How School Heroes Scale Impact 

Saturday School โรงเรียนนอกหลักสูตรโดยอาสาสมัครหลายพันคนกับความฝันอยากขยายห้องเรียนทั่วไทย

Saturday School เริ่มต้นด้วยการจัดห้องเรียนสอนวิชานอกหลักสูตร 1 วิชาใน 1 โรงเรียนตอนปี 2014

ปีถัดมาเพิ่มเป็น 2 โรงเรียน ปีถัดไปเพิ่มเป็น 7 โรงเรียน ปีหลังจากนั้นเพิ่มเป็น 9 โรงเรียน 

ปีนี้ Saturday School มีอายุ 9 ปีและกำลังจะก้าวสู่ปีที่ 10 และผ่านช่วงที่ขยาย 5 เท่า โดยในกรุงเทพฯ เพิ่มจาก 10 โรงเรียน เป็น 50 โรงเรียนด้วยการร่วมมือกับ กทม. และยังขยายไปต่างจังหวัดอีก 9 จังหวัด 

ทุกวันนี้จากห้องเรียนทุกวันเสาร์ที่สอนโดยอาสาสมัครไม่กี่คนในตอนแรกก็ขยายผลจนมีโรงเรียนในโครงการรวมทั้งหมดราว 60 โรงเรียน, คุณครูอาสา 800 กว่าคน, อาสาสมัครทีมหลังบ้านอีกเกือบ 4,000 คนและเด็กในโครงการราว 9,000 กว่าคน

โมเดลของ Saturday School นั้นเป็นโมเดลที่แสนเรียบง่ายแต่ต้องใช้พลังมากในการขับเคลื่อน เป็นโมเดลที่เปิดพื้นที่ให้คนทั่วไปเข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยได้ด้วยการเป็นอาสาสมัครสอนเด็กๆ ในวันเสาร์หรือหลังเลิกเรียนและยังเปิดโอกาสให้องค์กรจัดกิจกรรมหรือหลักสูตรพิเศษร่วมกันเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ที่มีให้อนาคตของชาติ

หนึ่งในต้นทุนสำคัญที่ทำให้เกิด Saturday School คือทรัพยากรบุคคล ทั้งอาสาสมัครที่เป็นคนทั่วไปซึ่งมีสิ่งที่ถนัดอยู่แล้วและคนในองค์กรต่างๆ ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในสายอาชีพของตัวเอง เมื่อดึงศักยภาพของทุกคนออกมาช่วยกันพัฒนาการศึกษา ทุกคนก็กลายเป็นฮีโร่ในแบบของตัวเองและทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าพวกเขาเองก็เป็นฮีโร่ได้

ผู้ก่อตั้ง Saturday School และเป็นผู้สร้างฮีโร่อีกมากมายผ่านโรงเรียนนอกหลักสูตรแห่งนี้ คือ ยีราฟ–สรวิศ ไพบูลย์รัตนากร วันนี้เราจึงอยากชวนเขามาคุยถึงเบื้องหลังการขยายและการบริหารคอมมิวนิตี้อาสาสมัครที่ดึงศักยภาพให้ทุกคนสามารถเป็นครูได้

Hero is Normal People Who Start Something 

สรวิศเคยเป็นครูในโรงเรียนตามหลักสูตรอยู่ 2 ปี และสังเกตเห็นว่าการศึกษาของเด็กเชื่อมโยงกับหลายมิติในสังคมที่กว้างกว่าในห้องเรียน

“ปัญหาการศึกษาไทยไม่ใช่แค่หลักสูตรหรือวิธีสอนในห้องแต่เป็นเรื่องของทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเด็ก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาครอบครัว เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเด็กทั้งหมด ทั้งคุณครู สังคมรอบข้าง รวมถึงมายด์เซตของคนที่มีอำนาจตัดสินใจด้านการศึกษา” 

เมื่อเห็นว่าทุกปัจจัยที่อยู่ล้อมรอบตัวเด็กล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยงกันเหมือนใยแมงมุมทำให้สรวิศอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงทางผ่านคนทั่วไปที่อยู่นอกระบบการศึกษา

“เราคิดว่าคนในระบบการศึกษาอาจจะยังไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน เลยคิดว่าคนในสังคมที่อยากเห็นการศึกษาไทยดีขึ้นก็น่าจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาและทำให้สังคมไทยดีขึ้นได้”    

