ไทร-สุข

5P ของ ‘ไทรสุก’ กับ popsicle สีนกหายาก ตัวเงินตัวทองและกิจกรรมที่บอกว่าเขาใหญ่มีดีกว่าวิว

จากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่ถนนธนะรัชต์ ใช้เวลาไม่นานนักก็เดินทางมาถึงที่หมาย 

อาคารสีอิฐทรงสวยงามด้านหน้าตั้งเด่นเป็นสง่าแต่ยังไม่สะดุดตาเท่าเหล่าไม้ที่สูงตระหง่านให้ร่มเงา ไทรสุกคือชื่อของสถานที่ที่เราตั้งใจเดินทางมาจากเมืองกรุง

ไทรสุก คือศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับเขาใหญ่ที่มีไอศครีม popsicle เป็นตัวชูโรง ไอศรีมแต่ละรสชาติมีสีสันที่ได้แรงบันดาลใจจากสิ่งมีชีวิตบนอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของไทย 

นกกก หมาใน แมวลายหินอ่อน นกจาบคาหัวสีส้ม กระทั่งรส I’m Here หรือตัวเงินตัวทอง–นี่คือตัวอย่างไอศครีมหลากรสของไทรสุกที่ทำให้หลายคนที่ไม่เคยสนใจธรรมชาติ ไม่คุ้นกับสัตว์ป่าในเขาใหญ่ก็ยังอยากลองชิมไอศครีมไทรสุกสักครั้งและอยากเห็นว่าสัตว์ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ไอศครีมเหล่านี้ รูปร่างหน้าตาเป็นยังไง

เต้ย–ปฤษฎิ์ เก่งสูงเนิน และ แนน–วราภรณ์ มงคลแพทย์ คือคู่รักหยิน-หยางที่ก่อตั้งสถานที่แห่งนี้ขึ้นมา

เต้ยเป็นช่างภาพสัตว์ป่าผู้เกิดและเติบโตมากับเขาใหญ่โดยแท้ อาชีพช่างภาพของเขาก็เป็นผลพวงธุรกิจครอบครัวที่จัดทัวร์ชมสัตว์ป่าบนเขาใหญ่ ส่วนแนนเป็นหญิงสาวผู้หลงรักการทำไอศครีมเป็นชีวิตจิตใจ แม้ไม่ได้มีความรู้เรื่องสัตว์ป่าเท่าเต้ย แต่เธอคือลูกหลานเขาใหญ่เจ้าของร้านอาหารบ้านหมากม่วงอันโด่งดัง

มุมมองของสถานที่ที่เรียกว่า ‘เขาใหญ่’ ของทั้งสอง จึงอาจไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวที่มีวิวสวยเขียวขจี แต่เป็นอะไรที่มากกว่านั้น  

“สำหรับเต้ย เขาใหญ่เหมือนสวนหลังบ้าน คือทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่า สำหรับเรา เขาใหญ่เป็นภูมิศาสตร์ที่ดีมากสำหรับเกษตรกรรม เรามีสภาพภูมิอากาศที่ดี มีดินที่ดี ปลูกพืชผลได้มีคุณภาพมากๆ ”

และเพราะมุมมองที่แตกต่างนั้นเอง จึงผสานรวมเป็นไทรสุก สถานที่ที่ทั้งคู่เอาความเชี่ยวชาญและความฝันที่อยากสื่อสารให้คนรู้จักเขาใหญ่มากกว่าแค่วิว 

Product
ประตูบานแรกสู่เขาใหญ่

แนนฝันอยากทำร้านไอศครีม

ส่วนเต้ยฝันอยากทำสถานที่ที่เป็นเสมือนประตูบานแรกให้คนได้รู้จักสัตว์ป่า รู้จักเขาใหญ่ในแบบที่เขาคุ้นเคย เพราะทั้งสองเชื่อว่าก่อนจะพูดเรื่องการอนุรักษ์ได้ ต้องเริ่มจากการทำให้ผู้คนรู้ถึงการมีอยู่ของสัตว์ป่าในเขาใหญ่เสียก่อน ถึงจะรู้ว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้มีคุณค่ายังไง

การมีฝันที่แน่วแน่นั้นสำคัญ แต่จากประสบการณ์การทำธุรกิจของทั้งคู่มานั้น ธุรกิจที่ดีต้องควบคู่กับ business model ที่ดีด้วย 

