The Golden Century

เปิดตำนานห้างทอง ‘ตั้งโต๊ะกัง’ ที่ยืนหยัดผ่านยุคราคาทองผันผวนมากว่า 160 ปี

สมญานามของ ‘ตั้งโต๊ะกัง’ คือ หนึ่งใน 4 เสือแห่งร้านทองผู้เกรียงไกรและทรงอิทธิพล

กิจการก่อตั้งขึ้นในยุคสมัยที่ยังไม่มีการกำหนดราคาทองที่แน่นอนและไม่มีอินเทอร์เน็ตให้สามารถหาข้อมูลได้ เหล่าเถ้าแก่จากห้างทองแห่งใหญ่ที่น่าเชื่อถือจึงมานั่งจิบน้ำชา ตั้งราคาทองที่เหมาะสมร่วมกัน และประกาศราคาทองเพื่อให้ห้างทองแห่งอื่นตั้งตาม 

ตั้งโต๊ะกังทรงอิทธิพลถึงเพียงนี้

คืนวันเหล่านั้นเป็นยุคสมัยที่ผู้คนยังไม่เชื่อในเงินตรา นิยมซื้อขายทองรูปพรรณมากกว่าทองแท่ง และใส่ทองเส้นใหญ่ลวดลายวิจิตรเพื่อโชว์ความร่ำรวย ห้างทองเต็มไปด้วยเสียงก๊องแก๊งจากช่างทองคำหลักร้อยคนที่บรรจงทำสินค้าจากทองอย่างพิถีพิถันดั่งงานศิลปะ ในแต่ละวันมีผู้คนมายืนดูราคาทองซึ่งมีการปรับเปลี่ยนราคาที่ป้ายโลหะหน้าร้าน 

ไชยกิจ ตันติกาญจน์ ทายาทรุ่นที่ 4 และเจ้าของกิจการ บอกว่าราคาทองในปีเกิดของเขาอยู่ที่หลักร้อยบาท และปีที่เขาเข้ามาช่วยสานต่อกิจการราคาทองอยู่ที่ราวสี่พันกว่าบาท ส่วนปกรณ์  ตันติกาญจน์ ทายาทรุ่นที่ 5 ผู้เป็นลูกชายก็จำได้ว่าราคาทองตอนเข้ามาช่วยคุณพ่อทำงานอยู่ที่หนึ่งหมื่นจนปีนี้พุ่งขึ้นไปถึงสี่หมื่นบาท

กาลเวลาผันผ่าน มูลค่าและคุณค่าของทองคำเปลี่ยนไป วันนี้ผู้คนถือแบรนด์เนมยี่ห้อดังเป็นเครื่องประดับบ่งบอกความร่ำรวยแทนทองคำและเปลี่ยนมาซื้อทองในโอกาสใหม่เป็นรางวัล ของขวัญ สิ่งตอบแทน ไปจนถึงซื้อเพื่อลงทุน แต่ตั้งโต๊ะกังก็ยังเปิดกิจการอยู่ที่เดิม

ณ อาคารสถาปัตยกรรมโคโลเนียลเจ็ดชั้นที่ถนนวานิช เยาวราช ที่สืบทอดกิจการมา 5 รุ่น คอลัมน์หนึ่งร้อยปีแห่งความเด็ดเดี่ยวในวันนี้ขอชวนมาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านเรื่องราวการทำกิจการห้างทองหลักศตวรรษที่ยืนหยัดผ่านการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยและวิกฤตมาแล้วนับไม่ถ้วน   

ยุคเรืองรองของทองรูปพรรณ 

ไชยกิจ ทายาทรุ่นที่ 4 ของตั้งโต๊ะกังเล่าว่าสมัยก่อนอาชีพช่างทองเป็นหนึ่งในงานที่ง่ายที่สุดของคนที่มีฝีมือทางศิลปะ 

“แต่ก่อนผู้คนไม่มีงานทำเหมือนสมัยนี้ คนจีนที่อพยพมาไทยก็จะมาหางานทำกัน ส่วนหนึ่งทำงานแบกหาม คนอีกส่วนก็จะเน้นทำงานด้านศิลปะ ร้านเราก็คัดเลือกช่างมาทำทองเยอะมาก” 

