นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

Surfer Selection 

Thalassomer แบรนด์ไลฟ์สไตล์ของสอง influencer นักเล่นเซิร์ฟที่บอกต่อไอเทมโปรดจากการใช้เอง

อินสตาแกรมของสองสาวนักเล่นเซิร์ฟ @vhernvhern และ @wacayeveryday ที่เต็มไปด้วยกิจกรรมโต้คลื่นและรูปสดใสริมทะเลชวนให้สะดุดตา 

การติดตามพวกเธอในโซเชียลมีเดียทำให้รู้จักแบรนด์ชื่อเก๋อย่าง Thalassomer ที่ขายสินค้าเฉพาะทางอย่างครีมกันแดดจากต่างประเทศที่สามารถเป็นรองพื้นได้เวลาเล่นกีฬาเอกซ์ตรีมทางน้ำ, วิตามินกันแดดที่ป้องกันผิวไหม้, แบรนด์ของเพื่อนๆ นักเล่นเซิร์ฟที่พวกเธอรวบรวมสินค้ามาไว้ในร้านและร่วมออกแบบให้มีลวดลายน่ารักสดใสถูกใจผู้หญิงไม่ว่าจะเป็นหมวกสำหรับคนเล่นเซิร์ฟโดยเฉพาะและเซิร์ฟบอร์ด

เหวิน–ธารินี ตฤติยศิริ และ ยุ้ย–วิจิตรา คูวิสิษฐ์โสภิต ขายสินค้าไลฟ์สไตล์เกี่ยวกับกิจกรรมทางทะเลและกิจกรรมเอาต์ดอร์มา 5 ปีแล้วจากจุดเริ่มต้นในความชื่นชอบเล่นเซิร์ฟเป็นงานอดิเรก โดยมีสินค้าหลักอย่างครีมกันแดดและสินค้าที่ตั้งต้นออกแบบจากความชอบของทั้งสองคนทำให้ลูกค้าของพวกเธอส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงซึ่งแตกต่างจากร้านมัลติแบรนด์สปอร์ตทั่วไป 

ทั้งคู่เดินทางไปเล่นเซิร์ฟที่หลากหลายประเทศ ลองผิดลองถูกในการหาซื้อของใช้ที่ตอบโจทย์ด้านฟังก์ชั่นสำหรับไลฟ์สไตล์ริมทะเล เมื่อใช้เองจนถูกใจก็แนะนำเพื่อนฝูงและตกลงทำธุรกิจร่วมกันอย่างจริงจัง เริ่มจากออกบูทขายริมทะเลที่งาน surf festival ขยับขยายด้วยการส่งสินค้าไปวางขายที่โรงเรียนสอนเซิร์ฟตามเขาหลัก ภูเก็ต ระยอง ฯลฯ รวมถึงคอนเซปต์สโตร์ด้านสปอร์ตชื่อดังอย่าง Ripcurl และ Sea Concept Store เบื้องหลังความสำเร็จในการทำธุรกิจจากแพสชั่นคือการไม่ได้มุ่งเน้นขายของอย่างเดียวแต่ทำคอนเทนต์ส่งต่อความรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์เซิร์ฟให้มือใหม่รวมถึงสร้างคอมมิวนิตี้เพื่อ empower สาวๆ ในวงการเซิร์ฟด้วย

เมื่อคลิกเข้าไปในเว็บไซต์ Thalassomer ก็พบกับกลิ่นอายทะเลและความสดใสจนต้องส่งข้อความทักทั้งคู่มาชวนคุย

ชื่อแบรนด์ Thalassomer แปลว่าอะไร 

เหวิน : Thalassomer มาจาก 2 คำ คือ thalasso มีรากศัพท์จากภาษากรีกโบราณแปลว่าทะเลและ thalassophile ก็แปลว่าผู้คนที่รักทะเลด้วยเช่นกัน บวกกับคำว่า somer แปลว่า summer และเป็นคำสแลงที่มีความหมายแฝงคือผู้หญิงติดดิน เราชอบความหมายของคำนี้เลยเอาคำมารวมกัน แปลว่า the sea with never ending summer อยากให้มีฤดูร้อนตลอดทั้งปี จะได้เล่นเซิร์ฟได้ตลอด

การชอบเล่นเซิร์ฟทำให้คุณทั้งสองคนมาทำธุรกิจด้วยกันได้ยังไง

เหวิน : เราสองคนรู้จักกันจากการเล่นเซิร์ฟ เจอกันที่ระยองแล้วถูกชะตาเลยเล่นเซิร์ฟด้วยกันมาเรื่อยๆ เวลาเราไปเซิร์ฟที่ต่างประเทศ เช่น บาหลีหรือญี่ปุ่น จะเห็นอุปกรณ์ surf gear ที่น่ารักและมีสีสันสดใสในขณะที่เมืองไทยมีแต่สีดำ รู้สึกว่าอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการเซิร์ฟเป็นของเฉพาะทางซึ่งประเทศไทยยังไม่มีหรือถ้ามีก็น้อยมากและไม่ค่อยน่ารัก ไม่ถูกใจผู้หญิง พอเราหาของเหล่านี้มาเรื่อยๆ สำหรับใช้เอง เพื่อนรอบตัวก็เริ่มสนใจเลยคิดว่านำเข้ามาขายเองดีกว่า เกิดเป็นจุดเริ่มต้นที่อยากทำแบรนด์ด้วยกัน 