และนั่นคือที่มาของไทรสุก ที่แนนและเต้ยตั้งใจให้เป็นประตูบานแรกสู่เขาใหญ่

แนนเลือกทำไอศครีม popsicle เพราะ homemade popsicle ในเมืองไทยค่อนข้างยาก ส่วนใหญ่จะเห็นพวกแบรนด์ใหญ่ๆ ทำมากกว่า ความแตกต่างนี้เองเป็นสิ่งที่แนนคิดว่าน่าจะทำให้คนสนใจได้ อีกโจทย์คือเต้ยต้องการให้คนได้รู้จักสัตว์ป่าผ่านไอศครีมของแนน จึงเป็นที่มาของไอศครีมสีต่างๆ ที่ได้แรงบันดาลใจจากเฉดสีของสัตว์ป่า

“เต้ยเป็นช่างภาพสัตว์ป่าและเป็นไกด์ทัวร์ด้วย เขาเลยรู้จักสัตว์ป่าจริงๆ รู้จักพฤติกรรมสัตว์ป่า สามารถอธิบายทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับสัตว์ป่าได้ ถ้าเขาเห็นนกแค่หางตาเขาก็ระบุได้แล้วว่าคือนกชนิดไหน ได้ยินเสียงอะไรร้องอยู่ไกลๆ ก็เดาได้เลยว่ามันจะต้องอยู่ตรงนี้แน่ๆ เต้ยเลยมีรูปสัตว์ป่าแทบทุกชนิด

“เราเองที่พอได้ทำไอศครีม popsicle หลายๆ เฉดสี ก็คิดว่าดิสเพลย์มันสวยจัง ส่วนเต้ยก็จะรู้สึกว่าสีสันที่เรียงกันอยู่นี้มันคือความหลากหลายทางชีวภาพของเขาใหญ่ ซึ่งสีเหล่านี้มันเป็นแค่เสี้ยวเดียวของความหลากหลายที่มีอยู่จริงในเขาใหญ่เท่านั้นด้วยซ้ำ” แนนย้อนเล่าถึง business plan ที่ทั้งคู่ช่วยกันเขียนขึ้น ขณะที่เต้ยคอยให้ความรู้แก่คนที่เดินเข้ามาในร้าน

การสื่อสารเรื่องราวของสัตว์ป่าและธรรมชาติของเขาใหญ่ผ่านไอศครีมของทั้งคู่นั้นยังจริงจังถึงขนาดที่ว่าต้องคล้ายหรือเหมือนเฉดของสิ่งมีชีวิตในเขาใหญ่จริงๆ เพราะแนนและเต้ยเชื่อว่าการส่งต่อความรู้ครั้งนี้จะต้องถูกส่งต่ออย่างถูกต้อง

“เหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ นะแต่เราว่ามันสำคัญมาก เช่น นกหน้าตาคล้ายๆ กันแต่สีผิดเฉดก็คนละตัวกันแล้ว” ขณะที่แนนอธิบายถึงความสำคัญของการทำเฉดสีให้เหมือนสัตว์ป่าจริงๆ ที่สุด เต้ยก็เดินเข้ามาเสริมทัพ

“อย่างนกเงือกกับทูแคนคนก็จำสลับกันและนำภาพมาใช้สื่อสารหรือโฆษณาผิด นกเงือกมีที่เขาใหญ่ มีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ทูแคนอยู่อเมริกาใต้ อเมริกากลาง สมมติเราทำแบนเนอร์มาโปรโมตวันนกเงือกแต่ใส่ภาพนกทูแคน มันก็จะบ่งบอกให้รู้แล้วว่าความรู้เรานั้นถูกต้องไหม 

“มากไปกว่านกสองตัวนี้ บางทีมันเป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่น บางตัวใช้เสียงในการแยก บางตัวขาสีอ่อนกว่านิดหน่อย บางตัวขนแพลมออกมานิดนึง หรือถ้าเป็นสัตว์เลื้อยคลานต้องจับพลิกท้องแล้วนับเกล็ด ถามว่าทำไมต้องจริงจังกับมัน เพราะผมว่าคือการพูดถึงความหลากหลายทางชีวภาพ” 

