การเดินทางจาก 0-100 ของทัพนักกีฬาพาราลิมปิกทีมชาติไทยที่ประสบความสำเร็จได้ด้วย ‘ความเข้าใจ’

6 เหรียญทอง 11 เหรียญเงิน และ 13 เหรียญทองแดง 

นี่คือจำนวนตัวเลขเหรียญรางวัลที่ทัพนักกีฬาคนพิการสามารถคว้ามาครองจากการแข่งขันทัวร์นาเมนต์พาราลิมปิก 2024 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นความสำเร็จอันน่าภาคภูมิใจ คู่ควรแก่การจารึกในประวัติศาสตร์ เพราะจำนวนเหรียญรางวัลทั้งสิ้น 30 เหรียญ ส่งผลให้นักกีฬาพานักกีฬาคนพิการไทยคว้าอันดับที่ 21 ของโลก และเป็นอันดับที่ 6 ของเอเชีย นับเป็นสถิติที่ยอดเยี่ยมที่สุดของวงการกีฬาคนพิการไทย

นอกจากหยาดเหงื่อแรงกายของนักกีฬาที่ต้องแลกมากับการฝึกซ้อมนับแรมปี ยังมีผู้อยู่เบื้องหลังอีกมากมายที่ช่วยทำให้ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นจริง ซึ่งหนึ่งในผู้ที่จะไม่กล่าวถึงเลยไม่ได้คือ ‘ร้อยโท ณัยณพ ภิรมย์ภักดี’ ประธานคณะกรรมการพาราลิมปิกไทย’ ที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริมนักกีฬาคนพิการไทยให้ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ และสานต่อแนวทางการพัฒนากีฬาพาราลิมปิกอย่างเป็นรูปแบบ ไปจนถึงที่รับหน้าเสื่อดูแลอำนวยความสะดวกสบายแก่นักกีฬา โดยมีเคล็ดความสำเร็จคือ ‘ความเข้าใจ’  

จุดเริ่มต้นของความสำเร็จที่กล่าวมาต้องย้อนกลับไปเมื่อ 19 ปีที่แล้ว ในช่วงที่ทัพนักกีฬาพาราลิมปิกไทยยังอยู่ในช่วงตั้งไข่ ‘จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี’ หัวเรือใหญ่ของบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ คือคนในแวดวงธุรกิจที่อาสาเข้ามาดูแลนักกีฬาคนพิการ ด้วยความเชื่อที่ว่า นักกีฬาคนพิการเองก็มี ‘คุณค่า’ และ ‘ศักยภาพ’ ที่ไม่ได้ด้อยไปกว่านักกีฬาปกติ 

การเข้ามาบริหารองค์กรที่ดูแลการพัฒนากีฬาคนพิการทุกประเภทกีฬาความพิการของ ‘คุณต่อย’ ร้อยโทณัยณพ ภิรมย์ภักดี ในฐานะประธานคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย เริ่มต้นในปี 2561 ในฐานะนายกสมาคมกีฬาคนพิการทางสมองฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาคมกีฬาที่สร้างความสำเร็จระดับโลกมากมายอย่างกีฬาบอคเซีย นอกจากนั้นคือการได้มีโอกาสช่วยงานคุณพ่อในคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย ทำให้ได้เห็นและเข้าใจวิธีการทำงานหลายๆ อย่าง  ระหว่างนั้นเขามีโอกาสพูดคุยรู้จักกับนักกีฬาคนพิการแต่ละคน ไม่ว่าจะคนที่พิการแต่กำเนิด หรือคนที่พิการจากอุบัติเหตุ บางรายถอดใจในการใช้ชีวิตไปแล้วแต่กลับมาได้เพราะมีกีฬาเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ และหวังว่าอาชีพนักกีฬาจะสามารถสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง สามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว ไปจนถึงเป็นแบบอย่างให้กับคนพิการในสังคมให้ออกมาใช้ชีวิตอย่างสง่าผ่าเผย 

 “โดยพื้นฐานของผมและคุณพ่อไม่ได้มองนักกีฬาหรือการสนับสนุนทางกีฬาเป็นกิจกรรมทางการตลาด แต่เรามองว่ากีฬาก็คือกีฬา นักกีฬาไม่ว่านักกีฬาปกติหรือนักกีฬาคนพิการก็ล้วนเป็นนักกีฬาเหมือนกัน มีหัวใจนักกีฬาเหมือนกัน เพียงแต่อยู่ภายใต้ความสมบูรณ์ของร่างกายที่ไม่เท่ากันเท่านั้น

“มากไปกว่านั้นผมเชื่อว่าสิ่งที่เรามองเห็นจากความสำเร็จของนักกีฬาคนพิการก็คือความสำเร็จที่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบของชัยชนะและเหรียญรางวัล แต่เป็นความสำเร็จในแง่การทำให้สังคมได้มองเห็นความสามารถของพวกเขา ยอมรับพวกเขาในฐานะนักกีฬาคนหนึ่ง มากไปกว่านั้นคือการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนในสังคมทั้งคนปกติและคนพิการ ให้มองเห็นว่า ถ้ามีความตั้งใจแล้วไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้” คุณต่อย เล่าถึงเจตนารมณ์ของตัวเองให้เราฟัง

