สีสันสังฆภัณฑ์
เนรมิตสีสันให้ขันอะลูมิเนียมลายไทย พลิกโฉมสังฆภัณฑ์สู่ไอเทมไลฟ์สไตล์ในแบบ Suchai Craft
ขันเงินลายไทย สังฆภัณฑ์และเครื่องครัวลายวิจิตร
ฟังดูไม่ใช่สินค้าที่คนรุ่นใหม่สนใจหยิบจับมาทำธุรกิจกันมากนัก แต่จะเป็นอย่างไรถ้าสองสาวคนรุ่นใหม่สายอาร์ตลบภาพจำสินค้าลายไทยแบบเดิมและใส่ความกิ๊บเก๋ ให้อะลูมิเนียมกลายเป็นไอเทมไลฟ์สไตล์และงานศิลป์
เฟิร์น–ธนัชชา ตั้งสุขสว่างพร และ หมิว–สาริศา ตั้งสุขสว่างพร Co-founder ของ Suchai Craft
แตกแบรนด์ใหม่จากการมองเห็นมูลค่าในธุรกิจอะลูมิเนียมของครอบครัวและเห็นโอกาสการนำข้าวของเครื่องใช้ที่คนไทยคุ้นเคยตั้งแต่โบราณมาตีความเป็นไทยในรูปแบบใหม่
“ช่วงที่เทรนด์งานอุตสาหกรรมคราฟต์เริ่มค่อยๆ เข้าสู่ขาลง รุ่นก่อนก็เคยคิดว่าจะเลิกทำดีไหมแต่พวกเราที่เป็นรุ่นหลานยังเห็นคุณค่าของมันอยู่ เห็นเทรนด์โลกที่กำลังมา คือความสนใจในสินค้าขนาดเล็กที่มีความเป็นไทย ก็เลยรู้สึกว่าสินค้าพวกนี้มันยังมีโอกาสต่อยอดและพัฒนาไปต่อได้”
สองสาวบอกกับเราพร้อมเปิดประตูโรงงานชวนพาเข้าไปดู
Clank…Clank…Clank
เพียงก้าวเท้าเข้ามายังโรงงาน เสียงโลหะ เสียงเครื่องจักรดังกุกกัก คละไปกับกองอะลูมิเนียมสูงใหญ่ตรงหน้าก็ทำให้เราสัมผัสได้ว่าสายการผลิตสินค้าเหล่านี้ต้องยิ่งใหญ่แค่ไหน เริ่มจากส่งแผ่นอะลูมิเนียมรูปกลมอ่อนนุ่ม เดินทางผ่านเครื่องจักรขนาดยักษ์เพื่อเข้ากระบวนการขึ้นรูป ตัดขอบ ปั๊มลาย และเคลือบให้แวววาวเงางาม
สิ่งที่พิเศษคือการปั๊มลายไทยบนอะลูมิเนียมเหล่านี้เป็นกระบวนการที่ใช้เครื่องจักรผสมฝีมือช่างแกะสลักซึ่งเป็นภูมิปัญญาไทยที่ต้องใช้ความประณีตและยากจะลอกเลียนแบบ
วันนี้ Modern Nice คอลัมน์ที่พาไปเสาะหาแบรนด์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ฉีกนิยามใหม่จากของเดิม จึงขอพามาเยือนสุชัยโลหะการที่ขายส่งและส่งออกเครื่องครัวอะลูมิเนียมลายไทยรายใหญ่ของไทย
Life Wisdom
Family Know-How
อากงของเฟิร์นและหมิวอพยพมาจากจีนตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มสร้างเนื้อสร้างตัวจากการเป็นลูกจ้าง ทดลองทำหลายอาชีพจนสุดท้ายตั้งหลักกับอาชีพช่างทำอะลูมิเนียม ด้วยความขยันขันแข็งทำให้สั่งสมความรู้และ know-how การผลิตจากศูนย์จนก่อตั้งโรงงานของตัวเองได้
โรงงาน ‘สุชัยโลหะการ’ เริ่มจากการผลิตสารพัดผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียมขนาดเล็กแบบจิปาถะ ทั้งกิ๊บติดผม กิ๊บรัดสายไฟ ของเล่นเด็กอย่างขนมหม้อแกงจำลองขนาดจิ๋ว กระป๋องสเปรย์ เรียกได้ว่าลองผิดลองถูกมามากก่อนจะเจอหมวดฮีโร่ที่ผลิตแล้วขายดิบขายดีคือภาชนะและเครื่องครัว