และนั่นนำมาซึ่งความซับซ้อนในการทำไอศครีมของแนน เพราะนอกจากจะต้องหาวัตถุดิบที่จะให้เฉดสีที่คล้ายของจริงแล้ว ยังต้องดูว่าวัตถุดิบแต่ละอย่างนั้นเมื่อนำมาเข้าคู่กันแล้วรสชาติอร่อยหรือผ่านแค่ไหน

“ไอ้เรื่องเล็กๆ นี่แหละมันทำให้พอทุกคนมายืนดูเมนูหน้าตู้ แล้วชื่อเมนูเราก็จะเป็นสัตว์ชนิดนั้นๆ ลูกค้าก็ได้เห็นว่าสีมันใช่เลย บางอันมันใช่เลยมากๆ”

รสชาติเขาใหญ่

‘ประตูสู่เขาใหญ่’ ไม่ได้เป็นคำที่ทั้งคู่ใช้นิยามความตั้งใจที่อยากให้ผู้คนรู้จักเขาใหญ่ในแบบที่ทั้งคู่เห็นเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการคัดสรรวัตถุดิบดีๆ รอบเขาใหญ่มาใช้รังสรรค์เป็นไอศครีม

“ปากช่อง มวกเหล็ก สระบุรี เขาใหญ่ มันเป็นภูมิศาสตร์ทองคำสำหรับเกษตรกรรม มันไม่ใช่ทุกที่ในประเทศที่เราจะปลูกอะไรแล้วก็ให้ผลผลิตที่ดี และที่นี่ก็หลากหลายมาก มีทั้งพืชไร่ พืชสวน โคนม ฟาร์มปศุสัตว์ต่างๆ หรือสภาพอากาศแบบนี้ก็ทำให้เราปลูกองุ่นได้ 

“เราเลยพยายามอย่างมากที่จะเสาะหาเกษตรกรที่ตั้งใจทำผลผลิตดีๆ เช่น ไอศครีมที่เบสนมหรือครีมก็พยายามใช้จากฟาร์มโคนมในท้องถิ่นที่มีเยอะมากๆ อย่างรสนกกก ก็พยายามใช้มะม่วงน้ำดอกไม้ปากช่องที่เป็นท็อป 3 ของไทย 

“หรืออย่างรสนกขุนแผนหัวแดง ก็ใช้สตรอว์เบอร์รีที่เก็บและปลูกในเขาใหญ่ทั้งหมด แล้วเราก็ได้ไปเก็บในทุกเช้าก่อนเอามาทำ จะต้องเลือกสีแดงและสุกจัดบนต้นเพื่อให้รสหวานฉ่ำ ส่วนช็อกโกแลตก็พยายามเสาะหาโกโก้ที่ปลูกและ process ในโคราช เรียกว่ารสนี้แทบจะเป็น 100% local”

ลงลึกเขาใหญ่ 

ขณะที่เราสนทนากับแนนอยู่นั้น เต้ยก็รับแขกที่หลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย หน้าตู้ไอศครีมของไทรสุกเต็มไปด้วยลูกค้า ตามโต๊ะและเก้าอี้ในร้านก็เนืองแน่นไปด้วยคน ส่วนด้านนอกซึ่งเป็นที่ตั้งกิจกรรมนั้นก็มีลูกค้ากรุ๊ปเล็กใหญ่รอเข้าฐานที่เต้ยตั้งใจคัดเลือกมานำเสนอ

“ตั้งแต่เปิดร้านมา เราไม่คิดว่าคนไทยจะชอบกินไอศครีมขนาดนี้” แนนเล่าขำๆ หลักฐานความชอบทานไอศครีมของคนไทยก็เห็นอยู่เต็มตา

“ถ้ามาที่นี่วันเสาร์-อาทิตย์หรือวันหยุดยาวก็จะไม่มีที่ยืนเลย ทุกคนกินกันมากกว่า 1 แท่ง ส่วนใหญ่ก็จะซื้อกลับกัน แล้วตอนแรกคิดว่ากลุ่มลูกค้าจะเป็นวัยรุ่นหรือวัยทำงาน แต่กลายเป็นว่ากลุ่มที่มีเยอะมากๆ คือกลุ่มคุณแม่เรา หรือผู้ใหญ่ที่เขาให้คุณค่ากับวัตถุดิบที่ดี

