AIS x Thai League X WMS
AIS X ไทยลีก กับเบื้องหลังภารกิจสร้างคุณค่า จาก E-Waste สู่เหรียญรางวัลเกียรติยศ
ด้วยปริมาณของ ‘ขยะอิเล็กทรอนิกส์’ หรือ E-Waste ที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเทคโนโลยี โทรศัพท์มือถือ แบตเตอรี่สำรอง หูฟัง สายชาร์จ กลายเป็นขยะหลังจากที่หมดอายุการใช้งาน และขยะเหล่านี้กำลังเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล โจทย์ใหญ่ในวันนี้จึงไม่ใช่แค่การทำรีไซเคิลอย่างถูกวิธี แต่ต้องไปเริ่มที่การสร้างความตระหนัก ความเข้าใจถึงผลกระทบของ E-Waste จนนำไปสู่การจัดการกับเรื่องนี้ได้อย่างถูกวิธี มากไปกว่านั้นคือการทำให้ทุกคนเห็นคุณค่าจากการทิ้งขยะ E-Waste ก็จะทำให้เกิดความยั่งยืนได้ในที่สุด
โดยหนึ่งในภาคธุรกิจแรกๆ ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาด้าน E-Waste และได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องคือ AIS ทั้งการสื่อสาร สร้างความตระหนักรู้ ทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์เพื่อเพิ่มจุดรับทิ้งขยะตามสถานที่ต่างๆ และสร้างกระบวนการจัดการการรีไซเคิลอย่างถูกวิธีตามมาตรฐานสากล รวมถึงยังใช้แนวคิดใหม่ๆ เพื่อต่อยอดจากการทิ้งขยะธรรมดาๆ ให้มีคุณค่า
และโปรเจกต์ล่าสุดที่เป็นความร่วมมือระหว่าง AIS x Thai League X WMS คืออีกโปรเจกต์ที่สะท้อนความตั้งใจในการจัดการ E-Waste อย่างสร้างสรรค์
การคอลแล็บข้ามวงการระหว่าง ค่ายมือถือ, วงการกีฬาไทย และบริษัทกำจัดของเสีย เป็นการร่วมมือกันทำให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นของเสียให้มีคุณค่าใหม่อีกครั้ง ภายใต้โปรเจกต์ที่ชื่อว่า ‘แฟนบอลไทยไร้ E-Waste’
โดยกระบวนการของโปรเจกต์นี้อธิบายให้เห็นภาพคือจะเริ่มต้นโดยการที่ AIS จะเป็นผู้รวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือ E-Waste จากผู้คน ก่อนจะนำไปส่งต่อให้กับทาง WMS เพื่อนำไปผ่านกระบวนการต่างๆ จนขยะเหล่านี้กลายมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นที่สามารถนำมาใช้ผลิตเป็นเหรียญรางวัล และสุดท้ายจึงนำเหรียญรางวัลไปมอบให้กับทีมที่คว้าแชมป์การแข่งขันไทยลีกในฤดูกาลนี้
เป็นการเปลี่ยนสิ่งที่เหมือนจะไร้ค่าไปแล้วให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะ
อ่านถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วทำไมค่ายมือถือถึงเลือกจับมือกับวงการกีฬา?