สินค้าเด่นค้างฟ้าตลอดกาลคือขันเงินลายไทยที่นิยมใช้ในครัวเรือนและสรงน้ำพระประกอบเทศกาลสงกรานต์ งานบุญและงานประเพณีต่างๆ ซึ่งผลิตได้หลายขนาดตั้งแต่เส้นผ่านศูนย์กลาง 5.5 ถึง 32 เซนติเมตร ไปจนถึงเครื่องครัวอะลูมิเนียมประเภทอื่นๆ ที่คนไทยคุ้นเคย อาทิ ปิ่นโต แก้ว เหยือก โถข้าว ถาด
เมื่อภาชนะอะลูมิเนียมเหล่านี้ผูกพันกับวิถีชีวิตและประเพณีไทยทำให้สุชัยโลหะการประสบความสำเร็จในการขายส่งให้ร้านสังฆภัณฑ์ ร้านเครื่องครัว โรงแรม รีสอร์ต ภัตตาคาร สวนอาหาร ทั่วประเทศไทยมากว่า 50 ปี
ในฐานะหลานอากง หมิวเห็นการสานต่อธุรกิจของรุ่นพ่อแม่ที่เน้นความคงเส้นคงวา ไม่โตหวือหวาแต่มุ่งมั่นให้ธุรกิจเดินหน้าไปต่อได้ เบื้องหลังรากฐานที่มั่นคงคือการทำสิ่งเรียบง่ายอย่างการพัฒนาเครื่องจักร สานต่อคอนเนกชั่นกับลูกค้าเดิมและช่างฝีมือเก่าแก่จนกลายเป็นต้นทุนสำคัญในธุรกิจจนถึงทุกวันนี้
“สิ่งที่เรียนรู้จากที่บ้านคือเวลาทำอะไรเขาจะไม่ทำเกินตัว เน้นขยัน ขยัน ขยัน แล้วลงมือทำ พอมีแล้วก็พัฒนาต่อ ค่อยๆ ขยับขยาย ไม่ลงทุนทำเยอะแล้วสุดท้ายเหมือนคนจมน้ำ จนทำให้ทุกวันนี้เวลาเจอวิกฤตอะไรธุรกิจก็ยังอยู่ได้”
ที่ผ่านมาธุรกิจเคยเผชิญวิกฤตครั้งใหญ่เมื่อครั้งสินค้าสเตนเลสราคาถูกจากจีนเริ่มเข้ามาตีตลาดในไทยทำให้ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียมประเภทไม่มีลายต้องยุติการผลิตไปหลายรายการเพราะไม่มีความแตกต่างจากสินค้าจีนและสู้ราคาไม่ได้
หมวดที่อยู่รอดได้คือสินค้าทุกชิ้นที่ประทับลายไทยซึ่งเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่จีนลอกเลียนแบบได้ยาก สุชัยโลหะการจึงไม่ใช่แค่โรงงานผลิตอะลูมิเนียมแต่เป็นผู้สืบสานงานศิลป์อันละเอียดอ่อนของช่างแกะสลัก
Collaborate to Create
เมื่อธุรกิจเดินทางมาถึงยุคทายาทรุ่นที่ 3 แทนที่จะมองอะลูมิเนียมเป็นสินค้าสำหรับขายเหมือนนักธุรกิจผู้บริหารโรงงานทั่วไป เฟิร์นและหมิวผู้เรียนสายศิลป์กลับมองข้าวของเครื่องใช้จากอะลูมิเนียมเป็น object งานศิลป์ที่นำไปใช้งานได้
เด็ก fine art (วิจิตรศิลป์) อย่างหมิวบอกว่าสิ่งสำคัญที่คณะให้มาคือการมีมุมมองที่แตกต่าง
“ตอนเรียน fine art จะมีกระบวนการคิดที่ช่วยในการทำภาพสุดท้ายในหัวให้ออกมาเป็นของจริง วิชาเมเจอร์ที่เราเรียนคือภาพพิมพ์ซึ่งไม่ใช่แค่การทำบนกระดาษแต่มันคือการเรียนเทคนิคการพิมพ์ของที่เหมือนกันออกมาซ้ำๆ ทำให้ได้ฝึกมองว่าสิ่งของเป็น object สามมิติไม่ใช่ของใช้ธรรมดา