ในยุคก่อตั้งกิจการของนายโต๊ะกัง แซ่ตั้งนั้นยังไม่มีการสต็อกสินค้าพร้อมขาย ลูกค้าจะนำสินทรัพย์ที่มีมาแลกเปลี่ยนเป็นทองและสั่งออร์เดอร์กับช่างทองโดยตรง ช่างเหล่านี้จะนั่งประจำที่โต๊ะทำงานเพื่อรับทำต่างหู สร้อยคอ สร้อยข้อมือ ฯลฯ ตามออร์เดอร์ของลูกค้า 

ทุกวันนี้อุปกรณ์การทำทองยุคโบราณ เช่น เบ้าหลอมทอง แม่พิมพ์ปั๊มทองคำ เตาต้มทอง ฯลฯ เป็นของสะสมของครอบครัวที่ไชยกิจตั้งใจอนุรักษ์ไว้และนำมาจัดแสดงเพื่อเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์การทำทองในยุคก่อน ณ พิพิธภัณฑ์ที่ชั้นบนสุดของห้างทอง 

“จะสังเกตได้ว่าเครื่องไม้เครื่องมือในการทำทองที่โต๊ะทำงานของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ในยุคก่อนไม่มีร้านขายเครื่องมือ ช่างจะประดิดประดอยอุปกรณ์ของเขาขึ้นมาเอง เอาไม้มาประกอบกับเหล็กและโลหะ ทำเองตามที่ตัวเองถนัด”  

ทองในยุคนั้นเปรียบเหมือนงานศิลปะที่มีชิ้นเดียวในโลก สร้อยทองเส้นหนึ่งจะใช้เวลาทำอย่างน้อย 2-3 วัน แต่ละเส้นที่ทำมาเป็นงานแฮนด์เมดที่มีลวดลายไม่เหมือนกันเลย หากช่างทำไม่ได้มาตรฐาน ทั้งลูกค้าและเจ้าของร้านทองจะสังเกตเห็นทันที 

“งานทองสมัยก่อนถ้าไม่ประณีตจะขายไม่ได้เลย ต้องแต่งให้มนและเนี้ยบเพื่อใส่แล้วไม่บาดคอ แต่ปัจจุบันนี้พอใช้เครื่องจักรอย่างเดียวก็มีรายละเอียดน้อยลงไปเยอะ”

ในช่วงที่กิจการสืบทอดถึงทายาทรุ่นที่ 2 หรือคุณปู่ของไชยกิจ เหล่าร้านทองก็เริ่มขยับขยายกิจการด้วยการทำโชว์รูมหรือเปิดหน้าร้านและทำสต็อกสินค้าเพื่อแข่งขันกัน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่เริ่มใช้อาคารสถาปัตยกรรมโคโลเนียลในการดำเนินกิจการ 

ขายทองช่วยชาติ 

“รุ่นพ่อแม่ปู่ย่าของผมมีอุปสรรคตลอดเวลา”

ไชยกิจย้อนความหลังว่าฉากหลังความรุ่งเรืองของห้างทองคือการยืนระยะผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมาอย่างโชกโชน ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุคของทายาทรุ่น 3 และวิกฤตต้มยำกุ้งในยุคของทายาทรุ่น 4 

“คุณพ่อเล่าว่าตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 ทุกคนไม่มีเงินและไม่มีกะจิตกะใจมาซื้อข้าวซื้อของ อยากเก็บออมอย่างเดียว แต่ว่าทองก็คือทอง คนยังคิดว่าทองมีคุณค่าและในอนาคตอาจเปลี่ยนแปลงเป็นเงินได้” 

สมัยนั้นผู้คนเชื่อว่าเงินไม่มีความน่าเชื่อถือจึงนิยมใช้ระบบแลกเปลี่ยนสิ่งของ (barter) และหนึ่งในสิ่งที่แลกมาแล้วมีมูลค่ามากที่สุดก็คือทองคำที่เก็บสะสมไว้ให้ลูกหลาน จนถึงเมื่อยามเศรษฐกิจฝืดเคือง ผู้คนตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากจึงมักจะนำทองคำกลับมาขายคืนให้ร้านทอง 