“แต่สิ่งที่มากไปกว่านั้นคือเราดีใจที่สิ่งที่หวังผลมันเกิดขึ้นจริงๆ หมายถึงว่าไอ้ที่เราตั้งใจให้ไอศครีมเป็นด่านแรกที่ทำให้คนได้รู้จักสัตว์และธรรมชาติในเขาใหญ่มันก็เกิดขึ้นแล้วจริงๆ พอเขาดูไอศครีมเขาก็มาเทียบกับรูปที่เต้ยถ่ายแล้วเอามาติดในร้าน มันน่ารักมากเวลาเห็นพ่อแม่พาลูกๆ มาแล้วสอนลูกว่าอันนี้มันคือตัวนี้ไง สีนี้เหมือนไหมซึ่งมันอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นกับลูกค้าทุกคนหรอก แต่ว่าแค่ส่วนหนึ่งก็พอแล้ว”

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าฐานที่ไทรสุกเปิดให้ร่วม เพราะแนนและเต้ยเองก็เข้าใจว่าความชอบคนเราย่อมไม่เหมือนกัน ไอศครีมจึงเหมือน key product ของแบรนด์ที่ทำให้คนเปิดใจ แล้วถ้าอยากลงลึกกว่านั้น ฐานเรียนรู้รอคุณอยู่

“มีทั้งคนที่พุ่งมากินไอศครีมเฉยๆ แต่ก็มีคนที่อยากเข้าฐานเรียนรู้ด้วยเหมือนกัน แต่เราคิดว่าทุกๆ องค์ประกอบ ตั้งแต่การตั้งชื่อเมนู การทำภาพเทียบมันคือกลไกที่ทำให้ทุกคนค่อยๆ รู้จักและจดจำได้ ไม่ต้องจำได้ทุกแท่งหรอก จำแค่รสที่ตัวเองสั่งได้ก็ดีแล้ว แล้วเราเชื่อว่าพอวันนึงที่เขามีโอกาสขึ้นไปบนเขาใหญ่เขาจะจำมันได้ เขาอาจจะสนุกที่จะมองหาสัตว์หรือพืชพันธุ์ที่เขาเคยเห็นจากไทรสุกมากกว่าแค่ดูวิว”

Price
ราคาที่ธุรกิจเติบโตได้

ช่วงราคาไอศครีม popsicle ของไทรสุกนั้นเริ่มตั้งแต่ 85 บาทขึ้นไป แต่ละสีสันและรสชาติยังมีราคาที่แตกต่างออกไป ขึ้นกับวัตถุดิบและความซับซ้อนในการทำไอศครีม ส่วนฐานกิจกรรมนั้นอยู่ที่ 290 บาทต่อท่าน จบกิจกรรมแล้วยังเลือกชิมไอศครีมหน้าตู้ได้ 1 รสชาติ

“ทุกคนมีราคาของไอติมแท่งที่คุ้นเคยมาแต่เดิมจากการเดินเข้าไปในร้านสะดวกซื้อแล้วก็ซื้อมันด้วยราคา 20 บาท 30 บาท ส่วนเจลาโต้ทุกคนจะมีภาพจำเดียวกันว่าราคามันสูงอยู่แล้ว ดังนั้น เรื่องราคาก็เป็นเรื่องยากและเป็นโจทย์ที่เราคิดเหมือนกัน”

แนนใช้ประสบการณ์การทำร้านอาหารมาอย่างยาวนานปรับใช้กับ business model ของไทรสุก ด้วยการนำต้นทุนทั้งหมดมาแจกแจงว่าหากต้องการคืนทันภายในระยะเวลาเท่านี้ ต้องขายไอศครีมกี่แท่งต่อปี นำมาซึ่งราคาขายเพื่อให้ธุรกิจเติบโตได้

“เราจะขายไอติมเท่าไหร่ก็ได้ 40 บาท 30 บาท เราทำได้หมดแต่อย่างนั้นเราจะใส่อะไรในไอศครีมได้บ้าง มันก็จะไม่เป็นไปตามความตั้งใจของเราที่อยากใช้วัตถุดิบท้องถิ่นคุณภาพดี อีกประเด็นคือด้วยที่ตั้งคือเขาใหญ่ เราเชื่อว่าลูกค้าจะรับได้หรือมีความเข้าใจประมาณหนึ่งว่าช่วงราคาของที่เขาใหญ่มันจะประมาณนี้นะ เพราะต้นทุนของเมืองท่องเที่ยวมันสูงอยู่แล้ว