เพื่อความเข้าใจมากขึ้น คงต้องเท้าความเล่าถึงที่มาที่ไปให้ฟังกันก่อนว่า โปรเจกต์นี้มีจุดเริ่มต้นมาจาก AIS โดย คุณเอื้อง–สายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ AIS เล่าให้ฟังว่า การดำเนินธุรกิจของ AIS ทำควบคู่ไประหว่างการเติบโตของธุรกิจ และนโยบายด้านความยั่งยืน โดย AIS วางมิติการทำงานด้านความยั่งยืนไว้ 3 มิติคือเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ซึ่งการทำงานของโปรเจกต์นี้เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรง และแน่นอนว่า AIS เองให้ความสำคัญกับเรื่องต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจที่กระทบกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ทั้งเรื่องของการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้พลังงานทางเลือกเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือแม้แต่การลดปริมาณขยะ โดยเฉพาะขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงต่อ AIS นอกจากนั้นยังมีการชวนคนทั่วไปมามีส่วนร่วมกับความตั้งใจในการลดปริมาณและการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ด้วย
โดยหนึ่งในวิธีการที่ AIS เลือกใช้ก็คือการเริ่มต้นสร้างความตระหนักให้ทุกคนเห็นถึงความสำคัญของการเก็บและรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี อาสาเป็นผู้รวบรวมขยะ E-Waste โดยการตั้งกล่องรับทิ้งขยะ E-Waste ไว้ตามจุดต่างๆ ตั้งแต่ในพื้นที่หน้าช็อปของ AIS ไปจนถึงการทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ในหลายภาคส่วนตั้งแต่ภาครัฐ เอกชน ภาคธุรกิจค้าปลีก อสังหา ธุรกิจสินค้า IT และอื่นๆ อีกมากมาย เพื่อที่จะรวบรวมและนำไปจัดทิ้งอย่างถูกวิธี โดยในแต่ละปี AIS สามารถรวบรวมขยะ E-Waste ได้ราว 3-4 แสนชิ้นเลยทีเดียว
คุณเอื้องเล่าเสริมให้ฟังว่า “AIS เป็นโอเปอเรเตอร์รายแรกที่ลุกขึ้นมาเชิญชวนผู้คนให้เอา E-Waste มาทิ้งกับเรา แล้วเราคิดทุก Journey ในการจะทำให้ผู้คนเอาขยะมาทิ้ง คิดทุกๆ สเตปที่มันจะเกิดขึ้นในโครงการนี้ เพราะเราไม่ได้อยากทำโปรเจกต์นี้แบบฉาบฉวย อยากจะทำให้มันเป็นสิ่งที่อยู่ได้อย่างยั่งยืน”
จนกระทั่งเมื่อปีที่ผ่านมา AIS ได้เข้าไปเป็นพาร์ตเนอร์กับไทยลีก ที่นับว่าเป็นการแข่งขันลีกฟุตบอลอาชีพสูงสุดของไทย ในฐานะผู้ดำเนินการถ่ายทอดสดการแข่งขันผ่านทาง AIS PLAY ซึ่งนอกเหนือจากโจทย์ในแง่ของการส่งมอบประสบการณ์การรับชมให้กับแฟนบอลไทยแล้ว คุณเอื้องยังบอกอีกว่า มีโจทย์ที่อยากจะเอนเกจกับกลุ่มแฟนบอลทั่วประเทศ ให้มีส่วนร่วมในการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมให้กับการแข่งขัน นั่นจึงเป็นที่มาของโปรเจกต์นี้กับทางไทยลีก
ทางด้าน กรวีร์ ปริศนานันทกุล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยลีก จำกัด เล่าถึงเบื้องหลังว่า ไทยลีกมีแนวคิดที่จะทำ ‘กรีนลีก’ อยู่แล้ว ซึ่งคำว่ากรีนลีกนี้หมายถึงการทำให้การแข่งขันในแต่ละแมตช์ลดการใช้ขยะลง ใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะจำนวนแฟนบอลไทยลีกทั่วประเทศนั้นมีจำนวนมากราว 10 ล้านคน ซึ่งหากทำให้คนกลุ่มนี้ตระหนักรู้ถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ก็น่าจะเป็นสิ่งที่สร้างอิมแพกต์ให้สังคมหันมาใส่ใจและให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ไม่น้อย
การจับมือระหว่าง AIS x ไทยลีก x WMS ในครั้งนี้ ทำให้เราเห็นภาพเส้นทางของการทำงานเพื่อสร้างคุณค่าให้กับขยะอิเล็กทรอนิกส์ เริ่มตั้งแต่การนำถังฝากทิ้ง E-Waste ไปวางไว้ตามสโมสรไทยลีกทั้ง 16 ทีมทั่วประเทศ โดยใช้ช่องทางการสื่อสารและกิจกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างสโมสร นักบอล และแฟนบอล เข้าไปสร้างความตระหนักให้เห็นถึงความสำคัญของการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี ซึ่งจะเข้าสู่กระบวนการที่ WMS ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการกำจัดของเสีย นำขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้ไปรีไซเคิลและผลิตเป็นเหรียญรางวัลต่อไป