ภาระอันหนักอึ้งตกมาอยู่กับร้านทองซึ่งไม่มีเงินสดเพียงพอต่อการรับซื้อทองคืนจำนวนมากในรวดเดียว สิ่งที่ตั้งโต๊ะกังทำในตอนนั้นคือนำทองไปแลกเงินสดจากโรงรับจำนำเพื่อนำเงินที่ได้กลับมาซื้อทองจากลูกค้าอีกทอด นอกจากจะเป็นทางเลือกที่ไม่ทอดทิ้งลูกค้าแล้วยังได้รักษาความน่าเชื่อถือของร้านทองไว้

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กิจการยังเผชิญกับพิษเศรษฐกิจอีกครั้งตอนวิกฤตต้มยำกุ้งใน พ.ศ. 2540 ไชยกิจบอกว่าครั้งนั้นเป็นวิกฤตที่ร้านทองเป็นพระเอกและได้ช่วยคนไทยทั้งประเทศ

ตอนนั้นเป็นยุคของรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณที่มีนโยบายปล่อยเงินบาทลอยตัว ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวอย่างก้าวกระโดด จาก 20 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐกลายเป็น 50 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ และทำให้ทองคำซึ่งเป็นสินค้านำเข้ามีราคาพุ่งสูงขึ้นเป็นสองเท่าตามมา  

สิ่งที่เกิดขึ้นจนทายาทตั้งโต๊ะกังจำได้ไม่ลืมคือผู้คนแห่เอาทองมาเทขายเช่นเดิมคล้ายกับตอนสงครามโลก “นึกภาพว่าร้านทองแต่ละร้านขายทองออกไปแล้วหลายหมื่นตัน แล้วภายในพรวดเดียว ลูกค้าก็เอาทองมาคืนหมดทั้งตัน คุณคิดว่าร้านทองจะสู้ไหวไหม แน่นอนว่าสู้ไม่ไหวก็ต้องขายทองไปต่างประเทศ”

คำว่า ‘สู้ไม่ไหว’ แปลว่าร้านทองไม่มีเงินสดเพียงพอสำหรับซื้อทองคืนจากลูกค้าทั้งหมด คราวนี้ตั้งโต๊ะกังแก้เกมด้วยการเขียนเช็คจ่ายเงินให้ลูกค้าล่วงหน้าและขายทองไปต่างประเทศเพื่อดึงเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐกลับเข้ามาพยุงเศรษฐกิจไทย ร้านทองจึงเป็นหนึ่งในพระเอกที่มีส่วนช่วยกอบกู้เศรษฐกิจในครั้งนั้น 

วิกฤตเหล่านี้ทำให้เห็นว่าตั้งโต๊ะกังไม่ใช่แค่ขายทองเพื่อให้กิจการของตนอยู่รอดเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงสิ่งที่มากกว่ากำไร ทั้งคำนึงถึงลูกค้ายามลำบากและสังคมส่วนรวม 

บริหารสต๊อกที่มูลค่าเปลี่ยนหลักนาที

วิกฤตต่างๆ ของโลกช่วงที่ผ่านมาในยุคปัจจุบัน ทั้งโรคระบาดโควิด-19, สงครามยูเครน-รัสเซีย, สงครามที่อิสราเอล ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการซื้อและขายทองคืนเยอะ ทำให้ราคาทองมีความผันผวนสูงเป็นพิเศษดังเช่นในอดีต

ปกรณ์ ทายาทรุ่น 5 บอกว่าทักษะสำคัญของเจ้าของร้านทองคือการประเมินความเสี่ยงว่าควรซื้อและขายทองตอนไหนในแต่ละสถานการณ์โดยใช้ความรู้ทางการเงินการลงทุนและการเสพข่าวสารเศรษฐกิจมาประเมิน 

“โชคดีที่ผมเรียนจบการเงินมา ในการขายทองถ้าเรารู้เรื่องตลาดและการเงินมันก็ดี พอเราเรียนการเงินมาเราจะรู้เลยว่าความเสี่ยงของสินทรัพย์แต่ละอย่างไม่เท่ากัน ธรรมชาติของทองไม่เหมือนสินค้าทั่วไป ไม่เหมือนหุ้นและตราสารหนี้ 

