นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

Furniture by Subscription 

‘Spruce’ ธุรกิจใหม่เจ้าของเดียวกับ CHANINTR ที่ให้เช่าเฟอร์นิเจอร์เพื่อความยืดหยุ่นและยั่งยืน

จาก CHANINTR แบรนด์นำเข้าเฟอร์นิเจอร์และสินค้าแต่งบ้านเปี่ยมรสนิยมที่มีภาพจำเป็นเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์สวยงามและแบรนด์ไอคอนิกจากทั่วโลก วันนี้ ชนินทร์ สิริสันต์ ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ CHANINTR เปิดธุรกิจใหม่ให้เช่าเฟอร์นิเจอร์เป็นรายแรกของไทยในชื่อว่า Spruce

คำว่า Spruce ในภาษาอังกฤษแปลว่าต้นสนชนิดหนึ่งและมีอีกความหมายหนึ่งคือตกแต่งบ้านให้ดูดี 

ธุรกิจนี้เป็นโมเดลให้เช่าเฟอร์นิเจอร์ CHANINTR ในรูปแบบ subscription โดยสามารถเช่าในระยะสั้นและปรับเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ได้ตามต้องการซึ่งตอบโจทย์ทั้งผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ผู้ปล่อยเช่าคอนโด และผู้เช่า ทำให้เฟอร์นิเจอร์ที่หลายคนมองว่ามีความไฮเอนด์และราคาแพงเข้าถึงกลุ่มคนรักงานดีไซน์ได้มากขึ้น

ชนินทร์บอกว่า Spruce เป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์หลักสองมุม

หนึ่งคือความยืดหยุ่นและความสะดวกเพื่อแก้ pain point ของลูกค้าเวลาเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ ย้ายที่อยู่อาศัย ปล่อยเช่า ปรับสไตล์การตกแต่งบ้านหรือออฟฟิศ ฯลฯ

สองคือความยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหาที่เฟอร์นิเจอร์เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิด carbon footprint ที่สูง ไม่ว่าจะเป็นจากการผลิตหรือการขนส่งซึ่งทำให้เกิดขยะตามมามากมาย  

สองสิ่งนี้เป็นปัญหาใหญ่สองมุมที่ชนินทร์เล็งเห็นจากการทำธุรกิจเฟอร์นิเจอร์มานานและโมเดลเช่าเฟอร์นิเจอร์ก็เป็นบริการที่ตอบโจทย์ช่องว่างตลาดตรงนี้ได้พอดี  

Furniture Renting Business Model 

แม้การเช่าเฟอร์นิเจอร์จะดูเป็นเรื่องใหม่ในบ้านเรา แต่ชนินทร์บอกว่าที่อเมริกามีเทรนด์การเช่าเกิดขึ้นมา 30-40 ปีแล้ว เพราะประชากรจำนวนมากมีการโยกย้ายถิ่นฐานระหว่างเมืองบ่อยและเปลี่ยนงานเยอะ
ทำให้มีธุรกิจที่มาตอบโจทย์ความต้องการตรงนี้ โดยมียักษ์ใหญ่ของตลาดคือ Cort บริษัทเช่าเฟอร์นิเจอร์ของเจ้าพ่อการเงินอย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่เปิดบริการเช่าเฟอร์นิเจอร์สำหรับบ้าน อพาร์ตเมนต์ และออฟฟิศ

ชนินทร์มองว่าในโลกปัจจุบันประชากรหลายประเทศต่างมีความเป็น global citizen มากขึ้น และหลายเมืองกำลังขยายเติบโต (urbanization) อย่างมากทำให้การโยกย้ายที่อยู่อาศัยกลายเป็นเรื่องปกติของคนรุ่นใหม่ 

