น้ำแข็งใส
‘ไสใส’ ร้านน้ำแข็งไสที่ใช้วัตถุดิบไทยหากินยาก เพื่อสร้างดีมานด์ผักผลไม้ท้องถิ่นให้เกษตรกรไทย
*กรุณาตอบคำถามด้านล่างก่อนอ่านบทความนี้*
คุณเคยกินวัตถุดิบใดต่อไปนี้ (ตอบได้มากกว่า 1 ตัวเลือก)
1. ดอกดาหลา – ไม้ดอกพื้นถิ่นทางใต้รสอมเปรี้ยว
2. มะแป่มแป๋ม – ผลไม้ป่าที่ออกผลเฉพาะฤดูร้อน
3. ข้าวกล้องก่ำน้อย – ข้าวเหนียวที่นำมาสีแบบข้าวกล้องเทกซ์เจอร์หนึบ
4. กระบก – เมล็ดพืชที่ถูกเรียกว่าอัลมอนด์ไทย
5. นมควาย – จากฟาร์มควายไทยที่คนไทยไม่ค่อยรู้ว่ามี
ไม่ต้องตกใจถ้าไม่เคยลิ้มลองสักข้อ หรือไม่เคยแม้แต่ได้ยินชื่อมาก่อนเพราะคนไทยอีกมากก็ไม่เคยได้รับรส รับรู้ถึงวัตถุดิบพื้นถิ่นเหล่านี้
แต่ถ้าอ่านแล้วน้ำลายสอ อยากขอลองชิมสักครั้ง ไสใส รอคุณอยู่ที่ย่านประตูผี
ไสใส คือร้านน้ำแข็งไสที่หยิบสอยพืชผัก ผลไม้ วัตถุดิบพื้นบ้านจากทั่วประเทศมาแปรรูปเป็นท็อปปิ้งน้ำแข็งไสอย่างถึงรส ไม่ว่าจะเป็นน้ำแข็งไสท็อปด้วยฟักทองสามสายพันธ์ุและสาคูต้น น้ำแข็งไสซอสดอกดาหลาโรยหอมเจียว หรือน้ำแข็งไสรสเค็มๆ หวานๆ ที่เกิดจากการรวมตัวกันของเคยและน้ำเชื่อมดอกจาก
เปลี่ยนของเข้าถึงยากให้เข้าถึงง่ายเพียงตักเข้าปาก แนะนำวัตถุดิบพื้นถิ่นผ่านความอร่อย เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติและฤดูกาล และทำให้เกษตรกรกินอิ่ม นอนหลับ มีชีวิตที่ดี
มากกว่าความอยู่รอดทางธุรกิจ เป้าหมายของไสใสเป็นเรื่องเหล่านี้
Nature just got tastier! สโลแกนของร้านบอกเอาไว้ แต่พอเห็นความตั้งใจที่จะแบ่งปันเรื่องดีๆ ให้กับลูกค้า พาร์ตเนอร์ และสิ่งแวดล้อม เราก็อยากเพิ่มสโลแกนให้อีกหนึ่งอันว่า
Business just got better!