“แล้วก็คิดต่อว่าจะนำ object นี้ไปทำอะไรได้บ้าง อย่างเช่น เรามองว่าขันคือสิ่งของที่เอาไปใส่อะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องใส่น้ำอย่างเดียว เอาไปใส่อาหาร ใส่กิ๊บ ใส่เทียนไขก็ได้”
ส่วนเฟิร์นเรียนจบจากคณะภูมิสถาปัตย์ (Landscape Architecture) ที่มีกระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล
“สถาปัตย์จะเป็นศาสตร์ art บวกกับ science คล้ายกับ fine art ตรงที่เรามองเป็นองค์รวมเหมือนกันว่าสิ่งของเป็น object สถาปัตย์สอนให้เราคิดครบทั้งกระบวนการ ไม่ได้คิดแค่ความสวยงามอย่างเดียวแต่คิดไปถึงฟังก์ชั่นการใช้งานด้วย ทำให้มองเห็นว่าสุดท้ายขันใบเล็กที่เราคิดว่าสวยงามนี้มันเอาไปดัดแปลงเป็นชาร์มห้อยกระเป๋าได้ด้วย”
จากภาพจำคุ้นชินว่าภาชนะอะลูมิเนียมต้องเป็นสีเทาเท่านั้น ทั้งคู่ก็ทดลองนำเทคนิคชุบสีอะลูมิเนียมที่เรียกว่าอโนไดซ์มาใช้ คนส่วนใหญ่นิยมใช้อโนไดซ์ในการแต่งสีท่อรถยนต์ กล่าวได้ว่าไม่ใช่นวัตกรรมใหม่แต่ยังไม่ค่อยมีใครนำเทคนิคนี้มาใช้สร้างสรรค์สีสันกับภาชนะอะลูมิเนียมมาก่อน
ภูมิปัญญาใหม่จึงเกิดขึ้นเมื่อเกิดการร่วมมือกันระหว่างโรงงานอะลูมิเนียมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการทำสีอโนไดซ์ทั้งการเลือกโทนสีแปลกใหม่ ทดลองไอเดียใหม่ร่วมกัน และต่อยอดให้เครื่องครัวยังคงมาตรฐาน food grade ทั้งวัสดุและสีเพื่อให้ใส่อาหารและเครื่องดื่มได้โดยไม่เป็นอันตราย
นอกจากแต่งแต้มสีให้อะลูมิเนียมแล้ว ทั้งคู่ยังสร้างสรรค์ลายไทยร่วมสมัยลายใหม่ร่วมกับช่างแกะสลักเหล็กของโรงงาน ต่อยอดลายไทยโบราณเป็นลายไทยประยุกต์อย่างลายหัวใจที่แกะสลักด้วยลายเส้นไทย ซึ่งทั้งหมดนี้ทำได้จริงด้วยการเชื่อมทักษะของช่างฝีมือและ know-how ของโรงงานเข้าด้วยกัน
Business Wisdom
Modern Functionality
จาก ‘สุชัยโลหะการ’ ที่ขายส่งในตลาด B2B มาตลอด ทั้งคู่แตกแบรนด์ใหม่ชื่อ ‘Suchai Craft’ เพื่อขายเฉพาะคอลเลกชั่นอะลูมิเนียมสีสดใสในหมวดสินค้าใหม่ที่เน้นความสวยงามในราคาพรีเมียม
“เราอยากลบภาพจำเดิมของขันลายไทยที่คนคุ้นเคยกันว่าจะต้องใช้ในงานบุญ งานสงกรานต์ ก็เลยคิดตรงข้ามไปเลยว่าเอาไปใช้ในงานสังสรรค์”
เฟิร์นบอกว่านี่คือเหตุผลที่ตั้งชื่อคอลเลกชั่นแรกว่า Time to Celebrate เพราะอยากพรีเซนต์สีฉูดฉาดของขันที่ได้แรงบันดาลใจจากสีของเครื่องดื่มม็อกเทลพร้อมโปสเตอร์ที่นำเสนอการใช้งานผลิตภัณฑ์อย่างสร้างสรรค์ด้วยการนำขวดเครื่องดื่มในงานปาร์ตี้เสิร์ฟมาในขัน