“เดี๋ยวนี้มี movement เกิดขึ้นทั่วโลก ในอาเซียนจะเห็นคนเอเชียบินไปทำงานต่างประเทศ ทำงานที่สิงคโปร์หรือสลับไปมาระหว่างประเทศต่างๆ เทรนด์การเช่าจึงถือว่าสูงมาก อย่างช่วงปี 2009-2013 เทรนด์ของการเช่าโตขึ้นเฉลี่ย 7-9% อย่างต่อเนื่องในวงการเฟอร์นิเจอร์ซึ่งในแถบอาเซียนมีเทรนด์การเช่าสูงที่สุด อีกเหตุผลหนึ่งเป็นเรื่องที่คนให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งถ้ามันเป็นสิ่งที่สะดวกและดีสำหรับสิ่งแวดล้อมก็จะตอบโจทย์เขา” 

“สมัยก่อนธุรกิจเช่าเฟอร์นิเจอร์อย่าง Cort เป็นแบบโอลด์สคูล ความหมายคือแต่ก่อนต้องเซ็นสัญญาและไม่ได้เน้นเฟอร์นิเจอร์ที่มีดีไซน์สวยงาม เน้นแค่เรื่องฟังก์ชั่น ตลาดอเมริกาเป็นผู้ริเริ่มธุรกิจการเช่าเฟอร์นิเจอร์ มันไม่ได้เป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่ แต่ว่าโมเดลของธุรกิจแบบนี้จะพลิกเปลี่ยนเป็นเน้นเฟอร์นิเจอร์ที่ดีไซน์สวยงามมากขึ้นและมีความสะดวกมากขึ้น การเช่าแบบ subscription เป็นการ shift บริการมาให้เช่าสะดวกขึ้น ธุรกิจเช่าเฟอร์นิเจอร์รายใหม่ๆ จะสามารถให้เลือกสไตล์เฟอร์นิเจอร์และเช่าออนไลน์ได้ เน้นเรื่องความสะดวกที่เช่าง่าย” 

Spruce เป็นโมเดลธุรกิจเช่าเฟอร์นิเจอร์แบบใหม่ที่เลือกสินค้ามีดีไซน์จากเฟอร์นิเจอร์ CHANINTR โดยลูกค้าสามารถเช่าและจ่ายเงินโดยตรงผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งนี้แม้จะเป็นสินค้าของ CHANINTR เหมือนกันแต่พอเปลี่ยนมาเป็น Spruce แล้วการคิดโมเดลธุรกิจก็แตกต่างออกไป 

“เวลาสลับมาเป็นการเช่าแทนที่จะเป็นการขาย มันต้องเปลี่ยนแนวคิดไปเลย เราต้องคิดว่าเฟอร์นิเจอร์เป็นทรัพย์สิน เหมือนลงทุนในตึกแล้วเรากำลังปล่อยเช่าทรัพย์สินนี้ เฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้นมันก็มีขนาดและต้นทุนที่แตกต่างกัน การที่เราจะได้รีเทิร์นที่เหมาะสม เราก็ต้องนึกตลอดเวลาว่าของแต่ละชิ้นมีต้นทุนของมัน มีค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม ดูแลรักษา ขนย้าย มุมมองตรงนี้จะแตกต่างกับการซื้อมาขายไปเลยทีเดียว” 

ทั้งนี้ชนินทร์บอกว่าไม่ว่าจะเป็นโมเดลธุรกิจแบบไหนก็จะมองจากมุมลูกค้าเป็นหลัก “มองว่าราคาจะต้องแฟร์กับลูกค้า เพราะสมัยนี้ลูกค้าจะซื้อออนไลน์จากที่ไหนก็ได้ในโลก สามารถ ship ของเข้ามาได้ตลอดเวลา แต่เรื่องที่ยากขึ้นมาคือเรื่องค่าใช้จ่ายในการขนส่ง เราก็จะพยายามเทียบดูกับราคาต่างประเทศว่าถ้าเกิดลูกค้าเอาเข้ามาเองจากต่างประเทศ เรื่อง cost จะเป็นยังไงและคิดราคาขายให้เหมาะสม”

ความยืดหยุ่นที่ win-win  

เมื่อมองเฟอร์นิเจอร์เป็นทรัพย์สินเหมือนการเช่ารถยนต์ เช่าบ้าน หรือการผ่อนจ่าย กลุ่มลูกค้าของ Spruce ทั้ง B2B และ B2C จึงเป็นกลุ่มผู้ชื่นชอบงานดีไซน์ที่ให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่น ไม่ได้ยึดติดกับการเป็นเจ้าของและพร้อมเปลี่ยนงานดีไซน์เวลาเจอของที่ชอบหรือเหมาะกับห้องชิ้นใหม่