Saturday School จึงเริ่มต้นขึ้นจากการชวนเพื่อนที่รู้จักมาใช้เวลายามว่างให้เป็นประโยชน์ด้วยการเปิดคลาสสอนในวันเสาร์ให้เด็กๆ เริ่มสอนจากวิชานอกหลักสูตรซึ่งหมายถึงวิชาที่มักไม่ได้สอนในห้องเรียนเป็นวิชาหลักอย่างศิลปะ, ร้องเพลง, เต้น, ทำอาหาร, ถ่ายรูป, ดนตรี, กีฬา, ทำหนังสั้น, coding, Esports, ออกแบบสติ๊กเกอร์ไลน์, ออกแบบบอร์ดเกม ฯลฯ เรียกว่ามีวิชาสร้างสรรค์ที่หลากหลายโดยวิชาเหล่านี้มาจากความสนใจของเด็กจริงๆ

“เราจะไปถามเด็กๆ ก่อนว่าเด็กสนใจวิชาอะไร แล้วก็จะเอาวิชาที่เด็กเลือกมากที่สุดในโรงเรียนนั้นมาเปิดรับอาสาสมัคร ซึ่งอาสาสมัครก็จะสามารถเลือกได้เลยว่าอยากไปสอนที่โรงเรียนไหนและวิชาไหน” 

โมเดลคือสอนในสิ่งที่เด็กอยากเรียนและหาอาสาสมัครมาสอนในสิ่งที่อยากสอน เด็กก็ได้เรียนตามความชอบและอาสาสมัครก็ได้ใช้ทักษะและความสนใจที่มีมาถ่ายทอดความรู้ให้เด็กๆ ตามสมัครใจ ให้นักเรียนที่อยากเรียนและคุณครูที่อยากสอนได้มาเจอกันโดยจะเน้นคัดเลือกโรงเรียนที่เด็กฐานะยากจนและผู้อำนวยการโรงเรียนให้การสนับสนุนเป็นหลัก

ทั้งนี้หลังจาก Saturday School สอนวิชานอกหลักสูตรเฉพาะวันเสาร์มาหลายปี ทุกวันนี้ได้เพิ่มการสอนวิชาหลักอย่างคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ หลังเลิกเรียนในวันธรรมดาด้วยและใช้โมเดลห้องเรียนวันเสาร์นี้ขยายผลไปยังหลายพื้นที่ทั้งในกรุงเทพฯ ในชื่อ Saturday School Bangkok ส่วนต่างจังหวัดที่เริ่มทำมาแล้ว 2 ปีจะใช้ชื่อว่า Saturday School Expansion โดยเริ่มจากจังหวัดอย่างภูเก็ต นนทบุรี ขอนแก่น สมุทรปราการ พัทยา ชลบุรี ราชบุรี นครสวรรค์ นครนายก

Broaden the Possibilities

แน่นอนว่าภาพห้องเรียนของ Saturday School ไม่ใช่การนั่งฟังเลกเชอร์แล้วทำข้อสอบปรนัยแต่เป็นห้องเรียนที่เปิดโลกกว้างให้เด็กๆ เห็นความเป็นไปได้ในโลกอันกว้างใหญ่นอกห้องเรียนให้ได้มากที่สุดเพื่อให้เด็กกล้าคิด กล้าทำ และกล้าฝัน  

“มิสชั่นหนึ่งของเราคืออยากให้ทั้งคนทั่วไปและองค์กรมีส่วนร่วมในการช่วยกันพัฒนาการศึกษา เราเลยไปพาร์ตเนอร์กับองค์กรต่างๆ ตามสายอาชีพที่เด็กน่าจะสนใจแล้วให้เด็กได้มาเจอกับพี่ๆ ในสายงานนั้นจริงๆ” 

เมื่อทำโครงการมาหลายซีซั่นสรวิศจึงออกแบบโครงการเพิ่มเติมจากการสอนทั่วไปคือ Saturday School Student Support ที่มีองค์กรและพี่เมนเทอร์จากหลากหลายสาขาอาชีพมาให้คำแนะนำนักเรียนมัธยมปลายในการค้นหาตัวเองสำหรับการเลือกอาชีพในอนาคต

ความตั้งใจของสรวิศคือขยายเส้นขอบฟ้าให้เด็กๆ เห็นว่ามีเส้นทางแห่งความฝันและความเป็นไปได้มากมายหลายทางให้เลือก