“ผมเคยทำงานบริษัทเกี่ยวกับการตลาดด้านการลงทุน ทำให้เรามองภาพรวมออกว่าตอนนี้ควรบริหารสต๊อกเท่าไหร่และควรขายออกไปเท่าไหร่ เราควรจะต้องซื้อเพิ่มหรือยัง ดังนั้นการส่องมือถือเยอะๆ ก็กลายเป็นข้อดีอย่างหนึ่ง คิดว่าค่อนข้างจำเป็นที่ต้องติดตามข่าวสารตลอด เพราะจะสามารถคาดการณ์ได้ว่าต่อไปราคาทองจะขึ้นหรือลง” 

จากประสบการณ์ของปกรณ์ เขามองว่าทุกสถานการณ์ไม่ได้เป็นตามที่คาดหรือเป็นไปตามทฤษฎีเสมอไป

“มันตอบไม่ได้ 100% ว่า ณ ตอนนี้เราควรจะซื้อไปเลยหรือรอดีกว่า ตามทฤษฎีที่เราเรียนมาจะบอกว่าถ้าลดดอกเบี้ย เงินจะแข็งค่าขึ้นและทองจะอ่อนค่าลง แต่ในความเป็นจริงบางทีก็ไม่ได้เป็นแบบนั้นตามทฤษฎี มันก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์”

ความท้าทายของร้านทองจากมุมมองของปกรณ์จึงเป็นการทำระบบสต๊อกซึ่งควบคุมยากเป็นพิเศษจากราคาผันผวนของตลาด

“สต๊อกของสินค้าประเภทอื่นไม่ได้มีราคาที่วิ่งเร็วเท่านี้ แต่ธรรมชาติของราคาทองคือวิ่งตลอดเป็นรายนาที เวลาคนมาซื้อทอง บางครั้งเราก็ต้องการล้างสต๊อกไปเลย แต่บางครั้งพอเราคิดว่าเดี๋ยวราคาทองมันน่าจะต้องลง เราก็อยากรอก่อน แต่ปรากฏว่าราคาจริงอาจจะลงหรือขึ้นไปเยอะกว่าที่คิด ก็กลายเป็นว่าเราซื้อกลับมาแพงขึ้นหรือถูกลงกว่าที่คาดไว้” 

การวิเคราะห์ราคาทองจึงต้องอาศัยมุมมองทางเศรษฐกิจที่เฉียบคมและประสบการณ์เก๋าเกมซึ่งปกรณ์บอกว่าเป็นสิ่งที่เขาและคุณพ่อแลกเปลี่ยนมุมมองกันอยู่เสมอ 

“ความท้าทายอยู่ที่คนนี้ครับ” ปกรณ์ตอบคำถามพร้อมชี้ไปทางคุณพ่อของเขา “มันเป็นเรื่องปกติของ generation gap ที่จะมีข้อคิดเห็นไม่เหมือนกัน สมมติมีคนมาซื้อทองจำนวนเท่านี้ก็ต้องมีการคุยกันว่า พวกเราเห็นว่าควรจะซื้อคืนกลับมาได้แล้วหรือยัง 

ผมก็มองจากทฤษฎีที่เคยทำมาว่ามันควรจะต้องเป็นแบบนี้ คุณพ่อก็มองจากภาคปฏิบัติว่าเขาเคยปฏิบัติมาแบบนี้ ซึ่งมันไม่สามารถบอกได้ว่าแบบไหนถูก 100% มันต้องนำความคิดเห็นมาผสมผสานกัน หาจุดตรงกลาง” 

นอกเหนือจากปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อราคา สินค้าจากทองคำยังแบ่งยิบย่อยออกเป็นหลายรุ่นสินค้า (SKU) ทำให้การเซ็ตระบบสต็อกให้อยู่ตัวนั้นมีความท้าทายมาก 