คอลเลกชั่นถัดมาชื่อ Joy Luck Love ซึ่งเปิดตัวช่วงเทศกาลตรุษจีนและวาเลนไทน์ ประกอบด้วยแก้ว ถาด ขันในสีหวานแหววทั้งสีชบา ชมพู ม่วง เขียว และจัดสินค้ารวมกันเป็นเซตแบบง่ายๆ ในชื่อ Set of Joy, Set of Luck, Set of Love เพื่อให้คนเห็นโอกาสการนำไปใช้มากขึ้น
ส่วนคอลเลกชั่นล่าสุดคือ Kalm Kram ที่มาในโทนสีอินดิโก้แสนสุขุม ทั้งสีดำ สีน้ำเงิน สีฟ้าเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่ชอบสีคลาสสิก
ไม่น่าเชื่อว่าแค่แต้มสีให้อะลูมิเนียม ขันลายไทยที่มีภาพลักษณ์โบราณในสายตาคนรุ่นใหม่ก็กลายเป็นของใช้ที่สปาร์กจอยขึ้นมาได้ทันที
ที่ผ่านมานอกจาก Suchai Craft จะนำผลิตภัณฑ์เดิมมาทำสีใหม่แล้ว สองสาวยังบอกว่าอนาคตอยากสนุกกับการกล้าเล่นและกล้าทดลองมากขึ้น สินค้ากระจุกกระจิกอย่างชาร์มห้อยกระเป๋ารูปขันเป็นเพียงคอลเลกชั่นที่เพิ่งเริ่มต้นในการตีความผลิตภัณฑ์หมวดใหม่เท่านั้น ทั้งคู่จึงมีแผนปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตและดัดแปลงชิ้นส่วนอะลูมิเนียมเพื่อออกแบบของตกแต่งบ้านซึ่งเตรียมเปิดตัวเร็วๆ นี้
“บางคนก็ซื้อขันของเราไปทำ installation art ซึ่งบางทีเราก็คาดไม่ถึงเหมือนกันว่าสามารถเอาขันของเราไปทำแบบนี้ได้ อีกหน่อยไม่แน่ว่า Suchai Craft อาจไม่ได้นำเสนอสินค้าเป็นขันแล้วก็ได้” หมิวแย้มถึงความสนุกในอนาคต
Business Pilot
เส้นทางของ Suchai Craft เริ่มต้นจากพัฒนาสินค้าก่อนแล้วค่อยตามหาลูกค้าที่ถูกใจ จากแต่เดิมที่ธุรกิจครอบครัวเน้นขายส่งปริมาณมากในตลาด B2B เป็นหลัก ตอนนี้แบรนด์น้องใหม่หันมาจับกลุ่มลูกค้าหลากหลายมากขึ้นทั้ง B2C และ B2B ตามสเปกตรัมของเฉดสีที่มีมากขึ้น
มีทั้งคนที่ตั้งใจซื้อภาชนะไปจัดเซตทำบุญ รดน้ำดำหัว ไปจนถึงคนที่มองหางานคราฟต์สำหรับซื้อเป็นของฝาก ของขวัญ ของแต่งบ้าน และเมื่อแบรนด์มีโมเดลธุรกิจใหม่ที่รับ customize ขันหลากสีก็ทำให้มีลูกค้ากลุ่มใหม่เป็นร้านอาหาร บาร์ และสปาด้วย
บริการรับผลิตพิเศษตามออร์เดอร์เป็นสิ่งที่เฟิร์นมองว่าทำไม่ยากเมื่อธุรกิจครอบครัวปูพื้นฐานอย่างแข็งแรงไว้แล้ว
“ธุรกิจเดิมของเราดูแลทั้งต้นน้ำและปลายน้ำตั้งแต่ซื้อวัสดุอะลูมิเนียมจนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ เพราะเราคุมการผลิตเองหมดทำให้สามารถควบคุมคุณภาพ ดัดแปลงปรับเปลี่ยน จนรับทำแบบ customize ได้”
หมิวอธิบายว่าลูกค้าสามารถเลือกผลิตตามความต้องการได้ตั้งแต่สี โลโก้ ลายไทยของแบรนด์ตัวเอง “แทนที่จะขายทีละ 1,000 โหล ตอนนี้โหลเดียวเราก็ขายแบบ customize ให้ได้แล้ว สามารถเลเซอร์โลโก้บนพื้นผิวอะลูมิเนียมได้หมดเลยแต่ส่วนที่แนะนำให้ใส่โลโก้คือตรงก้นและด้านข้าง”