พันพันธุ์
ก่อนจะเป็นไสใส ฌา–ฬิฌฌา ตันติศิริวัฒน์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งมีธุรกิจในมือเป็นแบรนด์ข้าวออร์แกนิกชื่อว่า HATCH goodies
ในโลกที่การเกษตรเชิงเดี่ยวช่วงชิงพื้นที่เพาะปลูกไปเรื่อยๆ สายพันธุ์ข้าวจากร้อยพันพันธุ์ก็ลดน้อยลง ฌาจึงอยากเก็บรักษาข้าวพันธุ์พื้นเมืองเอาไว้ด้วยการทำแบรนดิ้งให้คนรู้จักและอยากกิน หลักการง่ายๆ คือเมื่อมีดีมานด์เกษตรกรก็อยากปลูกข้าวเหล่านี้เพิ่มขึ้น ไม่สูญหายไปตามกาลเวลา
“มนุษย์ทำการเกษตรกับข้าวหรือพืชพันธุ์อื่นๆ มานานแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ การเกษตรพวกนี้มันคือภูมิปัญญา คือวัฒนธรรม การอยู่ร่วมกับสิ่งนั้นๆ คือความรู้ที่ทำให้ผลผลิตออกมามีคุณภาพดี เช่น รู้ว่าฤดูกาลที่เหมาะสมคืออะไร หรือรู้ว่าต้องเก็บเกี่ยวยังไง
“ความสำคัญอีกแง่หนึ่งคือเรื่องเมล็ดพันธุ์ เมล็ดพันธุ์แต่ละชนิดก็มียีนที่เก่งในด้านที่ต่างกัน เช่น พันธ์ุนี้ต่อสู้แมลงได้ดี พันธุ์นี้ทนน้ำท่วมได้ ทุกอย่างมันเกิดขึ้นตามธรรมชาติผ่านกาลเวลา ฉะนั้นถ้าพันธุ์ข้าวหายไปก็เหมือนมรดกบางอย่างหายไปด้วย และมันไม่สามารถสร้างขึ้นมาใหม่ได้ ความสำคัญแบบนี้ทำให้เราสร้าง HATCH goodies ขึ้นมา” ฌาย้อนเล่า
การทำ HATCH goodies ทำให้ฌาต้องขึ้นเหนือลงใต้ไปเจอเกษตรกรพาร์ตเนอร์และพบว่านอกจากข้าว รอบๆ นาข้าวก็มีของพื้นถิ่นอื่นๆ ที่น่าสนใจ
“เมืองไทยไม่ได้มีผลผลิตแค่ข้าว เวลาเราเดินทางไปหาเกษตรกรหรือไปหาข้อมูลเราก็จะเห็นมุมอื่นๆ ด้วยเราเลยอยากมีพื้นที่ที่เล่าเรื่องวัตถุดิบอื่นบ้าง
“ประเด็นของวัตถุดิบพื้นถิ่นเองก็คล้ายกับข้าว เอาแค่เรื่องน้ำตาลก็ได้ สิ่งที่ให้ความหวานในเมืองไทยมีเยอะมากไม่ใช่แค่อ้อย แต่มีโตนด ต้นจาก มีต้นเหนา แต่การเข้ามาของโรงงานมันสนับสนุนให้เกิดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมากขึ้น มีการให้ incentive ที่ดีกว่า คนก็เลยลดการปลูกพืชที่ให้ความหวานอื่นๆ ลงและหันไปสนใจพืชที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า
“มันก็เชื่อมโยงมาสู่เรื่องดีมานด์-ซัพพลาย เป็นธรรมชาติอยู่แล้วว่าถ้ามีดีมานด์อะไร ซัพพลายก็จะสร้างสิ่งนั้น ฉะนั้นถ้าวันนึงคนไม่รู้ว่าสับปะรดมีสายพันธุ์หลากหลายเขาก็ไม่กิน พอคนไม่กิน ซัพพลายปลูกแล้วไม่รู้จะขายใครเขาก็เลิกปลูก ซึ่งเราไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น เราคิดว่าถ้าคนยังปลูกสิ่งที่หลากหลาย ความหลากหลายเชิงนิเวศ ภูมิปัญญา วัฒนธรรม ก็จะยังคงอยู่