ตัวอย่างเช่น สร้อยหนึ่งบาทแบ่งออกเป็นหนึ่งร้อยลาย ในบรรดาร้อยลายนั้นมีหลายขนาดและความยาว มีทั้งแบบโปร่ง แบบตัน และยังแบ่งยิบย่อยออกเป็นโปร่งมาก โปร่งน้อย ตันมาก ตันน้อย อีกทั้งถ้ายิ่งเก็บทองไว้นานก็จะยิ่งสึก หากทองคำ 1 บาท สึกหรอไป 1 กรัมก็จะทำให้มูลค่าหายไปถึง 2 พันกว่าบาท

หากอยากจัดการสต็อกให้แม่นยำจึงต้องมีระบบการควบคุมที่ละเอียดมากซึ่งยังเป็นโจทย์ที่ตั้งโต๊ะกังต้องหาทางแก้ต่อไป 

ระบบที่เที่ยงตรงและเที่ยงธรรม

แม้การจัดการสต๊อกจะยังเป็นเรื่องยาก แต่ปกรณ์ก็บอกว่าโชคดีที่คุณพ่อวางระบบหลังบ้านของธุรกิจให้แข็งแรงอยู่แล้ว ทำให้เมื่อเข้ามาสานต่อก็ตัดปัญหาไปได้แล้วหลายเรื่อง ทั้งระบบบัญชี ภาษี การบริหารคน

เรื่องเหล่านี้อาจดูเป็นเรื่องพื้นฐานทั่วไปสำหรับนักธุรกิจในยุคนี้ แต่ไชยกิจผู้เรียนจบด้านบัญชีมาบอกว่ากิจการสมัยก่อนไม่มีการจัดการใดๆ ทั้งสิ้น และเขาเป็นผู้บุกเบิกการนำระบบหลายอย่างมาใช้กับธุรกิจครอบครัว

“ตอนเรียนจบใหม่ๆ ก็ไม่อยากมาทำที่ร้าน ไฟแรง อยากไปทำข้างนอกก่อน ก็ไปเรียนรู้งานของบริษัทใหญ่ว่าเขาจัดระบบกันยังไง สมัยก่อนที่ร้านก็ค้าขายกับพี่น้องแบบไม่นับเงิน ใช้วิธีโยนเงินใส่กล่อง มันก็ทนดูไม่ไหว

“ตอนนั้นคนละเจนฯ ก็คนละความคิด รุ่นก่อนคือคุณพ่อของผมในตอนนั้นหนักกว่าตอนนี้อีก เขาคิดว่าทำกิจการมาเป็น 30-40 ปีแล้ว จะไม่เชื่อใจคนของเขาได้ยังไง แต่ผมคิดว่าเราต้องมีระบบตรวจสอบทางการเงินก็เลยเริ่มทำระบบบัญชีขึ้นมา” 

ในฐานะเจ้าของกิจการตั้งโต๊ะกัง ไชยกิจยังผลักดันให้สมาคมร้านค้าทองคำเจรจากับสรรพากรในการสร้างระบบภาษี VAT สำหรับทองคำอย่างเป็นธรรม เนื่องจากทองคำเป็นสินค้าที่นำมาขายใหม่ได้ หากเก็บ VAT 7% ของราคาทองในทุกครั้งที่ซื้อจะทำให้ทองมีราคาแพงเกินไปและร้านทองก็ขาดทุน จึงปรับให้คิด 7% จากค่าแรงกับส่วนต่างของทองแทนการคิดจากราคาทองโดยตรง 

นอกจากระบบทางการเงินที่เที่ยงตรงและเที่ยงธรรม ไชยกิจยังวางระบบการควบคุมพนักงานที่ให้ความสำคัญกับความซื่อสัตย์ 

“ตัวผมเองเวลาสรรหาคนมาก็ไม่ใช่ว่าจะต้องเรียนจบดีๆ หรือต้องเก่งอะไรมากมาย ผมก็ดูคนจากการทดลองให้เขาทำงานบางอย่างที่ไม่เกี่ยวกับทองไปก่อน ดูว่าเขาเข้ากับคนอย่างเราและคนของเราได้ไหม เรื่องนี้สำคัญ การที่จะทำงานด้วยกัน มันต้องเป็นทีมเวิร์ก ถ้าขัดแย้งกัน ผมก็จะส่งอีกคนหนึ่งให้ไปอยู่อีกที่หนึ่งไปเลย ดึงไปทำบัญชีหรืองานข้างนอกเพื่อให้ห่างกัน  