การทำ CHANINTR ทำให้สังเกตเห็นความต้องการของลูกค้าในตลาดเฟอร์นิเจอร์ เช่น บางครั้งผู้ปล่อยเช่าคอนโดมิเนียมและผู้เช่าห้องจะมีรสนิยมและความชอบในสไตล์เฟอร์นิเจอร์ไม่ตรงกัน 

“สมัยก่อนจะมีลูกค้า landlord หรือผู้ซื้อคอนโดลงทุนที่มาซื้อเฟอร์นิเจอร์ CHANINTR กับเราค่อนข้างเยอะ แม้กลุ่มนี้จะซื้อแบรนด์เกรดกลางที่ไม่ได้แพงที่สุด แต่เขาก็เลือกสไตล์จากรสนิยมของเขาเอง แต่ทีนี้เวลามีผู้เช่าคอนโดอย่างชาวต่างชาติ พอเข้ามาอยู่แล้วเขาอาจไม่ได้ชอบสไตล์เฟอร์นิเจอร์ที่มีอยู่แล้วในห้องซะทีเดียว อยากเปลี่ยนการตกแต่งห้องเป็นสไตล์อื่นแต่เจ้าของคอนโดก็ลงทุนตกแต่งห้องไปแล้ว มันไม่มีความยืดหยุ่นสำหรับผู้เช่า ฝั่งผู้ให้เช่าก็ต้องมีการดูแลรักษาเฟอร์นิเจอร์ บางทีก็ต้องเอาไปซ่อมหรือเปลี่ยน นี่คือ pain point ที่เราสังเกตเห็น”  

นอกจากนี้บางครั้งผู้ปล่อยเช่าแค่อยากเลือกเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งห้องเพื่อทำการตลาดเท่านั้น ชนินทร์จึงมองว่าเมื่อถึงเวลาอยู่อาศัยจริงน่าจะเปิดโอกาสให้ผู้เช่าสามารถเลือกเฟอร์นิเจอร์เองได้ “หรือเวลาทำบ้านตัวอย่างและ sale gallery จะมีช่วงเวลาการขายแค่ระยะเวลาหนึ่ง เช่น 6 เดือน แล้วเขาอาจจะไม่ได้ขายห้องนั้นไปพร้อมกับเฟอร์นิเจอร์ แต่หลังจากนั้นล่ะจะทำยังไงกับเฟอร์นิเจอร์เหล่านี้ ถ้าสามารถสลับเปลี่ยนบางชิ้นได้ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า”

สำหรับฝั่งผู้เช่าที่เป็นลูกค้าทั่วไป การซื้อเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นของชิ้นใหญ่ก็มีภาระเพราะเมื่อมีค่าใช้จ่ายสูงและต้องลงทุนเยอะ ทำให้เป็นสินค้าที่หลายคนคิดหนักเวลาตัดสินใจซื้อ 

“เวลาที่ซื้อเฟอร์นิเจอร์มีดีไซน์มันต้องคิดหนักว่าต้องมีดีไซเนอร์ที่ดีช่วยดูไหม จะเข้ากับของอย่างอื่นในบ้านหรือเปล่า ขนาดจะเล็กหรือใหญ่ไปหรือเปล่า ควรซื้อตอนนี้เลยไหม พอคิดหนักเลยเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หลายคนเลือกซื้อของถูกๆ ที่เรียกว่า fast furniture เพราะอยากเลือกซื้อไปก่อนเผื่อเวลาถ้าใช้งานไปแล้วไม่ชอบก็จะไม่เสียดายถ้าทิ้ง ซึ่งมันเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากในมุมมองของความยั่งยืนเพราะของเหล่านี้จะไปอยู่ในกองขยะ เป็นของที่รีไซเคิลไม่ได้” 