“แล้ว ไสใส ก็เกิดขึ้นเร็วมาก”
หวานหวาน
“โจทย์มันเริ่มจากเรามีที่อยู่ในย่านประตูผีเลยคิดว่าเราอยากเล่าเรื่องวัตถุดิบพื้นถิ่นนี่นา อยู่ๆ เราก็คิดว่ามันต้องเป็นน้ำแข็งไส”
ฌาอธิบายเหตุผลหลักๆ ที่ต้องเป็นน้ำแข็งไสมา 2 ข้อ
หนึ่ง–ประตูผีเป็นย่านที่เต็มไปด้วยของกินอร่อยๆ และคงไม่มีอะไรเหมาะสำหรับการกินตบท้ายมื้ออาหารมากไปกว่าน้ำแข็งไสอีกแล้ว
“แถวนี้มีของคาวเยอะแล้ว เราจะทำเหมือนคนอื่นคงไม่ไหว แต่เรารู้ว่า journey ของคนที่มากินส่วนมากต้องตบท้ายด้วยของหวานแน่ๆ เมืองไทยเองก็อากาศร้อน ฟังแล้วมันถูกต้อง อยู่ใน sweet spot ของมันพอดี”
สอง–น้ำแข็งไสเป็นเมนูที่เรียบง่าย ทุกคนเข้าถึงได้ แถมสามารถใส่ท็อปปิ้งอะไรก็ได้เหมาะกับวัตถุดิบอันหลากหลายจากทั่วประเทศที่ฌาอยากนำเสนอ
“น้ำแข็งไสมันยืดหยุ่นมาก จะเป็นอะไรก็ได้ สมุนไพร ผลไม้ รากไม้ เคยยังอยู่ในน้ำแข็งไสได้เลย ฉะนั้นมันยังมีพื้นที่ให้เรา twist ได้ตลอด”
ดูฤดู
นอกจากฌา ไสใสยังมีสมาชิกคนสำคัญอีกคนคือ มิ้นท์–เสาวลักษณ์ กิจวิกรัยอนันต์ เชฟและที่ปรึกษาด้านอาหารผู้ออกแบบเมนูทั้งหมดในร้านอย่างละเอียด
“องค์ประกอบพื้นฐานของน้ำแข็งไสคือน้ำแข็ง เราทำน้ำแข็งเองด้วยน้ำกรองสะอาดอัดแร่แมกนีเซียม เราอยากให้น้ำแข็งเป็นเหมือนกระดาษขาว เป็นแคนวาสที่สามารถชูวัตถุดิบให้โดดเด่น” ฌาเล่ากระบวนการคิดเมนูร่วมกับมิ้นท์ให้ฟัง
“ถัดจากเรื่องน้ำก็เป็นเรื่องเกล็ดน้ำแข็ง แบบเช็งซิมอี๊ก็เป็นเกล็ดที่ใหญ่หน่อย บิงซูเป็นเกล็ดบาง ใช้เครื่องอัตโนมัติทำ แต่เราอยากได้ฟีลเครื่องทำน้ำแข็งไสสมัยเด็กๆ ที่มันอารมณ์ความตั้งหน้าตั้งตารอระหว่างเขาทำน้ำแข็งไสให้เรา ข้อดีคือเครื่องนี้มันสามารถปรับเกล็ดขนาดน้ำแข็งได้ ดังนั้นในหนึ่งถ้วยเราจะมีเกล็ดน้ำแข็งสองแบบ ด้านล่างจะหนาหน่อยพอกรุบๆ ส่วนด้านบนจะบางเพื่อให้เวลากินแล้วน้ำแข็งไม่กวนรสวัตถุดิบ ยกเว้นบางเมนู เช่น ฟักทองที่มีซอสเข้มข้นมาก น้ำแข็งด้านบนก็ต้องใช้เกล็ดใหญ่นิดนึงเพื่อให้อุ้มซอสได้ดี
“ส่วนท็อปปิ้งคือแล้วแต่เลยว่าวัตถุดิบไหนจะมาเมื่อไหร่ เกณฑ์ของเรามีแค่เป็นวัตถุดิบไทย ไม่มีสารเคมีซึ่งเราได้มาจากทุกที่เลย เริ่มจากเกษตรกรที่เรารู้จักแล้วเขาก็เชื่อมโยงเราต่อไปเรื่อยๆ เวลาได้วัตถุดิบมาเราก็จะมาโยนไอเดียว่าช่วงนี้มีของแบบนี้ มิ้นท์เขาก็จะหยิบไปเล่นดูว่าอันไหนอยู่ด้วยกันแล้วเวิร์ก