“จะมีการแนะนำว่าเบื้องหลังการทำงานจริงในแต่ละอาชีพเป็นยังไง มีอะไรมากกว่าสิ่งที่เด็กๆ เห็นหรือเปล่า เช่น เราจับมือกับ The Standard เพื่อเล่าให้น้องๆ รู้ว่าในวงการสื่อมีคนทำงานอะไรบ้างนอกจากการเล่าเรื่องถ่ายทอดออกมา ด้านเทคโนโลยีเราจับมือกับบริษัท Data Wow แนะนำน้องๆ ว่าสายโปรแกรมมิ่งมีตำแหน่งอะไรบ้างนอกจากโปรแกรมเมอร์ นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราจับมือกับองค์กร แล้วก็จะมีพี่ๆ เมนเทอร์ที่เป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำ น้องๆ ก็จะสามารถขอคำปรึกษาและพูดคุยกับพี่ๆ นอกเหนือจากเรื่องสายอาชีพด้วยก็ได้” 

การมีองค์ความรู้และทรัพยากรจากองค์กรมาสนับสนุนทำให้รูปแบบการสอนไม่ติดอยู่ในกรอบเพราะแต่ละองค์กรใช้ความถนัดและความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันมาสร้างสรรค์ห้องเรียนในแบบของตัวเองให้เด็กๆ 

“อย่างหลักสูตรอีสปอร์ตที่ร่วมมือกับบริษัท Garena ก็เกิดจากความสนใจของเด็กๆ และคุณครูในโรงเรียนที่อยากจัดแล้วมาคุยกับเรา เราก็เป็นเหมือนสะพานเชื่อมไปหาองค์กรที่ทำด้านนี้แล้วจับมือร่วมกันทำเพื่อขยายผล”

เด็กๆ ที่เข้าร่วมหลักสูตรในแต่ละโรงเรียนจะเริ่มจากเข้าร่วมชุมนุมและแข่งขันเกม Esports ในโรงเรียนตัวเองก่อน จากนั้นจะส่งตัวแทนทีมของแต่ละโรงเรียนมาแข่งกันและผู้เข้ารอบท้ายจะได้ไปแข่งที่ห้องไลฟ์สตรีมของ Garena 

Saturday School ยังเคยร่วมมือกับ Apple ให้เด็กยืมไอแพดหรือไอโฟนเพื่อเรียนรู้ทักษะต่างๆ เช่น การทำเพลงผ่านโปรแกรม GarageBand

“เด็กๆ เก่งมาก หลังจากได้เรียนกับพี่ศิลปินจบคลาสหนึ่งก็แต่งเพลงออกมาได้ดีมาก เรายังทำไม่ได้เลย แล้วผลงานออกมาไม่ใช่ธรรมดาด้วย แต่อยู่ในระดับดีเลย”

นอกจากหลักสูตรเหล่านี้ยังมีวิชาอื่นๆ อีกมากมาย เช่น วิชาสอนวาดรูปและดีไซน์งานอาร์ตในแอพพลิเคชั่น Procreate โดยกราฟิกดีไซเนอร์, วิชาสอนการทำหนังสั้นที่ร่วมมือกับสมาคมผู้กำกับหนังโดยเด็กๆ ได้ลงมือถ่ายทำหนังจริงออกมาเป็นหนังสั้นฝีมือตัวเอง 

โดยหลายครั้งการออกแบบรูปแบบการสอนก็ต้องออกแบบผ่านข้อจำกัด เช่น ในช่วงโควิด-19 ที่เด็กหลายคนไม่มีคอมพิวเตอร์หรืออินเทอร์เน็ตและการมาโรงเรียนต้องถูกงดไป Saturday school ก็แก้ปัญหาด้วยการส่งกล่องการเรียนรู้ไปให้ทางไปรษณีย์ เปลี่ยนรูปแบบการสอนให้เด็กๆ ได้ลองฝึกตั้งเป้าหมายและวางแผนสิ่งที่อยากทำเองใน 21 วัน จดบันทึกสิ่งที่ได้เรียนรู้เป็นไดอารี 21 Days Challenge ที่ได้บันทึกการเติบโตของตัวเอง โดยมีพี่เมนเทอร์คอยโทรให้คำปรึกษาและพูดคุยกับเด็ก 