เหตุผลที่ต้องเป็น WMS หรือบริษัท เวสท์ แมเนจเม้นท์ สยาม จำกัด เพราะนี่เป็นบริษัทที่อยู่ในญี่ปุ่นมานานถึง 140 ปี และเติบโตในไทยมา 22 ปี มี know-how ในการจัดการกับของเสียอย่างครบวงจร ฉะนั้นจึงมีความน่าเชื่อถือว่าขยะที่ AIS ส่งไปให้จะถูกนำไปจัดการอย่างถูกต้องถูกวิธีจริงๆ ทุกชิ้นส่วนของขยะอิเล็กทรอนิกส์จะถูกนำไปแปรเปลี่ยนสภาพโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นการกำจัดขยะแบบ zero landfill อย่างที่ AIS ตั้งใจไว้
ฟูมิฮิโร่ คาจิฮาร่า Executive Director ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เวสท์ แมเนจเม้นท์ สยาม จำกัด (WMS) เล่าให้ฟังว่า “หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ WMS ตัดสินใจร่วมมือกับ AIS ในครั้งนี้เป็นเพราะส่วนใหญ่แล้วขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ WMS จัดเก็บจะมาจากภาคอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ น้อยครั้งที่จะมาจากภาคชุมชน เพราะความยากในการเก็บรวบรวมและจัดส่งขยะจากชุมชนเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ใช้งบประมาณ จำนวนคน และเวลาอย่างมหาศาล เมื่อ AIS มีความตั้งใจในเรื่องนี้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการทำงานของเราที่ต้องการให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่กระบวนการกำจัดและรีไซเคิลอย่างถูกต้องตามมาตรฐาน เพื่อลดปัญหาสภาวะด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น
โดยกระบวนการหลังจากได้รับขยะ E-Wasted มาจาก AIS ขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านั้นจะถูกส่งต่อไปที่โรงงานของ WMS ที่ชลบุรี เพื่อนำไปจัดการในรูปแบบ zero landfill ซึ่งเป็นวิธีการจัดการขยะแบบสากล โดยจะเริ่มจากการแกะชิ้นส่วนต่างๆ ออกมาก่อนแล้วนำวัสดุชนิดเดียวกันมาหลอมรวมกัน จนเกิดเป็นวัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง อย่างเช่น อลูมิเนียม ทอง เงิน ทองแดง เป็นต้น ซึ่งในกรณีนี้ก็จะนำไปหลอมเป็นเหรียญรางวัลต่อไป
สำหรับชิ้นส่วนไหนของขยะ E-Wasted ที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ก็จะถูกนำไปเผาอย่างถูกวิธีเพื่อให้ได้ขี้เถ้าที่สามารถนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของปูนซีเมนต์ต่อ ถือเป็นการรีไซเคิลขยะโดยที่ไม่มีการฝังกลบอย่างที่ AIS ตั้งใจไว้ และไม่ใช่แค่ตัวเหรียญเท่านั้น แต่สายคล้องหรือกล่องใส่เหรียญรางวัลก็ทำมาจากวัสดุรีไซเคิลเช่นกัน
นอกจากขยะอิเล็กทรอนิกส์จะกลายเป็นรางวัลเกียรติยศสำหรับผู้ชนะ สโมสรที่สามารถรวบรวม E-Waste ได้มากที่สุด ก็จะมีรางวัล FOOTBALL CLUB E-WASTE CHALLENGE AWARD มอบให้เพื่อเชิดชู ซึ่งสโมสรแรกที่ได้รับรางวัลนี้ไปก็คือ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด
จากโปรเจกต์นี้ ทำให้เราเห็นถึงภาพใหญ่ของวงการฟุตบอลไทยที่กำลังจะยกระดับมาตรฐานการแข่งขันให้เทียบเท่าระดับสากล ที่ลีกใหญ่ๆ ของโลกกำลังให้ความสำคัญกับเรื่องของการแข่งขันที่ใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม เพราะอย่าลืมว่า การแข่งขันแต่ละนัดต้องใช้ทรัพยากรและเกิด waste มากมาย
และโครงการคนไทยไร้ E-Waste ที่เกิดจากความตั้งใจของทั้ง AIS ไทยลีก และ WMS ก็เป็นเสมือนกับจุดเริ่มต้นของเป้าหมาย Green Thai League ที่เราอาจจะได้เห็นการจัดการแข่งขันฟุตบอลไทยแบบใส่ใจปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในมิติอื่นๆ นอกเหนือจากกิจกรรมการทิ้ง E-Waste ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้