“หน้าที่ของเราคือให้ทุกคนพูดว่าทำถึงทำเกิน เขาจะได้ไม่มีคำถามกับราคาที่มันสูงกว่าไอศครีมแท่งในท้องตลาดทั่วไป ส่วนแพ็กเกจที่ทุกคนเข้าฐานกิจกรรมได้ด้วย เราก็คิดว่ามันคุ้มค่า แต่ลูกค้าจะรู้สึกไหมก็ขึ้นอยู่กับว่าเขาเห็นคุณค่าในความรู้ชุดนี้หรือเปล่า”

ระหว่างที่เราสนทนากับแนนนั้น ไทรสุกก็มีคนเดินเข้ามาไม่ขาดสายจนอาจเรียกได้ว่า ‘ร้านแตก’ ก็ย่อมได้ ทั้งฐานกิจกรรมของไทรสุก ยังมีผู้คนมากหน้าหลายตา หลายช่วงอายุ ระหว่างการร่วมกิจกรรมยังมีเสียงหัวเราะคละเคล้าไปกับสีหน้าตื่นตาตื่นใจจากชุดความรู้เกี่ยวกับเขาใหญ่ที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อน

“บางคนอาจรู้สึกว่าฉันจะรู้ไปทำไม รู้ไปก็เอาไปใช้อะไรไม่ได้ในชีวิต แต่มันก็มีคนอีกหลายกลุ่มที่รู้สึกว่าความรู้ตรงนี้ดีต่อลูกเขานะ หรือถึงไม่ใช่ครอบครัวก็ยังมีคนที่รักการท่องเที่ยวเชิงการเรียนรู้อยู่ด้วย” เสียงอธิบายของแนนเปล่งออกมาพร้อมๆ กับเสียงนำฐานกิจกรรมของเต้ย

Place
ระบบนิเวศแบบไทรสุก

“มันเริ่มจากเราเลือกที่ที่มีระบบนิเวศ ที่นี่มีนกเงือกมาแทบทุกวัน เพราะมีป่าที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ การที่มีนกมาเพราะว่ามันมีแหล่งอาหาร ซึ่งที่นี่มีต้นไทรเยอะ ทุกครั้งที่มีไทรสุกเราก็จะเห็นนกนานาชนิดมารวมตัวกัน เหมือนมาบุฟเฟ่ต์ลูกไทร” คำอธิบายของแนนเฉลยที่มาของชื่อร้านไปในตัว

เมื่อได้ที่ผืนนี้มา เต้ยและแนนตั้งใจออกแบบพื้นที่ให้เอื้อกับการสัมผัสกับความเป็นธรรมชาติจริงๆ ร้านไทรสุกจึงเปิดโล่ง มองเห็นสีเขียว ภายในร้านยังตกแต่งด้วยภาพถ่ายสัตว์และธรรมชาตินานาชนิดที่เต้ยกดชัตเตอร์ด้วยตาของเขาเอง

ส่วนด้านนอกนั้นคือฐานเรียนรู้ที่ประกอบด้วย 7 ฐานด้วยกัน โจทย์สำคัญของทุกฐานคือต้องการให้ทุกคนรู้จักสิ่งมีชีวิตบนเขาใหญ่ คล้ายเป็นคู่มือเขาใหญ่ฉบับ 101 ดังนั้น สัตว์ป่าหรือพืชพันธุ์ในฐานจะต้องพบเห็นได้ไม่ยากจนเกินไป นอกจากนั้นยังต้องสนุกมากพอที่ทุกคนจะไม่หลับไปเสียก่อน เพื่อให้การลงลึกเรื่องเขาใหญ่นั้นน่าสนใจ

“เต้ยจะพูดเสมอว่าเขาใหญ่เป็นที่ที่ดูสัตว์ป่าง่ายที่สุดในประเทศแล้ว รูปสัตว์ป่าที่เห็นทั้งหมดเต้ยถ่ายจากถนนเกือบทั้งหมด บางทีมันอยู่หลังพุ่ม หรือบางทีเราไม่ได้สังเกต หรือไม่ได้รู้จักพฤติกรรมสัตว์ แค่นั้นเลย 