แต่ไม่ว่าการสอนจะเป็นรูปแบบไหน ทุกห้องเรียนจะเน้นการสอนแบบ active learning ที่ให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้เพื่อติดปีกให้ความฝันของเด็กแต่ละคนได้โบยบิน หว่านเมล็ดพันธ์ุทั้งทักษะและมายด์เซตโดยหวังผลลัพธ์ให้ผลิดอกออกผลในระยะยาวเมื่อเด็กเหล่านี้เติบโตขึ้น 

Willpower Management 

โมเดลการระดมเงินทุนของ Saturday School คือรับบริจาคเงินจากบุคคลทั่วไปและองค์กรโดยมีบริการจัดหลักสูตรการสอนให้องค์กรต่างๆ ที่อยากจัดกิจกรรมเพื่อสังคม สรวิศเล่าว่าเบื้องหลังการทำ Saturday School นั้นนอกจากมีความท้าทายในการระดมเงินทุนแล้วยังมีอุปสรรคระหว่างทางมากมายที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้อย่างเรื่องการบริหารจัดการคอมมิวนิตี้อาสาสมัคร 

“คนอาจจะไม่ค่อยรู้ว่า Saturday School ไม่ค่อยมีเงิน การที่เราจะเติบโตและต้องดูแลอาสาสมัครจำนวนมากที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราก็ต้องมีพนักงานประจำที่เยอะมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งตอนนี้เราก็จ้างพนักงานประจำได้ไม่เยอะมาก อันนี้ก็เป็นความท้าทายใหญ่เหมือนกันที่เรามีงานให้ทำเยอะกว่าจำนวนคนตลอดและทำให้พนักงานประจำค่อนข้างเหนื่อยล้า”  

ในการเปลี่ยนจากภาพฝันสู่การลงมือแก้ปัญหาจริงจึงต้องครอบด้วยระบบการจัดการและเซตโครงสร้างการบริหารที่ชัดเจนเพื่อให้ครูอาสาสมัครซึ่งเป็นคนทั่วไปที่ไม่ได้มีค่าตอบแทนมีส่วนร่วมจนจบโครงการ “ตอนรับอาสาสมัครเข้ามา เราจะเลือกคนที่มี commitment (ความมุ่งมั่น) และเพราะว่าส่วนใหญ่อาสาสมัครของเราไม่ใช่คุณครูที่รู้จักการออกแบบการสอน เราจึงมีการอบรมอาสาสมัครก่อน ให้รู้จัก Saturday School ว่ามีเป้าหมายยังไง ให้ลองสอนก่อนแล้วทำงานกันเป็นทีม” 

เป็นธรรมดาที่เวลาคนเราหว่านเมล็ดพันธ์ุแห่งการเรียนรู้ลงไปแล้ว ก็อยากเห็นต้นกล้าเหล่านั้นเติบโตเป็นป่าใหญ่โดยเร็ว สิ่งที่สรวิศได้เรียนรู้ในบทบาทผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงมาตลอดหลายปีคือการกลับมาดูแลสภาพร่างกายและจิตใจของตัวเองให้มีความสมดุลแบบที่ไม่เหนื่อยจนเกินไปก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน    

“บางทีเราทำงานหนักมากเพราะว่าเราเห็นความเปลี่ยนแปลง เพราะเราเห็นเด็กๆ พัฒนาขึ้น เราเลยจะมองแค่ในมุมว่าเรากำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมแต่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้หันกลับมามองตัวเองว่าเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งบางทีอาจจะต้องหาบาลานซ์ให้ตัวเองด้วยเหมือนกันให้เราสามารถที่จะทำต่อไปโดยไม่เหนื่อยเกินไปและมีพลังที่จะส่งต่อเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อไปเรื่อยๆ” 

Meaningful Impact Measurement 

แม้ภาพอิมแพกต์ปลายทางจะยังมีหนทางอีกยาวไกลแต่ความชื่นใจระหว่างทางคือผลลัพธ์
ที่เห็นเด็กๆ เติบโตขึ้น สิ่งแรกที่สรวิศสังเกตเห็นอย่างชัดเจนจากโครงการที่ผ่านมาคือความมั่นใจในตัวเองที่เพิ่มขึ้นของเด็ก 

“ครูทุกคนบอกเหมือนกันหมดเลยว่าเด็กๆ มั่นใจในตัวเองมากขึ้น กล้าแสดงออกมากขึ้นเมื่อเทียบระหว่างก่อนกับหลังสอนและเห็นได้ชัดโดยเฉพาะคลาสร้องเพลง เด็กๆ ร้องเพลงจนต้องชมว่าโอ้โห ร้องได้มีคุณภาพมาก คนในฮอลล์น้ำตาไหล พลังของเด็กส่งมาถึงคนดูได้เยอะมากๆ และการแสดงหลายอย่างเช่น วิชาเต้น เด็กๆ ก็ทำออกมาได้น่าสนใจและทุ่มเทมาก 