“เราเปลี่ยนวัตถุดิบไปตามฤดูกาล ตามใจธรรมชาติ เพราะนั่นคือสิ่งที่เราพยายามจะสื่อสารกับลูกค้า ถ้าวัตถุดิบหมดจริงๆ เราก็เคารพตรงนั้นแล้วจบ เดินหน้าต่อ หาของใหม่”
เมนูที่เรากินวันนี้จึงบอกไม่ได้ว่าจะมีขายถึงเมื่อไหร่ ถ้าโชคดีก็อาจจะมีให้กินทั้งปี แต่ถ้าโชคร้ายหน่อย กลับมาพรุ่งนี้ก็อาจไม่มีแล้ว
“อย่างเมนูหวานจากเค็มเคยที่มีลูกจากกับเคยเป็นส่วนประกอบหลัก ตอนแรกคิดว่าจะอยู่ไม่นานเพราะว่าลูกจากที่บางปะกงเริ่มหมดปรากฏว่าลองหาดู เอ้า ไปได้ที่ตรัง พอที่ตรังเริ่มจะหมด เอ้า บางปะกงมาอีกแล้ว (หัวเราะ) แต่ว่าเมนูหนึ่งมันมีหลายองค์ประกอบ เช่น ข้าวเม่ามันได้ปีละครั้ง พอมันเริ่มหมดเราก็เลยลองยกหูถามคนผลิตว่าพี่มีซุกตู้เย็นไว้บ้างมั้ย เขาก็ไปหาให้ที่ร้านนู้นร้านนี้ ปรากฏว่าไปคุ้ยตู้เย็นเจออยู่สามกิโลฯ เราก็เอา ดังนั้นบอกไม่ได้เลยว่าแต่ละเมนูจะขายนานแค่ไหน
“หรือเมนูน้ำแข็งไสเปรี้ยวหวานดาหลา อันนี้สนุกมากเพราะว่าผลไม้มาบ้างไม่มาบ้าง ที่เราเขียนลงไปในเมนูว่าจะมีสับปะรด เงาะ ส้มโอก็ถูกเปลี่ยนตลอดเวลา เช่น ส้มโอไม่มางั้นเอาสละที่วางอยู่หน้าร้านมาใช้แทนแล้วกัน ขณะเดียวกันเราก็ต้องรู้จักวิธีการเก็บรักษาวัตถุดิบ สมมติสับปะรดขายไม่หมด หรือกระท้อนเสียเร็วเอามาวางหน้าร้านได้ 3 วันเริ่มช้ำแล้ว เราก็ลองเอามาทำแยม
“พื้นที่นี้มันไม่ได้เป็นแค่พื้นที่เรียนรู้ของลูกค้าแต่เป็นการเรียนรู้ของเราด้วย ทุกวัตถุดิบที่เราเอาเข้ามา เราเรียนรู้ใหม่หมด ถามว่าต่อไปเมนูของไสใสจะเป็นอะไรเราก็ยังไม่รู้ ขึ้นอยู่กับว่าวันหนึ่งที่วัตถุดิบเราหมดแล้วเราโทรหาเกษตรกร เดี๋ยวเขาก็จะบอกเราเองว่าฤดูนั้นมีผลผลิตอะไร”
ฟังแบบนี้ ลูกค้าจะเป็นพระเจ้าในร้านไหนบ้างไม่รู้ แต่ที่นี่ธรรมชาติคือพระเจ้าเท่านั้น
เอร็ดอร่อย
ความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งที่คนมีต่อไสใส คือการเข้าใจว่านี่คือน้ำแข็งไสแสนเฮลตี้
“เราไม่ได้ตั้งใจทำให้เฮลตี้นะ เราทำให้อร่อย” ฌาแก้ข่าว
“คนจะมีภาพจำว่าของธรรมชาติ ของออร์แกนิกรสชาติต้องจืดๆ มีแต่คนรักสุขภาพเท่านั้นที่กิน เราเลยอยากทำให้มันอร่อย ทำให้สนุก แบบสโลแกน Nature just got tastier!