แน่นอนว่าผลงานโดดเด่นย่อมมาจากการบริหารจัดการที่ดี สิ่งแรกๆ ที่คุณต่อยลงมือทำ คือการจัดการเรื่องพื้นฐานอย่างศูนย์ฝึกและอุปกรณ์ฝึกซ้อมให้ตอบโจทย์ต่อนักกีฬาคนพิการทุกประเภท ทั้งผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ผู้พิการทางสายตา ผู้พิการทางการได้ยิน ผู้พิการทางสมอง และผู้พิการทางปัญญา ยกตัวอย่างรถวีลแชร์ ขาเทียม แขนเทียม ฯลฯ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ผลิตขึ้นมาเพื่อให้นักกีฬาคนพิการทำงานและช่วยเหลือตัวเองได้สะดวก และทำให้พวกเขาทุ่มเทกับการซ้อมได้อย่างเต็มที่

คุณต่อยยังบอกกับเราอีกว่า ความเข้าใจในตัวนักกีฬาพาราลิมปิกมีมากกว่าแค่เรื่องหาอุปกรณ์ฝึกซ้อม การจัดแจงหาที่อยู่อาศัย หรืออาหารการกิน แต่คือเข้าใจในด้านความต้องการทางกายภาพและจิตใจ ที่มีความละเอียดอ่อนมากกว่า ด้วยข้อจำกัดทางร่างกายที่แตกต่าง และทำให้นักกีฬาของเราได้รู้สึกว่า ได้รับการสนับสนุนและยอมรับไม่ต่างจากคนธรรมดาทั่วไป เช่น การจัดโปรแกรมฝึกสอนพิเศษที่ต่างประเทศ อย่างล่าสุดที่มีการส่งนักกีฬาไปฝึกซ้อมที่เมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส ก่อนทัวร์นาเมนต์พาราลิมปิกเกมส์ 2024 จะเริ่ม เพื่อให้นักกีฬาสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม 

และที่ได้รับคำชื่นชมมากที่สุด คือการออกแบบยูนิฟอร์มสำหรับใช้ในพิธีเปิด พาราลิมปิกเกมส์ 2024 ที่มีพื้นฐานการดีไซน์มาจากการสำรวจความต้องการของนักกีฬา ซึ่งได้รับการออกแบบโดย ‘PIPATCHARA’ แบรนด์แฟชั่นไทย ที่สามารถออกแบบชุดได้ตรงกับความต้องการและสอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของนักกีฬามากที่สุด

“ผมมองว่าการสร้างนักกีฬาให้ประสบความสำเร็จ สาระสำคัญไม่ได้อยู่ที่การตอบแทนความสำเร็จ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่ามันคือการสร้าง การสร้างก็คือการทำตั้งแต่วันแรก พัฒนาจากการแข่งขันระดับเล็ก ค่อย ๆ ขยายใหญ่ จนสามารถสร้างความสำเร็จในระดับโลก เป็นเจ้าของสถิติโลก เป็นเจ้าของเหรียญทองพาราลิมปิกได้ ทั้งหมดมันต้องเริ่มจากการสร้าง” 

“จริงๆ นักกีฬาเหล่านี้เก่งอยู่แล้ว พวกเขาทุ่มเทแรงกายแรงใจในการฝึกซ้อมอย่างเต็มที่อยู่แล้ว เราเข้ามาเพื่อช่วยให้พวกเขาทำทุกอย่างได้อย่างเต็มที่มากขึ้น ซ้อมได้อย่างสบายใจ พร้อมกับทำให้พวกเขารู้สึกว่าถ้ามีคนรับฟังเขา เข้าใจเขา เขาจะสามารถทำสิ่งเหล่านั้นได้ด้วยความภูมิใจ 

“ความสำเร็จของวงการกีฬา ของการสร้างนักกีฬา คงไม่ใช่การตอบแทนในวันที่นักกีฬาประสบความสำเร็จแล้ว และผมเชื่อว่านักกีฬาทุกคนในใจลึกๆ อยากให้คนทั่วไปมองที่ความสามารถของเขาในฐานะที่เขาเป็นนักกีฬาคนหนึ่ง ไม่อยากให้มองเขาด้วยความรู้สึกที่สงสารในความพิการของเขา เพราะฉะนั้นการดูแลนักกีฬาคนพิการนี้ ผมคิดว่ามันคือการดูแลทั้งร่างกาย การฝึกซ้อม และความรู้สึก จิตใจด้วยความเข้าใจ” คุณต่อย กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่คุณต่อยตั้งใจสนับสนุนวงการนักกีฬาคนพิการ นักกีฬาที่เพิ่มมากขึ้น ที่มีนักกีฬารุ่นเก่าและรุ่นใหม่ กลายเป็นครอบครัวใหญ่ที่เปี่ยมไปด้วยความเข้าใจ และสามารถส่งต่อความหวังนี้ไปยังผู้คนในสังคม ที่สำคัญคือเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า คนในแวดวงธุรกิจก็สามารถช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้หากมีความตั้งใจแน่วแน่ โดยไม่จำต้องสนับสนุนแค่เรื่องเงิน แต่เป็นการใช้ทรัพยากรและกำลังที่มีเพื่อร่วมลงมือทำไปพร้อมๆ กัน จนกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียว 

ที่สำคัญคือไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาปกติหรือนักกีฬาคนพิการก็คือ ‘ความภาคภูมิใจ’ ของประเทศ และเป็น ‘ฮีโร่’ ที่สามารถส่งต่อความภาคภูมิใจนี้ไปยังผู้คนในสังคม เพื่อสร้างฮีโร่หน้าใหม่ในอนาคตอีกนับไม่ถ้วน

Writer

นักเขียนผู้หลงใหลโลกของฟุตบอล สนีกเกอร์ และกันพลา

You Might Also Like