เพราะอย่างช่างภาพสัตว์ป่าแบบเต้ยหรือว่าคนที่ทำงานกับธรรมชาติและสัตว์ป่า เขาแค่รู้ว่าต้นไหนมีลูกไทรที่สุก เขาก็ไปรวมกันตรงนั้นเดี๋ยวก็เจอหมีเดี๋ยวก็เจอนก 

“แล้วเชื่อไหม 99% ของลูกค้าบริษัททัวร์ครอบครัวเต้ยเป็นคนต่างชาติที่บินข้ามน้ำข้ามทะเลมาเพื่อที่จะมาดูสิ่งนี้ เพราะทรัพยากรธรรมชาติบ้านเขามันเหลือน้อย ความหลากหลายทางชีวภาพก็ต่ำ เต้ยเขาเลยอยากจะให้คนไทยรู้จักว่าสิ่งนี้มันทำให้เราได้มรดกโลก มันไม่ใช่แค่วิวสวยหรืออากาศดีนะ”

พื้นที่ที่จะส่งต่อองค์ความรู้ที่ทั้งคู่ตั้งใจได้นั้นจึงต้องเป็นที่ตั้งปัจจุบันของไทรสุก แนนเล่าว่าพื้นที่แห่งนี้ มากไปกว่าความอุดมสมบูรณ์ คือ facility ที่ครบครัน ทุกคนรู้สึกได้ถึงความใกล้ชิดทางธรรมชาติ เต้ยสามารถพาดูสัตว์หรือดูนกได้ตามที่วางแผน ที่สำคัญยังอยู่ติดถนนซึ่งง่ายกับการเดินทาง

“แต่พฤติกรรมผู้บริโภคที่มาท่องเที่ยวในเขาใหญ่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสถานที่ที่มันติดถนนขนาดนั้นหรอก เพราะเขามาตามกูเกิลแมปส์และทุกคนวางแผนก่อนมา ไม่ใช่วิ่งผ่านเจออะไรแล้วแวะ แต่การที่มันติดถนน ก็ทำให้เขาสามารถแวะมาได้มากกว่า 1 ครั้ง แถมยังมีที่จอดรถเพียงพอ คือมันต้องคิดทุกอย่างจริงๆ นะ ในการทำร้าน”

ปัจจุบัน นอกจากไอศครีม popsicle ของแนนและเต้ยจะวางขายหน้าร้านแล้ว ยังมีส่งขายต่างพื้นที่ด้วยเช่นกัน เพื่อกระจายความอร่อยและความรู้ไปให้ได้ไกลที่สุด ในทางหนึ่ง แน่นอนว่าเมื่อคนติดใจรสชาติ หรือได้เห็นที่มาของไอศครีมแต่ละรส ก็อาจช่วยดึงนักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่ได้มากยิ่งขึ้น

Promotion
การตลาดเขาใหญ่

“จริงๆ เรามองว่าโปรดักต์มันไม่ได้แปลก แต่ที่มันโดดเด่นออกมาเพราะเรานำเสนอในคอนเซปต์ใหม่ และเราทำการตลาด เพราะโปรดักต์มันดีอย่างเดียวมันก็นอนอยู่ตรงนั้น มันไม่มีปาก มันไม่มีใครรู้จัก ดังนั้นเราก็เลยต้องทำการตลาดให้กับเขาด้วย”

หากสังเกตทุกๆ โพสต์ในเพจไทรสุก นอกจากแนะนำรสชาติไอศครีมแล้ว ด้านล่างของข้อความยังสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับสัตว์ชนิดนั้นๆ ธรรมชาติ และระบบนิเวศเข้าไปด้วย และหากใครเป็นสายกินใน TikTok ก็เชื่อว่าน่าจะเคยเห็นคลิปไอศครีมไทรสุกผ่านตากันบ้าง

“ต้องยอมรับว่า TikTok มันมานะ แม้ว่าเราจะไม่เล่น ทำอะไรไม่เป็น แต่มันก็ต้องทำ เพราะมันคือกระแสของสังคมที่ไหลไป คลิปที่ไปส่วนใหญ่คือคลิปที่แกะไอศครีมออกจากแม่พิมพ์ เพราะเราคิดว่ามันคงหาดูไม่ได้ง่ายๆ 