ยุ้ย : เวลาเราไปญี่ปุ่นเจออุปกรณ์เซิร์ฟน่ารักก็จะซื้อกลับมาลองใช้ เราลองมาเยอะจริงๆ พอใช้อะไรแล้วชอบก็จะเข้าไปดูในอินสตาแกรม ลองทักไปถามเขาว่าเราสนใจมากเลย ขอเป็นตัวแทนจำหน่ายได้ไหม จากจุดนั้นเราก็เริ่มสั่งของเข้ามา 

คุณใช้หลักเกณฑ์อะไรในการเลือกสินค้ามาขายในร้าน

เหวิน : คอนเซปต์คือของที่เราสองคนลองใช้แล้วแฮปปี้จึงนำมาขาย  ส่วนใหญ่เป็นของที่ยุ้ยเจอแล้วเหวินทดลอง ความตั้งใจตั้งแต่แรกของเราคือเป็นมัลติแบรนด์ที่อยากเป็นเพื่อนกับทุกคนที่อยู่ในวงการเซิร์ฟ เราเลยคิดว่าถ้าร้านในไทยเอาสินค้าแบบไหนมาขายแล้ว เราก็จะไม่แย่งขายแบบเดียวกัน เลยเลือกขายผลิตภัณฑ์กันแดดเป็นหลักเพราะดูจากตลาดแล้วประเทศไทยยังไม่มีครีมกันแดดสำหรับคนเล่นเซิร์ฟเลย แต่เซิร์ฟบอร์ด หรืออุปกรณ์เซิร์ฟต่างๆ มีขายในช็อปบ้างแล้วเลยพยายามหาสินค้าหลักของเราที่ไม่เป็นคู่แข่งกับคนอื่น

สินค้าแปลกใหม่ที่คุณลองใช้แล้วแฮปปี้จึงนำมาขายเป็นสินค้าแบบไหน ลองยกตัวอย่างให้ฟังหน่อย

ยุ้ย : วิตามินกันแดดแบรนด์ไทยที่นำเข้าวัตถุดิบจากญี่ปุ่นชื่อ Sunaway เพื่อนแนะนำให้ลองดูเพราะเห็นว่าเราเล่นเซิร์ฟ เราก็ลองกินดู ปรากฏว่าผิวไม่ไหม้ 

เหวิน : รู้จักวิตามันกันแดดจากยุ้ย เห็นยุ้ยรีวิวและพอลองกินแล้วมันได้ผลเลยเอามาขาย เป็นสินค้าตัวแรกที่เรานำเข้ามาช่วงปี 2018 ที่กำลังเริ่มคัดของเข้ามาขายในร้าน ลูกค้าที่มาซื้อกับเราก็จะเป็นกลุ่มเซิร์ฟเฟอร์แต่ที่จริงแบรนด์ Sunaway มีกลุ่มเป้าหมายหลากหลายมากอย่างคนในเมืองที่กลัวผิวเสีย เวลาเราอยู่ในเมือง ถ้าวันไหนต้องออกแดดเยอะๆ ก็กินตัวนี้แทนการทากันแดดบ้างเหมือนกัน 

ครีมกันแดดสำหรับคนทำกิจกรรมทางทะเลแตกต่างกับครีมกันแดดทั่วไปยังไง

เหวิน : ย้อนกลับไป 6-7 ปีที่แล้ว คนไทยยังไม่เข้าใจว่าเวลาเล่นเซิร์ฟจะใช้ครีมกันแดดธรรมดาทั่วไปไม่ได้ เพราะเอาไม่อยู่ ใช้แล้วหน้าไหม้ หลังไหม้ ตัวไหม้กันมาตลอด เราจึงเริ่มสังเกตว่าที่ต่างประเทศใช้ครีมกันแดดแบบไหนกันทำให้เริ่มรู้จักคำว่า surf zinc

ต้องอธิบายก่อนว่า ครีมกันแดดมี 2 ประเภท คือ chemical และ physical sunscreen กันแดดที่ใช้กันทั่วไปเป็นแบบ chemical ที่ต้องรออย่างน้อย 20 นาที เพื่อให้ครีมทำปฏิกริยากับผิวก่อนถึงสามารถกันแดดได้ ส่วนแบบ physical คือกันแดดที่ไม่ต้องรอ 20 นาที เพราะทาแล้วจะเคลือบบนผิวทันที ทำหน้าที่สะท้อนรังสียูวีออกไป ส่วนผสมจะเป็นซิงค์ออกไซด์กับไทเทเนียมออกไซด์ที่เป็นแร่ธรรมชาติ เรียกอีกอย่างว่า surf zinc