บริการเช่าจึงเป็นโมเดลธุรกิจที่ win-win สำหรับทุกฝ่ายในเรื่องความยืดหยุ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคนี้ที่มีความไม่แน่นอนและมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา “อย่าง Cort ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่เป็นธุรกิจใหญ่มาก เหตุผลหลักของเขามันไม่ใช่เรื่องความยั่งยืนแต่เป็นเรื่องความยืดหยุ่น เพราะเขารู้ว่าธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น ทีมถูกย้ายไปทำงานอีกที่หนึ่งหรือยุบทีม ทำให้เปลี่ยนมาใช้ห้องประชุมขนาดเล็ก ไม่ใช้ห้องใหญ่แล้ว เพื่อไม่ให้เสียเวลากับการขายของที่ไม่ใช้แล้วและจัดซื้อของใหม่เข้ามา ความยืดหยุ่นจึงสำคัญ”

From Capital of CHANINTR to Spruce   

ในด้านความยั่งยืน ชนินทร์บอกว่าขยะเฟอร์นิเจอร์มักมาจาก fast furniture ที่มีอายุการใช้งานไม่ยาวนานและผลิตโดยไม่ได้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้น คนซื้อเพราะราคาถูกและตัดสินใจง่ายเลยเลือกใช้ไปก่อนทำให้เกิดขยะตามมามากมาย

“ที่กรุงเทพฯ ประมาณ 40% ของขยะชิ้นใหญ่ที่ landfill คือเฟอร์นิเจอร์ที่ส่วนใหญ่ใช้ไปไม่นานก็พัง ไม่ทนทาน คนเลยเอาไปทิ้ง ในอเมริกาตัวเลขของขยะเฟอร์นิเจอร์จะพุ่งสูงอยู่ที่ราว 80% ของเฟอร์นิเจอร์ที่มีการซื้อ-ขายในหนึ่งปี ซึ่ง 80% เป็นตัวเลขที่สูงมากของหมวด fast furniture ที่เทียบเท่ากับซื้อมาเพื่อสร้างขยะ
แม้จะเป็นหมวดที่ CHANINTR ไม่ได้ทำตั้งแต่ต้นอยู่แล้วแต่เราคิดว่ามันน่าจะมีโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ในเรื่องของราคาที่เข้าถึงง่ายขึ้นด้วย”

“การผลิตเฟอร์นิเจอร์หนึ่งชิ้นสร้างคาร์บอนตั้งแต่สร้างจนถึงขนย้ายจากโรงงาน โดยเฉลี่ยตั้งแต่เจ็ดถึงยี่สิบกว่ากิโลกรัม บางชิ้นก็ถึงร้อยกิโลกรัม ต้องบอกว่าแทบจะไม่มีเฟอร์นิเจอร์อะไรเลยในโลกที่เป็น zero waste นอกจากว่าคุณทำเฟอร์นิเจอร์จากการปั้นดินขึ้นมาที่บ้าน”

ทั้งนี้โดยปกติแล้วเฟอร์นิเจอร์ของ CHANINTR จะเลือกแบรนด์ที่สร้างมาเพื่ออยู่ได้มากกว่าหนึ่งเจเนอเรชั่นและยังตั้งใจทำหลายอย่างเพื่อความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการปลูกต้นไม้หนึ่งต้นสำหรับสินค้าทุกชิ้นที่ขายซึ่งตอนนี้ทำมา 2 ปีและปลูกไปแล้วราว 90,000 กว่าต้นโดยตั้งใจว่าทุกออร์เดอร์ของการเช่าจะปลูกต้นไม้หนึ่งต้นเป็นบรรทัดฐานด้วย และยังขายเฟอร์นิเจอร์มือสองให้ลูกค้าที่สนใจซื้อของเก่า ผลิตเฟอร์นิเจอร์ของตัวเองภายใต้ชื่อแบรนด์ CHANINTR and CO โดยใช้วัสดุที่ดีและกรีนที่สุด ออกแบบโดยดีไซเนอร์ชื่อดังระดับอินเตอร์แล้วผลิตในแถบเอเชียเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนของการขนส่งระยะทางไกล ไปจนถึงมีบริการเช่าออฟฟิศเฟอร์นิเจอร์ภายใต้แบรนด์ Pergo ซึ่งเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ขายภายใต้ CHANINTR และเปิดตัวตอนโควิด-19 ในปี 2020 ช่วงที่เกิดกระแสเวิร์กฟรอมโฮม 

