการสังสรรค์ จึงไม่น่าแปลกใจ ที่บริษัทต่างๆ จะหันมาสนใจเปิดค้าปลีกที่ตอบโจทย์ความเป็น one- stop service กันมากขึ้น

นอกจากนี้นี่ยังถือเป็นปีสำคัญของเซ็นทรัลที่มีอายุครบ 75 ปี จึงทำให้เซ็นทรัลจัดแคมเปญฉลอง ทำโปรโมชั่นครั้งใหญ่ และเมื่อยักษ์ใหญ่ของวงการเคลื่อนตัว ก็ย่อมสร้างแรงสั่นสะเทือนให้มูลค่ารวมของตลาดค้าปลีกกระเตื้องตัวตามไปด้วย

โดยจากทั้งหมดทั้งมวลที่เล่ามานี้ก็ทำให้มีการคาดการณ์กันว่ามูลค่าตลาดค้าปลีกของไทยปี 2565 จะมีมูลค่า 3.45 ล้านล้านบาท ซึ่งเติบโตจากปีก่อนถึง 11% และมีมูลค่าเทียบเท่ากับปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่จะเกิดโควิด-19 นั่นเอง ส่วนสุดท้ายจะเป็นไปตามที่คาดการณ์ไหมเป็นสิ่งที่ต้องติดตาม

Writer

บรรณาธิการธุรกิจ มีความสนใจเรื่องกลยุทธ์ธุรกิจ-การตลาด และชื่นชอบการเข้าโรงงานเพื่อดูเบื้องหลังการผลิตเป็นอย่างยิ่ง