“เราทำหน้าที่เอาวัตถุดิบมานำเสนอในรูปแบบที่เราคิดว่าอร่อย แต่เมนูของเราก็จะมีออพชั่น บางเมนูอาจจะแอดเวนเจอร์หน่อย ใช้วัตถุดิบที่คนไม่รู้ค่อยรู้จัก บางเมนูก็เข้าถึงง่ายหน่อย อย่างพวกเมนูผลไม้ เมนูมะม่วง แต่ถ้าเป็นมะม่วงเราก็ไม่ได้อยากใช้มะม่วงสวน เราจะไปเอามะม่วงหน้าบ้านเกษตรกรเพราะเรารู้ว่าพวกนั้นมันขึ้นเอง หรือเขาปลูกแล้วก็ปล่อยทิ้งไว้ตามธรรมชาติ ไม่มีสารเคมีแน่ๆ”
จากประสบการณ์การทำงานกับอาหาร สำหรับฌา ความอร่อยคือเครื่องมือแสนทรงพลังที่สามารถพาคนไปรู้จัก ไปรักความหลากหลายของธรรมชาติได้แบบเข้าถึงง่าย
“เวลาคุยกับผู้บริโภคเราต้องทำให้เขาเห็นว่ามันอร่อยก่อน ถ้ามันอร่อยเขาก็จะเปิดใจว่าโลกมีสิ่งนี้ด้วยเหรอ แล้วที่มาของมันคืออะไร
“บางทีลูกค้าไม่รู้จักวัตถุดิบนะแต่กินแล้วอร่อยเขาก็มาถามว่าที่มาของวัตถุดิบมันคือที่ไหน เราก็ถือโอกาสเล่าให้เขาฟัง เช่น น้ำเชื่อมดอกจากมีรสชาติแบบนี้เพราะว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของนิเวศป่าชายเลนที่มีทั้งน้ำเค็ม น้ำกร่อย น้ำจืด สเตปต่อมาเราชวนคุยได้ว่าความสำคัญของลูกจากที่มีต่อระบบนิเวศคืออะไร
“เรื่องดีอย่างนึงคือตอนนี้คนไทยค่อนข้างเปิดรับของโลคอล มันเป็นช่วงที่เราค่อยๆ appreciate กับภูมิปัญญา อาจจะเพราะช่วงหลังๆ มีกลุ่มที่ผลักดันเรื่องงานโลคอลเยอะ เวลาลูกค้ามาที่ร้าน ต่อให้เจอของแปลกๆ เขาก็ไม่ได้ตัดสินว่ามันไม่ดี”
ทันทีที่เมนูหวานจากเค็มเคยถูกยกมาเสิร์ฟ เราถึงเห็นว่านอกจากน้ำแข็งไสเกล็ดละเอียด ลูกจากหนุบหนับ น้ำเชื่อมดอกจากหวานหอม และเคยกรุบๆ ภายในถาดยังแนบการ์ดใบเล็กมาด้วย
ด้านหน้าเป็นรูปวัตถุดิบหลัก ด้านหลังเป็นแผนที่ประเทศไทย ระบุว่าวัตถุดิบที่อยู่ในถ้วยลูกไหนคือพันธุ์อะไร เดินทางมาจากไหนบ้าง
“ทุกคนไม่ได้เป็นนักวิจัย ลูกค้าทุกคนไม่ได้พร้อมที่จะฟังข้อมูล หลายคนก็แค่อยากมาอร่อยซึ่งเราก็โอเค ไม่ยัดเยียด มากที่สุดที่เราทำได้คือการ์ดที่เขาหยิบขึ้นมาดูได้ว่าวัตถุดิบเด่นๆ ในถ้วยมาจากไหนบ้างแล้วถ้าเขาสนใจตอนนั้นเขาจะอยากฟังเอง แต่ถ้าไม่ อย่างน้อยๆ แค่เขากินแล้วอยากกินอีกก็สร้างดีมานด์ให้เกษตรกรแล้ว”
คนกินคนกรุง
ถ้าอยากรู้ทาร์เก็ตของไสใส ดูจากหน้าตาของร้านก็พอเก็ต
ที่นี่มีกำแพงสีสดใส ใช้ไม้เป็นวัสดุหลัก มีแสงธรรมชาติส่องเข้ามากำลังสวย ตรงกลางเคาน์เตอร์มีเครื่องไสหน้าตาวินเทจที่ลงเรือเดินทางมาจากญี่ปุ่น มองไปทางไหนก็น่ารักไม่ต่างจากคาเฟ่สวยๆ สักแห่ง