เมื่อ CHANINTR เคยทำหลายสินค้าและบริการเพื่อความยั่งยืนมาแล้วมากมาย คำถามที่เราสงสัยคือ ทำไมถึงแยกบริการเช่าเป็นในนามธุรกิจใหม่ชื่อ Spruce ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ CHANINTR ในเมื่อผู้คนก็รู้จักชื่อเสียงของแบรนด์ดีอยู่แล้ว ซึ่งก็ได้คำตอบว่า

“เวลาพูดถึงแบรนด์ CHANINTR คนจะนึกถึงคำว่าแพงซึ่งเดี๋ยวนี้ความจริง CHANINTR ก็มีหลากหลายเรนจ์แล้ว ภาพลักษณ์ของแบรนด์ทำให้คนนึกถึงโปรดักต์และเซอร์วิสที่ไฮเอนด์ แต่พอเป็นธุรกิจเช่าที่เป็นอีกโมเดลหนึ่ง มีราคาให้เช่าในอีกราคาหนึ่ง มันอาจไม่ได้ผลประโยชน์อะไรจากการใช้ชื่อ CHANINTR ที่อาจจะเป็นตัวดึงไว้ไม่ให้คนกล้าเข้ามาเช่าได้ เราเลยคิดว่ามันอาจจะไม่ได้จำเป็นในการใช้ชื่อแบรนด์เดิม”

“และความจริงเป้าหมายของธุรกิจนี้ในระยะยาวไม่ได้อยากลิมิตให้เช่าได้แค่ที่เมืองไทยด้วย ข้อได้เปรียบของแบรนด์ CHANINTR ที่คนไทยรู้จัก เวลาไปต่างประเทศแล้วอาจจะไม่ได้มีการรับรู้ในชื่อแบรนด์เท่าเดิม เลยมาตั้งคอนเซปต์ใหม่แบบ subscription เป็นแบรนด์ Spruce ขึ้นมา”

นอกจากโอกาสและความต้องการของลูกค้าต่างๆ ที่ได้เล่าไปแล้วนั้น CHANINTR ยังมีต้นทุนที่ดีในการต่อยอดทำ Spruce “มองว่าเรามีจุดได้เปรียบในการทำธุรกิจเช่าเฟอร์นิเจอร์ เรารู้จักเฟอร์นิเจอร์ดีเพราะทำมาสามสิบปีแล้ว เราเข้าใจพื้นฐานของเฟอร์นิเจอร์ เข้าใจแหล่งผลิต รู้จักธุรกิจ Cort มีองค์ประกอบและโครงสร้างขององค์กรพร้อมหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแวร์เฮาส์ บิลด์อิน ฝ่ายจัดซื้อ ทีมขนส่ง ทำความสะอาด ดูแลรักษาเฟอร์นิเจอร์ ความเสี่ยงของเราในการเข้ามาทำธุรกิจเช่าเฟอร์นิเจอร์ต่ำกว่าคนที่จะเริ่มทำธุรกิจเฟอร์นิเจอร์จากศูนย์ ตอนนี้เราเพิ่งเปิดตัวก็ยังไม่รู้ว่าอะไรจะเวิร์กหรือไม่เวิร์กบ้าง แต่ถ้าในกรณีที่ต้องเตรียมของออก เราก็มีแหล่งและวิธีการปล่อยของออกไปได้ องค์ประกอบของบริษัทเราทำให้มันง่ายขึ้น”

“แต่ที่จริงตอนแรกคิดว่ามันจะง่ายกว่านี้ พอทำจริงก็ไม่ได้ง่ายเสียทีเดียว มีเรื่องที่เราต้องเรียนรู้และปรับเยอะ ขนาดเราอยู่ในวงการเฟอร์นิเจอร์อยู่แล้วก็ใช้เวลาเกือบสองปีกว่าจะเปิดตัว Spruce ขึ้นมา เพราะโมเดลธุรกิจค่อนข้างแตกต่างจากการทำธุรกิจซื้อ-ขายเฟอร์นิเจอร์ทั่วไปด้วยระบบซอฟต์แวร์ของเว็บไซต์ต่างๆ”