“พฤติกรรมของเด็กเปลี่ยนไปพอสมควรจากการที่ได้มาเรียนกับเรา อย่างคลาสเรียนเต้น ในตอนแรกเด็กก็อาจจะสนใจบ้างในระดับที่ไม่ได้ถึงขั้นสนใจมาก แต่พอได้มาเรียนแล้วมันมีสิ่งที่เขาใช้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและทุ่มเทกับมัน แทนที่เด็กจะนั่งเล่นมือถือในวันธรรมดาก็มาซ้อมเต้น มาพัฒนาตัวเอง พอมีวินัยมากขึ้น ในห้องเรียนก็ตั้งใจเรียนมากขึ้นตามไปด้วย” 

“เคยมีเด็ก ป.6 จากโรงเรียนหนึ่งที่มาเรียนภาษาอังกฤษกับเราแค่เทอมเดียว จากไม่เคยสอบผ่านโอเน็ตมา 9 ปีก็สอบผ่านเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปีนั้น ความจริงเราก็ไม่ได้ตั้งใจให้เด็กเรียนเพื่อจะไปสอบแต่ด้วยรูปแบบการสอนของเราก็ทำให้เด็กมั่นใจในตัวเองมากขึ้น สนุกและกล้าที่จะเรียนรู้ ไม่กลัวผิด มันคือผลจากการที่เราเชื่อว่าถ้าเด็กมี soft skill ก็จะทำให้สามารถพัฒนาด้านอื่นๆ ในชีวิตได้ดีด้วยเหมือนกัน”

วิธีประเมินผลและวัดการเติบโตของเด็กๆ จากห้องเรียน Saturday School ไม่ได้เน้นวัดจากข้อสอบหรือการบ้านแต่ประเมินผลจากทักษะ soft skill ของเด็ก อย่าง self-awareness (การรับรู้และเข้าใจตนเอง), growth mindset (ความคิดแบบพัฒนาได้), resilience (ล้มแล้วลุก) และ prosocial behavior (พฤติกรรมเอื้อต่อสังคม) โดยใช้วิธีวัดผลหลายวิธีไม่ว่าจะเป็นแบบสอบถามก่อนและหลังเรียนและการจดบันทึกพฤติกรรมและมายด์เซตของเด็กจากการสังเกตโดยครูอาสา นอกจากการพัฒนาของเด็กแล้ว อาสาสมัครเองก็เติบโตจากการเป็นครูเช่นกันโดยมีวิธีวัดผลที่ Saturday School กำลังจะเพิ่มขึ้นมาอย่างการประเมินแบบ peer-to-peer คือประเมินจากคนที่อยู่รอบข้างที่ทำงานด้วยกัน ไม่ได้ประเมินด้วยตัวเองอย่างเดียว

ในทุกซีซั่นหลังจบแต่ละโครงการยังมีวันที่เรียกว่า Big Day คือวันที่ให้เด็กทุกคนหรือทุกกลุ่มมานำเสนอผลงาน ซึ่งเมื่อจบโครงการไปแล้วสรวิศเล่าว่ายังเห็นการเติบโตในระยะยาวของเด็กหลายคนที่เหนือความคาดหมายอีกด้วย 

มีเด็กที่ได้แรงบันดาลใจจากการมาเรียนวันเสาร์แล้วชอบร้องเพลงและได้ไปต่อมหาวิทยาลัยในคณะสายดุริยางคศิลป์ มีเด็กที่ได้มาเรียนกราฟิกดีไซน์แล้วก็ไปเรียนสถาปัตย์ ไปออกแบบ เอาไปสร้างอาชีพได้ หลายคนก็กลับมาเป็นอาสาสมัครเพื่อพัฒนาตัวเองกับพี่ๆ และส่งต่อสิ่งที่เขาได้รับให้กับน้องๆ รุ่นถัดไปด้วย”

