Ghost Domestic Product

5 ผีไทยระดับตำนานกับการถูกหยิบมาสร้าง ‘ผลิตภัณฑ์มวลหลอน’ ทำเงิน

แม้จะต้องลำบากถ่างตาระหว่างสระผม ห่มผ้าคลุมโปงจนร้อนหงื่อตก หรือจะลุกไปเข้าห้องน้ำตอนกลางคืนด้วยใจตุ๊มๆ ต่อมๆ  แต่นิสัยของคนไทยจำนวนไม่น้อยก็ยังชื่นชอบในบรรยากาศชวนขนลุกขนพอง จากเรื่องราวลี้ลับของแขกไม่ได้รับเชิญยามวิกาล หรือที่เรียกสั้นๆ พยางค์เดียวว่า ‘ผี’

เรื่องราวของภูติผีนั้นมีมากมายทั่วโลก แต่ใครต่อใครยังคงยกให้ ‘ผีไทย’ ติดอันดับความน่ากลัวลำดับต้นเสมอมา ด้วยลีลาการหลอกสุดครีเอตบ้างก็แหวกอกโชว์เครื่องใน มีแต่หัวกับไส้ลอยได้ ขนาดความสูงยิ่งกว่าเสาไฟฟ้า กินเฉพาะของดิบของเน่า ผนวกกับความเชื่อเรื่องศาสนาและวัฒนธรรมท้องถิ่นแต่เดิมซึ่งถูกเล่าจากปากสู่ปาก เหล่านี้เสมือนวัตถุดิบชั้นเยี่ยมที่ทำให้ผีไทยโกยคะแนนความนิยมทิ้งห่างผีชาติอื่นๆ แทบไม่เห็นฝุ่น

ในแง่มุมธุรกิจ ผีไทยถูกนำมาใช้สร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมภายนตร์ที่กลายเป็นสินค้าส่งออกชั้นเลิศ ยกตัวอย่างปี 2566 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเผยว่า หนังไทย 10 เรื่องที่ถูกฉายในไต้หวัน เป็นหนังผีไปแล้ว 5 เรื่อง หรือหากย้อนกลับไปราว 20 ปีที่แล้ว ภาพยนตร์เรื่อง ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ ก็เป็นหนังผีไทยที่กระแสร้อนแรง จนค่ายหนังฝั่งอเมริกันอย่าง 20th Century Fox ตัดสินใจซื้อลิขสิทธิ์ไปเพื่อสร้างฉบับรีเมค

หรือในยุคปัจจุบันที่ไม่พูดถึงเลยไม่ได้ คือ The Ghost Radio ชาแนลเล่าเรื่องผี ของแจ็ค สายสิญจน์–วัชรพล ฝึกใจดี ที่กลายเป็นปรากฏการณ์ฮิตทั่วบ้านทั่วเมือง จนมียอดผู้ติดตามมากกว่า 5 แสนคน สามารถทำรายได้มากกว่า 77 ล้านบาท และยังต่อยอดสร้างคาเฟ่ธีมสยองขวัญอย่าง The Ghost House ย่าน RCA ในเวลาต่อมา

เหตุผลที่กล่าวมานี้ จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ผีไทยคือวัตถุดิบชั้นเลิศที่สามารถยกระดับมูลค่าของผลิตภัณฑ์หรือบริการประเภทต่างๆ ซึ่งมากกว่าแค่สื่อบันเทิง และยังเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ทำให้ชาวต่างชาติรู้จักประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ดังนั้นคอลัมน์ Capital List จึงถือโอกาสเนื่องในเทศกาลฮาโลวีน รวบรวมผีไทยระดับตำนานทั้ง 5 ตน ที่ถูกปลุกมาใช้สร้างมูลค่าความหลอนในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

1. แม่นาก
มูลค่าความหลอน : 5 กะโหลก

แม่นาก นางนาก หรือแม่นากพระโขนง คือชื่อเรียกของผีตายทั้งกลมนางหนึ่ง ซึ่งมีตำนานเล่าขานต่อกันมาว่า เคยออกหลอกหลอนชาวบ้านไปทั่วคุ้งน้ำย่านพระโขนง ในสมัยรัชกาลที่ 3 ด้วยจิตที่ยังยึดติดรอการกลับมาของนายมากผู้เป็นสามี จนสุดท้าย สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี ได้สยบนางนาก ด้วยการสะกดในกะโหลกศีษะส่วนหน้าผาก หรือที่เรียกว่า ‘ปั้นเหน่ง’ พร้อมส่งนางนากไปสู่สุคติ