สิ่งที่ยากกว่าที่คิดในการทำ Spruce เช่น การคัดเลือกสินค้าที่สอดคล้องกับกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหม่ที่ไม่ใช่แฟนคลับไฮเอนด์ของ CHANINTR กลุ่มเดิม เพราะลูกค้ากลุ่มใหม่ที่มาเช่าอาจมีความต้องการไม่ตรงกับลูกค้า CHANINTR เช่น ผู้อาศัยในคอนโดที่เล็กขึ้นทำให้พบว่าโซฟาบางตัวที่เลือกมาให้เช่าในตอนแรกอาจมีขนาดใหญ่เกินไป เป็นต้น 

สินค้าและกลุ่มลูกค้าของ Spruce จึงเป็นคนละแบบกับ CHANINTR แต่ใช้ข้อได้เปรียบและต้นทุนบางอย่างในการทำธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ร่วมกัน 

การเช่าที่ Mix & Match ได้ 

สำหรับ Spruce สิ่งพื้นฐานที่ต้องคำนึงถึงในการเลือกสินค้าสำหรับเช่าคือความทนทานและคุณภาพดี สามารถเอามาซ่อมแซมได้ มีเรนจ์ราคาสามระดับผสมกัน ไม่ได้เลือกแค่แบรนด์พรีเมียมอย่างเดียวเพื่อให้ราคาในการเช่าไม่ได้สูงจนเกินไป รวมถึงมีความหลากหลายของสไตล์ให้ลูกค้ารู้สึกว่าสามารถปรับแต่งการตกแต่งห้องให้เป็นตัวของตัวเองได้ มีทั้งเฟอร์นิเจอร์รุ่นไอคอนิกที่มีชื่อเสียงไปจนถึงของเก่าเพื่อเสริมให้มีคาแร็กเตอร์มากขึ้นในบ้าน 

ยกตัวอย่างเช่นโต๊ะทานข้าวรุ่นไอคอนิกจากเดนมาร์กที่มีราคาเช่า 1,090 บาทก็สามารถเอามาวางมิกซ์กับเก้าอี้ที่ราคาเช่า 200 บาทต่อเดือนได้ เหมาะสำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้อยากลงทุนมากแต่อยากได้เฟอร์นิเจอร์ที่เด่นขึ้นมาบางชิ้น  

ด้วยการเช่าที่สามารถ mix & match ได้สะดวกขึ้นในราคาที่ถูกลงนี้เอง ทำให้เจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก
อย่างคลินิกหรือฟิตเนสที่มีลูกค้าระดับไฮเอนด์และต้องการตกแต่งห้องอย่างมีสไตล์แต่ไม่ได้อยากลงทุนก้อนใหญ่ต่างยินดีเช่าเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและช่วยบริหารความเสี่ยงในการทำธุรกิจ แทนที่จะต้องหาเงินก้อนใหญ่มาลงทุนเพื่อการตกแต่งก็สามารถเลือกเช่าไปก่อนได้

โมเดลของ Spruce เปิดให้เช่าด้วยระยะเวลาขั้นต่ำคือตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป โดยยิ่งเช่านานราคาเช่าต่อเดือนก็ยิ่งลดลงเหมือนโมเดลการคิดราคาของบริการ supscription ทั่วไปในสินค้าประเภทอื่นๆโดยตอนนี้ลูกค้ากลุ่มแรกที่เช่าเฟอร์นิเจอร์นิยมเช่า 12 เดือนขึ้นไป ไม่มีเก็บค่ามัดจำและขั้นต่ำมูลค่าสัญญาเพื่อให้มีความยืดหยุ่นและเข้าถึงได้ในการเช่า รวมถึงสามารถปรับเปลี่ยนสินค้าเช่าระหว่างสัญญาและจะปรับราคาตามสินค้าที่เลือก เป็นโมเดลที่เน้นความยืดหยุ่นในการเช่าอย่างแท้จริง