นักเซิร์ฟในต่างประเทศมีวัฒนธรรมทาครีมกันแดดหนาๆ มานานแล้ว เขาพยายามคิดค้นกันแดดที่ติดแน่น ทนนานอยู่บนใบหน้าให้ได้มากที่สุด เพราะเวลาเซิร์ฟ เราอยู่ในทะเลนานกว่า 2 ชั่วโมง ต้องตกน้ำ เอามือลูบหน้า ถ้ากันแดดบางจะหลุด โดยเฉพาะคนที่ลูบหน้าบริเวณ T-zone บ่อยๆ จึงได้คิดค้น surf zinc ที่ผสมขี้ผึ้งทำให้ติดทนนานขึ้น

การทากันแดดเป็นแถบสีที่หน้าเป็นวัฒนธรรมหนึ่งของเซิร์ฟเฟอร์หรือเปล่า

เหวิน : ส่วนประกอบสำคัญของ surf zinc เป็นแร่สีขาว ในยุคแรกเลยต้องทาทั้งหน้าเป็นสีขาวเหมือนคาบูกิ บางคนเลยเลือกทาแค่เฉพาะบางส่วนพอ กว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาเป็นเฉดสีที่เข้ากับสีผิวมากขึ้นก็ในยุคหลังแล้วซึ่งทำให้สามารถทาทั้งหน้าได้ ส่วนบางคนที่ยังชอบทากันแดดเป็นแถบสีสันต่างๆ คล้ายชนเผ่าอยู่ในทุกวันนี้น่าจะเป็นเพราะจากพฤติกรรมของเซิร์ฟเฟอร์เองที่ขี้เกียจโบกกันแดด เช่น สำหรับผู้ชายที่ไม่ชอบทากันแดด พอเขาเห็นคลื่นกำลังมาและกลัวว่าถ้าช้ากว่านี้คลื่นจะหายเลยคว้าบอร์ดแล้วลงน้ำเลย แต่สุดท้ายพอโดนแดดจะมีจุดที่ผิวไหม้แล้วทรมานคือบริเวณจมูก โหนกแก้ม หน้าผาก บางคนเลยเลือกทาแค่เฉพาะส่วนเป็นแถบๆ 

ผ่านการลองผิดลองถูกในการคัดเลือกแบรนด์ครีมกันแดดมายังไงบ้าง

เหวิน : เคยลองใช้ครีมกันแดดแบบ surf zinc ที่เน้นสีสันเยอะๆ ตอนแรกคิดว่าจะนำมาขายเพราะมีกิมมิกพอสมควร เคยลองทั้งแบรนด์ของออสเตรเลีย รวมถึงครีมกันแดดหลอดของอเมริกาและบาหลีที่ขายตามร้านสะดวกซื้อ แต่พอลงน้ำแล้วมันเละเทะและหลุดง่ายมาก

ตอนบินไปบาหลีรู้จักแบรนด์กันแดด surf zinc แบบตลับที่ติดทนแน่นมาก แต่ด้วยความเป็นออร์แกนิกเลยมีแค่สีเดียวคือสีเผือกและมีส่วนผสมเป็นเมล็ดโกโก้ เนื้อครีมจึงหยาบและใช้ยาก ผู้ชายจะชอบกันแต่ผู้หญิงอาจไม่ชอบ เลยไม่ได้เอามาขายต่อ

สำหรับผลิตภัณฑ์กันแดดที่เราขายอยู่ตอนนี้จะมี 2 แบรนด์คือ Cocosunshine กับ Surfmud โดยเน้นขาย Cocosunshine ของญี่ปุ่นเป็นหลัก รู้จักแบรนด์นี้จากยุ้ยที่เคยอยู่ญี่ปุ่นมาก่อน ลองใช้แล้วค่อนข้างถูกจริตกับเรา เพราะมีความหลากหลาย เป็นกันแดดที่มีพาเลตต์เหมาะกับหลายเฉดสีผิว คิดว่าน่าจะทำให้คนไทยรู้สึกสนใจได้ง่ายกว่า

ทำไมสุดท้ายคุณถึงเลือกขายครีมกันแดดเพียงไม่กี่แบรนด์แทนการนำเสนอตัวเลือกแบรนด์จากหลายประเทศให้ลูกค้า 

เหวิน : พอมีตัวเลือกเยอะเกินไปทำให้ลูกค้าสับสน สุดท้ายเราจะเหนื่อยเองในการอธิบายความแตกต่าง ช่วงแรกเคยนำครีมกันแดดแบบ chemical ที่เป็นโลชั่นธรรมดามาขาย แต่พอเราเป็นร้านเฉพาะทางและมีกลุ่มคนติดตามเป็นคนเล่นเซิร์ฟ ปรากฏว่าพอลูกค้าซื้อไปแล้วใช้ผิดวิธี คือทาแล้วไม่ได้รอ 20 นาทีให้โลชั่นซึมเข้าผิวก่อนเล่นกิจกรรมทางน้ำทำให้หน้าไหม้ เราเลยตัดสินใจว่าไม่ขายครีมกันแดดแบบ chemical ดีกว่าเพื่อป้องกันความสับสน เคยรับครีมกันแดดแบรนด์ไทยแบบ physical ที่เนื้อดีมากทัดเทียมแบรนด์ Cocosunshine มาขายสำหรับเป็นตัวเลือกให้ลูกค้าด้วย แต่เวลาซื้อลูกค้าก็จะเกิดคำถามว่าตัวไหนดีกว่า เป็นตัวเลือกที่ทำให้ลูกค้าลังเลมากเกินไปเลยตัดออก