เนื่องจากการผลิตสินค้าแต่ละชิ้นใช้วัสดุอะลูมิเนียม 99.97% ทำให้รีไซเคิลผลิตภัณฑ์ทั้งชิ้นด้วยการหลอมแล้วเอามากลับมาผลิตใหม่ได้ทั้งหมด งานดีไซน์ของพวกเธอจึงจัดอยู่ในหมวดผลิตภัณฑ์รักษ์โลกและเหมาะกับผู้ที่กำลังมองหางานคราฟต์ที่คำนึงถึงความยั่งยืนด้วย
ตลอด 2 ปีที่ขายสินค้าใหม่ในตลาดใหม่ Suchai Craft ยังถือเป็นแบรนด์น้องใหม่ที่เพิ่งเริ่มบุกเบิกการขายช่องทางออนไลน์และออกบูทตามงานแฟร์ต่างๆ ทั้งคู่สนุกกับการเรียนรู้เส้นทางการทำแบรนด์เล็กๆ ในแบบของตัวเองซึ่งเป็นเส้นทางใหม่ที่ต่างจากที่ครอบครัวเคยเดินทางมา
“สำหรับหมิว อย่าคิดอย่างเดียวให้ลงมือทำด้วย พอทำแล้วเราถึงจะเห็นทางไปต่อ ถ้าเกิดไม่กล้าทำก็ไม่มีใครมาบอกเราหรอกว่าต้องทำยังไง ก็ค่อยๆ ทำไปทีละนิด step-by-step ตอนแรกก็กล้าๆ กลัวๆ ว่าจะทำดีไหม กลัวทำแล้วขายไม่ได้ แต่พอลองทำแล้วก็ได้รับฟีดแบ็กที่ดีมากกลับมา”
“สิ่งที่ท้าทายที่สุดสำหรับเฟิร์นเป็นเรื่องการลองตลาดใหม่ ด้วยความที่สินค้าเราใหม่มาก ยังไม่มีใครเคยทำขันสีๆ ในตลาดเลย ลูกค้าก็ยังไม่มีใครเคยเห็น เราก็เลยทำการตลาดเชิงรุกอย่างการออกบูทเพื่อเป็นการทดลองว่ากลุ่มลูกค้าเราคือใคร ราคาที่เราตั้งควรจะเป็นแบบไหน
“ความประทับใจคือเวลาออกบูทจะเจอลูกค้าหรือนักออกแบบคนอื่นๆ มีคนบอกเราว่าถ้าอยากรักษาคุณค่าของสินค้าที่มีความเป็นไทย เราต้องช่วยจับมือกันเดินหน้าต่อไปในรูปแบบของการคอลแล็บหรือสร้างสรรค์งานใหม่ เราก็อยากส่งต่อความคิดนี้และเป็นกำลังใจให้นักออกแบบหรือคนรุ่นใหม่ให้มีแรงทำงานสร้างสรรค์ที่มีคุณค่าต่อไป”
Editor’s Note : Wisdom from Conversation
Know-How + Collaboration องค์ความรู้การผลิตดั้งเดิมจากธุรกิจครอบครัวผสานความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญเทคนิคเฉพาะทางอย่างการทำสีอโนไดซ์เป็นสิ่งที่สร้างความแตกต่างให้ธุรกิจ ทุกวันนี้อุตสาหกรรมคราฟต์ของไทยกำลังเสี่ยงโดนดิสรัปต์จากจีนที่ผลิตงานคราฟต์ได้ในปริมาณมากและราคาถูกกว่า โอกาสรอดคือการสานต่อภูมิปัญญาไทยให้กลายเป็นงานสร้างสรรค์ในเซกเมนต์สินค้าราคาสูง
Wisdom ของชีวิตและธุรกิจอันเรียบง่ายคือการตระหนักว่าเราไม่สามารถเสกธุรกิจจากองค์ความรู้ของผู้ผลิตฝั่งเดียวได้ ต้องอาศัยความร่วมมือข้ามสายเพื่อสร้างสิ่งใหม่ การสร้าง know-how ของสินค้าใหม่และโมเดลธุรกิจใหม่ยังเต็มไปด้วย unknown-unknown (สิ่งที่เราไม่รู้ว่าเราไม่รู้และนึกไม่ถึง) จึงต้องทดลองทำไพล็อต เพื่อทดสอบไอเดียธุรกิจและตลาดเพื่อแปลงไอเดียให้สามารถทำได้จริง
ช่องทางติดต่อ :
Facebook : SUCHAI CRAFT
Instagram : @suchaicraft.th