สำหรับผู้ที่ไม่ได้อยากเลือกสินค้าด้วยตัวเองแต่เชื่อในเทสต์ของแบรนด์ ทาง Spruce ก็มีแพ็กเกจ in-house ที่ดีไซเนอร์ช่วยคิวเรตชุดเฟอร์นิเจอร์มาให้ด้วยเช่นกัน

Game Changer in Sustainability 

สำหรับโอกาสตลาดของธุรกิจเช่าเฟอร์นิเจอร์ในอนาคต ชนินทร์บอกว่ากลุ่มลูกค้าทั้ง B2C และ B2B ล้วนมีโอกาสที่ตลาดจะขยายใหญ่ ขึ้นอยู่กับว่าลูกค้ากลุ่มไหนจะเจออุปสรรคและความต้องการมากกว่ากัน  

“ต้องบอกว่าในฝั่งลูกค้า B2B ที่เป็นออฟฟิศ โอกาสจะขึ้นอยู่กับการ shift มุมมองของนักธุรกิจในฝ่ายบริหารเป็นหลัก ถ้าดูภาพรวมของตลาดดูเหมือนระดับ c-level หรือซีอีโอจะพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ที่จริงเวลาธุรกิจหนึ่งต้องการใช้ออฟฟิศเฟอร์นิเจอร์ สิ่งแรกที่เกิดขึ้นก็คือฝ่ายจัดซื้อเป็นคนติดต่อ ซึ่งหน้าที่ของเขาคือจัดซื้อ ไม่ได้จัดเช่า ฝ่ายจัดซื้อจะมองแค่ฝั่งตัวเลข ไม่ได้สนใจเรื่องความยั่งยืน”

การมองแค่ตัวเลขในการจัดซื้อคือการคิด cost ให้ต่ำที่สุด ณ วันที่ตัดสินใจโดยไม่ได้คำนึงถึงอีกสองสามปีข้างหน้าเวลาต้องขายของออกไปหรือวันที่หมดอายุการใช้งานว่าจะทำยังไงต่อซึ่งบางทีอาจต้องเก็บของเข้าโกดังแล้วเสียค่าเช่าโกดังเพิ่มเติมหรือเคลียร์ของออกไปโดยขายในราคา 10% ของมูลค่าเต็มทั้งหมด ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียเพิ่มในอนาคต

“เวลาเราตัดสินใจซื้อของทุกอย่าง ส่วนใหญ่ทุกคนจะนึกถึงแฟกเตอร์อย่างราคา คุณภาพ ดีไซน์ ความสะดวกสบาย แต่ข้อที่ 5 เรื่องความยั่งยืน จะไม่ค่อยมีใครตระหนักถึงโดยเฉพาะในอดีต ตอนนี้ฝั่งลูกค้า B2C เริ่มนำเรื่องความยั่งยืนเข้ามาเป็นโจทย์ในการตัดสินใจแล้ว บางทีอาจเป็นอันดับ 1, 2 หรือ 3 เลยก็เป็นไปได้ ส่วนฝั่ง B2B อย่างออฟฟิศ ซีอีโออาจจะพูดถึง แต่ยังไม่ลงไปถึงการตัดสินใจ เมื่อไหร่ที่ลูกค้า B2B ตระหนักว่าเวลาซื้ออะไรต้องนึกถึงความยั่งยืนด้วย พร้อมไปกับราคาและคุณภาพ มันก็จะเปลี่ยนเกม”

“คิดง่ายๆ ถ้าธุรกิจ B2B อยากให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมจริงๆ ให้เทียบระหว่างการตัดสินใจที่จะซื้อหรือเช่าเฟอร์นิเจอร์ให้บริษัท ทุกครั้งที่ตัดสินใจซื้อ เขากำลังสร้างกองคาร์บอนเป็นพันๆ กิโลกรัม แต่ทุกครั้งที่ตัดสินใจเช่าสิ่งที่มีอยู่แล้ว มันไม่ต้องผลิตขึ้นมาใหม่เพื่อออฟฟิศเขา หลังใช้เสร็จมันก็จะไปอีกที่หนึ่ง ถ้าระดับซีอีโอมองภาพตรงนี้ออกแล้วให้ความสำคัญจริง ก็ต้องเกิดนโยบายในองค์กรว่าธุรกิจเราจะไม่ซื้อเฟอร์นิเจอร์แล้ว เราจะเช่าแทน ซึ่งหลายบริษัทในอเมริกาก็ทำกันเยอะ มองว่าเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงระดับนโยบาย โอกาสตรงนี้ในฝั่ง B2B จะใหญ่มากๆ”