“แต่มันไม่ใช่ว่าจะไปทุกคลิปหรอก เราอาศัยความพยายามที่จะทำ มันคือความตื๊อ ความดื้อ เดี๋ยวมันก็มาเอง แล้วทุกๆ คลิป ทุกๆ โพสต์ เราก็ทำอย่างตั้งใจเพราะเราเชื่อว่ามันเป็นกระบอกเสียงให้เราได้ดี และถ้าคนรู้จักเรามากขึ้นเรื่อยๆ ตอนนั้นแหละที่เราจะทำให้คนได้รู้จักสิ่งมีชีวิตบนเขาใหญ่ตามที่ตั้งใจ”

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนว่าโปรดักต์ที่ดีต้องคู่กับคอนเทนต์ที่ใช่คือตอนที่ไทรสุกนำเสนอไอศครีมรสชาติใหม่ I’m Here ซึ่งเฉดสีได้รับแรงบันดาลใจจากเจ้าตัวเงินตัวทอง ทำให้โพสต์นั้นมียอดคนชมจำนวนมาก ทั้งยังทำให้ไทรสุกไปโลดแล่นในจอทีวี

 “อย่างพิศวงเขาใหญ่ มันคือพืชเฉพาะถิ่นที่มีและพบได้เฉพาะเขาใหญ่เท่านั้น ต้นมันเล็กมากเหมือนเห็ด จนอาจจะคิดไม่ถึงว่ามันมองเห็นได้ไม่ยาก เพราะอย่างที่ที่เราไปเจอ รถก็วิ่งผ่านไปผ่านมา ทุกคนวิ่งผ่านไปผ่านมา มันแค่นั้นเลย คือเราไม่รู้ เราไม่รู้ว่าสิ่งนั้นมันอยู่ตรงนี้ แล้วมันก็มีคุณค่า

“เราถึงคิดว่าสิ่งที่กั้นเราอยู่มันไม่ใช่ป่านะ แต่มันคือความที่คุณรู้หรือไม่รู้แค่นั้นเลย ดังนั้นเราเลยพยายามสื่อสารออกไปในช่องทางออนไลน์ของเรา”

People
คนในทีม คนในท้องถิ่น

ไทรสุกตั้งต้นจากความรักความตั้งใจของคน 2 คนก็จริง แต่ ณ วันนี้ที่เราได้มาเยือนศูนย์เรียนรู้ใต้ต้นไทรในเขาใหญ่แห่งนี้ เรากลับเห็นคนเบื้องหลังไทรสุกอีกมาก

ทั้งทีมทำไอศครีมที่ก้มหน้าก้มตารังสรรค์เมนูอร่อยๆ ให้เราได้ชิม ทีมฐานเรียนรู้ที่นำกิจกรรมอย่างสนุกสนาน ชวนให้การทำความเข้าใจเขาใหญ่นั้นเข้าถึงง่าย และทีมขายรวมถึงทีมสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ต้อนรับลูกค้าทุกคนด้วยใบหน้าสดใส

นั่นคงเป็นเหตุผลว่าทำไมแนนถึงยืนยันกับเราว่าอีก P ที่สำคัญของไทรสุกนั้นคือ People หรือคน 

“คนที่มีความรู้เฉพาะทางอย่างเต้ย ที่เซตแกนของไทรสุกขึ้นมา เทรนพนักงานให้มีความรู้พอๆ กับเขา ความรู้ที่เขามีทำให้ร้านมันออกมาเป็นรูปแบบนี้ ไม่ว่าใครก็ตามที่มีคำถามเกี่ยวกับธรรมชาติและสัตว์ป่าของเขาใหญ่ เขาคือคนที่ตอบได้ทุกอย่างจริงๆ เขาคือคีย์แมนของแบรนด์ก็ว่าได้

“หรืออย่างตัวแนนเอง ที่เป็นไอศครีมเมกเกอร์ เต้ยบอกมาว่าอยากให้ทำไอศครีมที่สื่อถึงอะไรในเขาใหญ่ เราก็ต้องเนรมิตได้ แล้วก็บุคลากรของเรา ที่ทุกคนพร้อมใจกันทำให้ไทรสุกมันเป็นแบบที่เราสองคนอยากให้เป็นจริงๆ”

และเพราะ ‘คน’ เป็นเรื่องสำคัญ แนนและเต้ยจึงให้อิสระในการทำงานและการคิดไอเดียใหม่ๆ พนักงานทุกคนมีสิทธิ์แชร์ว่าคอนเทนต์แบบไหนน่าจะไป หรือทีมไทรสุกจะพัฒนาสินค้าอะไรออกมาอีกได้บ้าง