แล้วแบรนด์ Cocosunshine และ Surfmud ตอบโจทย์ลูกค้าแตกต่างกันยังไง

เหวิน : เป็นเรื่องพาเลตต์สีที่เราอยากตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าหลากหลายสีผิว จุดแข็งของ Cocosunshine คือเป็นครีมกันแดดที่มีเฉดสีผิวของคนเอเชีย แบรนด์กันแดดของออสเตรเลียและอเมริกาจะมีเนื้อดีใกล้เคียงกันแต่เป็นเฉดสีผิวโทนเย็นของฝรั่ง คนเอเชียทาแล้วจะหน้าลอย

มีสี Coconut White เป็นสีขาวออริจินัล Mango Brown สำหรับคนผิวแทนที่ออกแดดหน่อย เฉดสีอ่อน Honey Ocher สำหรับคนผิวสีขาวอมชมพู และ Snow Clear เป็นสีใส ทาแล้วเกลี่ยเนียนไปกับผิวเลย ความจริงสีสุดท้ายนี้เขาทำมาสำหรับคนเล่นสโนว์บอร์ดไม่ใช่เซิร์ฟ แต่มีคนใช้กับเซิร์ฟเหมือนกัน เพราะกันน้ำและกันเหงื่อได้แบบเอกซ์ตรีมเหมือนกัน 

ส่วน Surfmud เป็นแบรนด์ที่เรานำเข้ามาเพื่อตอบโจทย์เซิร์ฟเฟอร์ที่เล่นเซิร์ฟมาสักพักแล้วสีผิวจะคล้ำขึ้นเกินเฉด Mango Brown ของ Cocosunshine เราจึงนำ Surfmud จากออสเตรเลียเข้ามา ซึ่งเป็นเฉดที่เข้มที่สุดในบรรดากันแดดทุกอันที่เราลองมาแล้ว ตัวเนื้อครีมเกลี่ยง่ายเหมือนกันแต่เหนียวกว่านิดหน่อย เหมือนทารองพื้นที่หนาขึ้นหน่อย

อะไรคือความท้าทายของการขายสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่คนไทยยังไม่ค่อยรู้จัก

เหวิน : เหนื่อยที่ต้องสื่อสาร ด้วยความที่เป็นของใหม่ทำให้ต้องใช้ความพยายามมากในการให้ความรู้ใหม่กับคนไทย เราต้องทำเว็บไซต์ วิดีโอ บล็อก เพื่อสื่อสารและให้ความรู้ลูกค้าอย่างหนัก เพราะไม่มีใครรู้จัก surf zinc มาก่อน ลูกค้าที่เข้ามาหาเราส่วนใหญ่เพราะเชื่อใจเรา รู้ว่าเราใช้จริง เขาเชื่อว่าถ้าซื้อครีมกันแดดกับเราแล้วหน้าจะไม่ไหม้ เราเชื่อว่าถ้าให้ความสำคัญกับคุณภาพผลิตภัณฑ์เป็นอันดับหนึ่ง ยังไงเราก็อยู่ได้ คุณภาพสินค้าดีทำให้ลูกค้าบอกต่อกันปากต่อปาก พอเราสามารถสื่อสารกับลูกค้าได้ก็เหนื่อยน้อยลง แต่ปัญหาใหม่ก็เข้ามาคือคู่แข่ง ซึ่งจริงๆ ก็เป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่อย่างนั้นวงการเซิร์ฟก็จะไม่โต

สินค้าหมวดอื่นที่นำเข้ามาขายและผลิตเองมีอะไรบ้าง

เหวิน : สินค้าที่เราทำเองมีหมวก กระเป๋าผ้า เสื้อยืด สติ๊กเกอร์ ตัวรีดติดเสื้อ เครื่องประดับ และนำเข้าอุปกรณ์เซิร์ฟต่างๆ อย่างเซิร์ฟบอร์ด, ผ้าคลุมเบาะรถสำหรับพร้อมขึ้นรถหลังจากเล่นเซิร์ฟแล้วตัวเปียก, wax comb ไว้ใช้สำหรับถูไม่ให้เซิร์ฟบอร์ดลื่นซึ่งมีทั้งแบรนด์ต่างประเทศและแบรนด์ไทย

ยุ้ย : ส่วนใหญ่จะเลือกสินค้าที่มาเติมเต็มในสิ่งที่ยังไม่มี เคยมีความคิดจะทำชุดว่ายน้ำแต่ถูกเหวินเบรกไว้ เหวินมีประสบการณ์เคยทำแบรนด์ชุดว่ายน้ำก่อนมาทำ Thalassomer คุยกันแล้วก็คิดว่ารอรอจังหวะเวลาที่เหมาะสมดีกว่า