 “คุณสมบัติของพนักงานร้านทองคือต้องรักแบรนด์ของเราให้มาก ตรงนี้สำคัญที่สุด ถ้าเขาไม่รักก็จบแล้ว เวลาผมคุยกับคนที่ร้าน ผมเป็นกันเอง ไม่ได้มานั่งเป็นเถ้าแก่ อยากจะคุยเรื่องอะไรหรือมีข้อเสนออะไรก็คุยได้หมด ผมรับฟังความคิดเห็นของเขาแล้วเราก็มาวิเคราะห์ คุยกันด้วยเหตุผล 

“โชคดีที่ได้คนที่ซื่อสัตย์มาทำงานด้วย” เขาสรุปปิดท้าย

อย่าเสี่ยงโชค

จากช่างทำทองแฮนด์เมดหลักร้อยคนในอดีต ปัจจุบันตั้งโต๊ะกังเหลือช่างทองที่อนุรักษ์การทำทองเพียงแค่คนเดียวด้วยปัจจัยด้านต้นทุนและพฤติกรรมลูกค้าที่ซื้อทองรูปพรรณน้อยลง 

เป็นโจทย์ของปกรณ์ที่ต้องพาร้านทองเข้าสู่ยุคที่โลกมีพฤติกรรมและค่านิยมใหม่  “ผมมองว่าร้านทองไปต่อได้เรื่อยๆ เพราะตัวสินค้าไม่เน่าเปื่อย ไม่มีอายุการใช้งาน เราพยายามรักษากิจการไว้ต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งระหว่างที่เรารักษาสิ่งเดิมอยู่ก็ต้องดูเทรนด์ตลาดว่าอนาคตจะไปในทิศทางไหน สมัยนี้ลูกค้าจะชอบซื้อเป็นทองแท่งและเน้นดีไซน์ที่เรียบง่ายขึ้น

“สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือพยายามหาดีไซน์แปลกใหม่หรือดีไซน์โมเดิร์น แต่ทีนี้ในการทำทองก็จะติดอุปสรรคบางอย่าง คือความจริงแล้วทองเส้นที่มีดีไซน์เรียบง่ายมันทำยาก แต่ลายมังกรที่ดูหรูหรากลับทำง่ายกว่า ค่าแรงถูกกว่า”  

ท่ามกลางความท้าทายมากมาย ทั้งปัญหาสุดซับซ้อนของระบบสต๊อกและอุปสรรคในการดีไซน์ทองให้ปรับเปลี่ยนไปตามความนิยมของยุคสมัย ไชยกิจสรุปหลักการสำคัญในการทำกิจการร้านทองของตั้งโต๊ะกังไว้อย่างเรียบง่าย

“ที่จริงการทำร้านทองนี้ไม่มีอะไรมากหรอก คือผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพและทำให้ลูกค้าเชื่อถือ อันนี้เป็นหลักสำคัญ ส่วนการจะทำให้ร้านอยู่ได้ต่อไปถึงร้อยปี ชั่วลูกชั่วหลาน อย่างแรกก็คือ ต้องคุมสต๊อก คุมบัญชีให้นิ่ง อย่าให้มันหวือหวา อย่าไปเสี่ยงโชค

“บางร้านที่อยู่ไม่ได้เพราะไปเล่นเรื่องโชค ไปเก็งว่าราคาจะลงหรือขึ้น พอเก็งผิดพลาดไปในจำนวนเยอะ มันก็ไปเร็ว ฉะนั้นเราคุมสต๊อกให้อยู่ใกล้เคียงกับตอนที่เราเริ่มต้นก็พอแล้ว อาจจะได้กำไรน้อยแต่ว่าเราจะอยู่ได้ไปเรื่อยๆ”

Writer

Craft Curator, Editor-in-Cheese, Chief Dream Weaver, Wicker Expressionist, Design Researcher, Entrepreneur Crybaby 'Instagram : @rata.montre'

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like