เพื่อให้องค์กรขนาดย่อมแห่งนี้เป็นองค์กรที่เต็มไปด้วยความสนุก

“ผิดพลาดเหรอ แล้วยังไง ไม่เป็นไรเราก็ทำกันใหม่ได้ เพราะมันไม่มีใครอยากทำผิดพลาดอยู่แล้วไหม” วัฒนธรรมองค์กรของไทรสุกที่ทั้งสองคนเซตขึ้นมานี้ยังเป็นรากฐานสำคัญหากในวันหน้าทั้งคู่วางแผนขยายสาขาหรือออกสินค้าใหม่ๆ 

 “เราอยากเห็นไทรสุกในหลายที่มากขึ้นกว่านี้ เช่น เราอยากมีไทรสุกในกรุงเทพฯ แล้วก็สื่อสารว่าสัตว์หรือทรัพยากรของกรุงเทพมีอะไรบ้างที่คนอาจไม่เคยสังเกตเห็น แต่เราก็ไม่รู้ว่าเราจะไปได้ถึงแค่ไหนนะ เพียงต้องทำตรงนี้ให้ดีแล้วถ้ามีโอกาสก็อยากทำให้คนรู้จักที่อื่นๆ มากขึ้น

“มันไม่ใช่แค่อยากให้นักท่องเที่ยวรู้จักพื้นที่ในจังหวัดอื่น แต่เราอยากทำให้คนในจังหวัดหรือท้องถิ่นนั้นๆ รู้จักบ้านเกิดของตัวเองให้ดีพอ เพราะตั้งแต่เริ่มเปิดร้านมา เราก็พยายามเปิดให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนท้องถิ่นมาเรียนรู้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายสักบาท 

“สิ่งที่เราและเต้ยได้รู้คือยังมีเด็กๆ ในเขาใหญ่อีกมากที่ไม่เคยขึ้นเขาใหญ่เลย โรงเรียนไม่เคยพาขึ้น พ่อแม่ไม่เคยพาขึ้น ดังนั้นไม่ต้องพูดถึงสเตปที่ให้เขาอยากกลับมาพัฒนาท้องถิ่นหรือทำงานที่บ้านเลย แล้วเราก็พบว่ามันมีจริงๆ นะ เด็กที่บอกว่าหนูอยากกลับมาพัฒนาที่บ้าน เรารู้สึกว่าไอ้เรื่องนี้มันมีค่ากับเรามากแล้วมันจะเป็นยังไงถ้ามันไม่ได้มีแค่ที่นี่ แต่มีที่อื่นด้วย” แนนเน้นย้ำความตั้งใจ

What I’ve Learned

1. แนน: “ในมุมของเรา ไม่ใช่ว่าแพสชั่นไม่สำคัญ แต่มันไม่มีทางที่มีแพสชั่นอย่างเดียวแล้วจะเวิร์ก แต่มันต้องมาพร้อมการวางแผนที่ดีด้วย อย่างที่หลายคนบอกว่าล้มในกระดาษมันจริงนะ จริงอยู่ที่ว่าเราไม่สามารถคาดการณ์ทุกอย่างได้หรอก แต่อย่างน้อยการที่เราวางแผนไว้ มันจะทำให้เรามีข้อมูลช่วยตัดสินใจ”

2. แนน: “เราเชื่อในพลังของการสร้างแบรนด์ มันสำคัญสำหรับการทำธุรกิจสมัยนี้จริงๆ สำคัญกว่านั้นคือการสื่อสารแบรนด์ออกไป บิลด์ให้มันเป็นแบบที่เราตั้งใจ”

3. แนน: “ถ้าเราจะขายไอศครีมเฉยๆ มันก็ได้ เราก็ตั้งไอติมไว้แล้วก็ขาย มีป้ายราคา มีแคชเชียร์ มันก็จบ แต่ในทุกๆ วันเราพยายามจะเดินไปอธิบายลูกค้าว่าสิ่งนี้มันคืออะไร ไอ้สิ่งเหล่านั้นแหละมันคือ relation ที่เราให้กับลูกค้าและทำให้เขาเข้าใจแบรนดิ้งที่เราสร้าง”

Writer

กองบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ที่มีแมวเป็นแรงผลักดันในการทำงาน

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like