ทำไมร้านที่ขายสินค้าหลากหลายเกี่ยวกับกิจกรรมทางทะเลถึงยังไม่เลือกโฟกัสการผลิตชุดว่ายน้ำขายเอง ความยากคืออะไร 

เหวิน : ฟังก์ชั่นชุดว่ายน้ำสำหรับเซิร์ฟจะมีรายละเอียดมากมาย คนไทยหลายคนยังไม่เข้าใจว่าเวลาเซิร์ฟ ถ้าใส่ฟองน้ำในชุดว่ายน้ำรัชการ์ดแขนยาว ยังไงฟองน้ำก็หลุดหายไปกับน้ำแน่นอน ถ้าไม่หลุดก็เลื่อน เพราะคลื่นแรง มันไม่เหมือนชุดว่ายน้ำทั่วไปเวลาเราว่ายน้ำธรรมดา และอีกเหตุผลคือคู่แข่งเยอะ อยากโฟกัสขายสินค้าที่เราถนัดก่อน ตอนนี้เลยให้ความสำคัญกับครีมกันแดดเป็นอันดับหนึ่ง

นอกจากสินค้านำเข้าจากต่างประเทศแล้ว ทำไมคุณถึงเลือกทำสินค้า collaboration กับแบรนด์อื่นและไม่เลือกผลิตเองเต็มตัว

เหวิน : แทนที่จะผลิตเองหรือนำเข้าแบรนด์อื่นแล้วมาเป็นคู่แข่งกับเพื่อนในวงการเซิร์ฟ เราก็เลือกที่จะทำร่วมกับแบรนด์ที่เป็นพันธมิตรกับเราดีกว่า

ที่ผ่านมา collaboration กับแบรนด์อะไรมาบ้าง

เหวิน : คอลเลกชั่นแรกคือหมวกที่ร่วมทำกับแบรนด์ Beach Boy Commu ซึ่งเป็นแบรนด์ไทยเจ้าแรกที่ทำหมวก bucket hat ที่สามารถสวมแล้วล็อกและพร้อมลงไปเซิร์ฟได้โดยไม่ต้องกลัวหมวกหลุด ผ้าแห้งไว ทำมาเพื่อกิจกรรมทางน้ำโดยเน้นเซิร์ฟเป็นหลัก แต่ก็จะมีกลุ่มคนดำน้ำเอาไปใช้ด้วย เพราะช่วยเก็บไรผมได้ดี บางทีพอดำน้ำแล้วไรผมเข้าหน้ากากจะทำให้น้ำเข้า ซึ่งหมวกตัวนี้ช่วยได้ พอมีเพื่อนคนหนึ่งที่ใส่หมวกนี้ไปดำน้ำแล้วถ่ายรูปลงโซเชียล ก็เริ่มมีกระแสใส่หมวกดำน้ำแล้วคนเริ่มบอกต่อ ตอนนั้นขายดีมากจนขาดตลาดไปช่วงหนึ่ง 

เวลา collaboration กับแบรนด์อื่น คุณใส่ตัวตนของแบรนด์ Thalassomer เข้าไปยังไง

ยุ้ย : เริ่มจากความชอบของตัวเองก่อนแล้วค่อยๆ กรองว่าแบบไหนที่เหมาะกับแบรนด์เรา ขึ้นอยู่กับคอนเซปต์ในแต่ละปี อย่างหมวกที่ทำกับ Beach Boy Commu รุ่นแรกข้างนอกเป็นสีเหลือง ข้างในเป็นลาย surf girl ที่เหวินเป็นคนวาด พอเป็นหมวกรุ่นที่ 2 ก็จะเป็นสีโทนพาสเทล Paddle Pop สีเหลือง ฟ้า ชมพูอ่อน ตอนนั้นเรารู้สึกว่า Thalassomer เป็นสามสีนี้ จนตอนนี้อยากได้หมวกลายดอกไม้ ก็มาคิดว่าทำยังไงให้ดอกไม้มาอยู่บนผลิตภัณฑ์แล้วเป็นเรา ทุกอย่างเริ่มจากตัวเรา

เหวิน : เรียกว่าดีไซน์จากความรู้สึกตัวเอง เพราะ Thalassomer คือเหวินกับยุ้ย เราก็ใส่ความเป็นตัวเองเข้าไปในดีไซน์ ล่าสุดเราทำตัวรีดเสื้อในคอลเลกชั่นชื่อ Shroom Surf & Friends เป็นรูปเห็ดที่เราดีไซน์เองแล้วไปแปะกับแบรนด์อื่น ทั้งแบรนด์หมวกอย่าง Beach Boy Commu และแบรนด์เซิร์ฟบอร์ดอย่าง Suket ทำเพื่อเติมเต็มผลิตภัณฑ์อื่นให้มีกิมมิก