ตำนานของผีนางนากถูกนำมาใช้ในบทละครร้องเรื่อง ‘อีนากพระโขนง’ ในปี 2454 โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ก่อนจะถูกนำมาดัดแปลงสร้างภาพยนตร์จอเงินมากถึง 20 ครั้ง (และเวอร์ชั่นละครโทรทัศน์และละครเวทีอีกนับครั้งไม่ถ้วน) แต่ครั้งที่ท็อปฟอร์มที่สุดคงจะหนีไม่พ้นเวอร์ชั่น ‘พี่มาก..พระโขนง’ โดยค่าย GTH ในปี 2556 ซึ่งกลายเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ทำสถิติกวาดรายได้ถึงหลักพันล้านบาท อีกทั้งยังถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปดัดแปลงเพื่อฉายในประเทศอินโดนีเซีย ในชื่อเรื่องว่า Kang Mak (From Pee Mak) ในปี 2567

แต่หากสังเกตจะพบว่านอกจากความน่ากลัว ก็มีเรื่อง ‘ความรัก’ ที่ทำให้ผีแม่นากโด่งดัง ซึ่งแบรนด์น้ำหอมอย่าง Journal Boutique ได้หยิบตำนานความรักของแม่นากมานำเสนอผ่านน้ำหอมคอลเลกชั่นพิเศษ Thai Ghost Collection ในคอนเซปต์ ‘รักเธอแม้ตัวตาย ไม่เลือนหายแม้จากไป’ โดยผสมกลิ่นหอมละมุนจากดอกกุหลาบ ซึ่งเป็นตัวแทนของความรัก และกลิ่นสดชื่นจากมะนาว ซึ่งเป็นอีสเตอร์เอ้กสื่อถึงฉากในตำนานอย่างแม่นากยืดมือเพื่อเก็บมะนาวใต้ถุนบ้าน

2. ปอบ 
มูลค่าความหลอน : 5 กะโหลก

ผีปอบ คือความเชื่อพื้นบ้านของภาคอีสาน ว่าด้วยผู้ลุ่มหลงในการใช้คาถาอาคมหรือคุณไสยด้านมืด แต่ไม่สามารถรักษาวิชาอาคมทั้งหลายที่มีอยู่จนเกิดอาการของย้อนกลับเข้าตัวและกลายเป็น ‘ปอบ’ วิญญาณสามานย์ที่ชอบสวาปามของดิบ ที่กินเท่าไหร่ก็ไม่อิ่ม และผู้ใดที่ถูกปอบสิงบั้นปลายก็จะถูกมันกินอวัยวะภายในจนตาย

ด้วยความเชื่อต่อๆ กันมาว่า ปอบมักจะเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์จึงมักถ่ายทอดผีตนดังกล่าวในรูปลักษณ์ยายแก่หรือหญิงสาว ลักษณะผมเผ้ารุงรัง ขอบตาดำ ชอบเก็บตัวมิดชิด ซึ่งกิมมิกที่ว่าช่วยทำให้ปอบดูน่ากลัวเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ยกตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง ธี่หยด ทั้งภาค 1 และ 2 ที่นำกิมมิกนี้มาใช้จนกวาดรายได้รวมกันเกินพันล้าน อีกทั้งยังคอลแล็บกับแบรนด์ ‘เสื้อตราห่านคู่’ ผลิตเสื้อผีธี่หยดในแบบลายการ์ตูนผีไทยสุดคลาสสิก 

แต่ก่อนที่ผีธี่หยดจะเฉิดฉาย ผีตัวแม่อย่าง ‘ปอบหยิบ’ เคยโลดแล่นครองจอเงินในแฟรนไชส์ ‘บ้านผีปอบ’ ยาวนานต่อเนื่องถึง 13 ภาค และเป็นคาแร็กเตอร์ที่สร้างชื่อให้กับนักแสดงอาวุโสอย่าง หน่อย–ณัฐนี สิทธิสมาน ขณะเดียวกันแฟรนไชส์บ้านผีปอบยังสร้างกิมมิก ‘หนีผีลงตุ่ม’ อันลือลั่น กลายเป็นภาพจำว่าถ้าจะหนีผีปอบก็ต้องหนีลงตุ่มนี่ล่ะ

ซึ่งกิมมิกหนีผีลงตุ่มนี้เองถูกนำมาใช้สร้างกาชาปองอาร์ตทอยธีม ‘ผีนานาชาติ’ ที่จำหน่ายในอีเวนต์ ‘พูด ผี-ปีศาจ (Ghost Talks)’  ซึ่งจัดโดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กับกลุ่มศิลปินอาร์ตทอยศาลาอันเต ที่ตลาดอาร์ตทอยในสวน (Art Toys Market in the Garden) เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลฮาโลวีนปี 2566 โดยหน้าตาของอาร์ตทอยตัวที่ว่า ถูกนำเสนอในรูปแบบปอบยายแก่ที่กำลังคาบไก่อยู่ภายในตุ่ม ซึ่งเป็นการหยิบภาพจำของปอบมานำเสนอในรูปแบบน่ารักเพื่อสร้างมูลค่า และยังมีคาแร็กเตอร์โดดเด่นไม่แพ้ผีจากชาติอื่นอีกด้วย