การที่ลูกค้า B2C มีความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่าทำให้เป็นเหตุผลหนึ่งที่ชนินทร์มองว่ากลุ่มนี้เป็นลูกค้ากลุ่มหลักของ Spruce ที่ใช้พลังในการสร้างการตระหนักรู้ด้านความยั่งยืนน้อยกว่ากลุ่ม B2B 

The Possibility  

เมื่อถามชนินทร์ว่าถ้าถึงจุดที่ตลาดเช่าเฟอร์นิเจอร์ในไทยเติบโตและมีเจ้าใหม่เปิดบริการให้เช่ามากขึ้นในอนาคต มองว่าความท้าทายของการทำธุรกิจในตอนนั้นจะเป็นยังไง ชนินทร์ตอบว่า 

“นึกไม่ออกเลย เราก็ต้องบอกว่าเราใหม่แต่เราก็เอาสิ่งที่เรามีมาทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรู้เกี่ยวกับเฟอร์นิเจอร์หรือดีไซน์ แต่พื้นฐานของการทำธุรกิจมันไม่ได้หนีไปไกล คือต้องเป็นของที่มีคุณภาพ ของมีดีไซน์ที่ดี ทนทาน เข้าใจกลุ่มลูกค้า และจัดการพื้นฐานของโอเปอเรชั่นได้ดี สิ่งที่หลายคนอาจจะมองไม่ออกคือโลจิสติกส์เป็นหัวใจของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ ไม่ว่าจะเช่าหรือขายก็ตาม การเช่าต้องดูแลด้านการขนส่งหนักกว่าด้วยซ้ำเพราะขนส่งไปมาบ่อยๆ มันไม่เหมือนการสั่งเสื้อผ้าออนไลน์หรือขายของกระจุกกระจิก เฟอร์นิเจอร์มันชิ้นใหญ่มาก ต้องคำนึงถึงเรื่องของน้ำหนัก ไซส์ การดูแลรักษา การประกอบ” 

ทั้งนี้ชนินทร์มองว่าธุรกิจเช่าเฟอร์นิเจอร์แบบ Spruce คือหนึ่งในกลไกที่ช่วยหมุนฟันเฟืองของความยั่งยืนให้ไปได้ไกลมากขึ้นและอยากผลักดันโมเดลธุรกิจนี้ให้เติบโตในไทยและอาเซียน โดยในส่วนของ CHANINTR ก็จะพัฒนาสินค้าที่ใช้วัสดุยั่งยืน ปลูกต้นไม้ และทำตลาดมือสองควบคู่กันไป 

“อยากให้ลูกค้ารู้สึกว่าการเช่าเป็นแนวคิดใหม่ในการเอาเฟอร์นิเจอร์เข้ามาอยู่ในชีวิตซึ่งไม่ได้มีทางเลือกเดียวคือซื้อของดีๆ เข้ามา แต่มาเช่าแล้วทดลองใช้ดูได้ มันอาจจะใช้เวลาให้ลูกค้าคุ้นชินกับโมเดลนี้ที่ไม่ได้ยึดติดว่าเราต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินแต่เราคิดว่ามันมีทางเป็นไปได้”

เป็นความเป็นไปได้ใหม่ที่ทั้งสร้างความสะดวกและโลกที่ยั่งยืนมากขึ้นจากการเลือกแต่งบ้านด้วยการเช่าเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์สวยงามในบ้าน 

Writer

Craft Curator, Chief Dream Weaver, Lifestyle Columnist, Editor-in-Cheese, Design Researcher 'Instagram : @rata.montre'

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like