คอลเลกชั่นเซิร์ฟบอร์ด Suket x Thalassomer มีที่มายังไง

เหวิน : พอมีหมวกแล้วก็คิดว่าเราควรมีเซิร์ฟบอร์ดด้วย ก็เลยมีคอลเลกชั่นที่ทำกับ Suket แบรนด์เซิร์ฟบอร์ดของบาหลีที่เราและหุ้นส่วนร่วมกันนำเข้า ซึ่งคาแร็เตอร์ของเเบรนด์นี้จะถนัดเซิร์ฟบอร์ดแบบ longboard เดิมทีเราสองคนเล่น longboard ของแบรนด์นี้อยู่แล้วด้วย เซิร์ฟบอร์ดมีหลายประเภท ทั้ง shortboard, mid-length และ longboard ส่วน longboard ก็จะแบ่งประเภทยิบย่อยไปอีก เช่น แบบ performance หรือ log ซึ่งเหวินจะมีความรู้ด้าน longboard ทำให้สามารถตอบคำถามลูกค้าได้ ถ้าเป็นเซิร์ฟบอร์ดประเภทอื่นๆ อาจไม่มีความรู้มากนัก เลยเลือกขายบอร์ดสไตล์ที่เราสองคนเล่นอยู่แล้วดีกว่า ล่าสุดได้ทำลายพิเศษในคอลเลกชั่นลิมิเต็ด Shroom Surf & Friends ซึ่งเป็นลายเดียวกันกับหมวกที่ทำร่วมกับ Beach Boy Commu นั่นเอง

ลูกค้าของ Thalassomer เป็นคนกลุ่มไหน 

เหวิน : ด้วยสินค้าหลักอย่างกันแดดที่ใช้เป็นรองพื้นเวลาทำกิจกรรมทางทะเล ลูกค้าก็จะเป็นผู้หญิงมากกว่าแต่ผู้ชายก็ใช้ได้เหมือนกัน ที่จริงผลิตภัณฑ์ของเราอาจไม่ต้องเกี่ยวข้องกับคนทำกิจกรรมทางทะเลอย่างเดียวเท่านั้น กลุ่มคนเล่นกิจกรรมกลางแจ้งก็ใช้ได้ ทั้งจักรยาน ปีนเขา คนรักกิจกรรมเอาต์ดอร์ เพียงแค่กลุ่มลูกค้าหลักเป็นคนรักทะเล เล่นเซิร์ฟ พายซัปบอร์ด เล่นวินเซิร์ฟ เป็นกลุ่มที่ค่อนข้างเล่นกีฬาเอกซ์ตรีม 

วางขายสินค้าที่ไหนบ้าง 

เหวิน : นอกจากออกบูทแล้ว ส่วนใหญ่วางขายที่โรงเรียนสอนเซิร์ฟและร้านที่เป็นเพื่อนหรือคอนเนกชั่นในวงการเซิร์ฟ เช่น Better Surf Thailand, Seapians Camp, Laem Yah Rayong Surf Club, Freedom Boardsports Phuket, Salt Surf Club ฯลฯ และ Ripcurl Flagship Store ส่วนร้านสายดำน้ำที่เพิ่งเพิ่มมาคือ Sea Concept Store ที่ขอให้เราส่งสินค้าให้แบบเอกซ์คลูซีฟเฉพาะร้านเขาเจ้าเดียวในวงการร้านดำน้ำเท่านั้น การที่มีร้านสายดำน้ำติดต่อมาหาเองทำให้เราเชื่อมั่นว่าแบรนด์เราเติบโตมาได้เพราะคุณภาพสินค้าจริงๆ คนรู้จักแบรนด์จากเวลาเพื่อนใช้แล้วดีจึงแนะนำต่อกันมา

การเป็นอินฟลูเอนเซอร์นักเล่นเซิร์ฟในไทยช่วยให้ขายของง่ายขึ้นยังไง 

เหวิน : อีเวนต์ที่ไปออกบูทขายของจะเป็นงานเล่นเซิร์ฟ ถ้าเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับวงการนี้เรามักได้รับเชิญเพราะเป็นเซิร์ฟเฟอร์กลุ่มแรกๆ เหมือนเราได้รับเกียรติว่าถ้าเป็นงานเซิร์ฟ ต้องมีแบรนด์ Thalassomer ไปออกบูทนะงานถึงจะคอมพลีต ซึ่งก็ต้องขอบคุณทุกอีเวนต์ด้วยที่บอกว่าต้องมี Thalassomer ในงาน 

บรรยากาศการออกบูทขายสินค้าริมทะเลที่ Surf Festival เป็นยังไง ต่างกับการออกบูทขายสินค้าในเมืองยังไง

เหวิน : ด้วยความที่ Thalassomer ไม่ได้เป็นแค่ surf shop แต่เป็นคอมมิวนิตี้ที่ให้ความรู้กับเซิร์ฟเฟอร์ด้วย ลูกค้ามาที่บูทส่วนใหญ่จึงตั้งใจมาหาเราสองคน  บางคนไม่ได้รู้จักกันมาก่อนด้วยซ้ำ เขาศึกษาสินค้าผ่านอินสตาแกรมมาและตั้งใจมาคุยกับเราเพื่อให้เราแนะนำเขาเพิ่มเติมว่าสินค้าอันนี้กับอีกอันต่างกันยังไง ลูกค้าเชื่อใจเรามากเพราะว่าเราสองคนใช้เอง