เหล่าคนที่ไปคาเฟ่ คนที่ไม่ได้อินของไทยเป็นพิเศษนี่แหละคือลูกค้าของพวกเขา
“ถ้าเราลองนึกภาพตาม จะมีคนกลุ่มที่ชอบกินของออร์แกนิก ถือถุงผ้า ใส่เสื้อม่อฮ่อม ชอบเดินงาน farmer’s market คนกลุ่มนี้เขาสนับสนุนเกษตรกรอยู่แล้วดังนั้นไม่ใช่ทาร์เก็ตหลักของเรา ถ้ามองด้วย psychographic (พฤติกรรม ความชอบ ความสนใจ) ทาร์เก็ตของเราคือคนทั่วไปที่มีศักยภาพ เป็นฟู้ดดี้ที่ชอบกินของอร่อยและมีกำลังซื้อ สามารถสร้างดีมานด์ให้เกษตรกรได้ คนกลุ่มนี้เวลาเขาเจอของที่อร่อยเขาก็ appreciate และบอกต่อโดยที่ไม่จำเป็นว่าเขาจะต้องชอบหรืออินกับของไทย รูปแบบร้านเราเลยอิสระมากๆ ไม่ต้องมีความไทย แค่คงความเป็นธรรมชาติเอาไว้
“ตอนนี้ลูกค้าส่วนมากจะเป็น first jobber แล้ว first jobber ก็พาครอบครัวมาเพราะคิดว่าแม่น่าจะชอบ ผู้ใหญ่เขาไม่ได้ชอบของหวานที่หวานมาก เราเลยเหมือนเจอช่องว่างของตัวเองพอดี”
ไสใส
การทำไสใสไม่ได้มีแค่พาร์ตที่สดใส
ความท้าทายแรกคือการพยายามไม่ใช้ผลผลิตจากอุตสาหกรรมแต่เรียนรู้ที่จะอยู่กับผลผลิตตามฤดูกาลซึ่งมีจำนวนซัพพลายไม่แน่นอน
ความท้าทายที่สอง คือการสื่อสารกับลูกค้าให้เข้าใจเมสเซจที่ลึกซึ้งกว่าเรื่องรสชาติ
และเรื่องแสนคลาสสิกของการทำธุรกิจคือการดีลกับพาร์ตเนอร์ที่เป็นคน
โจทย์สำคัญของไสใสคือการใช้วัตถุดิบปลอดสารเคมี ฌาจึงต้องมั่นใจว่าเกษตรกรที่ส่งวัตถุดิบมานั้นไว้ใจได้ แรกเริ่มเธอจึงทำงานกับเกษตรกรที่เคยร่วมงานกับ HATCH goodies และค่อยๆ ขยายวงกว้างออกไปจากการแนะนำแบบปากต่อปาก
“สิ่งหนึ่งที่เรียนรู้มาจากการทำ HATCH goodies คือคนสำคัญมาก ตั้งแต่ตอนที่เราคุยกับเกษตรกรพาร์ตเนอร์เราต้องทำความเข้าใจไปถึงมายด์เซตของเขาเลยว่าทำไมเขาถึงทำเกษตรแบบไม่ใช้สารเคมี ส่วนมากที่เราเจอ ย้ำว่าส่วนมากนะไม่ใช่ทั้งหมดจะมี turning point เช่น คนที่บ้านป่วยเพราะเคมี ได้เห็นว่าการทำเคมีส่งผลอะไรบ้าง หรือการที่ระบบนิเวศเจ๊งทำให้เกิดอะไรขึ้น พอมันมีเรื่องพวกนี้อยู่ในจิตใต้สำนึกแล้วยังไงเขาก็ไม่กลับไปทำเกษตรแบบใช้สารเคมี เราอยากร่วมงานกับคนที่มีมายด์เซตแบบนี้เพราะเราเชื่อใจได้ว่าเขาจะดูแลทั้งธรรมชาติและของที่คุณภาพให้เราแน่ๆ