3. กระสือ 
มูลค่าความหลอน : 4 กะโหลก

“กระสือกลางวันมันเป็นหญิง มีทุกสิ่งธรรมด๊าธรรมดา”

เด็กยุค 80-90s น่าจะรู้จักผีกระสือผ่านเพลงข้างต้น ซึ่งร้องโดย นิภา สงวนรักษ์ โดยเพลงดังกล่าวถูกนำมาประกอบใช้ในละครโทรทัศน์เรื่อง กระสือ ที่ออกฉายในปี 2520 ซึ่งอธิบายลักษณะของผีตนนี้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะตัวที่มีแค่หัวกับไส้ ลอยไปลอยมาในเวลากลางคืนเพื่อหาของเน่ากิน ก่อนจะลอยกลับเข้าร่างเพื่อใช้ชีวิตเหมือนมนุษย์ปกติยามรุ่งสาง

แม้จะไร้บันทึกที่แน่ชัดว่าความเชื่อเรื่องผีกระสือเริ่มขึ้นตอนไหน แต่ลักษณะที่แปลกแหวกขนบอนาโตมี่ก็มากพอที่จะทำให้ผีตนนี้ถูกนำไปใช้สร้างมูลค่านับครั้งไม่ถ้วน ที่แน่ๆ คือในรูปแบบภาพยนตร์ที่ถูกสร้างทั้งหมด 8 ครั้ง โดยเวอร์ชั่นปี 2516 ที่นำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี และพิศมัย วิไลศักดิ์ คือเวอร์ชั่นที่ทำให้เด็กยุคนั้นแทบไม่กล้าออกจากบ้านตอนกลางคืน หรือในเวอร์ชั่น ‘แสงกระสือ’ ที่ถูกปรับเปลี่ยนให้มีกลิ่นอายความเป็นหนังไซไฟ หรือในรูปแบบนิยายสุดคาลสสิกก็มีให้เห็น

อย่างที่บอกว่ากระสือมีลักษณะที่โดดเด่นเป็นพิเศษ เหล่าคนหัวใสจึงมักใช้ผีตนนี้สร้างมูลค่าในแบบที่คาดไม่ถึง ยกตัวอย่างในรายของ ‘อนุชา โลภา หรือบอสชา’ ชายชาวขอนแก่น เจ้าของเพจไลฟ์ขายของแบรนด์เนมมือสอง ที่ตัดสินใจแปลงกายเป็นกระสือไลฟ์ขายของ ท่ามกลางบรรยากาศวังเวงยามค่ำคืน จนใครต่อใครที่เปิดเข้ามาในไลฟ์ต้องหยุดดูกันยาวๆ กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็เผลอเอฟสินค้า ซึ่งสร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการไลฟ์ขายของ ณ เวลานั้นเป็นอย่างมาก 

ภายหลังจากการไลฟ์ครั้งแรก ทำให้อนุชามีผู้ติดตามมากถึง 7 แสนราย และสามารถต่อยอดเป็นผู้รับจำหน่ายสินค้าแฟชั่นมือสองจากประเทศญี่ปุ่น ในชื่อ โกดังกระสือ มือ 2 ญี่ปุ่น เรียกว่าสร้างทั้งรายได้ สร้างทั้งชื่อไปพร้อมกัน

4. เปรต 
มูลค่าความหลอน : 3 กะโหลก

ความเชื่อในศาสนาพุทธที่ถูกสอนต่อๆ กันมา คือใครที่ทำร้ายบุพการีตายไปจะต้องกลายเป็น ‘เปรต’ อสูรกายในนรกอเวจี ที่มีรูปลักษณ์สูงเท่าต้นตาล มือใหญ่เท่าใบลาน และปากเท่ารูเข็ม ร้องหวีดยามค่ำคืนเพื่อขอส่วนบุญด้วยความหิวโหย

เห็นแบบนี้ใครก็ไม่อยากเป็นเปรต ยิ่งละครโทรทัศเรื่อง ‘เปรตวัดสุทัศน์’ ซึ่งเคยออกฉายผ่านสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 เมื่อปี 2546 ตอกย้ำความเชื่อว่า คนที่ตายกลายเป็นเปรตมีความทุกข์ทรมานมากมายแสนสาหัสยิ่งทำให้เด็กๆ เกิดความเกรงกลัวไปกันใหญ่ แต่ด้วยคาแร็กเตอร์โดดเด่นพอๆ กับความสูงที่มี ทำให้คาแร็กเตอร์เปรตถูกนำไปต่อยอดสร้างสิ่งใหม่ๆ อย่างเช่นที่เกมผีสัญชาติไทย Home Sweet Home ที่แม้จะออกมาวับๆ แวมๆ กว่าจะออกมาทั้งตัวก็ช่วงท้ายเกม ในฐานะบอสประจำด่าน แต่ก็มากพอที่จะทำให้เปรตในเกมดังกล่าวเป็นคาแร็กเตอร์น่าจดจำ 