คนเล่นเซิร์ฟหรือกำลังจะเริ่มเล่นที่รู้จักว่าเราสองคนเป็นเซิร์ฟเฟอร์ก็จะเข้ามาทักเพื่อถามนอกเรื่องในสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับการขายของ เช่น ถามหาโรงเรียนสอนเซิร์ฟ, เล่นเซิร์ฟยังไง เล่นยากไหม, ลงแวกซ์บนเซิร์ฟบอร์ดยังไง, ทำยังไงให้ผิวเเทนสวย, หน้าไหม้และลอกควรทำยังไงดี มีคนส่งข้อความเข้ามาถามเยอะมากจนเรารู้สึกว่าควรทำเพจเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้และเขียนเป็นบทความเพื่อให้ความรู้ประกอบการขายผลิตภัณฑ์ของเราไปเลย

บรรยากาศเวลาไปออกบูทจะเหมือนไปเจอเพื่อน ตอนออกบูธครั้งเเรกที่เขาหลักในปี 2018 เราตั้งใจไปแบบสนุกๆ และไม่ได้คาดหวังอะไร เเทบไม่ได้อยู่เฝ้าบูธและทิ้งบูธลงไปเล่นเซิร์ฟด้วยซ้ำ เเต่กลายเป็นว่าทุกคนมาหาเพื่อจะขอทากันแดดสีขาวซึ่งกลายเปนกิมมิกของงานไปเลย บางทีคนกลุ่มใหญ่ที่มางานแล้วไม่มีที่นั่งพักผ่อน ก็มานั่งที่บูธเรา อุดหนุนของง่ายๆ อย่างสร้อยหรือตั้งใจมาหาเราที่บูธโดยเฉพาะ 

ยุ้ย : บางคนก็มาคุยกันว่าช่วงนี้ไปเซิร์ฟที่ไหนดี ที่ไหนเป็นยังไงบ้าง มาแนะนำที่เล่นเซิร์ฟและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน คิดว่าถ้าเราไม่อยู่ตรงนั้น ลูกค้าอาจไม่กล้าถาม

พอคนมองคุณเป็นอินฟลูเอนเซอร์ คุณผลักดันคอมมิวนิตี้นักเล่นเซิร์ฟผู้หญิงยังไงบ้าง

เหวิน : แฮชแท็ก #Thalassomer_surfergirls ในโซเชียลมีเดียเป็นโปรเจกต์ที่ทำตั้งแต่เริ่มแบรนด์เลย ช่วงแรกที่เล่นเซิร์ฟ พบว่าการจะมีผู้หญิงคนหนึ่งโผล่มามันยากมากเลย พอมีผู้หญิงน้อยมาก เวลาไปเจอผู้หญิงเล่นเซิร์ฟเราก็อยากรู้จัก แต่อยู่ดีๆ จะเข้าไปคุยเลยก็ไม่รู้ต้องทำยังไง เหวินเคยทำงานออฟฟิศในสายที่ไม่ได้มีบรรยากาศเฟรนด์ลี่มากนัก พอมาเจอยุ้ยที่เป็นคนเฟรนด์ลี่ ยิ้มแย้มแจ่มใสทำให้เราได้สนิทกัน เลยรู้สึกว่าวัฒนธรรมของเซิร์ฟเฟอร์ที่มีความเฟรนด์ลี่เป็นเรื่องดี การยิ้มและคุยกับคนเยอะขึ้นจะสร้างบรรยากาศที่ดีในน้ำได้ เวลารอคลื่นก็มีปฏิสัมพันธ์กันบ้าง ไม่ใช่แค่นั่งเจื่อนๆ อยู่ในน้ำ เลยทำ #Thalassomer_surfergirls ไปสัมภาษณ์ผู้หญิงเล่นเซิร์ฟที่เราเคยเจอเพื่อแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกัน เวลาไปเจอกันในน้ำทำให้คุยกันง่ายขึ้น เป็นการสร้างคอมมิวนิตี้

นอกจากโพสต์แนะนำให้สาวๆ ที่เล่นเซิร์ฟรู้จักกันเองแล้ว เราอยาก empower ให้ผู้หญิงคนอื่นๆ ที่ยังลังเลหรืออยากลองเล่นเซิร์ฟแต่ไม่กล้า อยากทำให้เห็นว่าเซิร์ฟเป็นกีฬาที่ผู้หญิงก็เล่นได้นะ เมื่อก่อนเวลาเหวินและยุ้ยไปเล่นเซิร์ฟตามหาดต่างๆ มักเจอแต่ผู้ชายเต็มไปหมดทั้งคนท้องถิ่นและฝรั่ง บางทีเราถูกคุกคามด้วยสายตาและคำพูดจากการใส่ชุดว่ายน้ำ ยิ่งสมัยเล่นคนเดียว จะไม่กล้าใส่ชุดว่ายน้ำเลยด้วยซ้ำ ต้องใส่กางเกงขาสั้น แต่พอมียุ้ยและผู้หญิงคนอื่นๆ มาเล่นเป็นเพื่อน ทำให้เวลาใส่บิกินี่หรือชุดว่ายน้ำแล้วไม่รู้สึกแปลกแยก สบายใจมากขึ้นเวลาอยู่ในน้ำ ก็อยากให้มีผู้หญิงมาเล่นเซิร์ฟเยอะขึ้น