“ความเชื่อใจสำคัญ เราไม่สามารถไปหาทุกคนได้ในเวลาเดียวกัน เราเลยต้องทำให้เขาเข้าใจว่าเราทำอะไร ทุกครั้งที่โทรไปคุยกับเกษตรกรเราก็จะอธิบายกับเขาว่าร้านเราอยู่ตรงนี้ จุดประสงค์ของร้านเราคืออะไร บางคนมาหาเราที่ร้านเราก็อยากให้เขาชิมว่าของของเขามันออกมาเป็นอาหารแบบนี้ เขาจะได้ภูมิใจ เข้าใจ และพร้อมดูแลวัตถุดิบให้เรา”
เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างไสใสกับเกษตรก็เป็นไปอย่างเกื้อกูลกัน ไสใสได้วัตถุดิบปลอดสารพิษมานำเสนอ ในขณะที่พยายามทำให้เกษตรกรพาร์ตเนอร์มีชีวิตที่ดีขึ้น
“เราอยากให้การทำงานร่วมกันมีนัยที่ดี เช่น เราไม่ส่งเสริมให้เขาใช้สารเคมี หรืออย่างป้าเอี้ยงที่ส่งลูกจากมาให้เราเขามีวิถีชีวิตกับแม่น้ำบางปะกง เราก็รู้ว่าถ้าเราได้ทำงานกับเขาแปลว่าเขาก็มีแรงเลี้ยงชีพกับแม่น้ำบางปะกงต่อไปได้ ถ้าไม่ใช่เกษตรกรเดี่ยวเราก็ชอบทำงานร่วมกับกลุ่มเกษตรกรโดยไม่ต้องเป็นกลุ่มใหญ่ก็ได้ เราจะได้โตไปพร้อมๆ กัน
“ชื่อไสใส ไส ไม้มลายคือน้ำแข็งไส ส่วนใสไม้ม้วนมันคือความ honest โปร่งใสที่เรามีให้กับลูกค้าว่าของที่เราเอามามันมาจากที่ไหนบ้าง มันปลอดสารเคมี คือความโปร่งใสที่เรามีให้เกษตรกร เราเคารพในความพยายามของเขาฉะนั้นเราให้เขากำหนดราคาสินค้าเอง ถ้าเรารับได้เราก็ไปต่อ หรือบางอย่างที่เขาให้มาในราคาไม่สูงเราก็บอกเขาตรงๆ ว่าถ้าไม่ไหวพี่ต้องบอก อย่าทำแล้วรู้สึกว่ามันกินตัวเอง
“สุดท้ายแล้ว สิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจที่ทำงานกับวัตถุดิบธรรมชาติและเกษตรกรคือเราต้องเข้าใจเขา เขาไม่ใช่อุตสาหกรรม หลายครั้งมากที่อยู่ๆ ของหมด ในใจเราคือ เฮ่ย ทำไมเขาไม่บอกเราก่อนล่วงหน้าสักสองอาทิตย์ แต่ว่าบางทีเขาก็ไม่รู้ไง มันหมดแล้วอะ เรื่องพวกนี้เราต้องยอมรับว่ามันเกิดขึ้นได้ แล้วแก้ปัญหา เช่น อาจจะให้เขาช่วยหากลุ่มเกษตรกรที่ไว้ใจได้คนอื่นๆ หรือของบางล็อตมาแล้วมันไม่ดีเท่าที่ต้องการ เราจะส่งกลับไปก็ได้แต่มันก็ไม่ดีกับทั้งสองฝ่าย ถูกไหม แต่ถ้าเราบอกเขาว่าพี่ ล็อตนี้มันมาไม่โอเคแต่ไม่เป็นไรนะ ล็อตใหม่ช่วยดูให้หน่อยเราก็จะได้พัฒนาทั้งคู่
“ฌาว่ามันจะยากในปีแรกๆ เพราะว่าเรายังพยายามทำความเข้าใจธรรมชาติ เข้าใจเกษตรกรแต่ถ้าทำงานไปสักพักเราก็คงรู้ว่าช่วงไหนมีวัตถุดิบอะไร การวางแผนก็จะง่ายขึ้น ระหว่างนี้เราก็ให้ลูกค้าเข้าใจไปพร้อมกับเรา หมดก็คือหมด ไม่มีก็คือไม่มี”
จะมีร้านไหนอีกที่วัตถุดิบหมดแล้วยังเล่าเมสเซจของร้านได้
ตอนนี้เรานึกออกแค่ร้านเดียว
ไสใส ประตูผี ยินดีต้อนรับ