นอกจากเกมแล้ว เปรตยังจะได้ปรากฏกายในภาพยนตร์เรื่อง Home Sweet Home Rebirth ซึ่งจะออกฉายในเดือนพฤศจิกายน 2567 โดยแฟนๆ ที่ได้ชมทีเซอร์ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ผีเปรตอะไร เท่ชะมัด! 

5. กุมารทอง
มูลค่าความหลอน : 3 กะโหลก

สุดท้ายกับน้องเล็กอย่างกุมารทอง ซึ่งถูกยกให้เป็นของขลังทำเงินชั้นดีของบรรดาเกจิอาจารย์ผู้มากวิชา โดยกุมารทองมักมีลักษณะเป็นหุ่นปั้นเด็กผู้ชายผมจุก ภายในบรรจุวิญญาณเด็กตายทั้งกลม มีคุณแก่ผู้บูชาในการให้โชคลาภ และป้องกันจากภัยอันตรายต่างๆ อย่างในนิยายไทยเรื่องขุนช้างขุนแผน ก็มีการพูดถึงกุมารทอง ซึ่งเกิดจากการนำลูกในท้องของนางบัวคลี่ หนึ่งในภรรยาของขุนแผน มาปลุกเสกตามพิธีโบราณ และกลายเป็นของขลังติดตัวขุนแผนไว้ในทำภารกิจต่างๆ

จากกุมารทองบูชาด้วยน้ำแดงได้วิวัฒนาการกลายเป็น ‘ตุ๊กตาลูกเทพ’ ที่ฟีเวอร์ฮิตทั่วบ้านทั่วเมืองในช่วงปี 2558  และเปลี่ยนวิธีการบูชาจากไหว้บนหิ้งมาเป็นพกติดตัวเลี้ยงประดุจลูกคนหนึ่ง โดยลูกเทพหนึ่งตัวสนนราคาตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพัน

กระทั่งช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กระแสกุมารทองได้ถูกปัดฝุ่นนำมาเล่าใหม่กลายเป็นตำนาน ‘ไอ้ไข่แห่งวัดเจดีย์’  ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลฉลอง อำเภอสิชล นครศรีธรรมราช ชุมชนโพธิ์เสด็จ ซึ่งตามตำนานเล่าว่า ไอ้ไข่คือผีเด็กที่หลวงปู่ทวดเลี้ยงไว้ และเมื่อเดินทางมาถึงชุมชนโพธิ์หลวงปู่ทวดพบว่า สถานที่แห่งนี้มีศาสนาสถานและสมบัติต่างๆ อยู่มาก จึงทิ้งไอ้ไข่ไว้ปกปักดูแลสถานที่ 

นานวันเข้าตำนานดังกล่าวถูกเล่าปากต่อปาก จนสุดท้ายกลายเป็นสถานที่สายมูดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วทุกสารทิศให้มาไหว้ขอพรกับไอ้ไข่ สร้างรายได้ให้กับจังหวัดนครศรีธรรมราชมากมายมหาศาลในฐานะแลนด์มาร์กสำคัญ ไม่นับรวมบรรดาเครื่องรางของขลังของไอ้ไข่ที่แขกเหรื่อต้องซื้อกลับไปบูชา

ถึงตรงนี้น่าจะพอเห็นการสร้างมูลค่าของผีไทย ซึ่งถูกปรับเปลี่ยนไปตามแต่ละยุคสมัย จากเรื่องเล่าเป็นบันทึก จากบันทึกเป็นหนังสือ จากหนังสือเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ จากภาพยนตร์และละครโทรทัศน์กลายเป็นสินค้าหรือบริการสุดหลอนอีกมายมาย สร้างเงินสร้างอาชีพอีกไม่รู้จบ เพราะตราบใดที่ผู้คนยังนิยมเรื่องราวลี้ลับ บรรดาผีเหล่านี้ก็จะยังวนเวียนให้เห็น เพียงแต่จะออกมาในรูปแบบไหน สุดแล้วไอเดียจะครีเอต และยังมีผีไทยอีกมากที่รอวันเปิดโลงออกมาทำเงินในอนาคต

อ้างอิง

Writer

นักเขียนผู้หลงใหลโลกของฟุตบอล สนีกเกอร์ และกันพลา

Illustrator

แล้วแต่จะคิด ชีวิตคนละแบบ

You Might Also Like