แล้วอยากผลักดันวงการเซิร์ฟในไทยยังไง

เหวิน : อยากให้วัฒนธรรมเซิร์ฟในไทยทัดเทียมกับต่างประเทศให้ได้ ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่ ต๊ะ–ทวีโรจน์ เอี๋ยวพานิช จากเพจ Surfer’s Holiday ที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์สายเซิร์ฟคนแรกของไทยพยายามทำมาตลอดหลายปีแต่ด้วยความที่เป็นของใหม่มันก็ยากพอสมควร

ยุ้ย : เพราะ surf culture ในต่างประเทศเริ่มมานานกว่าไทยมากด้วย เวลาจัดงานเลยคึกคักกว่า มีคนเข้าร่วมเล่นมากกว่าและกิจกรรมเยอะกว่า

เหวิน :  อยากให้คอมมิวนิตี้เซิร์ฟเฟอร์ในไทยเหมือนกับเมืองนอกที่มีเฟสติวัลทุกปี มีการแข่งขันและแบรนด์เข้ามาสนับสนุน เกิดภาพสนุกที่คนมองเข้ามาแล้วอยากเข้าร่วม ทุกวันนี้ในไทยเริ่มมีภาพอย่างนั้นให้เห็นบ้าง เช่น งาน Khaolak Classic ที่เพิ่งจัดเมื่อปลายปีที่แล้ว ทั้งนี้มองว่าเราไม่ได้พยายามกันอยู่สองคน ทุกคนในกลุ่มเพื่อนที่เป็นเซิร์ฟเฟอร์ก็อยากให้คอมมิวนิตี้เซิร์ฟในไทยเติบโตไปในทางที่ดี 

ความสนุกของการทำแบรนด์จากแพสชั่นในกิจกรรมทางทะเลของคุณทั้งสองคนคืออะไร  

เหวิน : ก่อนหน้านี้เคยทำมาหลายอย่าง พอเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ถึงจุดหนึ่งก็รู้สึกไม่มีแพสชั่นในการทำงานให้คนอื่น เคยทำโฮสเทลซึ่งใช้ความเป็นตัวเองมาทำพอสมควร แต่ก็ยังไม่มีแพสชั่นมากพอ เพราะไม่ใช่สิ่งที่ชอบมากนักเลยไม่สามารถเค้นความรู้สึกตัวเองในการดีไซน์หรือใช้ศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่ แต่พอมาทำ Thalassomer แบบไม่ได้คาดหวังอะไรกลับรู้สึกมันมากเพราะดีไซน์ความเป็นตัวเองได้เต็มที่ เกิดความรู้สึกมีไฟกลับมาเหมือนสมัยเรียนจบใหม่อีกครั้ง ทำให้รู้ว่าเราชอบทำงานให้ตัวเองมากกว่าให้คนอื่น 

ยุ้ย : เราชอบเซิร์ฟมากๆ เลยคิดว่าถ้ามีแบรนด์ของตัวเอง เราจะสามารถเซิร์ฟไปด้วยและทำงานที่เรารักไปด้วยได้ เลยตัดสินใจร่วมกัน เลือกของกันเอง หาสินค้าใหม่ๆ ที่เราเองก็ใช้และคิดว่าลูกค้าคงจะชอบเหมือนกัน ได้ทำสิ่งที่ชอบ ได้เซิร์ฟด้วย ได้ตังค์ด้วย

เหวิน : ปัญหาโลกแตกของทุกคนคืออยากเซิร์ฟแต่ก็ต้องทำงานด้วย หลายอย่างที่เคยไม่มีในไทย เราสองคนก็เป็นผู้บุกเบิกในการนำเข้าสินค้ามาในช่วงแรกจนกลายเป็นธุรกิจที่สำเร็จตรงนี้ได้

What I’ve Learned
1. Be an Authentic Influencer สร้างความเชื่อใจจากลูกค้าด้วยสินค้าที่ลองใช้เองแล้วดีจริง รวมถึง
ให้ข้อมูลและความรู้ที่ศึกษามาจากประสบการณ์ตรง
2. Blue Ocean Strategy กลยุทธ์น่านน้ำสีคราม คือการหลีกเลี่ยงตลาดที่มีการแข่งขันสูง (red ocean) อย่างชุดว่ายน้ำและเลือกขายสินค้าที่แตกต่างและไม่มีคู่แข่งมากนัก สร้างความต้องการใหม่ให้ลูกค้า 
3. Collaboration not Competition คำนึงถึงคอมมิวนิตี้อย่างแท้จริง ด้วยการเลือก collaboration แทน competition กับแบรนด์ของเพื่อนในวงการเดียวกัน 

Writer

Craft Curator, Chief Dream Weaver, Lifestyle Columnist, Editor-in-Cheese, Design Researcher 'Instagram : @rata.montre'

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like