Classroom Scaling 

จากการเริ่มจากห้องเรียนวันเสาร์เพียงวันเดียวจนทุกวันนี้มีวิชาหลากหลายและอาสาสมัครมากมาย แต่สรวิศบอกว่าหนทางของ Saturday School ยังมีเส้นทางอีกยาวไกล “เป้าหมายของทาง กทม. คือนำโมเดลนี้ไปใช้กับโรงเรียนทั้งสังกัดทั่วกรุงเทพฯ ก็จะเป็น 437 โรงเรียน คืออีกประมาณ 8-9 เท่าของตอนนี้ เป้าหมายก็ยังอีกไกลเหมือนกัน เราก็หวังว่าจะหาอาสาสมัครจำนวนมากไปสอนได้ทั่วถึง”

เป้าหมายสำคัญของ Saturday School คือมุ่งขยายผลและสร้างอิมแพกต์ให้ได้มากที่สุด ไม่ใช่แค่ในกรุงเทพฯ แต่ขยายไปยังจังหวัดทั่วประเทศไทยโดยเริ่มจากค่อยๆ ขยายจังหวัดละ 1 โรงเรียน  

“นอกจากเรื่องของการขยายจำนวนโรงเรียนและห้องเรียน ในแง่การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบก็น่าสนใจว่าเราจะทำยังไงให้สิ่งที่เราทำสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในระบบการศึกษาด้วย สิ่งที่เราอยากจะทำคือทำกิจกรรมให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเด็กที่แตกต่างจากเดิมหรือกลุ่มอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เช่น ผู้ปกครอง คุณครูที่สามารถเข้าไปพัฒนาสิ่งแวดล้อมของเด็กๆ ซึ่งก็จะเป็นอีกเฟสหนึ่งหลังจากนี้พอสมควรที่จะพัฒนาในอนาคต”

ยังมีอีกหลายความฝันที่สรวิศอยากทำให้เด็กๆ หรือเคยลองทำแล้วแต่ต้องพักไว้ชั่วคราวอย่างหลักสูตรที่รับสมัครเด็กจากครอบครัวฐานะชนชั้นกลางขึ้นไปที่มีกำลังจ่ายและเก็บเงินค่าเรียนเพื่อนำเงินตรงนั้นมาพัฒนาการสอนให้เด็กที่ต้องการการสนับสนุนทางทุนการศึกษาอีกต่อ, โมเดลห้องเรียนผสมที่เด็กที่ได้รับโอกาสและไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษาได้เรียนด้วยกัน, Saturday Film หลักสูตรการทำหนังที่เจาะลึกสนับสนุนสอนการทำหนังให้เด็กในระยะยาว, Saturday School Community Project ที่ให้เด็กๆ ได้สำรวจปัญหาของชุมชนแล้วนำเสนอวิธีการแก้ไขที่สนใจในชุมชนของตัวเองเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชนรอบข้างซึ่งทำมา 4 ปีแล้วแต่ตอนนี้เป็นโครงการที่พักไว้ชั่วคราว

“จริงๆ ต้องบอกว่าโครงการพวกนี้ไม่ได้ไม่เวิร์กนะแต่ว่าเราไม่มีแรงทำมากกว่า เรามีแรงทำและแรงคนที่จำกัดเลยต้องโฟกัสกับกิจกรรมหลักของเราก่อน มีบางจังหวัดที่เราอยากไปและก็มีเด็กจากต่างจังหวัดให้ความสนใจเยอะพอสมควรแต่อาสาสมัครของเรายังไม่พอ 

“เราขยายจำนวนโรงเรียนเพิ่มได้ตามจำนวนอาสาสมัครแล้วแต่ว่าอาสาสมัครในพื้นที่รู้จักเรามากขนาดไหน เราจะเลือกอาสาสมัครในพื้นที่ที่มีความสามารถและมีเป้าหมายตรงกับเรา พอมีอาสาสมัครที่ผ่านเกณฑ์มากพอ เราก็จะขยายไปที่จังหวัดนั้น” 

stakeholder (ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย) ในการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยจึงเป็นทุกคนในสังคมและจะสร้างแรงกระเพื่อมได้แค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับพลังของหลายภาคส่วนในสังคมรวมกันโดยมีตัวกลางอย่าง Saturday School เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนการสร้างการเปลี่ยนแปลง 

Facebook : facebook.com/SaturdaySchoolThailand
Website : saturday-school.org

Writer

Craft Curator, Editor-in-Cheese, Chief Dream Weaver, Wicker Expressionist, Design Researcher, Entrepreneur Crybaby 'Instagram : @rata.montre'

Photographer

ช่างภาพและ baker ฝึกหัด

You Might Also Like